ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต วัดป่าสุทธาวาส ~

[คัดลอกลิงก์]
11#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-5-21 15:13 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ขณะที่ม้ากำลังวิ่งไปนั้น ได้แลเห็นตู้ใบหนึ่ง ในความรู้สึกว่าเป็นตู้พระไตรปิฎกซึ่งวิจิตรด้วยเงินสีขาวงดงามมาก ม้าได้พาท่านตรงเข้าไปสู่ตู้นั้นโดยมิได้บังคับ พอถึงตู้พระไตรปิฎกม้าก็หยุด ท่านก็รีบลงจากหลังม้าทันทีด้วยความหวังจะเปิดดูตู้พระไตรปิฎกที่ตั้งอยู่เฉพาะหน้า ส่วนม้าก็ได้หายตัวไปในขณะนั้น โดยมิได้กำหนดว่าได้หายไปในทิศทางใด
ท่านได้เดินตรงเข้าไปหาตู้พระไตรปิฎกที่ตั้งอยู่ที่สุดของทุ่งอันกว้างนั้น ซึ่งมองจากนั้นไปเห็นมีแต่ป่ารกชัฏที่เต็มไปด้วยขวากหนามต่าง ๆ ไม่มีช่องทางพอจะเดินต่อไปอีกได้ แต่มิทันจะเปิดดูตู้พระไตรปิฎกว่ามีอะไรอยู่ข้างในบ้าง เลยรู้สึกตัวตื่นขึ้น
สุบินนิมิตนั้นเป็นเครื่องแสดงความมั่นใจว่า จะมีทางสำเร็จตามใจหวังอย่างแน่นอนไม่เป็นอย่างอื่น ถ้าไม่ลดละความเพียรพยายามเสียเท่านั้น
จากนั้นท่านได้ตั้งหน้าประกอบความเพียรอย่างเข้มแข็ง มีบทพุทโธเป็นคำบริกรรมประจำใจในอิริยาบถต่าง ๆ อย่างมั่นใจ
ส่วนธรรมคือธุดงควัตรที่ท่านศึกษาเป็นประจำด้วยความรักสงวนอย่างยิ่งตลอดมา นับแต่เริ่มอุปสมบทจนถึงวันสุดท้ายปลายแดนแห่งชีวิต ได้แก่
ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ไม่รับคหปติจีวรที่เขาถวายด้วยมือ ๑
บิณฑบาตเป็นวัตรประจำวันไม่ลดละ เว้นเฉพาะวันที่ไม่ฉันเลยก็ไม่ไป ๑
ไม่รับอาหารที่ตามส่งทีหลัง คือรับเฉพาะที่ได้มาในบาตร ๑
ฉันมื้อเดียว คือฉันวันละหน ไม่มีอาหารว่างใด ๆ ที่เป็นอามิสเข้ามาปะปนในวันนั้น ๆ ๑
ฉันในบาตร คือมีภาชนะใบเดียวเป็นวัตร ๑
อยู่ในป่าเป็นวัตร คือเที่ยวอยู่ตามร่มไม้บ้าง ในป่าธรรมดา ในภูเขาบ้าง หุบเขาบ้าง ในถ้ำ ในเงื้อมผาบ้าง ๑
ถือผ้าไตรจีวรเป็นวัตร คือมีผ้า ๓ ผืน ได้แก่ สังฆาฏิ จีวร สบง (เว้นผ้าอาบน้ำฝนซึ่งจำเป็นต้องมีในสมัยนี้) ๑
ธุดงค์นอกจากนี้ท่านก็สมาทานและปฏิบัติเป็นบางสมัย ส่วน ๗ ข้อนี้ท่านปฏิบัติเป็นประจำ จนกลายเป็นนิสัยซึ่งจะหาผู้เสมอได้ยากในสมัยปัจจุบัน
ท่านมีนิสัยทำจริงในงานทุกชิ้นทั้งกิจนอกการในไม่เหลาะแหละ มีความมุ่งหวังต่อแดนหลุดพ้นอย่างเต็มใจ ในอิริยาบถต่าง ๆ เต็มไปด้วยความพากเพียรเพื่อถอดถอนกิเลสทางภายใน ไม่มีความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมเข้ามาแอบแฝงได้ ทั้ง ๆ ที่มีกิเลสเหมือนสามัญชนทั่ว ๆ ไป เพราะท่านไม่ยอมปล่อยใจให้กิเลสย่ำยีได้ มีการต้านทานห้ำหั่นด้วยความเพียรอย่างไม่ลดละ ซึ่งผิดกับคนธรรมดาอยู่มาก (ตามท่านเล่าให้ฟังในเวลาบำเพ็ญ)
ในระยะต่อมาที่แน่ใจว่าจิตมีหลักฐานมั่นคงพอจะพิจารณาได้แล้ว ท่านจึงย้อนมาพิจารณาสุบินนิมิตจนได้ความโดยลำดับว่า
12#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-5-21 15:13 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
การออกบวชปฏิบัติตนสมควรแก่ธรรมก็เท่ากับการยกระดับจิตให้พ้นจากความผิดมีประเภทต่าง ๆ ซึ่งเปรียบเหมือนบ้านเรือนอันเป็นที่รวมแห่งสรรพทุกข์ และป่าอันรกชัฏทั้งหลายอันเป็นที่ซุ่มซ่อนแห่งภัยทั้งปวง ให้ถึงที่เวิ้งว้างไม่มีจุดหมาย ซึ่งเมื่อเข้าถึงแล้ว เป็นคุณธรรมที่แสนสบายหายกังวลโดยประการทั้งปวง

