ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2028
ตอบกลับ: 2
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

สถานที่ศักดิ์สิทธิ์อายุกว่าพันปี พระธาตุลำปางหลวง จ.ลำปาง

[คัดลอกลิงก์]


สถานที่ศักดิ์สิทธิ์อายุกว่าพันปี
พระธาตุลำปางหลวง จ.ลำปาง


ท้าวมหายศนี้ ท่านเป็นนายกองของพม่านะครับ พอดีผมไปกอฟมา   ตอนนั้นล้านนาอยู่ ในกำมือพม่า
อย่าเข้าใจผิด ลำปางลำพูนนี้ เป้นเมือง พี่ น้องกัน    ....ท่านอ่านเรื่องนี้แล้ว ท่านจะได้รับความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับล้านนา  ว่า คนลำปางหนา เป็นต้นตระกูลเจ้าเมืองล้านนา ....
ปล.เรื่องนี้ไม่มีเจตนาอย่างอื่น นอกจาก การให้ความรู้เกี่ยวกับวัดในพระพุทธศาสนาในด้านประวัติศาสตร์ เท่านั้น....หมอกดอย


ประวัติพระธาตุลำปางหลวง  จังหวัดลำปาง

                เมืองลำปาง เขลางค์นครกับตำนานเจ้าเจ็ดตน

                ดินแดงทางภาคเหนือที่เราเรียกว่าดินแดนล้านนาหรือโยนกนั้น มีความเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ มีเจ้าเมืองปกครองต่าง ๆ มากหลายหัวเมือง เช่น เชียงใหม่ เชียงราย เชียนแสน หริภุญชัย ลัมภะกัปปะนคร พละน่านเจ้า ซึ่งต่างก็แย่งชิงความเป็นใหญ่ปกครองดินแดนทางล้านนาไทย เจ้าแผ่นดินองค์ใดมีกำลังกล้าแข็งมีฝีมือมากก็ขยายดินแดนปกครองได้กว้างไกล เมื่อใดเสื่อมอำนาจบ้านเมืองอ่อนแอก็ถูกเมืองอื่นที่มีกำลังกล้าแข็งกว่ายึดครอง เป็นเช่นนี้มาตลอดทุกยุคทุกสมัย

                จนถึงในระหว่าง พ.ศ. 2272-2275 ดินแดนในล้านนาไทยไม่เป็นปกติสุข เกิดการจลาจลรบพุ่งแย่งชิงอำนาจกันอยู่ทั่วไป ต่างก็ตั้งตัวเป็นอิสระไม่ขึ้นแก่ใคร ไม่รวมกันเป็นกลุ่มก้อนดังสมัยก่อน เมืองเชียงแสน เชียงราย ตกอยู่ในอำนาจของพม่า เมืองเชียงใหม่มีองค์ดำ (หรือเจ้าองค์นก) เป็นเจ้าครองเมืองกำลังรบติดพันอยู่กับพม่าเมืองลำพูนมีท้าวมหายศครองเมือง เมืองแพร่ เป็นน่านต่างก็มีเจ้าเมืองปกครองอยู่

2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-8-3 13:41 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ส่วนเมืองลำปางไม่มีเจ้าผู้ครองนครมีแต่ขุนเมือง 4 คน ควบคุมอำนาจการปกครองเมืองอยู่แต่ไม่มีสิทธิ์ขาดเพราะต่างก็แก่งแย่งอำนาจกัน บ้านเมืองระส่ำระสายไม่เป็นปกติสุข

                จนกระทั่งมีภิกษุรูปหนึ่งทนเห็นความเดือดร้อนของประชานไม่ไหว จึงลาสิกขาบทออกมาตั้งตัวเป็นใหญ่ ภิกษุรูปนั้นเป็นเจ้าอาวาสวัดนายาง (วัดนายางอยู่อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง) มีความเชี่ยวชาญทางไสยเวทวิทยาคม ได้รับการยกย่องจากชาวเมืองมีผู้มาสมัครเป็นลูกศิษย์และบริวารเป็นจำนวนมาก รวมทั้งสมภารวัดสามเขากับสมภารวัดบ้านฟ่อน ก็ลาสิกขาบทออกมาเป็นเสนาซ้ายขวาของสมภารวัดนายาง ตั้งตัวเป็นใหญ่ขึ้นมาอีกก๊กหนึ่ง ซึ่งขุนเมืองทั้ง 4 ไม่สามารถปราบปรามได้

