ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1888
ตอบกลับ: 0
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

หลวงปู่นาค (พระพิมลธรรม) วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง)

[คัดลอกลิงก์]


หลวงปู่นาค (พระพิมลธรรม) วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) ต้นตำหรับตะกรุดหนังหน้าผากเสืออันโด่งดัง สุดยอดเครื่องรางอีกอย่างหนึ่ง ที่โดดเด่นในทางด้านมีอำนาจ เป็นมหาอุด แคล้วคลาด ปลอดภัย ดังคำกล่าวที่ว่า " ใครใส่ตะกรุดหนังหน้าผากเสือของท่านเดินผ่านคอกวัวควายในสมัยนั้น วัวควายยังตื่นกลัว วิ่งหนีแตกตื่นกันอย่างลนลานเลยที่เดียว "
หลวงปู่นาค ท่านเกิดเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ.2415 ที่บ้านบางพูน จังหวัดปทุมธานี
โยมบิดา ชื่อ นวล
โยมมารดา ชื่อ เลื่อน
เมื่อวันเด็กอายุพอสมควร ได้เรียนหนังสือกับครูฟ้อน พออ่านออกเขียนได้ พออายุได้ 12 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดสารพัดช่าง โดยมีเจ้าอธิการหว่าง ธมฺมโชติ เป็นพระอุปัชฌาย์ได้ศึกษาพระธรรมวินัยจนอายุครบบวช เจ้าอธิการหว่างจึงได้พามาถวายพระธรรมวโรดม (แดง) วัดสุทัศน์ (สมณศักดิ์ในสมัยนั้น) เมื่อปีมะโรง พ.ศ.2435 ท่านจึงได้อุปสมบทที่วัดสุทัศน์ โดยมีสมเด็จพระวันรัต (แดง) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูธรรมานุสารี (หว่าง) วัดเทียนถวาย ปทุมธานี เป็นพระคู่สวด ได้รับนามฉายาว่า "สุมนนาโค" เมื่อบวชแล้วก็ได้ศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักสมเด็จพระวันรัต (แดง) และในสำนักพระยาธรรมปรีชา (ทิม) จนมีความรู้แตกฉาน
เมื่อตอนปี พ.ศ.2433 ได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมได้เป็นเปรียญ 4 ประโยค
ปี พ.ศ. 2437 ได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมได้เปรียญ 6 ประโยค
ปี พ.ศ.2441 ได้เข้าแปลพระปริยัติธรรม ได้เปรียญ 7 ประโยค
ปี พ.ศ.2442 ได้เป็นพระราชาคณะที่ พระศรีสมโพธิเป็นที่ปรึกษาคณะสงฆ์ในสมเด็จพระวันรัต (แดง)
ปี พ.ศ.2461 ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชสุรี
ปี พ.ศ.2464 ได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ ให้ไปครองวัดอรุณราชวรารามและเป็นพระอุปัชฌาย์
ปี พ.ศ.2467 ได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระธรรมดิลก
ปี พ.ศ.2476 ได้เลื่อนเป็นพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ปี พ.ศ.2482 ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นหิรัญบัตรที่ พระพิมลธรรม
