|
ที่มาของคำว่า อาตมัน ยังมีสันนิษฐานอื่นอีก กล่าวคือ อาจมาจากธาตุ อตฺ (อัต) ที่แปลว่า “ไปเรื่อย , เดินไป” หรืออาจมาจากธาตุ อวฺ ที่แปลว่า “ขับเคลื่อน” หรืออาจมาจากรากศัพท์ อะ ที่พบในคำว่า อะหัม (อหมฺ) ที่แปลว่า “ข้าพเจ้า” รวมกับคำว่า ตทฺ ที่แปลว่า “สิ่งนั้น” (พรหมัน) เป็นอาตมัน (อาตฺมนฺ) แปลว่า “ข้าพเจ้า คือ สิ่งนั้น” หมายถึง ชีวาตมันของข้าพเจ้า คือพระพรหมัน ด้วยเหตุที่คำว่า ปราณ (ปฺราณ) ซึ่งแปลว่า “ลมหายใจ ชีวิต สิ่งที่เป็นหลักของชีวิต” ก็มีการสร้างคำขึ้นมาจากธาตุ อนฺ เช่นเดียวกับคำว่า อาตมัน ดังนั้นในคัมภีร์อุปนิษัท จึงปรากฏมีคำสอนเกี่ยวกับการใช้ ปราณ เป็นสัญลักษณ์เพื่อการเพ่งจิตถึงอาตมันของตน และมีการใช้คำว่า ปราณ แทนคำว่า อาตมัน ในหลายแห่ง อาทิ ในกฐะอุปนิษัท มีข้อความกล่าวไว้ว่าดังนี้
ด้วยเหตุที่สกลจักรวาลซึ่งกำลังดำเนินไปอยู่นี้ ได้ถือกำเนิดขึ้นมา (และ) เคลื่อนไหวอยู่ในปราณ (อาตมัน) ราธากฤษณัน กล่าวว่า อาตมันเป็นแก่นแท้ของชีวิตมนุษย์ เป็นวิญญาณซึ่งแผ่ซ่านไปทั่วถึงความเป็นอยู่ของมนุษย์ เป็นลมหายใจ (ปราณ) เป็นความรู้สึกบริสุทธ์ปราศจากกิเลส และอยู่เหนือสิ่งเหล่านั้น อาตมันเป็นสิ่งที่คงอยู่ เมื่อทุกสิ่งไม่ใช่ตัวตนถูกทำลาย ดังนั้น อาตมันจึงเป็นส่วนที่เหลืออยู่หลังจากส่วนประกอบทางร่างกายและจิตของมนุษย์ของแต่ละคนถูกแยกกระจายออก ดังฉานโทคยะอุปนิษัทกล่าวไว้ว่า อาตมันอยู่เหนือกายหยาบและอาตมันที่ถูกรับรู้ในขณะตื่นและขณะหลับฝัน
สิ่งเหล่านี้ ล้วนมีธรรมชาติอย่างเดียวกัน คือ เป็นสรรพัญญู สรรพาภิภู สรรพเดชา เป็นอมตะ คือ ไม่เกิด ไม่ตาย และเที่ยงแท้นิรันดร แต่เรามองไม่เห็นจึงไม่รู้ว่า อาตมันมีลักษณะหรือสวภาวะเป็นอย่างนี้ อาตมันซ่อนอยู่ในเครื่องห่อ คือ โกศะ ที่ปิดบังตาเราไว้ไม่ให้เห็น และทำให้เราเข้าใจผิดไปว่ามันคือร่างกายบ้าง อินทรีย์บ้าง มนัสบ้าง ฉะนั้น ถ้าจะให้เห็นตัวอาตมันจะต้องเปิดเครื่องปกปิดที่เรียกว่า โกศะ ๕ อย่างออก แต่ละอย่างมีดังนี้ ๑) อันนมัยโกศะ เครื่องปกปิด คือ ข้าวและน้ำ ได้แก่ ส่วนของร่างกาย มีกระดูก เนื้อหนังมังสา ที่เจริญเติบโตขึ้นมาจากข้าวและน้ำนี้เอง นี้เป็นเครื่องปกปิดอาตมันชั้นแรก ถ้าไม่เปิดออก เราก็เข้าใจผิดว่า อาตมันคือร่างกาย แต่ที่จริงร่างกายไม่ใช่อาตมัน แต่มีขึ้นเพื่ออาตมันและโดยอาตมัน๒) ปราณมัยโกศะ เครื่องปกปิด คือ ลมหายใจ ได้แก่ ชีวิต แม้ว่าชีวิตจะทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวได้ ทำอะไรได้ก็จริง แต่ความมีชีวิตอาจตั้งอยู่ชั่วระยะหนึ่งแล้วดับไป ฉะนั้น ชีวิตจึงไม่ใช่อาตมัน เพราะอาตมันเป็นอมตภาวะ เราต้องเปิดเครื่องปกปิดคือชีวิตอีกชั้นหนึ่ง และก้าวต่อไปเพื่อดูตัวอาตมัน๓) มโนมัยโกศะ เครื่องปกปิด คือ มโนหรือมนัส ซึ่งทำหน้าที่รู้สึกต่ออารมณ์ มนัสเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางความคิดหรือกระบวนการให้มีการรับรู้อารมณ์ เป็นเพียงเครื่องมือของอาตมันชนิดหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้อาตมันมากเข้าไปแล้ว แต่เป็นเครื่องมือขั้นต่ำที่สามัญสำหรับคนและสัตว์ ขอให้เปิดเครื่องปกปิดนี้ออก แล้วมองข้ามไปอีกชั้นหนึ่ง
๔) วิญญาณมัยโกศะ เครื่องปกปิด คือ วิญญาณ ได้แก่ ความรู้สึกนึกคิด ที่ประกอบด้วยเหตุผล เป็นความคิดชั้นสูง มีเฉพาะในคนที่เจริญแล้ว เครื่องปกปิดชั้นนี้อยู่ใกล้อาตมันมากเข้าไปอีก แต่เป็นเพียงเหตุผล ไม่ใช่ตัวอาตมันแท้ ฉะนั้น จึงขอให้เปิดเครื่องปกปิดนี้ทิ้งไปแล้วก้าวต่อไปอีกชั้นหนึ่ง
๕) อานันทมัยโกศะ เครื่องปกปิด คือ ความสุข หมายความว่า ถ้าผู้ใดเปิดเครื่องปกปิดมาแต่ละชั้น ๆ และมองเห็นตามความเป็นจริงมาแต่ละชั้น ๆ ก็จะมาถึงชั้นสุดท้าย คือความสุข แล้วจะพบตัวอาตมันนอนอยู่ที่นั้น แต่มิได้หมยความว่า อาตมันอยู่เฉพาะในส่วนนี้เท่านั้น แท้จริง อยู่ทั่วไปทุกชั้น แพร่อยู่ทั่วไป แต่เรามองไม่เห็น กลับมองเห็นอย่างอื่นไปจากที่ได้แสดงมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงการบอกให้เราได้รู้ถึงอาตมันหรือพรหมันในด้านความหมายและลักษณะของอาตมันหรือพรหมันเท่านั้น เมื่อสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราไม่รู้มาก่อน ดังนั้น เราถึงจะต้องรู้และทำความเข้าใจในสิ่งที่จะกล่าวต่อไปอีกข้างหน้า
บรรณานุกรม
วรลักษณ์ พับบรรจง, คัมภีร์กำเนิดจักรวาลศาสตร์แห่งชีวิต (ม.ป.พ.: ๒๕๔๕)
S.Radhakritshnan , The Principal Upanisads
อดิศักดิ์ ทองบุญ, ปรัชญาอินเดีย(กรุงเทพมหานคร: ราชบัณฑิตตยสถาน,๒๕๔๖)
Paul Deussen, “Atman” in Encyclopaedia of Religion and Ethics, ed. James Hastings, 2ndDelhi : Oriental Book Reprint, 1905)
https://www.gotoknow.org/posts/502432
|
|