ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2599
ตอบกลับ: 3
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ความเชื่อเรื่องอัญมณีล้านนา

[คัดลอกลิงก์]
เครื่องประดับของล้านนาประเภทอัญมณีมีหลายชนิดด้วยกัน แต่ประเภทของนพรัตน์ คือ แก้ว 9 อย่างนั้น มีไม่ครบทั้ง 9 ชนิด เหมือนกับของไทย ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะในดินแดน แถบภาคเหนือ ไม่มีแหล่งกำเนิดของอัญมณีบางชนิดนั่นเอง อย่างไรก็ดี สิ่งที่ น่าสนใจประการหนึ่งของเครื่องประดับล้านนาก็คือ นอกจากจะใช้เป็นเครื่องประดับโดยตรงแล้ว ชาวล้านนายังถือว่า หินบางชนิด ที่เกิดในพืช หรือสัตว์ ที่เรียกว่า แสง นั้น เป็นเครื่องรางของขลังอีกด้วย


ความเชื่อเรื่องอัญมณีเครื่องประดับของล้านนา
          แก้ว หรือมณี เป็นสิ่งมีค่าและเครื่องประดับที่สำคัญ โดยถือว่าเป็นสมบัติอย่างหนึ่งของจักรพรรดิราช ที่ประกอบด้วยแก้ว 7 ดวงคือ กงจักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว แก้วมณีโชติ นางแก้ว เศรษฐีแก้ว และเสนาแก้ว สำหรับแก้วมณีโชติ หรือมณีรัตน์นั้นมีคุณ วิเศษและพลานุภาพในการขจัดความมืด สามารถส่องแสงสว่างได้ในที่มีฝุ่นธุลีไกล 1 โยชน์ รวมทั้งสามารถส่องประกายลงไปในน้ำ หรือที่มีโคลนตมได้


          ส่วนอัญมณี หรือนพรัตน์ คือแก้ว 9 ชนิดที่ใช้เป็นเครื่องประดับโดยทั่วไปนั้น นอกจากจะมีความสวยงามแล้ว ยังเชื่อว่าเป็น ของขลังใช้ป้องกันตัวได้ คือ
          1. เพชร (Diamond) สีขาวสดใส ทำให้มีอำนาจ
          2. ทับทิม (Ruby) สีแดงอ่อน ป้องกันโรคภัยและทำให้สุขภาพสมบูรณ์
          3. มรกต (Emeral) สีเขียวเลื่อมพราย ป้องกันเขี้ยวงาของสัตว์
          4. บุษราคัม (Topaz) สีเหลือง ช่วยให้ก้าวหน้าในการงานและมีอายุยืน
          5. โกเมน (Garnet) สีแดงก่ำ คือดำปนแดง ทำให้คนนับหน้าถือตา
          6. นิล ( Sapphire) สีเมฆหมอก ช่วยให้มีความสุขสบาย
          7. มุกดาหาร ( Moonstone) สีหม่นมัว ป้องกันสัตว์ร้ายและงูพิษ
          8. เพทาย (Zircon) สีแดงสลัว นำโชคลาภมาให้
          9. ไพฑูรย์ (Cat s eye) มีสังวาลย์สายผ่ากลาง ทำให้มีชัยชนะต่อศัตรู


          ตามตำราโบราณท่านผูกเป็นคำคล้องจอง ดังนี้
เพชรดีมณีแดงเขียวใสแสงมรกต
เหลืองใสสดบุษราคัมแดงแก่ก่ำโกเมนเอก
สีหมอกเมฆนิลกาฬมุกดาหารสีหมอกมัว
แดงสลัวเพทายสังวาลสายไพฑูรย์




