ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2257
ตอบกลับ: 2
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ธัมมวโรวาท : พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร

[คัดลอกลิงก์]
ธรรมโอวาท
ของ
พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร

วัดป่าแก้วชุมพล อ.สว่างแดนดิน  จ.สกลนคร



   

  ธัมมวโรวาท  


- หากเรามีปัญญา ไม่ว่าทางสรรเสริญ หรือ นินทา ถ้านำมาสอนจิต
มาพินิจพิจารณา มันก็เป็นธรรมะ


- การภาวนาไม่ใช่แต่จะนั่งหลับตาเท่านั้น จึงจะทำได้ เดินไปก็ได้ นั่งอยู่ก็ได้
ทำการงานอันอื่นก็ได้ ภาวนาดูจิตดูใจของตัว ทำไมจะทำไม่ได้
ถ้าหากเราเลื่อมใส เรายินดี เราเต็มใจ


- ธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นของกลาง เรามีสิทธิ์ทุกคน
ไม่ใช่ว่านักบวชเท่านั้นจะประพฤติปฏิบัติได้ฆราวาสก็ปฏิบัติได้
เมื่อใครมีอรรถ มีธรรมปฏิบัติถูกต้องตามศาสนา ความสุขความสบายในตัวจะเกิดขึ้น


- ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะประพฤติปฏิบัติได้ ยังไม่สายเกินไป เพราะเรายังมีลมหายใจอยู่


- การประพฤติปฏิบัติจะอยู่ในสถานที่ใด กำหนดจิตกำหนดใจ
บทธรรมสอนใจของตนอยู่สม่ำเสมอ ไม่ปล่อยวันเวลาให้หายไปเปล่า
บุคคลนั้นแหละจะเอาชนะเรื่องกิเลสตัณหาได้

- เรื่องของธรรม ความสุขเกิดขึ้นจากการละ ไม่เกิดขึ้นจากการได้มา
ส่วนโลกเกิดขึ้นจากการได้มา ถือว่ามีความสุขความสบาย

- ที่เราถือว่าเรา ว่าของของเรา จะไม่ให้ทุกข์แก่บุคคลผู้เข้าไปยึดถือไม่มี มีแต่จะให้ทุกข์
มีมากเท่าไร ยิ่งทุกข์ใจมากเท่านั้น สิ่งใดที่เราหวงมากห่วงมาก สิ่งนั้นแหละจะทำให้เราเกิดทุกข์


- ท่านผู้รู้ทั่วไปก็เหมือนกัน อาศัยธาตุขันธ์เป็นทางประพฤติปฏิบัติ
เมื่อธาตุขันธ์ขัดข้องก็เยียวยารักษากันไปแต่ไม่ถือว่า ธาตุขันธ์เป็นตัวของท่าน
ไม่ถือว่าท่านเป็นธาตุเป็นขันธ์ ถึงคราวมันแตกมันสลายไป ท่านก็ไม่มาแบกมาหามมันอีก


- อานิสงส์ที่เราทำลงไปนี้ ไม่ใช่มีแต่ในปัจจุบันทันตาเท่านั้น ในอนาคตต่อไป
เมื่อเรายังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏสงสาร จะต้องอาศัยบุญกุศลที่ตนทำไว้
ส่งเสียให้ได้รับความสุขความสบายในภพชาติต่างๆ


- คนทุกคนอยากได้ดี อยากมีปัญญา ไม่อยากมีโรคภัยไข้เจ็บ
แต่ทว่ามันเป็นไปไม่ได้ อำนาจของกรรมที่ทำมาไม่เหมือนกัน คนจึงผิดแผกแตกต่างกัน


- การเวียนว่ายตายเกิดไปอีก ก็จะต้องอาศัย บุญกุศลสนับสนุนให้
ทานมัย ศีลมัย ภาวนามัย ที่ท่านกล่าวเอาไว้ เป็นที่เกิดขึ้นซึ่งบุญซึ่งกุศล
เมื่อเรายังมีลมหายใจอยู่ เราจงรีบเร่งขวนขวายทำคุณงามความดี


- ใจของเราที่ไม่ชอบยินดีในคุณงามความดี ก็ให้ฝืนมัน ทำความดีต่อไป
ความดีที่เราทำไว้จะอำนวยอวยชัยให้ผล มีความสุขแก่ตนของตนในภพนี้ และภพหน้า


