ธรรมย่อมรักษา การที่จะมุดคลานเข้าไปนับเป็นการเสี่ยงอันตรายอย่างยิ่ง แต่หลวงปู่คำคะนิงไม่เคยนึกหวาดกลัวเลย เพราะมีประสบการณ์เรื่อง มุดสำรวจถ้ำ เสี่ยงมฤตยูมาแล้วอย่างโชกโชนนับถ้ำไม่ถ้วน ประการสำคัญที่สุดก็คือพระกรรมฐานอย่างท่านซึ่งจาริกธุดงค์อยูในป่าเขาแดนอันตรายร้อยแปดพันเก้าประการนี้ ได้อธิษฐาน “ตาย” ไว้ตั้งแต่วินาทีแรกที่สมาทานธุดงค์แล้ว นั่นคือพร้อมเสมอที่จะตายทุกเวลา ไม่อาลัยเสียดายชีวิต ถ้ากรรมเก่าในอดีตสร้างไว้ให้ผล ก็พร้อมที่จะอุทิศสังขารร่างกายให้ตกเป็นเหยื่อของสัตว์ป่าด้วยความยินดี เพื่อชดใช้กรรมเก่าให้หมดสิ้นกันไปเสียเลยในชาตินี้ ไม่ต้องติดค้างหนี้เวรหนี้กรรมกันอีกต่อไป พระธุดงค์ขณะตกเป็นเหยื่อเสือขบกัดหรือตกเป็นเหยื่อ4เหลือม ท่านจะต้องตั้งสติให้มั่นคง กำหนดจิตให้แช่มชื่นเบิกบานใจที่ได้อุทิศร่างตัวเองให้เป็นอาหารของสัตว์นั้น ๆ แล้วจึงแผ่เมตตาให้อโหสิสัตว์ตัวนั้นไม่ขออาฆาตจองเวร จากนั้นก็ปล่อยวางสังขารร่างกายรูปนามขันธ์ห้าโดยสิ้นเชิง เจริญวิปัสสนากำหนดอารมณ์ปัจจุบันเป็นตัวปัญญา เมื่อจิตปล่อยวางได้แล้วเช่นนี้ ความเจ็บปวดขณะตกอยู่ในปากสัตว์ก็จะไม่มี จะมีแต่สติติดตามจิตอยู่ทุกขณะจิตเป็นอารมณ์ปัจจุบัน เมื่อวิญญาณในขันธ์ห้าดับคือสิ้นใจตาย สติก็ยังดำรงอยู่ว่าขันธ์ห้าของตนแตกดับแล้ว ตอนนี้เองจิตในจิตหรือตัวสติปัญญา อันเป็นนามธรรม ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน สว่าง สะอาดบริสุทธิ์ ก็จะสืบต่อเป็นสันสติออกจากร่างไปสู่กระแสมรรค ผลนิพพานแดนสงบศานติสุข ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป เมื่อพระธุดงค์ตัดสินใจพร้อมที่จะตายได้ทุกเวลาเช่นนี้จิตย่อมยังเกิดความเบาสบาย ชุ่มชื่นเบิกบาน มีความกล้าหาญอยู่ตลอดเวลา ไม่หวาดกลัวอะไรทั้งสิ้น อะไรจะเกิดขึ้นก็ให้มันเกิดขึ้น ถ้าเป็นกรรมเก่าส่งผลก็พร้อมที่จะยอมรับกรรมนั้น แต่ถ้าไม่เคยสร้างกรรมเวรไว้ในอดีต หากเผชิญอันตรายใด ๆ ธรรมะย่อมปกปักรักษาให้ปลอดภัย สรุปแล้วพระธุดงค์ท่านเชื่อมั่นใน “พระธรรมย่อมคุ้มครองรักษาผู้ประพฤติธรรม” และเชื่อใน “กฎแห่งกรรม” มีอีหยังขอเบิ่งแหน่ หลวงปู่คำคะนิงจึงกำหนดจิตอธิษฐานว่า สาธุ นโม อันว่านมัสการแด่พระพุทธ พระธรรมพระสงฆ์ อันเป็นสรณะที่พึ่งประเสริฐสูงสุด อาตมาภาพจักขออนุญาตเข้าไปในถ้ำสถานอันลึกลับแห่งนี้ ขอปวงเทพเจ้าทั้งหลาย อันมีเจ้าป่า เจ้าเขา เจ้าถ้ำ ตลอดจนยักษ์ คนธรรพ์ และพญานาคทั้งหลายที่สิงสถิตอยู่ ณ ถ้ำสถานแห่งนี้ จงได้รับทราบและเปิดทางสะดวกให้แก่อาตมาภาพด้วยเถิด