ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 4156
ตอบกลับ: 10
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ ฐานการภาวนา ~

[คัดลอกลิงก์]
ฐานการภาวนา



โดย หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
เทศน์อบรมครูผู้สอนวิชาพระพุทธศาสนา เขตการศึกษา ๑๑
ณ วัดวะภูแก้ว เมื่อวันที่  ๑๗ เมษายน ๒๕๓๘


          โอกาสต่อไปขอเชิญนั่งสมาธิ  หันหน้าไปทางพระประธาน บัดนี้เรามาปฏิบัติสมาธิในท่านั่ง  ขอให้ทุกท่านกำหนดสติรู้จิตของตนเอง  ความรู้สึกอยู่ที่ไหน จิตอยู่ที่ตรงนั้น ให้กำหนดสติรู้ที่ตรงนั้น


          เราได้ปฏิญาณตนถึงพระพุทธเจ้า  พระธรรม  และพระสงฆ์  ว่าเป็นสรณะที่พึ่ง  ที่ระลึก  พระพุทธเจ้า ตามความรู้สึกโดยทั่วไป  หมายถึงองค์ชายสิทธัตถะ ที่เสด็จออกบรรพชา  ทรงบำเพ็ญสมาธิภาวนาได้สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ในเมื่อว่าโดยรูปธรรม  ก็ได้แก่สกนธ์กายของพระพุทธองค์  ว่าโดยคุณธรรม คือความรู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดีที่มีอยู่ในจิตของเรา  ซึ่งทุกคนก็มีความรู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดี  แม้แต่วันนี้เรามาประชุมนั่งสมาธิกัน ก็อาศัยพุทธธรรมคือความรู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดี เป็นเครื่องกระตุ้นเตือนใจ ดังนั้น ท่านผู้ใดมีความรู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดีในใจตลอดเวลา  ผู้นั้นได้ชื่อว่ามีคุณธรรมที่ทำจิตให้เป็นพุทธะ


          บางครั้งเราภาวนา  พุทโธ  พุทโธ  คำว่า พุทโธ  เป็นคำพูด เป็นภาษา แต่เมื่อคุณธรรมที่เกิดขึ้นกับจิต  ก็หมายถึงความรู้สึกผิดชอบชั่วดีนั้นเอง  อันนั้นคือคุณธรรมที่ทำจิตให้เป็นพุทธะ  อันนี้คนเรามีกันอยู่ทุกคนตั้งแต่เกิดมาแต่ว่าจิตพุทธะ ลำพังแต่ความรู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดียังมั่นคงไม่เพียงพอ  เราจึงมาตั้งใจที่จะปฏิบัติสมาธิภาวนาให้จิตของเราเปลี่ยนสภาพจากความรู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดี  เป็นหยุด  นิ่ง  สว่าง  รู้  ตื่น  เบิกบาน  เมื่อทำได้เช่นนั้น  พระพุทธเจ้าได้ปรากฏขึ้นในจิตของเราอย่างเด่นชัด เพราะฉะนั้น เราจะค้นหาพระพุทธเจ้าต้องค้นในจิตของเราเอง


          เมื่อเรามาอาศัยหลักและวิธีการปฏิบัติสมาธิภาวนา เมื่อจิตสงบนิ่งลง  สว่าง  รู้  ตื่น  เบิกบาน  บางทีมีปีติ  มีความสุข  กายเบาจิตเบา  กายสงบจิตสงบ  ความรู้สึกรู้ตื่น  เบิกบาน  เป็นคุณธรรมที่ทำจิตให้เป็นพุทธะ  เมื่อเราเกิดกายเบาจิตเบากายสงบจิตสงบแล้ว  ก็เกิดมีปีติ  บางครั้งขนหัวลุกชูชัน  บางครั้งก็รู้สึกซาบซ่านไปทั่วร่างกาย  บางทีก็ทำให้รู้สึกตัวสั่น  ตัวโยกตัวโคลง  ถ้าผู้มีปีติแรงอาจจะล้มนอนลงไปอย่างสบายก็ได้  อันนั้นเป็นอิทธิพลของพุทธะที่บังเกิดขึ้นในจิต  แล้วแสดงออกมาทางกายเพราะปีติและความสุขเกิดที่กาย ถ้าไม่มีกายเราก็ไม่รู้สึกว่าเรามีสุข  มีทุกข์  อันนี้คือพระพุทธเจ้าที่เกิดขึ้นในจิตของผู้ปฏิบัติธรรม

ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-5-28 10:15 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เมื่อเราปฏิบัติได้อย่างนี้  เริ่มต้นแต่มีความรู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดี  จิตหยุด  นิ่ง  สว่าง  รู้  ตื่น  เบิกบาน  เป็นคุณธรรมที่ทำให้จิตเป็นพุทธะ  เมื่อท่านผู้ใดสามารถทรงไว้ซึ่งคุณธรรมอันนี้  แม้ชั่วขณะจิตหนึ่ง  หรือนาน ๆ ก็ตาม  ก็ได้ชื่อว่าทรงไว้ซึ่งพระธรรม  คือทรงไว้ซึ่งพระธรรมที่ทำจิตให้เป็นพุทธะนั้นเอง




          ทีนี้ตามธรรมชาติของผู้ที่มีความรู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดี  จิตนิ่ง  สว่าง  รู้  ตื่น  เบิกบาน  ท่านผู้นั้นจะต้องมีเจตนาตั้งมั่นว่า  เราจะละความชั่ว  ประพฤติความดี  ทำจิตให้บริสุทธิ์สะอาดอยู่เสมอ  อันนี้เป็นกิริยาที่มีคุณธรรมที่ทำจิตให้เป็นพระสงฆ์เกิดขึ้นในจิตของเรา




