ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1964
ตอบกลับ: 8
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ก้าวแรก (คำผกา)

[คัดลอกลิงก์]
คำ  ผกา


ก้าวแรก


มติชนสุดสัปดาห์ 21-27 สิงหาคม  2558






เหตุระเบิดที่ราชประสงค์เมื่อค่ำวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมาค่อนข้างน่าตระหนกและเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้สำนักข่าวทั่วโลกต้องรายงานข่าวเกี่ยวกับประเทศไทยอย่างพร้อมเพรียงกันเพราะบริเวณจุดเกิดเหตุคือใจกลางเมืองหลวงและเป็นย่านที่มีนักท่องเที่ยว นักเดินทางใช้ชีวิตอยู่อย่างคับคั่ง


แน่นอนว่าศาลพระพรหมนั้นคือแลนด์มาร์กสำคัญเกือบจะที่สุดของกรุงเทพฯ ในสายตาของต่างชาติ


เหตุการณ์ระเบิดครั้งนี้ไม่เพียงแต่ทำลายชีวิต ทรัพย์สิน นำความโศกสลดมาสู่ผู้ที่เสียหายเกี่ยวข้อง แน่นอนว่าทำลายความเชื่อมั่นของธุรกิจการท่องเที่ยวอันเป็นธุรกิจเดียวที่เป็นเส้นเลือดหลักของเศรษฐกิจของประเทศอยู่ ณ ขณะนี้


แต่มันยังได้ทำลายมายาคติหลายอย่างของสังคมไทยลงไปด้วย


หนึ่งในมายาคติที่ว่านั้นคือ "เมืองไทยคือดินแดนแห่งความร่มเย็นเป็นสุข"






คาถาแห่งการก่อร่างสร้างชาติและสร้างความรักความภาคภูมิใจให้กับคนไทยคือ เราถูกทำให้เชื่อว่า ประเทศของเรานี้เป็นประเทศเดียวที่รอดพ้นจากภัยพิบัติทางสงครามทั้งปวงที่ประเทศอื่นๆ เจอ ไม่ว่าจะเป็นสงครามโลกทั้งสองครั้ง


แบบเรียนประวัติศาสตร์ไทย พูดถึงสงครามโลกทั้งสองครั้งน้อยมาก และน้อยที่สุดเมื่อพูดถึงความเกี่ยวข้องของสงครามทั้งสองครั้งกับประเทศไทยและผลกระทบทางการเมือง เศรษฐกิจ อิทธิพลต่อประวัติศาสตร์ภูมิปัญญา การก่อกำเนิด ขบวนการทางการเมืองผ่านการก่อตั้งหนังสือพิมพ์ ขบวนการของกลุ่มนักคิด นักเขียน ฯลฯ


แน่นอนที่สุด ไม่ได้พูดถึงความเสียหายของชีวิต ทรัพย์สินต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยอันเนื่องมาจากสงครามเลย


ไม่ปฏิเสธว่า ความเสียหายของเราคงไม่เทียบเท่าญี่ปุ่น หรือเยอรมนี


แต่การไม่พูดถึงโดยสิ้นเชิง ทำให้มายาคติที่บอกว่า "บ้านเมืองไทยร่มเย็นเป็นสุข" แจ่มชัดในมโนทัศน์ของคนไทย เพราะมันทำให้เราเห็นว่า ท่ามกลาง "สงครามโลก" นั้น ประเทศนั้นเป็นจุดโหว่ของความเสียหายทั้งปวงที่เกิดขึ้น ในขณะที่บ้านเมืองอื่นลุกเป็นไฟ บ้านเมืองเราเขียวขจีดีงามอยู่ชาติเดียว


ช่างโชคดีอะไรเช่นนั้น!!






ไม่นับว่าเราไม่เคยเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับผลกระทบของความขัดแย้งใดๆ ในอินโดจีน


แม้กระทั่งความขัดแย้งหรือสงครามที่ส่งผลกระทบต่อเราโดยตรง เช่น สงครามเวียดนาม ที่ภาคอีสานของเรากลายเป็นฐานทัพของสหรัฐอเมริกา


มิหนำซ้ำความรับรู้ของเราต่อการได้เป็นฐานทัพของสหรัฐอเมริกาก็ยังจำกัดจำเขี่ยอยู่เพียงประเด็นของ "ข้าวนอกนา" - พวกเด็กครึ่งตัวดำผลผลิตของเมียเช่าสาวอีสานที่น่าเวทนา (และน่ารังเกียจไปพร้อมๆ กัน)


กับความขำขันต่อภาษาอังกฤษของเมียเช่าดังปรากฏในเพลงลูกทุ่งเพลงหนึ่งที่สาวอีสานผู้ไร้การศึกษาเขียนเล็ตเตอร์ถึงเธอเดียร์จอน - เรารับรู้เรื่องสงครามเวียดนามเพียงเท่านี้จริงๆ


น่าสลดใจยิ่งกว่าคือ การรับรู้อันน้อยนิดนี้ ยังเป็นการรับรู้ต่อ "คนอีสาน", "ผู้หญิง", "คนจน" ในฐานะที่เป็น "ความเป็นอื่น" อย่างเต็มรูปแบบเมื่ออ้างอิงต่อระบบคิดเกี่ยวกับความเป็น "ไทย" ของ "ผู้รับรู้"






ใกล้เข้ามาอีกนิด การรับรู้ต่อเหตุการณ์ไม่สงบในภาคใต้ของคนไทยที่ไม่ได้มีชีวิตอยู่ในสถานการณ์ชายแดนใต้ ฉันคิดว่าเรารับรู้เรื่องนี้อย่างแปลกแยกเป็นอื่นอย่างน่าฉงนเป็นที่สุด


