ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

พระองค์ที่ ๑๓ : สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์

[คัดลอกลิงก์]
11#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-8-30 10:56 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระรูปหล่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ประดิษฐาน ณ ตึกมนุษยนาคมานพวิทยาทาน วัดบวรนิเวศวิหาร



o การอุปการะศิษย์วัด

จัดปกครองและอบรมให้เป็นระเบียบเรียบร้อย
อุปการะให้ได้เข้าเล่าเรียนในโรงเรียนในวัด  โดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน  
เพราะโรงเรียนในวัดสืบเนื่องมาจากโรงเรียนของมหามกุฏดังกล่าวข้างต้น  
ซึ่งไม่เก็บค่าเล่าเรียน  ต่อมาเมื่อเป็นโรงเรียนที่รัฐบาลรับช่วงไป
และที่เล่าเรียนก็ขยายออกไปเป็น ตึกอรพินท์, ตึกดำรงธัมมี  
และตึกมนุษยนาคมานพวิทยาทาน
เป็นตึกของวัดที่สร้างเป็นสถานศึกษา  
ทางโรงเรียนก็ไม่เก็บค่าเล่าเรียนจากศิษย์วัดเป็นการตอบแทน  

ทางวัดคุ้มครองป้องกันให้เป็นดังนี้ตลอดมา  
ก็ด้วยมุ่งอุปการะเด็กของชาตินั้นเอง   
และจัดอบรมพระพุทธศาสนาประกอบไปด้วย  

ในชั้นหลังรัฐบาลไม่เก็บค่าเล่าเรียนนักเรียนมัธยมทั่วไป  
ซึ่งก็มาตรงกับวัตถุประสงค์ที่ทางวัดอุปการะเด็กของวัดอยู่แล้ว


สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
(หม่อมราชวงศ์ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต)



o ปกิณกะ

การที่ทรงจัดอันเป็นส่วนปลีกย่อยนอกจากนี้  
เป็นต้นว่าในการทำวัตรเช้า  เพิ่มสวดบท อภิณหปัจจเวกขณะแปล
ในเวลาทำวัตรเย็น เพิ่มบท พรหมวิหารผรณปาฐะแปล
และปัตติทานคาถา (พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๔)  แปล


และในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒  
ต้องเปลี่ยนเวลาทำวัตรเย็นในเวลา ๒๐ นาฬิกา มาเป็นเวลา ๑๗ นาฬิกา
และเปลี่ยนเวลาทำปาติโมกข์ในเวลาเดียวกันนั้นมาเป็นเวลา ๑๓ นาฬิกา
(เวลาทำวัตรเย็นได้เปลี่ยนกลับไปเป็นเวลา ๒๐ นาฬิกา ตามเดิม  
ตั้งแต่วันหลังวันวิสาขบูชา ปี พ.ศ. ๒๕๐๒ )


อนึ่งได้เสด็จไปทรงเป็น พระอุปัชฌาย์ ที่วัดเขมาภิรตาราม
ตามที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ได้ทรงสั่งมอบไว้
และได้ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ให้อุปสมบท  อุปสัมปทาเปกขะทั้งสิ้นรวม ๑๕๙๙ อีกด้วย
12#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-8-30 15:23 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พระกรณียกิจพิเศษ

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘ ได้เสด็จไปบูชาปูชนียสถานและดูการพระศาสนา
ที่ประเทศลังกา อินเดีย และพม่า
ออกจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๘
กลับถึงวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๘


พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ ๔๕ เล่มของมหามกุฏราชวิทยาลัย


การหนังสือและผลงานพระนิพนธ์

พ.ศ. ๒๔๗๐ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชำระ พระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ

แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์
ด้วยพระราชประสงค์ที่จะทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา
ทรงพระราชอุทิศพระกุศลถวายสนองพระเดชพระคุณ
สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ได้ทรงชำระ ๒ เล่ม คือ

เล่ม ๒๕ ขุทฺทกนิกาย ขุทฺทกปาฐ ธมฺมปท อุทานอิติวุตฺตก สุตฺตนิปาต
เล่ม ๒๖ ขุทฺทกนิกาย วิมานวตฺถุ เปตวตฺถุ เถรคาถา เถรีคาถา


ทรงชำระ อรรถกถาชาดก
ที่สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
โปรดเกล้าฯ ให้ชำระพิมพ์ในโอกาสที่มีพระชนมายุ ๖๐ พรรษาบริบูรณ์ รวม ๑๐ ภาค  

