ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1661
ตอบกลับ: 0
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

นักปฏิบัติต้องไม่ทิ้งอนิจจัง (หลวงปู่ชา สุภัทโท)

[คัดลอกลิงก์]

หลวงปู่ชา สุภัทโท
วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี


มีพระฝรั่งองค์หนึ่งเป็นลูกศิษย์ของผม เมื่อเห็นพระไทยสามเณรไทยสึก ก็ "อุ๊ย" เสียดาย ทำไมถึงทำอย่างนั้น ทำไมพระไทยเณรไทยถึงสึกกันนี่

เขาตกใจ พากันตื่นเต้นในการสึกของพระไทยเณรไทย ก็เพราะมาพบใหม่ๆ เขาตั้งใจมีศรัทธามาบวชนี่มันดีแล้ว คิดว่าจะไม่สึกใครสึกก็โง่เท่านั้นแหละ มาเห็นพระไทยเณรไทยเข้าพรรษาก็บวชกัน ออกพรรษาแล้วก็สึก โอ๊ย สลดใจ ตกใจ โอ้สงสารเน้อ สงสารพระไทย สงสารสามเณรไทย ทำไมถึงทำอย่างนั้น

พอดีต่อมา พระฝรั่งก็อยากสึกบ้าง เลยเห็นเป็นของที่ไม่สำคัญ ตอนแรกมาพบใหม่ๆมันตื่นเต้น เห็นเป็นของสำคัญมาก การบวชนะ นึกว่าจะทำเอาง่ายๆ เมื่อใจของคนกำลังมีศรัทธา มันพร้อมหมดทุกอย่าง คิดอะไรมันก็คิดดี คิดอะไรมันก็คิดถูกไปทั้งนั้นแหละ ไม่มีใครตัดสิน คือตัดสินเอาเองนั่นแหละ ไม่รู้ว่าปฏิปทาของการปฏิบัติทางจิตใจนี่ท่านทำยังไง ท่านจะต้องมีรากฐานอันมั่นคงที่สุดภายในจิตของท่านแล้ว แต่ท่านก็ไม่พูดอะไรมาก

ส่วนผมบวชมาครั้งแรกไม่ได้ฝึกฝนหรอก แต่ว่ามันมีศรัทธา มันจะเป็นเพราะกำเนิดก็ไม่รู้ พระเณรที่บวชพร้อมๆกัน ออกพรรษาแล้วก็สึก เรามองเห็นว่า "เอ้ พวกนี้มันยังไงกันน้อ" แต่เราไม่กล้าพูดกับเขา เพราะเรายังไม่ไว้ใจความรู้สึกของเรา มันตื่นเต้น แต่ภายในจิตของเราก็ว่านี่มันโง่มาก บวชมันบวชยาก สึกมันสึกง่ายนี่มีบุญน้อยไม่มีบุญมาก เห็นทางโลกมันมีประโยชน์มากกว่าทางธรรมะ นี่เราก็เห็นไป แต่เราไม่พูด เราก็มองดูแต่ในจิตของตัวเอง

เห็นเพื่อนภิกษุที่บวชพร้อมๆกันสึกไปเรื่อยๆ บางทีก็เอาเครื่องแต่งตัวมาใส่เข้ามาเดิน เราเห็นมันเป็นบ้าหมดทุกกระเบียดเลย แต่เขาว่ามันดี สวย สึกแล้วจะต้องไปทำอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็มาเห็นอยู่ในใจของเรา ไม่กล้าพูดให้เพื่อนเขา ว่าคิดอย่างนั้นมันผิด ก็ไม่กล้าพูด เพราะว่าตัวเรามันยังเป็นของไม่แน่อยู่ ว่าศรัทธาของเรานี้มันยังจะยึดยาวไปถึงขนาดไหน อะไรๆก็ยังไม่กล้าจะพูดกับใคร เลยพิจารณาแต่ในจิตของตนอยู่เรื่อยๆ

พอเพื่อนสึกไปแล้วก็ทอดอาลัย ไม่มีใครอยู่แล้วนะ ชักเอาหนังสือปาฏิโมกข์มาดูเลย ท่องปาติโมกข์สบาย ไม่มีใครมาล้อเลียนเล่นอะไรต่อไป ตั้งใจเลย แต่ก็ไม่พูดอะไร เพราะเห็นว่าการปฏิบัติตั้งแต่นี้ไปถึงชีวิตหาไม่ บางทีก็อายุ ๗๐ ก็มี ๘๐ ก็มี ๙๐ ก็มี จะพยายามปฏิบัติให้มันมีความนึกคิดเสมอ ไม่ให้คลายความเพียร ไม่ให้คลายศรัทธา จะให้มันสม่ำเสมออย่างนี้มันยากนัก จึงไม่กล้าพูด