อาตมาภาพอยากจะขอเข้าไปดูชมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้เป็นวาสนาบุญหูบุญตาม ถ้าหากมีจริงก็ขอให้ได้ดูชมสมใจ มิได้มีเจตนาโลภโมโทสันอยากได้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือทรัพย์สมบัติของพวกท่านแต่ประการใดเลย เมื่ออธิษฐานจบแล้ว หลวงปู่คำคะนิงก็จุดเทียนเล่มใหญ่ที่เตรียมมาในย่ามหลายห่อ แล้วมุดคลานเข้าไปในรูดำมืดนั้น เข้าไปลึกประมาณสองร้อยวาก็ทะลุออก คูหาถ้ำข้างในเป็นถ้ำกว้างประมาณห้าวา เพดานสูง มีหินย้อยจากเพดานและผนังถ้ำสีขาวหม่น ๆ งดงาม บ้างเป็นพู่พวงห้อยลงมาคล้ายม่านหรือโคมระย้า พื้นถ้ำเป็นตระพักซ้อนขึ้นไปมีขั้นบันไดธรรมชาติ บนตระพักนั้นเป็นแอ่งน้ำใสแจ๋วปานกระจกมีหินรูปร่างคล้ายจระเข้แช่ขวางอยู่ในแอ่งน้ำ ถัดลึกเข้าไปมองเห็นปากอุโมงค์ดำมืดพอที่จะคลานมุดเข้าไปได้ก็ปรากฏว่าตรงกับนิมิตในสมาธิเป็นความจริงทุกประการ หลวงปู่คำคะนิงจึงเดินลุยลงไปในแอ่งน้ำนั้นซึ่งลึกแค่เอว พอไปถึงจระเข้หินจึงปีนป่ายขึ้นหลังมันเพื่อจะข้ามไป แต่เป็นที่น่าประหลาดว่าจระเข้หินนั้นเคลื่อนไหวได้ มันยกตัวลอยสูงขึ้นเหนือน้ำปิดทากอุโมงค์ไว้ เอ๊ะ...นี่มันยังไงกัน ? หลวงปู่คำคะนิงแปลกใจ จึงลองเอาเท้าแหย่เข้าไปใต้ท้องจระเข้หินดูทำท่าคล้ายจะมุดลอดใต้ท้องมันไป แปลกอีกแล้ว จระเข้หินก็จมตัวลงในน้ำไม่ยอมให้มุดลอดไปอีก นี่ไม่ใช่เรื่องธรรมดาเสียแล้ว ต้องเป็นสิ่งลึกลับอาถรรพณ์คอยพิทักษ์รักษาปากถ้ำไว้เป็นแม่น มั่น ท่านจึงกำหนดจิตอธิษฐานขึ้นดัง ๆ ว่า “โอ๊ย...ผู้ข้า... ขอเข้าไปเบิ่งบูชาหูบูชาตาดอก ถ้ามีอีหยังขอเบิ่งแหน่ ไม่มีเจตนาอย่างอื่นใดดอก” เป็นภาษาไทยอีสานมีความหมายว่า ตัวข้าหรือกระผม ขอเข้าไปดู เพื่อบูชาหูบูชาตา ถ้ามีอะไรขอดูหน่อย ไม่มีเจตนาอย่างอื่นใดหรอก ทันทีที่อธิษฐานจบลง แปลกแท้ ๆ จระเข้หินจมตัววูบลงไปกบดานอยู่ใต้น้ำราวมีชีวิต อนุญาตให้หลวงปู่คำคะนิงลุยน้ำข้ามหลังมันไปโดยสะดวก จากนั้นก็คลานมุดเข้าไปในปากอุโมงค์ดำมืดนั้น ตอนนี้แสงเทียนยังจุดสว่างถือไว้อยู่ตลอดเวลา เทียนจะดับไม่ได้ เพราะแสงเทียนคือสิ่งบอกเตือนว่า อากาศ\ในถ้ำมีพอหายใจหรือไม่ อุโมงค์ลาดต่ำลึกลงไปยาวประมาณสามสิบวาก็ทะลุถึงอีกคูหาถ้ำ เป็นถ้ำกว้างพอสมควรเพดานสูงโค้ง มีหินย้อยใหญ่น้อยทั้งยาวและสั้น สีต่าง ๆ เช่น น้ำตาลอ่อน ขาวนวล แดงและเหลืองรูปร่างแปลก ๆ คล้ายจีบม่านแพรเป็นริ้ว ๆ ก็มี คล้ายสายน้ำตกก็มี สลับซับซ้อนคล้ายตำหนักที่เทพเจ้าสร้างไว้เมื่อกระทบแสงไฟเทียนจะเกิดประกายระยิบระยับดุจโรยด้วยกากเพชร สวยงามวิจิตรพิสดารมาก
|