          เพราะฉะนั้น  พระพุทธเจ้าก็ดี  พระธรรมก็ดี  พระสงฆ์ก็ดี  คือคุณธรรม  ทีนี้เมื่อเราได้บรรลุถึงจุดที่เรียกว่าทำจิตให้เป็นพุทธะ  เมื่อเราจะปฏิวัติจิตของเราให้เป็นไปตามทำนองคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  เราจึงมาสมาทานศีล ๕ ข้อ  การปฏิบัติธรรมสำคัญอยู่ที่ความเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์  อย่างต่ำคือศีล  ๕  ผู้ที่ปฏิบัติอยู่ในระดับความเป็นคฤหัสถ์  ตั้งใจปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของศีล  ๕  ข้อ สะดวกสบายดีกว่านักบวช  เพราะว่าภาระกังวลที่จะต้องสังวรระวังมันน้อยกว่ากัน  เพียงแต่เรายึดหลักว่า  พระพุทธเจ้าฆ่าไม่เป็น  เราไม่ฆ่า  พระพุทธเจ้าลักขโมยไม่เป็น  เราไม่ลักขโมย  พระพุทธเจ้าฉ้อโกงไม่เป็น  เราไม่ฉ้อไม่โกง  พระพุทธเจ้าไม่ละเมิดสิทธิประเวณีของใครต่อใคร  เราก็ไม่ละเมิดประเวณีของท่านผู้อื่น  พระพุทธเจ้าไม่พูดคำหยาบ  ไม่พูดส่อเสียดยุยงให้แตกสามัคคี  ไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล  และไม่โกหก  เราก็ปฏิบัติตามอย่างท่าน  พระพุทธเจ้าไม่ดื่มน้ำดองของเมาหรือวัตถุที่เป็นที่ตั้งแห่งความเมา  หรือความมัวเมาอันเป็นทางแห่งความประมาท  เมื่อพระพุทธเจ้าไม่ทำเช่นนั้น  เราก็ไม่ทำ  เรายึดหลักศีล  ๕  เป็นหลักปฏิบัติ  เพื่อขจัดสิ่งที่เราจะพึงทำตามอำนาจของกิเลส



   
          ในขั้นต้น  เราจะต้องอาศัยความอดทนและสัจจะความจริงใจ  เมื่อเราอาศัยความอดทน สัจจะความจริงใจ อดทนต่อสิ่งที่จะเป็นเหตุให้เราละเมิดล่วงเกินศีล  ๕ ข้อใดข้อหนึ่ง  ตั้งใจให้แน่วแน่ว่าเราจะละเว้นโทษตามกฎเกณฑ์ของศีล  ๕  ด้วยความจริงใจ  เราอาศัยหลัก  ๒  ประการนี้  แล้วตั้งใจประพฤติปฏิบัติไปจนกระทั่งเรารู้สึกคล่องตัวชำนิชำนาญต่อการงดเว้น  เมื่อเรามีการงดเว้นไม่ทำอะไรตามคำบงการ  ตามอำนาจบงการของกิเลส  โลภ  โกรธ  หลง  ก็ได้ชื่อว่าตัดกรรมตัดเวร  ตัดผลเพิ่ม  ของบาป  แม้โลภ  โกรธ  หลง  จะมีอยู่ในใจของเรา เราก็พยายามใช้ให้เกิดประโยชน์โดยความเป็นธรรม  คือเอาศีล  ๕  มาเป็นขอบเขตเป็นเส้นขนานของการใช้กิเลสให้ถูกต้อง  เมื่อเราใช้กิเลสทำประโยชน์ในทางที่ถูกที่ควรโดยเอาศีล  ๕  เป็นหลักประกันความปลอดภัย เมื่อเราปฏิบัติจนคล่องตัวชำนิชำนาญ เราจะรู้สึกว่าเบาสบาย  จะรู้สึกว่าเราไม่ได้ต้องตั้งใจจะงดเว้นสิ่งใด ๆ แต่เพราะอาศัยความคล่องตัวอันนั้น จิตของเราจะงดเว้นเองโดยอัตโนมัติ
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-5-28 10:15 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เมื่อเรามีศีล  ๕  บริสุทธิ์บริบูรณ์  แม้เราจะทำสมาธิภาวนายังไม่เป็น  ก็ได้ชื่อว่าตัดบาปตัดกรรมให้หมดสิ้นไปแล้ว เมื่อเรามีศีล  ๕  บริสุทธิ์บริบูรณ์  กายของเราก็สงบคือสงบจากการทำบาป  วาจาของเราก็สงบ  คือสงบในการพูดในทางที่เป็นบาป  แม้จิตของเรายังคิดที่จะทำบาปแต่เราไม่ละเมิดล่วงเกินศีล  ๕  บาปกรรมอะไรก็ไม่เกิดขึ้นเมื่อเรามีคุณงามความดีพอกพูนมากขึ้น  ๆ  กำลังของศีลมีพลังแก่กล้าขึ้น  กายเป็นปกติ  วาจาเป็นปกติ  ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยส่งหนุนให้จิตใจของเราเกิดความเป็นปกติ  เมื่อความปกติเริ่มเกิดขึ้นที่ใจของเรา  ความคิดจะฆ่าเบียดเบียนข่มเหงหรือรังแก  มันก็น้อยลงหรือหมดไปไม่มีเลย  เมื่อเป็นเช่นนั้นเราก็ประกันความปลอดภัยของเราได้ว่าเราจะไม่ต้องตกนรก




          แต่เพื่อที่จะให้จิตของเรามีความมั่นคงต่อการที่จะละบาปกรรมตามกฎของศีล  ๕  เราจึงจำเป็นจะต้องปฏิบัติสมาธิเพื่อสร้างพลังจิตให้มีความมั่นคงต่อการที่จะละความบาปนั้น ๆ การทำสมาธิ  ถ้าท่านจะนึกถามในใจว่า  การทำสมาธิ ทำอย่างไร  ก็จะได้คำตอบว่า  การทำสมาธิคือการทำจิตให้มีอารมณ์สิ่งรู้  สติมีสิ่งระลึก  จะเป็นอะไรก็ได้   ถ้าหากว่าท่านผู้ใดยังภาวนาไม่เป็นหรือไม่เคยภาวนาเลย  ถ้าจะตั้งใจปฏิบัติสมาธิด้วยความจริงใจ  แม้แต่เพียงท่องพุทโธเอาไว้ทุกขณะจิต  ทุกลมหายใจ  แม้ยืน  เดิน  นั่ง  นอน  รับประทาน  ดื่ม  ทำ  เราท่องพุทโธไว้ได้ตลอดเวลา  การท่องพุทโธนี้ท่องเหมือนกับเราท่องเล่น ๆ   ไม่ต้องการผลตอบแทนใด ๆ แต่เราท่องไม่หยุด  และเราก็ไม่บังคับจิตให้เกิดมีสมาธิ  เป็นแต่เพียงตั้งสติ  กำหนดสติ  ท่องพุทโธ  พุทโธ  พุทโธ  เอาไว้ตลอดเวลา  ท่องอย่างนกแก้วนกขุนทองไปก่อน  แม้ว่าใครจะว่าเราปฏิบัติไม่รู้เหตุรู้ผลก็ตาม ถ้าหากว่าเราท่องต่อเนื่องกันทุกขณะจิตทุกลมหายใจที่เราตื่นอยู่  เมื่อเราท่องไม่หยุด สมาธิคือจิตสงบ  นิ่ง  สว่าง  รู้  ตื่น  เบิกบาน  จะบังเกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติผู้ท่องพุทโธอย่างคาดไม่ถึง