หลวงปู่นาค ท่านมีความรู้ทั้งในด้านพระปริยัติธรรมและวิปัสสนากรรมฐาน พร้อมทั้งยังมีวิทยาคมสูงมาก ท่านได้ศึกษาวิชาต่างๆ จากหลวงพ่อหว่าง วัดเทียนถวายจนหมดสิ้น ทั้งวิชาลงหนังหน้าผากเสือ วิชาลงผ้าประเจียดแดง ซึ่งเป็นที่ลือเลื่องของหลวงพ่อหว่าง ขนาดมีนกมาเกาะอยู่ในบริเวณวัด เคยมีคนมาลองยิงยังยิงไม่ออก หลวงปู่นาคท่านได้เคยแจกรูปถ่ายติดกระจกข้าวหลามตัดในปี พ.ศ.2475 เนื่องในโอกาสทำบุญครบ 5 รอบอายุ 60 ปี ซึ่งจริงๆแล้วท่านหลวงปู่นาค ท่านไม่มีเจตนาจะสร้างรูปกระจกข้าวหลามตัดนี้เลย แต่ด้วยเพราะบรรดาลูกศิษย์ลูกหาของท่านในสมัยนั้นเห็นว่าปีนี้เป็นงานฉลองวันเกิดครบ 5 รอบอายุ 60 ปีของท่าน และก็อยากจะได้รูปถ่ายของท่านไว้บูชาเพื่อเป็นศิริมงคลกัน จึงได้ไปขอให้ท่านหลวงปู่นาค สร้างรูปถ่ายติดกระจกข้าวหลามตัด ท่านหลวงปู่นาค จึงบอกว่าถ้าอย่างนั้นท่านไม่ขอยุ่งเกี่ยว ถ้าอยากได้กันจริงๆก็ให้ไปหาท่านพระอาจารย์พา วัดระฆังเพื่อขอคำแนะนำเพราะท่านพระอาจารย์พา วัดระฆังท่านได้ทำรูปถ่ายติดกระจกข้าวหลามตัดแบบนี้ขึ้นมาก่อนเมื่อปี 2471 เมื่อทำรูปถ่ายติดกระจกข้าวหลามตัดเสร็จแล้ว ลูกศิษย์จึงนำมาถวายท่านหลวงปู่นาคให้ท่านปลุกเสก และแจกในงานฉลองวันเกิดครบ 5 รอบอายุ 60 ปีของท่านดังที่ได้กล่าวมาแล้ว และท่านหลวงปู่นาคท่านยังได้สร้างตะกรุดหนังหน้าผากเสือ วัดอรุณ เพื่อไว้แจกแก่ลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดจะไม่แจกพร่ำเพรื่อ เพราะตามตำราการทำตะกรุดหนังหน้าผากเสือของท่านหลวงปู่นาค ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากหลวงพ่อหว่าง วัดเทียนถวายนั้น ท่านจะต้องทำพิธีปลุกเสกตะกรุดหนังหน้าผากเสือวัดอรุณ ของท่านได้เฉพาะปีที่มีเสาร์ห้าเท่านั้น ซึ่งในสมัยนั้นหากลูกศิษย์ลูกหาคนใดอยากได้ ตะกรุดหนังหน้าผากเสือวัดอรุณของท่านหลวงปู่นาค เอาไว้บูชา ส่วนใหญ่จะพากันมาสั่งหนังเสือที่ร้านเจ้ากรมเป๋อหน้าวัดสามปลื้มเหตุเพราะในสมัยนั้นใครมีของป่าและยาสมุนไพรป่าก็จะนิยมนำมาขายหรือฝากขายที่ร้านนี้ เมื่อได้มาแล้วจะนำส่วนหน้าผากของเสือมาตัดแบ่งตามขนาดใหญ่เล็กแล้วแต่ขนาดของหน้าผากเสือที่ได้มา ถ้าเล็กก็ประมาณ 1 นิ้วหากใหญ่ก็ไม่เกิน 2 นิ้วต่อ 1 ชิ้นหนังหน้าผากเสือ ซื่งเสือหนึ่งตัวจะสามารถตัดแบ่งหนังหน้าผากได้ไม่กี่ชิ้น จากนั้นจะนำมาแช่น้ำเพื่อขูดขนออกให้เกลี้ยงแล้วนำมาฝนให้หนังหน้าผากเสือมีความหนาที่บางลง เพื่อง่ายต่อการจารและม้วนเป็นตะกรุด เมื่อได้หนังหน้าผากเสือตามขนาดที่ต้องการแล้วก็จะนำมาถวายให้ท่านหลวงปู่นาคทำพิธีจารอักขระเลขยันต์ตามสูตร เมื่อจารอักขระเลขยันต์เสร็จแล้วท่านจะทำการม้วนตะกรุดโดยใช้ด้ายสายสินเล็กๆมาควั่นเพื่อมัดให้หนังเสือแห้งอยู่ตัวไม่คลายออก ซึ่งในยุดหลังๆปลายชีวิตท่านหลวงปู่นาค ท่านจะให้พระเณรหรือลูกศิษย์วัดในกุฎิของท่านทำการควั่นเชือกตะกรุดแทนท่านเมื่อเสร็จในขั้นตอนนี้แล้ว ก็จะทำการลงรักเพื่อรักษาให้หนังเสือมีการรัดตัวและมีอายุการใช้งานคงทนยืนนาน ซึ่งหนังเสือที่นำมาลงรักนั้นจะมีทั้งยังมีเชือกที่ควั่นไว้และไม่มีเชือกที่ควั่นไว้ก็มี และมีทั้งการลงรักแล้วปิดทองและไม่ปิดทองก็มี เมื่อเสร็จสมบูณ์เป็นตะกรุดหนังหน้าผากเสือแล้วท่านหลวงปู่นาค ท่านจะเริ่มปลุกเสกของท่านไปเรื่อยๆเพื่อรอให้ถึงฤกษ์เสาร์ห้าในปีนั้นๆจึงจะทำพิธีปลุกเสกใหญ่ในวันเสาร์ห้าอีกครั้ง