ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2105
ตอบกลับ: 6
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ความตายที่ท่านยังไม่รู้จัก

[คัดลอกลิงก์]
คัดลอกมาจากหนังสือ

" ความตายที่ท่านยังไม่รู้จัก
พระธรรมเทศนาของพระธรรมาจารย์ "


จัดพิมพ์โดย ธรรมสภา

คำนำ


พระพุทธองค์ตรัสว่า มรณธมฺโมมฺ มรณํ อนตีโต เรามีความตายเป็นธรรมดา หนีความตายไปไม่พ้น

การที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนอย่างนี้ ไม่ได้สอนให้เราทั้งหลายเกิดความกลัวตายหรือเกิดความหวาดหวั่นพรั่นพรึงคิดที่จะหลบหนี

หากแต่ที่ท่านได้ทรงตรัสสอนไว้นั้น เป็นการเตือนให้เราท่านทั้งหลายได้สำนึกแก่ใจอยู่เสมอๆในเรื่องของความตาย จะได้หมดกังวลจากอันตรายทั้งปวงของชีวิตันมีอยู่อย่างมากมาย ทั้งภายใจและภายนอก ซึ่งไม่บอกเวลาตายเป็นเครื่องหมายให้เราได้รู้ล่วงหน้าได้เลย เปรียบเหมือนกับการที่เราโดยสารรถ พอรถหมดระยะทางจึงควรเตรียมตัวละวางจากที่นั่งและลงจากรถทันที

ขณะนี้กรรมส่งให้เรามาโดยสารอยู่ในวิถีชีวิตของมนุษย์ ไม่มีตั๋วหรือไม่มีเครื่องหมายว่าจะสิ้นสุดระยะทางเมื่อไร ที่ไหน เราจึงควรเตรียมตัวของเราให้มีความพร้อมอยู่เสมอ โดยการเจริญมรณัสสติกัมมัฏฐาน นึกถึงความตายไว้บ้าง เป็นการเตรียมตัวเตรียมใจไว้ก่อนที่ความตายจะมาถึง

จะให้ดีที่สุด คือให้ท่านได้หัดตายเสียก่อนตาย กับทั้งมาดำเนินชีวิตของเราให้อยู่แต่ในทางก่อประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ไม่ก่อความเดือดร้อนให้แก่ตนเองและผู้อื่น ด้วยการให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา เมื่อถึงเวลาสิ้นสุดระยะทางเมื่อใด เราท่านทั้งหลายที่ได้ปฏิบัติดังกล่าวมาแล้วนี้ ก็จักลงได้ด้วยความพร้อม ไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลังอีกต่อไป

ความตายไม่ใช่สิ่งน่ากลัวสำหรับทุกคน แต่สิ่งที่น่ากลัวและจะต้องระวังให้มากที่สุดคือระยะเวลาของการเดินทางระหว่างที่ยังไม่ตาย ว่าจะดำเนินชีวิตอย่างไร จึงจะสมฐานะแห่งความเป็นมนุษย์ที่จะแสดงถึงคุณค่าแห่งชีวิตของเรา เมื่อระยะเวลาแห่งชีวิตของเราได้เดินทางมาถึงที่สิ้นสุดแล้ว

การจัดพิมพ์หนังสือ ชุด รวมพระธรรมเทศนาของพระธรรมาจารย์ อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเกิด ความแก่ ความเจ็บและความตาย ที่ประกายธรรมได้รวบรวมและเรียบเรียงไว้ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตที่ทุกคนจะต้องประสบเพื่อให้ท่านสามารถที่จะเผชิญกับปัญหาเหล่านี้ได้ โดยความทุกข์จากปัญหาต่างๆเหล่านี้จะไม่ยังเกิดแก่ท่านอีกต่อไป และเพื่อให้ผู้ที่สนใจได้รับความสะดวกในการศึกษาค้นคว้า และนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์อย่างสมบูรณ์เต็มที่ ธรรมสภาได้แยกพิมพ์ออกเป็น4เล่ม ดังนี้

1. รวมพระธรรมเทศนาเรื่อง ความเกิด..ที่ท่านยังไม่รู้จัก
2. รวมพระธรรมเทศนาเรื่อง ความแก่..ที่ท่านยังไม่รู้จัก
3. รวมพระธรรมเทศนาเรื่อง ความเจ็บ..ที่ท่านยังไม่รู้จัก
4. รวมพระธรรมเทศนาเรื่อง ความตาย..ที่ท่านยังไม่รู้จัก

หนังสือรวมพระธรรมเทศนาของพระธรรมจารย์ในชุดนี้ ธรรมสภาขอปวารณายินดีถวายแด่พระภิกษุ สามเณร ห้องสมุด หรือวัดต่างๆ ที่ทำหนังสือแจ้งความบอกกล่าวไปที่ธรรมสภา เพื่อเป็นการบูชาพระคุณแห่งธรรมาจารย์ผู้เป็นองค์แสดงธรรมทั้งหลาย

ธรรมสภาหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หนังสือชุดนี้จักทำให้ท่านสาธุชนผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย ได้ถึงที่สุดแห่งความไม่รู้ และจักได้เกิดปัญญารู้แจ้งแห่งความจริงของชีวิตได้ในที่สุด

ด้วยความสุจริต หวังดี
ธรรมสภา ปรารถนาให้โลกพบกับความสงบสุข

http://larndham.net/index.php?showtopic=32659

.................................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=18834

2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-10-7 08:21 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ความตาย

โดย สมเด็จพระฐาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ


ทุกคนเกิดมาแล้วล้วนต้องตาย
“ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ทั้งคนพาล ทั้งบัณฑิต
ล้วนไปสู่อำนาจแห่งความตาย
ล้วนมีความตายเป็นเบื้องหน้า”


แทบทุกคนเคยได้รับรู้ความหมายของข้อความข้างต้นนี้อยู่แล้ว แทบทุกคนเคยพูดออกจากปากคนเองมาแล้ว แม้จะไม่ต้องเป็นคำๆ แต่ก็มีความหมายตรงกันกับข้อความข้างต้นนี้ ทั้งยังเป็นการพูดชนิดที่เรียกว่าติดปากอีกด้วย คือพูดอยู่เสมอ ได้รู้ได้เห็นการตายของผู้ใดทีไร ก็มักจะอุทานเป็นการปลงด้วยความหมายดังกล่าวแทบทั้งนั้น

นี่เป็นเพราะทุกคนมีความรู้อยู่แก่ใจว่า ทุกคนเกิดมาต้องตาย ไม่มีสักคนเดียวที่จะหนีความตายพ้น นับว่าทุกคนมีความได้เปรียบอยู่ประการหนึ่งที่มีความรู้นี้ติดตัวติดใจอยู่ แต่แทบทุกคนก็มีความเสียเปรียบอยู่ประการหนึ่ง ที่ไม่เห็นค่าไม่เห็นประโยชน์ของความรู้นี้ จึงมิได้ใส่ใจเท่าที่ควร ปล่อยปละละเลย รู้จึงเหมือนไม่รู้ สิ่งที่เป็นคุณเป็นประโยชน์จึงเหมือนเป็นสิ่งไม่มีค่า

ควรหัดตายก่อนตายไว้เสมอ


ความรู้ว่าทุกคนเกิดมาแล้วต้องตายเป็นสิ่งที่เป็นคุณเป็นประโยชน์ยิ่งใหญ่ แม้ใส่ใจในความรู้นี้ให้เท่าที่ควร ก็จะสามรถนำให้เกิดคุณเกิดประโยชน์แก่ตนเองได้มหาศาล ไม่มีคุณไม่มีประโยชน์ใดอาจะเปรียบปานได้

เพื่อเสริมส่งความรู้นี้ให้บังเกิดคุณประโยชน์ยิ่งใหญ่แก่ตนเองและแก่ส่วนรวม ปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาทั้งหลาย ท่านจึงคงสอนให้หัดตายเสียก่อนถึงเวลาตายจริง ท่านสอนให้หัดตายไว้เสมอ อย่างน้อยก็ควรวันละหนึ่งครั้ง ครั้งละ 5 นาที 10 นาทีเป็นอย่างน้อย

พิจารณาความกลัวตายช่วยให้จิตใจเกิดเมตตา

การหัดตายนั้นบางคนบางพวกน่าจะเริ่มด้วยหัดคิดถึงสภาพเมื่อตนกำลังจะถูกประหัตประหารให้ถึงตายจนได้ แม้จะกลัวแสนกลัว แม้จะพยายามกระเสือกกระสนช่วยตนเองให้รอดพ้นได้อย่างไร ก็หารอดพ้นไม่ด้วยความทรมานทั้งกายทั้งใจ

การหัดตายด้วยเริ่มตั้งแต่ความกลัวตายแบบทารุณโหดร้ายเช่นนี้ มีคุณเป็นพิเศษแก่จิตใจ จักสามารถอบรมบ่มนิสัย ที่แม้เหี้ยมโหดอำมหิตปราศจากเมตตากรุณาต่อชีวิตร่างกายผู้อื่นให้เปลี่ยนแปลงได้

ความคิดที่จะประหัตประหารเขาเพื่อผลได้ของตนจักเกิดได้ยาก หรือจักเกิดไม่ได้เลย เพราะความการพยายามหัดให้รู้สึกหวาดกลัวการถูกประหัตประหารผลาญชีวิตนั้น เมื่อทำเสมอๆ ก็จะมีผลเป็นความเข้าใจถึงความรู้สึกของผู้อื่นที่จะต้องหวาดกลัวเช่นเดียวกัน ความเมตตาปรานีชีวิตผู้อื่นสัตว์อื่นก็จะเกิดขึ้นได้ แม้จะไม่เคยเกิดมาก่อน ซึ่งก็เป็นการเมตตาปรานีชีวิตตนเองไปพร้อมกันด้วยอย่างแน่นอน