          สำหรับอัญมณีของล้านนานั้น แยกย่อยออกเป็น 24 ดวง หากผู้ใดนำมาเป็นเครื่องประดับ ทำแหวน หรือเก็บไว้ในถุงใส่เงินทอง จะทำให้เกิดความสุข เจริญมั่งมีด้วยทรัพย์สมบัติข้าวของ ประกอบไปด้วยโชคลาภ แก้ววิเศษ 24 ชนิด เรียงตามลำดับ ดังนี้
1. แก้วมหานิลไชยโชค 2. แก้ววิฑูรย์ (ไพฑูรย์)
3. แก้วนิลผักตบ 4. วิฑูรย์ฝนแสนห่า
5. บัวระกต (มรกต) 6. สุริยประภา
7. แก้วประภาชมชื่น8. วชิระเป๊กพรหมสามหน้า (เพชร)
9. วิฑูรย์ขันธะ10. แก้วปทัมราค (ปัทมราค , ปัทมราช)
11. จันทะแพงค่าหมื่น 12. แก้วสุริยะ
13. มหานิลทรายคำ14. แก้วพระญาอินสวร (แก้วพระอิศวร)
15. วิฑูรย์ขนบ้งเทศไหมสน 16. ก๊อแดงผจญปราบแพ้ศัตรู (ทับทิม)
17. แก้วสีปะสีใสสะอาด18. ปทัมก่าน
19. วิฑูรย์เทศ 20. วิฑูรย์ผิวเผือก
21. แก้วหมอกมุงเมือง 22. เนระกันตี (มรกต)
23. มธุกันตี (มรกต) 24. อินทนิลแก้วเผือก


          อัญมณีทั้ง 24 ชนิดนี้ โบราณาจารย์ท่านได้ผูกถ้อยคำคล้องจองกัน เพื่ออธิบายคุณลักษณะพิเศษของแก้วแต่ละชนิดไว้ ดังนี้
จตุวีสติ แก้วหยาดฟ้า ลงมา 24 ดวงสู่โขงเขตห้อง
จากเทศท้องเมืองอินทร์คือแก้วมหานิลไชยโชค
ลักษณะโฉลกถูกชาตาแก้ววิฑูรย์เลิศแล้ว
วิเศษแก้วอุทุมพรเนระจังกรวิเศษ
แก้วผักตบเทศมงคลวิฑูรย์ฝนแสนห่า
ข้าศึกล่าหนีไกลมรกตใสยอดเต้า
มียศทั่วเท้ามูลมาสุริยประภาวิเศษ
วุฒิเทศนานาแก้วประภาชมชื่น
ข้าวของตี่นไหลมาวชิระเป๊กพรหมสามหน้า
ยศทั่วฟ้าเหลือหลายวิฑูรย์ขนทรายงามเลิศ (แล้ว)
วิเศษแก้วเทศบานงามแก้วปทัมราคคานชมช้อย
ควรค่าร้อยคำแดงจันทะแพงค่าหมื่น
แก้วสุริยะชื่นปากยำมหานิลทรายคำกินบ่เสี้ยง
เหล็กขี้เหมี้ยงเกิดเป็นคำแก้วพระญาอินสวรยินผับโลก
แสนโศกอว่ายหัวลงวิฑูรย์องค์วิเศษ
ขนบ้งเทศไหมสนก๊อแดงประจญปราบแพ้
ข้าศึกล่าหนีไกลแก้วสีพลีใสสะอาด
ข่ามหน้าไม้นาดเป็นกระจวนปทัมก่านมวลวิเศษ
วิฑูรย์เทศสุขเกษมวิฑูรย์ดีผิวเผือก
น้ำค้างเกิดปลายเขารัตนาเลาเลิศแล้ว
ชื่อว่าแก้วหมอกมุงเมืองฤทธีเรืองล้ำเลิศ
น้ำผึ้งเกิดเป็นดีเนระกันตี มหามธุกันตีใสบ่เศร้า
ยศทั่วเท้าปราบชมพูอินทนิลแก้วเผือกงามผ่านแผ้ว
ย่อมหื้อแล้วมโนใจผู้ข้าเป็นรัตนาแก้วไธ้ 24 ดวงแลนา

2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2015-5-24 10:47 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
แก้วมหานิล


