เสาต้นที่ 2 เป็นเสาไม้แต่งเสาเป็นรูป 8 เหลี่ยม มีขนาดหน้าตัด 38.5 ซม. เท่ากับเสาหลักต้นแรก ความยาวของเสาเท่าใดไม่ทราบ แต่ส่วนที่โผล่จากระดับพื้นขึ้นมามีความสูง 1.99 เมตร สูงกว่าเสาต้นแรก โคนเสาส่วนที่อยู่เหนือพื้นห่างจากเสาหลักต้นที่ 1 เสาหลักต้นที่ 2 อยู่ทางทิศตะวันตกของเสาหลักต้นที่ 1 เป็นเสาที่ตั้งตรงรับส่วนยอดเสาหลักต้นที่ 1 เสาหลักต้นที่ 2 นี้จะมีเสาหมอเป็นเสาไม้สั้น ๆ จำนวน 2 ต้น ตั้งห่างกัน มีคานไม้แปดเหลี่ยมสอดอยู่ในเสาหมอ คานไม้ตัวนี้ทำหน้าที่เป็นคานประคองยันเสาหลักต้นที่ 2 ไม่ให้เอนเอียง มองดูแล้วเห็นว่าเสาหลักต้นที่ 2 จะมีความมั่นคงมาก เพราะมีเสาต้นที่ 1 ค้ำยันอยู่ด้านตะวันออกและคานประคองรับอยู่ด้านทิศตะวันตก ดังนั้นเสาหลักเมืองดังกล่าวต้องเป็นเสาหลักที่มีความสำคัญซึ่งอาจเป็นเสาหลักเมืองบุรีรัมย์ที่แท้จริงก็ได้ เพียงแต่การตกแต่งลวดลายที่หัวเสามีน้อยกว่า เพราะที่หัวเสามีการแกะสลักเป็นบัวหงาย 8 กลีบ หัวเสาส่วนนี้จะเหมือนกันทั้งหัวเสาหมอและปลายคานของคานประคอง ลักษณะไม้ที่ใช้ทำเป็นไม้ชนิดเดียวกันทั้งชุดและมีอายุน้อยกว่าเสาหลักต้นที่ 1 บริเวณศาลหลักเมืองแห่งนี้ เคยเป็นจุดที่สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ใช้เป็นจุดพักรบ และเห็นว่าบริเวณนี้เป็นทำเลที่เหมาะสม มีสระน้ำ มีต้นแปะขนาดใหญ่ เลยโปรดเกล้าให้ตั้งชื่อเมืองนี้ว่า “เมืองแปะ” ก่อนที่จะมาเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองบุรีรัมย์ หลักฐานทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดบุรีรัมย์ ตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ปรากฏชื่อว่าเป็นเมืองขึ้นของเมืองนครราชสีมาและปรากฏชื่อต่อมาในสมัยกรุงธนบุรีถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ว่าบุรีรัมย์มีฐานะเป็นเมือง ๆ หนึ่ง จนถึง พ.ศ. 2476 ได้มีการจัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคใหม่ จึงได้ชื่อเป็น “จังหวัดบุรีรัมย์” มาจนถึงทุกวันนี้.
|