ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2227
ตอบกลับ: 2
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

อาจารย์ชาไม่อยากเป็นพระอรหันต์

[คัดลอกลิงก์]
[url=][/url]

                                        อาจารย์ชาไม่อยากเป็นพระอรหันต์ : วิปัสสนาบนหน้าข่าว โดยพิสุทธิ์ เกรียงบูรพา                                                                

                       ฝนโปรยปรายตลอดทั้งวัน บนเขายายดาลูกนี้ ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดมาบจันทร์ (หนองป่าพง ๗๓) จ.ระยอง ทำเอาเต็นท์นอนติดรถคู่ใจของผมเปียกปอน อุ้มน้ำเต็มกันสาดทีเดียว การได้หาเวลาปลีกวิเวกสัก ๒-๓ คืนเข้าป่า สนทนาธรรมทั้งกับพระ ทั้งกับตัวเองโดยลำพังเช่นนี้ เป็นสิ่งที่สูงค่าและจำเป็นสำหรับชีวิตคนเราจริงๆ นะครับ เมื่อมีเวลาสงบ วิเวก ก็มีโอกาสทำสมาธิอย่างมีประสิทธิภาพ และจะตามมาซึ่งธัมมวิจัยต่อเนื่องกันไป บรรยากาศเช่นนี้ ทำให้ผมนึกถึงคำเทศน์เก่าๆ ของท่านอาจารย์
               พระอาจารย์อนันต์ อกิญฺจโน เคยเทศน์ให้ฟังว่า พระเดชพระคุณ หลวงพ่อชา สุภัทโท (พระเกจิแห่งวัดหนองป่าพง ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยขอท่านอาจารย์อนันต์ไว้เป็นลูกด้วยคนหนึ่ง) เล่าว่า .. ท่านไม่อยากเป็นหรอกพระอรหันต์ เป็นแล้วลูกศิษย์ลูกหาวางตัวลำบาก เกร็งไปหมด แม้จะถวายยาให้ฉัน ก็กลัวว่าถ้าพลาดไปทำให้พระอรหันต์อาพาธหนักกว่าเดิม จะเป็นบาปมากมาย ต่างๆ นานา ใครจะมาว่าให้ท่านเป็น หรือใครจะปรามาสว่าท่านไม่เป็นอรหันต์ ท่านไม่เคยสนใจ เพราะทุกๆ ครั้ง เอาเข้าจริง ไปถามท่าน ท่านมักตอบว่า ...

                       “เราไม่ได้เป็นอะไร และไม่มีอะไรจะเป็น”

               เป็นที่ทราบกันดี ท่านมีพระลูกศิษย์เป็นฝรั่งมังค่ามากมาย ครั้งหนึ่งพระอเมริกันท่านหนึ่งที่ลาสิกขาไปแล้ว ก่อนหน้านั้น พระรูปนี้เคยปรามาสท่านว่า อาจารย์ชาน่ะ (พระฝรั่งมักเรียกท่านว่า อาจารย์ชา) ไม่ใช่พระอรหันต์หรอก เพราะพระที่บรรลุแล้วน่าจะเป็นอิสระจากกิริยาความสำรวม ระวัง อะไรเหล่านี้ไปหมดสิ นี่ท่านยังรักษาข้อวัตร สำรวมระวัง จึงยังไม่น่าเป็นอิสระเช่นจิตแห่งพระอรหันต์ (ทัศนคติของชาวตะวันตก เห็นวิถีอิสระ นอกกรอบประเพณีมาเยอะ คงเข้าใจไปเองแบบนั้น) ... ไม่มีใครทราบว่า หลวงพ่อชา ไปล่วงรู้คำนินทาที่ว่านั้นได้ยังไง ...
         
                       วันหนึ่งขณะที่ท่านไปพบกับพระอเมริกันรูปนี้โดยบังเอิญในห้องน้ำส่วนกลาง หลวงพ่อชา ถือไม้เท้าชี้ตรงไปที่พระฝรั่ง แล้วก็หัวเราะอย่างเบิกบาน ประหนึ่งดังเด็กน้อย แล้วจากไปโดยไม่พูดอะไรเลย ... หลังจากนั้นเป็นต้นมา พระฝรั่งท่านนี้ก็เปลี่ยนทัศนคติไป แล้วเล่าให้พระท่านอื่นฟังว่า ผมรู้แล้วว่าจิตที่บริสุทธิ์ของพระอรหันต์เป็นอย่างนี้เอง (ว่าง-เย็น-เป็นอิสระจากข้างใน ภายใต้ปฏิปทา ข้อวัตรปฏิบัติ ตามธรรมวินัย)
                       “ท่านหัวเราะอย่างเป็นอิสระจริงๆ” ... พระฝรั่งท่านนั้นกล่าว