ด้วยปฏิปทาข้อปฏิบัติที่เปรียบเหมือนม้าตัวองอาจเป็นพาหนะขับขี่ไปถึงที่อันเกษม และพาไปพบตู้พระไตรปิฎกอันวิจิตรสวยงาม แต่วาสนาไม่อำนวยสมบูรณ์ จึงเป็นเพียงได้เห็น แต่มิได้เปิดตู้พระไตรปิฎกออกชมอย่างสมใจเต็มภูมิแห่งจตุปฏิสัมภิทาญาณทั้งสี่ อันเป็นคุณธรรมยังผู้เข้าถึงให้เป็นผู้ฉลาดปราดเปรื่องเลื่องลือระบือทั่วไตรโลกธาตุ มีความฉลาดกว้างขวางในอุบายวิธีประหนึ่งท้องฟ้ามหาสมุทร ไม่มีความคับแค้นจนมุมในการอบรมสั่งสอนหมู่ชนทั้งเทวดาและมนุษย์ทุกชั้น
แต่เพราะกรรมอันดีเยี่ยมไม่เพียงพอ บารมีไม่ให้ โอกาสวาสนาไม่อำนวย จึงเป็นเพียงได้ชมตู้พระไตรปิฎก และตกออกมาเป็นผลให้ท่านได้รับเพียงชั้นปฏิสัมภิทานุศาสน์ มีเชิงฉลาดในเทศนาวิธีอันเป็นบาทวิถีแก่หมู่ชนพอเป็นปากเป็นทางเท่านั้น ไม่ลึกซึ้งกว้างขวางเท่าที่ควร


ทั้งนี้แม้ท่านจะพูดว่า การสั่งสอนของท่านพอเป็นปากเป็นทางอันเป็นเชิงถ่อมตนก็ตาม แต่บรรดาผู้ที่ได้เห็นปฏิปทาคือข้อปฏิบัติที่ท่านพาดำเนินและธรรมะที่ท่านนำมาอบรมสั่งสอน แต่ละบทละบาท แต่ละครั้งละคราว ล้วนเป็นความซาบซึ้งใจไพเราะเหลือจะพรรณนาและยากที่จะได้เห็นได้ยินจากที่อื่นใดในสมัยปัจจุบัน ซึ่งเป็นสมัยที่ต้องการคนดีอยู่มาก
13#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-5-21 15:14 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
หลวงปู่มั่นเกิดสมาธินิมิต

มื่อท่านพักอบรมภาวนาด้วยบทพุทโธ อยู่ที่วัดเลียบ จังหวัดอุบลฯ ขณะที่จิตสงบลง ปรากฏเป็นอุคหนิมิตขึ้นมาในลักษณะคนตายอยู่ต่อหน้า แสดงอาการพุพองมีน้ำเน่าน้ำหนองไหลออกมา มีแร้งกาและสุนัขมากัดกินและยื้อแย่งกันอยู่ต่อหน้าท่าน จนซากนั้นกระจัดกระจายไปทั่วบริเวณ เป็นที่น่าเบื่อหน่ายและสลดสังเวชเหลือประมาณในขณะนั้น เมื่อจิตถอนขึ้นมา ในวาระต่อไปไม่ว่าจะนั่งภาวนา เดินจงกรม หรืออยู่ในท่าอิริยาบถใด ท่านก็ถือเอานิมิตนั้นเป็นเครื่องพิจารณาโดยสม่ำเสมอไม่ลดละ จนนิมิตแห่งคนตายนั้นได้กลับกลายมาเป็นวงแก้วอยู่ต่อหน้าท่าน
เมื่อเพ่งพิจารณาวงแก้วนั้นหนัก ๆ เข้าก็ยิ่งแปรสภาพไปต่าง ๆ ไม่มีทางสิ้นสุด ท่านพยายามติดตามก็ยิ่งปรากฏเป็นรูปร่างต่าง ๆ จนไม่มีประมาณว่าความสิ้นสุดแห่งภาพนิมิตจะยุติลง ณ ที่ใด ยิ่งเพ่งพิจารณาก็ยิ่งแสดงอาการต่าง ๆ ไม่มีสิ้นสุด
โดยเป็นภูเขาสูงขึ้นเป็นพัก ๆ บ้าง ปรากฏว่าองค์ท่านสะพายดาบอันคมกล้าและเท้าทั้งสองมีรองเท้าสวมอยู่บ้าง แล้วเดินไป-มาบนภูเขานั้นบ้าง ปรากฏเห็นกำแพงขวางหน้ามีประตูบ้าง ท่านเปิดประตูเข้าไปดูเห็นมีที่นั่งและที่อยู่ของพระ ๒-๓ รูป กำลังนั่งสมาธิอยู่บ้าง บริเวณกำแพงนั้นมีถ้ำและเงื้อมผาบ้าง มีดาบสอยู่ในถ้ำนั้นบ้าง มียนต์คล้ายอู่ มีสายหย่อนลงมาจากหน้าผาบ้าง ปรากฏว่าท่านขึ้นสู่อู่ขึ้นไปบนภูเขาบ้าง มีสำเภาใหญ่อยู่บนภูเขาบ้าง เห็นโต๊ะสี่เหลี่ยมอยู่ในสำเภาบ้าง มีประทีปความสว่างอยู่บริเวณรอบ ๆ หลังเขานั้นบ้าง ปรากฏว่าท่านฉันจังหันอยู่บนภูเขานั้นบ้าง จนไม่อาจจะตามรู้ตามเห็นให้สิ้นสุดลงได้
สิ่งที่ท่านได้เห็นเกี่ยวกับนิมิตเป็นเหตุให้รู้สึกว่ามีมากมาย จนไม่อาจจะนำมากล่าวจบสิ้นได้ ท่านพิจารณาในทำนองนี้ถึง ๓ เดือน โดยการเข้า ๆ ออก ๆ ทางสมาธิภาวนา พิจารณาไปเท่าไร ก็ยิ่งรู้ยิ่งเห็นสิ่งที่จะมาปรากฏจนไม่มีทางสิ้นสุด แต่ผลดีปรากฏจากการพิจารณา ไม่ค่อยมีพอเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าเป็นวิธีที่ถูกต้องและแน่ใจ
เมื่อออกจากสมาธิประเภทนี้แล้ว ขณะกระทบกับอารมณ์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ทั่ว ๆ ไปก็เกิดความหวั่นไหว คือทำให้ดีใจ เสียใจ รักชอบ และเกลียดชังไปตามเรื่องของอารมณ์นั้น ๆ หาความเที่ยงตรงคงตัวอยู่มิได้ จึงเป็นเหตุให้ท่านสำนึกในความเพียรและสมาธิที่เคยบำเพ็ญมาว่า คงไม่ใช่ทางแน่ ถ้าใช่ทำไมถึงไม่มีความสงบเย็นใจและดำรงตนอยู่ด้วยความสม่ำเสมอ แต่ทำไมกลับกลายเป็นใจที่วอกแวกคลอนแคลนไปตามอารมณ์ต่าง ๆ ไม่มีประมาณ ซึ่งไม่ผิดอะไรกับคนที่เขามิได้ฝึกหัดภาวนาเลย ชะรอยจะเป็นความรู้ความเห็นที่ส่งออกนอก ซึ่งผิดหลักของการภาวนาไปกระมัง? จึงไม่เกิดผลแก่ใจให้ได้รับความสงบสุขเท่าที่ควร