                ต่อมาเมื่อท้าวมหายศเจ้าเมืองลำพูนทราบข่าว จึงยกกองทัพเมืองลำพูนลงมาปราบก๊กของสมภารวัดนายางที่เมืองลำปาง สมภารวัดนางยางก็พาสมัครพรรคพวกบริวารต่อสู้กับกองทัพเมืองลำพูนเป็นสามารถจนถึงขั้นตลุมบอน ที่ตำบลป่าต้น กองทัพสมภารวัดนายางกำลังพลน้อยกว่าสู้กองทัพลำพูนไม่ได้ ก็แตกหนีมาอยู่ที่วิหารวัดพระธาตุลำปางหลวง กองทัพลำพูนยกกำลังมาล้อมวัดพระธาตุลำปางหลวงไว้

                ครั้นเวลาใกล้รุ่ง สมภารวัดนายางกับเสนาซ้ายขวากับพวกก็หลบหนีจากที่ล้อมไปได้ พากันหนีลงทางใต้ กองทัพลำพูนไล่ติดตามมาทันกลางทางจึงเกิดการต่อสู้รบกันอีก สมภารวัดนายางกับพวกเหลือแต่ไม้ค้อน (ตะพด) กับไม้เสา รั้วสวน เป็นอาวุธเข้าต่อสู้กับกองทัพเมืองลำพูนเป็นสามารถ จนทัพลำพูนจวนจะแพ้อยู่แล้ว

                บังเอิญสมภารวัดนายางถูกกระสุนของทัพลำพูนที่ระหว่างคิ้วล้มลง เสนาซ้ายขวาเข้าช่วยประคองถูกกระสุนล้มลงทั้งคู่ เสนาวัดบ้านฟ่อนถูกกระสุนที่หางตา เสนาวัดสามขาถูกที่หัวเข่า ถึงแก่มรณกรรมทั้งสามคน ส่วนพลพรรคเมื่อเห็นหัวหน้าเป็นอันตรายต่างก็แตกพ่ายหลบหนีไป ที่หนีไม่ทันก็ถูกทัพลำพูนฆ่าตายที่นั่น

                เมื่อกองทัพลำพูนรบชนะแล้วก็ตั้งพักอยู่ในวัดพระธาตุลำปางหลวง แล้วก็ให้พลพรรคไปเรียกเก็บเงินภาษี บังคับเกณฑ์เอาข้าของเงินทองทรัพย์สินข้าวปลาอาหารไปบำรุงกองทัพ เมื่อผู้ใดไม่ยินยอมขัดขวางไม่ยอมให้หรือไม่มีก็จับตัวมาลงโทษทารุณกรรมต่าง ๆ บ้างก็ถึงแก่ชีวิต เป็นทุกขเวทนานัก ผู้หญิงลูกสาวใครสวยงามก็ถูกบังคับให้เป็นนางบำเรอ ครั้งนั้นชาวเมืองลำปางได้รับความเดือดร้อนเป็นยิ่งนัก

                ท้าวมหายศเจ้าเมืองลำพูนคิดที่จะยึดเมืองลำปางขณะที่กองทัพมีความหึกเหิมเพราะชนะศึกมาใหม่ ๆ จึงคิดอุบายแต่งตั้งให้ นายทหารเอก คือ หาญฟ้าแมบ  หาญฟ้าง้ำ  หาญฟ้าฟื้น  ซ่อนอาวุธเข้าไปเจรจาความเมือง ต่อขุนเมืองทั้ง 4 ที่ครองเมืองลำปาง คือ แสนหนังสือ แสนเทพ นายเรือน จเรน้อย และท้าวขุนทั้งหลายมาประชุมกันที่สนามว่าการ

