|
จะ‘โลกจริง’หรือ‘ออนไลน์’ ‘กร่าง-เกรียน’…ระวัง‘คุก’!
ว่ากันว่าสังคมสมัยนี้ “อยู่ยาก” เพราะมองไปทางไหนเจอแต่ “ความรุนแรง” เห็นได้จากข่าวสารตามสื่อต่างๆ เดี๋ยวก็ “ฆ่า” และทำร้ายกันด้วยสารพัดเหตุผลแห่ง “โมหะ” ขณะเดียวกันโลกยุคนี้เป็นยุคแห่ง “ออนไลน์” ผู้คนติดต่อสื่อสารผ่านอินเตอร์เนต ผลคือปัญหาความรุนแรงได้ขยายตัวเข้าไปใน “สังคมเสมือน” นี้ด้วย เห็นได้จากมีการโพสต์ข้อความด่าทอเสียดสีกันไปมา อีกทั้งยังโพสต์ภาพอาวุธทั้งปืน มีดและอื่นๆในเชิง “ข่มขู่-ประกาศศักดา” ผู้ใดอย่าได้มาท้าทายลูบคม
เพราะคำว่า “ศักดิ์ศรี” ค้ำคอ จึงต้องวางมาดให้ดู “เก๋า-เจ๋ง-เก่ง-แน่” เข้าไว้!!!
“รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก” คณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ฝากเตือนผ่าน “สกู๊ปแนวหน้า” ถึงพฤติกรรมความรุนแรงต่างๆ โดยเฉพาะกับวัยรุ่นอันเป็นวัย “คึกคะนอง” อีกทั้งยังถือคติ “เพื่อนมีเรื่อง เรามีด้วย” ว่าอาจเข้าข่าย “ผิดกฎหมาย” และมีโทษหนัก
ที่เห็นกันบ่อยๆ คือ เรื่อง “นักเลง-อันธพาล” ยกพวกเข้าทำร้ายร่างกายคู่อริ...ประเด็นนี้ “อาจารย์เจษฎ์” ย้ำว่า “แค่อยู่ร่วมกับกลุ่มผู้ก่อเรื่องในเวลาเกิดเหตุ” แม้ไม่ได้ลงมือเอง หรือเป็นผู้สั่งการ แต่หากพูด หรือแสดงกิริยาอาการใดที่ส่อเจตนา“สนับสนุน-ยุยง-ส่งเสริม” เข้าข่ายมีความผิดแล้วตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288-290, 295-298 ตามผลที่เกิดขึ้นกับผู้ถูกทำร้าย ยิ่งอาการหนักมาก บาดเจ็บมาก โทษก็จะยิ่งหนักขึ้นตามลำดับ และหากผู้ถูกทำร้าย “เสียชีวิต” ผู้ร่วมกระทำผิดอาจได้รับโทษถึงขั้น...
“ประหารชีวิต-จำคุกตลอดชีวิต”!!!
“เมื่อไปเป็นกลุ่ม แม้ไม่ได้ลงมือ แต่การแสดงออกในลักษณะที่ทำให้เห็นได้ว่าเป็นการร่วมกันก็ถือได้ว่าเป็นผู้สนับสนุน หรือในกรณีที่ชัดเจนอาจจะเป็นผู้ใช้ หรือตัวการร่วมก็ได้ หรือในกรณีแม้ไม่ได้กระทำการใดๆ แต่อยู่ร่วมด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรู้ว่าบรรดาบุคคลที่ตนอยู่รวมด้วยจะไปทำอะไร ก็จะเป็นเช่นกรณีแรก บางครั้งผู้เฒ่าผู้แก่จึงมักเตือนลูกหลานมาแต่โบราณว่าอย่าไปอยู่ในที่อโคจร และอย่าไปกับคนพาล เพราะสถานที่หรือคนเหล่านั้น มักพาไปหาผิด ก็ทำนองเดียวกัน” อาจารย์เจษฎ์ กล่าว
ไม่เพียงผู้กระทำผิดจะได้รับโทษ แต่ “พ่อแม่-ผู้ปกครอง” อาจผิดด้วย หากเป็นกรณี “ผู้กระทำผิดอายุไม่ถึง 18 ปี” เพราะตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 26
(3) ระบุว่า “ห้ามผู้ใดก็ตาม บังคับ-ขู่เข็ญ-ชักจูง-ส่งเสริม-ยินยอม” ให้เด็กประพฤติตนอันเสี่ยงต่อการกระทำผิดกฎหมาย โดยในมาตรา 78 ระบุโทษไว้ว่า จำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากไม่อาจพิสูจน์ได้ว่า...
“ตั้งใจอบรมบุตรหลานอย่างเต็มที่แล้ว”!!!
