ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 3327
ตอบกลับ: 1
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ย้อนอดีต 11 นักรบผู้กล้าแห่งค่ายบางระจัน

[คัดลอกลิงก์]

ย้อนอดีต 11 นักรบผู้กล้า
แห่งค่ายบางระจัน




ฉบับนี้พาท่านฝ่าสายฝนไปชมประวัติความเป็นมาของอนุสาวรีย์วีรชนค่ายบางระจัน และอุทยานค่ายบางระจันที่จังหวัดสิงหบุรีกันดีกว่า สถานที่แห่งนี้คนไทยรู้จักกันดี อยู่ห่างจากตัวเมือง 15 กิโลเมตร ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 3032 มีพื้นที่ประมาณ 115 ไร่ เป็นสวนรุกขชาติพักผ่อนหย่อนใจ จะเห็นอนุสาวรีย์วีรชนค่ายบางระจันเป็นรูปหล่อประติมากรรมของหัวหน้าชาวค่ายบางระจันทั้ง 11 คน สร้างโดยกรมศิลปากรปรากฏสวยเด่นเป็นสง่าอยู่ในสวน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ทรงเปิดอนุสาวรีย์นี้เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2519
ค่ายบางระจันมีความสำคัญยิ่งทางประวัติศาสตร์ ผืนแผ่นดินแห่งนี้ได้บันทึกเหตุการณ์ความกล้าหาญและเสียสละของวีรชนไทยที่เกิดขึ้น เมื่อเดือน 3 ปีระกา พ.ศ.2308 ในครั้งนั้น ชาวบ้านบางระจันได้รวมพลังกันต่อสู้กับกองทัพพม่า ซึ่งมีจำนวนมากมายมหาศาล โดยพม่าต้องยกทัพเข้าตีหมู่บ้านนี้ถึง 8 ครั้ง ใช้เวลา 5 เดือน จึงเอาชนะได้ เมื่อวันจันทร์แรม 2 ค่ำ เดือน 8 ปีจอ พ.ศ.2309 นับเป็นอนุสาวรีย์ที่มีความสำคัญยิ่งแห่งหนึ่ง ค่ายบางระจันในปัจจุบันได้สร้างจำลองโดยอาศัยรูปแบบค่ายในสมัยโบราณ และภายในบริเวณยังมีอาคารศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์วีรชนค่ายบางระจัน จัดห้องนิทรรศการโดยแบ่งออกเป็นห้องต่างๆ ห้องแรก แสดงเรื่องค่ายบางระจัน เครื่องใช้โบราณ แหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อย หนังใหญ่ ห้องที่ 2 จัดแสดงมรดกเมืองสิงห์บุรี ห้องที่ 3 แสดงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเมืองสิงห์บุรีและของดีเมืองสิงห์บุรี เปิดให้เข้าชมทุกวัน
ส่วนรายชื่อของวีรชนคนกล้า ของบางระจัน คือ 1.พระอาจารย์ธรรมโชติ เดิมอยู่วัดเขานางบวช แล้วมาอยู่วัดโพธิ์เก้าต้น มีความรู้ทางวิชาอาคม เป็นที่พึ่งทางใจแก่ชาวค่ายบางระจัน 2.นายแท่น เป็นชาวบ้านสีบัวทอง ถืออาวุธสั้น ถูกปืนของพม่าที่เข่าในการรบครั้งที่ 4 เสียชีวิตเมื่อการรบครั้งสุดท้าย 3.นายอิน เป็นชาวบ้านสีบัวทอง 4.นายเมือง เป็นชาวบ้านสีบัวทอง 5.นายโชติ เป็นชาวบ้านสีบัวทอง ถืออาวุธสั้น 6.นายดอก เป็นชาวบ้านกลับ 7.นายทองแก้ว เป็นชาวบ้านโพทะเล 8.นายจัน หนวดเขี้ยว เก่งทางใช้ดาบ เสียชีวิตในการรบครั้งที่ 8 9.นายทอง แสงใหญ่ 10.นายทองเหม็น ขี่กระบือเข้าสู้รบกับพม่า ตกอยู่ในวงล้อมถูกพม่าตีตายในการรบครั้งที่ 8 เช่นกัน 11.ขุนสรรค์ มีฝีมือเข้มแข็งมักถือปืนเป็นนิจ แม่นปืน