- การปฏิบัติก็คือ ปฏิบัติกาย วาจา จิตของตัว ไม่ได้ไปปฏิบัติที่อื่น
เพราะกิเลสเกิดขึ้นจากกาย วาจา จิตมรรคผลก็เกิดขึ้นจากกาย วาจา จิต

- ธรรมชาติของความสะอาดจะต้องถูกดูแลรักษาอยู่เรื่อยๆ จึงจะสะอาดได้
เรื่องจิตใจของพวกเราก็ทำนองเดียวกัน หมั่นชำระอารมณ์สัญญามานะทิฐิต่างๆ
ให้ตกให้หล่นออกไป ใจจึงสะอาด ไม่อย่างนั้นจะสกปรกโสมมอยู่เรื่อยไป


- ความจริงเรื่องของใจอยู่กับปัญญา ที่จะดีจะชั่วได้ ที่จะเป็นธรรม เป็นโลก
เพราะปัญญารักษาใจ ไม่ใช่ว่ามันดีไปเอง มันชั่วไปเอง
มันจะต้องอาศัยปัญญาชำระกิเลสตัณหาจะเกิดขึ้นก็เพราะขาดปัญญา
ไม่พิจารณาชำระใจของตัว


- อัปปิจฉตา เป็นผู้มักน้อย การมักน้อยนี่พระพุทธเจ้าสอนนั้น
ไม่ใช่มักน้อยอะไร มักน้อยในอารมณ์สัญญามักน้อยในกิเลสตัณหา
มักน้อยในสังขารการปรุงคิด


- คนอื่นเขาชั่ว เขาเสีย เขาเองจะได้รับทุกข์รับโทษ เราชั่ว เราเสีย
เราเองเป็นผู้เป็นทุกข์เป็นโทษ เราจะต้องชำระตัวของตัวเราให้ดี เอาตัวรอดเป็นยอดคน


- อย่าไปคิดเรื่องนอกมากกว่าเรื่องกิเลสในใจของตัว ให้ถือว่ากิเลสเป็นเวร เป็นภัย
เป็นศัตรูใหญ่สำหรับมรรคสำหรับผล

2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-10-15 14:03 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

- ถ้าหากมีธรรมะ มีสติปัญญา มันก็สามารถที่จะเกิดความสงบ
ความสบาย ความละ ความถอนได้

- การพึ่งธรรมะเพื่อความสุข ความสงบ ความสบายจากภายใน
ไม่ใช่เราฟังเพียงเพื่ออานิสงส์ คือหวังบุญหวังกุศลจากการฟังเท่านั้น
ฟังเพื่อปฏิบัติจิตใจของเราที่มันมืดบอดให้สว่างไสว ให้เข้าใจในธรรมะ


- ความจำ (ธรรมะ) นั้นถึงจะจำได้มากขนาดไหน กิเลสก็ไม่กลัว
แต่ถ้าประพฤติปฏิบัติเกิดปัญญาขึ้นภายในกิเลสกลัวมาก
เพราะปัญญาเป็นสิ่งที่ตัดกระแสของกิเลสตัณหา

- สุตมยปัญญาและจินตามยปัญญา เป็นปัญญาทางโลก สามารถที่จะทำอะไรถูกต้องดีงาม
ไม่ใคร่ผิดพลาดแต่ภาวนามยปัญญา เป็นปัญญาทางธรรม
สามารถแก้ไขจิตใจที่ข้องติดกันให้หมดออกไป ให้สิ้นออกไปให้หายสงสัย
พูดง่ายๆ ก็ให้หมดจากกิเลสได้


- กิเลสก็คือ ความเศร้าหมองของใจ ตัณหาก็คือความอยากของใจ
ราคะก็คือความกำหนัดยินดีในสิ่งต่างๆ


- เราต้องดูเรื่องคนอื่น แล้วย้อนกลับมาดูในจิตในใจของตัว สิ่งที่คนชั่วคนอื่นทำเราตำหนิ
แต่เมื่อเราทำ เรากลับชอบ กลับยินดี อย่างนี้จะเป็นบัณฑิตเป็นผู้ฉลาด เป็นผู้ประเสริฐวิเศษไม่ได้

- ผู้ที่มีธรรมะอยู่สถานที่ใด ไปสถานที่ใด เป็นสิริมงคลแก่สถานที่
ไปสถานที่ใด ทำความสุข ความสบาย ความเยือกเย็นให้ไม่เป็นภัยอันตราย
นี่คือคนที่มีธรรม เป็นสุคโต ไปดี มาดี อยู่ดี กินดี นั่งดี นอนดี