“กรณีผู้ปกครองคงต้องมีความชัดเจนในระดับหนึ่งว่า ทราบถึงการกระทำของบุตรหลานแล้วไม่ได้ห้ามปราม ว่ากล่าว ตักเตือน หรือกระทำการใดๆ เลย อันนี้คงต้องถือว่าเข้าข่ายเป็นการยินยอมให้ไปกระทำการต่างๆ เหล่านั้นได้” อาจารย์เจษฎ์ ระบุ
อีกด้านหนึ่งกับพฤติกรรม “กร่าง-เกรียน” บนโลกออนไลน์ จำพวกโพสต์ข้อความข่มขู่บุคคลอื่น โพสต์ภาพตนเองถืออาวุธพร้อมข้อความ “ประกาศศักดา”...ประเด็นนี้ ทนายความชื่อดังอย่าง “นายประมาณ เลืองวัฒนะวณิช” กล่าวว่า แม้ทั้ง 2 กรณีไม่เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 โดยตรง เพราะไม่ใช่การโพสต์หมิ่นประมาท ใส่ความในเรื่องอันเป็นเท็จ, โพสต์เรื่องลามกอนาจาร, โพสต์ข้อความปล่อยข่าวลือจนสังคมเกิดความตื่นตระหนก และโพสต์ข้อความที่เข้าข่ายความผิดอาญาในหมวดความมั่นคงหรือการก่อการร้าย
แต่อาจเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายอื่นๆได้!!!
“ทนายประมาณ” อธิบายว่า หากการข่มขู่นั้นทำให้อีกฝ่ายรู้สึก “ตระหนกตกใจกลัว” ผู้ข่มขู่อาจเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 392 มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากการข่มขู่นั้นเป็นไปเพื่อ “ให้ผู้อื่นกระทำหรือไม่กระทำสิ่งใด” ผู้ข่มขู่อาจเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 โทษจะหนักขึ้น คือ จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนการโพสต์ภาพโชว์อาวุธ...“ทนายประมาณ” กล่าวว่า หากเป็นอาวุธอื่นๆ เช่น มีด ดาบ ฯลฯ กรณีแบบนี้ยังไม่ถือเป็นความผิด ตราบเท่าที่ไม่เข้าข่าย “พกพา” ไปในที่สาธารณะ หรืออย่างปืนอัดลม , “บีบีกัน” ที่ไม่มีความผิดฐานครอบครอง แต่จะมีความผิดหากนำไปใช้ก่ออาชญากรรม
ทว่า...หากอาวุธที่โพสต์นั้นเป็น “ปืนจริง” อาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 และหากพบว่าอาวุธปืนดังกล่าวเป็น “ปืนเถื่อน” ไม่มีใบอนุญาตครอบครอง จะเข้าข่ายมาตรา 7 ว่าด้วยการมีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งใน มาตรา 72 วรรค 1 ระบุโทษไว้ว่า จำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท
หรือแม้ว่าปืนกระบอกดังกล่าวจะเป็นปืน “ถูกกฎหมาย” เช่น ลูกหยิบปืนของพ่อที่มีทะเบียนและใบอนุญาตครอบครองถูกต้องมาถือโชว์ แล้วโพสต์อวดบนสื่อออนไลน์ อาจสุ่มเสี่ยงเข้าข่ายที่เรียกกันว่า“ปืนผิดมือ” ซึ่งในมาตรา 72 วรรค 3 ระบุโทษไว้ว่า จำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท
“เรื่องโพสต์ภาพปืน ถ้าเป็นปืนจริงคนโพสต์ภาพอาจถูกตั้งข้อหาเกี่ยวกับการครอบครองอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต แล้วถ้าสถานที่โพสต์เป็นนอกบ้าน จะมีความผิดฐานพกพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือแม้แต่พ่อมีปืนถูกกฎหมาย มีใบอนุญาต แต่ลูกเอาปืนพ่อมาครอบครอง อันนี้มีความผิดฐานครอบครองปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต เขาเรียกว่าปืนผิดมือ ต่อให้อยู่ในบ้านก็ผิด” ทนายประมาณ กล่าว
คงต้องบอกว่า “ใจเย็นๆ” กันเสียหน่อยดีกว่า เพราะถ้า “ใจร้อน วู่วาม” ทำอะไรที่ไปเข้าข่ายผิดกฎหมายย่อมมีโทษทัณฑ์ และบางข้อหาโทษร้ายแรง “เสียเวลา-เสียประวัติ” ยังไม่นับ “ความผิดทางแพ่ง” ที่จะต้อง “ชดใช้” ให้ผู้เสียหาย
อีกทั้งการกระทำของลูกยังส่งผลถึง “บุพการี” ซึ่งแม้พ่อแม่ผู้ปกครองอาจไม่ผิดตามกฎหมาย แต่ก็กลายเป็น “จำเลยสังคม” ถูกตำหนิติเตียนว่า “ลูก...พ่อแม่ไม่สั่งสอน” จะมาเสียใจภายหลัง
หรือบอกว่า “รู้เท่าไม่ถึงการณ์” ก็แก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว!!!
|
|