ครั้นหนุ่มศุขครองเรือนกับสาวสมบุญ จนมีทายาทด้วยกันคนหนึ่งเป็นชายชื่อ “ สอน” ทั้งสองรักใคร่กันดี แต่มาจนสุดวาสนาบารมี ทางโลกในตอนนี้มิอาจจะคาดเดาได้ว่าด้วยเหตุใด แต่สันนิษฐานว่าได้เคยบวชเรียนมาแต่ปางก่อนจึงน้อมนำจิตให้เห็นความน่าเบื่อของชีวิตทางโลกและได้ ขออนุญาต ภรรยาคือนางสมบุญ เพื่ออุปสมบท โดยมีนายแฟง เป็นเจ้าภาพ ณ พัทธสีมาวัดโพธิ์ทองล่าง ต.บางเขน หรือ วัดโพธิ์บางเขนหรือปัจจุบันชื่อว่า วัดโพธิ์ทองล่าง ซึ่งอยู่ปากคลองบางเขนตอนล่าง ส่วนวัดโพธิ์ทองบน อยู่ตอนเหนือของปากคลองบางเขน ตอนบนบริเวณจังหวัดปทุมธานี มี
พระอุปัชฌาย์ของท่านชื่อ หลวงพ่อเชย จันทสิริ โดยได้รับนามฉายาว่า “เกสโร” ในพุทธศักราช ๒๔๑๕ อดีตท่านเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ทองล่าง ซึ่งเป็นพระสงฆ์ฝ่ายรามัญที่ถือเคร่งในวัตรปฏิบัติและพระธรรมวินัยเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลวงพ่อเชยท่านยังเป็นอาจารย์ทางฝ่ายวิปัสสนาธุระมีความรู้และความชำนาญรู้แจ้งแทงตลอด อีกทั้งทางด้านวิทยาคมก็แก่กล้าเป็นยิ่งนัก หลวงปู่ฯ ท่านได้รับถ่ายทอดวิชาความรู้จากอุปัชฌาย์ของท่านมาพร้อมกับอาจารย์เปิง วัดชินวนาราม และหลวงปู่เฒ่า วัดหงษ์ จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นศิษย์ในสายหลวงพ่อเชย วัดโพธิ์ทองล่างเหมือนกัน ซึ่งในการตัดสินใจครั้งนี้จะมุ่งเอาทางธรรมเป็นที่พึ่ง แต่เมื่ออยู่ใกล้กับแม่สมบุญ มากไป ทำให้จิตใจอาจจะไม่มั่นคง และด้วยบารมีแห่งธุดงค์วัตรที่ได้รับมาจากพระอุปัชฌาย์ จึงทำให้พระภิกษุศุข นั้นสามารถออกเดินธุดงค์สู้ไพรกว้างในพรรษาที่สองแห่งการอุปสมบทนั้นเอง.
ครั้นก่อนออกเดินธุดงค์ ได้เข้าไปกราบไหว้พระประธาน แล้วอธิษฐานว่า “ ตัวลูกขออุทิศชีวิตให้แก่พระศาสนา จะยึดมั่นใน ศีล ทาน ภาวนา และกาสาวพัสตร์ จนตลอดชีวิต แม้การอยู่ในเพศบรรพชิตจะทำให้ถึงกับต้องถึงแก่ชีวิตจะเป็นในป่าราวไพรหรือในกุฏิริภาณ ก็จะขอถวายชีวิตเป็นพุทธบูชา ไม่เสียดายซึ่งสังขารแต่อย่างใด ขอพระพุทธคุณได้โปรดปกปักรักษาให้รอดพ้นจากภยันตรายทั้งหลายทุกประการ”
ในการอธิษฐานเช่นนี้เพราะในสมัยนั้นการเดินธุดงค์จะต้องผ่านป่าดงดิบ และแดนอันเป็นอาถรรพณ์ หลายครั้งต่อหลายครั้งที่ พระธุดงค์ต่างพาชีวิตเอาไปทิ้งมากต่อมากแล้วทั้งนี้ จะต้องเจอกับภัยจากสัตว์ร้ายและอสรพิษมากมาย ภูติ ผีปีศาจในพงไพรก็มีมิใช่น้อยไหนจะพวกหมอผีผู้มีวิชาที่คอยลองดีพระธุดงค์อีกทุกฝีก้าว.