          นิล แบ่งออกเป็น 2 อย่างคือ มหานิล กับนิลน้อย เป็นแก้วสีดำมีหลายชนิด เช่น ดำเหมือนไข่กา ดำเหมือนสีดอกลำโพง และสีเหมือนดอกผักตบ เป็นต้น ตามตำรากล่าวไว้ 12 อย่าง ดังนี้
          1. แก้วมหานิลลูกใดมีลักษณะคล้ายลูกหมากซัก คือลูกประคำดีควาย มีค่าได้หนึ่งพัน ทองคำ
          2. มหานิลลูกใดมีลักษณะคล้ายประกายทรายอยู่ในแก้วชื่อมหานิลทรายคำ
          3. มหานิลลูกใดมีลักษณะแดงพันเกี่ยวเกี้ยวขึ้นชื่อโปก๋า
          4. มหานิลลูกใดมีลักษณะคล้ายกับกากงา และเหมือนไข่กา ชื่อมหานิลไข่กา ควรค่าได้แสนทองคำ
          5. มหานิลลูกใดมีลักษณะคล้ายไข่ด้าน มีรัศมีเหลืองส่องเข้าไปในแก้วนั้น ชื่อมหานิลเผือก ควรค่าได้หนึ่งพันเงิน
          6. แก้วมหานิลลูกใดมีลักษณะอย่างปีกกาลาบ มีรัศมีส่องเข้าไปในแก้ว ชื่อมหานิลนกกาลาบ คือนกพิราบที่มีลำตัวสีเทาปนฟ้า
          ควรค่าได้หนึ่งพันเงิน
          7. แก้วมหานิลลูกใดมีลักษณะดั่งแก่นพริกสุกและเลือดไก่ ชื่อมหานิลเลือดไก่ ควรค่าได้สี่พันเงิน
          8. มหานิลลูกใดมีสีคล้ายลูกหมากซัก คือประคำดีควาย ชื่อมหานิลน้ำตั๊บ ควรค่าได้หนึ่งพันเงิน
          9. มหานิลลูกใดมีลักษณะเขียวดั่งดอกอัญชัน ควรค่าหนึ่งพันทองคำ
          10. มหานิลลูกใดมีลักษณะคล้ายดอกผักตบ ควรค่าหนึ่งพันเงิน
          11. แก้วมหานิลลูกใดมีลักษณะดั่งแววคอนกยูง ชื่ออินทนิล ควรค่าหนึ่งแสนทองคำ
          12. แก้วมหานิลลูกใดมีลักษณะดำภายใน คล้ายปทัมราค คือปัทมราคเข้าผสมเหมือนดอกไม้เพลิงและผางประทีป ชื่อมหานิล
          ปทัมราคหาค่ามิได้ ถ้ามีไว้ยังบ้านเรือนของผู้ใด หรือทำเป็นแหวนจะเป็นเศรษฐีมั่งมีทรัพย์สินเงินทอง ช้าง ม้า วัว ควาย
           ข้าคนมากนักแล


แก้ววิฑูรย์ (ไพฑูรย์)


