ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 4463
ตอบกลับ: 10
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ การเจริญพระพุทธคุณ ~

[คัดลอกลิงก์]
การเจริญพระพุทธคุณ
โดย หลวงพ่อพุธ ฐานิโย



แสดงธรรมที่กระทรวงศึกษาธิการ

เมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๓๑

        บัดนี้จะได้บรรยายธรรมมะอันเป็นคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าด้วยการเจริญพระพุทธคุณ การเจริญพระพุทธคุณ ก็เป็นอารมณ์การภาวนาอย่างหนึ่งเรียกว่า   พุทธานุสติ   มีอยู่ในหมวดอนุสติ ๑๐ ในอารมณ์ของสมถกรรมฐาน ๔๐  ประการ  แต่สำหรับโอกาสนี้ จะได้นำวิธีเจริญพระพุทธคุณ อันเป็นอารมณ์ของสมถ-กรรมฐานมาบรรยายพอเป็นสติเตือนใจ และขอให้ท่านผู้ฟังทั้งหลายทำความเข้าใจไว้ก่อนว่า การเจริญพุทธคุณหรือพุทธานุสติเป็นแต่เพียงอารมณ์การปฏิบัติกรรมฐานส่วนหนึ่ง ซึ่งใครเจริญแล้วก็มีค่าเท่ากันกับการเจริญกรรมฐานอย่างอื่น


           วิธีเจริญกรรมฐานอย่างที่เราเข้าใจกันโดยทั่ว ๆ ไป ซึ่งเป็น    สายใหญ่ ๆ มีอยู่ ๓ สาย  ๑. สายพุทโธ   ๒.  สายสัมมาอรหัง   และ  ๓.  สายยุบหนอพองหนอ ทั้ง ๓ สายนี้  อาจทำให้ท่านผู้ฟังหรือผู้ปฏิบัติยังเข้าใจขัดแย้งซึ่งกันและกัน  แต่แท้ที่จริงแล้วไม่มีอะไรที่น่าจะขัดแย้งกันเพราะเป็นอารมณ์จิตด้วยกันทั้งนั้น


          ขอให้ท่านทั้งหลายพึงเข้าใจว่า เป็นแต่เพียงอารมณ์ที่เราจะยึดให้เป็นสื่อนำจิตเข้าไปสู่ความสงบแต่ละอย่างเท่านั้น ใครภาวนาแบบไหนอย่างไรแล้ว เมื่อจิตสงบลงเป็นสมาธิมีค่าเท่ากัน

ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-6-20 12:15 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ท่านไปทำธุรกิจที่ไหน ๆ ท่านก็ยังมีจุดนัดพบ เช่นอย่างท่านทั้งหลายทำงานอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการนี่ต่างคนก็ต่างมีบ้านอยู่เป็นของ ๆ ตน แต่เมื่อเวลาท่านมาทำงานแล้ว ท่านต้องมีจุดนัดพบคือที่ทำงานของท่าน ข้อนี้ฉันใด การภาวนาก็เช่นเดียวกัน เราก็ต้องมีจุดนัดพบทางมาของการมาทำงานนั้น บางท่านอาจจะมาด้วยรถเมล์ บางท่านก็มารถส่วนตัว  บางท่านก็มามอเตอร์ไซค์ บางท่านก็เดินมา แล้วผลสุดท้ายก็มาถึงที่ทำงาน คือที่กระทรวงศึกษาธิการแห่งเดียวกัน


          ดังนั้น การภาวนาก็เหมือนกัน ใครจะยึดเอาสิ่งใดเป็นอารมณ์ของการภาวนา แต่เมื่อภาวนาเป็นกันจริง ๆ ก็หมายความว่าสามารถทำจิตให้เป็นสมาธิได้จริง ๆ เราจะไปพบกันที่จุด ๆ หนึ่ง จุดที่เราจะต้องนัดพบกันซึ่งเป็นจุดที่ถูกต้องที่สุด คือ ปฐมฌาน  ท่านผู้ภาวนาเป็นหรือทำจิตให้ผ่านฌานขั้นปฐมหรือปฐมฌานได้แล้ว จะรู้ทันทีว่าจิตถึงขั้นปฐมฌานเป็นอย่างไร จิตนักภาวนาที่อยู่ในขั้นปฐมฌานต้องประกอบด้วยองค์   ๕

