ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 5154
ตอบกลับ: 1
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

กฎไตรลักษณ์

[คัดลอกลิงก์]
กฎไตรลักษณ์

ไตรลักษณ์ แปลว่า ลักษณะ ๓ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สามัญญลักษณะ หมายถึงลักษณะทั่วไปของสังขตธรรม คือลักษณะที่ไม่เที่ยง (อนิจจัง) ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ (ทุกขัง) และ ปราศจากแก่นสาร (อนัตตา) พระพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องไตรลักษณ์โดยเริ่มจาก อนัตตา โดยใช้ขันธ์ ๕ เป็นสื่อ ดังใน อนัตตลักขณสูตร (รูปเป็นอนัตตา ถ้ารูปเป็นอัตตา ก็ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ……..ไล่ไปจนครบทุกขันธ์ในขันธ์ ๕)
กฏไตรลักษณ์เป็นมุมมองที่เกี่ยวกับสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้และเหนือโลก ว่ามีลักษณะที่ต้องเป็นไปเหมือนกันทุกประการตอบคำถามที่ว่า
“ชีวิตมีลักษณะอย่างไร”

ไตรลักษณ์มีองค์ประกอบ ๓ อย่างคือ


อนิจจังอนิจจัง ตรงข้ามกับคำว่า  นิจจัง  นิจจัง แปลว่า เที่ยงแท้  แน่นอน ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่แปรผัน  อนิจจัง แปลว่า  สิ่งไม่เที่ยง ไม่แน่นอน เปลี่ยนแปลง แปรผัน สิ่งที่ประกอบกันเป็นสังขารต้องมีการเปลี่ยนแปลง ไม่มีสิ่งใดไม่แตกสลาย คงอยู่เป็นอมต บางครั้งก็ใช้คำว่า อนิจจตา แปลว่า ความไม่เที่ยง อนิจจังเป็นการระบุถึงเบญจขันธ์ ส่วนอนิจจตาเป็นการระบุถึงสภาวะที่ปรากฏแก่เบญจขันธ์ ในพระบาลี  ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ท่านแสดงไว้ว่า ชื่อว่าไม่เที่ยง เพราะมีสภาวะสิ้นไป
ในคัมภีร์อรรถกถา  ได้แสดงความเป็นเหตุเป็นผลของความเป็นอนิจจังไว้  ๔  ประการด้วยกันคือ

๑.     เพราะเป็นไปโดยการเกิด และการสลาย คือเกิดดับ ๆ มีแล้วก็ไม่มี   (อุปฺปาทว ยปฺปวตฺติโต)
๒.     เพราะเป็นของแปรปรวน  คือเปลี่ยนแปลง  แปรสภาพไปเรื่อย ๆ (วิปริณามโต)
๓.     เพราะเป็นของชั่วคราว  อยู่ได้ชั่วขณะ ๆ (ตาวกาลิกโต)
๔.     เพราะแย้งต่อความเที่ยง คือ สภาวะของมันที่เป็นสิ่งไม่เที่ยงนั้น ขัดกันอยู่เองในตัวกับความเที่ยง  หรือโดยสภาวะของมันเองก็ปฏิเสธความเที่ยงอยู่ในตัว  เมื่อมองดูรู้เห็นตรงตามสภาวะของมันแล้ว ก็จะหาไม่พบความเที่ยง (นิจฺจปฏิกฺเขปโต)

ทุกขังทุกขังคือสภาพที่บีบคั้น ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ทุกสิ่งเมื่อเกิดมาแล้ว ต้องเป็นทุกข์ แตกสลาย คงอยู่สภาพเดิมไม่ได้ โดยลักษณะของความเป็นทุกข์  ได้มีจำแนกไว้  ๔ ประการ และพระเทพเวที (ประยุทธ์  ปยุตฺโต) ได้ประมวลเพิ่มเติมมาจากคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรคอีก ๒  รวมเป็น ๖ ประการด้วยกันคือ

๑.     เพราะบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา  คือถูกบีบอยู่ตลอดเวลา (อภิณฺหสมฺปติปีฬนโต)
๒.     เพราะเป็นสภาพที่ทนได้ยาก คือคงทนอยู่ไม่ไหว ต้องเปลี่ยนสภาพไป (ทุกฺขมโต)
๓.     เพราะเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ คือเป็นที่รองรับความทุกข์ (ทุกฺขวตฺถุโต)
๔.     เพราะแย้งต่อความสุข คือโดยสภาวะของมันเองก็ปฏิเสธความสุข หรือกีดกั้นความสุขอยู่ในตัว (สุขปฏิกฺเขปโต)
๕.     โดยความหมายว่าเป็นของปรุงแต่ง  คือถูกปัจจัยต่างๆ รุมกัน หรือมาชุมนุมกันปรุงแต่งเอา  มีสภาพที่ขึ้นต่อปัจจัย  ไม่เป็นของคงตัว (สงฺขตฏฺ)
๖.     โดยความหมายว่าแผดเผา  คือในตัวมันเองมีสภาพที่แผดเผาให้กร่อนโทรม ย่อยสลายไป (สนฺตาปฏฺ)
สิ่งใดก็ตามที่มีลักษณะทั้ง  ๖ ประการดังกล่าวมา  สิ่งนั้นย่อมบ่งบอกว่า  มีความเป็นทุกข์เป็นตัวปรากฏชัด