ท่านจึงทำความเข้าใจเสียใหม่ โดยย้อนจิตเข้ามาอยู่ในวงแห่งกาย ไม่ส่งใจไปนอก พิจารณาอยู่เฉพาะกาย ตามเบื้องบน เบื้องล่าง ด้านขวาง สถานกลาง โดยรอบ ด้วยความมีสติตามรักษา โดยการเดินจงกรมไป-มา มากกว่าอิริยาบถอื่น ๆ แม้เวลานั่งทำสมาธิภาวนาเพื่อพักผ่อนให้หายเมื่อยบ้างเป็นบางกาล ก็ไม่ยอมให้จิตรวมสงบลงดังที่เคยเป็นมา แต่ให้จิตพิจารณาและท่องเที่ยวอยู่ตามร่างกายส่วนต่าง ๆ เท่านั้น ถึงเวลาพักผ่อนนอนหลับก็ให้หลับด้วยพิจารณากายเป็นอารมณ์
14#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-5-21 15:14 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พยายามพิจารณาตามวิธีนี้อยู่หลายวันจึงตั้งท่านั่งขัดสมาธิ พิจารณาร่างกายเพื่อให้ใจสงบด้วยอุบายนี้ อันเป็นเชิงทดลองดูว่าจิตจะสงบแบบไหนกันอีกแน่ ความที่จิตไม่ได้พักสงบตัวเลยเป็นเวลาหลายวัน พร้อมกับได้รับอุบายวิธีที่ถูกต้องเข้ากล่อมเกลา จิตจึงรวมสงบลงได้อย่างรวดเร็วและง่ายดายผิดปกติ
ขณะที่จิตรวมสงบตัวลงไป ปรากฏว่าร่างกายได้แตกออกเป็นสองภาค และรู้ขึ้นมาในขณะนั้นว่า “นี้เป็นวิธีที่ถูกต้องแน่นอนแล้วไม่สงสัย” เพราะขณะที่จิตรวมลงไปมีสติประจำตัวอยู่กับที่ ไม่เหลวไหลและเที่ยวเร่ร่อนไปในที่ต่าง ๆ ดังที่เคยเป็นมา
และนี้คืออุบายที่แน่ใจว่าเป็นความถูกต้องในขั้นแรกของการปฏิบัติ
ในวาระต่อไปก็ถืออุบายนี้เป็นเครื่องดำเนินไม่ลดละ จนสามารถทำความสงบใจได้ตามต้องการ และมีความชำนิชำนาญขึ้นไปตามกำลังแห่งความเพียร ไม่ลดหย่อนอ่อนกำลัง นับว่าได้หลักฐานทางจิตใจที่มั่นคงด้วยสมาธิ ไม่หวั่นไหวคลอนแคลนอย่างง่ายดาย ไม่เหมือนคราวบำเพ็ญตามนิมิตในขั้นเริ่มแรก ซึ่งทำให้เสียเวลาไปเปล่าตั้ง ๓ เดือน
โทษแห่งความไม่มีครูอาจารย์ผู้ฉลาดคอยให้อุบายสั่งสอน ย่อมมีทางเป็นไปต่าง ๆ ดังที่เคยพบเห็นมาแล้วนั้นแล อย่างน้อยก็ทำให้ล่าช้า มากกว่านั้นก็ทำให้ผิดทาง และมีทางเสียไปได้อย่างไม่มีปัญหา
ท่านเล่าว่า สมัยที่ท่านออกบำเพ็ญกรรมฐานภาวนาครั้งโน้น ไม่มีใครสนใจทำกันเลย ในความรู้สึกของประชาชนสมัยนั้น คล้ายกับว่า การบำเพ็ญกรรมฐานเป็นของแปลกปลอม ไม่เคยมีในวงของพระและพระศาสนาเลย แม้แต่ชาวบ้านเองพอมองเห็นพระกรรมฐานเดินธุดงค์ไป ซึ่งอยู่ห่างกันคนละฟากทุ่งนา เขายังพากันแตกตื่นและกลัวกันมาก
ถ้าอยู่ใกล้หมู่บ้านก็จะพากันวิ่งเข้าบ้านกันหมด ถ้าอยู่ใกล้ป่าก็พากันวิ่งเข้าหลบซ่อนในป่ากันหมด ไม่กล้ามายืนซึ่ง ๆ หน้า พอให้เราได้ถามหนทางที่จะไปสู่หมู่บ้าน ตำบลต่าง ๆ บ้างเลย
บางครั้งเราเดินทางไปเจอกับพวกผู้หญิงที่กำลังเที่ยวหาอยู่หากิน เที่ยวเก็บผักหาปลาตามป่าตามภูเขา ซึ่งมีเด็ก ๆ ติดไปด้วย พอมองเห็นพระธรรมกรรมฐานเดินมา เสียงร้องลั่นบอกกันด้วยความตกใจกลัวว่า “พระธรรมมาแล้ว” พร้อมกับทิ้งหาบหรือสิ่งของอยู่บนบ่าลงพื้นดินเสียงดังตูมตาม โดยไม่อาลัยเสียดายว่าอะไรจะแตก อะไรจะเสียหาย ส่วนตัวก็ต่างคนต่างวิ่งหาที่หลบซ่อน ถ้าอยู่ใกล้ป่าหรืออยู่ในป่าก็พากันวิ่งเข้าป่า ถ้าอยู่ใกล้หมู่บ้านก็พากันวิ่งเข้าบ้าน
ส่วนเด็ก ๆ ที่ไม่รู้เดียงสาเห็นผู้ใหญ่ร้องโวยวายและต่างคนต่างวิ่งหนี เจ้าตัวก็ร้องไห้วิ่งไปวิ่งมาอยู่บริเวณนั้น โดยไม่มีใครกล้าออกมารับเอาเด็กไปด้วยเลย เด็กจะวิ่งตามผู้ใหญ่ก็ไม่ทัน เลยต้องวิ่งหันรีหันขวางอยู่แถว ๆ นั้นเอง ซึ่งน่าขบขันและน่าสงสารเด็กที่ไม่เดียงสา ซึ่งร้องไห้วิ่งตามหาผู้ใหญ่ด้วยความตกใจและความกลัวเป็นไหน ๆ