          เพราะฉะนั้น  ในขณะที่เราปฏิบัติ  นอกจากการท่อง  พุทโธ  ก็ยังมีสัมมาอรหัง  ยุบหนอพองหนอ  เมื่อใครจะท่องบทใด  ก็ให้ตั้งใจท่องต่อเนื่องกันไม่ขาดสาย  สัมมาอรหัง  ยุบหนอพองหนอ  ยืน  เดิน  นั่ง  นอน  รับประทาน  ดื่ม  ทำ  เราสามารถที่จะท่องได้ตลอดเวลา  แต่ในขณะใดที่เราจะต้องพูด เมื่อพูดก็ให้มีสติรู้อยู่ที่ความพูด  เมื่อคิดก็ให้มีสติรู้อยู่ที่ความคิด  การทำ  การพูด  การคิด  ให้มีสติรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา




          ถ้าหากว่าเราไม่ถนัดในการที่จะมาท่องบริกรรมภาวนาดังที่กล่าวแล้ว  เราสามารถที่จะกำหนดสติรู้จิตของเราเฉยอยู่  ถ้าจิตของเรานิ่งเฉยเป็นชั่วโมง  เราปล่อยให้เฉย  แต่ถ้าหากว่าจิตเกิดความคิดขึ้นมา  เราปล่อยให้คิดแต่ให้มีสติกำหนดตามรู้ความคิดเรื่อยไป  ถ้าจิตของเรายังไม่มีพลังงานเพียงพอ  เมื่อคิดขึ้นมาแล้วเรากำหนดรู้  จิตจะหยุดคิดทันที เมื่อจิตหยุดนิ่งก็ปล่อยให้นิ่ง  ถ้าคิดปล่อยให้คิด  เราเอาสติตัวเดียวเท่านั้นเป็นเครื่องกำหนดรู้ความนิ่งและความคิด  ถ้าหากว่าท่านผู้ใดทำความรู้สึกให้รู้อยู่ในที เหมือน ๆ กับเราไม่ได้ตั้งใจจะดู จะรู้ แต่เอาความรู้อยู่โดยธรรมชาติของจิตนั้นรู้เรื่อยไป  ถ้าทำได้อย่างนี้ เผื่อว่าสมาธิกำลังจะเริ่มแล้วสมาธิจะไม่ถอน  แต่ถ้าจิตแสดงอาการสงบลงไปบ้าง  เราเอาความตั้งใจของเราเข้าไปแทรก  สมาธิจะถอนทันที  อันนี้เป็นวิธีการปฏิบัติสมาธิโดยที่ไม่มีอุปสรรคใด ๆ มาขัดขวาง  เราสามารถที่จะปฏิบัติได้ทุกโอกาส  แม้เวลาเราทำงานทำการ  เวลาเราสอนนักเรียน  เราก็เอาสติตัวเดียวเท่านั้นกำหนดรู้สิ่งที่เราทำอยู่ในปัจจุบันตลอดเวลา
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-5-28 10:16 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
อาตมะขอยืนยันกับท่านทั้งหลาย  ท่านทั้งหลายที่เรียนจบสูง ๆ มาแล้ว  เคยปฏิบัติสมาธิมาแล้วทั้งนั้น  แต่ท่านเองก็ไม่รู้สึกตัวว่าได้ปฏิบัติสมาธิ เพราะความไม่เข้าใจ หรือไม่ก็ได้ยินได้ฟังวิธีการปฏิบัติสมาธิอยู่ในวงแคบเกินไป  แต่ความจริงนั้น เราทำ  เราพูด  เราคิดด้วยความมีสติสัมปชัญญะรอบคอบอยู่ในขณะที่ทำ  ที่พูด  ที่คิด  นั่นคือการปฏิบัติสมาธิ  ที่ยืนยันว่าท่านทั้งหลายได้ปฏิบัติสมาธิมาแล้ว  เพราะเวลาท่านวิจัยงานของท่าน  ท่านใช้ความคิดวกไปเวียนมาด้วยความตั้งใจที่แน่วแน่  ในขณะนั้นท่านกำลังเริ่มปฏิบัติสมาธิ  พอคิดไปคิดมาเรารู้สึกเคลิ้ม ๆ หรือเผลอ  ๆ  ไปนิดหนึ่ง  จิตว่างลง  สิ่งที่เราต้องการรู้มันผุดโผล่ขึ้นมา  นั่นคือปัญญาในสมาธิ




          เพราะฉะนั้น  การปฏิบัติสมาธิอย่าไปยึดหลักและวิธีการมากเกินไป  แบบและวิธีการที่ท่านบัญญัติเอาไว้ในหมวดกรรมฐาน  ๔๐  ก็ดี  หรือการเจริญวิปัสสนาพิจารณารูปนามธาตุขันธ์อายตนะก็ดี  อันนั้นเป็นแต่เพียงวิธีการเป็นวิธีที่ท่านเขียนเป็นแบบอย่างเอาไว้เท่านั้นเอง  แต่เมื่อใครจะตั้งใจปฏิบัติสมาธิอย่างเอาจริงเอาจัง  เราอาจจะไม่ ไปยึดหลักในคัมภีร์ก็ได้ เราอาจจะบริกรรมภาวนาอย่างอื่นก็ได้  เช่น  อย่างเราจะค้นคิดพิจารณา  ตามตำราท่านให้พิจารณาธาตุขันธ์อายตนะ  แต่เราจะเอาวิชาการที่เราเรียนจบมาทางโลกมาเป็นอารมณ์พิจารณาก็ได้เพราะการทำสมาธิคือทำจิตให้มีสิ่งรู้ สติมีสิ่งระลึก   เมื่อจิตมีสิ่งรู้  สติมีสิ่งระลึก ธรรมชาติของจิตจะต้องเพิ่มพลังงานมากขึ้นทุกที  พลังงานตัวที่สำคัญก็คือ  จะทำให้เรามีสติดีขึ้นและว่องไวขึ้น   แม้ว่าจิตจะยังไม่สงบเป็นสมาธิ ได้ญาณได้ฌานใด ๆ  ก็ดี  แล้วจะทำให้เกิดสมาธิเมื่อภายหลังจิตของเราจะมั่นคงต่อการประพฤติปฏิบัติอย่างไม่ลดละ