เมื่อปี พศ. ๒๔๗๖  ได้ทรงชำระภาคที่ ๓

ส่วนหนังสือทรงรจนาหรือที่บันทึกจากพระดำรัสด้วยมุขปาฐะ เป็นต้นว่า

ศาสนาโดยประสงค์ (พิมพ์หลายครั้ง)
พระโอวาทธรรมบรรยาย ๒ เล่ม (พิมพ์หลายครั้ง)
ตายเกิดตายสูญ (พิมพ์หลายครั้ง)

ทศพิธราชธรรม
พร้อมทั้งเทวตาทิสนอนุโมทนากถา
และสังคหวัตถุ จักรวรรดิวัตร และขัตติยพละ


ถวายในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลปัจจุบัน

และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์ในงานฉลองพระสุพรรณบัฏ
ณ วัดบวรนิเวศวิหาร พ.ศ. ๒๔๙๓

พุทธสาสนคติ
คณะธรรมยุต พิมพ์ในงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ พ.ศ. ๒๕๐๐

บทความต่างๆ รวมพิมพ์เป็นเล่มตั้งชื่อว่า
“ความรู้เรื่องพระพุทธศาสนาตั้งแต่เบื้องต้น”
(พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา พ.ศ. ๒๕๐๑)


พระธรรมเทศนา ทศพิธราชธรรม ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลปัจจุบัน

พระธรรมเทศนาศราทธพรต ในคราวถวายพระเพลิงพระบรมศพ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และพระโอวาทในโอกาสต่างๆ

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ
สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ครั้งนี้ด้วย

พระธรรมเทศนา “วชิรญาณวงศ์เทศนา” รวม ๕๕ กัณฑ์
คณะธรรมยุตพิมพ์เป็นเล่มและมหามกุฏฯ พิมพ์เป็นคัมภีร์

“มหามกุฏเทศนา”
ในคราวพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ครั้งนี้

ทีฆาวุคำฉันท์ (พิมพ์หลายครั้ง)
13#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-8-30 15:24 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่พระญาณวราภรณ์


การเลื่อนสมณศักดิ์

ทรงได้รับพระราชทานเลื่อนและสถาปนาสมณศักดิ์โดยลำดับต่อไปนี้

o ในรัชกาลที่ ๕

พ.ศ. ๒๔๓๙ เป็น พระสุคุณคณาภรณ์ ที่พระราชาคณะ

พ.ศ. ๒๔๔๖ เป็น พระญาณวราภรณ์ มีสมณศักดิ์เสมอตำแหน่งเทพพิเศษ

ในการพระราชทานเพลิงพระศพพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าอรไทยเทพกัญญา
ณ พระเมรุวัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๔๔๙
ได้มีกำหนดให้ทรงอ่านพระอภิธรรมนำพระศพ ได้มีเรื่องเกิดขึ้นในครั้งนั้น
ตามที่ได้เคยมีรับสั่งเล่าแก่หลายท่านเลือกเก็บรวมใจความว่า  

เมื่อจะทรงออกจากวัด (บวรนิเวศฯ) เจ้าหน้าที่สังหการีได้มาตาม
เพราะสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้เสด็จไปทรงรออยู่แล้ว
จึงทรงตรวจดูฎีกานิมนต์ของสังฆการี ปรากฏว่ายังไม่ถึงเวลาตามกำหนดในฎีกา
จักต้องเสด็จถึงก่อนและทันเวลาเสด็จพระราชดำเนินถึง
ซึ่งเป็นเหตุก่อผลจนถึงได้ตกลงพระหฤทัยที่จะไม่เกี่ยวข้องกับราชการอีก

จึงทรงทูลลาและได้ทรงส่งพัดหลวงคืน แต่ไม่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต

ในพรรษากาล พ.ศ ๒๔๕๑ ได้เสด็จไปทรงจำพรรษาที่วัดท้ายยอ เมืองสงขลา
ในคราวนั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ มีรับสั่งขอให้
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ทรงสืบ ดังความในลายพระหัตถ์กราบทูล (พบในแฟ้มพระตำหนักจันทร์) ว่า