          แก้ววิฑูรย์ หรือไพฑูรย์ เป็นรัตนชาติสีเขียว หรือเหลืองแกมเขียว และสีน้ำตาลเทา มีสังวาลตรงกลาง คือน้ำเป็นสายรุ้งกลอก ไปมา เรียกว่าเพชรตาแมว หรือแก้วสีไม้ไผ่ ตามตำรากล่าวไว้ 15 อย่าง ดังนี้
          1. แก้ววิฑูรย์ลูกใดมีลักษณะคล้ายหยดน้ำ ชื่อวิฑูรย์น้ำหาย ควรค่าได้หนึ่งพันเงิน
          2. แก้ววิฑูรย์ลูกใดมีลักษณะคล้ายหยดน้ำฝนย้อยชายคา ชื่อวิฑูรย์น้ำค้าง ควรค่าหนึ่งพันเงิน
          3. แก้ววิฑูรย์ลูกใดมีลักษณะคล้ายน้ำเผิ้ง (น้ำผึ้ง) ชื่อวิฑูรย์น้ำเผิ้ง ควรค่าแสนทองคำ
          4. แก้ววิฑูรย์ลูกใดมีลักษณะใสยาวคล้ายดาวประกายพฤกษ์ ชื่อวิฑูรย์ประกาย ควรค่าแสนทองคำ
          5. แก้ววิฑูรย์ลูกใดมีลักษณะคล้ายน้ำตาล ชื่อวิฑูรย์น้ำตาล ค่าสี่พันทองคำ
          6. แก้ววิฑูรย์ลูกใดมีลักษณะคล้ายดอกทาระบุด (ไม่ทราบความหมาย) ควรค่าหนึ่งพัน ทองคำ
          7. แก้ววิฑูรย์ลูกใดมีลักษณะคล้ายหมากเป้งป่า ควรค่าได้หนึ่งพันทองคำ
          8. แก้ววิฑูรย์ลูกใดมีลักษณะคล้ายดอกพุทธวงษ์ ควรค่าได้ห้าพันเงิน
          9. แก้ววิฑูรย์ลูกใดมีลักษณะคล้ายดอกคำมีขนซอนขึ้น ชื่อวิฑูรย์ฝนแสนห่า ควรค่าสี่พันเงิน
          10. แก้ววิฑูรย์ขนทราย คือไพฑูรย์ที่มีสีคล้ายขนเนื้อทรายควรค่าห้าพันเงิน
          11. แก้ววิฑูรย์ลูกใดมีลักษณะเขียวก็ดี เหลืองก็ดีขึ้นสนกันอยู่ภายในแก้ว ชื่อว่าวิฑูรย์ขน บ้ง (ขนบุ้ง)
          12. แก้ววิฑูรย์ลูกใดมีลักษณะดั่งได้ปอกใน มีลักษณะคล้ายแก้วประภาชมชื่น มีเงาป้านกลางดั่งเมฆขึ้นในอากาศ
          มีลักษณะดั่งไข่นกจัน ( คือนกชนิดหนึ่ง ขนาดนกเอี้ยง สีคล้ำ หากินกลางคืน ) มีผิวชุ่มดั่งน้ำค้างจับอยู่นั้น ชื่อวิฑูรย์เทศไข่ฟ้า
          ควรค่านับมิได้
          13. แก้ววิฑูรย์ลูกใดมีลักษณะคล้ายน้ำค้างอยู่ปลายยอดหญ้า และใบไม้ ชื่อวิฑูรย์น้ำค้าง ควรค่าแสนทองคำ
          14. แก้ววิฑูรย์ลูกใดมีลักษณะคล้ายน้ำไหลอยู่ในแก้วนั้น และมี ลักขณะคล้ายเหนี่ยงงำรัง (แมลงปีกแข็งสีดำ) ชื่อวิฑูรย์เทศ
          ฟองสมุทร ควรค่าหนึ่งพันทองคำ
          15. แก้ววิฑูรย์ลูกใดมีลักษณะคล้ายน้ำผึ้ง มีไหมแสดแดง แสดเหลืองผ่านกลางคล้าย น้ำไหล ชื่อมธุปทัมก่าน ควรค่าแสนคำแล
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2015-5-24 10:48 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