          สมาธิอันใดที่เราปฏิบัติแล้วมันรู้สึกว่าเบื่องานเบื่อการอยากจะโกนหัวไปบวช  อย่าเพิ่งไปเชื่อมัน  ผู้ที่ปฏิบัติสมาธิได้ดีแล้วนี้  จะต้องมีความรักความเคารพบูชาในบิดา  มารดา  ปู่ย่าตายาย  ตลอดทั้งครูบาอาจารย์  ถ้าเป็นผู้หลักผู้ใหญ่  จะเกิดมีจิตเมตตาปรานีต่อผู้น้อยเป็นอย่างดี  สามีภรรยาอยู่ร่วมกัน  เมื่อก่อนอาจจะเกิดทะเลาะเบาะแว้งกันบ่อย ๆ แต่เมื่อมาปฏิบัติสมาธิได้ดีแล้ว  การทะเลาะเบาะแว้งเหล่านั้นก็จะหายไปเอง  และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ชีวิตของคนเรานี่เป็นอยู่ด้วยพลังของสมาธิ  ผู้ที่ทำอะไรจับจดจับโน่นวางนี่ไม่เอาจริงเอาจังคือคนขาดสมาธิ  แต่ว่าท่านผู้ใดทำอะไรอาศัยสัจจะความจริงใจประพฤติสิ่งใดให้ได้สิ่งนั้น  ผู้นั้นได้ชื่อว่าเป็นผู้มีสมาธิที่มั่นคง  แม้จะยังไม่ถึงสมาธินานได้ญาณได้ฌานอะไรก็ตาม


          ก่อนที่จะจบนี้  จะขอนำเรื่องการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้ามาเล่าสู่กันฟังพอเป็นคติเตือนใจ
5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-5-28 10:16 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ท่านเคยคิดไหมว่าพระพุทธเจ้าเจริญกรรมฐานปฏิบัติสมาธิภาวนา  เอาอะไรเป็นอารมณ์จิตในการภาวนา สมัยพระพุทธเจ้ายังไม่เกิด คำว่าพุทโธก็ไม่มี  สัมมาอรหังก็ไม่มี   ยุบหนอพองหนอก็ไม่มี  ถ้าอย่างนั้นพระพุทธเจ้าท่านเอาอะไรเป็นหลักเป็นอารมณ์ในการปฏิบัติสมาธิ


            เราจะได้คำตอบว่า  พระพุทธเจ้าอาศัยอารมณ์  ๒  อย่าง
            ๑.   อารมณ์ทางกาย  ได้แก่  ลมหายใจเข้าหายใจออก
            ๒.   อารมณ์ทางจิต  คือความคิดซึ่งมันเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ


          และพระองค์จะเริ่มต้นด้วยการกำหนดรู้ลมหายใจ การกำหนดรู้ลมหายใจของพระองค์ เพียงแต่ว่ามีพระสติกำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออกเฉยอยู่เท่านั้นเอง ไม่ได้นึกว่าลมหายใจสั้น  ลมหายใจยาว  ลมหายใจหยาบ  ลมหายใจละเอียด  แล้วก็ไม่ได้บังคับจิตให้เกิดมีความสงบ  แล้วก็ไม่ได้แต่งลมหายใจให้หยาบให้ละเอียดเพียงแต่มีพระสติกำหนดรู้ลมหายใจอยู่อย่างเดียวเท่านั้น


          ทีนี้ในช่วงใดจิตของพระองค์เกิดว่างลง  พระองค์ปล่อยให้ว่าง  ช่วงใดจิตของพระองค์เกิดความคิด  พระองค์ปล่อยให้คิด  พระองค์ให้จิตของพระองค์เดินอยู่ที่ลมหายใจ  ความคิด  ความว่าง  ลมหายใจ  ความคิด  ความว่าง  ให้เดินอยู่ใน  ๓ จังหวะ  ธรรมชาติของจิตนี้  ถ้าเวลาอยู่ว่าง ๆ จิตกับกายยังมีความสัมพันธ์กันอยู่  ต้องรู้ลมหายใจเองโดยอัตโนมัติ  ทีนี้ในเมื่อว่างอยู่สักพักหนึ่งก็จะเกิดความคิดขึ้นมา  คือคิดขึ้นมาเองโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ  พระองค์ปฏิบัติโดยอาศัยหลังดังที่กล่าว  ทีแรกจิตของพระองค์ก็เดินอยู่ที่ลมหายใจ  ความคิด  ความว่าง  ลมหายใจ  ความคิด  ความว่าง  อยู่ใน  ๓  จังหวะนี้  แล้วในที่สุดจิตของพระองค์ก็มาจับลมหายใจอย่างเหนียวแน่นยึดลมหายใจเป็นอารมณ์  ลมหายใจกับสติและความรู้สึกทางจิตไม่ได้พรากจากกัน  จนกระทั่งลมหายใจละเอียด ๆ ลงไปตามขั้นตอนแห่งความสงบของจิต