ผู้ประหัตประหารเขา แม้จะได้สิ่งที่มุ่ง แต่ผลที่แท้จริงอันจะเกิดจากกรรมคือการประหัตประหารที่ได้ประกิบกระทำลงไปนั้น จักเป็นทุกข์โทษแก่ผู้กระทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กรรมนั้นให้ผลสัตย์ซื่อนัก เหมือนผลของยาพิษร้าย กรรมนั้นเมื่อทำแล้วก็เหมือนดื่มยากพิษร้ายแรงเข้าไปแล้ว จักไม่เกิดผลแก่ชีวิตและร่างกายย่อมไม่มี ย่อมเป็นไปไม่ได้ ถ้าเป็นกรรมดีก็จักให้ผลดี ถ้าเป็นกรรมชั่วก็จักให้ผลชั่ว เราเป็นพุทธศาสนิกชน นับถือพระพุทธศาสนา พึงมีปัญญาเชื่อให้จริงจังถูกต้องในเรื่องกรรมและการให้ผลของกรรมเถิด จักเป็นสิริมงคล เป็นความสวัสดีแก่ตนเอง


ความตายเกิดขึ้นได้แก่.. ทุกคน ทุกหนทุกแห่ง ทุกเวลา


ยุคสมัยนี้น่าจะง่ายพอสมควรสำหรับนึกให้กลัวการประหัตประหารชีวิต เพราะเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นแก่ใครต่อใครไม่ว่างเว้น อาจจะเกิดแก่เราเองวินาทีหนึ่งใดก็ได้ หัดคิดไว้ก่อนจึงเป็นการเตรียมพร้อมที่ไม่ปราศจากเหตุผลแต่เป็นการไม่ประมาท

ความตายเกิดขึ้นได้แก่ทุกคนทุกหนทุกแห่งทุกเวลา พุทธศาสนสุภาษิตกล่าวว่า
“เมื่อสัตว์จะตาย ไม่มีผู้ป้องกัน” และ
“จะอยู่ในอากาศ อยู่กลางสมุทร เข้าไปสู่หลืบเขา ก็ไม่พ้นจากมฤตยูได้
ประเทศคือดินแดนที่มฤตยูจะไม่รุกรานผู้อยู่ ไม่มี”

เราจะถูกมฤตยูรุกรานเมื่อไรที่ไหนเราไม่รู้ หายใจออกครั้งนี้แล้ว เราอาจะไม่ได้หายใจเข้าอีก เมื่อถึงเวลาจะต้องตาย ไม่มีผู้ใดจะผัดเพี้ยนได้ ไม่มีผู้ใดจะช่วยได้ เพราะเมื่อสัตว์จะตาย ไม่มีผู้ป้องกัน และความผัดเพี้ยนกับมฤตยูอันมีกองทัพใหญ่นั้นไม่ได้เลย

ทุกย่างก้าวของทุกคนไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่แห่งหนตำบลใด จึงทำไมถึงมือมฤตยูได้ ผู้ร้ายก็เคยตกอยู่ในมือมฤตยู ในขณะที่กำลังเหนื่อยกายเหนื่อยใจ ใช้หัวคิดทุ่มเทเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายสูงสุดของตน ผู้ที่กำลังยิ้มแย้มแจ่มใสมีความสุขกับครอบครัว เคี้ยวข้าวอยู่ในปากแท้ๆ ก็เคยตกอยู่ในเงื้อมมือของมฤตยูโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว

ผู้เหินห่างฟ้าอยู่บนเครื่องบินใหญ่โตมโหฬารราวกับตึก ก็เคยอยู่ในมือมฤตยูโยไม่คาดคิด ผู้โดยสารเรือสมุทรใหญ่ก็เคยตกอยู่ในมือมฤตยูพร้อมกันมากมายหลายชีวิต นักไต่เขาผู้สามารถก็เคยหายสายสูญในขณะกำลังไต่เขาโดยตกเข้าไปอยู่ในมือมฤตยู ทั้งหมดนี้เป็นเครื่องยืนยันสัจจะแห่งพุทธศาสนสุภาษิตที่ยกขึ้นแสดงแล้วทั้งสิ้น
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-10-7 08:22 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
หัดตายเพื่อปล่อยใจจากสิ่งทั้งหลาย

ปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาคือผู้มีปัญญา ท่านจึงสอนให้เร่งอบรมมรณสติ นึกถึงความตาย หัดตายก่อนตายจริง จุดมุ่งหมายสำคัญของการหัดตาย ก็คือเพื่อปล่อยใจจากสิ่งทั้งหลาย ก่อนที่จะถูกความตายบังคับให้ปล่อยกิเลสเครื่องเศร้าหมองใจ ตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก อุปทานความยึดมั่นถือมั่นทั้งหลายทั้งปวง หัดใจให้ปล่อยเสียพร้อมกับหัดตาย สิ่งอันเป็นเหตุให้โลภให้โกรธให้หลงให้เกิดตัณหาอุปาทาน หัดละเสียปล่อยเสียพร้อมกับหัดตาย ซึ่งจะมาถึงเราทุกคนเข้าจริงๆได้ทุกวินาที