ศาลาว่าการมหาดไทย
วันที่ ๒๒ มกราคม ร.ศ. ๑๒๗

กราบทูลทราบฝ่าพระบาท

ตามที่มีพระประสงค์จะทราบว่า หม่อมราชวงศ์พระชื่นพักอยู่ที่ใดนั้น
เกล้าฯ ได้ทราบจากพระยาชลบุรารักษ์ ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช
ว่าหม่อมราชวงษ์พระชื่น
* พักอยู่ที่วัดกลาง เมืองสงขลา

แต่เมื่อพระยาชลบุรารักษ์ จะเข้ามากรุงเทพฯ
หม่อมราชวงษ์พระชื่น
* กำลังหาเรือจะไปเมืองพัทลุง

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

ดำรงราชานุภาพ


ครั้นวันที่ ๒๗ กรกฏาคม ศกนั้น กระทรวงมหาดไทย
จึงได้รับแจ้งมา (ตามเอกสารบนตำหนักจันทร์) ว่าดังนี้

สำเนาวันที่ ๘๑๘๒ กระทรวงมหาดไทย
รับวันที่ ๒๗ กรกฏาคม ศก ๑๒๗
ที่ ๓
กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพฯ

พระญาณวราภรณ์ ได้มาถึงเมืองพัทลุง ๑ วัน
แล้วกลับไปพักประจำพรรษาอยู่ที่วัดเกาะยอ เมืองสงขลา

ขุนอักขรา


การเสด็จกลับเข้ามา กล่าวกันว่า เพราะมีคำสั่งเรียกเป็นทางราชการ
ปรากฏว่า สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้พระราชทานอภัย
(จะเป็นเพราะทรงทราบเหตุหรือเพราะทรงเมตตาไม่ปรากฏ)

พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ได้รับสั่งเล่าว่า
ในคราวเสด็จฯ พระราชทานผ้าพระกฐินหลวงที่วัดบวรนิเวศวิหาร

สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงรับสั่งถาม สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ว่า

“ขรัวชื่นเดี๋ยวนี้อยู่ไหน”

สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทูลว่า   “อยู่กุฏิ”

สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้
ทูลกระหม่อมอัษฏางค์ฯ เชิญไตรไปถวายแทนพระองค์
แสดงว่าได้ทรงพระราชทานอภัยแล้ว

ท่านผู้หนึ่งเคยเล่าว่า สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง
(ทรงพระราชปรารภเหตุอย่างหนึ่ง) รับสั่งถึงสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ว่า

“พระอย่างนี้หายาก จะดีขึ้นไปถึงไหนๆ”
14#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-8-30 15:25 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่พระญาณวราภรณ์
เจ้าคณะมณฑลอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๗



o ในรัชกาลที่ ๖

พ.ศ. ๒๔๕๔ พระราชทานพัดยศเดิม คงเข้ารับราชการตามตำแหน่งเดิม
(เมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน)

พ.ศ. ๒๔๕๔ เลื่อนขึ้นสมณศักดิ์พิเศษเสมอตำแหน่งธรรม ในราชทินนามเดิม

พ.ศ. ๒๔๖๔ สถาปนาเลื่อนพระราชาคณะ มีสมณศักดิ์เสมอตำแหน่งธรรมพิเศษ
มีราชทินนามตามจารึกในสุพรรณบัฏขึ้นต้นเหมือนอย่างเดิม
(ได้มีพระราชประสงค์จะทรงยกย่องมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๓)

แต่ได้ทรงกราบทูลสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ
ขอพระราชทานไม่รับยศที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนั้น
เมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ สิ้นพระชนม์แล้ว
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเลื่อนขึ้นดังกล่าว


ทรงฉายร่วมกับสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ (แถวหน้า องค์ที่ ๓ จากซ้าย)
และสมเด็จพระราชาคณะ เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ (แถวหน้า องค์ที่ ๒ จากซ้าย)



ทรงฉายร่วมกับสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ (แถวหน้า องค์ที่ ๔ จากซ้าย)
และสมเด็จพระราชาคณะ เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ (แถวหน้า องค์ที่ ๒ จากซ้าย)

15#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-8-30 15:26 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
o ในรัชกาลที่ ๗

พ.ศ. ๒๔๗๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาให้เป็น
สมเด็จพระราชาคณะ มีราชทินนามตามจารึกในสุพรรณบัฏว่า

สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ฯ เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต

(ปรากฏในเอกสารเรื่องสถาปนาว่า
ราชทินนามที่กราบบังคมทูลมีหลายนามคือ
วชิรญาณวงศ์ วชิรญาณวราภรณ์ วชิรญาณวรางกูร
และในการที่จะสถาปนาครั้งนี้
ได้มีพระราชประสงค์ทรงเห็นว่าควรเป็นสมเด็จพระราชาคณะ
ได้มีพระราชดำรัสแก่เสนาบดีกระทรวงธรรมการ
ให้ไปทูลสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ
ทรงเห็นว่าถึงไม่สมัคร แต่ถ้าทรงตั้งก็ไม่ขัดข้อง
ได้ทรงพระราชดำริถึงชื่อสมเด็จพระราชาคณะพิเศษ
ทรงเห็นว่า สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ เหมาะดี)

o ในรัชกาลที่ ๘

พ.ศ. ๒๔๘๘ ประกาศสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ในราชทินนามเดิม
(ดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปรินายก ปธานาธิบดีแห่งสงฆมณฑลทั่วราชอาณาจักร
เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๘) ดังความต่อไปนี้


พัดยศสำหรับพระสมณศักดิ์ที่
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์


16#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-8-30 15:27 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
การสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า

ครั้นเมื่อถึงวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๘๗ เวลา ๐๓.๐๐ น. นี้
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สิ้นพระชนม์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘
ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา
สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต) ขึ้นเป็น
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า สกลมหาสังฆปรินายก ในราชทินนามเดิม
นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ.  ๒๔๘๘ ดังมีสำเนาประกาศสถาปนาดังนี้

ประกาศสถาปนา
สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช

ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล

ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
(ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร
ลงวันที่ ๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๗)
ปรีดี พนมยงค์

โดยที่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทว เปรียญ ๕ ประโยค)
วัดสุทัศนเทพวราราม ซึ่งดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปรินายก ปธานาธิบดีสงฆ์
ได้สิ้นพระชนม์ล่วงลับไปเสียแล้ว
เป็นการสมควรที่จะสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ดำรงตำแหน่งต่อไป

และโดยที่ สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ วัดบวรนิเวศวิหาร
มีคุณูปการในทางศาสนกิจ เจริญด้วยคุณวุฒิ ประกอบด้วยสมรรถภาพอันดียิ่ง
เป็นที่คารวะของพระภิกษุสงฆ์และพุทธมามกะทั่วไป
สมควรจะดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปรินายกได้

ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
จึงให้ประกาศสถาปนาสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ขึ้นเป็น
สมเด็จพระสังฆราช ในราชทินนามเดิม ดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปรินายก  
ปธานาธิบดีแห่งสงฆมณฑลทั่วราชอาณาจักร สืบไป

ประกาศ ณ วันที่ ๓๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๘ เป็นปีที่ ๑๒ ในรัชกาลปัจจุบัน

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ควง อภัยวงศ์
นายกรัฐมนตรี

(หมายเหตุ : จากราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๒ ตอนที่ ๙ หน้า ๑๖๖ พ ศ ๒๔๘๘)



สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
(หม่อมราชวงศ์ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต) วัดบวรนิเวศวิหาร



o ในรัชกาลที่ ๙
การเฉลิมพระนามสมเด็จพระสังฆราช


ถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ในรัชกาลปัจจุบัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
สถาปนาเฉลิมพระนามให้เต็มพระเกียรติยศตามราชประเพณี
เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓  
ตามจารึกในพระสุพรรณบัฏ ขึ้นต้นพระนามเหมือนอย่างเดิม
(พระปลัดขวาซ้าย เลื่อนขึ้นเป็นพระราชคณะ)

และในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาศกนั้น  
ทรงได้รับพระราชทานพัดแฉกงา
ซึ่งเป็นพัดที่เคยพระราชทานเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุตสืบกันมาตั้งแต่ต้น

* หมายเหตุ : อักขรวิธีตามต้นฉบับ
17#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-8-30 18:32 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

ในพระราชพิธีทรงผนวชพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน
ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๙
โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เป็นพระราชอุปัธยาจารย์



ประชวรใหญ่ครั้งแรก

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๒ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
ประชวรพระโรคนิ่วในถุงน้ำดี ต้องเสด็จไปประทับ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
แพทย์ได้ถวายการผ่าตัด ๒ ครั้ง ตัดถุงน้ำดีออก