แก้วปทัมก่าน
          แก้วปทัมก่านเป็นรัตนชาติที่มีลักษณะผสม คือคล้ายไพฑูรย์กับปัทมราช ซึ่งเป็นพลอยสีแดง หรือทับทิม ลักษณะเด่นของ ปทัมก่านคือมีหลายสีผสมกัน ตามตำรากล่าวไว้ 5 ชนิด คือ
          1. แก้วลูกใดมีลักษณะน้ำดำอยู่หัว น้ำเหลืองอยู่กลาง น้ำแดงน้ำขาวอยู่หาง ชื่อปทัมก่าน
          2. แก้วปทัมก่านลูกใดมีลักษณะน้ำแดงอยู่หัว น้ำดำอยู่กลาง น้ำเขียวน้ำขาวอยู่หาง ควรค่าหนึ่งหมื่นทองคำ
          3. แก้วปทัมก่านลูกใดมีลักษณะแดง มีเส้นไหมขาว เขียว แดง ปักหม่นสนกันเกี้ยวกันอยู่เต็มแก้ว ชื่อสัตตรัตนปทัมก่าน
          หาค่ามิได้แล
          4. แก้วปทัมก่านลูกใดมีลักษณะเส้นเขียวอยู่หัว เส้นดำอยู่กลาง เส้นเหลืองอยู่หาง ควรค่าหนึ่งพันทองคำ
          5. แก้วปทัมก่านลูกใดมีเส้นแดงอยู่หัวแก้ว เส้นแสดอยู่กลางแก้ว สามเส้นอยู่หางแก้ว ควรค่าหนึ่งพันทองคำ
แก้วประภา
          แก้วประภาเป็นรัตนชาติชนิดหนึ่งมีหลายสี แต่ในตำรามิได้ระบุลักษณะชัดเจนนัก แบ่งออกเป็น 10 ชนิด ดังนี้
          1. แก้วประภาลูกใดมีลักษณะคล้ายดอกชบาแดง ชื่อสุริยประภา ควรค่าสามพันเงิน
          2. แก้วประภาลูกใดมีลักษณะขาวเหลืองคล้ายดอกบัว ชื่อจันทประภา
          3. แก้วประภาลูกใดมีลักษณะคล้ายข้าวเปลือกแช่น้ำมีผิวเหลือง ชื่อว่าแก้วประภาชมชื่น นอนหลับตื่นลุกกิน ควรค่าหนึ่งพัน
          ทองคำ
          4. แก้วประภาลูกใดมีลักษณะขาวคล้ายน้ำแช่ข้าวเหนียว ขาว ข้น มีเส้นไหมป้านอยู่กลางแก้ว ชื่อว่าจิรประภา ควรค่าหนึ่งพัน
          ทองคำ
          5. แก้วประภาลูกใดมีลักษณะคล้ายควันไฟ เป็นอย่างฝ้าเมฆมุงเมือง ควรค่าหนึ่งพันทองคำ
          6. แก้วประภาลูกใดมีลักษณะคล้ายน้ำครั่ง ควรค่าหนึ่งพันทองคำ
          7. แก้วประภาลูกใดมีสีแดงอมเหลือง คล้ายหรดาน ควรค่าหนึ่งพันทองคำ
          8. แก้วประภาลูกใดมีลักษณะคล้ายหอยสังข์ ควรค่าหนึ่งพันทองคำ
          9. แก้วประภาลูกใดมีลักษณะคล้ายมันสมองจรเข้ ควรค่าหนึ่งแสนเงิน
          10. แก้วประภาลูกใดมีลักษณะคล้ายนัยน์ตานกกระยาง ควรค่าสี่พันทองคำ
แก้วเผือก (เพชร)


          แก้วเผือก หรือแก้วสีขาวนี้ ตามตำรามิได้บอกลักษณะชัดเจนมากนัก แต่สันนิษฐานจากสีที่มีความใส จึงน่าจะหมายถึงเพชร มี 8 ชนิดด้วยกัน คือ
          1. แก้วเผือกลูกใดมีลักษณะคล้ายเขาไกรลาส มีเหลี่ยมได้ร้อยเหลี่ยม ควรค่าหนึ่งหมื่นเงิน
          2. แก้วเผือกลูกใด มีลักษณะขาวดั่งเงินมีดอกไหมคำคายอยู่ในแก้ว ชื่อเผือกคำคาย ควรค่าได้หนึ่งหมื่นเงิน
          3. แก้วเผือกลูกใดมีลักษณะคล้ายดอกตาเหิน คือดอกมหาหงส์ ควรค่าหนึ่งพันทองคำ
          4. แก้วเผือกลูกใดมีลักษณะคล้ายหอยสังข์ มีเหลี่ยมได้สิบสองเหลี่ยม ควรค่าหนึ่งพัน ทองคำ
          5. แก้วเผือกลูกใดมีลักษณะคล้ายหยดน้ำ มีแสดขาวเกี้ยวไปมา ท้องแก้วเรียบและหลังแก้วกลม ควรค่าได้สามพันเงิน
          6. แก้วเผือกลูกใดมีลักษณะสามประการ คือ ขาว เขียว เหลือง ชื่อแก้ววชิระเป๊กพรหมสามหน้า ควรค่าห้าพันทองคำ
          7. แก้วเผือกลูกใดมีลักษณะคล้ายปลายเขายุคุณธร มีรูปร่างกลมดั่งหมากซัก ควรค่าหนึ่งพันเงิน
          8. แก้วเผือกลูกใดมีลักษณะเผือกล้วน ชื่อแก้วเผือก