กิเลสไม่เป็นคุณแก่ผู้ตาย

บางทีจะมีปัญหาว่า มีคุณพิเศษอย่างใดหรือที่จะควรละหรือเพียรหัดละความโลภ ความโกรธ ความหลง ตัณหา อุปทานตั้งแต่ก่อนตาย จะไม่พูดถึงจุดประเสริฐสูงสุดในพระพุทธศาสนา คือ มรรคผลนิพพาน อันจะเกิดขึ้นได้เพราะการละกิเลสสำคัญสามกองเท่านั้น แต่จะพูดถึงผลได้ผลเสียธรรมดาๆ ที่แท้ พิจารณาพอสมควรก็จะเข้าใจ

อันความโลภโกรธความหลงตัณหาอุปาทานนั้น บางครั้งบางคราวก็ทำให้ผู้ยังมีชีวิตอยู่ทั้งหลายได้รับวัตถุตอบสนองสมปรารถนา เช่น ผู้มีความโลภอยากได้ข้าวของทรัพย์สินเงินทองของผู้อื่น บางครั้งบางคราวก็อาจขอเขาโกงเขาลักขโมยเขา ได้สิ่งที่โลภอยากได้เป็นของตนสมปรารถนา หรือผู้ที่มีความโกรธ อยากว่าเขาอยากทำร้ายร่างกายเขา บางครั้งบางคราวก็อาจได้สำเร็จสมใจ แต่ถ้าตกอยู่ในมือมฤตยูแล้ว เป็นคนตายแล้ว แม้ยังมีความโลภ ความโกรธ ความหลงอุปทานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับจิตใจ

ผู้ที่ตายแล้วจะไม่สามารถใช้กิเลสกองหนึ่งกองใดให้เกิดผลสนองความปรารถนาต้องการได้เลย ผู้ตายแล้วที่มีความโลภก็ไม่อาจขอเขาลักขโมยเขาได้ หรือผู้ตายแล้วที่มีความโกรธก็ไม่อาจว่าเขาทำร้ายร่างกายเขาได้ กล่าวได้ว่าแม้ใจของผู้ที่ตายแล้ว จะยังมีความโกรธ ความโลภ ความหลงตัณหาอุปาทานอยู่มากมายเพียงไร ก็จะไม่สามารถก่อให้เกิดผลดีอันเป็นคุณแก่ตนหรือแก่ผู้ใดได้เลย มีแต่ผลร้ายอันเป็นโทษสถานเดียวจริง
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-10-7 08:22 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เหตุที่กิเลสเป็นโทษแก่ผู้ตาย

ปัญหาสืบเนื่องว่า ไฉนเมื่อกิเลสเป็นคุณแก่ผู้ตายแล้วไม่ได้ จึงเป็นโทษแก่ผู้ตายได้นั้น มีคำตอบดังนี้ เมื่อลมหายใจออกจากร่างไม่กลับเข้าอีกแล้ว สิ่งที่เป็นนามและไม่เห็นด้วยสายตา เช่นเดียวกับลมหายใจ คือจิตก็จะออกจากร่างนั้นด้วย จิตจะออกจากร่างโดยคงสภาพเดิม คือพร้อมด้วยกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งปวงที่มีอยู่ในจิตขณะยังอยู่ในร่าง คือยังเป็นจิตของคนเป็นของคนยังไม่ตาย

พระพุทธองค์ทรงกล่าวว่า

“ผู้ละโลกนี้ไปในขณะที่จิตเศร้าหมอง ทุคติเป็นอันหวังได้”

กิเลสทั้งปวงเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต จิตที่มีกิเลสเป็นจิตที่เศร้าหมอง กิเลสมากจิตก็เศร้าหมองมาก กิเลสน้อยจิตก็เศร้าหมองน้อย จิตที่มีกิเลศเศร้าหมอง เมื่อละจากร่างไปสู่ภพภูมิใด ก็จะคงกิเลสนั้นอยู่ คงความเศร้าหมองนั้นไว้ ภพภูมิที่ไปจึงเป็นทุคติ คติที่ชั่ว คติที่ไม่ดี มากน้อยหนักเบาตามกิเลสตามความเศร้าหมองของจิต

กิเลสทั้งปวงเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต

อันคำว่า “จิตเศร้าหมอง” ที่ท่านใช้ในที่นี้มิได้หมายความเพียงว่าเป็นจิตที่หดหู่อยู่ด้วยความเศร้าโศกเสียใจเท่านั้น แต่ “จิตเศร้าหมอง” หมายถึงจิตที่ไม่บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว คือ เศร้าหมองด้วยกิเลส ดังกล่าวแล้วว่า จิตมีกิเลสมากก็เศร้าหมองมาก จิตมีกิเลศน้อยก็เศร้าหมองน้อย