          ในระยะต้นๆ  ถ้าพระองค์กลัวว่าจิตของพระองค์จะเลยเถิด พอลมหายใจแผ่วเบาลงไป ๆ  ๆ  พระองค์ก็มานึกว่าลมหายใจยังอยู่  จิตก็หยาบขึ้นมานิดหน่อยแล้วก็ปรากฏเห็นลมหายใจอย่างชัดแจ้ง  ในที่สุดจิตของพระองค์สงบละเอียด  วิ่งตามลมหายใจเข้าไปข้างในกาย  ไปสงบนิ่งอยู่ในท่ามกลางของร่างกาย  แต่ว่าเปล่งรัศมีออกมารอบกาย ทำให้พระองค์มองเห็นร่างกายเหมือนแก้วโปร่ง  มองเห็นอวัยวะภายในกายทั่วหมดในขณะจิตเดียวทั้งอวัยวะภายนอกด้วยในขณะจิตเดียว จะมองเห็นผม  ขน  เล็บ  ฟัน  หนัง  เนื้อ  เอ็น  กระดูก  ม้าม  หัวใจ  ตับ  ปอด  ผังพืด  ครบอาการ  ๓๒  ซึ่งในขณะนั้น  จิตของพระองค์สงบ  นิ่ง  แล้วรู้เห็นทุกสิ่งทุกอย่าง  สักแต่ว่ารู้  ร่างกายหายไป  ลมหายใจก็หายขาดไป  ในที่สุดยังเหลือแต่จิตดวงเดียว  นิ่ง  สว่างไสวอยู่ในท่ามกลางแห่งจักรวาลอันกว้างใหญ่  ในขณะนั้น  พระองค์จะรู้สึกมีแต่จิตของพระองค์ดวงเดียวเท่านั้น  ไม่มีปรากฏการณ์อะไรเกิดขึ้น  ตอนนี้จิตของพระองค์อยู่ในจตุตถฌาน  เป็นจิตพุทธะซึ่งบังเกิดขึ้นกับพระองค์  ถ้าจะว่าโดยจิตก็อัปปนาจิต  ว่าโดยสมาธิก็อัปปนาสมาธิ  ว่าโดยฌานก็จตุตถฌาน
6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-5-28 10:16 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ทีนี้เมื่อจิตของพระองค์ไปถึงขั้นจตุตถฌาน พอจะขยับก้าวหน้าไปสู่อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ  ตามลำดับไม่ไปเช่นนั้น  พอขยับจะก้าวขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง  จิตพระองค์วกเข้าไปสู่สัญญาเวทยิตนิโรธ  เรียกว่าเข้านิโรธสมาบัติ  นิโรธสมาบัติเป็นฐานสร้างพลังจิตเพื่อกระโดดก้าวขึ้นไปสู่ภูมิธรรมขั้นโลกุตตระ  พอจิตของพระองค์ไปสร้างพลังงานอยู่ที่ตรงนี้พร้อม  จิตของพระองค์จึงเบ่งบานออกมาอีกครั้งหนึ่ง  ในตอนที่อยู่ในสัญญาเวทยิตนิโรธนั้นเป็นสมาธิที่ละเอียดสุขุมที่สุด  ถ้าไม่ใช่วิสัยปัญญาอย่างพระพุทธเจ้า ก็อาจจะเข้าใจว่าสำเร็จพระนิพพานในขั้นนี้เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมันดับหมด  แม้แต่จิตวิญญาณก็ทำท่าจะดับหมดสิ้นไป จะยังเหลือปรากฏอยู่จิตที่ละเอียดที่สุด




          เมื่อเข้ามาถึงตอนนี้ ได้พลังพร้อม  จิตเบ่งบานออกมาอีกครั้งหนึ่ง  แผ่รัศมีครอบคลุมจักรวาลทั้งหมด  ทำให้พระองค์ตรัสรู้เป็น   โลกวิทู    ผู้รู้แจ้งโลก  คือรู้ยมโลก  ได้แก่ภพภูมิของภูตผีปีศาจ  เปรตอสุรกาย  ทั้งสัตว์นรก  พระองค์รู้ในขณะจิตเดียว  แล้วรู้ภพภูมิของมนุษย์  ซึ่งเรียกว่าโลกมนุษย์  รู้ภพภูมิของเทวดาตั้งแต่เทวดาชั้นจาตุมจนกระทั่งถึงพรหมโลกชั้นอกนิฏฐาพรหม  พระองค์รู้ในขณะจิตเดียว นอกจากจะรู้ความเป็นไปของโลกทั้ง ๓ ยังรู้อดีตชาติของพระองค์ว่าเคยเกิดมากี่ภพกี่ชาติ  นอกจากจะรู้เรื่องของพระองค์แล้ว  ยังรู้เรื่องของคนอื่นและสัตว์อื่นด้วย  ว่าสัตว์ในจักรวาลนี้แต่ละตนแต่ละตัวเกิดมาแล้วกี่ภพกี่ชาติ  อันนี้เรียกว่า  รู้ ปุพเพนิวาสานุสติญาณ  ในเมื่อรู้ความแตกต่างของภพภูมิของสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงก็มารู้กฎเกณฑ์แบ่งชั้นวรรณะ  แบ่งความเป็นไปของสัตว์ทั้งหลาย  คือรู้เรื่องการจุติและเกิดของสัตว์ทั้งหลายที่เป็นไปตามกฎของกรรม ซึ่งเรียกว่า  จุตูปปาตญาณ  แล้วก็รู้   อาสวักขยญาณ  คือ  อวิชชาโมหะอันเป็นตันเหตุให้สัตว์ทั้งหลายทำกรรมไปตามที่ตนเข้าใจ  เพราะความรู้ไม่จริงย่อมทำสิ่งที่เป็นบาปบ้าง  สิ่งที่เป็นบุญบ้าง  เมื่อทำขึ้นมาแล้วก็ได้รับผลของกรรม ได้รับผลของกรรมก็แล้วแต่กฎของกรรมจะซัดให้ไปเกิดในภพใดภูมิใด ให้ไปตกนรกก็มี  ให้ไปเกิดเป็นเปรตอสุรกาย  เป็นเทวดา  อินทร์พรหมยมยักษ์ซึ่งอำนาจของกิเลสเป็นผู้บันดาลให้สัตว์ทั้งหลายต้องทำกรรม