อนัตตาอนัตตา แปลตามศัพท์ว่า ไม่มีตน  ไม่ใช่ตน (น+อัตตา) เพราะสิ่งทั้งปวงเป็นเพียงสักว่าธรรม หรือสิ่งหนึ่งๆ เท่านั้น คือไม่ใช่สิ่งนั้น และไม่ใช่สิ่งนี้ ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรคท่านกล่าวไว้ว่า  ชื่อว่าเป็นอนัตตา เพราะมีสภาวะไม่มีแก่นสาร สรรพสิ่งทุกอย่าง ไม่มีอะไรเป็นสาระแก่นแท้ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ บังคับไม่ได้ ไม่มีตัวตน ไม่มีอะไรนอกจากกฎธรรมดา ที่ทำงานไปตามเหตุปัจจัย

ตัวอย่างเช่น  เมื่อเราพูดถึงคำว่า น้ำ เราก็จะพบว่า จริงๆแล้วน้ำ ก็เป็นเพียงสิ่งสมมุติที่เรียกว่า ภาวะที่ไฮโดรเจน ๒ อะตอม บวกกับออกซิเจน ๑  อะตอม  ตัวไฮโดรเจน และออกซิเจนก็จะมีหน่วยย่อยที่เป็นส่วนประกอบอีก  เช่นนี้ไปเรื่อยๆ  โดยที่สุดถ้าเรามองด้วยมุมมองในลักษณะที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยเช่นนี้  เราจะหาตัวตนที่แท้จริงของสิ่งนั้นๆ ไม่พบ  จะพบก็เพียงแต่  เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี  เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น  สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น  เพราะสิ่งนี้ไม่มี  สิ่งนี้จึงไม่มี  เพราะสิ่งนี้ดับไป สิ่งนี้จึงดับไป  เราจึงสามารถกำหนดความเป็นอนัตตาได้จากข้อกำหนด  ๔ ประการต่อไปนี้คือ

๑.     ไม่มีตัวตนที่แท้จริงของสิ่งนั้นยืนตัวเป็นแก่นเป็นแกนอยู่
๒.     สภาพที่ปรากฏนั้น เกิดจากองค์ประกอบต่าง ๆ มากมายประชุมกันปรุงแต่งขึ้น
๓.     องค์ประกอบเหล่านั้นเกิดขึ้นแล้ว เสื่อมสลายอยู่ตลอดเวลา และสัมพันธ์เป็นปัจจัยแก่กัน  ประมวลขึ้นเป็นกระบวนธรรม
๔.     ถ้ากำหนดแยกออกเป็นกระบวนธรรมย่อย ๆ มากมาย และก็มีความสัมพันธ์เป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน

นอกจากข้อกำหนด ๔ ประการดังกล่าวข้างต้นแล้ว  ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคท่านยังประมวลลักษณะความเป็นอนัตตาไว้ ๔ ประการ  รวมทั้งที่พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ได้ประมวลเพิ่มเติมเข้ามาอีก  ๒  ประการ (ข้อ ๕-๖)  รวมทั้งสิ้น  ๖ ประการด้วยกันคือ

๑.     เพราะเป็นสภาพว่างเปล่า  คือปราศจากตัวตนที่เป็นแก่น (สุญฺโต)
๒.     เพราะเป็นสภาพไร้เจ้าของ  คือไม่เป็นตัวตนของใคร ๆ (อสฺสามิโก)
๓.     เพราะไม่เป็นไปในอำนาจ คือไม่อยู่ในอำนาจของใคร ๆ (อวสวตฺตนโต)
๔.     เพราะแย้งต่ออัตตา  เพราะเป็นกระบวนธรรมที่องค์ประกอบทั้งหลายสัมพันธ์กัน และดำเนินไปโดยความเป็นเหตุเป็นปัจจัย  ไม่มีตัวตนต่างหากซ้อนอยู่ที่จะมาแทรกแซงบงการ หรือแม้แต่ขัดขวางความเป็นเหตุเป็นปัจจัยได้ (อตฺตปฏิปกฺเขปโต)
๕.     เพราะเป็นกองแห่งสังขารทั้งหลายล้วน ๆ (สุทฺธสงฺขารปุญฺชโต)
๖.     เพราะความเป็นไปตามเหตุปัจจัย (ยถาปจฺจยปวตฺติโต)


ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้