    ๑.  วิตก  หมายถึงจิตยังนึกถึงอารมณ์อยู่

    ๒.  วิจาร  คือความที่จิตมีสติรู้พร้อมอยู่ที่จิตกับอารมณ์ที่นึกถึงนั้น

    ๓.  จิตมี  ปีติ

    ๔.  มี   ความสุข  ซึ่งเกิดจากปีติ

    ๕.  มี  ความเป็นหนึ่ง  คือจิตจดจ่ออยู่กับอารมณ์ของฌาน นี่คือจุดนัดพบของนักภาวนา เราจะต้องมาพบกันที่ตรงนี้ ใครจะภาวนาแบบไหนอย่างไรก็ตาม ต้องมาพบกันที่วิตก  วิจาร  ปีติ  สุข  เอกัคคตา  ซึ่งเป็นฌานที่ ๑ เรียกว่า ปฐมฌาน
         

          ถ้าก้าวสูงขึ้นไปหน่อย  วิตก คือการนึกถึงอารมณ์หายไป ความตั้งใจที่จะควบคุมจิตหายไป กลายเป็นความรู้สึกที่เป็นเองโดยอัตโนมัติ เราจะตั้งใจควบคุมจิตก็ตามไม่ควบคุมจิตก็ตาม จิตเป็นเองโดยอัตโนมัติ คือสงบ เป็นสมาธิแล้ว ความนึกคิดถึงอารมณ์ไม่มี ความตั้งใจที่จะควบคุมจิตไม่มี เพราะจิตนิ่งอยู่เป็นหนึ่งแล้วก็มีสติรู้พร้อมอยู่ ตอนนี้ ถ้าหากสมมติว่านักภาวนา บริกรรมภาวนา พุทโธ พุทโธ สัมมาอรหัง  ยุบหนอพองหนอ อยู่ ถ้าจิตปล่อยวางวิตกแล้วจะนิ่งอยู่เฉย ๆ แล้วความตั้งใจที่จะควบคุมจิตให้อยู่กับอารมณ์ก็จะหายไป เพราะจิตนิ่งเฉยอยู่แล้ว ปราศจากสัญญาเจตนาความตั้งใจใด ๆ ทั้งสิ้น  ต่อจากนี้จิตเสวยปีติและความสุขในสมาธิ มีรู้ ตื่น เบิกบาน ปรากฏขึ้นในจิตอย่างเด่นชัด เมื่อเป็นเช่นนั้นจิตก็ก้าวขึ้นไปสู่ขั้นของฌานที่ ๒ เรียกว่า  ทุติยฌาน
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-6-20 12:16 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ฌานที่ ๑   ประกอบด้วยองค์ ๕ มี วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เมื่อฌานที่ ๒  บังเกิดขึ้น วิตก วิจารหายไป จิตนิ่งอยู่เฉย ๆ แต่มีปีติ มีความสุข มีความเป็นหนึ่ง เมื่อจิตปล่อยวางปีติ ยังเหลือแต่สุขกับความเป็นหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า เอกัคคตา จิตอยู่ในฌานที่ ๓ ที่นี้เมื่อสุขหายไปยังเหลือแต่เอกัคคตากับอุเบกขา คือความเป็นหนึ่ง ความวางเฉยของจิต ตอนนี้ถ้าใครภาวนาถึงจุดนี้แล้ว ร่างกายตัวตนหายไปหมด ยังเหลือแต่จิตดวงเดียวลอยเด่นอยู่เหมือนดวงไฟ เหมือนดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ที่ลอยอยู่บนท้องฟ้า ร่างกายตัวตนหายไปหมด  วิตก  วิจาร  ปีติ  สุข  หายไป ยังเหลือแต่เอกัคคตากับอุเบกขา จิตอยู่ในฌานที่ ๔ ซึ่งเรียกว่า  จตุตถฌาน  นี่คือสมาธิขั้นรูปฌาน


          ถ้าท่านผู้ใดทำสมาธิ มีภูมิจิต ภูมิใจมีสมาธิเกิดขึ้นโดยถูกต้อง ภาวนาพุทโธ จิตก็เป็นเหมือนอย่างเก่าเหมือนภาวนายุบหนอพองหนอ ภาวนาสัมมาอรหังก็เหมือนกัน เพราะสมาธิที่ถูกต้องเป็นสัมมาสมาธิ ต้องประกอบด้วย วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา แล้วก็ละวิตก  วิจาร ละปีติ ละสุข  จนกระทั่งเหลือแต่เอกัคคตากับอุเบกขา นี่วิถีทางเดินของสมาธิต้องเป็นอย่างนี้




