ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2411
ตอบกลับ: 6
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ สมาธิและอานิสงส์ของการเดินจงกรม ~

[คัดลอกลิงก์]
สมาธิ และอานิสงส์ของการเดินจงกรม
โดย หลวงปู่คำดี ปภาโส

วัดถ้ำผาปู่ ต.นาอ้อ อ.เมือง จ.เลย

ผู้ปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา สามารถรักษาศีลให้สำรวมดีแล้ว การทำสมาธิภาวนาก็เป็นไปได้ง่าย แต่ถ้าผู้ปฏิบัติไม่สำรวมรักษาศีลให้บริสุทธิ์แล้ว การทำสมาธิภาวนาก็จะเป็นไปได้ยาก ทำไมท่านจึงพูดไว้เช่นนั้น ? ก็เพราะว่าเรารักษาศีลให้บริสุทธิ์แล้ว ก็เท่ากับว่าเป็นการปราบกิเลสอย่างหยาบได้แล้ว ดังนั้น เมื่อเราทำสมาธิควบคู่กันไป ก็สามารถเป็นไปได้ง่าย

สำหรับการทำสมาธินั้นเราจะกำหนด “พุทโธ” เป็นอารมณ์ หรือเรียกว่าเอา “พุทโธ” เป็นเป้าหมายก็ได้ หรือว่าจะกำหนดลมหายใจเข้า-ออกเป็นอารมณ์หรือเป้าหมายก็ได้ เป็นต้น อันนี้แล้วแต่ว่าเราจะชอบอย่างไหนหรือถูกจริตกับสิ่งใด เมื่อเรากำหนดสติของเราตั้งมั่นอยู่ที่ไหน จิตของเราก็ให้อยู่ที่นั่น เพราะสติเป็นเครื่องผูกเป็นเครื่องครอบงำเป็นเครื่องบังคับ นอกจากสติและความรู้แล้วไม่มีสิ่งไหนในโลกที่จะสามารถบังคับจิตให้สงบลงได้ เมื่อเราต้องการบำเพ็ญสมถะเราต้องเจริญสติให้มากๆ

การฝึกหัดทำสมาธิภาวนานี้ ในตอนแรกๆ จะทำได้ยาก มักจะมีอาการปวดเมื่อยตามแข้งตามขาหรือตามเอวตามหลัง ในตอนแรกๆ นี้จะต้องอาศัยความอดทนและต้องอาศัยความฝืนอยู่มากพอสมควร แต่เมื่อกระทำไปประมาณ ๒-๓ อาทิตย์ ก็จะรู้สึกเคยชิน อาการปวดเมื่อยต่างๆ ก็จะค่อยๆ หายไป เมื่อเรารู้สึกปวดเมื่อยแล้ว ท่านจึงแนะนำให้เปลี่ยนอิริยาบถ จากนั่งสมาธิไปเป็นการเดินจงกรม ซึ่งการกำหนดใจในขณะเดินจงกรมนั้นก็เหมือนกับเรากำหนดเวลาที่เรานั่งสมาธินั่นเอง เพียงแต่ต่างจากการนั่งเป็นการเดินเท่านั้น

อานิสงส์ของการเดินจงกรม ๕ อย่าง

๑. ทนต่อการเดินทาง คือเดินทางได้ไกล

๒. ทนต่อการทำความเพียร คือทำความเพียรได้มาก

๓. อาหารที่บริโภคเข้าไปแล้วย่อมจะย่อยได้ง่าย

๔. อุคคหนิมิตที่เกิดขึ้นเวลาเดินจงกรมจะไม่เสื่อมง่าย

๕. การเดินจงกรมนั้นจิตก็สามารถที่จะรวมได้
และเป็นการบริหารร่างกายให้แข็งแรง โรคที่จะมาเบียดเบียนก็น้อยลง

2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-6-9 20:53 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ในบางครั้งเมื่อเราทำสมาธิได้แล้ว เมื่อจิตเริ่มรวมจะเกิดอาการต่างๆ เช่น มีความรู้สึกว่าเบามือทั้งสองข้าง ซาบซ่านตามร่างกาย ขนลุกขนพองคล้ายกับพบสิ่งที่น่ากลัว มีอาการตัวเบาหวิว เป็นต้น บางคนเมื่อรู้ว่าจิตเริ่มจะรวมจึงคอยดูว่าจิตจะรวมอย่างไร จิตก็รวมไม่ได้ สมาธิก็ไม่เกิด อันนี้เป็นการกระทำที่ผิด