อันกิเลศกองหลังหรือโมหะนั้นเป็นกองใหญ่กองสำคัญ เป็นเหตุแห่งโลภะและโทสะ ความหลงหรือโมหะนั้นคือความรู้สึกที่ไม่ถูก ความรู้สึกที่ไม่ชอบ ความรู้สึกที่ไม่ควร คนมีโมหะคือคนหลง ผู้มีความรู้สึกไม่ถูกไม่ชอบไม่ควรทั้งหลายคือคนมีโมหะ คือคนหลง เช่น หลงตน หลงคน หลงอำนาจ เป็นต้น


คนหลงตน

คนหลงตนเป็นคนมีโมหะ มีความรู้สึกที่ไม่ถูกไม่ชอบไม่ควรในตนเอง คนหลงตนจะมีความรู้สึกว่าตนเป็นผู้ที่มีความดี ความสามารถ ความวิเศษเหนือใครทั้งหลายเกินความจริง ซึ่งเป็นความรู้สึกในตนเองที่ไม่ถูกไม่ชอบไม่ควร

เมื่อมีความรู้สึกอันเป็นโมหะความหลง โลภะและโทสะก็จักเกิดตามมาได้โดยไม่ยาก เมื่อหลงตนว่าดีวิเศษเหนือคนทั้งหลาย ความโลภเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งอันสมควรแก่ความดีความวิเศษย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา

ความโกรธด้วยไม่ต้องการให้ความดีความวิเศษเป็นธรรมดา ความโกรธด้วยไม่ต้องการให้ความดีความวิเศษเป็นธรรมดา ความโกรธด้วยไม่ต้องการให้ความดีความวิเศษนั้นถูกเปรียบเทียบหรือถูกลบล้างย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา นี้เป็นตัวอย่าง


คนหลงคน

คนหลงคนเป็นคนมีโมหะ มีความรู้สึกที่ไม่ถูกไม่ชอบไม่ควรในคนทั้งหลาย คนหลงคนจะมีความรู้สึกว่าคนนั้นคนนี้ที่ตนหลงมีความสำคัญ มีความดีความวิเศษเหนือคนอื่นเกินความจริง ซึ่งเป็นเป็นความรู้สึกในคนนั้นๆ ที่ไม่ถูกไม่ชอบไม่ควร

เมื่อมีความรู้สึกอันนี้เป็นโมหะ โลภะและโทสะก็จักเกิดตามมาได้โดยไม่ยาก เมื่อหลงคนใดคนหนึ่งว่ามีความสำคัญความดีความวิเศษเหนือคนอื่น ความรู้สึกมุ่งหวังเกี่ยวกับคนใดคนหนึ่งนั้นเป็นโลภะ และเมื่อมีความหวังก็ต้องมีได้ทั้งความสมหวังและความผิดหวังเป็นธรรมดา ความรู้สึกผิดหวังนั้นเป็นโทสะ นี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของความหลง คือหลงคน
5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-10-7 08:23 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
คนหลงอำนาจ

คนหลงอำนาจเป็นคนมีโมหะ มีความรู้สึกที่ไม่ถูกไม่ชอบ ไม่ควรในอำนาจที่ตนมี คนหลงอำนาจจะมีความรู้สึกว่าอำนาจที่ตนมีอยู่นั้นยิ่งใหญ่เหนืออำนาจทั้งหลายเกินความจริง ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ไม่ถูกไม่ชอบไม่ควร

เมื่อมีความรู้สึกอันนี้เป็นโมหะ โลภะและโทสะก็จักตามมาได้โดยไม่ยาก เมื่อหลงอำนาจของตนว่ายิ่งใหญ่เหนืออำนาจทั้งหลาย ย่อมเกิดความเหิมเห่อทะเยอะทะยาน ในการใช้อำนาจนั้นให้เกิดผลเสริมอำนาจของจนยิ่งๆขึ้น ความรู้สึกนี้จัดเป็นโลภะได้ และแม้ไม่เป็นไปดังความเหิมเห่อทะเยอทะยาน ความผิดหวังนั้นจักเป็นโทสะ นี้เป็นตัวอย่างของความหลงคือหลงอำนาจ


ทุคติของคนหลง

ผู้มีโมหะมากคือมีความหลงมาก มีความรู้สึกที่ไม่ถูกไม่ชอบไม่ควรมากในตน ในคน ในอำนาจ ย่อมปฏิบัติผิดได้มาก ก่อทุกข์โทษภัยให้เกิดได้มาก ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่นทั้งแก่ส่วนน้อยและส่วนใหญ่ รวมถึงแก่ประเทศชาติศาสนาพระมหากษัตริย์ พระพุทธดำรัสที่ว่า “ผู้ละโลกนี้ไปในขณะที่จิตเศร้าหมอง ทุคติเป็นอันหวังได้”นั้น มีตัวอย่างที่จักยกขึ้นประกอบการพิจารณาให้เข้าใจพอสมควร ดังนี้