เมื่อเสร็จจากพิธีปลุกเสกใหญ่ในวันเสาร์ห้าแล้วท่านหลวงปู่นาค ท่านจึงจะทำการแจกจ่ายกับศิษย์ที่ศัทธาหรือศิษย์ที่ได้นำหนังหน้าผากเสือมาไว้ให้ท่านทำพิธีให้ จะเห็นได้ว่าด้วยขั้นตอนวิธีการทำที่สลับซับซ้อนของการสร้างตะกรุดหนังหน้าผากเสือของท่านหลวงปู่นาค วัดอรุณ จึงทำให้ได้ตะกรุดหนังหน้าผากเสือวัดอรุณ ที่มีจำนวนค้อนข้างน้อย และมีจำนวนการสร้างที่มีจำนวนจำกัดเป็นอย่างยิ่ง จึงทำให้เป็นที่ใฝ่หาของบรรดาท่านที่นิยมศรัทธาในองค์หลวงปู่นาค วัดอรุณเป็นอย่างยิ่ง จนในยุคปัจจุบันนี้จะหาตะกรุดหนังหน้าผากเสือวัดอรุณ ของท่านจริงๆชมกันได้ยากยิ่ง ตะกรุดหนังหน้าผากเสือของท่านหลวงปู่นาค วัดอรุณ นั้นเข้มขลังมาก มีประสบการณ์มากมาย ถึงขนาดใครใส่ตะกรุดหนังหน้าผากเสือของท่านเดินผ่านคอกวัวควายในสมัยนั้น วัวควายยังตื่นกลัววิ่งหนีแตกตื่นกันอย่างลนลาน
ขั้นตอนการสร้างตะกรุดหนังหน้าผากเสือของท่านหลวงปู่นาค วัดอรุณ ทั้งหมดที่ได้กล่าวมานี้ เป็นเรื่องที่ผู้เขียนสงสัยมาหลายสิบปี เพราะเป็นเพียงการได้ฟังมาจากคุณลุงกวี อรรถโกวิทซึ่งท่านก็ฟังมาจากคุณปู่กร อรรถโกวิทซึ่งเป็นพ่อของท่านอีกที จึงยังมีข้อสงสัยในใจอยู่อีกหลายอย่าง แต่เมื่อได้มารู้จักกับคุณอนุสิษฐ์ บุญมาก ซึ่งคุณตาทั้งสามท่านของคุณอนุสิษฐ์ บุญมาก ท่านเคยมารับใช้ท่านหลวงปู่นาคอยู่ที่วัดอรุณในสมัยที่ท่านหลวงปู่นาคท่านยังมีชีวิตอยู่ คือ 1.คุณตากุ 2.คุณตาม้วน 3.คุณตามิ่ง ก่อนที่พวกท่านและชาวปทุมธานีอีกหลายท่าน จะเดินทางกลับไปอยู่ที่วัดเทียนถวายเมื่อท่านหลวงปู่นาคท่านได้มรณะภาพลง ผู้เขียนจึงได้ไหว้วานขอให้คุณอนุสิษฐ์ บุญมากไปช่วยสอบถามถึงขั้นตอนการสร้างตะกรุดหนังหน้าผากเสือของท่านหลวงปู่นาค วัดอรุณ จากคุณตามิ่งให้อีกครั้ง เพื่อยืนยันถึงสิ่งที่ได้รับรู้มาจากคุณลุงกวี อรรถโกวิท ว่าจะตรงกันหรือไม่(ซึ่งขณะที่ทำการบันทึกนี้ คุณตามิ่งท่านยังมีชีวิตอยู่) ก็ได้ข้อมูลที่ตรงกันคือ "เมื่อม้วนตะกรุดหนังหน้าผากเสือเสร็จแล้ว ท่านหลวงปู่นาคท่านจะเอาด้ายสายสินเส้นเล็กๆสีขาวมาควั้นเพื่อยึดตะกรุดหนังหน้าผากเสือของท่านไว้เพื่อไม่ให้คลายตัวออก" จึงได้ลงบันทึกการสร้างตะกรุดหนังหน้าผากเสือของท่านหลวงปู่นาค วัดอรุณ ที่ถูกต้องนี้ไว้ เพื่อมิให้ขั้นตอนการสร้างตะกรุดหนังหน้าผากเสือของหลวงปู่นาค วัดอรุณที่ถูกต้องได้สูญหายไป
พระพิมลธรรม(นาค) ได้มรณภาพ ในรัชกาลที่ ๘ วันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ รวมสิริอายุได้ ๗๒ ปี ๖ เดือน
ขอบันทึกไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์และเทิดเกียรติคุณแด่ ท่านพระพิมลธรรม(นาค สุมนนาโค) พระผู้เป็นที่รักและเคารพยิ่งของพวกเราชาววัดอรุณ


บันทึกเมื่อ วันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2556
เรียบเรียงโดย แว่น วัดอรุณ

ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้