ส่วนพระธรรมท่านเห็นท่าไม่ดี กลัวเด็กจะกลัวมากและร้องไห้ใหญ่ ก็ต้องรีบก้าวเดินเพื่อผ่านไปให้พ้น ถ้าขืนไปถามเด็กเข้าคงได้เรื่องแน่ ๆ คือเด็กยิ่งจะกลัวและร้องไห้วิ่งไปวิ่งมา และยิ่งจะร้องไห้ใหญ่ไปทั่วทั้งป่า ส่วนผู้ใหญ่ที่เป็นแม่ของเด็กก็ยืนตัวสั่นอยู่ในป่าอย่างกระวนกระวาย ทั้งกลัวพระธรรมกรรมฐาน ทั้งกลัวเด็กจะวิ่งเตลิดเปิดเปิงหนีไปที่อื่นอีก ใจเลยไม่เป็นใจเพราะความกระวนกระวายคิดถึงลูก เวลาพระธรรมผ่านไปแล้ว แม่วิ่งหาลูก ลูกวิ่งหาแม่วุ่นวายไปตาม ๆ กัน กว่าจะออกมาพบหน้ากันทุกคนบรรดาที่ไปด้วยกัน ประหนึ่งบ้านแตกสาแหรกขาดไปพักหนึ่ง พอออกมาครบถ้วนหน้าแล้ว ต่างก็พูดและหัวเราะกันถึงเรื่องชุลมุนวุ่นวาย เพราะความกลัวพระธรรมกรรมฐานไปยกใหญ่ ก่อนที่จะเที่ยวหากินตามปกติ
เรื่องเป็นเช่นนี้โดยมาก คนสมัยที่ท่านออกธุดงคกรรมฐาน เขาไม่เคยพบเคยเห็นกันเลย จึงแสดงอาการตื่นเต้นตกใจและกลัวกันสำหรับผู้หญิงและเด็ก ๆ ฉะนั้น เมื่อคบกันในขั้นเริ่มแรกจึงไม่ค่อยมีใครสนใจธรรมะกับพระธุดงค์นัก นอกจากจะกลัวกันเป็นส่วนมาก ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะเหตุหลายประการ เช่น มารยาทท่านก็อยู่ในอาการสำรวม เคร่งขรึม ไม่ค่อยแสดงความคุ้นกับใครนัก ถ้าไม่คบกันนาน ๆ จนรู้นิสัยกันดีก่อนแล้ว และผ้าสังฆาฏิ จีวร สงบ อังสะ และบริขารอื่น ๆ โดยมากย้อมด้วยสีกรัก คือสีแก่นขนุน
15#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-5-21 15:14 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ซึ่งเป็นสีฉูดฉาดน่ากลัวมากกว่าจะน่าเลื่อมใส เวลาออกเดินทางเพื่อเจริญสมณธรรมในที่ต่าง ๆ ท่านครองจีวรสีแก่นขนุน บ่าข้างหนึ่งแบกกลด ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าร่มธรรมดาที่โลก ๆ ใช้กันทั่ว ๆ ไป บ่าข้างหนึ่งสะพายบาตร ถ้ามีด้วยกันหลายองค์ เวลาออกเดินทางท่านเดินตามหลังกันเป็นแถว ครองจีวรสีกรักคล้ายสีน้ำตาล เห็นแล้วน่าคิดน่าทึ่งอยู่ไม่น้อยสำหรับผู้ที่ยังไม่เคยพบเห็นมาก่อน และน่าเลื่อมใสสำหรับผู้ที่เคยรู้อัธยาศัยและจริยธรรมท่านมาแล้ว
ประชาชนที่ยังไม่สนิทกับท่านจะเกิดความเลื่อมใสก็ต่อเมื่อท่านไปพักอยู่นาน ๆ เขาได้รับคำชี้แจงจากท่านด้วยอุบายต่าง ๆ หลายครั้งหลายคราว นานไปใจก็ค่อยโอนอ่อนต่อเหตุผลอรรถธรรมไปเอง จนเกิดความเชื่อเลื่อมใส กลายเป็นผู้มีธรรมในใจ มีความเคารพเลื่อมใสในครูอาจารย์ผู้ให้โอวาทสั่งสอนอย่างถึงใจ ก็มีจำนวนมาก
พระธุดงค์ผู้มุ่งปฏิบัติเพื่ออรรถเพื่อธรรมจริง ๆ เข้าถึงใจประชาชนได้ดีและทำประโยชน์ได้มาก โดยไม่อาศัยคำโฆษณา แต่การประพฤติปฏิบัติตัวโดยสามีจิกรรมย่อมเป็นเครื่องดึงดูดจิตใจผู้อื่นให้เกิดความสนใจไปเอง
การเที่ยวแสวงหาที่วิเวกเพื่อความสงัดทางกายทางใจ ไม่พลุกพล่านวุ่นวายด้วยเรื่องต่าง ๆ เป็นกิจวัตรประจำนิสัยของพระธุดงคกรรมฐานผู้มุ่งอรรถธรรมทางใจ ดังนั้น พอออกพรรษาแล้ว ท่านพระอาจารย์มั่นจึงชอบออกเที่ยวธุดงค์ทุก ๆ ปี โดยเที่ยวไปตามป่าตามภูเขา ที่มีหมู่บ้านพอได้อาศัยโคจรบิณฑบาต
ทางภาคอีสานท่านชอบเที่ยวมากกว่าทุก ๆ ภาค เพราะมีป่ามีภูเขามาก เช่น จังหวัดนครพนม สกลนคร อุดรธานี หนองคาย เลย หล่มสัก และทางฝั่งแม่น้ำโขงของประเทศลาว เช่น ท่าแขก เวียงจันทน์ หลวงพระบาง ที่มีป่าเขาชุกชุมมาก เหมาะแก่การบำเพ็ญสมณธรรม