ต่อมา พระบรมวงศานุวงศ์ คณะศิษยานุศิษย์ และผู้เคารพนับถือ
ได้ดำเนินการสร้างตึกสำหรับพระภิกษุสามเณรผู้อาพาธขึ้น ๑ หลัง
ให้แก่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นที่ระลึกในการหายประชวรครั้งนั้น
แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๖ สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ
ได้ประทานนามว่า “ตึกสามัคคีพยาบาร”

โปรดใช้คำว่า “พยาบาร” ซึ่งเป็นศัพท์บาลีที่มีอยู่แล้ว
แทนคำว่า “พยาบาล” ซึ่งเป็นศัพท์ผูกใหม่
(พยาปารหรือวฺยาปาร แปลว่า ขวนขวาย, ช่วยธุระ, กิจกรรม)


พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน
ทรงประทับหน้าใบเสมาพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร
เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๙



ประชวรใหญ่ครั้งที่ ๒


ต่อมา พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้เริ่มประชวรพระโรคบิด ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม
ต่อมากลายเป็นพระอันตะ (ลำไส้) อักเสบ มีพระโลหิตเวลาลงพระบังคนหนัก
ต้องเสด็จไปประทับที่ตึกสามัคคีพยาบาร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

นายแพทย์ได้ถวายการผ่าตัดพระนาภี ๒ ครั้ง
ตามรายงานของแพทย์แสดงว่าครั้งแรกผ่าตัดแผลที่พระอันตะออก
เพราะทำให้พระโลหิตออกมากไม่มีทางจะทำให้หยุดได้ด้วยวิธีอื่น
ครั้นแล้วพระอันตะส่วนหนึ่งเกิดบิดพันกับพระกิโลมกะ (พังผืด)  ในพระนาภี
ต้องถวายการผ่าตัดพระกิโลมกะ (พังผืด) นั้นออกเป็นครั้งที่ ๒
พระชนม์ชีพได้ผ่านอันตรายมาได้


สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ-พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ณ พระตำหนักบัญจบเบญจมา เมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๙

18#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-8-30 18:33 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พระราชอุปัธยาจารย์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
ได้เสด็จฯ เยี่ยมพระอาการในคราวประชวรนี้หลายครั้ง
และได้พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์โดยตลอด

ทรงทราบว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชปณิธานอย่างแน่นอนว่า
เมื่อสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ หายประชวร จะทรงผนวช

และสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ก็หายประชวรได้อย่างน่าประหลาด
จึงได้ตกลงพระราชหฤทัยจะทรงผนวช


สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ถวายอนุศาสน์
เมื่อพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นทรงทำอุปัชฌายวัตร
ณ พระตำหนักบัญจบเบญจมา เมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๙



โดยมี สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
(ม.ร.ว.ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต ป.ธ. ๗)
วัดบวรนิเวศวิหาร
ที่ทรงถือว่าได้ทรงมีคุณูปการส่วนพระองค์มามาก เป็นพระราชอุปัธยาจารย์
สมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตฺติโสภโณ ป.ธ. ๙)
วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เป็นพระราชอนุศาสนาจารย์
และ พระสาสนโสภณ (จวน อุฏฐายี ป.ธ. ๙)
วัดมกุฏกษัตริยาราม เป็นพระราชกรรมวาจาจารย์

เพื่อสนองพระเดชพระคุณพระราชบุรพการีตามคตินิยมราชประเพณี
พระองค์ได้เสด็จฯ มาเฝ้าถวายเครื่องสักการะ
แสดงพระองค์เป็น อุปสัมปทาเปกข์ (ผู้ประสงค์อุปสมบท)
ในสำนักสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ณ พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร
เมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๙๙

ครั้นเมื่อถึงวันจันทร์ที่ ๒๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๙๙ ได้เสด็จทรงผนวช
ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง


พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงถวายสักการะทูลลาเพื่อทรงลาผนวช
ณ พระตำหนักบัญจบเบญจมา เมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๙



ในสังฆสมาคม มีพระสงฆ์นั่งหัตถบาส รวม ๓๐ รูป
โดยมี สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ เป็นประธานในการอุปสมบทกรรม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับผ้าไตรจากสมเด็จพระราชชนนี
แล้วทรงอุ้มไตรคุกพระชานุอยู่ตรงหน้าพระราชอุปัธยาจารย์
สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ถวายโอวาท
แล้วถวายพระสมณฉายานามว่า “ภูมิพโล ภิกขุ”
หรือขานพระนามตามสำนักพระราชวังว่า
พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  
เสร็จเวลา ๑๖.๒๓ นาฬิกา

พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประเคนผ้าไตรและย่าม
แด่สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ และพระสงฆ์ในสังฆสมาคมนั้นทั้งหมดรวม ๓๐ รูป
แล้วเสด็จฯ ไปประทับ ณ พระแท่นท้ายอาสน์สงฆ์
ทรงรับสมณบริขารและเครื่องสักการะจากพระบรมวงศานุวงศ์และผู้มีเกียรติทั้งปวง
เสร็จแล้วพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ถวายพระพร ถวายอนุโมทนา
ทรงกรวดน้ำกวายอดิเรก แล้วเสด็จฯ ออกจากพระอุโบสถ
19#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-8-30 18:34 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน
ประทับในพระตำหนักปั้นหยา เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๙



ครั้นเมื่อเสร็จพระราชพิธีทรงพระผนวช
ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้ว
พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เสด็จฯ สู่พระพุทธรัตนสถานมนทิราราม ในพระบรมมหาราชวัง
ทรงประกอบการทัฬหีกรรมตามขัตติยราชประเพณี
แต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ ๕ ทรงพระผนวช
ในสังฆสมาคม มีพระเถระฝ่ายธรรมยุตนั่งหัตถบาส รวม ๑๕ รูป
โดยมี สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ทรงเป็นประธาน
เสร็จเวลา ๑๗.๔๓ นาฬิกา

แล้วเสด็จฯ โดยรถพระที่นั่งพร้อมด้วยสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ สู่วัดบวรนิเวศวิหาร
ในท่ามกลางประชาชนที่มาเฝ้าพระบารมีอย่างแน่นขนัดสองฟากถนนตลอดถึงวัด
โดยเสด็จมาประทับ ณ  พระตำหนักปั้นหยา  หนึ่งคืนตามพระราชประเพณี
แล้วจึงเสด็จมาประทับ ณ พระตำหนักทรงพรต ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕

ในการนี้ สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ  พระราชอุปัธยาจารย์
ของ พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน
ทรงเลือก สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)
เมื่อครั้งทรงเป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระโศภณคณาภรณ์
ให้เป็น “พระอภิบาล” (พระพี่เลี้ยง) ของพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ในระหว่างที่ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ และเสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร  


“ปัญจมหาราชา” ๕ พระบูรพกษัตราธิราชเจ้าแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
คือรัชกาลที่ ๔-๗ และรัชกาลที่ ๙ ภายใต้ร่มเงาเศวตฉัตรแห่งพระบวรพุทธศาสนา



ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๒ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
ที่เสด็จออกทรงพระผนวชขณะทรงครองราชย์อยู่
(พระองค์แรกคือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕)
และทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๕ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
ที่ได้เสด็จออกทรงพระผนวชต่อจากพระบูรพกษัตราธิราชเจ้ารัชกาลที่ ๔-๗

ดังนั้น พระบูรพกษัตราธิราชเจ้าแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
ภายใต้ร่มเงาเศวตฉัตรแห่งพระบวรพุทธศาสนา ปัจจุบันมี ๕ พระองค์
เรียกว่า “ปัญจมหาราชา” ประกอบด้วยรัชกาลที่ ๔-๗ และรัชกาลที่ ๙

ในระหว่างทรงผนวช พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน
ได้ทรงดำรงสมณเพศ ประทับทรงปฏิบัติพระธรรมวินัย
อยู่ในสำนักสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ  ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ตลอด ๑๕ ราตรี
ระหว่างวันจันทร์ที่  ๒๒ ตุลาคม ถึง วันจันทร์ที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๙

ทรงลาผนวชเมื่อวันจันทร์ที่ ๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๙

แม้เมื่อทรงลาผนวชแล้ว พระองค์ยังคงเสด็จมาประทับ
นั่งสมาธิกรรมฐานเป็นครั้งคราว ณ พระตำหนักทรงพรต


พระบรมสาทิสลักษณ์สีน้ำมันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน เมื่อทรงผนวช
ทรงฉายกับสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ฝีมือระเด่น บูซากิ


20#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-8-30 18:35 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พัดตราประจำพระองค์
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์



