ยานดำน้ำบันทึกวิดีโอ ‘ปลาตกเบ็ด’ เป็นครั้งแรก ที่อ่าวมอนเทอเรย์ ขณะว่ายน้ำลึก 580 เมตร ภาพเผยให้เห็นปุ่มเรืองแสง ใช้ล่อเหยื่อ อย่างชัดเจน
นักวิทยาศาสตร์ถ่ายภาพวีดีโอของปลาตกเบ็ดน้ำลึก ขณะใช้ชีวิตอยู่ในถิ่นที่อยู่ของมันเอง ได้เป็นครั้งแรก ที่อ่าวมอนเทอเรย์ ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย
สถาบันวิจัยอะควอเรียมมอนเทอเรย์เบย์ ส่งยานดำน้ำควบคุมระยะไกล ด็อก ริกเก็ตส์ ลงไปที่ความลึกประมาณ 580 เมตร ทำให้เห็นเจ้าปลา deep-sea anglerfish ซึ่งมีรูปร่างหน้าตาแปลก กำลังว่ายไปมาในความมืด
จุดเด่นของปลาตกเบ็ดน้ำลึก คือ มีผิวสีดำ ฟันแหลม และมีส่วนยื่นยาวคล้ายคันเบ็ดอยู่บนหัว ตรงปลายมีสารชีวภาพเรืองแสง เอาไว้ใช้ล่อเหยื่อให้เข้าใกล้เพื่อฮุบกิน
แม้มีหน้าตาน่ากลัว แต่ตัวมันยาวแค่ 3.5 นิ้ว ปลาพวกนี้มีหลายชนิด พบในมหาสมุทรแอตแลนติก แปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดีย ตัวที่พบนี้เป็นชนิดที่เรียกว่า Melanocetus
“เป็นครั้งแรกที่เราจับภาพวีดีโอของปลาชนิดนี้ได้ในถิ่นที่อยู่” บรูซ โรบินสัน นักวิทยาศาสตร์อาวุโสของสถาบัน บอก.
|