การบำเพ็ญเพียรในท่าอิริยาบถต่าง ๆ นั้น ไม่ว่าท่านจะพักอยู่ในสถานที่ใด ไม่มีการลดละทั้งกลางวันกลางคืน ถือเป็นงานสำคัญยิ่งกว่างานอื่นใด เพราะนิสัยของท่านพระอาจารย์มั่นไม่ชอบทางการก่อสร้างมาแต่เริ่มแรก ท่านชอบการบำเพ็ญเพียรทางใจโดยเฉพาะ และไม่ชอบเกาะเกี่ยวกับเพื่อนฝูงและหมู่ชน ชอบอยู่ลำพังคนเดียว มีความเพียรเป็นอารมณ์ทางใจ มีศรัทธามุ่งมั่นต่อแดนพ้นทุกข์อย่างแรงกล้า ดังนั้น เวลาท่านทำอะไรจึงชอบทำจริงเสมอ ไม่มีนิสัยโกหกหลอกลวงตนเองและผู้อื่น
การบำเพ็ญเพียรของท่านเป็นเรื่องอัศจรรย์ไปตลอดสาย ทั้งมีความขยัน ทั้งมีความทรหดอดทนและมีนิสัยชอบใคร่ครวญ จิตท่านปรากฏมีความก้าวหน้าทางสมาธิและทางปัญญาอย่างสม่ำเสมอ ไม่ล่าถอยและเสื่อมโทรม
การพิจารณากายนับแต่วันที่ท่านได้อุบายจากวิธีที่ถูกต้องในขั้นเริ่มแรกมาแล้ว ไม่ยอมให้เสื่อมถอยลงได้เลย ท่านยึดมั่นในอุบายวิธีนั้นอย่างมั่นคง และพิจารณากายซ้ำ ๆ ซาก ๆ จนเกิดความชำนิชำนาญ แยกส่วนแบ่งส่วนแห่งกายให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นใหญ่และทำลายลงด้วยปัญญาได้ตามต้องการ จิตยิ่งนับวันหยั่งลงสู่ความสงบเย็นใจไปเป็นระยะไม่ขาดวรรคขาดตอน เพราะความเพียรหนุนหลังอยู่ตลอดเวลา
ท่านเล่าว่า ท่านไปที่ใด อยู่ที่ใด ใจท่านมิได้เหินห่างจากความเพียร แม้ไปบิณฑบาต กวาดลานวัด ขัดกระโถน ทำความสะอาด เย็บผ้า ย้อมผ้า เดินไปมาในวัด นอกวัด ตลอดการขบฉัน ท่านทำความรู้สึกตัวอยู่กับความเพียรทุกขณะที่เคลื่อนไหว ไม่ยอมให้เปล่าประโยชน์จากการเคลื่อนไหวใด ๆ ทั้งสิ้น นอกจากเวลาหลับนอนเท่านั้น แม้เช่นนั้น ท่านยังตั้งใจไว้เมื่อรู้สึกตัวจะรีบลุกขึ้นไม่ยอมนอนซ้ำอีก จะเป็นความเคยตัวต่อไปและจะแก้ไขได้ยาก
16#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-5-21 15:15 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ตามปกตินิสัย พอรู้สึกตัวท่านรีบลุกขึ้นล้างหน้าแล้วเริ่มประกอบความเพียรต่อไป ขณะที่ตื่นนอนขึ้นมาและล้างหน้าเสร็จแล้ว ถ้ายังมีอาการง่วงเหงาอยู่ ท่านไม่ยอมนั่งสมาธิในขณะนั้น กลัวจะหลับใน ท่านต้องเดินจงกรมเพื่อแก้ความโงกง่วงที่คอยแต่จะหลับในเวลาเผลอตัว การเดินจงกรม ถ้าก้าวขาไปช้า ๆ ยังไม่อาจระงับความง่วงเหงาได้ ท่านต้องเร่งฝีก้าวให้เร็วขึ้นจนความง่วงหายไป เมื่อรู้สึกเมื่อยเพลียและไม่มีความง่วงเหลืออยู่ในเวลานั้น ท่านถึงจะออกจากทางจงกรมเข้ามาที่พักหรือกุฏิ แล้วนั่งสมาธิภาวนาต่อไปจนสมควรแก่กาล
เมื่อถึงเวลาบิณฑบาตก็เตรียมนุ่งสบง ทรงจีวร ซ้อนสังฆาฏิ สะพายบาตรขึ้นบนบ่า ออกบิณฑบาตในหมู่บ้านโดยอาการสำรวม ทำความรู้สึกตัวกับความเพียรไปตลอดสาย บิณฑบาตทั้งไปและกลับถือเป็นการเดินจงกรมไปในตัว มีสติประคองใจ ไม่ปล่อยให้เพ่นพ่านโลเลไปตามอารมณ์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ทั่วไป
เมื่อกลับถึงที่พักหรือวัดแล้ว เตรียมจัดอาหารที่ได้มาจากบิณฑบาตลงในบาตร ตามปกติท่านไม่ยอมรับอาหารที่ศรัทธาตามมาส่ง ท่านรับและฉันเฉพาะที่บิณฑบาตได้มาเท่านั้น ตอนชรามากแล้วท่านถึงอนุโลมผ่อนผัน คือรับอาหารที่ศรัทธานำมาถวาย ฉะนั้น อาหารนอกบาตรจึงไม่มีในระยะนั้น
เมื่อเตรียมอาหารใส่ลงในบาตรเสร็จแล้ว เริ่มพิจารณาปัจจเวกขณะเพื่อระงับดับไฟนรก คือตัณหาอันอาจแทรกขึ้นมาตามความหิวโหยได้ในขณะนั้น คือจิตอาจบริโภคด้วยอำนาจตัณหาความสอดส่ายในอาหารประณีตบรรจง และมีรสเอร็ดอร่อย โดยมิได้คำนึงถึงความเป็นธาตุและปฏิกูลที่แฝงอยู่ในอาหารนั้น ๆ ด้วย ปฏิสังขา โยนิโส ฯลฯ เสร็จแล้วเริ่มฉันโดยธรรม มิให้เป็นไปด้วยตัณหาในทุก ๆ ประโยคแห่งการฉัน จนเสร็จไปด้วยดี ซึ่งจัดว่ามีวัตรในการขบฉัน