แก้วปทัมราค (ปัทมราค, ปัทมราช คือ พลอยสีแดง หรือทับทิม)


          แก้วปทัมราค หรือปัทมราค หรือปัทมราช เป็นรัตนชาติที่มีสีแดง ตามตำรากล่าวไว้ 6 ชนิด คือ
          1. แก้วปทัมราคลูกใด มีลักษณะคล้ายลูกพริกสุกนั้น พื้นเป็นสระ มีค่าได้สี่พันเงิน
          2. แก้วปทัมราคลูกใดมีลักษณะคล้ายขมิ้น ควรค่าหนึ่งพันทองคำ
          3. แก้วปทัมราคลูกใดมีลักษณะคล้ายน้ำราก คือน้ำที่มีสนิมเหล็กเจือปน ควรค่าหนึ่งพันทองคำ
          4. แก้วปทัมราคลูกใดมีลักษณะคล้ายลูกชมพู่สุก ควรค่าได้หนึ่งร้อยเงิน
          5. แก้วปทัมราคลูกใดมีลักษณะคล้ายมะม่วงสุก พื้นมีสระ ควรค่าได้ห้าพันทองคำ
          6. แก้วปทัมราคลูกใดมีลักษณะเหมือนทองคำย้อม มีรูปร่างดังแมงเหนี่ยงงำรัง (แมลงปีกแข็งสีดำ) ชื่อสุวรรณมณี หาค่ามิได้แล
แก้วบัวระกต (มรกต)


          แก้วบัวระกต หรือมรกต มีสีเขียว ตามตำรากล่าวไว้ 14 ชนิด ดังนี้
          1. แก้วมรกตลูกใดมีสีเขียวคล้ายยอดมะเต้า (แตงโม) เรียกว่ามรกตยอดเต้า
          2. แก้วมรกตลูกใดมีสีเขียวคล้ายใบไม้ไผ่เรียกว่ามรกตผิวไผ่ ควรค่าหนึ่งแสนทองคำ
          3. แก้วมรกตลูกใดมีลักษณะสีคล้ายดอกจังกร (ดอกบัวจงกลนี) ควรค่าได้หกพันเงิน
          4. แก้วมรกตลูกใดมีลักษณะสีคล้ายผิวหวายแห้ง ควรค่าได้แปดหมื่นทองคำ
          5. แก้วมรกตลูกใดมีสีคล้ายปีกแมลงภู่ ควรค่าได้หกพันทองคำ
          6. แก้วมรกตลูกใดมีลักษณะสีคล้ายแววคอนกยูง ควรค่าได้หนึ่งพันทองคำ
          7. แก้วมรกตลูกใดมีลักษณะสีคล้ายดอกสลิด (ดอกขจร สีเหลืองอมเขียว) ควรค่าได้พันทองคำ
          8. แก้วมรกตลูกใดมีลักษณะคล้ายใบหอมและเขียวดั่งหัวเป็ด ถ้าเอาเงินรูปี หรือเงินบริสุทธิ์เช็ดแก้วดูจะมีสีแดง เหมือนเรา
          ขูดทองแดง ชื่อว่ามรกตสิ้วหัวเป็ด ควรค่าได้หมื่นทองคำ
          9. แก้วมรกตลูกใดเขียวคล้ายใบหอมมีขาแมลงมุม คือมีสาแหรกกลางไหลไปมาชื่อว่า มรกตบ่อน้ำตาล ควรค่าได้แปดหมื่นเงิน
          10. แก้วมรกตลูกใดมีลักษณะคล้ายน้ำผึ้งเป็นสี่เหลี่ยมในแก้ว มีรูปพระพุทธเจ้า รูปเจดีย์ รูปต้นโพธิ์ รูปนกยูง นกเขียน
          (นกกระเรียน) รูปหงส์ รูปช้าง รูปราชสีห์ รูปรถ รูปเกวียนอยู่ข้างในชื่อมังคลจุฬามณีหาค่านับบ่มิได้แล
          11. แก้วมรกตลูกใดมีลักษณะกลมคล้ายลูกหมากซัก (ประคำดีควาย) และหยดน้ำ มีรูปเงาเอาหัวลง ชื่อว่าปรไมไอสวร
          (บรมอสูร) ควรค่าได้แปดหมื่นเงิน
          12. แก้วมรกต ลูกใดมีลักษณะดำคล้ายรัก มีแสงรัศมีแสดขาวหม่นกาบอ้อยมีขาแมงมุม คือสาแหรกอยู่ตรงกลางแก้ว
          ชื่อว่าเนระกันตี
          13. แก้วมรกตลูกใดมีลักษณะคล้ายดอกหวายแห้ง ภายในแก้วเหลืองน้ำผึ้ง มีธนูคือสาแหรกหกขา ชื่อมหามธุกันตี
          ควรค่าแสนทองคำ
          14. แก้วมรกตลูกใดมีลักษณะดำคล้ายน้ำรัก มีทรายทองพุ่งออกจากกลางดวงแก้ว ลักษณะคล้ายน้ำหมากเหลืองกลางแก้ว
          เกล้าชื่อ นาควิฑูรย์
แก้วก๊อ (ทับทิม)