          เว้นเสียแต่ว่าการทำสมาธิในบางครั้ง ผู้ให้การอบรมสมาธิเอาพลังจิตของตนเองเข้ามาสะกดจิตของลูกศิษย์ เช่นอย่างสอนให้ภาวนา พุทโธ พุทโธ แล้วควบคุมว่าจงทำจิตให้เป็นอย่างนั้น ทำจิตให้เป็นอย่างนี้ แล้วจะเห็นโน่น จะเห็นนี่ อย่างนี้เรียกว่าฝึกสมาธิโดยใช้การสะกดจิตเข้ามาแทรก สามารถที่จะทำจิตให้เป็นสมาธิได้ และรู้เห็นสิ่งต่าง ๆ ได้ กลายเป็นมโนมยิทธิ แต่จะผิดหรือถูกนั้นไม่ขอวิจัย ยอมรับว่าเป็นอุบายวิธีการสอนคนให้รู้จักปฏิบัติดี  ปฏิบัติชอบ


          อุบายวิธีอันใดสามารถชักจูงคนให้มาปฏิบัติศีลธรรมปฏิบัติดี  ปฏิบัติชอบ แล้วมีคนละชั่ว ประพฤติดีได้มาก เป็นอุบายวิธีที่ใช้การได้ทั้งนั้น ดังนั้น การทำกิจพระศาสนา เราต้องเอาผลงานพระพุทธเจ้า สอนคนให้ละชั่วประพฤติดี ทำใจให้บริสุทธิ์สะอาดได้ อุบายวิธีนั้นเป็นการถูกต้อง ถูกต้องในระดับศีลธรรมหรือสังคมนิยมชมชอบกัน ส่วนความละเอียดลึกซึ้งเหนือขึ้นไปกว่านั้น เรายังรู้ไม่ถึง อย่าเพิ่งวิพากษ์วิจารณ์   เอากันแต่เพียงแค่ว่า  อุบายวิธีอันใดสามารถสอนคนให้ประพฤติดีปฏิบัติชอบได้ ละชั่ว ประพฤติดี ทำจิตให้บริสุทธิ์ได้ เรายอมรับว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้อง และส่วนมากความลึกความละเอียดที่เราจะยึดเป็นหลักว่า อะไรผิด  อะไรถูก ก็อาศัยตามหลักที่กล่าวมาแล้วในเบื้องต้น
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-6-20 12:16 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
สมาธิอันใดที่ประกอบด้วยองค์ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา แล้วก็ละวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ไปตามขั้นตอนจนถึงฌานที่ ๔ ถ้าวิถีจิตของเราสามารถดำเนินไปได้อย่างนี้ เราก็ยอมรับได้ว่าวิถีจิตของเราดำเนินไปโดยถูกต้อง  ส่วนความรู้ความเห็นอันใดที่เกิดขึ้นภายในจิต ในสมาธิก็ดี นอกสมาธิก็ดี อะไรผิด อะไรถูก อะไรเป็นสัมมาทิฏฐิ  อะไรเป็นมิจฉาทิฏฐิ  สัมมาทิฏฐิท่านทั้งหลายกำลังทำอยู่เวลานี้  เพราะอาศัยความเห็นชอบเห็นถูกต้อง  จึงพากันมาสมาทานศีล ปฏิญาณตนถึงไตรสรณคมณ์ คือ พระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์ เพราะอาศัยความเห็นถูกต้อง  เป็นสัมมาทิฏฐิ  จึงยอมรับฟังธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่พระท่านนำมาแสดง  เมื่อเป็นเช่นนี้  ก็เป็นการที่ท่านทั้งหลายพยายามที่จะทำความเห็นให้ถูกต้อง  เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ   สัมมาทิฏฐิ คือปัญญาเห็นชอบ   เห็นชอบว่าคุณของพระพุทธเจ้า  พระธรรม  พระสงฆ์มี  บุญมี  บาปมี  สวรรค์มี  นรกมี  นิพพานมี  ความบริสุทธิ์สะอาดมี  อันนี้เป็นความเห็นชอบตามหลักของสัมมาทิฏฐิ