หลังจากนั้นก็ล้างบาตร เช็ดบาตรให้แห้ง แล้วผึ่งแดดชั่วคราวถ้ามีแดด และนำเข้าถลกยกไปไว้ในสถานที่ควร แล้วเริ่มทำหน้าที่เผาผลาญกิเลสให้วอดวายหายซากไปเป็นลำดับ จนกว่าจะดับสนิทไม่มีพิษภัยเครื่องก่อกวนและรังควานจิตใจต่อไป
แต่การเตรียมเผากิเลสนี้รู้สึกเป็นงานที่ยากเย็นเข็ญใจเหลือจะกล่าว เพราะแทนที่เราจะเผามันให้ฉิบหาย แต่มันกลับเผาเราให้ได้รับความทุกข์ร้อนและตายจากคุณงามความดีที่ควรบำเพ็ญไปอย่างสด ๆ ร้อน ๆ และบ่อนทำลายเรา ทั้ง ๆ ที่เห็น ๆ มันอยู่ต่อหน้าต่อตา แต่ไม่กล้าทำอะไรมันได้ เพราะกลัวจะลำบาก
ผลสุดท้ายมันก็ปีนขึ้นนั่งนอนอยู่บนหัวใจเราจนได้ และเป็นเจ้าใหญ่นายโตตลอดไป แทบจะไม่มีเพศมีวัยใด และความรู้ความฉลาดใดจะต่อสู้และเอาชนะมันได้ โลกจึงยอมมันทั่วไตรภพ นอกจากพระศาสดาเพียงองค์เดียวเท่านั้นที่ทำการกวาดล้างมันให้สิ้นซากไปจากใจได้ ไม่กลับแพ้อีกตลอดอนันตกาล
17#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-5-21 15:15 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เมื่อพระองค์ทรงชนะแล้วก็ทรงแผ่เมตตา แหวกหาหนทางเพื่อสาวกและหมู่ชนด้วยการประทานพระธรรมสั่งสอน จนเกิดศรัทธาเลื่อมใสและปฏิบัติตามพระโอวาทด้วยความไม่ประมาทนอนใจ บำเพ็ญไปไม่ลดละตามรอยพระบาท คือแนวทางที่เสด็จผ่านไป ก็สามารถตามเสด็จจนเสร็จสิ้นทางเดิน คือบรรลุถึงพระนิพพาน ด้วยการดับกิเลสขาดจากสันดานกลายเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาเป็นลำดับลำดา ให้โลกได้กราบไหว้บูชาเป็นขวัญตาขวัญใจตลอดมา นี้คือท่านผู้สังหารกิเลสตัวมหาอำนาจให้ขาดกระเด็นออกจากใจ หายซากไปโดยแท้ ไม่แปรผันเป็นอย่างอื่น ท่านพระอาจารย์มั่น ท่านเจริญตามรอยพระบาทพระศาสดา มีความเพียรอย่างแรงกล้า มีศรัทธาเหนียวแน่น ไม่พูดพล่ามทำเพลง
พอเสร็จภัตกิจแล้ว ท่านก้าวเข้าสู่ป่าเดินจงกรมเพื่อสงบอารมณ์ในรมณียสถานอันเป็นที่ให้ความสุขสำราญทางภายใน ทั้งเดินจงกรม ทั้งนั่งสมาธิภาวนา จนกว่าจะถึงเวลาอันควร จึงพักผ่อนกายเพื่อคลายทุกข์ พอมีกำลังบ้างแล้วเริ่มทำงานเพื่อเผาผลาญกิเลสตัวก่อภพก่อชาติภายในใจต่อไป ไม่ลดหย่อนอ่อนข้อให้กิเลสหัวเราะเย้ยหยัน การทำสมาธิก็เข้มข้นเอาการ การทำวิปัสสนาปัญญาก็หมุนตัวอย่างไม่หยุดยั้ง ทั้งสมาธิและวิปัสสนาท่านดำเนินไปอย่างสม่ำเสมอ ไม่ให้บกพร่องในส่วนใดส่วนหนึ่ง
จิตท่านได้รับความสงบสุขโดยสม่ำเสมอ ที่มีช้าอยู่บ้างในบางกาล ตามที่ท่านเล่าว่า เพราะขาดผู้แนะนำในเวลาติดขัด ลำพังตนเองเพียงไปเจอเข้าแต่ละเรื่อง กว่าจะหาทางผ่านพ้นไปได้ก็ต้องเสียเวลาไปหลายวัน ทั้งจำต้องใช้ความพิจารณาอย่างมากและละเอียดถี่ถ้วน เพราะนอกจากติดขัดจนไปไม่ได้แล้ว ยังกลับมาเป็นภัยแก่ตัวเองอีกด้วย หากมีผู้คอยเตือนและให้คำแนะนำในเวลาเช่นนั้นบ้าง รู้สึกว่าไปได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องเสียเวลา และเป็นที่แน่ใจด้วย ฉะนั้น กัลยาณมิตรจึงเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับผู้กำลังอยู่ในระหว่างแห่งการบำเพ็ญทางใจ ท่านเคยเห็นโทษของความขาดกัลยาณมิตรมาแล้วว่าเป็นสิ่งไม่ดีเลย และเป็นความบกพร่องอย่างบอกไม่ถูก
ในบางครั้ง แม้มีความอบอุ่นว่าตนมีครูอาจารย์คอยให้ความร่มเย็นอยู่ก็ตาม เวลาไปเที่ยวธุดงค์ในที่ต่าง ๆ กับท่านพระอาจารย์เสาร์ผู้เป็นบุพพาจารย์ แต่เวลาเกิดข้อข้องใจขึ้นมา ไปกราบเรียนถามท่าน ท่านก็ตอบว่า
ผมไม่เคยเป็นอย่างท่าน เพราะจิตท่านเป็นจิตที่ผาดโผนมาก เวลาเกิดอะไรขึ้นมาแต่ละครั้งมันไม่พอดี เดี๋ยวจะเหาะขึ้นบนฟ้าบ้าง เดี๋ยวจะดำดินลงไปใต้พื้นพิภพบ้าง เดี๋ยวจะดำน้ำลงไปใต้ก้นมหาสมุทรบ้าง เดี๋ยวจะโดดขึ้นไปเดินจงกรมอยู่บนอากาศบ้าง ใครจะไปตามแก้ทัน ขอให้ท่านใช้ความพิจารณาและค่อยดำเนินไปอย่างนั้นแหละ
