ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 7752
ตอบกลับ: 23
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงตาพวง สุขินทริโย(พระเทพสังวรญาณ) วัดศรีธรรมาราม ~

[คัดลอกลิงก์]


ประวัติและปฏิปทา
หลวงตาพวง สุขินทริโย

วัดศรีธรรมาราม
ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ยโสธ


1. ชาติภูมิ หลวงตาพวง สุขินทริโย ถือกำเนิดที่ บ้านศรีฐาน ตำบลศรีฐาน อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร ซึ่งเดิมคือ ตำบลกระจาย อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2470 ตรงกับวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 6 ปีเถาะ มีนามเดิมว่า ด.ช.พวง ลุล่วง เป็นบุตรคนที่ 4 ของนายเนียม และนางบัพพา ลุล่วง มีพี่น้องร่วมบิดา มารดา จำนวน 6 คน เป็นชาย 3 คนและหญิง 3 คน ดังต่อไปนี้1) นายจันทา ลุล่วง อดีตกำนันตำบลกระจาย อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร (ถึงแก่กรรม)2) นางผา ละม่อม (ถึงแก่กรรม)3) นางสา วันเที่ยง (ถึงแก่กรรม)4) หลวงตาพวง สุขินทริโย5) หลวงปู่สรวง สิริปุญโญ เจ้าอาวาสวัดจำปาศิลาวาส ต.นาซอ อ. วานรนิวาส จ.สกลนคร6) นางจำปา ป้องกันต้น ตระกูลเดิมของหลวงตาพวง สุขินทริโย เป็นชาวนา นับถือศาสนาพุทธมาแต่ดั้งเดิม โยมบิดา มารดา มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ทำบุญตักบาตรหรือถวายภัตตาหารเป็นประจำทุกวันไม่ได้ขาด ยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีมาโดยตลอด มีบุตรชายก็ต้องให้บวชพระเสียก่อนทุกคน ทั้งหลวงตาและน้องชายคือหลวงปู่สรวง สิริปุญโญหลังจากบวชตามประเพณีแล้วได้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา จึงครองสมณเพศมาจนถึงปัจจุบันสภาพความเป็นอยู่ของบ้านศรีฐานในสมัยนั้น ชาวบ้านส่วนใหญ่ยึดอาชีพทำนาเป็นหลัก ไม่ได้ทำไร่มันสำปะหลังหรือปลูกปอเช่นในปัจจุบัน ในสมัยก่อนชีวิตความเป็นอยู่ค่อนข้างดี มีสัตว์ป่า ป่าไม้ พืชพรรณ ธัญญาหาร อุดมสมบูรณ์ นอกจากนั้นชาวบ้านศรีฐาน ยังมีอาชีพการทำหมอนขิด ที่มีชื่อเสียง ส่งออกขายทั่วประเทศ เป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่งครอบครัวของหลวงตาถือได้ว่าอยู่ในระดับปานกลาง มีความเป็นอยู่สบาย ไม่เดือดร้อน มีอาชีพทำนาเป็นหลัก มีนาอยู่ 3 แปลง แต่จำไม่ได้ว่ามีแปลงละกี่ไร่ โดยมีลูกๆ ช่วยกันทำนา นอกจากนั้นก็เลี้ยงวัวเลี้ยงควายตามวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนในชนบท หลวงตาเองก็ได้ช่วยบิดา มารดา ทำนามาตั้งแต่เด็ก ๆ และหากมีเวลาว่างก็จะนำวัวควายออกไปเลี้ยงเป็นประจำเพื่อแบ่งเบาภาระของโยมบิดามารดา



ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 15:32 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
2. ปฐมวัยบิดามารดาของท่านมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหารเพลทุกวันมิได้ขาด ในวัยเด็กของหลวงตาพวง สุขินทริโย ติดตามบิดา มารดาเข้าวัดเป็นประจำ ทำบุญตักบาตรทุกเช้า หรือไม่ก็นำอาหารไปถวายพระที่วัดแทนบิดามารดา ชีวิตมีความผูกพันกับวัดมาตั้งแต่เล็ก ๆ ได้เห็นการดำรงสมณเพศของภิกษุสามเณรในวัดที่มีความสงบ สำรวม จริยาวัตรที่งดงาม จึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาตั้งแต่วัยเยาว์เมื่อ ด.ช.พวง ลุล่วง อายุครบเกณฑ์ บิดามารดาก็ส่งเข้าเรียนชั้นปฐมศึกษาภาคบังคับที่โรงเรียนประชาบาลในหมู่บ้านศรีฐานนั่นเอง ช่วงเวลาที่ว่างจากการเรียน และช่วยเหลือกิจการงานของครอบครัว ด.ช.พวง มักจะไปเที่ยวเล่นในวัดใกล้ ๆ กับโรงเรียน ผิดวิสัยกับเด็กทั่วไป ช่วยพระเณร ปัดกวาดเช็ดถู กุฏิศาลา หรือช่วยกิจการงานต่าง ๆ เช่น ล้างถ้วย ล้างชาม ในวัดศรีฐานใน เป็นประจำ ด้วยอุปนิสัยใจคอของ ด.ช.พวง ลุล่วง ที่มีนิสัยขยัน ขันแข็ง ไม่เกียจคร้าน ว่านอนสอนง่าย อยู่ในโอวาทของบิดามารดา ครูอาจารย์ จึงเป็นที่รักและเอ็นดูของบิดา มารดา ครูบาอาจารย์ และพระเณรในวัดเป็นอย่างมาก


3. พบพระอาจารย์สอ สุมังคโลชีวิตของ ด. ช.พวง ลุล่วง ในช่วงวัยเยาว์ ได้แวะเวียนมาช่วยพระเณรในวัดศรีฐานใน เป็นประจำ บางครั้งก็พักค้างคืนที่วัด บิดา มารดาเห็นว่าบุตรชายของตนมีความสนใจในพระพุทธศาสนา ก็ส่งเสริมโดยมิได้ห้ามปรามแต่อย่างใด เด็กชายพวงได้พบกับพระอาจารย์สอ สุมังคโล พระลูกวัดในวัดศรีฐานใน มีอายุเพียง 26 ปี แม้จะบวชได้เพียง 6 พรรษา แต่พระอาจารย์สอ สุมังคโล เป็นพระที่เคร่งครัดในพระวินัย มีความรู้แตกฉานทั้งทางด้านปริยัติและมีวัตรปฏิบัติที่เข้มงวด เคารพครูบาอาจารย์ มีจิตใจแน่วแน่ในการปฏิบัติธรรมเพื่อหลุดพ้นและตั้งใจอบรมสั่งสอนอุบาสกอุบาสิกา จนเป็นที่นับถือของคนทั่วไปพระอาจารย์สอ สุมังคโล ได้เห็นถึงความสนใจในพระพุทธศาสนาของเด็กชายพวง ลุล่วง นอกจากนั้นท่านยังได้เห็นแววของเด็กชายพวง ลุล่วงว่าเป็นเด็กที่ว่านอนสอนง่าย เชื่อฟัง และปฏิบัติตามคำแนะนำสั่งสอนได้เป็นอย่างดี เห็นทีจะมีวาสนา บารมี สั่งสมมาแต่ชาติปางก่อน จึงเมตตาอบรมสั่งสอนให้รู้หลักในการปฏิบัติต่อครูบาอาจารย์ สอนให้สวดมนต์ นั่งวิปัสสนากรรมฐาน จนกระทั่งเด็กชายพวง สามารถสวดมนต์ ทำวัตรเช้า-เย็น ได้ตั้งแต่ยังไม่บวชเณรเสียอีกในช่วงเวลานั้นเองที่พระอาจารย์สอ กำลังจะไปศึกษาปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล พระอาจารย์องค์สำคัญในสายวิปัสสนากรรมฐาน และเป็นอาจารย์ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ขณะนั้นหลวงปู่เสาร์ จำพรรษาอยู่ที่วัดดอนธาตุ ซึ่งเป็นวัดบนเกาะกลางลำน้ำมูล ในอำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี พระอาจารย์สอต้องการคนติดตามไปอุปัฎฐากในระหว่างการเดินทาง เพราะโดยปกติแล้วพระสายกรรมฐาน ไม่สามารถถือเงินได้ ท่านจึงได้เอ่ยปากขอกับพ่อเนียม บิดาของ ด.ช.พวง เพื่อให้ ด.ช.พวงติดตามไปรับใช้ในช่วงที่จะธุดงค์ ไปปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่เสาร์ด.ช.พวง ลุล่วง ในวัย 14 ปี จบชั้นประถมศึกษาภาคบังคับพอดี ยังไม่มีภาระหน้าที่อะไรที่สำคัญนอกจากช่วยงานที่บ้าน พ่อเนียมจึงกลับมาถามว่าอยากไปธุดงค์รับใช้ปรนนิบัติพระอาจารย์สอหรือไม่ ด.ช.พวง ทราบความประสงค์ของพระอาจารย์สอ และด้วยความอยากจะไปดูความเจริญในจังหวัดอุบลราชธานี จึงตัดสินใจติดตามพระอาจารย์สอในการเดินทางไปปฏิบัติธรรมร่วมกับหลวงปู่เสาร์ในทันทีโดยมิได้ลังเล