                ครั้นได้ทีก็พร้อมกันไล่ฟันแทง ขุนเมืองลำปางล้มตายลงหลายคน กองทัพเมืองลำพูนก็ยกกำลังหนุนเข้ามาปล้นเอาเมืองลำปาง ฆ่าฟันผู้คนจุดเพลิงเผาผลาญบ้านเมือง บ้านเรือนราษฎรเสียหายเป็นอันมาก พวกขุนเมืองที่หนีเอาตัวรอด มีท้าวลิ้นก่านจเรน้อย นายน้อยธรรมราษฎรชาวเมืองต่างแตกหนีกระจัด กระจายไปอาศัยอยู่ตามที่ต่าง ๆ ที่คิดว่าปลอดภัย คือ ประตูผา เมืองลอง เมืองตีม เมืองต้า เมืองเมาะ เมืองวาง ทิ้งให้เมืองลำปางในครั้งนั้นเป็นเมืองร้างไม่มีผู้คนอาศัยเพราะต่างกลัวกองทัพเมืองลำพูน

                ครั้นนั้นชาวลำปางต่างก็หาทางจะกอบกู้บ้านเมือง เพียงแต่รอคอยโอกาสอยู่ ต่อมามีพระมหาเถระรูปหนึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดพระแก้วชมพู เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนเป็นอันมาก ท่านคิดที่จะกอบกู้นครลำปางให้เป็นอิสระจากกองทัพลำพูนซึ่งมายึดครองเมืองอยู่นั้น เมื่อได้ซ่อนสุมผู้คนจนได้กำลังพอสมควรแล้ว จึงไปหาท้าวลิ้นก่านกับจเรน้อยที่หนีกองทัพลำพูนไปอยู่ประตูผา เหนือเมืองลำปาง เจรจาขอให้ขุนเมืองทั้งสองกอบกู้เมืองลำปาง แต่ขุนเมืองทั้งสองไม่กล้าเกิดท้อถอยเสียแล้ว จึงแจ้งให้พระมหาเถรเจ้าเลือกหาผู้ที่มีฝีมือมีความสามารถกอบกู้บ้านเมือง ถ้าหากผู้ใดสามารถขับไล่ข้าศึกให้ล่าถอยไปกอบกู้บ้านเมืองได้สำเร็จก็ขอมอบบ้านเมืองให้ผู้นั้นปกครองสืบไป

                ตอนแรกพระมหาเถระเจ้าวัดพระแก้วชมพูจะลาสิกขาบทเพราะหาผู้กอบกู้บ้านเมืองมิได้ ครั้นได้ปรึกษาญาติโยมและศิษย์ทั้งหลายต่างขอนิมนต์ไว้ก่อน ขอให้ครูบาเจ้าซึ่งชำนาญเรื่องโหราศาสตร์ให้ลงเลขทำนายดู พระมหาเถระเจ้าก็ทำตามตำราที่ร่ำเรียนมาก็เห็นว่า มีชายคนหนึ่งชื่อ “หนานทิพช้าง”

                หนานทิพช้างผู้นี้เป็นพรานป่าชาวบ้านคอกวัว (แถวข้างวัดศรีล้อม ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง) บางแห่งก็ว่าเป็นคนบ้านปงยางคก อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง เป็นผู้มีสติปัญญาเฉียบแหลม กล้าหาญ มีกำลังฝีมือเข้มแข็ง ชำนาญในการใช้ปืนและธนูเป็นอันมาก และเคยเป็นหมอคล้องช้างป่า คนทั้งหลายจึงเรียกว่าทิพช้าง

                พระมหาเถระเจ้าจึงให้คนไปถามทิพช้างว่ารับจะกอบกู้บ้านเมืองจากข้าศึกชาวลำพูนหรือไม่ ทิพช้างก็รับรองอย่างแข็งขันว่า “พวกข้าศึกชาวลำพูนก็คนเดินดิน กินข้าวเหนียวเหมือนกับเรา เราหาเกรงกลัวไม่”