นอกจากทั้ง 11 ท่านข้างต้น เป็นที่น่าเสียดายยิ่งที่ไม่ปรากฏชื่อวีรสตรีไทยเลือดนักสู้ระดับหัวหน้าอีก 3 ท่าน ทั้งๆ ที่ได้ร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับนักรบชายชาวบ้านบางระจัน ได้แก่ อีปล้อง อีแฟง และอีเฟื่อง ด้วยการนำชาวบ้านบางระจันออกสู้รบกับพม่า และช่วยกันส่องคบลวงพม่าแล้วให้นักรบชายจู่โจมเข้าโจมตี ทำให้พม่าถูกฆ่าตายไปเป็นจำนวนมาก แต่ในที่สุดวีรสตรีทั้ง 3 ท่าน ก็ถูกพม่าฆ่าตายในที่สุด
ย้อนกลับมาสู่เรื่องราวอันเป็นวีรกรรมของชาวบ้านบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี เกิดขึ้นนานนับร้อยปีล่วงมาแล้ว เหตุการณ์ในครั้งนั้นเป็นที่เล่าขานกันต่อมาตราบจนทุกวันนี้ มันเป็นสงครามที่ลงเอยด้วยความตาย ไม่มีชาวบางระจันรอดชีวิตจากสงครามในครั้งนั้นแม้แต่คนเดียว แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงเป็นที่ค้างคาใจคนไทยรุ่นหลังๆ ก็คือ ทำไมกรุงศรีอยุธยาจึงไม่ให้ปืนใหญ่ชาวบ้านบางระจัน?
มีนักประวัติศาสตร์บางท่านวิเคราะห์เอาไว้น่าฟังว่า ในยุคสมัยนั้นคำว่า “ชาติไทย” ยังไม่มี กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองหลวงก็จริง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าหัวเมืองต่างๆ จะต้องเชื่อฟังคำสั่งของพระเจ้าแผ่นดินเสมอไป รวมทั้งชาวบ้านบางระจันก็ไม่ได้ขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยาเช่นกัน
การใช้ชีวิตของชาวบ้านบางระจันเป็นไปอย่างอิสระ ผู้ชายไม่ได้สนใจเรื่องที่จะไปเป็นทหารอยู่ในวังหลวงเสียด้วยซ้ำไป ภาษีหรือที่เรียกว่า จังกอบ…ชาวบ้านบางระจันก็ไม่ได้นำส่งเข้าเมืองหลวง ด้วยเหตุนี้ทำให้กรุงศรีอยุธยามีความไม่พอใจชาวบ้านบางระจัน เมื่อเกิดสงครามระหว่างชาวบ้านบางระจันกับฝ่ายพม่า กรุงศรีอยุธยาจึงไม่ส่งกำลังทหารมาช่วย รวมไปถึงปืนใหญ่ที่ชาวบางระจันขอมา กรุงศรีอยุธยาก็ไม่ให้ไป โดยอ้างเหตุผลว่า กลัวฝ่ายทหารพม่าจะดักปล้นระหว่างทาง
นักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องราวของชาวบ้านบางระจัน ต่างมีความเห็นตรงกันว่า แท้จริงแล้ว การที่กรุงศรีอยุธยาไม่ให้ปืนใหญ่ไปนั้น เกิดจากความไม่แน่ใจว่ามากกว่า ว่าหากเกิดศึกสงครามขึ้นมาในภายภาคหน้า ชาวบ้านบางระจันจะอยู่ข้างฝ่ายใดกันแน่ หากชาวบางระจันไปเข้ากับฝ่ายพม่า ก็เท่ากับเป็นการเสริมเขี้ยวเล็บให้กับฝ่ายศัตรู ดังนั้นเพื่อความไม่ประมาท ทางกรุงศรีอยุธยาจึงไม่ให้ปืนใหญ่กับชาวบ้านบางระจัน จนทำให้เกิดเหตุการณ์วิปโยคไปทั้งหมู่บ้าน ส่งผลให้กรุงศรีอยุธยาเสียเอกราชในเวลาต่อมา ไม่มีตัวเลขยืนยันว่า ชาวบ้านบางระจันเสียชีวิตไปกี่คน แต่สิ่งที่เชื่อถือได้อย่างแน่นอนก็คือ ไม่มีผู้ใดรอดชีวิตจากสงครามในครั้งนั้นแม้แต่คนเดียว
เชื่อหรือไม่ว่า ทุกวันนี้ยังมีเรื่องราวแปลกๆ ลี้ลับ ให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสกันอยู่เสมอ โดยเฉพาะภายในบริเวณวัดโพธิ์เก้าต้น ประหนึ่งจะบอกให้รู้ว่า ณ สถานที่แห่งนี้ยังมีดวงวิญญาณของเหล่านักรบกล้า สิงสถิตอยู่จนชั่วนิจนิรันดร์ ไม่เชื่ออย่าลบหลู่!!

http://www.banmuang.co.th
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2015-6-3 08:33 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้