3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 15:32 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
4. ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล หลังจากที่ได้รับอนุญาตจากบิดามารดา ให้ติดตามปรนนิบัติรับใช้พระอาจารย์สอ สุมังคโล แล้ว การออกธุดงค์ติดตามพระอาจารย์สอก็เริ่มต้นขึ้น ด้วยการเดินทางจาก อ.คำเขื่อนแก้ว (ในสมัยนั้น) ไปยัง อ.พิบูลมังสาหาร จ. อุบลราชธานี โดยมีจุดหมายปลายทาง คือการปฏิบัติธรรมร่วมกับหลวงปู่เสาร์ กันตสีโลในสมัยนั้นยังไม่มีรถประจำทางต้องอาศัยรถของกรมทางหลวงไปลงที่อำเภออำนาจเจริญ เพื่อขึ้นรถประจำทางไปยังตัวเมืองอุบลราชธานี แวะพำนักที่วัดบูรพารามในเมืองอุบลราชธานี หลังจากนั้นก็ลงเรือไฟต่อไปยังอำเภอพิบูลมังสาหาร แวะพักที่วัดภูเขาแก้ว รุ่งเช้าข้ามลำน้ำมูลไปวัดดอนธาตุ ใช้เวลาการเดินทางกว่า 3 วันกว่าจะถึงวัดของหลวงปู่เสาร์ ต้องผ่านเส้นทางที่ทุรกันดารเต็มไปด้วยอุปสรรคและความลำบาก แต่ด้วยจิตใจที่มีความเด็ดเดี่ยวมุ่งมั่น ไม่ย่อท้ออุปสรรค และด้วยบุญบารมีที่สะสมมาตั้งแต่อดีตชาติ การออกเดินธุดงค์ในครั้งนี้จึงนับว่าเป็นการสร้างความเข้มแข็งในจิตใจให้กับเด็กชายพวง ลุล่วงมากขึ้นไปอีกเมื่อเดินทางร่วมกับพระอาจารย์สอ สุมังคโล มาถึงวัดดอนธาตุ ซึ่งเป็นวัดที่หลวงปู่เสาร์ได้สร้างขึ้น และจำพรรษาเป็นวัดสุดท้ายในบั้นปลายชีวิตของท่าน วัดแห่งนี้ตั้งอยู่บนเกาะอยู่กลางลำน้ำมูลใน อ.พิบูลมังสาหาร ไม่มีสะพาน มีน้ำล้อมรอบทุกทิศทาง การเดินทางจะต้องไปโดยเรือเท่านั้น มีภูมิประเทศที่เป็นสัปปายะ เหมาะแก่การปฏิบัติธรรมเป็นอย่างยิ่ง พระอาจารย์สอ สุมังคโล ก็ได้พาไปฝากตัวเป็นศิษย์หลวงปู่เสาร์ เพื่อเรียนรู้ข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ อันเป็นพื้นฐานของการปฏิบัติในเวลาต่อมา