          ทีนี้  ในเมื่อเรามาพยายามทำจิตใจของเราให้มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ที่พึ่ง ที่ระลึกและทำจิตให้เป็นสัมมาทิฏฐิเป็นต้น  แล้วมาตั้งเจตนาที่จะละความชั่วตามกฎของศีล ๕ ที่ได้สมาทานมาแล้วนั้นด้วยความเห็นถูกต้องเป็นสัมมาทิฏฐิ   แล้วมาสำรวมจิตสำรวมใจ ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าว่า พุทโธ  พุทโธ พุทโธ เป็นต้น เป็นสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฎฐิคือการพยายามทำความเห็นให้ชอบและพยายามระลึกในสิ่งที่ชอบ เมื่อท่านทั้งหลายมาฝึกฝนอบรมให้มาก กระทำให้มาก ๆ ย่อมเป็นไปเพื่อขจัดราคะ โทสะ โมหะ ดังนั้น อริยมรรค ๘ ในเมื่อสรุปลงในหัวข้อใหญ่ ๆ ก็คือ ๓ ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อไม่ให้ท่านผู้ฟังจำฝั้นเฝือ หรือยากแก่การจดจำ หลักของการปฏิบัติเพื่อขจัดราคะ โทสะ โมหะ อยู่ที่พยายามทำจิตทำใจให้เสพคุ้นกับการรักษาศีล การทำสมาธิ การเจริญปัญญา  ทั้ง ๓ อย่างนี้เป็นหลักของการปฏิบัติ


          เมื่อนักปฏิบัติทั้งหลายมาฝึกฝนอบรมให้มาก ๆ ทำให้มาก ๆ ทำจนคล่องตัว ทำจนกระทั่งศีล สมาธิ ปัญญา มีพลัง กลายเป็นสติวินโย มีสติเตรียมพร้อมอยู่ที่จิตทุกขณะจิต ทุกลมหายใจ พลังของศีล สมาธิ ปัญญานั้น ๆ จะกลายเป็นปุญญาภิสังขาร คอยปรุงแต่งจิตของท่านให้ดำเนินไปสู่แนวทาง คือทำให้เกิดสัมมาทิฏฐิ   ความเห็นชอบ เห็นว่าบุญมี บาปมี ข้อวัตรปฏิบัติที่ปฏิบัติอยู่นี้ย่อมเกิดมีผล ทำให้เกิดความดำริชอบ คือ ดำริในสิ่งที่เป็นบุญเป็นกุศล ทำให้พยายามพากเพียรชอบ คือทำสิ่งที่เป็นไปเพื่อละความชั่ว เจริญความดี ทำใจให้บริสุทธิ์สะอาด ทำให้มีการเจรจาชอบ ทำให้มีการเลี้ยงชีพชอบ ทำให้มีการฝึกฝนอบรมจิตให้มีความตั้งมั่นชอบ ซึ่งเรียกว่า สัมมาสมาธิ และทำความเห็นให้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้
5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-6-20 12:17 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ความรู้ความเห็นอะไรที่เป็นสัมมาทิฏฐิ อะไรเป็นมิจฉาทิฏฐิ กำหนดเอาง่าย ๆ ความรู้ความเห็นอันใดที่มันเกิดขึ้นแล้วจิตของเรารู้สึกปล่อยวาง ไม่ยึดเอาไว้สร้างปัญหาให้เดือดร้อน อันนั้นเรียกว่าสัมมาทิฏฐิ ทีนี้สิ่งใดที่รู้ขึ้นมาแล้วยึดเอาไว้สร้างปัญหาให้ยุ่งยาก อันนั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิ        เพราะรู้ไม่จริง ถึงยึดเอาไว้ อันนี้เป็นเรื่องภายในจิตภายในใจของเรา


          ทีนี้สัมมาทิฏฐิ มิจฉาทิฏฐิ นี่มันยังครอบคลุมไปถึงระบอบการปกครองบ้านเมืองหรือการบริหารกิจการงานของประเทศชาติบ้านเมืองด้วย ความคิดความเห็นอันใดที่เห็นชอบตามระบอบแห่งศีลธรรม โดยอาศัยหลักศีล ๕  ประการเป็นหลักตัดสินว่าอะไรผิด อะไรถูก นั่นคือสัมมาทิฏฐิ เพราะฉะนั้น การกระทำอันใดที่ไม่เป็นไปเพื่อละเมิดศีล ๕ ข้อใดข้อหนึ่ง ได้ชื่อว่าทรงไว้ซึ่งหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ถูกต้อง


          เรามาฝึกฝนอบรมทำจิตให้มีสมาธิ ก็เพื่อจะให้เกิดคุณธรรม ผู้มีจิตใจเป็นสมาธิที่ถูกต้องตามแบบที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ในเบื้องต้น