พบอาจารย์ประสิทธิ์ประสาทวิชา นารายณ์แปลงรูป
พระภิกษุศุข ต่อจากนี้จะขอเรียกสั้นๆว่า “ หลวงปู่ศุข” ท่านได้เดินผ่านป่าเขาลำเนาไพร ค่ำไหนก็นอนนั่น เมื่อเข้าไปในป่าลึกมากๆ จะไม่มีผู้คนจึงไม่มีอาหารมาขบฉันก็อาศัยผลไม้ที่หล่นเรี่ยราดอยู่ตามดินมาขบฉันประทังชีวิต ระหว่างที่ออกเดินทางก็พบกับภิกษุผู้แสวงหาวิเวกเช่นกัน ที่ตรงทางแยกพอดีจึงเข้าไปทักทายตามวิสัยแล้ว ต่างก็มีเจตนาอันตรงกันครั้นก็ได้ปฏิสันฐาณ กันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงเดินธุดงค์ร่วมกันต่อไป และตั้งใจเป็นหนึ่งว่าพบอาจารย์ที่ใดจะเข้ามอบตัวเป็นศิษย์
หลังจากเดินธุดงค์ไปไม่นานก็มาถึงเขาลูกใหญ่มองไปบนยอดเขานั้นก็มองเห็นผ้าสีเหลืองปลิวไหวๆ อยู่ปากถ้ำยอดเขา จึงปักใจว่าบนยอดเขานั้นจะต้องมีพระภิกษุผู้ที่เก่งกล้าวิชาแน่นอน จึงปลักกลดอยู่ที่เชิงเขาหนึ่งคืน พอรุ่งเช้าจึงพากันปีนขึ้นไปตามทางที่ลำบากจะต้องปีนป่ายตามก้อนหินบางช่วงก็ต้องโหนเถาวัลย์ขึ้นไป ครั้นขึ้นมาถึงปากถ้ำก็พบพระภิกษุชรารูปหนึ่งนั่งสมาธิอยู่หลวงปู่ศุข ท่านก็นั่งคอยว่าเมื่อใดท่านจะออกจากสมาธิรออยู่ครู่ใหญ่ ภิกษุชราจึงลืมตาแล้วเอ่ยขึ้นว่า “ มีกิจอันใดหรือจึงสู้อุตส่าห์ปีนป่ายเขาขึ้นมาถึงถ้ำนี้ได้ปกติแล้วจะไม่มีผู้ใดกล้าปีนขึ้นมาเพราะกลัวจะตกลงไปตายแต่ทั้งสามรูปนี้ขึ้นมาถึงได้ แสดงว่ามีความกล้าและมีจิตแกร่ง ต้องการสิ่งใดพึงออกปากมาจะได้ทุกอย่างที่ต้องการหากพระพุทธองค์ได้ทรงบัญญัติไว้
หลวงปู่ศุข จึงตอบแทนไปตามความจริงว่า “ กระผมนั้นกำลังแสวงหาพระอาจารย์ผู้ทรงคุณ ความรู้ในด้านคาถาอาคม เพื่อมอบตัวเป็นศิษย์ขอสืบทอดวิชากลับไปยังบ้านเกิด ”
พระภิกษุชราหัวเราะแล้วกล่าวว่า “ ได้การรออยู่นี้แหละเดี๋ยวออกมาให้มันรู้กันไปเลยว่าใครจะได้เรียนวิชา ” หลวงปู่ฯ ท่านเพลินอยู่ในธรรมเสียหลายปี จนกระทั่งมารดาท่านที่วัดปากคลองมะขามเฒ่า อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท ได้ชราภาพลงตามอายุขัย และความเจ็บไข้มาเยือนอยู่บ่อยครั้ง ด้วยความเป็นห่วงเป็นใยในบิดามารดาของท่านจึงได้เดินทางกลับสู่ภูมิลำเนาเดิม และได้อยู่จำพรรษาปีแรกๆ ทีวัดอู่ทองปากคลองมะขามเฒ่า ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่โบราณที่อยู่ลึกเข้าไปในคลองมะขามเฒ่า หรือบริเวณต้นแม่น้ำท่าจีนในปัจจุบัน แต่ทว่าสภาพของวัดอู่ทองขณะนั้นได้เกิดการชำรุดทรุดโทรมลงตามสภาพ เกินกว่าที่จะบูรณปฏิสังขรณ์ให้กลับคืนมาสู่สภาพที่ดีได้ต่อไป ท่านจึงได้ขยับขยายออกมาที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และได้สร้างกุฏิขึ้นครั้งแรกหนึ่งหลังพอเป็นที่อยู่อาศัยไปพลางก่อน