ถ้อยคำที่ปรากฏอยู่ในสื่อจนกลายเป็นคำคุ้นหูจนเราหมดความสามารถที่จะตั้งคำถามว่า คำคำนี้มาจากไหน ทำไมเราจึงเชื่อเช่นนั้น เช่นคำว่า "โจรใต้"


เราพูดและเราเขียนคำว่าโจรใต้โดยที่เรายังไม่เคยเห็นใบหน้าของ "โจรใต้" ไม่เคยได้ยินเสียงของ "โจรใต้" แน่นอนว่าเราไม่รู้ว่า "โจรใต้" แท้จริงแล้วเป็นใครกันแน่


บ้างแย้งขึ้นมาว่า โจรใต้ก็คือพวกวางระเบิดในภาคใต้ไง


คือพวกที่ทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐไง คือพวกที่ยิงทหาร ยิงตำรวจ ยิงครู ยิงพระไง คือพวกโจรแบ่งแยกดินแดนไง?


คำถามต่อมาคือ เรารู้ได้อย่างไรว่า คนที่ทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐ ทหาร ตำรวจ ครู พระ คือคนกลุ่มเดียวกัน?


เรารู้ได้อย่างไรว่าคนที่วางระเบิดที่ภาคใต้คือคนกลุ่มเดียวกันที่เราจะเรียกว่า โจรใต้


เรารู้ได้อย่างไรว่ากลุ่มโจรใต้กับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนเป็นกลุ่มเดียวกัน


แล้วเรามีความรู้เพียงพอหรือไม่ในการทำความรู้จักขบวนการและประวัติศาสตร์การแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้


และเรามั่นใจอย่างไรว่า เรามีความเข้าใจต่อคำว่า "แบ่งแยกดินแดน" ดีแค่ไหน


เรารู้ได้อย่างไรว่าเราจะไม่เอาความเข้าใจผิดต่อเรื่องการแย่งแยกดินแดนที่เราได้ยินมาอย่างผิวเผินจากข่าวต่างประเทศเกี่ยวกับการแบ่งแยกดินแดนในประเทศอื่นๆ มาเข้าใจเรื่องความขัดแย้งในภาคใต้ของประเทศไทย


และเราได้เตือนตัวเองบ้างหรือเปล่าว่า เรามีความเข้าใจต่อเรื่องมุสลิมดีแค่ไหน


เราได้เอาอคติเรื่อง มุสลิม เท่ากับ ผู้ก่อการร้าย ที่เรารับรู้มาจากการข่าวก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในโลกตะวันตกยุคใหม่มาทำความเข้าใจ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกับส่วนที่เป็น Deep South ของไทยที่เป็นความขัดแย้งอันเนื่องมาจากประวัติศาสตร์ในยุคก่อนเกิดรัฐสมัยใหม่


เราไม่เคยถามตัวเองว่าเรามีความเข้าใจต่อเรื่อง "มุสลิม" ความหลากหลายของมุสลิม ความหลากหลายของศาสนาอิสลาม ดีแค่ไหน


ดังนั้น เมื่อเกิดความรุนแรงใดๆ หรือความขัดแย้งใดๆ ปะทุขึ้นมา เราจึงพอใจอยู่เพียงคำว่า "โจรใต้" จากนั้นก็พร้อมจะชิงชังรังเกียจ






น่าตระหนกว่านั้นเมื่อมีคำศัพท์ใหม่ๆ มาให้เรารู้จัก ไม่ว่าจะเป็นคำว่า "โรฮิงญา" "อุยกูร์" ที่เรารับรู้อย่างผิวเผินว่าเขาเป็นอิสลาม เราก็พร้อมจะเหมารวม เอา คำว่า อุยกูร์ โรฮิงญา โจรใต้ ผู้ก่อการร้าย


รวมๆ แล้วคือทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็น "ส่วนเกิน" ของประเทศไทย วิธีที่จะปฏิบัติต่อพวกเขาคือ ทำยังไงก็ได้ที่จะขับออกไปให้พ้นจาก "พรมแดน" แห่งความเป็นไทยของเราเสีย



2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2015-8-25 09:52 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เพราะคนพวกนี้คือศัตรูร้ายที่จะมาทำลาย "ความร่มเย็นของบ้านเมืองไทยอันเป็นที่รักของเรา" ดังที่รัฐมนตรีท่านหนึ่งที่รับผิดชอบเรื่องการท่องเที่ยวกล่าวว่า "จะไม่ยอมให้ใครมาทำร้ายชาติอย่างเด็ดขาด"


ประโยคนี้สะท้อนให้เห็นว่า "ชาติไทย" ในมโนทัศน์ของท่านคือ "ชาติที่สงบร่มเย็นกลมเกลียวสามัคคี" อะไรที่อยู่นอกเหนือจากนี้คือเป็นการ "ทำลายชาติ" -- คือความเป็น "อื่น" และคือ "กลายเป็นอื่น"


กระบวนการมองปัญหาแบบ "สร้างความอื่น" เช่นนี้ก่อให้เกิดอะไร อย่างหยาบที่สุดคือ มันก่อให้เกิดการสร้างวิธีที่ออกจากปัญหาด้วยการ "ขจัดความเป็นอื่น" ออกไปนั่นเอง