          ประการที่  ๑  จะต้องเกิดมีความรักในตัวเองมากขึ้นและรักคนข้างเคียงมากขึ้น มีความเคารพ มีความกตัญญู มีความรู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดี รู้สำนึกในพระคุณของผู้มีคุณมากขึ้น คุณของพระศาสนา คุณของประเทศชาติ คุณของพระมหากษัตริย์ คุณของรัฐบาลผู้ปกครองบ้านเมือง จะปรากฎขึ้นเด่นชัดขึ้นในจิตใจของเราเมื่อเราภาวนาเก่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรักจะปรากฎเด่นชัดแต่ความรักจะถูกเปลี่ยนเป็นความรักที่บริสุทธิ์สะอาด เมื่อก่อนเราอาจจะรักกันด้วยกิเลส ตัณหา มานะ ทิฏฐิ แต่เมื่อภาวนาเก่งแล้ว มีสติปัญญารู้ชอบเห็นชอบ ความรักมันจะแปรสภาพเป็นความเมตตาปรานี เราอยู่ร่วมกันเราไม่อาจที่จะทิ้งกันได้ เพราะความรักอันนี้เป็นความรักที่บริสุทธิ์ เป็นความรักที่ประกอบด้วยศีลด้วยธรรม และอีกอย่างหนึ่ง จะทำให้เรารู้สึกว่าเป็นผู้มีความซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา มีความหมั่นความขยันในธุระหน้าที่การงานเพราะการภาวนาทำสมาธิเป็นการฝึกฝนอบรมจิตให้มีพลัง
6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-6-20 12:17 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
การบริกรรมภาวนาพุทโธเพียงอย่างเดียวก็ดี หรืออย่างอื่นก็ดี เมื่อสมาธิเกิดขึ้นมาแล้ว มันจะเกิดมีพลังอันหนึ่ง เรียกว่า  พละ ๕ คือศรัทธา  วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา  แล้วเกิดมี  อิทธิบาท ๔  มี ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา  ศรัทธา ความเชื่อมั่น  วิริยะ  ความพากเพียร  สติ  คือความตั้งใจ  สมาธิ คือความตั้งใจมั่น  ปัญญา  มีสติสัมปชัญญะรอบคอบ  อิทธิบาทก็คือว่า  ฉันทะ   ความพอใจในสิ่งที่เราทำอยู่ ซึ่งเป็นการถูกต้อง ทำให้เกิดอิทธิฤทธิ์ อิทธิฤทธิ์ก็หมายความว่า พลังจิตที่ประกอบพร้อมด้วยสติปัญญา แล้วก็เอาใจใส่ฝักใฝ่ ฉันทะ ความพอใจ  วิริยะ ความพากเพียร จิตตะ เอาใจใส่ฝักใฝ่ต่อหน้าที่การงานที่ตนรับผิดชอบ วิมังสา ตรวจสอบพิจารณาหาเหตุผลในขณะที่ทำงานอยู่หรือทำงานแล้ว อันนี้เป็นคุณธรรมที่จะพึงเกิดขึ้น


          ถ้าเป็นนักภาวนา ภาวนาไปแล้ว ถ้าจิตติดภาวนา มันเกิดศรัทธา เกิดวิริยะ เกิดสติ เกิดสมาธิ เกิดปัญญา วันหนึ่ง ๆ ถ้าไม่ได้สวดมนต์ไหว้พระ ไม่ได้นั่งสมาธิภาวนา จะรู้สึกว่านอนไม่หลับ ต้องลุกขึ้นมาไหว้พระ มานั่งสมาธิก่อนจึงจะนอนหลับ อันนี้เรียกว่าได้พลังคือศรัทธา ในเมื่อได้พลังคือศรัทธาแล้ว ความขยันหมั่นเพียรก็ย่อมบังเกิดขึ้น เมื่อมีความขยันหมั่นเพียรก็ต้องมีความตั้งใจ ความตั้งใจก็คือสติ เมื่อมีความตั้งใจก็มีความมั่นใจ ในเมื่อมีความมั่นใจ สติปัญญาก็บังเกิดขึ้น อันนี้คือพลังงานที่เราได้จากการบำเพ็ญสมาธิ


