|
“Gladiator” ที่นำมาใช้เป็นชื่อภาพยนตร์นั้น ตามความหมายแล้วหมายถึงนักสู้ในสังเวียนเท่านั้น เพราะความยิ่งใหญ่ที่แท้จริงนั้นคือ สนามกีฬาที่ใช้แข่งขันต่างหาก
โคลอสเซียม (COLOSSEUM) เกิดขึ้นมาเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจของเวสปาเรียน จักรพรรดิโรม พระองค์เริ่มครองราชย์ในปี ค.ศ. 69 และด้วยความต้องการที่จะหล่อหลอมราชวงศ์ขึ้นใหม่สำหรับตระกูลของพระองค์ จึงริเริ่มโครงการก่อสร้างขนาดมหึมาขึ้น โดยโคลอสเซียมเป็นส่วนหนึ่งในนั้น
และนี่ทำให้โคลอสเซียมเป็นสนามกีฬาของโรมที่ใหญ่ที่สุดและแพงที่สุดเท่าที่มีการสร้างขึ้น ด้วยทรัพย์สินตั้งแต่โต๊ะไปจนถึงเชิงเทียนทองคำแท้ที่โรมปล้นมาจากการยึดพระวิหารที่เยรูซาเลม มันจุผู้คนได้ราว 55,000 คน และสร้างเสร็จในปี ค.ศ. 80 เพื่อใช้แทนสนามกีฬาไม้ซึ่งถูกเผาไปในรัชสมัยของ จักรพรรดิเนโร
ด้วยเทคนิคการสร้างชั้นเลิศของโรมที่ใช้คอนกรีตที่ทำมาจากทรายภูเขาไฟเท่านั้น จึงทำให้ สามารถสร้างสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่โตซึ่งสูงถึง 160 ฟุตนี้ได้สำเร็จ เพราะมันช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กลายเป็นวัสดุพิเศษและสามารถแข็งตัวได้แม้กระทั่งในน้ำ
แม้จะมีขนาดใหญ่และจุคนได้มากมายขนาดนั้น แต่ด้วยโถงทางเดินและบันไดซึ่งนำไปสู่ทางเข้า 76 ช่องทางก็สามารถทำให้ผู้ชม 55,000 คน ไปสู่ที่นั่งของตนได้ภายในเวลาไม่กี่นาที ยังไม่รวมทางเดินใต้ดินที่เหมือนกับเขาวงกต ห้องโถงต่างๆ ที่มีไว้ให้นักสู้เตรียมตัวและเตรียมสัตว์ป่าให้พร้อม และเวทีที่ยกขึ้นด้วยรอกเพื่อปิดบังประตูกลบนพื้นสังเวียน ที่ช่วยความตื่นเต้นให้กับผู้ชม
หลังพระองค์สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 79 ไทตัส พระโอรสของพระองค์เองก็ขึ้นสืบทอดราช บัลลังก์ต่อมา ไทตัสตัดสินพระทัยที่จะสร้างความนิยมในหมู่ประชาชนด้วยการนำเสนอการแข่งขันในพิธีเปิดโคลอสเซียมที่ยิ่งใหญ่อลังการ และดูเหมือนว่าวิธีการนี้จะได้ผล
เพราะการแข่งขันที่ยาวนานกว่า 100 วัน ในครั้งนั้นทำให้ไทตัสเป็นจักรพรรดิที่ได้รับความนิยมสูงสุดพระองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์โรม แต่การครองราชย์ของพระองค์นั้นสั้นกว่าของพระบิดามาก เพียงแค่หกเดือนหลังจากการแข่งขันรอบปฐมฤกษ์พระองค์ก็สิ้นพระชนม์ด้วยอาการประชวรลึกลับ
การต่อสู้แบบกลาดิเอเตอร์เริ่มขึ้นในฐานะพิธีกรรมในงานศพของพลเมืองที่มั่งคั่ง หลังจากผ่านไปหลายศตวรรษ มันได้พัฒนาเป็นความบันเทิงที่ได้รับความนิยม สัตว์ป่ามากมายถูกฆ่าในการต่อสู้ชนิดนี้ จนถึงกับทำให้สัตว์หายากบางชนิดสูญพันธุ์ไปจริงๆ