บุคคลผู้มีโมหะมาก หลงตนมาก จัดเป็นพวกมีกิเลสมาก จิตเศร้าหมองมากจะเป็นผู้ขาดความอ่อนน้อม แม้แต่ต่อผู้ควรได้รับความอ่อนน้อมอย่างยิ่ง บุคคลเหล่านี้เมื่อละโลกนี้ไปในขณะที่ยังมิได้ละกิเลศ คือ มีโมหะให้น้อย จิตย่อมเศร้าหมองย่อมไปสู่ทุคติ ทุคติของผู้หลงตนจนไม่มีความอ่อนน้อมต่อผู้ควรได้รับความอ่อนน้อมอย่างยิ่ง คือจักเกิดในตระกูลที่ต่ำ

ตรงกันข้ามกับผู้ที่มีความต่อผู้ที่ควรได้รับความอ่อนน้อมที่จะได้ไปสู่สุคติ คือจักเกิดในตระกูลที่สูง นี้เป็นเรื่องหนึ่งซึ่งชัดแจ้งเกี่ยวกับกรรมและการรับผลของกรรมนั้น ทำดีจักได้ดี ทำชั่วจักได้ชั่ว ทำเช่นใดจักได้เช่นนั้น ความไม่อ่อนน้อมต่อผู้ควรได้รับความอ่อนน้อมเป็นกรรมไม่ดี การเกิดในตระกูลที่ต่ำเป็นผลของกรรมไม่ดี เป็นผลที่ตรงตามเหตุแท้จริง เพราะผู้ที่เกิดในตระกูลต่ำ ปกติย่อมไม่ได้รับความอ่อนน้อมจากคนทั้งหลาย ส่วนผู้เกิดในตระกูลที่สูง ปกติย่อมได้รับความอ่อนน้อม ความอ่อนน้อมที่ผู้เกิดในตระกูบสูงมีแกติได้รับนั้นเป็นผลที่เกิดจากเหตุอันเป็นกรรมดีคือความอ่อนน้อม

ทรัพย์สักนิดก็ติดตามคนตายไปไม่ได้

ที่กล่าวมาแล้วเป็นการยืนยันว่า ผู้มีปัญญาควรปฏิบัติตามคำแนะนำของปราชญ์ทางพระพุทธศาสนา หัดตายก่อนที่จะตายจริง หัดปล่อยใจจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองใจพร้อมกับการหัดตาย ก่อนที่จะถูกความตายมาบังคับให้เป็นไป

การหัดตายที่ปราชญ์ในพระพุทธศาสนาท่านแนะนำ คือการหัดอบรมความคิดสมมุติว่า ตนเองในขณะนั้นปราศจากชีวิตแล้ว ตายแล้ว เช่นเดียวกับผู้ที่ตายแล้วจริงๆทั้งหลาย คิดให้เห็นชัดในขณะนั้นว่า เมื่อตายแล้วตนจะมีสภาพอย่างไร ร่างที่เคยเคลื่อนไหวได้ก็จะหยุดนิ่ง อย่าว่าแต่จะลุกขึ้นไปเก็บรวบรวมเงินทองของข้าวที่อุตส่าห์สะสมไว้เพื่อนำไปด้วยเลย

จะเขยิบให้พ้นแดดพ้นมดสักนิ้วสักคืบก็ยังทำไม่ได้ หมดลมที่ตรงไหนก็จะเคลื่อนพ้นที่ตรงนั้นไปด้วยตนเองก็ไม่ได้ เมื่อมีผู้มายกไปนำไปที่ยังที่ซึ่งเขากำหนดว่าเหมาะว่าควร ก็ไม่อาจขัดขืนโต้แย้งได้ แม้บ้านอันเป็นที่รักที่หวงแหนเขาก็จะไม่ให้ได้อยู่ จะยกไปวัดเคยนอนบนฟูกบนเตียงในห้องกว้าง ประตูหน้าต่างเปิดโปร่ง เขาก็จับใส่ลงไปในโลงศพที่แคบอับทึบ ไม่มีประตูไม่มีหน้าต่าง ตีตะปูปิดสนิทแน่น ไม่ให้มีแม้แต่ช่องลมและอากาศ จะร้องก็ไม่ดัง จะประท้วงหรืออ้อนวอนก็ไม่สำเร็จ ไม่มีใครสนใจ

สามีภริยา มารดาบิดา บุตรธิดา ญาติสนิทมิตรทั้งหลายที่เคยรักห่วงใยกันนักหนาก็ไม่มีใครมาอยู่ด้วยแม้สักคน อย่าว่าแต่จะเข้าไปนั่งไปนอนในโลงศพด้วยเลย แม้แต่จะนั่งเป็นอยู่ข้างโลงทั้งวันทั้งคืนยังไม่มีใครยอม บ้านใครเรือนใครก็พากันกลับหมดทิ้งเราไว้แต่ลำพังในวัดที่อ้างว้างมีศาลาตั้งศพ มีเมรุเผาศพมีเชิงตะกอน มีศพที่เผาเป็นเถ้าถ่านแล้วบ้าง ยังไม่ได้เผาบ้างมากมายหลายศพ