          ดังนั้น การปฏิบัติสมาธิภาวนาจึงเป็นการสร้างจิตให้มีพลัง อย่างมีโยมผู้หญิงคนหนึ่ง แกเป็นคนไม่รู้หนังสือท่องบ่นสวดมนต์อะไรก็ไม่เป็น จึงสอนให้แกท่องพุทโธไว้คำเดียว แกก็ตั้งใจภาวนา จนกระทั่งใจของแกลุกเป็นไฟอยู่จนกระทั่งวันตาย เวลาแกเจ็บป่วยหนัก ไปถามแกทีไรแกบอกว่า “สบายมาก ความเจ็บป่วย เวทนาไม่มี เพราะกายมันไม่มี มีแต่ใจลุกเป็นไฟอยู่แต่เพียงอย่างเดียว” “เอ้า กายไม่มี เอาอะไรมาพูด”  แกบอกว่า  “ยืมมาพูดเพียงชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น ท่านมีธุระอะไรจะพูด รีบพูด รีบไป เดี๋ยวกายมันกลับมาอีก มันจะเจ็บอีก”  แกว่าอย่างนี้อันนี้เป็นตัวอย่างของบุคคลผู้ภาวนาพุทโธโดยไม่ฟังอีร้าค่าอีรมอะไร ไม่ต้องมีเหตุผลอะไรมาก เอากันแต่เพียงแค่ว่าภาวนา พุทโธ พุทโธ พุทโธ เพียงอย่างเดียว
7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-6-20 12:18 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
แล้วท่านอาจารย์เสาร์สอนภาวนาพุทโธก็เหมือนกัน ถ้ามีใครไปถามว่าอยากจะภาวนาพุทโธ ทำอย่างไร ท่านบอกว่า พุทโธซิ ภาวนาพุทโธแล้วจะได้อะไรดีขึ้นมา อย่าถาม พุทโธแปลว่าอะไร ถามไปทำไม ฉันให้ภาวนา พุทโธ เพียงอย่างเดียว ถ้าใครตั้งใจภาวนาพุทโธ พุทโธ พุทโธ อย่างจริงจังแล้ว ประเดี๋ยวก็ได้มีปัญหามาถามอย่างน้อยก็ทำจิตให้สงบ นิ่ง สว่างลงไป มีปีติ มีความสุขขึ้นมาได้ ได้ผลกันทุกคนถ้าตั้งใจทำจริง


          ดังนั้น ท่านผู้ที่หวังจะภาวนาให้มันได้ผลจริง ๆ อย่าไปทำความระแวงสงสัยใด ๆ ทั้งสิ้น จะภาวนา พุทโธ ก็ตั้งใจให้แน่วแน่ ภาวนา พุทโธ พุทโธ ยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด พุทโธอยู่ตลอดเวลาได้ไม่ต้องเลือก ขออภัย แม้แต่เข้าห้องน้ำก็ยังภาวนาพุทโธได้ ไม่เป็นบาปเป็นกรรมอะไรทั้งสิ้น ภาวนาจนกระทั่งจิตมันสงบสว่างลงไปลุกเป็นไฟขึ้นมาโน่น


          ที่นี้ก้าวต่อไป ในเมื่อภาวนาพุทโธ จิตสงบนิ่งลงไปสว่างไสวขึ้นมาแล้ว หนักๆ เข้าจิตมันจะสงบลงไปเพียงนิดเดียว แล้วก็ไหวตัวเกิดความคิดขึ้นมา ผุด ๆ ขึ้นมา อย่าเข้าใจว่าจิตมันฟุ้งซ่าน ธรรมชาติของจิต ถ้าสงบเป็นสมาธิที่ประกอบด้วยองค์ คือสมาธิ มี วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา บ่อย ๆ เข้า เมื่อเราทำมาก ๆ อบรมมาก ๆ ทำจนคล่องตัว ทำจนชำนิชำนาญ ทำจนกระทั่งตั้งใจทำสมาธิ จิตก็เป็นสมาธิ ไม่ตั้งใจทำสมาธิ จิตก็เป็นสมาธิเรียกว่าให้มันเป็นเองตลอดเวลา แล้วภายหลังมา ความสงบนิ่งเงียบอย่างที่เคยปรากฏมาก่อนนั้น มันจะหายไปเพราะจิตจะทำงานอยู่ตลอดเวลา พอมีอารมณ์อะไรมากระทบปั๊บ มันจะเอามาพิจารณาปุ๊บ ๆ ๆ แล้วก็น้อมเข้ามาภายใน เป็นโอปนยิโก หรือในขณะที่เราตั้งใจคิดอะไรปั๊บขึ้นมานี่ จิตมันจะคิดเอง มันเป็นเองโดยอัตโนมัติ


