พระผง นาคปรก สัตตบงกช
ศิลปะพระพุทธรูปปางนาคปรกที่เก่าแก่ในแถบบ้านเรา อาจจะนับพระพุทธรูปหินแกะสลัก ศิลปะเขมรแบบบายน ที่ปรากฏในแถบเมืองลพบุรี ครั้งขอมเรืองอำนาจ และนับถือพุทธแบบมหายาน และยังปรากฏในพระเครื่องชนิดพระแผงที่เรียกกันในวงการพระว่า “นารายณ์ทรงปืน” ซึ่งความจริงทำเป็นรูปพระปางนาคปรกอยู่กลาง พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และพระนางปรัชญาปารมิตา ประทับอยู่ซ้ายขวา ซึ่งพระปางนาคปรก ทั้งองค์พระพุทธรูปหินจำหลักและที่ปรากฏในพระแผงนั้น เป็นการจำลองพระพุทธรูป “พระชัยพุทธมหานาถ” ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ผู้ครองนครธม โปรดให้สร้างขึ้น 23 องค์ และพระราชทานไปประดิษฐานตามเขตแดนต่างๆ ที่เป็นขอบขัณฑสีมาในราชอาณาจักรของพระองค์ สยามประเทศ คงได้รับอิทธิพลการสร้าง “พระปางนาคปรก” จากเขมรก่อนเป็นเบื้องแรก ตั้งแต่สมัยอยุธยาจึงเริ่มพบพระประเภทดังกล่าว และเมื่อราชสำนักพยายามรวบรวมพุทธประวัติ ได้มีการสร้างพระปางต่างๆ ตามเรื่องราว พระปางนาคปรกก็ได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากแสดงออกถึงอิทธิฤทธิ์แห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต่อเมื่อมีการจัดสรรให้เกิดพระปางประจำวัน เพื่อเข้าไปทดแทนการบูชาเทพนพเคราะห์ ซึ่งได้แก่ พระอาทิตย์ พระจันทร์ ไปจนถึงพระราหู พระเกตุทั้งเก้าดวง ซึ่งเป็นคติพราหมณ์ “พระปางนาคปรก” ก็ได้รับการจัดสรรให้เป็นปางประจำวันเสาร์ แทนดาวพระเสาร์แต่นั้นมา พระผงนาคปรก สัตตบงกช จัดสร้างขึ้นเมื่อปี 2556 เพื่อนำไปบรรจุกรุ องค์พระประทาน ณ สำนักปฏิบัติธรรมเทพนิมิตร จ.สระแก้ว ส่วนหนึ่งได้นำไปถวายกับวัดต่างๆ ในต่างจังหวัด มวลสารสำคัญคือ บัวแฝด 7 คู่พร้อมทั้งมวลสารวิเศษมากมายของหลวงปู่ชื่น ติคญาโณ
|