คนที่มาบวชก็บวชไป ที่สึกก็สึกไป เราดูมาเรื่อยๆ อยู่ไปก็ไม่ว่า จะสึกก็ไม่ว่า ดูเพื่อนเขาไป แต่ความรู้สึกภายในจิตใจของเราว่าพวกนี้มันไม่เห็นชัด พระฝรั่งที่มาบวชคงเห็นอย่างงั้น เบื่อความเป็นอยู่ของพระภิกษุสามเณร เบื่อพรหมจรรย์ คลายความเพียรออกมาเรื่อยๆ ผลที่สุดก็สึก ทำไมสึกล่ะ แต่ก่อนเห็นพระไทยสึก แหมเสียดาย น่าสลดสังเวช น่าสงสาร ตัวเราสึกทำไมไม่สงสารตัวเราหรือนี่ ไม่พูด ยิ้มๆเท่านั้นแหละ ไม่พูด

...อันนี้ก็เหมือนกัน อย่าไปประมาท ระวัง องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราให้ระวัง อันนี้พูดถึงเรื่องปฏิบัติ เรื่องจิตของเรา อาตมาก็เคยซวดเซมาหลายครั้งเหมือนกัน บางทีอยากจะทดลองหลายๆ อย่างเหมือนกัน แต่แล้วมันไม่ถูกทางทั้งนั้นแหละ คือมันอวดดับอวดดีขึ้นในจิต มันเป็นมานะอันหนึ่ง ทิฏฐิความเห็น มานะความยึดไว้ มันมีอยู่นี่ พูดแต่เท่านี้มันก็ยังดูยากเหมือนกัน

นี่อาตมาเคยพูดให้ฟัง โยมอะไรที่มาบวชเป็นหลวงตา หอบผ้าไตรจีวรมาแล้ว จะมาบวชหน้าศพของโยมแม่ ได้ผ้าไตรจีวรก็หอบเข้ามาในวัด ยังไม่ไปกราบพระ พอวางไตรจีวรก็เดินจงกลมเลย เดินอยู่หน้าศาลานั่นแหละ เดินกลับไปกลับมา เดินอย่างเอาจริงเอาจัง เอ..คนอย่างนี้มันก็มีนะ นี่คือศรัทธาอธิโมกข์ เขาคิดว่าจะเอาให้ตะวันไม่ทันตก จะให้สำเร็จ ก็ไม่รู้ นึกว่ามันง่ายนะ เราก็ปล่อยให้เขาเล่นอยู่นั่นละ ไม่ต้องมองใครละ เดินเอาจริงเอาจังอย่างนั้น เรามองเห็น โอ้โอย มนุษย์เอ้ย มันคิดว่าจะง่ายๆอย่างนั้นเหรอ พอดีให้อยู่ไปกี่วันก็ไม่รู้ ดูเหมือนไม่ได้บวชหรือบวชก็ไม่รู้ มันจะเป็นอะไรอย่างนั้น

พอใจมันรู้อะไรปุ๊บ ส่งออกเลย มันรู้อะไรมาปุ๊บก็ส่งออกเลยตัวจิตสังขารมันปรุงแต่งก็ไม่รู้เรื่องของมัน มันก็ว่าฉันเป็นปัญญา มันปรุงแต่งแยกขยายหลายอย่างหลายประการ ชิ้นเล็ก ชิ้นใหญ่ หลายอย่างละเอียด ก็จิตสังขารนี้มันก็คล้ายกับปัญญา ถ้าคนไม่รู้มันก็ว่าปัญญาดีๆนี่แหละ แต่ว่าเมื่อถึงคราวมันแล้ว หาความจริงไม่มีอะไร เมื่ออารมณ์ที่ไม่พอใจเป็นทุกข์เกิดขึ้นได้ อยู่นั่นมันจะเป็นอะไร มันจะเป็นปัญญาอะไรไหม มันเป็นตัวสังขารทั้งนั้นแหละ