          เวลาเราตั้งใจภาวนา พุทโธ พุทโธ พอพุทโธ ๒-๓ คำ จิตก็สงบลงนิดหน่อย แล้วความคิดจะเกิดฟุ้ง ๆ ๆ ๆ ขึ้นมา นั่นเป็นลักษณะของปัญญาเกิดจากสมาธิ อย่าไปห้ามมัน วิธีปฏิบัติก็คือว่า เมื่อจิตมีความคิด ปล่อยให้คิดไป มันจะคิดไปเหนือไปใต้ คิดบาปคิดบุญ คิดขึ้นเหวลงห้วยอะไรก็แล้วแต่ ปล่อยให้คิดไป โดยเราตั้งใจไว้ว่า เอ้า เชิญ แกคิดไปเถิด ฉันจะนั่งดูแก แล้วปล่อยให้เขาคิดไป ให้มีสติตามรู้ ๆ ๆ ๆ  ไปเรื่อย เมื่อสติสัมปชัญญะมีพลังแก่กล้าขึ้นมาเมื่อไร  จิตเขาจะเกิดความสงบขึ้นมาเอง ถึงแม้ไม่เกิดความสงบ ความคิดก็เป็นการผ่อนคลายความตึงเครียดในจิต
8#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-6-20 12:18 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ประการที่ ๒  เมื่อสติสัมปชัญญะมีพลังแก่กล้าขึ้นจะกลายเป็นปัญญา สามารถกำหนดหมายรู้ความคิดว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ในช่วงใดที่จิตไปยึดความคิด เกิดความยินดี เกิดความยินร้ายขึ้นมา จิตที่มีสัมปชัญญะจะมองเห็นตัวกิเลส ความยินดีเป็นอิฏฐารมณ์มีแนวโน้มให้เกิดกามตัณหา ความยินร้ายเป็นอนิฏฐารมณ์มีแนวโน้มให้เกิดวิภวตัณหา เมื่อเป็นเช่นนั้น สุข ทุกข์ย่อมบังเกิดขึ้นในจิต ในเมื่อจิตมองเห็นทุกข์ เห็นสุข เขาจะรู้ขึ้นมาว่านี่คือทุกขอริยสัจที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ เมื่อมีสติสัมปชัญญะแก่กล้าขึ้น ก็จะกลายเป็นปัญญามองเห็นว่า นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับ ความรู้ความเห็นของเขายังเหลืออยู่แต่ ยังกิญจิ สมุทะยะธัมมัง  สัพพันตัง  นิโรธะธัมมันติ  สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา  สิ่งนั้นดับไปเป็นธรรมดา นี่คือความรู้ความเห็นธรรมะขั้นละเอียดของนักภาวนา


          ที่นี้ในขณะที่จิตของเรามีอารมณ์สิ่งรู้ปรากฏอยู่ เราจะมองเห็นความปกติของจิต ถ้าหากว่าจิตไม่ยินดี จิตไม่ยินร้าย ความที่จิตไม่หวั่นไหว เอนเอียงต่ออารมณ์ที่เกิดดับภายในจิต มีแต่ตัวปกติเด่นชัดอยู่ ตัวที่ยินดียินร้ายไม่มี ตัวสุขไม่มี ตัวทุกข์ไม่มี มีแต่ความเป็นกลาง เราก็จะมองเห็นเจ้าตัวนิโรธะ ความดับกิเลส ในเมื่อนิโรธะปรากฏ จิตดวงนี้ก็เป็นตัวปกติเด่นชัดขึ้นมา เมื่อจิตดวงนี้เป็นตัวปกติ  นั่นคืออะไร  สีเลนะ สุคะติงยันติ  จะถึงสุคติก็เพราะศีล  จิตปกติไม่หวั่นไหวเอนเอียงต่อสิ่งใด  จิตเป็นปกติ ในเมื่อเป็นปกติก็เป็นสุคติ ในเมื่อเป็นสุคติทางเดินที่ดี  ทางดำเนินที่ถูกต้อง เป็นมัชฌิมาปฏิปทา เป็นทางสายกลางดำเนินไปสู่พระนิพพาน ดังนั้น ท่านจึงว่า สีเลนะ  สุคะติง  ยันติ จะถึงสุคติก็เพราะศีล  สีเลนะ โภคะ สัมปะทา จะถึงโภคทรัพย์ก็เพราะศีล  สีเลนะ นิพพุติง  ยันติ จะดับกิเลสก็เพราะศีล  ศีลนี้มีอำนาจดับสิ่งที่จะพึงทำด้วยอำนาจของกิเลสในเบื้องต้นก่อน ในเมื่อศีลตัวนี้เข้าไปถึงใจ กลายเป็นพุทธะ ผู้รู้ พุทธะ ผู้ตื่น พุทธะ  ผู้เบิกบาน คุณธรรมที่ทำให้คนเป็นพุทธะบังเกิดขึ้นในจิตก็กลายเป็นสิ่งที่ดับความทุกข์ ดับความเดือดร้อน ดับกิเลสตัณหา มานะทิฏฐิ ถึงแม้ว่าจะเป็นไปได้ชั่วขณะหนึ่งก็ยังดี