เมื่อเรารู้ว่าจิตของเรากำลังจะรวม ให้เรากำหนดผู้รู้นิ่งอยู่ สติกับใจอย่าให้เคลื่อนจากกัน อย่าให้สติเคลื่อนไหวไปกับอาการใดๆ เมื่อสติไม่เคลื่อนไหวไปกับอาการใดๆ แล้วจิตก็รวมเอง บางครั้งก็รวมสนิทเลย เปรียบเหมือนเอาไม้ปักลงไปในน้ำที่ไหลเชี่ยว ปักให้นิ่งไว้อย่าให้เคลื่อนไปตามน้ำ อย่าให้จิตเคลื่อนจากผู้รู้

ผู้ที่สามารถทำจิตรวมได้แล้วก็ให้กำหนดจิตตามเดิม กำหนดอย่างไรที่ให้จิตรวมกันได้ก็กำหนดอย่างนั้น ถ้าจิตรวมสนิทก็อย่าเพิ่งออกจากสมาธิเสียทีเดียว ก่อนออกจากสมาธิก็ให้พิจารณาเสียก่อน เราจะได้ทราบว่าเราบริกรรมอย่างใด ตั้งสติอย่างใด ละวางอารมณ์สัญญาอย่างใด จิตของเราจึงรวมได้เช่นนี้ ถ้าเราสามารถพิจารณาถึงกรรมวิธีต่างๆ ได้ ก็จะเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติในครั้งต่อไป

ขอย้ำอีกครั้ง กำหนดให้แน่วแน่นิ่งอยู่กับผู้รู้ สติกับผู้รู้อย่าให้เคลื่อนไปตามอาการใดๆ จิตก็จะรวมได้เพราะสติอย่างเดียวเท่านั้น (ถ้าขาดสติก็นั่งหลับ, เกิดอาการฟุ้งซ่าน, จิตไม่รวม เป็นต้น)

พูดตามปริยัติ “สติ” แปลว่า ความระลึกได้ในกิจที่ได้กระทำ แม้คำพูดทั้งในอดีตและปัจจุบัน ในทางปฏิบัติ “สติ” แปลว่า ระลึกอยู่ที่ใจ ไม่ให้รู้ไปตามสิ่งอื่น ถึงจะมีสัญญาอะไรก็ไม่ให้เคลื่อนไหวไปตามอาการนั้น กำหนดรู้นิ่งไว้อย่างนั้น ระลึกอยู่ที่ใจ

ใจก็หมายถึงผู้รู้ เมื่อสติกับใจบังคับกันแนบนิ่งดีแล้วจิตก็จะรวมสนิท เมื่อเรานั่งกำหนดแล้ว ขณะที่เราเบาเนื้อเบากาย ก็ให้เรานิ่งไว้อยู่กับผู้รู้ คำบริกรรมต่างๆ ก็ให้เลิกบริกรรม ให้เอาแต่สตินิ่งไว้ ให้ระลึกแต่ผู้รู้เท่านั้น ตามธรรมดาสติมักจะส่งไปภายนอก ชอบเล่นอารมณ์ สังขารที่ปรุงแต่งไม่ว่าจะคิดดี คิดร้าย คิดไม่ดี ไม่ร้าย เราจะต้องพยายามฝึกหัดละวางอารมณ์เหล่านี้ อย่าให้จิตส่งออกไปภายนอก ให้สติอยู่ที่ผู้รู้เท่านั้น เมื่อเรานั่งสมาธิภาวนาเรากำหนดคำบริกรรมใดๆ ก็ตาม ถ้าเราเผลอจากคำบริกรรมนั้น เมื่อเรารู้สึกว่าเราเผลอไปรับรู้อารมณ์ภายนอก ก็ให้รีบกลับมาบริกรรมอย่างเดิมตามที่เราเคยปฏิบัติมา

ถ้าในขณะทำสมาธิแล้วจิตรวมวูบลงไป เกิดเห็นร่างกายเป็นซากศพที่มีสภาพที่เหมือนกับว่าเพิ่งขุดขึ้นมาจากหลุมศพ แต่จริงๆ แล้วร่างกายเราไม่ได้เป็นเช่นนั้น เมื่อเราถอนจิตออกมาก็จะเห็นเป็นตัวตนธรรมดา อาการที่เราเห็นเป็นซากศพเช่นนี้ ท่านเรียกว่า “อสุภนิมิต” ถ้าเราเคยได้ยินครูบาอาจารย์แนะนำสั่งสอนในเรื่องของอสุภนิมิตแล้ว เราก็ทำความรู้เท่าทัน
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-6-9 20:53 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
อสุภนิมิตนี้ถ้าเกิดบ่อยๆ จะเป็นการดีมาก ท่านอาจารย์ใหญ่ (หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต) ท่านนิยมมาก ถ้าพระเณรองค์ใดได้อสุภนิมิต เห็นร่างกายเน่าเปื่อยเป็นซากศพแล้ว ท่านว่าผู้นั้นจะสามารถที่จะบรรลุธรรมได้ง่าย