               ท่านอาจารย์อนันต์ ยังเล่าให้ฟังต่ออีกว่า ... หลวงพ่อชา ไม่เคยสอนให้เราเป็นอะไร ท่านเน้นแต่ปัญญา ว่าอะไรๆมันก็ “ไม่แน่” แม้จะเป็นโสดาบันแล้ว ก็ไม่แน่, สกิทาก็ไม่แน่, อนาคา ยิ่งไม่แน่เข้าไปอีก, พระอรหันต์ นี่ไม่แน่ที่สุดเลย ก็เพราะใครเห็น “ไม่แน่” (อนิจจัง) ยิ่งชัดขึ้นเท่าไหร่ ก็ได้เข้าใกล้พระพุทธเจ้ามากขึ้นเท่านั้น นั่นเอง

               ผมนึกในใจ ... สภาพพิเศษบางอย่างที่เกิดขึ้นกับจิตใจของผู้ที่ปฏิบัตินั้น มิอาจเล่าสู่กันฟังได้เลย เพราะต่างก็เป็น ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิติฯ คือ รู้ได้เฉพาะตน ของใครก็ของท่าน ดังนั้นพระอรหันต์และพระอริยบุคคลทั้งหลาย ตั้งแต่ยุคเก่าก่อน กระทั่งถึงยุคปัจจุบัน ท่านจึงไม่อาจเล่าถึงสภาวะการบรรลุธรรมได้อย่างเต็มปากนัก ยิ่งมาในยุคหลังๆ นี้ พระสงฆ์บางท่านต่างก็มีกลยุทธ์แพรวพราว ราวกับจะเป็นนักมาร์เก็ตติ้งเสียเอง มีการโฆษณาชวนเชื่อกันจนชาวพุทธที่ขาดการโยนิโสมนสิการ จะไม่ยอมใส่ใจคำสั่งสอนของพระเกจิอาจารย์รุ่นเก่าๆ อีกทั้งปิดโอกาสตัวเอง ไม่ยอมเปิดใจกว้างรับฟังคำเทศน์ของพระรุ่นใหม่ๆ กันแล้ว นอกจากจะฟังแต่พุทธวจน หรือการเทศน์ของท่านและคณะเท่านั้น !

                       คำถามที่ก้องอยู่ในใจของผมก็คือ ... หรือคำเทศนาของครูบาอาจารย์ พระอรหันตสาวก รวมถึงพระอริยบุคคลทั้งหลาย จะไม่มีความหมายไปแล้วเลยงั้นหรือ? หรือสัจธรรมปฏิรูป จะสลักสำคัญไปกว่า สัจธรรมที่รู้แจ้งได้ด้วยตนเองจากการปฏิบัติอย่างมีสัมมาทิฐิไปแล้ว?   

                       ท่านอาจารย์อนันต์เล่าต่อมาอีกว่า  ... หลวงพ่อชาจึงให้เน้นการปฏิบัติข้อวัตรปฏิบัติต้องแน่นหนา ธรรมวินัยต้องแข็งแรง อะไรๆ ในชีวิตก็ไม่ให้ไปยึดมั่นถือมั่น เห็นความไม่เที่ยงแท้แน่นอนที่ชัดเจนขึ้นโดยลำดับ ปฏิบัติแบบนี้เอง แล้วจิตจะว่างมากขึ้นๆ มีกำลัง พิจารณากายในกาย จิตในจิต ได้จริง สุดท้ายก็เป็นการทำลายสังโยชน์ทั้ง ๑๐ โดยเริ่มจากสักกายทิฐิ, วิจิกิจฉา, สีลัพพตปรามาส เป็นต้น ตกกระแสพระนิพพาน สู่สภาพอริยบุคคลชั้นต้นโดยปริยาย โดยปราศจากเจตนาที่เจือกิเลสเลย (คือมันเป็นของมันเอง) ดั่งคำเปรียบเปรยของอังกฤษว่า No walker behind walking. (มีการเดินที่ปราศจากผู้เดิน)

                       ด้วยเหตุนี้และเหตุนี้กระมัง หลวงพ่อชาจึงกล่าวว่า ... ท่านไม่อยากเป็นพระอรหันต์!

                       อะไรเอ่ย? ยิ่งอยากได้ ยิ่งห่างไกล
               วิ่งเข้าใส่ ยิ่งบ้าใบ้ หลงปรารถนา
               เมื่อหยุดอยาก จะถึงได้ โดยไร้เจตนา
               อะไรหนา พระท่านว่า คือจุดหมาย

               ชาวพุทธเอ๋ย ใครหนอ ยังด้อยปัญญา
               ยังหลงบุญ หลงบ้า สะสมไมล์
               กว่าจะรู้ บินไม่ขึ้น ไม่ไปไหน
               เพราะ “ตัวกู” ยิ่งใหญ่ แสนหนักอึ้ง

               ใครที่อยาก จะถึง ซึ่งนิพพาน
               ใครมี “กู” ผู้อยาก จะไม่ถึง
               ไม่มีคน มีแต่การเดินไป ไร้คำนึง
               จึงไปถึง ซึ่งจุดหมาย ที่ว่าเอยฯ


ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้