แล้วท่านก็ไม่ให้อุบายอะไรพอเป็นหลักยึดเลย ตัวเองต้องมาแก้ตัวเอง กว่าจะผ่านไปได้แต่ละครั้ง แทบเอาตัวไม่รอดก็มี
18#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-5-21 15:16 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
หลวงปู่มั่นเล่าเรื่องพระอาจารย์เสาร์เข้าสมาธิ

ท่านเล่าว่า นิสัยของท่านพระอาจารย์เสาร์ เป็นไปอย่างเรียบ ๆ และเยือกเย็นน่าเลื่อมใสมาก ที่มีแปลกอยู่บ้างก็เวลาท่านเข้าที่นั่งสมาธิ ตัวของท่านชอบลอยขึ้นเสมอ บางครั้งตัวท่านลอยขึ้นไปจนผิดสังเกต เวลาท่านนั่งสมาธิอยู่ ท่านเองเกิดความแปลกใจในขณะนั้นว่า “ตัวเราถ้าจะลอยขึ้นจากพื้นแน่ ๆ” เลยลืมตาขึ้นดูตัวเอง ขณะนั้นจิตท่านถอนออกจากสมาธิพอดี เพราะพะวักพะวงกับเรื่องตัวลอย ท่านเลยตกลงมาก้นกระแทกกับพื้นอย่างแรง ต้องเจ็บเอวอยู่หลายวัน
ความจริงตัวท่านลอยขึ้นจากพื้นจริง ๆ สูงประมาณ ๑ เมตร ขณะที่ท่านลืมตาดูตัวเองนั้น จิตได้ถอนออกจากสมาธิ จึงไม่มีสติพอยับยั้งไว้บ้าง จึงทำให้ท่านตกลงสู่พื้นอย่างแรง เช่นเดียวกับสิ่งต่าง ๆ ตกลงจากที่สูง
ในคราวต่อไป เวลาท่านนั่งสมาธิ พอรู้สึกตัวท่านลอยขึ้นจากพื้น ท่านพยายามทำสติให้อยู่ในองค์ของสมาธิ แล้วค่อย ๆ ลืมตาขึ้นดูตัวเอง ก็ประจักษ์ว่า ตัวท่านลอยขึ้นจริง ๆ แต่มิได้ตกลงสู่พื้นเหมือนคราวแรก เพราะท่านมิได้ปราศจากสติและคอยประคองใจให้อยู่ในองค์สมาธิ ท่านจึงรู้เรื่องของท่านได้ดี
ท่านเป็นคนละเอียดถี่ถ้วนอยู่มาก แม้จะเห็นด้วยตาแล้ว ท่านยังไม่แน่ใจ ต้องเอาวัตถุชิ้นเล็ก ๆ ขึ้นไปเหน็บไว้บนหญ้าหลังกุฏิ แล้วกลับมาทำสมาธิอีก พอจิตสงบและตัวเริ่มลอยขึ้นไปอีก ท่านพยายามประคองจิตให้มั่นอยู่ในสมาธิ เพื่อตัวจะได้ลอยขึ้นไปจนถึงวัตถุเครื่องหมายที่ท่านนำขึ้นไปเหน็บไว้ แล้วค่อย ๆ เอื้อมมือจับด้วยความมีสติ แล้วนำวัตถุนั้นลงมาโดยทางสมาธิภาวนา คือพอหยิบได้วัตถุนั้นแล้วก็ค่อย ๆ ถอนจิตออกจากสมาธิ เพื่อกายจะได้ค่อย ๆ ลงมาจนถึงพื้นอย่างปลอดภัย แต่ไม่ถึงกับให้จิตถอนออกจากสมาธิจริง ๆ เมื่อได้ทดลองจนเป็นที่แน่ใจแล้ว ท่านจึงเชื่อตัวเองว่าตัวท่านลอยขึ้นได้จริงในเวลาเข้าสมาธิในบางครั้ง แต่มิได้ลอยขึ้นเสมอไป นี้เป็นจริตนิสัยแห่งจิตของท่านพระอาจารย์เสาร์ รู้สึกผิดกับนิสัยของท่านพระอาจารย์มั่นอยู่มากในปฏิปทาทางใจ
จิตของท่านพระอาจารย์เสาร์เป็นไปอย่างเรียบ ๆ สงบเย็นโดยสม่ำเสมอ นับแต่ขั้นเริ่มแรกจนถึงสุดท้ายปลายแดนแห่งปฏิปทาของท่าน ไม่ค่อยล่อแหลมต่ออันตราย และไม่ค่อยมีอุบายต่าง ๆ และความรู้แปลก ๆ เหมือนจิตท่านพระอาจารย์มั่น
19#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-5-21 15:16 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
จิตหลวงปู่มั่นเป็นจิตที่โลดโผนมาก

ท่านพระอาจารย์มั่นเล่าให้ฟังว่า
ที่ท่านพระอาจารย์เสาร์ว่าให้ท่านว่า จิตท่านเป็นจิตที่โลดโผนมาก รู้อะไรขึ้นมาแต่ละครั้งมันไม่พอดีเลย เดี๋ยวจะเหาะเหินเดินฟ้า เดี๋ยวจะดำดิน เดี๋ยวจะดำน้ำข้ามทะเลนั้น ท่านว่าเป็นความจริงดังที่ท่านพระอาจารย์เสาร์ตำหนิ เพราะจิตท่านเป็นเช่นนั้นจริง ๆ เวลารวมสงบลงแต่ละครั้ง แม้แต่ขั้นเริ่มแรกบำเพ็ญยังออกเที่ยวรู้เห็นอะไรต่าง ๆ ทั้งที่ท่านไม่เคยคาดฝันว่าจะเป็นได้เช่นนั้น เช่น ออกรู้เห็นคนตายต่อหน้าและเพ่งพิจารณาจนคนตายนั้นกลายเป็นวงแก้ว และเกิดความรู้ความเห็นแตกแขนงออกไปไม่มีสิ้นสุด ดังที่เขียนไว้ในเบื้องต้น