การขจัดความเป็นอื่นที่เราคุ้นเคยมากที่สุดก็คือนิสัยเอะอะอะไรเราก็อยากไล่คนที่เราไม่ชอบขี้หน้าออกนอกประเทศ เพราะเราเห็นว่า ประเทศของเราดีแล้ว เพียบพร้อมแล้วทุกอย่าง แต่มันเกิดปัญหาเพราะคนชั่วไม่กี่คน ดังนั้น อยากแก้ปัญหาของประเทศชาติเหรอ - ง่ายจะตาย


แยกคนดีออกจากคนที่ (เราคิดว่า) คือเป็นตัวสร้างปัญหา จากนั้นจับเอาคนที่ชอบสร้างปัญหาทั้งหลายมัดรวมกัน ใส่ตะกร้า โยนทิ้งลงมหาสมุทรไปเสีย ทีนี้ในประเทศที่แสนดีของเราก็จะเหลือแต่คนดี ไชโย แก้ปัญหาได้แล้ว ต่อไปนี้ประเทศชาติดีแน่






สังคมที่มีวิธีคิดเช่นนี้ จะเป็นสังคมที่ยากจนความรู้และขาดการสร้างพลังทางปัญญามาแก้ปัญหาของประเทศ


เพราะเมื่อเกิดปัญหาขึ้นกับประเทศชาติของเขา แทนที่เขาจะไปเสาะหาว่าปัญหามันเกิดจากอะไร เช่น เกิดจากผลพวงความขัดแย้ง ความเข้าใจผิดในอดีต เกิดจากความเหลื่อมล้ำ เกิดจากความไม่เป็นธรรม เกิดจากการที่คนกลุ่มหนึ่งถูกเลือกปฏิบัติ เกิดจากการขาดกระบวนการรับฟัง ถกเถียง เกิดจากการใช้อำนาจที่เกินกว่าเหตุ ฯลฯ พวกเขาเลือกที่จะบอกว่า เฮ้ย สังคมเราเป็นสังคมที่ดีอยู่แล้วไม่ต้องแก้อะไร แค่หยิบๆ คนชั่วไปทิ้ง ทุกอย่างก็จบ (เราจึงมีสำนวน คำพังเพยในทำนองว่า ถ้าคนนั้น คนนี้ไม่อยู่แล้ว แผ่นดินจะสูงขึ้น)


มันน่าฉงนมากว่า ทำไมคนไทยจึงเชื่ออยู่ได้ว่า เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของสังคมไทยคือเราเป็นสังคมที่สงบร่มเย็น เพราะแค่เปิดหน้าหนังสือพิมพ์ เราจะพบข่าวอาชญากรรมอันชวนสะพรึงรายวัน


มิหนำซ้ำเรายังเป็นสังคมที่มีความพึงใจกับการเสพข่าวประเภท "ซึ้ง แม่วัยแปดสิบ กัดฟันทำงานเลี้ยงลูกที่นอนป่วยเป็นอัมพาต" หรือ "ลูกกตัญญู ออกจากโรงเรียนมาดูแลพ่อที่ป่วยหนัก" จากนั้นภาพข่าวก็จะเป็นกระต๊อบพังๆ กับสภาพชีวิตที่ชวนสังเวช


แต่เราก็จะยังอึ้งกับ "ความกตัญญู" หรือความรักอันยิ่งใหญ่ของแม่ เผลอๆ คิดไปได้อีกว่า นี่ไง คุณค่าทางศีลธรรม จริยธรรมของเราคนไทยช่างน่านับถือจังเลย แทนที่จะเราจะเห็นว่าภาพเหล่านี้สะท้อน "ความรุนแรง" อย่างสาหัสในสังคมว่า ถ้ามิใช่สังคมที่บกพร่องในการกระจายความมั่งคั่งอย่างวิกฤติที่สุดแล้ว คงไม่มีภาพแบบนี้ออกมาให้เสพในสื่อ


และเราก็ไม่อาจกลับมาตั้งคำถามกับตัวเราได้เลยว่า เราคือหนึ่งในตัวการสร้าง "ความรุนแรง" นี้ให้เกิดขึ้นและดำรงอยู่ต่อไปในสังคมหรือเปล่า?






กระบวนการที่จะหยุดมิให้เราเห็นว่าเราคือหนึ่ง "ความรุนแรง" ที่เกิดขึ้นคือ เราจะพากันแห่แหนบริจาคเงินให้ครอบครัว "กตัญญู" นั้น แล้วบอกตัวเองว่า "คนไทยใจบุญ" มีอะไรเราก็ช่วยเหลือกัน ดีจังเลย จากนั้นเราก็จะสามารถกลับมาใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่เราเชื่อว่า "บ้านเมืองอันสงบร่มเย็น" ต่อไป


มีสถิติที่หากเราตั้งใจอ่านมันจริงๆ จะยิ่งทำให้เราฉงนหนักขึ้นว่า ทำไมเราจึงเชื่อว่าเราอยู่ในบ้านเมืองที่สงบร่มเย็นได้


ข้อมูลจากฐานข้อมูลชายแดนภาคใต้ http://www.deepsouthwatch.org/node/6596 บอกเราว่า


ในปี 2557 มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นทั้งหมด 793 เหตุการณ์ เฉลี่ยเดือนละ 66 เหตุการณ์