                พระมหาเถระเจ้าจึงตั้งให้ทิพช้างเป็น “เจ้าทิพเทพบุญเรือน” เป็นหัวหน้าคุมคน 300 คน คุมคนไปรบกับกองทัพเมืองลำพูน ที่ตั้งอยู่ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง เจ้าทิพเทพบุญเรือนจึงจัดกองกำลังให้หนานนันต๊ะสาร กับหนานชัยพล น้อยไชยจิตเป็นแม่กอง คุมไพร่พลชาวบ้านผู้กล้าหาญและมีฝีมือเข้มแข็ง แบ่งพลเป็น 3 กอง ๆ ละ 100 คน ยกออกจากเวียงดิน บ้านคอกวัวของทิพช้าง (ภายหลังได้สถาปนาเป็นเวียงดิน อยู่ทางเหนือเมืองลำปาง) มุ่งตรงไปวัดพระธาตุลำปางหลวงที่กองทัพ ซึ่งมีท้าวมหายศตั้งพักไพร่พลอยู่

                เวลาขณะที่เจ้าทิพเทพบุญเรือนยกกำลังพลไปถึงนั้น เป็นเวลากลางคืนค่อนข้างดึก จึงให้กำลังคนล้อมวัดพระธาตุลำปางหลวงไว้อย่างแข็งแรงทุกด้านเมื่อจัดวางกำลังเรียงรายโดยรอบแล้ว เจ้าทิพเทพบุญเรือน ก็ลอดคลานเข้าไปทางท้องร่อง สำหรับระบายน้ำเวลาฝนตก ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของวัดเข้าไปในวัด

                เมื่อเจ้าทิพเทพบุญเรือนลอดเข้าไปถึงวัดชั้นในแล้วก็เข้าไปถามยามรักษาการณ์ว่า ท้าวมหายศเจ้าเมืองลำพูนอยู่ที่ไหน ยามรักษาจึงถามว่ามีธุระสิ่งใดหรือ เจ้าทิพเทพบุญเรือนก็ตอบว่า เจ้าแม่เทวีเมืองลำพูน (ชายาท้าวมหายศ) ใช้ให้ส่งหนังสือด่วนให้ท้าวมหายศ ยามรักษาได้ฟังดังนั้นก็หลงเชื่อว่าเป็นความจริง จึงอนุญาตให้เจ้าทิพเทพบุญเรือนเข้าไปหาท้าวมหายศซึ่งกำลังเล่นหมากรุกกับทหารคนสนิทและนางบำเรอที่วิหารหลวง ตรงมุมตะวันตกเฉียงเหนือ
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-8-3 13:42 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เมื่อเจ้าทิพเทพบุญเรือนเห็นและแน่ใจว่า บุคคลตรงหน้านั้นคือท้าวมหายศจึงคลานเข้าส่งหนังสือปลอมมานั้นส่งมอบให้ท้าวมหายศ เมื่อท้าวมหายศรับหนังสือแล้วเจ้าทิพเทพบุญเรือนก็ถอยออกมา ยกปืนที่ติดตัวมายิงท้าวมหายศทันที ท้ายมหายศถูกกระสุนล้มลงขาดใจตายกลางวงหมากรุก (ลูกกระสุนนั้นยังทะลุไปถูกรั้วทองเหลือของเจดีย์ตามที่เห็นอยู่ทุกวันนี้)


                แล้วเจ้าทิพเทพบุญเรือนก็รีบหนีเล็ดลอดออกไปตามทางระบายน้ำเก่าที่เข้ามา แล้วนำทหารลำปางฆ่าตายเป็นจำนวนมาก ที่เหลือตายก็แตกหนีพ่ายไป เจ้าทิพเทพบุญเรือนยกทัพไล่ตีติดตามไปจนถึงดอยดินแดน (ดอยผีปันน้ำ) จึงให้เลิกทัพกลับและแวะนมัสการพระที่วัดปงยางคก ซึ่งเป็นวัดที่ท่านเคยบวชเรียนอยู่

