|
๔ อุทธัจจกุกกุจจะแยกเป็นอุทธัจจะคือความฟุ้งซ่านของจิต แก้โดย ใช้เทคนิคกลั้นลมหายใจ (เทคนิคนี้นอกจากจะใช้แก้ความฟุ้งซ่านได้แล้ว ยังใช้ในการแก้ความง่วงได้อีกด้วย) โดยการทำตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
เริ่มจากการหายใจเข้าออกให้ลึกที่สุด โดยทำเหมือนถอนหายใจแรงๆ สัก 3 รอบ จากนั้นทำสิ่งต่อไปนี้พร้อมกันคือ ใช้ลิ้นดุนเพดานปากอย่างแรง หลับตาปี๋ เกร็งกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า และกล้ามเนื้อทั่วร่างกายให้มากที่สุด กลั้นลมหายใจให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ พร้อมกับทำสมาธิ โดยกำหนดจิตไว้ที่การกลั้นลมหายใจนั้น เพิ่มความหนักแน่น หรือความถี่ของสิ่งที่ใช้ยึดจิตขึ้นไปอีก เพื่อให้สามารถประคองจิตได้ง่ายยิ่งขึ้น หรือลดโอกาสในการฟุ้งให้น้อยลง เช่น ถ้าตอนแรกใช้กำหนดลมหายใจเข้า/ออก โดยบริกรรมว่าพุทธ/โธ หรือ เข้า/ออก ซ้ำไปซ้ำมา ก็เปลี่ยนเป็นนับลมหายใจแทน โดยหายใจเข้านับ 1 ออกนับ 1 เข้า-2 ออก-2 ... จนถึง เข้า-10 ออก-10 แล้วเริ่มนับ 1 ใหม่ การนับนี้ให้ลากเสียง(ในใจ) ให้ยาวตั้งแต่เริ่มหายใจเข้าหรือออก จนกระทั่งสุดลมหายใจ เพื่อให้จิตเกาะติดกับเสียงนั้นไปตลอด
ถ้ายังไม่หายก็เปลี่ยนเป็น เข้า-1 ออก-2 เข้า-3 ออก-4 ...... เข้า-9 ออก-10 แล้วเริ่มนับ 1 ใหม่
ถ้ายังไม่หายอีกก็เปลี่ยนเป็นรอบแรกนับจาก 1จนถึง 10 (เหมือนครั้งที่แล้ว) รอบที่สองนับจาก 1 - 9 ลดลงไปเรื่อยๆ จนเหลือนับ 1 - 5 แล้วค่อยเพิ่มขึ้นเป็น 1 - 6 ...... จนถึง 1 - 10 แล้วลดลงใหม่จนเหลือ 1 - 5 แล้วเพิ่มขึ้นจนถึง 1 - 10 กลับไปกลับมาเรื่อยๆ เพื่อให้ต้องเพิ่มความตั้งใจขึ้นอีก
ถ้ายังไม่หายอีกก็เปลี่ยนเป็นนับเลขอย่างเร็ว คือขณะหายใจเข้าแต่ละครั้งก็นับเลข 1,2,3,... อย่างรวดเร็วจนกว่าจะสุดลมหายใจ พอเริ่มหายใจออกก็เริ่มนับ 1,2,3,... ใหม่จนสุดลมหายใจเช่นกัน ทั้งนี้ไม่ต้องไปกำหนดว่าตอนหายใจเข้า/ออกแต่ละครั้งจะต้องนับได้ถึงเลขอะไร เช่น หายใจเข้าครั้งแรกอาจจะนับได้ถึง 12 พอหายใจออกอาจจะได้แค่ 10 หายใจเข้าครั้งต่อไปอาจจะได้แค่ 9 ก็ได้
*** ในการหายใจนั้นที่สำคัญคือให้หายใจให้เป็นธรรมชาติให้มากที่สุด อย่าไปบังคับลมหายใจให้ยาวหรือสั้น บางขณะอาจหายใจยาว บางขณะอาจสั้นก็ปล่อยไปตามธรรมชาติของมัน เรามีหน้าที่เพียงแค่สังเกตดูเท่านั้น
*** ทำใจให้สบาย อย่ามุ่งมั่นมากเกินไปจนเครียด จะทำให้ฟุ้งซ่านหนักขึ้น ค่อยๆ ฝึกไปเรื่อยๆ แล้วจะดีขึ้นเอง อย่าหวัง อย่ากำหนดกฎเกณฑ์ว่าวันนี้จะต้องได้อย่างนั้นอย่างนี้ ปล่อยวางให้มากที่สุด ทำใจให้อยู่กับปัจจุบัน คือเพียงแค่สังเกตว่าตอนนี้เป็นอย่างไรก็พอแล้ว อย่าคิดบังคับให้สมาธิเกิด ยิ่งบีบแน่นมันจะยิ่งทะลักออกมา ยิ่งฟุ้งไปกันใหญ่
|
|