หลวงตาเล่าให้ฟังว่า "หลวงปู่เสาร์มีอุปนิสัยไม่ค่อยพูด ชอบสันโดษ ท่านจะเทศน์สั่งสอนเมื่อจำเป็น ในช่วงที่หลวงตาอยู่กับท่านนั้น สุขภาพของท่านไม่ค่อยแข็งแรง การอบรมสั่งสอนญาติโยม ตลอดจนพระเณรต่าง ๆ ท่านได้มอบให้หลวงพ่อดี ฉันโน ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของท่าน (ปัจจุบันมรณภาพแล้ว) ให้อบรมสั่งสอนแทน"หลวงปู่เสาร์เป็นพระอาจารย์ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ในการออกธุดงค์ช่วงแรกๆ ของหลวงปู่มั่น ท่านทั้งสองมักจะออกธุดงค์ไปด้วยกัน ตามจังหวัดต่าง ๆแถบภาคอีสาน ท่านชอบไปไหนมาไหนด้วยกันทั้งในและนอกพรรษา พอถึงช่วงกลางอายุของท่าน เวลาจำพรรษามักแยกกันอยู่ แต่ไม่ห่างไกลกันนัก เพราะต่างฝ่ายต่างมีลูกศิษย์จำนวนมาก จำเป็นต้องแยกกันอยู่เพื่อให้มีที่อยู่อาศัยอย่างเพียงพอพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน ได้บันทึกคำบอกเล่าของพระอาจารย์มั่นเกี่ยวกับพระอาจารย์เสาร์ ในหนังสือประวัติพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตะเถระ ไว้น่าสนใจว่า เดิมหลวงปู่เสาร์ ปรารถนาเป็นพระปัจเจกพระพุทธเจ้า เวลาออกบำเพ็ญ พอเร่งความเพียรเข้ามาก ๆ ในรู้สึกประหวัด ๆ ถึงความปรารถนาเดิมเพื่อเป็นพระปัจเจกพระพุทธเจ้า แสดงออกเป็นเชิงอาลัย เสียดาย ไม่อยากไปนิพพาน ท่านเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อความเพียรเพื่อความรู้แจ้งซึ่งพระนิพพานในชาติปัจจุบันนี้ ท่านเลยอธิษฐาน ของดจากความปรารถนานั้น และขอประมวลมาเพื่อความรู้แจ้งซึ่งพระนิพพานในชาตินี้ ไม่ขอเกิดมารับความทุกข์ทรมานในภพชาติต่าง ๆ อีกต่อไป พอท่านปล่อยวางความปรารถนาเดิมแล้ว การบำเพ็ญเพียรรู้สึกสะดวกและเห็นผลไปโดยลำดับ ไม่มีอารมณ์เครื่องเกาะเกี่ยวเหมือนแต่ก่อน สุดท้ายท่านบรรลุถึงแดนแห่งความเกษมดังใจหมาย แต่การแนะนำสั่งสอนผู้อื่น ท่านไม่ค่อยมีความรู้แตกฉานกว้างขวางนัก ทั้งนี้อาจเป็นไปตามภูมินิสัยเดิมของท่านที่มุ่งเป็นพระปัจเจกพระพุทธเจ้า ซึ่งตรัสรู้เองชอบ แต่ไม่สนใจสั่งสอนใครก็ได้ นอกจากนั้นท่านยังไม่ชอบพูด ชอบเทศน์ เวลาจำเป็นต้องเทศน์ ท่านก็เทศน์เพียงหนึ่งหรือสองประโยคเท่านั้น แล้วก็ลงธรรมาสน์ไป ประโยคที่ท่านเทศน์ซึ่งพอจับใจความได้ว่า "ให้พากันละบาปและบำเพ็ญบุญ อย่าให้เสียลมหายใจไปเปล่า ที่ได้มีวาสนาเกิดมาเป็นมนุษย์" และ "เราเกิดเป็นมนุษย์ มีความสูงศักดิ์มาก แต่อย่านำเรื่องของสัตว์มาประพฤติ มนุษย์ของเราจะต่ำลงกว่าสัตว์ และจะเลวกว่าสัตว์อีกมาก เวลาตกนรกจะตกหลุมที่ร้อนกว่าสัตว์มากมาย อย่าพากันทำ" แล้วก็ลงธรรมาสน์ไปกุฏิ ไม่สนใจกับใครอีกต่อไปลักษณะท่าทางของหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล มีความสง่าผ่าเผยน่าเคารพเลื่อมใสมาก ผู้ที่พบเห็นจะเกิดความรู้สึกสบายใจ เย็นใจ ไปหลายวัน ประชาชนและพระเณรเคารพเลื่อมใสท่านมาก ท่านก็มีลูกศิษย์มากมายเหมือนหลวงปู่มั่น ด.ช.พวง ลุล่วง มีโอกาสเป็นศิษย์ของหลวงปู่เสาร์ ในช่วงที่ติดตามพระอาจารย์สอ สุมังคโล ในครั้งนี้เช่นกัน