          ปุพเพนิวาสานุสติญาณก็ดี   จุตูปปาตญาณก็ดี อาสวักขยญาณก็ดี  พระองค์ตรัสรู้ในขณะจิตเดียวตั้งแต่ปฐมยาม  การตรัสรู้อยู่ในขณะที่จิตทรงสมาธิขั้นสมถกรรมฐาน  แต่เป็นสมถกรรมฐานขั้นโลกุตตรภูมิ  จิตไม่มีร่างกายตัวตน  แต่สามารถรู้เห็นทุกสิ่งทุกอย่างได้ รู้เห็นอย่างนิ่ง ๆ ไม่มีภาษาสมมุติบัญญัติจะเรียกอะไรว่าเป็นอะไร  แต่จิตดวงนี้สามารถบันทึกข้อมูลต่าง ๆ เอาไว้พร้อมหมด ทั้งปุพเพนิวาสานุสติญาณ  จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ  ทำไมจิตในขณะนั้นจึงคิดไม่เป็น เพราะไม่มีร่างกายตัวตน  จิตของคนเราจะแสดงอาการคิดนึกขึ้นมาได้ต้องอาศัยประสาททางสมอง  คืออาศัยกายนี้เอง  จึงจะคิดเป็น  แต่ถ้าหากว่าจิตดวงนี้แยกจากกายไปอยู่เอกเทศส่วนหนึ่งต่างหากไม่เกี่ยวพันกัน  สามารถรู้เห็นทุกสิ่งทุกอย่างได้  แต่คิดไม่เป็น  นี่คือธรรมชาติความเป็นจริงของจิตเป็นอย่างนี้ ทีนี้ในเมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้เป็นโลกวิทูแล้ว เมื่อจิตของพระองค์ถอนจากสมาธิมา พอมารู้สึกว่ามีกายเท่านั้น  จิตตัวนี้จึงมาพิจารณาทบทวนปุพเพนิวาสนุสติญาณคือการระลึกชาติหนหลังได้  ว่าเราเกิดมากี่ภพกี่ชาติ เคยเป็นอะไรมาบ้าง  สัตว์ทั้งหลายเกิดมากี่ภพกี่ชาติ  เคยเป็นอะไรมาบ้าง  พระองค์พิจารณาเรื่องนี้จบลงในปฐมยาม
7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-5-28 10:17 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เมื่อพระองค์พิจารณากฎของกรรมคือจุตูปปาตญาณจบลงในมัชฌิมยาม แล้วก็ไปพิจารณาเรื่องกิเลสอาสวะคืออวิชชาความรู้ไม่จริง  ว่าสัตว์ทั้งหลายทำไมจึงต้องทำกรรม  ทำกรรมดีบ้าง  ทำกรรมชั่วบ้าง  เพราะความรู้ไม่จริง  แล้วก็ทำกรรมไปตามที่ตนคิดว่าถูกต้อง  แต่ว่าสิ่งที่ทำนั้นมันเป็นทั้งบุญเป็นทั้งบาป  มีทั้งดีมีทั้งชั่ว  เมื่อทำลงไปแล้วมันก็เกิดวิบากคือผล  เมื่อได้รับผลของกรรม กฎของกรรมก็ส่งหนุนให้เวียนว่ายตายเกิดในวัฎฎสงสารไม่รู้จักจบจักสิ้น  เรื่องนี้พระองค์พิจารณาจบลงไปในปัจฉิมยาม  คือจวนใกล้รุ่ง




          ในเมื่อพิจารณา  ๓  อย่างนี้ตามลำดับยามทั้ง  ๓  คือ  ปฐมยาม  พิจารณาเรื่องปุพเพนิวาสนุสติญาณ  มัชฌิมยาม  พิจารณาเรื่องจุตูปปาตญาณ  ปัจฉิมยาม  พิจารณาเรื่องอาสวักขยญาณ  อาสวกิเลส  ในเมื่อพิจารณาจบลงไปแล้ว  จิตยอมรับสภาพความจริง  ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เรารู้เห็นมานั้นเป็นความจริงแท้ไม่แปรผัน  อรหัตตมรรคญาณจึงบังเกิดขึ้นในขณะจิตนั้น  แล้วก็ตัดกิเลสอาสวะขาดสะบั้นไป  จึงทำให้พระองค์สิ้นภพสิ้นชาติ  สิ้นอาสวกิเลส  ถึงซึ่งความบริสุทธิ์สะอาดโดยสิ้นเชิง  แม้กิเลสน้อยหนึ่งเท่าธุลีมิได้มีเหลือติดอยู่ในพระทัยของพระองค์อีกแล้ว  แล้วกิเลสทั้งหลายก็ไม่สามารถที่จะมาประทุษร้ายดวงจิตของพระองค์ดวงนี้ให้เศร้าหมองอีก  ก็เป็นอันว่าบรรลุถึงแดนอมตะ  จึงได้พระนามว่า  อะระหัง  สัมมาสัมพุทโธ  ภะคะวา  พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระอรหันต์ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์สิ้นเชิงตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง   ด้วยประการฉะนี้




          เพราะฉะนั้น  สาธุชนทั้งหลายผู้ที่มุ่งหวังจะปฏิบัติสมาธิให้ได้ผลอย่างแท้จริง อย่าไปข้องใจสงสัยในหลักและวิธีการ เราจะบริกรรมภาวนาคำไหนก็ได้  ถ้าใครนับถือศาสนาคริสต์ให้บริกรรมภาวนาเยซู ถ้าใครถืออิสลามให้บริกรรมภาวนาถึงพระเจ้าอัลเลาะห์   ถ้าใครถือศาสนาพุทธให้ภาวนาพุทโธ    เมื่อท่านตั้งใจภาวนาจริง ๆ เมื่อจิตสงบเป็นสมาธิ  จิตหยุด  นิ่ง  สว่าง  รู้  ตื่น  เบิกบาน  มีแนวโน้มเป็นอย่างเดียวกันหมด  เพราะ  สมาธิเป็นสัจจธรรมมีหนึ่งเดียว  จะแตกต่างกันไม่ได้  แต่วิธีการนั้นเราอาจจะใช้อุบายวิธีต่างกัน  แต่ผลลัพธ์ก็คือสมาธิอันเดียวกันนั้นเอง

           บรรดาครูบาอาจารย์ที่สอนกรรมฐานในปัจจุบันแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท
           ประเภทที่๑.   รู้หลักวิธีการตามตำรับตำรา  แต่ทำสมาธิไม่เป็น ก็ไม่รู้เรื่องของสมาธิ
           ประการที่๒.   รู้หลักวิธีการทำสมาธิเก่ง  มีประสบการณ์มาก ย่อมเข้าใจในเรื่องสมาธิดี
8#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-5-28 10:17 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ความเข้าใจคำว่าสมาธิของคนในปัจจุบันนี้ก็มี  ๒  อย่าง