ที่นี้เมื่อยังไม่ตาย เราเคยกลัว เคยรังเกียจ แต่เมื่อตายเราก็หนีไม่พ้น เรามีอะไรหรือในขณะนั้นเราไม่มีอะไรเลย มือเปล่าเกลี้ยงเกลาไปทั้งเนื้อทั้งตัว เงินสักบาททองสักเท่าหนวดกุ้งก็ไม่มีติด มีแต่ตัวแท้ๆ เขาไม่ได้แต่เครื่องเพชรเครื่องทองของมีค่า หรือมอบกระเป๋าใส่เงินใส่ทองให้เลย

อย่างดีเราก็มีเพียงเสื้อผ้าที่เขาเลือกสวมใส่แต่ศพให้ไปเท่านั้น ซึ่งไม่กี่วันจะชุ่มเลือกชุ่มน้ำเหลืองที่ไหลจากตัว มีใครเล่าจะมาเปลี่ยนชุดใหม่ให้ ทั้งๆที่ก็สะสมไว้มากมายหลายชุด ที่ล้วนเป็นที่ชอบอกชอบใจว่าสวนว่างาม โอกาสที่จะได้ใช้เงินใช้เสื้อผ้าอาภรณ์เครื่องเพชร เครื่องทองเหล่านั้นสิ้นสุดลงแล้วพร้อมกับลมหายใจ พร้อมกับชีวิตที่สิ้นสุดนั่นเอง ไม่คุ้มกันเลยกับความเหนื่อยยากแสดงว่าหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่คุ้มกันเลยกับที่ถ้าจะต้องแสวงหามาสะสมโดยไม่ถูกไม่ชอบด้วยประการทั้งปวง ที่เป็นบาปเป็นอกุศล เป็นการเบียดเบียนก่อนทุกข์ก่อภัยให้ผู้อื่น

หัดนึกถึงร่างกายตนเองที่ตายแล้วขึ้นอืดอยู่ในโลง เริ่มปริแตกมีน้ำเลือดน้ำหนองไหลออกทุกขุมขน เส้นผมเปียกแฉะด้วยเลือดและหนอง ลิ้นที่เคยอยู่ในปากเรียบร้อยก็หลุดออกมาจุก นัยน์ตาถลนเหลือกลานรูปร่างหน้าตาตนเองขณะนั้น อย่าว่าแต่จะให้ใครอื่นจำได้เลย แม้แต่ตัวเองก็จำไม่ได้ อย่าง่าแต่จะให้ใครอื่นไม่รังเกียจสะดุ้งกลัวเลย แม้แต่ตัวเองก็ต้องยากจักห้ามความรู้สึกนั้น ผิวพรรณที่อุตสาหพยายามถนอมรักษาให้งดงามเจริญตาเจริญใจ ด้วยหยูกยาทั้งหลาย มีลักษณะตรงกันข้ามกับความปรารถนาอย่างสิ้นเชิงเมื่อความตายมาถึง

เมื่อความตายมาถึง ไม่มีผู้ใดจะสามารถถนอมรักษาหวงแหนทะนุบำรุงร่างของตนเองไว้ได้ แม้สมบัติพัสถานที่แสวงหาไว้ระหว่างมีชีวิตจนเต็มสติปัญญาความสามารถด้วยเล่ห์ด้วยกลก็ตาม เพื่อใช้ทะนุถนอมรักษาเชิดชูบำรุงร่างของตน ก็ติดกับร่างไปไม่ได้เลย เป็นจริงดังพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า “ทรัพย์สักนิดก็ติดตามคนตายไปไม่ได้” ให้ความสุขความสมบูรณ์ความสะดวกสบายความปกป้องคุ้มกันร่างของคนตายไม่ได้ ต้องปล่อยให้ร่างนั้นผุพังเน่าเปื่อยคืนสู่สภาพเดิม เป็นดินน้ำไฟลมประจำโลกต่อไป ต้องตามพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า “สัตว์ทั้งปวงจักทอดทิ้งร่างไว้ในโลก"
6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-10-7 08:24 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พุทธศาสนิกชนเชื่อว่ามีชาติก่อนและชาติหน้า

ผู้มีความเข้าใจว่าตายแล้วจะไปเกิดเป็นอะไร สุขทุกข์อย่างไร เราไม่รับรู้ด้วยแล้ว จึงไม่มีความหมาย นี้เป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง เป็นโมหะสำคัญ ก็ที่เราเกิดเป็นนั้นเป็นนี่ในชาตินี้ ทำไมเราจึงรู้สึกสุขรู้สึกทุกข์ ทั้งๆที่เราไม่รู้ว่าเกี่ยวข้องกับชาติก่อนอย่างไร พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่เชื่อว่ามีชาติในอดีตและชาติในอนาคต เชื่อว่าก่อนที่จะมาเกิดในชาตินี้ได้เคยเกิดชาติอื่นมาแล้ว และจะต้องเกิดในชาติหน้าต่อไปอีกไม่รู้กี่ชาติต่อกี่ชาติ ถ้ายังทำกิเลสให้สิ้นไปไม่ได้ แต่ทั้งที่เชื่อเช่นนี้ก็ยังมีเป็นอันมากที่มีโมหะ หลงเข้าใจผิดอย่างยิ่งดังกล่าวแล้วว่าจบสิ้นความเป็นคนในชาตินี้แล้ว เราก็ไม่รู้เรื่องรู้ราวเกี่ยวกับชาติต่อไป