มีผู้เสียชีวิต 330 ราย


เฉลี่ยเดือนละ 28 ราย


มีผู้บาดเจ็บ 663 คน


เฉลี่ยเดือนละ 55 คน


ถ้าดูสถิติในรอบสิบปี ตั้งแต่ปี 2547-2557


มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบ 6,286 ราย


ปีละ 571 ราย


ผู้บาดเจ็บ 11,366 คน


เฉลี่ยเดือนละ 1,033 คน






เหตุการณ์ระเบิดที่ราชประสงค์เมื่อค่ำวันที่ 17 สิงหาคม สร้างความสลดและสะเทือนใจ อีกทั้งก่อความหวาดผวาอย่างไรกับเรา ลองคิดดูว่าถ้าคนที่อยู่ภาคใต้ต้องเผชิญกับเหตุกาณ์ความไม่สงบจนมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยเดือนละ 28 ราย พวกเขามีชีวิตอยู่อย่างไรตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา


แน่นอนว่า เราไม่พึงตื่นตระหนกจนเกินกว่าเหตุ แต่เหตุการณ์ระเบิดที่ใจกลางกรุงเทพมหานครครั้งนี้ ทำให้เราต้องออกจากมายาคติที่ว่า บ้านเมืองของเรานั้นร่มเย็นเป็นสุขอย่างปราศจากเงื่อนไข


จากนั้น น่าจะถึงเวลาที่เราพึงมาทำความรู้จัก "บ้านเมือง" ของเราอย่างที่มันเป็นจริงๆ


ถึงเวลาเปิดพรมออกมาแล้วกวาดปัญหาที่ซุกอยู่ใต้พรมออกมาวางเรียงกันให้เห็น


แม้สิ่งที่อยู่ใต้พรมมันจะไม่ใช่สิ่งน่าดู แต่หากเราไม่เริ่มดูและไม่เริ่มเผชิญหน้ากับมันเราจะสะสางปัญหาออกไปได้อย่างไร






แค่การต้องเผชิญหน้ากับความจริงที่ว่าบ้านเมืองของเราไม่ใช่บ้านเมืองที่ร่มเย็นเป็นสุขก็เพียงพอที่จะทำให้เราต้องหมั่นตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานราชการต่างๆ ที่รับผิดชอบความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของคนที่อยู่ในสังคม


เช่น เรามีความพร้อมทั้งทางบุคลากรและอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือในการรับมือที่เกี่ยวกับการกู้ภัย การช่วยเหลือคนบาดเจ็บ การป้องกันคนไม่ให้ได้รับอันตรายเพิ่ม ฯลฯ กับเหตุการณ์ร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ดีแค่ไหน


นอกจากสมรรถนะในการรับมือกับวิกฤติระยะสั้นอันเกี่ยวข้องกับชีวิตของคนที่อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุแล้ว เราจะมีสมรรถนะในการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อรับมือกับ "ความไม่สงบ" ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตดีแค่ไหน โดยไม่ละเมิดสิทธิ เสรีภาพของพลเมือง ไม่ปลุกเร้าความเกลียดชังเพิ่ม ไม่จับ "แพะ" มารับเคราะห์ เพราะนั่นก็จะยิ่งทำให้สังคมร้าวรานหนักขึ้นไปอีก และไม่ใช่หนทางในการสร้างสังคมที่มีสวัสดิภาพ


ปัญหาที่แก้ไม่ตกของพวกเราในทุกวันนี้คือ เราไม่เคยมีก้าวแรกในการแก้ไขปัญหา เพราะก้าวแรกที่เราอาจจะไม่เคยก้าวออกไปเลยคือ ความกล้าที่จะทำความรู้จักตัวเองอย่างที่เราเป็น


ที่มา..http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1440414185
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2015-8-27 11:06 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2015-9-2 06:31 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

การเคารพกฎเกณฑ์ผู้เขียน: อาจารย์ ทิพมาศ เศวตวรโชติ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตศรีธรรมาโศกราชระดับ: หมวด:  ส่งเสริมพัฒนาการ

การเคารพกฎเกณฑ์เป็นหลักการพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันของผู้คนในสังคมโดยปกติสุข ไม่ว่าจะเป็นสังคมใดหรือประเทศใด การอยู่ร่วมกันของผู้คนเป็นจำนวนมากในสังคมต้องอาศัยกฎระเบียบกติกาของสังคม ซึ่งคนในสังคมนั้นๆจำต้องเรียนรู้กฎกติกาของสังคม พร้อมทั้งต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวมนั่นคือ ต้องยอมรับและปฏิบัติตามกฎเกณฑ์กติกาทางสังคม การอบรมสมาชิกในสังคมให้เกิดการเรียนรู้กฎเกณฑ์และกติกาของสังคม คือ การถ่ายทอดวิถีชีวิตวัฒนธรรม และการทำให้สมาชิกในสังคมนั้นสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างเหมาะสมถูกต้อง ซึ่งในสังคมที่ได้มีการจัดระเบียบอย่างดีแล้วนั้น การอบรมให้เรียนรู้กฎเกณฑ์ของสังคมเป็นกระบวนการที่จะต้องกระทำ เริ่มตั้งแต่วัยเด็กจนถึงผู้ใหญ่ การเข้าไปมีส่วนร่วมในรูปของสังคมใหม่และสถาบันใหม่ สมาชิกในสังคมก็จะต้องเรียนรู้กฎเกณฑ์ใหม่และยอมรับค่านิยมใหม่ และในขณะ เดียวกันที่พ่อแม่ครอบครัวก็ต้องทำหน้าที่เป็นตัวหลักที่สำคัญในการเลี้ยงดูเด็ก เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในการเคารพกฎเกณฑ์ของสังคม เพื่อให้การดำรงชีวิตอยู่ของสมาชิกในสังคมได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