                ณ วันนั้น ต่อมาจึงมีประเพณีเมื่อถึงเทศกาลทานข้าวสลาก (กิ๋นก๋วยสลาก) ประจำปีต้องมีที่วัดปงยางคกก่อนวัดอื่นในเมืองลำปางและเลยมาขอขมาเทพารักษ์และพระธาตุลำปางหลวง

                เมื่อขับไล่ปราบกอบทัพเมืองลำพูนแตกพ่ายไปแล้ว พระมหาเถระเจ้าพระแก้วชมภู พร้อมด้วยประชาราษฎร์ชาวเมืองลำปางทั้งหลายก็พร้อมใจกันแต่งตั้งปราบดาภิเษก สรงน้ำมุรธาภิเศกให้หนานทิพช้าง หรือเจ้าทิพเทพบุญเรือน สถาปนาให้เป็นที่ “เจ้าพระยาสุละวะภาไชยสงคราม” เจ้าผู้ครองเมืองลำปางในปี พ.ศ. 2275 (จุลศักราช 1094) ในครั้งนั้น นครลำปางตั้งตัวเองเป็นอิสระปกครองตัวเองไม่ขึ้นต่อเมืองเชียงใหม่หรือกรุงศรีอยุธยา

                เจ้าพระยาสุละวะไชยสงคราม (เจ้าทิพช้าง) ครองเมืองลำปางนาน 27 ปี จนลุปี พ.ศ. 2302 (จุลศักราช 1121) ก็ถึงแก่ทิวงคต มีโอรสธิดากับเจ้าแม่ปิมลาเทวีรวม 6 คน คือ

                1.  เจ้าชายอ้าย (ถึงแก่กรรมยังเยาว์วัย)

                2.  เจ้าชายแก้ว (ได้ครองเมืองแทนพระบิดา เป็นบิดาของเจ้าเจ็ดตน)

                3.  เจ้านางคำ

                4.  เจ้าชายคำภา

                5.  เจ้าชายพ่อเรือน (ถึงแก่กรรมในการรบกับท้าวลิ้นก่านบุตรพ่อเมืองคนเก่า)

                6.  เจ้านางกลม

                หลังจากท้าวพระยาสุละวะภาไชยสงครามทิวงคต ท้าวลิ้นก่านพ่อเมืองคนก่อน ซึ่งหนีไปอยู่ประตูผาตั้งแต่ครั้นศึกเมืองลำพูนได้ยกกำลังมาปล้นแย่งชิงเมืองจากเจ้าชายแก้ว ซึ่งได้ขึ้นครองเมืองแทนบิดา เจ้าชายแก้วกับเจ้าชายพ่อเรือนต่อสู้กำลังทัพท้าวลิ้นก่านไม่ได้ก็อพยพถอยมาอยู่ที่เมืองแพร่ (บ้างก็ว่าเมืองลอง) ส้องสุมรวมพลได้ผู้คนพอสมควรแล้ว ก็ยกกลับมารบกับท้าวลิ้นก่านอีก ในการรบคราวนี้ เจ้าชายพ่อเรือนน้องชายเจ้าชายแก้ว ถูกปืนตายในที่รบเจ้าชายแก้วก็หนีไปหาโป่อภัยคามินี แม่ทัพพม่า ซึ่งขณะนั้นยึดครองเมืองเชียงใหม่กับลำพูนอยู่

                พม่าจึงส่งเจ้าชายแก้วไปยังกรุงอังวะ ต่อมาพระเจ้าอังวะให้เกณฑ์หัวเมืองฝ่ายเหนือมารบไทย ให้โป่ชุกยกทัพมาและนำตัวเจ้าชายแก้วมาด้วย กองทัพพม่าตีเมืองลำปางแตก จับท้าวลิ้นก่านฆ่าเสีย แล้วคืนเมืองลำปางให้เจ้าชายแก้ว พระเจ้ากรุงอังวะสถาปนาให้เจ้าชายแก้วเป็นเจ้าฟ้าชายแก้ว (บางแห่งเรียก เจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว) เป็นเจ้าครองเมืองลำปางต่อไปในปี พ.ศ. 2307 (จุลศักราช 1126)