           ๑.   ผู้บริกรรมภาวนาน้อมจิตบังคับจิตให้หยุด  นิ่ง  เมื่ออาศัยความคล่องตัวชำนิชำนาญ  เราต้องการจะให้จิตของเราหยุดเมื่อไรก็ได้  เมื่อจิตหยุดแล้ว   เราก็ต้องตั้งใจประคองจิตให้หยุดนิ่งอยู่    อันนี้มันเป็นแต่เพียงความสงบที่เราแต่งเอาได้ ไม่ใช่สมาธิ  แต่สมาธิที่แท้จริงนั้น ในเมื่อจิตหยุดนิ่งได้  แล้วจิตแปรสภาพไปเป็นอย่างอื่น  คือ  นิ่ง  สว่าง  รู้  ตื่น  เบิกบาน  หรือรู้สึกแจ่มๆ ภายในส่วนลึกของจิต  มีความรู้พร้อมในขณะจิตนั้น  ศีล สมาธิ  ปัญญา  ก็รวมลงสู่จุดนั้นคือความปกติของจิต  เมื่อจิตวูบ ๆ ๆ ๆ ๆลงไป  สัญญาเจตนาที่จะให้จิตเป็นอย่างไรนั้นมันหมดสิ้นไป ความตั้งใจจะให้จิตสงบก็ไม่มี  ความตั้งใจจะให้จิตรู้เห็นอะไรก็ไม่มี  จิตจะไปสู่สมาธิขั้นใด  ญาณขั้นใด หรือจะเกิดความรู้ใด ๆ ขึ้นมา  จิตจะปฏิวัติตัวไปเองโดยอัตโนมัติ ซึ่งเราไม่ได้ควบคุม  เราไม่ได้มีสัญญาเจตนาใด ๆ ที่จะไปควบคุมจิต  หรือเราไม่ได้ตั้งใจจะน้อมจิตไปรู้ไปเห็นอะไร  แต่จิตจะปฏิวัติตัวไปรู้ไปเห็นเอง  ซึ่งเรียกว่าเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ  อันนี้จึงจะได้ชื่อว่าเป็นสมาธิ  จิตเป็นสมาธิอย่างแท้จริง


          ในเมื่อจิตของเราเป็นสมาธิแล้ว ทางไปของจิตมีอยู่  ๒ อย่าง  
           ๑.   จิตสงบ  นิ่ง  สว่าง  รู้  ตื่น  เบิกบาน  แล้วก็สงบละเอียด ๆ จนกระทั่งร่างกายตัวตนหายไป  อันนี้จิตสงบเป็นสมาธิในสายฌานสมาบัติ  แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นสมาธิในฌานสมาบัติ  แต่เราก็จำเป็นจะต้องปฏิบัติซึ่งจิตจะปฏิวัติตัวไปเองโดยอัตโนมัติจะเป็นอย่างไรก็ตาม

           ทีนี้สมาธิอีกแบบหนึ่ง  บางทีเราอาจจะภาวนาพุทโธ  พุทโธ  ๒-๓  คำ  จิตวูบลงไปนิดหนึ่ง  ความรู้ความคิดผุดขึ้นมายังกับน้ำพุ  ในลักษณะอย่างนี้ท่านเรียกว่า  ลักขณูปนิชฌาน    ในเมื่อเกิดมีสมาธิแล้ว  เป็นสมาธิที่มีวิตก  วิจาร  วิตกก็คือ  ความคิด  วิจารก็คือสติรู้พร้อมอยู่ที่จิต  ถ้าหากว่าจิตเกิดมีปีติ  มีความสุข  แล้วก็ไม่ได้วิ่งตามความคิดไป เพียงแต่กำหนดรู้จุดเกิดของความคิด  ความคิดนั้นคืออะไรจิตไม่สนใจ  ได้แต่รู้จิตอย่างเดียว  อันนี้เรียกว่า  สมาธิวิปัสสนา   เป็นสมาธิที่เป็นไปตามแนวทางแห่งอริยมรรคอริยผล


           ในเมื่อท่านทั้งหลายทำจิตให้สงบนิ่ง  เป็นสมาธิแล้วพอภาวนา  จิตสงบ  นิ่ง  สว่าง  รู้  ตื่น  เบิกบานขึ้นมา  แต่กายยังปรากฏ จิตยังสัมพันธ์กับกาย  ยังรู้สึกว่ากายมีอยู่  ในช่วงนี้ปีติและความสุขย่อมบังเกิดขึ้น


           แต่ถ้าหากว่าจิตของเราส่งกระแสออกไปนอก จะเกิดมโนภาพคือนิมิต  ในเมื่อจิตของท่านผู้ใดไปรู้เห็นนิมิตให้กำหนดรู้จิตอย่างเดียว  อย่าไปเกิดความเอะใจ  หรือไม่ต้องไปยึดมั่นในนิมิตนั้น ๆ เพียงแต่กำหนดรู้จิตของตนเอง เฉยอยู่เท่านั้น นิมิตนั้นจะนิ่งอยู่ตลอดเวลาไม่ไหวติงจนกระทั่งเกิดนิมิตติดตาเรียกว่า  อุคคหนิมิต  แต่ถ้าหากว่านิมิตนั้นมีอาการเปลี่ยนแปลงยักย้ายไปมา  หรือบางทีอาจจะเห็นเนื้อหนังพังลงไปยังเหลือแต่กระดูก  โครงกระดูกทรุดฮวบลงไปแหลกละเอียดหายจมลงไปผืนแผ่นดินในตอนนี้เรียกว่า   ปฏิภาคนิมิต   ปฏิภาคนิมิตนี้เป็นจิตก้าว   ขึ้นสู่ภูมิแห่งวิปัสสนากรรมฐาน
9#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-5-28 10:17 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ถ้าหากว่าจิตไปสำคัญมั่นหมายในความเปลี่ยนแปลงก็รู้ความไม่เที่ยงคืออนิจจัง  เมื่อรู้อนิจจังก็รู้ทุกขังคือความทนอยู่ไม่ได้ของสิ่งนั้น  ในเมื่อรู้อนิจจัง  ทุกขัง  เราก็รู้อนัตตาคือความไม่เป็นตัวของตัวของนิมิตหรือสิ่งรู้สิ่งนั้น  เราก็ได้รู้ธรรม เห็นธรรม  แต่ถ้าหากว่าจิตของเราไม่ไปอย่างนั้น พอสงบ  สว่าง  ร่างกายยังปรากฎจิตวิ่งตามลมเข้ามา  มาสงบ  นิ่ง  สว่าง  อยู่ในท่ามกลางของร่างกาย  ก็จะมองเห็นอวัยวะภายในกายนี้ทั่วหมดในขณะจิตเดียวครบอาการ  ๓๒  แล้วจิตจะค่อยสงบละเอียด ๆ ไปสู่จุดที่เรียกว่าร่างกายหาย  ยังเหลือแต่จิตดวงเดียว