ฮิปโปโปเตมัสไม่มีการพบอีกเลยในอียิปต์ ช้างตายไปจากภาคเหนือของแอฟริกา และสิงโตก็หายไปจากภูมิภาคตะวันออกใกล้
เป็นเวลากว่า 500 ปีที่การต่อสู้เอาเป็นเอาตายในสังเวียน ซึ่งจัดขึ้นเพื่อสร้างความบันเทิงให้แก่สามัญชน ได้ครอบงำสังคมโรม นักสู้แต่ละคนที่ก้าวเข้ามาจะต่อสู้กันจนตายไปข้างหนึ่งต่อหน้าผู้ชม 55,000 คนที่โห่ร้องด้วยความสะใจ
แม็กซิมัสตัวละครที่แต่งขึ้นในภาพยนตร์เรื่อง Gladiator อาจไม่เคยมีตัวตนอยู่จริง
แต่หนึ่งในนักสู้ที่ผ่านสังเวียนแห่งนี้มามากมาย ชื่อของ
เวรัส กลับเป็นนักสู้เพียงหนึ่งเดียวที่ได้รับการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์
เวรัสเกิดมาเป็นเสรีชน แต่เขาถูกจับในปี ค.ศ. 76 ที่ชายแดนทางตะวันออกเฉียงเหนือของอาณาจักรโรม เขาถูกนำตัวกลับมายังอิตาลีและถูกบังคับให้เป็นทาส เวรัสทำงานอยู่ในเหมืองหนึ่งปีก่อนจะฉวยโอกาสหนีจากการงานอันตรากตรำของทาสในเหมืองหิน และถูกนำไปเป็นนักสู้ฝึกหัด
เขาเข้ารับการฝึกเพื่อจะเรียนรู้เทคนิคอัน ซับซ้อนและต้องใช้ฝีมืออย่างสูงของนักสู้กลาดิเอ เตอร์ เวรัสหล่อหลอมมิตรภาพกับนักสู้ฝึกหัดคนอื่นๆ และเรียนรู้ว่าชีวิตของกลาดิเอเตอร์นั้นอาจจะโสมม ป่าเถื่อน แต่เขาก็เรียนรู้เช่นกันว่าหากมีโชค ฝีมือและความกล้าหาญสุดหัวใจ นักสู้ในสังเวียนก็สามารถโด่งดัง ร่ำรวย ดึงดูดสตรีมากมายให้มาหลงใหล ในที่สุดเวรัสก็สามารถไต่อันดับขึ้นมาและกลายเป็นนักสู้ในสังเวียนที่โด่งดังจนได้
นักสู้กลาดิเอเตอร์จะถูกแบ่งเป็น 10 ระดับ โดยนักสู้ระดับสูงสุดจะได้รับเงินจากการต่อสู้ครั้งเดียวเป็นเงินมากกว่า 15 เท่าของรายได้ทั้งปีของทหารราบ ขณะที่นักสู้ในสังเวียนมีมากกว่า 12 ประเภท ซึ่งรวมถึงมูร์มิลลอสที่ถือโล่ขนาดใหญ่และดาบเล่มยาว ธราเชียนซึ่งต่อสู้เหมือนคนกรีก และ เรทาริอัส ซึ่งใช้แหและสามง่ามเป็นอาวุธ
แม้ว่านักสู้ในสังเวียนส่วนมากจะเป็นทาส แต่ไม่ใช่ทุกคน เพราะเมื่อถึงคริสต์ศตวรรษที่สองนักสู้กลาดิเอเตอร์มากกว่าหนึ่งในสามเป็นคนที่สมัครใจเข้ามา โดยมีชื่อเสียงและความมั่งคั่งเป็นสิ่งล่อใจ และการต่อสู้ทุกครั้งก็ไม่ได้จบลงด้วยความตายเสมอไป พวกเขามีโอกาสที่ดีที่จะเอาชีวิตรอด และหลายคนก็อำลาสังเวียนไปหลังจากประสบความสำเร็จในอาชีพนี้
สำหรับคนที่เสียชีวิตพวกนักสู้ในสังเวียนได้ร่วมกันตั้งชมรมฌาปนกิจสงเคราะห์ เพื่อจ่ายเงินสำหรับการทำศพแก่นักสู้ที่เสียชีวิต พวกเขาเชื่อว่าถ้าไม่มีการทำศพอย่างถูกต้อง ผู้ที่ตายจะถูกสาปให้ เร่ร่อนเป็นผีอยู่ในโลกตลอดไป
http://atcloud.com/stories/48190
|
|