8 ต.ค.ชวนดู "จันทรุปราคาวันออกพรรษา"
สมาคมดาราศาสตร์เชิญชวนคนไทยดู "จันทรุปราคาวันออกพรรษา" 8 ต.ค.นี้ ชมดวงจันทร์สีส้มกินคราสนาน 21 นาทีทั่วประเทศ
น.ส.ประพีร์ วิราพร นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย กล่าวว่า ในช่วงหัวค่ำของวันพุธที่ 8 ต.ค.57 ซึ่งตรงกับวันออกพรรษา จะมีปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงครั้งที่ 2 ของปี และเป็นครั้งสุดท้ายของปีนี้ โดยปรากฏการณ์จันทรุปราคาดังกล่าวจะเริ่มก่อนที่ดวงจันทร์จะขึ้นเหนือขอบฟ้า และดวงจันทร์เข้าสู่เงามัวตั้งแต่เวลา 15:16 น. แล้วเกิดจันทรุปราคาบางส่วนเวลา 16:15 น. จากนั้นจึงเริ่มจันทรุปราคาเต็มดวงเวลา 17:25 น. โดยดวงจันทร์จะถูกเงาของโลกบังลึกที่สุดเวลา 17:55 น. ซึ่งทั้ง 4 ช่วงนี้ ประเทศไทยยังไม่สามารถสังเกตได้ เนื่องจากดวงจันทร์ยังอยู่ใต้ขอบฟ้า น.ส.ประพีร์ กล่าวว่า กรุงเทพฯ ในวันที่ 8 ต.ค. 57 ดวงจันทร์จะขึ้นเวลา 18:00 น. และดวงอาทิตย์ตกเวลา 18:03 น. เราจึงสังเกตจันทรุปราคาเต็มดวงได้ขณะที่ดวงจันทร์ขึ้น ซึ่งจันทรุปราคาเต็มดวงจะสิ้นสุดลงในเวลา 18:24 น. ที่พิกัดดวงจันทร์อยู่สูงเหนือขอบฟ้าทิศตะวันออกประมาณ 5° จากนั้นจะเห็นดวงจันทร์เป็นรูปร่างเว้าแหว่งเรื่อยๆ จะกลับมาเต็มดวงอีกครั้งในเวลา 19:34 น. และดวงจันทร์จะค่อยๆ กลับมาเป็นสีเหลืองเต็มดวงเหมือนดวงจันทร์วันเพ็ญปกติเช่นเดิมอีกครั้งในเวลา 20:34 น. ซึ่งเป็นเวลาที่ดวงจันทร์เคลื่อนออกจากเงามัว
"ความน่าสนใจของจันทรุปราคาในครั้งนี้คือ เกิดในวันออกพรรษาพอดี ซึ่งปกติเป็นที่ทราบกันดีว่าดวงจันทร์วันเพ็ญจะมีรูปร่างกลมโตสีเหลือง แต่ในช่วงหัวค่ำของวันออกพรรษาที่จะถึงนี้เราจะไม่เห็นดวงจันทร์เป็นแบบนั้น จันทรุปราคาจะทำให้เราสังเกตเห็นดวงจันทร์มีสีส้มเนื่องจากดวงจันทร์โคจรเข้ามาอยู่ในเงาของโลก และได้รับแสงสะท้อนจากโลกเราจึงเห็นดวงจันทร์เป็นสีส้ม ไม่ใช่มืดหายไป ซึ่งในความเป็นจริงจันทรุปราคาครั้งนี้เริ่มเกิดตั้งแต่บ่ายสามโมง แต่คนไทยจะสังเกตจันทรุปราคาแบบเต็มดวงได้ดีที่สุดในเวลาหกโมงเย็น เพราะใกล้เคียงกับเวลาที่ดวงอาทิตย์ตกพอดี สรุปคือ เราจะเห็นจันทรุปราคาเต็มดวงได้นานถึง 21 นาทีนับตั้งแต่เวลา 18:03 ถึง 18.24 จากนั้นคราสจะค่อยๆ คลายออกทำให้เห็นดวงจันทร์เป็นเสี้ยวเว้าแหว่งกินเวลานานถึง 1 ชั่วโมง 10 นาทีจนถึงเวลา 19:34 และดวงจันทร์จะออกจากเงามัวทำให้เห็นดวงจันทร์วันเพ็ญตามปกติในเวลา 20:34 น."
นอกจากนี้นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทยยังอธิบายอีกว่า พื้นที่บนโลกที่เห็นจันทรุปราคาครั้งนี้พร้อมประเทศไทย คือ ประเทศทางแถบทวีปเอเชีย ด้านตะวันออกของมหาสมุทรอินเดีย ออสเตรเลีย มหาสมุทรแปซิฟิก อเมริกาเหนือ ด้านตะวันตกของอเมริกาใต้ ด้านตะวันตกของมหาสมุทรแอตแลนติก ยกเว้นทวีปแอฟริกา โดยจะเห็นในเวลาและรูปร่างที่แตกต่างกันไปตามการหมุนรอบตัวเองของโลก
ผู้สนใจสามารถสามารถเฝ้าชมปรากฏการณ์นี้ได้ โดยการสังเกตไปที่เส้นขอบฟ้าทางทิศตะวันออก หากไม่มีเมฆหมอกบดบัง หรืออยู่ในที่โล่งหรือตึกสูงก็จะสามารถเห็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาครั้งนี้ได้อย่างชัดเจน หรือดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ thaiastro.nectec.or.th
|