สืบต่อมามารดาของหลวงปู่ๆ ได้ถึงแก่กรรมและได้จัดการฌาปนกิจศพ และในงานนี้เอง หลวงปู่ฯ ท่านได้สร้างวัตถุมงคลในรูปพระพิมพ์สี่เหลี่ยมซุ้มรัศมีออกแจกเป็นของที่ระลึกเป็นครั้งแรก เมื่อผู้ที่ได้รับแจกพระเครื่องจากท่านไปได้ปรากฏอภินิหารทางอยู่ยงคงกระพัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องกันเขี้ยวงา คือสุนัขกัดไม่เข้า ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่บังเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เพราะบ้านนอกอย่างในชนบทสมัยก่อนนั้นไม่ค่อยจะมีรั้วรอบขอบชิดเสียเป็นส่วนใหญ่ ก็ได้อาศัยสุนัขที่เลี้ยงไว้เป็นยามเฝ้าบ้าน ฉะนั้นการที่จะแวะเวียนไปบ้านหนึ่งบ้านใดนั้นจะต้องระวังเรื่องสุนัขลอบกัดให้ดี มิฉะนั้นท่านจะถูกสุนัขกัดเอาง่ายๆ พระของหลวงปู่ฯ จึงมีชื่อเรื่องสุนัขกันไม่เข้า เป็นปฐมเหตุก่อน จึงบังเกิดความนิยมไปขอท่านมาแขวนคอบุตรหลานเพื่อกันเขี้ยวงาและภยันตรายต่างๆ สมัยก่อนพระวัดปากคลอง เนื้อตะกั่ว จุมีแขวนอยู่ในคอเด็กในท้องถิ่นเกือบจะทุกคน แล้วถ้าจะไปขอพรหลวงปู่ศุข ท่านมักจะถามว่า “เอ็งมีลูกกี่คน?” ท่านจะให้ครบทุกคน
กิตติศัพท์ในความขลังประสิทธิในพระพิมพ์สี่เหลี่ยมของท่านจึงค่อยๆ เผยแพร่จากปากหนึ่งไปสู่อีกปากหนึ่ง ในเวลาไม่ช้าไม่นาน คุณวิเศษของท่านจึงค่อยๆ โด่งดังขจรขจายไปทั่ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัดปากคลองมะขามเฒ่า ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาอันเป็นเส้นทางคมนาคมสายหลัก การขนส่งสินค้า ตลอดจาการทำมาค้าขาย จะขึ้นล่องจะต้องอาศัยสายน้ำเจ้าพระยาเพียงแห่งเดี่ยวเท่านั้น เพราะในสมัยนั้นถนนหนทางทางบกยังทุรกันดาร พอตกเพลาพลบค่ำพ่อค้าแม่ขายเรือเล็กเรือใหญ่จะมาอาศัยนอนค้างแรมที่แพหน้าวัดของท่าน เพื่ออาศัยบารมีของท่านช่วยป้องกันขโมยขโจรที่จะมาประทุษร้ายต่อเลือดเนื้อชีวิตและทรัพย์สิน ถ้าจะเปรียบไปแล้วหน้าวัดของท่านจึงเป็นเสมือนหนึ่งเป็นชุมทางที่สำคัญนี่ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่ช่วยเสริมส่งให้เกียรติคุณของท่านแผ่ขยายไปทั่วทุกภาคของประเทศ ชื่อเสียงของท่านจึงเป็นที่รู้จักกันดี “หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า”
|