การทรงกรม

พ.ศ. ๒๔๙๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระสมณศักดิ์และฐานันดรศักดิ์
พระราชอุปัธยาจารย์ ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  
ประกอบพระราชพิธี ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวามคม ๒๔๙๙
ได้ถวายพัดมหาสมณุตมาภิเษกของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
เสวตฉัตร ๓ ชั้น ได้เปลี่ยนเป็นฉัตรตาดเหลือง หรือฉัตรตาดสีทอง ๕ ชั้น
สำหรับฐานันดรศักดิ์กรมหลวงฯ  และมีสำเนาประกาศสถาปนา ดังนี้

ประกาศพระบรมราชโองการสถาปนาสมณศักดิ์และฐานันดรศักดิ์
สมเด็จพระสังฆราช ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์


ภูมิพลอดุลยเดช ปร.

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี
จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร

มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า
โดยที่ทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช
ได้ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ ทรงมีพระคุณูปการอย่างยิ่งแด่พระองค์
เมื่อคราวทรงผนวช ได้ถวายโอวาทานุศาสน์
ให้ทรงเข้าพระราชหฤทัยในหลักพระพุทธศาสนาอย่างทราบซึ้ง

นับว่าทรงดำรงอยู่ในฐานะเป็นปูชนียบุคคลแห่งองค์พระมหากษัตริย์
และประกอบด้วยสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้ มีศักดิ์เป็นหม่อมราชวงศ์ราชประนัปดา
ในสมเด็จพระบรมไอยกาธิราช พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฏ      
พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นับว่าทรงดำรงอยู่ในสถานะเป็นเชื้อสาย
ในราชตระกูลแห่งพระบรมราชวงศ์จักรี ทรงยินดีในเนกขัมมปฏิบัติ
เป็นอจลพรหมจริยาภิรัตยั่งยืนมาช้านานถึง ๖๔ พรรษา      
ดำรงมั่นอยู่ในศีล สมาธิ ปัญญามิได้เสื่อมถอย มีพระจริยาวัตรเรียบร้อยบริสุทธิ์ บริบูรณ์         
มิได้หวั่นไหวต่อโลกามิส ทั้งพระฉันทจริต ก็เพียบพร้อมด้วยสมณคุณธรรม
ยากที่จะหาผู้เสมอได้    ทรงพระปรีชาญาณแจ่มใส รอบรู้พระไตรปิฎกสัทธรรม
ซึ่งนับว่าเป็นพหุลศรุตบัณฑิต อย่างยอดเยี่ยมพระองค์หนึ่งทรงพระสุตญาณอย่างลึกซึ้ง
สามารถในธรรมวิจารณธรรมวินิจฉัยได้อย่างถูกต้องเด็ดขาดในโอกาสทุกเมื่อ

ส่วนในการพระศาสนา สมเด็จพระสังฆราช ก็ได้ทรงรับหน้าที่บริหาร จัดการทะนุบำรุง
ให้เจริญก้าวหน้ามาโดยลำดับ จนในที่สุด ได้ทรงดำรงตำแหน่ง สกลมหาสังฆปริณายก
มาเป็นเวลานานถึง ๑๒ ปี ได้ทรงบำเพ็ญกรณียกิจเป็นหิตานุหิตประโยชน์แก่พุทธจักร
และอาณาจักรอย่างไพศาล ดั่งความพิสดารปรากฏอยู่ในประกาศสถาปนาเฉลิมพระนาม
เป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ นั้นแล้ว

และบัดนี้ก็เป็นที่ประจักษ์ว่า สมเด็จพระสังฆราชทรงเจริญยิ่งด้วยคุณวุฒิ วัยวุฒิ
รัตตัญญูมหาเถรธรรม เป็นที่เจริญศรัทธาปสาทะและเป็นคารวสถาน
ปูชนียเจดีย์แห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
ตลอดถึงมวลพุทธบริษัทและอาณาประชาราษฎรทั่วสกลราชอาณาจักร
สมควรจะสถาปนาพระเกียรติยศฐานันดรศักดิ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวง
เพื่อเป็นศรีศุภมงคล แด่พระบวรพุทธศาสนา
และเป็นที่เฉลิมพระราชศรัทธาคารวสถานสืบไป

จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม
ให้สถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวง
มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ วิสุทธิสงฆคุณาลังการ
อริยวงศาคตญาณวิมล สกลมหาสังฆปริณายก ตรีปิฎกกลากุสโลภาส
ภูมิพลมหาราชหิโตปัธยาจารย์ สุจิตตาภิธานสังฆวิสุต มหามกุฏมหาราชประนัปดา
นภวงศราชกุลาภิวรรธน์ สุขุมอรรถธรรมวิจาร  ปรีชา กาพยรจนาฉันทพากยปฏิภาน
ปาวจนุตตมญาณวราภรณ์ สุนทรวิสุทธิพรหมจรรย์ วิมลศีลขันธสมาจารวัตร
พุทธศาสนิกบริษัทคารวสถาน วิจิตรปฏิภานพัฒนคุณ อดุลคัมภีรญาณบัณฑิต
สรรพคณิสสรมหาปธานาธิบดี ศรีสมณุดมบรมบพิตร คชนาม

เสด็จสถิต ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร พระอารามหลวงทรงศักดินา ๑๑๐๐๐
ตามกำหนดอย่างพระองค์เจ้าต่างกรมทั้งปวง
และดำรงพระอิสริยยศยิ่งใหญ่ในฝ่ายพุทธจักร
สมณศักดิ์ที่สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
เป็นประธานในสมณมณฑลทั่วราชอาณาจักร
ขออาราธนาให้ทรงรับธุระพระพุทธศาสนา เป็นภาระสั่งสอน     
ช่วยระงับอธิกรณ์ และอนุเคราะห์พระภิกษุสงฆ์สามเณรทั่วไป
โดยสมควรแก่พระอิสริยยศสมณศักดิ์
ทรงเจริญพระชนมายุ พรรณ สุข พล ปฏิภาน คุณสารสมบัติ
สรรพสิริสวัสดิพิพัฒนมงคล วิบูลยศุภผลจิรัฏฐีติกาล ในพระพุทธศาสนา

ให้ทรงตั้งเจ้ากรม เป็น หลวงวชิรญาณวงศ์ ถือศักดินา ๖๐๐
ให้ทรงตั้งปลัดกรม เป็น ขุนจำนงบวรกิจ ถือศักดินา ๔๐๐
ให้ทรงตั้งสมุห์บัญชี เป็น หมื่นวินิจวรภัณฑ์ ถือศักดินา ๓๐๐
ให้ผู้ซึ่งได้รับตำแหน่งบรรดาศักดิ์ทั้ง ๓ นี้ ทำราชการในหลวง
และในกรมตามอย่างธรรมเนียมเจ้ากรม ปลัดกรม สมุห์บัญชี
ในพระองค์เจ้าต่างกรมผู้ใหญ่ทั้งปวงสืบไป ให้มีความสุขสวัสดิ์เจริญเทอญ

ในส่วนสมณศักดิ์นั้น ให้ทรงมีพระราชาคณะ
และพระครูฐานานุกรมประดับพระอิสริยยศ ๑๕ รูป

คือ พระมหานายก พุทธปาพจนดิลกโลกยปสาทาภิบาล
สกลสังฆประธานมหาเถรกิจการี คณาธิบดีศรีรัตนคมกาจารย์

พระราชาคณะปลัดขวา ๑ พระจุลนายก ธรรมนิติสาธกมหาเถราธิการ
คณกิจบรรหารธุรการี สมุหบดีศรีธรรมภาณกาจารย์

พระราชาคณะปลัดซ้าย ๑
พระครูวิสุทธิธรรมภาณ ๑
พระครูพิศาลวินยวาท ๑
พระครูประสาทพุทธปริตร พระครูพระปริตร ๑
พระครูประสิทธิ์พุทธมนต์ พระครูพระปริตร ๑
พระครูวินัยธร ๑
พระครูธรรมธร ๑
พระครูสรภัญญประกาศ พระครูคู่สวด ๑
พระครูสรนาทวิเศษ พระครูคู่สวด ๑
พระครูนิเทศธรรมจักร ๑
พระครูพิทักษ์ธุรกิจ ๑   
พระครูสังฆสิทธิกร ๑
พระครูสมุห์ ๑ พระครูใบฎีกา ๑

ขอให้พระคุณผู้ได้รับตำแหน่งทั้งปวงนี้  มีความสุขสิริสวัสดิสถาพร
ในพระบวรพุทธศาสนา เทอญ

ประกาศ ณ วันที่ ๒๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๙๙ เป็นปีที่ ๑๑ ในรัชกาลปัจจุบัน

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

จอมพล ป. พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี


ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้