อสุภนิมิตนี้ไม่ใช่เป็นของร้าย เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วเราอดกลัวไม่ได้ ก็ให้เราลืมตาเสียตั้งสติให้มั่น ขออย่างเดียวอย่าลุกขึ้นวิ่งหนี ถ้าเราเคยได้ยินได้ฟังคำแนะนำอย่างนี้แล้ว เมื่อเวลาที่เกิดอสุภนิมิตก็จะระลึกได้อยู่หรอก แต่ถ้าเราไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน เมื่อเวลาที่เกิดอสุภนิมิตขึ้นก็จะเกิดความกลัว ถ้าเราลุกวิ่งหนีก็จะทำให้เราเสียสติได้ การลุกขึ้นวิ่งหนีนี้ขอห้ามโดยเด็ดขาด

การที่เกิดอสุภนิมิตนี้เรียกว่า “มีพระธรรมมาแสดงให้เราได้รู้ได้เห็น ว่าร่างกายของเราเป็นอย่างนี้ ย่อมมีความเจริญในเบื้องต้น มีความชราในเบื้องกลาง และมีการแตกสลายไปในที่สุด”

เมื่อเวลาเกิดอสุภนิมิตขึ้น ถ้าเราสามารถทนได้นับว่าเป็นการดีมาก เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณามาก สิ่งเหล่านี้เรียกว่าเป็นนิมิตในตัวเรา แต่บางครั้งก็เป็นนิมิตภายนอก เช่น บางครั้งเกิดเห็นพระพุทธเจ้าหรือบรรดาครูบาอาจารย์มาปรากฏให้เห็น หรือเห็นพวกวัตถุ เช่น โบสถ์ วิหาร หรือสิ่งต่างๆ นิมิตภายนอกนี้เรียกว่า “อุคคหนิมิต”

เรื่องของนิมิตเป็นเรื่องที่สำคัญ ในบางครั้งก็มาทำท่าแลบลิ้นปลิ้นตา ก็อย่าไปเข้าใจว่าเป็นเปรตเป็นผี ที่จริงแล้วเป็นเพราะว่าสังขารภายในมันฉายออกไปเพื่อหลอกใจของเราเอง มันฉายออกไปจากใจนี่แหละ อันนี้พูดเตือนสติไว้

การทำสมาธิภาวนานี้ ถ้าบุคคลใดเกิดนิมิตมาก ก็อย่าได้ไปเกิดความกลัวจนกระทั่งเลิกปฏิบัติ ขอให้ปฏิบัติต่อไปโดยให้สติตั้งมั่นกำหนดรู้ อย่างที่แนะนำมาแล้ว เมื่อเราทำต่อไปเรื่อยๆ ก็จะเกิดอานิสงส์ คือ ถ้าเป็นคนนิสัยดุร้ายก็จะเป็นคนใจดี ถ้าเป็นคนโกรธง่ายก็จะค่อยๆ เบาบางลง ถ้าเป็นคนปัญญาทึบเมื่อทำจิตสงบได้แล้วก็จะเป็นคนที่ฟังอะไรรู้เรื่องเข้าใจในเหตุผล ถ้าเป็นคนที่ฉลาดอยู่แล้วก็จะเพิ่มพูนปัญญาให้มากขึ้นไปอีก ท่านจึงว่ามีอานิสงส์มาก ขณะที่เราเกิดเห็นนิมิตขึ้นมา ถ้าเราแก้ความกลัวในนิมิตได้ต่อไปก็จะสบาย เมื่อเราเกิดความกลัวขึ้น เราอย่าไปยึดถือสิ่งที่เราเห็นในนิมิตเป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นเขา ให้กำหนดรู้ว่าเป็นมาร ซึ่งพระพุทธเจ้าเรียกว่า “ขันธมาร” หรือ “กิเลสมาร”

เรื่องของนิมิตนี้จะเกิดหรือไม่เกิดไม่สำคัญ เพราะว่าที่เราทำสมาธิภาวนาก็เพื่อมุ่งให้เกิดความสงบภายในจิตใจเท่านั้น ถ้าผู้ปฏิบัติสามารถทำจิตใจของตนให้สงบเป็นอารมณ์เดียวได้พอเท่านั้น ไม่มีนิมิตเกิดขึ้นไม่เป็นไร
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-6-9 20:54 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
การเรียนบำเพ็ญสมถะจึงจำเป็นต้องมีครูบาอาจารย์ เราจึงต้องรู้ไว้ว่าที่แห่งไหนมีครูบาอาจารย์อยู่บ้าง เพื่อว่าในอนาคตเราจะออกปฏิบัติเราจะได้รู้ไว้ ถ้าเป็นวิปลาสแล้วจะไม่ยอมแก้ไขอะไรง่ายๆ กลับมาหาครูบาอาจารย์ที่เคยทรมานกันนั่นแหละ ถึงว่าจะอยู่ห่างไกลก็จำเป็นต้องไปเพราะเป็นเรื่องของการปฏิบัติ เมื่อจิตใจเป็นอย่างใดมีข้อสงสัยอย่างใดจะได้ไปศึกษากับท่านเสียก่อนที่จะผิด