เวลาปฏิบัติที่เข้าใจว่าถูกทางแล้ว ขณะที่จิตรวมสงบตัวลงก็ยังอดจะออกรู้สิ่งต่าง ๆ มิได้ บางทีตัวเหาะลอยขึ้นไปบนอากาศและเที่ยวชมสวรรค์วิมาน กว่าจะลงมาก็กินเวลาหลายชั่วโมง และมุดลงไปใต้ดินค้นดูนรกหลุมต่าง ๆ และปลงธรรมสังเวชกับพวกสัตว์นรกที่มีกรรมต่าง ๆ กันเสวยวิบากทุกข์ของตน ๆ อยู่ จนลืมเวล่ำเวลาไปก็มี เพราะเวลานั้นยังไม่แน่ว่าจะเป็นความจริงเพียงไร
เรื่องทำนองนี้ท่านว่าจะพิจารณาต่อเมื่อจิตมีความชำนาญแล้ว จึงจะรู้เหตุผลผิด-ถูก ดี-ชั่วได้อย่างชัดเจนและอย่างแม่นยำ พอเผลอนิดขณะที่จิตรวมลงและพักอยู่ ก็มีทางออกไปรู้กับสิ่งภายนอกอีกจนได้ แม้เวลามีความชำนาญและรู้วิธีปฏิบัติได้ดีพอสมควรแล้ว ถ้าปล่อยให้ออกรู้สิ่งต่าง ๆ จิตย่อมจะออกรู้อย่างรวดเร็ว
ระยะเริ่มแรกที่ท่านยังไม่เข้าใจและชำนาญต่อการเข้าออกของจิต ซึ่งมีนิสัยชอบออกรู้สิ่งต่าง ๆ นั้น ท่านเล่าว่า เวลาบังคับจิตให้พิจารณาลงในร่างกายส่วนล่าง แทนที่จิตจะรู้ลงไปตามร่างกายส่วนต่าง ๆ จนถึงพื้นเท้า แต่จิตกลับพุ่งตัวเลยร่างกายส่วนต่ำลงไปใต้ดินและทะลุดินลงไปใต้พื้นพิภพ ดังท่านพระอาจารย์เสาร์ว่าให้จริง ๆ พอรีบฉุดย้อนคืนมาสู่กายก็กลับพุ่งขึ้นไปบนอากาศ แล้วเดินจงกรมไป-มาอยู่บนอากาศอย่างสบาย ไม่สนใจว่าจะลงมาสู่ร่างกายเลย ต้องใช้สติบังคับอย่างเข้มแข็งถึงจะยอมลงมาเข้าสู่ร่างกายและทำงานตามคำสั่ง
20#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-5-21 15:16 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
การรวมสงบตัวลงในระยะนั้นก็รวมลงอย่างรวดเร็วเหมือนคนตกเหวตกบ่อจนสติตามไม่ทัน และอยู่ได้เพียงขณะเดียวก็ถอนออกมาขั้นอุปจาระแล้วออกรู้สิ่งต่าง ๆ ไม่มีประมาณ รู้สึกรำคาญต่อความรู้ความเห็นของจิตประเภทนี้อย่างมากมาย
ถ้าจะบังคับไม่ให้ออกและไม่ให้รู้ก็ไม่มีอุบายปัญญาจะบังคับได้ เพราะจิตมีความรวดเร็วเกินกว่าสติปัญญาจะตามรู้ทัน จึงทำให้หนักใจและกระวนกระวายในบางครั้ง แบบคิดไม่ออกบอกใครไม่ได้เพราะเป็นเรื่องภายใน ต้องใช้การทดสอบด้วยสติปัญญาอย่างเข้มงวดกวดขัน กว่าจะรู้วิธีปฏิบัติต่อจิตดวงผาดโผนในการออกรู้สิ่งต่าง ๆ ไม่มีประมาณนี้ ก็นับว่าเป็นทุกข์เอาการอยู่ แต่เวลารู้วิธีปฏิบัติรักษาแล้ว รู้สึกว่าคล่องแคล่วว่องไว และได้ผลกว้างขวางทั้งรวดเร็วทันใจต่อภายในภายนอก เวลามีสติปัญญารู้เท่าทันจนกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว จิตดวงนี้จึงกลายเป็นแก้วสารพัดนึกขึ้นมา เพราะทันกับเหตุการณ์ที่เกิดกับตนไม่มีขอบเขต
พระอาจารย์มั่นท่านมีนิสัยองอาจกล้าหาญและฉลาดแหลมคม อุบายวิธีฝึกทรมานตนก็ผิดกับผู้อื่นอยู่มาก ยากที่จะยึดได้ตามแบบฉบับของท่านจริง ๆ ผู้เขียนอยากจะพูดให้สมใจที่เฝ้าดูท่านตลอดมาว่า ท่านเป็นนิสัยอาชาไนย ใจว่องไวและผาดโผน การฝึกทรมานก็เด็ดเดี่ยว เฉียบขาดเท่าเทียมกัน อุบายฝึกทรมานมีชนิดแปลก ๆ แยบคาย ทั้งวิธีขู่เข็ญและปลอบโยนตามเหตุการณ์ที่ควรแก่จิตดวงมีเชาวน์เร็วแกมพยศ ซึ่งคอยแต่จะนำเรื่องเข้ามาทับถมโจมตีเจ้าของอยู่ทุกขณะที่เผลอตัว
ท่านเล่าว่า เรื่องที่ทำให้ท่านได้รับความลำบากหนักใจเหล่านี้ เพราะไม่มีผู้คอยให้อุบายแนะนำนั่นเอง พยายามตะเกียกตะกายปลุกปล้ำใจดวงพยศโดยลำพังคนเดียว แบบเอาหัวชนภูเขาทั้งลูกเอาเลย ไม่มีอุบายต่าง ๆ ที่แน่ใจมาจากครูอาจารย์บ้างเลย พอเป็นเครื่องมือช่วยสนับสนุนเหมือนผู้อื่นท่านทำกัน ทั้งนี้ท่านพูดเพื่อตักเตือนบรรดาลูกศิษย์ที่มารับการศึกษากับท่านไม่ให้ประมาทนอนใจ เวลาเกิดอะไรขึ้นมาจากสมาธิภาวนาท่านจะได้ช่วยชี้แจง ไม่ต้องเสียเวลาไปนานดังที่ท่านเคยเป็นมาแล้ว
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้