- ให้ดูจิตปัจจุบัน สิ่งใดเป็นพิษเป็นภัยให้ขับไล่ออกไป สิ่งใดที่ทำจิตทำใจให้สงบสุข
รีบรักษาเอาไว้ รีบกระทำบำเพ็ญ ให้มีในจิตใจของตน นี่คือคนฝึกฝนภาวนาชนะกิเลส
อย่าไปดูที่อื่น ดูภายใน


- การรักษาใจ รักษายากยิ่งกว่าสิ่งทั่วไปในโลก เพราะใจเป็นนามธรรม เป็นของละเอียด
แต่เมื่อรักษาได้ก็ไม่มีอะไรที่จะประเสริฐวิเศษเท่ากับเรื่องของใจ
ไม่มีอะไรที่จะมีคุณค่าสูงเหมือนการรักษาใจให้ปลอดภัยไป
จากกิเลสตัณหาแม้การรักษาใจจะยากยิ่ง แต่ก็ไม่เหลือวิสัย


- คนที่มีอิทธบาททั้งสี่ประจำอยู่ในจิต ไม่ว่าจะทำการงานชนิดใด
หยาบละเอียดยากง่ายขนาดไหน คนนั้นจะทำสำเร็จผ่านไปได้


- จิตใจนั้นเป็นเรื่องสำคัญยิ่งกว่าเรื่องของกาย ถ้าหากจิตใจวุ่นวายส่ายแส่
จิตใจที่ไม่มีความสุข ไม่สบายแล้วจะไปสถานที่ใด อยู่สถานที่ใด อิริยาบถไหน
มันก็ไม่มีความสุขความสบายให้ เพราะจิตใจของเราร้อน
จิตใจของเราวุ่นวายให้ระวังรักษามีสติปัญญาดูภายใน คือดูใจของตัว คิดปรุงอะไร
ซึ่งเป็นเพื่อภัยอันตราย หาความสุขความสบายไม่ได้อย่าไปคิดปรุง ไปยุ่งไปเกี่ยว
รีบตัดเรื่องเหล่านั้นให้ตกออกไป หมดออกไป นี่คือการปฏิบัติ


- การรักษาไม่ให้ความชั่วภายนอกเกิดขึ้น จะไปรักษาคนอื่น รักษาทางโลก
มันรักษาไม่ได้ ให้รักษาภายใน รักษาตา หู จมูกลิ้น กาย ใจของตัว
อย่าให้มันมีความชั่วมาเกี่ยวข้อง เมื่อเรารักษาตัวของเราได้ โลกส่วนอื่นมันเป็นอย่างไร
นั่นเป็นหน้าที่ของเขา การปฏิบัติการโอปนยิโก น้อมเข้ามาภายใน ดูกาย ดูใจ ของตัว


- ผู้ประมาทนั้นท่านหมายถึงคนตาย ตายจากคุณงาม ความดี ถ้าผู้ไม่ประมาท
วันคืนเดือนปีผ่านไปอุตส่าห์พยายามขับไล่กิเลสตัณหา ทำความพากเพียรภาวนา


- พระพุทธเจ้าสอนให้พวกเราทุกคนหมั่นฝึกฝนจิตใจของตัวให้สะอาด ให้ผ่องแผ้ว
เพื่อความสุขความเจริญ ไม่ใช่สอนเพื่อความทุกข์จน ไม่ได้สอนให้คนโง่ คนเกียจคร้าน
คนมักง่าย สอนให้คนขยันหมั่นเพียร สอนให้คนอดทนต่อสู้


- พวกเราท่าน ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะประพฤติปฏิบัติได้ อย่าไปอ้างกาล อ้างเวลาว่า
วันนี้ฝนตกทำไม่ได้ วันนี้เวลาใดเราควรจะทำ ทำกันไป ชำระกันไป
เพราะกิเลสมันไม่หากาลหาเวลา มันเกิดขึ้นได้ทุกระยะ

- การซักฟอกจิตใจนั้น จะต้องอาศัยความตั้งมั่นของใจ คือสมาธิ
ฝึกอบรมจิตใจให้ตั้งมั่นให้สงบ เพื่อจะพินิจพิจารณาสภาวะต่างๆ ให้เห็นตามความเป็นจริง
ถ้าจิตไม่สงบ จิตไม่ตั้งมั่น จิตไม่มีกำลังของสมาธิ ถึงจะมีปัญญาเฉลียวฉลาด
เฉียบแหลมขนาดไหน พิจารณาไปก็กลายเป็นสัญญา
ไม่สามารถขับไล่กิเลสตัณหาออกไปจากจิตใจของตัวได้