เด็กที่เคารพกฎเกณฑ์มีพฤติกรรมอย่างไร?
ลักษณะของเด็กที่รู้จักเคารพกฎเกณฑ์ทางสังคมนั้นมีรายละเอียดดังนี้
  • มีความรู้และความเข้าใจในกฎเกณฑ์กติกาของสังคม ความรู้และความเข้าใจในกฎเกณฑ์กติกาของสังคมนั้น เกิดขึ้นจากกระบวนการทางสังคมนั้นๆเองที่มีวิวัฒนาการทางสังคมมาอย่างยาวนาน จนสามารถทำให้ผู้คนภายในสังคมค่อยๆซึมซับหรือเรียนรู้ไปโดยอัตโนมัติ เช่น กฎเกณฑ์ทางศีลธรรม สำหรับสังคมไทยซึ่งเป็นสังคมแห่งพุทธศาสนา เด็กก็จะซึมทราบรับเอาหลักคุณธรรมและศีลธรรม ตลอดถึงวัฒนธรรมทัศนคติในพุทธศาสนามาเป็นหลักในการประพฤติปฏิบัติสำหรับใช้เป็นเกณฑ์ในการอยู่ร่วมกัน เช่น การนำศีลธรรมมาเป็นหลักในการดำรงชีวิต ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการประพฤติปฏิบัติเคารพกติกาในการอยู่ร่วมกัน อันได้แก่ การไม่เบียดเบียนกันไม่ว่าจะเป็นทางกายหรือทางวาจา ไม่ล้อเลียน หรือรังแกเพื่อน อาจกล่าวได้ว่า ศีล 5 นั้นเป็นหลักสากลของมนุษยชาติก็ได้ เพราะไม่ว่าในสังคมใดก็จำต้องอยู่ร่วมกันโดยไม่เบียด เบียน หากอยู่ด้วยกันโดยความเบียดเบียนก็ทำให้สังคมนั้นไม่มีความเจริญ ปราศจากความสุขสงบ อาจถึงขึ้นสังคมแตกสลายก็เป็นได้ การเคารพสิทธิผู้อื่นด้วยการไม่ละเมิดในทรัพย์สินของผู้อื่น ขออนุญาตก่อนที่จะหยิบยืมของใช้จากเพื่อน ไม่หยิบฉวยของของเพื่อนมาเป็นของตน การรู้จักประมาณคือพอเพียงไม่แย่งของรักของผู้อื่น การให้ความจริงหรือความซื่อ ตรงต่อคนอื่นโดยการพูดแต่ความจริง พูดสิ่งที่เป็นประโยชน์ พูดให้เกิดความสามัคคี ไม่พูดปด นับเป็นการทำให้เกิดความเป็นปึกแผ่นทางสังคม หรือสร้างความรักความสามัคคีให้เกิดขึ้นในสังคมได้ และการดำรงสติด้วยการไม่ทำสติสัมปชัญญะของตนให้บั่นทอนลงไปด้วยอบายมุข มีสิ่งเสพย์ติดให้โทษต่างๆ เห็นโทษและพิษภัยของสิ่งเสพติด นี่เป็นตัวอย่างในกระ บวนการเรียนรู้กฎกติกาทางสังคม
  • ยอมรับและการปฏิบัติตามกฎกติกาทางสังคม บ่อยครั้งที่ปัญหาสังคมเกิดจากการที่คนในสังคมไม่ประพฤติปฏิบัติตามกฎกติกา ดังนั้นการมีกฎกติกาไม่ได้หมายความว่าจะทำให้สังคมมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ถ้าหากว่าผู้คนในสังคมยังขาดจิตสำนึกในการที่จะปฏิบัติตามครรลองทางสังคม เด็กปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ทางสังคมจะทำตามระเบียบของโรงเรียน ข้อตก ลงในห้องเรียน ข้อตกลงในบ้าน
  • ได้รับการกล่อมเกลาทางสังคม เป็นวิธีการในการช่วยสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติตามกฎระเบียบของสังคม หมาย ถึงการที่เด็กจะปฏิบัติตามกรอบกติกาได้นั้น จำต้องได้รับความร่วมมือกันทุกภาคส่วน ทั้งจากสถาบันครอบครัว ชุมชน โรง เรียน และศาสนา อันเป็นเครื่องหลอมรวมให้เกิดความสำนึกในการรับผิดชอบต่อตนเองและกติกาของสังคมร่วมกัน ดังนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็ก จึงต้องคอยตักเตือนให้เด็กอยู่ในกฎเกณฑ์ของสังคมเสมอจนติดเป็นนิสัย