เมื่อทำสมาธิจนถึงขั้นได้ฌานแล้ว บางครั้งก็จะได้ถึงขั้นอภิญญาซึ่งเป็นความรู้พิเศษ ผู้ที่ปฏิบัติเกิดนิมิตมากๆ มักจะได้อภิญญา เมื่อเหตุการณ์ใดๆ ที่จะเกิดขึ้น ท่านมักจะรู้ล่วงหน้าก่อนเสมอ เช่น จะรู้ล่วงหน้าว่าวันนี้จะมีผู้มาหา เป็นต้น อภิญญาเกิดจากฌานสมาธิ อภิญญานี้ไม่แน่นอนมักจะเสื่อมได้ หรืออาจจะเป็นวิปลาสจะพูดไม่ตรงต่อธรรมวินัย เมื่อผู้ได้อภิญญาแล้วถ้าไม่รู้ทันก็จะเกิดความหลงได้

หลวงปู่มั่นท่านจะหลบหลีกหมู่ (เพื่อน) ไปธุดงค์องค์เดียว หรือสองสามองค์เป็นอย่างมาก บรรดาหมู่คณะหรือผู้ปฏิบัติเกิดความรู้ต่างๆ หรือมีปัญหาที่จะต้องกราบเรียนถาม ก็จะต้องออกตามหาท่านเอง ซึ่งมิใช่เรื่องง่ายที่จะตามท่านพบเสียด้วย

บุคคลที่มีปัญญาแก่กล้า ไตรลักษณ์จะเกิดในปฐมฌานหรือทุติยฌาน ส่วนบุคคลที่มีปัญญาขนาดกลางไตรลักษณ์จะเกิดเมื่อสำเร็จฌาน ๔ แล้ว บุคคลใดที่สำเร็จฌาน ๔ ก็มักจะไม่เกิดความกำหนัด หรือที่เรียกว่า “จิตตกกระแสธรรม” มันจะเป็นของมันเอง เรียกว่าเป็นผลของฌานสมาธิก็ได้

ถึงแม้ว่าบุคคลใดจะทำสมาธิได้ดี จะได้รับความสุขขนาดไหนก็ตาม หรือจะได้อภิญญาเพียงใดก็ตาม ถ้าไตรลักษณญาณไม่เกิดขึ้นแล้ว ก็ยังนับว่าเป็นมิจฉาสมาธิเป็นสมาธิที่ยังผิด ยังอยู่ในวงเขตที่ผิด ไตรลักษณ์ (อนิจจัง, ทุกขัง, อนัตตา) นี้จะเป็นเครื่องตัดสินถูกหรือผิด จะเป็นสัมมาสมาธิหรือมิจฉาสมาธิ

เมื่อพิจารณาขันธ์ ๕ (รูป, เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณ) ธาตุ ๔ (ดิน, น้ำ, ลม, ไฟ) เห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้ว จนเกิดญาณความรู้พิเศษ เมื่อเกิดความรู้พิเศษแล้ว วิปัสนูปกิเลสหรือวิปลาสก็เกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อสิ่งใดหรือความรู้ใดเกิดขึ้นก็จะเอาไตรลักษณ์ (อนิจจัง, ทุกขัง, อนัตตา) เป็นเครื่องตัดสิน

การพิจารณาให้ถือเอารู้รูปกายตามความเป็นจริง รู้เวทนาตามความเป็นจริง รู้จิตตามความเป็นจริง ให้ยึดถือความรู้นี้เป็นหลัก ความรู้อย่างอื่นไม่สำคัญ ถึงจะเกิดอภิญญารู้ในเหตุผลต่างๆ ครั้งแรกๆ ก็อาจเป็นจริง แต่ถ้าเรายึดถือในสิ่งเหล่านี้ต่อไป ก็จะกลายเป็นเรื่องหลอกลวงเรา ท่านจึงห้ามไม่ให้เอาสิ่งนิมิตเป็นเรื่องสำคัญ

ขอให้พวกท่านจงทำกัน ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็สามารถปฏิบัติได้เหมือนกัน เมื่อตั้งใจทำแล้ว จะไร้ผลเสียเลยก็ไม่มี อย่างต่ำก็เป็นการเพิ่มบุญวาสนาบารมีของเราให้แก่กล้าขึ้น


:: พระครูญาณทัสสี (พระปภาโส คำดี)
:: วัดถ้ำผาปู่ อำเภอเมือง จังหวัดเลย เทศน์เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๕


http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=25010

อนุโมทนาครับ
สาธุ ขอบคุณครับ
อนุโมทนาครับ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้