ดังนั้น อิงพระเสียดีกว่า ที่ผมเคยเล่าให้ฟังเรื่อยๆ ปฏิบัตินั่นแหละ แอบเข้าไปหาพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าอยู่ตรงไหนนะ ยังอยู่ทุกวันนี้ แอบเข้าไปหาท่านเถอะ อะไรล่ะ คืออนิจจัง แอบเข้าไปหาท่าน ไปกราบท่านซะ อนิจจังมันของไม่แน่นั่นแหละ เอาตรงนั้นแหละหยุดได้ตรงนั้นแหละก่อน ถ้ามันบอกว่า "ฉันเป็นโสดาบันแล้ว" ไปกราบท่านเถอะ ไม่แน่เลย ไปกราบท่าน ท่านจะบอกว่า มันไม่แน่ สกิทาคาแล้วก็กราบท่านเถอะ ท่านจะบอกอยู่คำเดียวว่าไม่แน่ เป็นอนาคามีไปกราบท่านเถอะ ท่านจะบอกอยู่คำเดียวว่ามันไม่แน่ ไปถึงพระอรหันต์ไปกราบท่าน ท่านก็ยิ่งเอาใหญ่ ยิ่งไม่แน่ เราจะได้ฟังคำของพระบ้าง คือไม่แน่แล้วก็ไม่ยึดนั่นเอง อย่าไปยึดงูๆปลาๆ อย่ายึดแล้วไม่วาง อย่าจับไม่วาง ยึดมาดูเป็นสมมติเฉยๆ ผลที่สุดก็ส่งให้วิมุตติ มันเป็นไปแต่อย่างนั้น ต้องมีสมมติ ต้องมีวิมุตติ

เรื่องจริตของเรา เรื่องอารมณ์ของเรา มันก็คล้ายกับคนๆหนึ่งนั่นแหละ พูดง่ายๆ มันคล้ายๆกับคนๆหนึ่ง คนบางคนมันชอบจริตเราก็มี บางคนที่ไม่ชอบจริตของเราก็มี สิ่งที่มันเป็นมาข้างนอกมันก็เหมือนกันอย่างนั้นแหละ มันไม่แปลกอะไรสักคนหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าอารมณ์นี้ ความเป็นจริงมันก็เป็นอยู่ที่เจ้าของนั่น อารมณ์นั้นมันก็ไม่มีอะไร มันเป็นสักแต่ว่าอารมณ์ เรามาคิดเอาเองหรอก ว่าเราดีเราชั่วว่าเราผิดว่าเราถูกเหล่านี้ มันเกิดความรู้สึกนึกคิดขึ้นเอง ว่าขึ้นเองผุดขึ้นมา อย่างนั้นธรรมนี้จึงเป็นเครื่องวิจารณ์วิจัยได้ยากเหลือเกิน

อาตมาจึงบอกว่าให้แอบไปหาพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าคือใครก็คือธรรมะนั่นแหละ ธรรมะในสกลโลกนี้ทั้งหมดมันมารวมอยู่ที่ธรรมะตัวเดียว คืออนิจจัง ลองดูซิ ใครจะเป็นนักปฏิบัติเถอะ อาตมาค้นมาตลอด ๒๐-๔๐ พรรษา เห็นเท่านั้นแหละ แล้วก็อดทนอันหนึ่ง แล้วก็เข้าใกล้ธรรมะของท่าน อนิจจังมันไม่แน่ ใจมันว่าแน่ขนาดไหนก็บอกว่ามันไม่แน่ ใจมันจะยึดมั่นว่ามันแน่ที่ไหนก็ว่ามันไม่แน่ มันไม่เที่ยง ดันมันอยู่อย่างนี้แหละ อาศัยธรรมะของพระพุทธเจ้า ก็ดับไปอยู่อย่างนี้แหละ ตลอดมาทุกวันนี้ ไม่ใช่ว่ามันประเดี๋ยวประด๋าวนะ ยืนก็เป็นอยู่อย่างนั้น นั่งก็เป็นอยู่อย่างนั้น นอนก็เป็นอยู่อย่างนั้น ที่ไม่ชอบใจเกิดขึ้นมันก็เป็นอยู่อย่างนั้น มันเข้าใกล้พระ เข้าใกล้ธรรมะ มันเป็นอยู่อย่างนั้น...


ที่มา  หนังสือ "ไม่แน่-เครื่องวัดของพระอริยเจ้า"
โดย พระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท)

http://www.ubu.ac.th/wat/index.php?page=acebooks
                                                                                       
..........................................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=43220

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้