การเคารพกฎเกณฑ์มีความสำคัญอย่างไร?
นักสังคมวิทยาได้กล่าวถึงธรรมชาติของมนุษย์ว่าเป็นสัตว์สังคม ซึ่งการดํารงชีวิตของมนุษย์นั้นจึงจะต้องอยู่ร่วมกันเป็นหมู่เป็นกลุ่ม ทั้งนี้เพื่อจะได้มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน อันจะก่อให้เกิดผลต่อการมีชีวิตรอด และความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ แต่เนื่องจากลักษณะทางธรรมชาติของมนุษย์บางประการ มีสภาพที่ไม่แตกต่างไปจากสัตว์ประเภทอื่นๆ เช่น ความ ต้องการที่จะทําอะไรตามความคิดและจิตใจของตนเอง ความต้องการในเรื่องอํานาจและความเป็นใหญ่ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จึง เป็นปัจจัยที่ทําให้การอยู่ร่วมกันของมนุษย์ไม่สามารถดําเนินไปได้ ด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อย เกิดความวุ่นวายในด้าน ต่างๆนั้น การกดขี่ข่มเหงซึ่งกันและกัน การเอารัดเอาเปรียบกัน และบางครั้งอาจนําไปสู่การต่อสู้ประหัตประหารกันขึ้น ดัง นั้น มนุษย์จึงได้คิดแนวทาง วิธีการ ตลอดจนเครื่องมือต่างๆมาใช้ในการจัดระเบียบทางสังคมขึ้น เพื่อกําหนดแนวทางในการปฏิบัติในการอยู่ร่วมกันในสังคม ให้สังคมเกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยและเจริญก้าวหน้าต่อไป การเคารพต่อกฎเกณฑ์ทางสังคมนั้น ไม่เพียงแต่เป็นการบ่งบอกความเจริญทางด้านคุณธรรมของผู้ประพฤติปฏิบัติเท่านั้น แต่แท้ที่จริงแล้วนั่นคือการสร้างความเจริญรุ่งเรืองความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความสงบสุขให้กับบ้านเมืองและสังคม ซึ่งการที่ผู้คนในสังคมเคารพและประพฤติปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ทางสังคมนั้น เป็นดรรชนีชี้วัดถึงอารยธรรมของสังคมหรือประเทศนั้นๆได้เป็นอย่างดี และการประพฤติปฏิบัติตามกฎกติกาของผู้คนในสังคมนั้น อุปมาประหนึ่งว่ามีความงดงามเหมือนพวงมาลัยที่ร้อยขึ้นจากดอกไม้หลายสีถูกนำมารวมอยู่ด้วยกันอย่างเป็นระเบียบ ดอกไม้นั้นก็คือตัวแทนของผู้คนในสังคมที่ประพฤติปฏิบัติตามกรอบกติกาทางสังคม ส่วนด้ายสำหรับร้อยดอกไม้นั้นก็คือตัวแทนของกติกากฎเกณฑ์ทางสังคม อันจะใช้เป็นหลักในการประพฤติปฏิบัติในการอยู่ร่วมกันนั่นเอง ดังนั้นในสังคม ถ้าหากว่าจะมีผู้คนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และในสังคมนั้นก็มีกฎกติกาของสังคมอยู่อย่างมากมาย ก็มิได้เป็นเครื่องหมายการันตีว่า สังคมนั้นมีความเป็นระเบียบเรียบ ร้อย ถ้าหากว่า ระเบียบกฎเกณฑ์ยังคงบัญญัติขึ้นเฉยๆไม่ได้มีการนำมาใช้จริงในภาคปฏิบัติ ความสำคัญจึงอยู่ที่การได้นำเอากฎเกณฑ์ต่างๆมาสู่ภาคการปฏิบัติได้จริงเท่านั้น จึงจะทำให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย และเป็นสาเหตุของการที่จะได้นำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองทางสังคมได้อย่างแท้จริง
7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2015-9-2 06:31 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
การเคารพกฎเกณฑ์มีประโยชน์ต่อเด็กอย่างไร?
การที่เด็กได้ประพฤติปฏิบัติตามกฎเกณฑ์นั้น การปลูกฝังให้เด็กเพิ่มความรับผิดชอบและมีระเบียบวินัยในการที่จะอยู่ร่วม กันในสังคม เพื่อที่จะได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่อย่างมีคุณภาพในวันข้างหน้า เพราะความประสบความสำเร็จในชีวิตของแต่ละบุคคลนั้น เริ่มมาจากการที่บุคคลแต่ละคนได้รับการปลูกฝังอบรมให้เป็นคนมีระเบียบวินัย และมีความรับผิดชอบ การที่ได้ทำตามกรอบกติกาตั้งแต่เด็กนั้น ก็คือการสอนให้เขาได้รู้จักความอดทนในอันที่จะไม่ทำอะไรตามใจตนเอง เอาชนะกิเลสหรือที่พูดกันโดยทั่วไปว่า เอาชนะใจตน เมื่อเป็นได้อย่างนี้ก็เป็นเครื่องรับรองได้ว่า ชีวิตของเด็กคนนั้นก็จะมีความเจริญอย่างเดียวไม่มีความเสื่อมเลย ในทางพระพุทธศาสนาได้แสดงหลักธรรมที่แสดงถึงประโยชน์จากการเป็นคนเคารพต่อกฎกติกาไว้ดังนี้
