ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1737
ตอบกลับ: 1
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

นินทา (สมเด็จพระญาณสังวรฯ)

[คัดลอกลิงก์]


นินทา

โลกธรรม ๘  นี้ เป็นธรรมที่ไม่อาจมีผู้ปฏิเสธได้ว่าไม่เคยเกิดกับตัวเอง หรือไม่เคยเกิดกับผู้หนึ่งผู้ใดเลย ธรรมทั้ง ๘ ประการนี้ ต้องเกิดกับทุกคนที่เกิดมาในโลก ไม่มียกเว้น

ทุกคนเคยได้ประสบมาแล้วทั้งนั้น ทั้งเด็กไร้เดียงสาและผู้ใหญ่ เช่น เด็กคนนั้นเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ แต่ทำไมผู้ใหญ่มักเป็นทุกข์มากกว่าเด็ก

เพราะเด็กที่ไร้เดียงสาไม่รับรู้ ไม่รู้เรื่อง ไม่เป็นทุกข์เพราะความโกรธหรือน้อยใจเสียใจ

ผู้ใหญ่รู้เรื่อง และรับรู้ ทั้งยังรับไปปรุงคิด ให้เป็นความโกรธหรือความน้อยใจเสียใจ ผู้ใหญ่ที่ถูกนินทาจึงมักเป็นทุกข์เป็นส่วนมาก


ความทุกข์ของผู้ถูกนินทาทั้งหลายจึงเกิดขึ้นจาก
ความรู้เรื่อง ความรับรู้ และความปรุงคิด
ซึ่งมีความปรุงคิดสำคัญที่สุด

ถ้ารู้เรื่องรับรู้คำนินทาทั้งหลายแล้ว
ไม่ปรุงคิดให้เกิดเป็นความโกรธ
หรือความเสียใจน้อยใจขึ้น ก็จะไม่มีความทุกข์
ความปรุงคิดจึงสำคัญที่สุด
สำหรับทุกคนเมื่อได้รับรู้ว่านินทา


คนทำดีถูกนินทาน่าจะทำใจรับได้ดีกว่าคนที่ทำไม่ดีที่ถูกนินทา
แต่เท่าที่ปรากฏดูเหมือนจะไม่เป็นเช่นนั้น
คนทำดีถูกนินทามักจะหวั่นไหวท้อแท้
ถึงกับบางที่ไม่อยากจะทำดีต่อไป ซึ่งไม่ถูก
ส่วนคนทำไม่ดีถูกนินทา มักจะไม่รู้ไม่ชี้เสีย
แล้วก็ยังคงทำเหมือนเดิมต่อไป ซึ่งก็ไม่ถูกอย่างยิ่ง


ผู้นินทาคือผู้ทำกรรมไม่ดี

นินทานั้นจะไม่มีโทษกับคนถูกนินทาเลย ถ้าผู้ถูกนินทาไม่รับ คือไม่ตอบ เช่นเดียวกับผู้ถูกด่าไม่ด่าตอบ ผู้ถูกขู่ไม่ขู่ตอบ ผู้ถูกชวนวิวาทไม่วิวาทตอบ แต่คำนินทาว่าร้ายจะตกเป็นของผู้นินทาทั้งหมด ผู้นินทาคือผู้ทำกรรม ซึ่งเป็นกรรมไม่ดี ไม่ว่าผู้ถูกนินทาจะรับหรือไม่รับก็ตาม ผู้นินทาย่อมได้รับผลไม่ดีแห่งกรรมไม่ดีของเขาอย่างแน่นอน


ดังนั้น เมื่อถูกนินทาแล้ว
ก็ให้คิดว่าผู้นินทาเรานั้นได้รับผลตอบแทนแล้ว
คือได้รับผลของกรรมไม่ดี
ซึ่งจะส่งผลให้ปรากฏช้าหรือเร็วเท่านั้น
ผลของกรรมไม่ดีนั้นแหละได้ตอบแทนเขาผู้นินทาแล้ว
เราไม่มีความจำเป็นต้องแก้แค้นตอบแทนแต่อย่างใด


ความเชื่อในเรื่องกรรมและผลของกรรมมีคุณอย่างที่สุด ผู้ใดทำกรรมใดไว้จักได้รับผลของกรรมนั้น ความเชื่อเช่นนี้จักทำให้ไม่คิดร้ายตอบผู้คิดร้าย

เป็นการระงับเวรภัยไม่ให้เกิดแก่ตน เป็นการป้องกันตนมิให้ทำกรรมไม่ดี ทั้งทางกาย วาจา และใจ โดยมุ่งให้เป็นการแก้แค้นตอบแทน ผลจักเป็นความสงบสุขแก่ตนและแก่ผู้อื่นด้วย

: การบริหารจิตสำหรับผู้ใหญ่
: สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก


                                                                                       
........................................................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=41198


สาธุ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้