          แก้วก๊อ หรือทับทิม เป็นรัตนชาติที่มีสีแดงอ่อนอย่างสีของเม็ดทับทิมสุก ตามตำรากล่าวถึงสีและคุณสมบัติพิเศษไว้ 7 ชนิด คือ
          1. แก้วก๊อ (ทับทิม) ลูกใดมีลักษณะแดงอย่างหาง สีชาด) และเลือดไก่ดิบ มีองคะแกมอ้อยดำ มีฤทธิ์ปราบได้หนึ่งร้อยวา
          2. แก้วก๊อ (ทับทิม) ลูกใดมีลักษณะเท่าเม็ดผักชี ควรค่าได้หนึ่งร้อยคำปราบได้สองร้อยวา
          3. แก้วก๊อ (ทับทิม) ลูกใดมีลักษณะแดงเท่าเม็ดถั่ว มีเปลวพุ่งขึ้นไปข้างบน ควรค่าได้หนึ่งร้อยคำ มีฤทธิ์ปราบได้สามร้อยวา
          4. แก้วก๊อ (ทับทิม) ลูกใดมีลักษณะแดงเท่าเม็ดถั่วลันเตา แดงอย่างเลือดไก่ มีฤทธิ์ปราบได้ หกร้อยวา
          5. แก้วก๊อ (ทับทิม) ลูกใดมีลักษณะแดงคล้ายเอาทองคำมาย้อม ควรค่าหนึ่งแสนทองคำ
          6. แก้วก๊อ (ทับทิม) ลูกใดมีลักษณะใหญ่เท่าผลชมพู่ มีลักษณะแดงดั่งพระอาทิตย์ มีรัศมีแรงพุ่งขึ้นไปข้างบน มีสาแหรกสิบสอง
          ขาผัดไปมาอยู่กลางแก้ว มีฤทธิ์ปราบทิศทั้งมวล หาค่ามิได้แล
          7. แก้วก๊อ (ทับทิม) ลูกใดมีลักษณะนอกขาวเหลือง มีสร้อยข้างใน แดงดั่งดอกไม้เพลิง และผางประทีป ไหลไปมา ชื่อว่าก๊อดิบ
          วิเศษ มีไว้ในบ้านเรือนไหน หรือทำเป็นแหวนสวมใส่นิ้วมือ อยู่ที่ไหนชุ่มเย็นที่นั่น ข้าวของสมบัติหลั่งไหลมาหาเองแล

[url=http://webcache.googleusercontent.com/search?q=cache:T-BJ3_uRa0EJ:www.sri.cmu.ac.th/~maeyinglanna/ ... p;ct=clnk&gl=th]http://webcache.googleusercontent.com/search?q=cache:T-BJ3_uRa0EJ:www.sri.cmu.ac.th/~maeyinglanna/ ... p;ct=clnk&gl=th[/url]

โอโห้ คนรวบรวมมีความพยายามอย่างมาก ขอบคุณครับ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้