  • ทำให้เป็นคนน่ารัก น่าเอ็นดู น่าเกรงใจ เพราะเป็นคนว่านอนสอนง่าย ยึดมั่นในกฎกติกา จึงเป็นสาเหตุให้เป็นที่รักเป็นที่ปรารถนาของผู้คนโดยทั่วไป
  • ทำให้ได้รับความสุขกาย สบายใจ การปฏิบัติตนตามครรลองของสังคมนั้น ย่อมทำให้ตนมีความเจริญรุ่งเรือง เพราะการกระทำที่ถูกต้องเป็นเหตุให้ได้รับผลเช่นนั้น
  • ทำให้ไม่มีความเดือดร้อน ไม่มีเวร ไม่มีภัย ความที่ตนเป็นผู้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ด้วยการพูดและทำ กล่าวคือ ด้วยกายกรรมและวจีกรรมที่แสดงออกมาได้อย่างถูกต้องตามกฎกติกา จึงเป็นผลให้ไม่ต้องได้รับความเดือดเนื้อร้อนใจในภายหลัง มีความอยู่เย็นเป็นสุข ปราศจากการอยู่ร้อนนอนทุกข์นั่นเอง
  • ทำให้สามารถถ่ายทอดความดีจากผู้อื่นได้ง่าย การที่ตนเองเป็นคนว่านอนสอนง่ายนั้น เป็นการง่ายที่จะได้รับเอาคำสั่งสอนแนะนำจากผู้อื่น ไม่แข็งกระด้างและมีความอ่อนน้อมถ่อมตน
  • ทำให้ผู้อื่นอยากช่วยเหลือเพิ่มเติมคุณความดีให้ เป็นธรรมดาของคนที่ว่านอนสอนง่าย สามารถปฏิบัติตามกฎ เกณฑ์ทางสังคมได้ ย่อมเป็นที่รักและพร้อมให้การช่วยเหลือจากผู้อื่น
  • ทำให้สติดีขึ้น เป็นคนไม่ประมาท การเป็นคนที่สามารถปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ทางสังคมได้นั้น ปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ การครองสติและสัมปชัญญะเอาไว้ให้ได้ เมื่อทำได้ดังนี้ก็ได้ชื่อว่า เป็นคนไม่ประมาท
  • ทำให้เป็นคนมีปัญญาละเอียดอ่อน รู้จริง และทำได้จริง การดำรงตนอยู่ในกรอบกติกาช่วยทำให้เพิ่มพูน ความประณีต มีความละเมียดละไม สุภาพ สุขุมลุ่มลึก และมีความสงบเย็นแก่บุคคลโดยทั่วไป
  • ทำให้เกิดในตระกูลสูงไปทุกภพทุกชาติ
  • ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานโดยง่าย
พ่อแม่ ผู้ปกครองจะส่งเสริมการเคารพกฎเกณฑ์ให้ลูกอย่างไร?
การที่เด็กๆจะเป็นผู้รู้จักเคารพกฎระเบียบกติกาของสังคมได้นั้น พ่อแม่ถือได้ว่าเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญต่อพฤติกรรมของลูก เพราะพ่อแม่นั้นคือต้นแบบที่แท้จริงสำหรับลูกๆ หากพ่อแม่ได้แนะนำอบรมลูกๆของตนได้อย่างถูกต้องด้วยแนวทางการสอนการถ่ายทอดที่ดีงามแล้ว ก็จะเป็นปัจจัยอย่างสำคัญต่อชีวิตลูกๆ ซึ่งแนวทางในการปลูกฝังความเป็นคนมีระเบียบวินัยให้กับลูกๆนั้นอาจมีหลายวิธีแตกต่างกันไปดังนี้
  • การทำให้ดูเป็นตัวอย่าง การสอนการอบรมทุกอย่างไม่มีวิธีการใดที่จะสัมฤทธิ์ผลได้เท่ากับการทำเป็นตัวอย่างให้ดู กล่าวคือ การดำรงตนตามปกติของมารดาบิดาอย่างมีระเบียบวินัยมีความเรียบร้อยนั้น เป็นการฝึกอย่างแท้จริง เพราะเด็กๆย่อมได้เห็นพฤติกรรมของพ่อแม่ที่เรียบร้อยดีงามเป็นต้นแบบในการที่จะประพฤติปฏิบัติตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากพ่อแม่ประพฤติปฏิบัติตนได้จริง แม้จะกล่าวสอนแนะนำบุตรหลาน โอวาทหรือคำแนะนำพร่ำสอนนั้นย่อมมีน้ำหนักอันควรเชื่อถือและนำไปประพฤติปฏิบัติได้ เพราะลูกหลานได้เห็นเป็นตัวอย่างมาแล้วว่าสามารถทำได้และให้ผลเป็นความดีเช่นไร การพร่ำสอนคนอื่นอย่างที่ตนกระทำได้ คือการพูดอย่างที่ทำนั่นเอง
  • การฝึกฝนให้ลูกๆมีความซื่อตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปลูกฝังตั้งแต่เด็กด้วยการเริ่มจากเรื่องง่ายๆ คือการฝึกเด็กๆรู้จักทำอะไรให้เป็นเวลา เช่น นอนเป็นเวลา ตื่นเป็นเวลา ทานอาหารเป็นเวลา แม้กระทั่งเล่นเป็นเวลา สิ่งเหล่านี้ค่อยกล่อมเกลาเด็กให้รู้จักทำอะไรเป็นเวลา เป็นการสอนให้เขารู้จักระเบียบวินัยในชีวิตโดยอ้อม
  • การฝึกให้เด็กทำงานพร้อมทั้งการติดตามดูแลเพื่อให้เด็กๆทำงานได้ตามกำหนดที่ตั้งไว้ เมื่อเด็กๆเริ่มเติบโตขึ้น พ่อแม่ควรฝึกหัดให้เด็กได้มีความรับผิดชอบต่อการงานเล็กๆน้อยๆ เช่น ให้เด็กๆรู้จักล้างจาน ซักเสื้อผ้าเอง หรือกวาดบ้านถูบ้านเป็นต้น ตามกำหนดระยะเวลาที่กำหนดไว้ว่าควรทำเมื่อไร ยังไง การทำเช่นนี้เป็นการส่งเสริมให้เด็กๆมีความรับผิดชอบต่อการงานและระเบียบเวลาที่ตั้งไว้ อีกทั้งตัวของเด็กๆยังได้เห็นผลของการกระทำเช่นนั้นว่าเป็นอย่างไร กล่าวคือ ได้เห็นความเป็นระเบียบเรียบร้อยภายในบ้าน หรือความสำเร็จของงานที่ตนรับผิดชอบ