เพราะฉะนั้นก็สำคัญที่ต้องแสวงหาความสุขสมบูรณ์ให้คนเองให้เต็มที่ในชาตินี้ ผู้ใดมีโมหะหลงคิดผิดเช่นนี้ ผู้นั้นก็จะสามารถทำความผิดร้ายได้ทุกอย่าง เพื่อประโยชน์ตน ทรยศคดโกง เบียดเบียนทำลายเขาแม้กระทั่งชีวิต ก็ทำได้เป็นการสร้างกรรมที่จะให้ผลแก่ตนเองแน่นอน และจะต้องเสวยผลเสวยทุกขเวทนาทั้งในโลกนี้และเมื่อละโลกนี้ไปแล้วตามกรรมของตน ต้องตามพุทธสุภาษิตว่า “กรรมของตนเองย่อมนำไปสู่ทุคติ”


ควรใช้ชีวิตให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

ปราชญ์กล่าวว่า ชีวิตนี้น้อยนัก พึงมีปัญญาขยายความนี้ให้ดีว่าเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ชีวิตนี้น้อยนักก็คือชีวิตในชาตินี้น้อยนัก ชีวิตในชาติข้างหน้ายาวนานมิอาจประมาณได้ ฉะนั้นแม้รักตนจริงก็ควรรักให้ตลอดไป ถึงชีวิตข้างหน้าด้วย ไม่ใช่จะคิดเพียงสั้นๆ รักแต่ชีวิตนี้เท่านั้น หาความสมบูรณ์พูนสุขให้ชีวิตนี้ในขอบเขตที่ถูกทำนองคลองธรรมเถิด ผลแห่งกรรมทั้งในชาตินี้และหน้าต่อๆไป ที่จะต้องเสวยจะได้ไม่เป็นผลร้าย ไม่เป็นผลของบาปกรรม

คนไม่ได้อายุยืนด้วยทรัพย์

ชีวิตใครใครก็รัก ชีวิตเราเราก็รัก ชีวิตเขาเขาก็รัก ความตายเรากลัว ความตายเขากลัว ของของใครใครก็หวง ของของเราเราก็หวง จะลักจะโกงจะฆ่าจะทำร้ายใครสักคน ขอให้นึกกลับกันเสีย ให้เห็นเขาเป็นเรา เราเป็นเขา คือเขาเป็นผู้จะลักจะโกงจะฆ่าจะทำร้ายเรา เราเป็นเขาผู้จะถูกลักถูกโกงถูกฆ่าถูกทำร้าย ลองนึกเช่นนี้ให้เห็นชัดเจน แล้วดูความรู้สึกของเรา จะเห็นว่าทีเต็มไปด้วยโมหะนั้นจะเปลี่ยนเป็นเมตตากรุณาอย่างลึกซึ้ง ข่าวผู้พยายามป้องกันสมบัติของตนจนเสียชีวิตนั้นน่าสลดสังเวชยิ่งนัก หรือข่าวผู้แม้กำลังจะสิ้นชีวิตแล้วแต่ก็ยังพยายามกระเสือกกระสนรักษาสมบัติมีค่าของตนที่ติดตัวอยู่ก็น่าสงสารอย่างที่สุด พบข่าวเหล่านี้เมื่อไรขอให้นึกถึงใจคนเหล่านั้น อย่าคิดทำร้ายอย่าคิดเบียดเบียนกันเลย ทุกคนจะต้องตายและจะตายในเวลาไม่นาน

คนไม่ได้อายุยืนด้วยทรัพย์ จะทำทุกวิถีทางแม้ที่ชั่วช้าโหดร้ายเพื่อได้มาซึ่งทรัพย์ทำไมเล่า ความโลภโดยไม่มีขอบเขตนั้นเป็นทุกข์หนักนัก ตนเองทุกข์เพราะความอยากได้แล้วก็แผ่ความทุกข์ความเดือดร้อนไปถึงคนอื่นอย่างน่าอเนจอนาจ ขอแนะนำว่าถ้าทุกข์ถ้าร้อนเพราะความอยากได้ไม่สิ้นสุด จะไม่สามารุดับความทุกข์นั้นได้ด้วยวิธีลักขโมยคดโกงหรือประหัตประหารผู้ใด แต่จะดับทุกข์นั้นได้ด้วยทำกิเลสให้หมดจดเท่านั้น และขออำนวยพร


(จบในส่วนของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ :ยังมีต่อ)

http://larndham.net/index.php?showtopic=32659

............................................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=18834

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้