          วันนี้ขอกล่าวธรรมะพอเป็นเครื่องประดับสติปัญญาของท่านผู้ฟังทั้งหลาย  ว่าด้วยการเจริญพุทธคุณ คือภาวนาพุทโธ ย่อๆ แล้วก็ขอให้ท่านทั้งหลายจงตั้งใจทำจริงโดยไม่เคลือบแคลงสงสัยใด ๆ ทั้งสิ้น  เชื่อมั่นในสมรรถภาพของตัวเอง เชื่อมั่นในอารมณ์จิตที่เรายึดมาเป็นหลักภาวนา ทำด้วยความจริงใจ แล้วความสงบสมาธิจะเกิดขึ้น  สมถะเป็นสิ่งจำเป็นที่เราจะต้องเอาให้ได้ เพราะมันเป็นพื้นฐานให้เกิดปัญญา อย่าไปกลัวว่าจิตมันจะติดความสงบ ติดสมถะ ขอให้จิตมันมีสิ่งที่ติดเอาไว้ก่อน
9#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-6-20 12:19 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เวลานี้เราเริ่มต้นภาวนา ก็คล้าย ๆ กับว่าเรากำลังเริ่มจะทำมาค้าขายเพื่อความเป็นเศรษฐี แต่พอเริ่มจะลงมือค้าขายก็กลัวจะเป็นเศรษฐีเสียก่อนแล้ว เมื่อไรมันจะได้เป็นเศรษฐีสักที กำลังจะเริ่มภาวนาแล้วก็กลัวจิตไปติดสมถะ แล้วเมื่อไรจะได้สมถะสักที เพราะฉะนั้น โดยหลักความเป็นจริงแล้ว สมาธิคือสมถะ ไม่มีสมาธิก็ไม่มีฌาน ไม่มีฌานก็ไม่มีญาณ ไม่มีญาณก็ไม่มีปัญญา ไม่มีปัญญาก็ไม่มีวิปัสสนา ไม่มีวิปัสสนาก็ไม่มีวิชชาความรู้แจ้งเห็นจริง เมื่อจิตของท่านอัญญาโกณฑัญญะฟังธัมมจักกัปวัตตนสูตร จบลง จิตก้าวลงสู่สมาธิ จิตนิ่งปุ๊บ รู้ ตื่น เบิกบาน สว่างไสว  จักขุง  อุทะปาทิ  จักษุบังเกิดขึ้นแล้ว  ที่นี้จิตไปยับยั้งอยู่ในความสงบ  ญาณัง อุทะปาทิ ญาณบังเกิดขึ้นแล้ว  ญาณแก่กล้า จิตไหวตัวเกิดภูมิความรู้ ปัญญา  อุทะปาทิ ปัญญาบังเกิดขึ้นแล้ว เพราะอาศัยจิตมีสิ่งรู้ สติมีสิ่งระลึก กลายเป็นตัววิชชา สามารถที่จะรู้ความคิด  วิชชา  อุทะปาทิ วิชชาความรู้แจ้งเห็นจริงบังเกิดขึ้นแล้ว เมื่อวิชาความรู้แจ้งเห็นจริง หายสงสัยข้องใจ จิตวิ่งเข้าไปสู่ความสงบ  อาโลโก  อุทะปาทิ ความสว่างไสวเกิดขึ้นแล้ว   ก็เพราะอาศัยสมาธิคือสมถะนั่นเอง เพราะฉะนั้น นักภาวนาทั้งหลายอย่าไปกลัวจิตจะติดสมถะ ติดสมาธิ ขอให้มันมีสิ่งติดให้มันเหนียวแน่นสักอย่างเถิด อย่าไปกลัว


          ในท้ายที่สุดนี้  ด้วยอำนาจแห่งคุณพระศรีรัตนตรัยคือ พระพุทธ พระธรรม  พระสงฆ์  และด้วยอำนาจแห่งเจตนาอันเป็นกุศลที่ท่านทั้งหลายได้มาสดับตรับฟังพระธรรมเทศนาเพื่อเป็นข้อวัตรปฏิบัติและปฏิบัติเพื่อให้จิตสงบ รู้แจ้งเห็นจริงในธรรมตามความเป็นจริง และเป็นการรักษาไว้ซึ่งพระพุทธศาสนาให้เจริญถาวรมั่นคงสืบไปด้วยอำนาจแห่งอานิสงส์อันนี้ จงดลบันดาลให้ทุกท่านประสบความสุข ความเจริญ ด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ ธนสารสมบัติ แม้จะปรารถนาสิ่งใดก็ขอให้สำเร็จตามใจที่ปรารถนา ในที่ทุกสถานตลอดกาลทุกเมื่อ เทอญ..


ที่มา http://www.thaniyo.com/index.php ... oput&Itemid=142
เยี่ยมครับ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้