                โอรสธิดาของเจ้าฟ้าชายแก้วอันเกิดกับเจ้าแม่จันทาเทวี ที่เป็นเชื้อสายของพญาสุละวะภาไชยสงคราม (เจ้าทิพช้าง) ที่ต่อมาได้ครองเมืองเชียงใหม่ เชียงราย เชียงแสน ลำปาง ลำพูน คือ

                1.  เจ้ากาวิละ ประสูติ พ.ศ. 2285 ต่อมาได้เจ้าครองเมืองลำปาง 7 ปี แล้วทรงโปรดฯ ให้เป็นพระยาวชิรปราการเจ้าเมืองเชียงใหม่ ภายหลังได้เลื่อนขึ้นรับสุพรรณบัตรเป็นพระเจ้าบรมราชาธิบดีฯ พระเจ้าขันธเสมานครเชียงใหม่ที่ 1

                2.  เจ้าคำโสม ประสูติ พ.ศ. 2287 ได้เป็นเจ้าผู้ครองเมืองลำปางที่ 2  ต่อจากพระเจ้าบรมราชาธิบดี  (กาวิละ)

                3.  เจ้าน้อยธรรมลังกา ประสูติ 2289 ได้เป็นเจ้าผู้ครองเมืองเชียงใหม่องค์ที่ 2 หรือเรียกกันว่าเจ้าช้างเผือก

                4.  เจ้าดวงทิพย์ ประสูติ 2291 ได้เป็นเจ้าผู้ครองเมืองลำปางที่ 3 ต่อจากเจ้าคำโสม

                5.  เจ้านางศรีโนชา ประสูติ 2293 เป็นพระชายากรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (ชาวเหนือเรียกว่าแม่ครอกศรีอโนชา มีพระธิดา 1 องค์ ทรงพระนามว่า เจ้าหญิงกุลทอง

                6.  เจ้านางศรีวรรณา  ประสูติ พ.ศ. 2295

                7.  เจ้าหมูหล้า ประสูติ พ.ศ. 2297 ได้เป็นอุปราชเมืองลำปาง ถึงแก่อนิจกรรมที่กรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ.2358 อายุได้ 39 ปี

                8.  เจ้าคำฟั่น  ประสูติ พ.ศ.2299 ได้เป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ที่ 3 หรือเรียกกันว่า เจ้าหลวงเศรษฐี

                9.  เจ้าบุญมา ประสูติ พ.ศ. 2303 ได้เป็นเจ้าเมืองลำพูนที่ 2

                รวมโอรสและธิดาของเจ้าฟ้าชายแก้ว ชาย 7 คน หญิง 3 คน รวมเป็น 10 คน ที่เรียกกันว่า “เจ้าเจ็ดตน” นั้นนับเฉพาะที่เป็นชายเท่านั้น เจ้าทั้งเจ็ดองค์นี้เป็นต้นตระกูลวงศ์ ณ เชียงใหม่ ณ ลำปาง ณ ลำพูน ส่วนเชื้อสายเจ้าเจ็ดตนที่อยู่ทางเชียงรายส่วนมากใช้นามสกุล “เชื้อเจ็ดตน” เป็นเชื้อสายของ “ทิพช้าง” วีระบุรุษแห่งเขลางค์นคร เช่นกันสืบมาจนทุกวันนี้

                ส่วนเจ้าผู้ครองเมืองลำปางสืบต่อกันมาอีก 14 คน ผู้รั้งตำแหน่งเจ้าเมืองคนสุดท้ายคือ เจ้าราชบุตร (เจ้าแก้ว ผาบเมือง ณ ลำปาง พ.ศ. 2465 นับแต่นั้นมา ตำแหน่งเจ้าผู้ครองเมืองลำปางก็ถูกล้มเลิกไป เช่นเดียวกับตำแหน่งเจ้าเมืองในจังหวัดภาคเหนือ ซึ่งถูกสั่งเลิกหมด ให้ปกครองแบบมณฑลจังหวัด   โดยการส่งข้าหลวงจากส่วนกลางไปปกครองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


ที่มา : http://www.moohin.com/pratat/pratat038c001.shtml                                                                                       
...........................................................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=46100

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้