  • การสอนให้เด็กๆ รู้จักกฎเกณฑ์ทางสังคมตลอดถึงวัฒนธรรมประเพณีความเชื่อและค่านิยมต่างๆ เพื่อเป็นการสอนให้เด็กๆได้รู้ว่าควรวางตนอย่างไรในสังคม กล่าวคือจะประพฤติปฏิบัติอย่างไรจึงจะถูกต้องในสังคม วิธีการนี้ อาจทำได้โดยให้เด็กๆได้เรียนรู้จากประสบการณ์โดยตรงจากการที่พ่อแม่เปิดโอกาสให้ลูกหลานได้ศึกษาจากประสบการณ์นอกบ้าน
มารยาทในการดำรงตนเพื่อการอยู่ในสังคมให้เป็นบุคคลมีมารยาท คุณพ่อคุณแม่ควรปลูกฝังในเรื่องต่อไปนี้
  • การรู้จักวางตน ต้องเป็นคนมีความอดทน มีความสงบเสงี่ยม ไม่แสดงกิริยาก้าวร้าว อวดรู้ อวดฉลาด อวดมั่งมี และไม่ ควรตีตัวเสมอผู้ใหญ่ แม้ว่าจะสนิทสนมหรือคุ้นเคยกันสักปานใดก็ตาม
  • การรู้จักประมาณตน มีธรรมของคนดี 7 ได้แก่ รู้จัก เหตุผล ตน ประมาณ กาล ชุมชน และบุคคล โดยไม่ทำตัวเองให้เด่น เรียกร้องให้คนอื่นสนใจ หรือสร้างจุดสนใจในตัวเรามากเกินไป ตัวอย่าง คำเตือนของหลวงวิจิตรวาทการที่กล่าวไว้ว่า“จงทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย ไม่มีใครเขาอยากเห็นเราเด่นเกิน”
  • การรู้จักการพูดจา ต้องไม่ทักทายปราศรัยกับคนด้วยคำพูดที่จะทำให้คนเขาเกิดความอับอายในสังคม และ ไม่คุยเสียงดังหรือยักคิ้วหลิ่วตาทำท่าทางประกอบจนทำให้เสียบุคลิกภาพได้
  • การรู้จักควบคุมอารมณ์ คือ รู้จักข่มจิตของตน ไม่ใช้อารมณ์รุนแรงเพื่อไม่ให้ล่วงสิ่งที่ไม่ควรล่วง ได้แก่ การข่มราคะ โทสะ โมหะ ไม่ให้กำเริบ เป็นคุณลักษณะที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ รู้จักข่มอารมณ์ต่างๆ ไม่ทำลายข้าวของ ไม่พูด และแสดงกิริยาประชดประชันหรือส่อเสียด
  • การสำรวมกิริยาเมื่อเดินผ่านผู้ใหญ่ ขณะที่เดินผ่านผู้ใหญ่ให้ก้มตัวพองาม หรือหากผู้ใหญ่กำลังเดินไม่ควรวิ่งตัดหน้า ควรหยุดให้ผู้ใหญ่เดินไปก่อน หรือไม่ควรเดินผ่านกลางขณะที่ผู้ใหญ่กำลังพูดกัน
  • การรู้จักควบคุมอิริยาบถ ถือเป็นคุณสมบัติที่ดี เช่น เมื่อเราได้ยินเสียงเพลงก็ไม่ควรเขย่าตัว กระดิกเท้า หรือเคาะจังหวะโดยไม่เลือกสถานที่ ซึ่งการกระทำดังกล่าวนี้ ถือว่าเป็นอาการของคนที่ไม่ควบคุมอิริยาบถ และไม่เหมาะสมกับกาลเทศะ
  • ความมีน้ำใจไมตรีอันดีต่อกัน การอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุขด้วยความรักและเข้าใจกัน ควรมีความเอื้ออาทร มีน้ำใจไมตรีต่อกัน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน มีความเห็นอกเห็นใจ เอาใจใส่ ทุกข์สุขของผู้เกี่ยวข้อง มุ่งดีมุ่งเจริญต่อกัน ที่สำ คัญคือมีน้ำใจในการช่วยเหลือ หรือช่วยทำประโยชน์ให้แก่สังคม
  • การช่วยเหลือผู้อื่น เป็นคุณธรรมชั้นสูงของการอยู่ร่วมกันในสังคม ลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด ผู้บำเพ็ญประโยชน์มีอุดม การณ์สำคัญคือ “การช่วยเหลือผู้อื่น” พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเป็นปัจฉิมโอวาท ความว่า “จงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นด้วยความไม่ประมาทเถิด” การยังประโยชน์แก่ผู้อื่น ก็คือ การช่วยเหลือผู้อื่น หรือการปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น เพื่อประโยชน์ส่วนรวม สังคมจะมีสันติสุข คือ มีความสงบสุข ถ้าบุคคลในสังคมรู้จักการช่วยเหลือผู้อื่น มีความเสีย สละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

ที่มา..http://taamkru.com/th/%E0%B9%80% ... %E0%B8%91%E0%B9%8C/
8#
 เจ้าของ| โพสต์ 2015-9-4 06:02 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
แยกคนดีออกจากคนที่ (เราคิดว่า) คือเป็นตัวสร้างปัญหา

จากนั้นจับเอาคนที่ชอบสร้างปัญหาทั้งหลายมัดรวมกัน

ใส่ตะกร้า โยนทิ้งลงมหาสมุทรไปเสีย

ทีนี้ในประเทศที่แสนดีของเราก็จะเหลือแต่คนดี

ไชโย แก้ปัญหาได้แล้ว ต่อไปนี้ประเทศชาติดีแน่



9#
 เจ้าของ| โพสต์ 2015-10-3 06:34 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้