           ทีนี้ถ้าหากว่าจิตผ่านการสำรวจภายในคือร่างกายรู้อาการ  ๓๒  เมื่อร่างกายคืออาการ  ๓๒  หายไป ยังเหลือแต่จิตดวงเดียว  นิ่ง  สว่าง  ไสว  ถ้าจิตมีภูมิพอที่จะรู้ธรรมเห็นธรรม  จิตจะย้อนมองมาดูกาย  จะเห็นร่างกายขึ้นอืด  เน่าเปื่อยผุพังสลายตัวไปจนไม่มีอะไรเหลือ  เมื่อจิตถอนจากสมาธิมาแล้ว  ก็จะบอกกับตัวเองว่า  นี่แหละคือการตาย  ตายแล้วก็ขึ้นอืด  น้ำเหลืองไหล  เนื้อหนังพังไปเป็นของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครก  เหลือแต่โครงกระดูก  กระดูกก็แหลกละเอียดลงไป  หายจมลงไปในผืนแผ่นดินไหนเล่า  สัตว์บุคคลตัวตนเราเขามีที่ไหน  มันมีแต่ธาตุ ๔  ดิน  น้ำ  ลม  ไฟ  ประชุมกันอยู่เท่านั้น  ในเมื่อกายกับจิตยังสัมพันธ์กันอยู่  ก็ยังมีชีวิตอยู่ตลอดไป  ถ้ากายกับจิตแยกจากกันเป็นคนละส่วน  ส่วนกายก็เน่าเปื่อยผุพังไปตามธรรมชาติ  ส่วนจิตก็ไปตามกฎของกรรม  แล้วแต่กรรมจะหนุนส่งให้ไปเกิดที่ไหน  อันนี้ทางหนึ่งที่จิตจะเป็นไป



           อีกทางหนึ่ง  ถ้าจิตไม่เป็นไปตามแนวทางทั้ง  ๒  ทางที่กล่าวมา  พอจิตสงบแล้ว  จิตก็กำหนดรู้อยู่ที่จิตเพียงอย่างเดียว  ในเมื่อจิตรู้อยู่ที่จิต  ตอนนิ่ง  ๆ จะรู้เห็นว่าจิตนิ่ง ๆ ไม่มีอะไรเกิดขึ้น  แต่ถ้าหากว่าจิตของเรามีกำลังพอที่จะเกิดภูมิความรู้  มันจะมีปรากฎการณ์วับแวบ ๆ อยู่ในจิต บางทีก็เป็นความคิดที่ละเอียด  บางทีก็เป็นเหมือนเมฆหมอกไหลผ่านไป  บางทีก็นิ่ง ๆ อยู่ว่าง ๆ  ซึ่งแล้วแต่จิตมันจะเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ




           ทีนี้จิตไปรู้สิ่งที่เกิดดับอยู่ภายในจิต  เรียกว่าจิตกำหนดรู้ความเกิดดับ  ความเกิดดับที่ปรากฏภายในจิตนั่นแหละเป็นสิ่งรู้ของจิต  เป็นสิ่งระลึกของสติ เมื่อสมาธิและสติปัญญาแก่กล้าขึ้น  จะกำหนดหมายรู้สิ่งที่เกิดดับว่าไม่เที่ยง  เป็นทุกข์  เป็นอนัตตา  ถ้าได้ความรู้ในทางธรรมะเป็นภาษาขึ้นมา  ก็จะรู้ขึ้นมาว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาแล้วก็ดับไปเป็นธรรมดา  อันนี้คือกฎของธรรมชาติ  จิตก็รู้แจ้งเห็นจริงขึ้นมาเอง
10#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-5-28 10:17 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เอาละ วันนี้ขอกล่าวธรรมะพอเป็นแนวทางในการพิจารณาของบรรดาท่านทั้งหลาย  ก่อนที่จะจากกัน  ในฐานะที่ท่านเป็นครูบาอาจารย์สอนลูกศิษย์  การสอนสมาธิของลูกศิษย์ในห้องเรียนเป็นแนวทางที่ดีที่สุด  ถ้าหากว่าท่านไม่ถือว่ามันเป็นของแปลกใหม่เกินไป  เวลาท่านไปยืนหน้าห้องกำลังเตรียมจะสอนนักเรียนท่านอาจจะกล่าวเตือนนักเรียนว่า  นักเรียนทุกคนมองมาที่ตัวข้าพเจ้า  ส่งจิตมารวมไว้ที่ตัวข้าพเจ้า  ข้าพเจ้าจะถ่ายทอดพลังจิตและวิชาความรู้ให้  พวกเธอทั้งหลายจงน้อมรับพลังจิตและวิชาความรู้จากครูอย่างตรงไปตรงมา  อย่าบิดพลิ้ว  มีอะไรก็สอนไป  แล้วเตือนไปเป็นระยะ ๆ ในทำนองนี้  ลูกศิษย์ของท่านจะได้สมาธิในห้องเรียนอย่างไม่รู้สึกตัว  ขอฝากความคิดเห็นไว้เพียงแค่นี้




            ในท้ายสุดนี้  ด้วยพระบารมีของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  จงดลบันดาลให้จิตใจของท่านทั้งหลายยึดมั่นในคุณพระรัตนตรัย  คือ  พระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์  ยึดมั่นในเจตนาแน่วแน่ที่จะละบาปความชั่วตามกฎของศีล  ๕  แล้วก็ให้จิตของท่านสงบเป็นสมาธิ  ได้อุบายวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้อง  แม้จะปรารถนาสิ่งอื่นอันเป็นผลพลอยได้  ก็จงสำเร็จตามปณิธานความปรารถนาในที่ทุกสถานตลอดกาลทุกเมื่อ  เทอญ….


ที่มา http://www.thaniyo.com/index.php ... =124&Itemid=147
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้