- ศาสนานี้เป็นของดีมีคุณค่าจริงจัง ไม่ใช่ของหลอกลวงโลก คนที่ไม่มีศาสนา
ไม่มีธรรมะในใจเท่านั้น ที่วุ่นวายเดือดร้อนคนที่มีธรรมะในจิตใจจริงจังแล้ว
ท่านจะไม่มีความเดือดร้อนวุ่นวายอะไร


-จงมีสติระลึกอยู่ตลอดเวลา เวลาภาวนา เวลาทำความเพียร
อย่าไปปล่อยให้สัญญาอารมณ์ต่างๆ มายั่วยุชักจูงเอาไป ให้ตั้งใจกำหนดจิตของตัวไว้
มีปัญญาแนะสอนใจ การคิดไป ปล่อยไป มันไม่เกิดสาระประโยชน์


- คนที่ทำบุญสุนทานอยู่บ่อยๆ แทนที่เขาจะอดอยากยากจน ไปขอเขาอยู่เขากิน
ไม่เป็นอย่างนั้น เขาแสวงหาสมบัติพัสถานต่างๆ ก็ได้มาสมบูรณ์พูนสุข
คนที่ตระหนี่เหนียวแน่นกอบโกยกันอยู่ตลอดเวลา ไม่เคยทำบุญสุนทานอะไร แทนที่เขาจะรวย
มั่งมี เขาก็ไม่มีเท่าไร คนที่เขา ทำบุญสุนทาน แทนที่เขาจะยากจนเขาก็ไม่ยากจนเท่าไร
ยังพอเป็นพอไป ด้วยอำนาจผลของทานดลบันดาลมาให้


- ศีลเราก็ควรรักษา เพราะศีลเป็นเรื่องมนุษย์ทุกถ้วนหน้าจะต้องรักษา
มนุษย์ที่ไม่มีศีลก็ไม่แปลกอะไรกับสัตว์ศีลอยู่ในกายในใจ
คนมีศีลเท่านั้นก็มีความสุขความสบายได้


- คนเราเกิดมาจะต้องตายด้วยกันทุกถ้วนหน้า จะแสวงหามาได้มากมายขนาดไหน
ไม่มีทางที่จะห้ามกั้นความตายได้ เพราะความตายไม่ได้ยินดีในสินบนที่คนจะเอาไปให้


- การภาวนาจึงเป็นเรื่องสำคัญ คือดูจิตดูใจของเราเอง ไม่ต้องไปดูที่อื่น
ดูอารมณ์สัญญาเดี๋ยวนี้ว่า มันคิดมันปรุง มันเป็นอารมณ์ดี หรืออารมณ์ชั่ว
จะทำให้ตัวเสียหรือจะทำให้สุขสบาย ต้องตรวจตราพิจารณาดูอารมณ์ของใจ


- ถ้าหากไม่ถึงที่สุด หลุดจากกิเลสตัณหา อย่างนั้นอย่าพากันประมาทเมินเฉย
รีบกระทำบำเพ็ญคุณความดีเอาเสียในเมื่อเรายังไม่ตาย


- เวลายังไม่ตาย ทานเราก็ต้องให้ ศีลเราก็ต้องรักษา
ภาวนาเราก็ต้องกระทำบำเพ็ญไปตามอุปนิสัย

- การแนะสอนใจของตัว คือ จ้องดูความปรุงคิดของจิตของใจ
อารมณ์ที่ผ่านไปไหลมาเห็นในจิตในใจแล้วตรวจตราพิจารณาดูว่าอารมณ์ส่วนนี้
เป็นอารมณ์ที่ทำจิตทำใจของเราให้เจริญรุ่งเรืองไปในทางธรรมหรือไม่
หรือเป็นไปเพื่อทางเสื่อมทางเสีย


- สอนใจด้วยสติด้วยปัญญาพิจารณาเพื่อแก้ไข นี่คือการปฏิบัติขับไล่กิเลส
ปฏิบัติตามอรรถตามธรรมที่พระพุทธเจ้าสอน ถ้าหากขาดสติปัญญาเสียอย่างแล้ว
มันไม่มีทางที่จะประพฤติให้จิตของตัวดีวิเศษได้


ที่มา...หนังสือ ธัมมวโรวาท
ธรรมโอวาทของพระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร
                                                                                       
.......................................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=28984

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้