4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 15:33 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
5. หลวงปู่เสาร์พาไปนครจำปาศักดิ์ ระหว่างที่ ด. ช.พวง ลุล่วง ได้พำนักอาศัยอยู่กับหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล นั้น เป็นช่วงที่หลวงปู่เสาร์มีพรรษามาก สุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง แต่ด้วยความกตัญญูต่อครูบาอาจารย์ของหลวงปู่เสาร์ ท่านตั้งใจจะไปกราบอัฐิและบำเพ็ญกุศลให้กับอุปัชฌาย์ของท่านอุปัชฌาย์ของหลวงปู่เสาร์เป็นชาวลาว แต่ได้มาเรียนหนังสือและพำนักอยู่ที่ จ. อุบลราชธานี ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง และได้บวชให้หลวงปู่เสาร์ หลังจากนั้นท่านได้กลับไปจำพรรษาบ้านเดิมของท่านที่อำเภอท่าเปลือย แขวงจำปาศักดิ์ ประเทศลาว และไม่ได้ติดต่อหรือไปมาหาสู่กัน เพราะเป็นช่วงที่สถานการณ์บ้านเมืองในเวลานั้นไม่ปกติ ไม่สามารถข้ามฝั่งไปมาหาสู่กันได้เช่นเดิม จวบจนพระอุปัชฌาย์มรณภาพ หลวงปู่เสาร์ก็ไม่ได้มีโอกาสได้ไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับอาจารย์ของท่าน จนกระทั่งสถานการณ์บ้านเมืองดีขึ้น ประเทศไทยได้แขวงนครจำปาศักดิ์มาเป็นของไทย มีข้าราชการตลอดจนทหารเข้าไปดูแล มีการคมนาคมไปมาหาสู่กันตลอด หลวงปู่เสาร์จึงปรารถนาที่จะไปกราบอัฐิและทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้อุปัชฌาย์ เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวที พระอาจารย์สอ สุมังคโล พร้อมด้วยเด็กชายพวง ลุล่วง จึงขอติดตามคณะหลวงปู่เสาร์ไปนครจำปาศักดิ์ในครั้งนี้ด้วย คณะติดตามประกอบด้วย พระเณรและลูกศิษย์จำนวน 13 คน คือ พระอาจารย์ดี ฉันโน พระอาจารย์กอง พระอาจารย์กงแก้ว ขันติโก(ขณะนี้จำพรรษาอยู่ที่วัดป่าหนองสูง จ. มุกดาหาร) พระอาจารย์สอ สุมังคโล พระอาจารย์บัวพา พระอาจารย์บุญมี พระละมัย สามเณรพรหมา และลูกศิษย์อีก 5 คน ซึ่งรวมทั้ง ด.ช.พวง ลุล่วง ในปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่เพียง 3 ท่าน ได้แก่ หลวงตาพวง หลวงปู่บุญมี ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ จ.กาฬสินธุ์ และอีกคนหนึ่งเป็นโยม ชื่อบุญมี ขณะนี้อยู่ที่ จ.สงขลาหลวงปู่เสาร์ได้พาคณะออกเดินทางจากวัดดอนธาตุ ไปทางช่องเม็ก อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี โดยรถประจำทาง ถนนหนทางสมัยนั้นยังไม่ดีนัก รถยนต์ต้องวิ่งไต่ตามตลิ่งริมแม่น้ำโขง ส่วนอีกฝั่งจะเป็นภูเขาที่เรียกว่า ภูมะโรง หนทางเต็มไปด้วยความทุรกันดารยากลำบากเมื่อถึงนครนครจำปาศักดิ์ คณะได้พักอยู่ที่วัดศิริอำมาตย์ และได้เดินทางต่อโดยเรือไฟล่องลงตามแม่น้ำโขง ไปยังเกาะดอนเจดีย์ที่ตั้งอยู่กลางแม่น้ำโขง โดยใช้เวลาทั้งวัน เกาะดอนเจดีย์เป็นเกาะใหญ่อยู่กลางแม่น้ำโขง มีชาวบ้านอาศัยอยู่ถึง 2 หมู่บ้าน มีวัดที่อุปัชฌาย์ของพระอาจารย์เสาร์จำพรรษาอยู่และมรณภาพที่นั่นเมื่อเดินทางไปถึงก็พบเจดีย์เล็ก ๆ อันเป็นที่เก็บอัฐิของอุปัชฌาย์ มีพื้นที่ประมาณ 20 ตารางเมตร ตั้งอยู่กลางทุ่งนาห่างจากวัดประมาณ 200 เมตร หลวงปู่เสาร์ก็ได้พาญาติโยมแถบนั้นมาร่วมทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้อุปัชฌาย์ของท่านสมดังเจตนา ท่านและคณะพำนักอยู่ที่เกาะดอนเจดีย์ประมาณหนึ่งสัปดาห์ หลวงปู่เสาร์ก็ได้พาคณะออกเดินทางต่อโดยนั่งเรือแจวขนาดนั่งได้ 6-7 คน มีฝีพายสองคนอยู่หัวเรือและท้ายเรือ ขนสัมภาระต่างๆลงเรือหลายลำ พาล่องแม่น้ำโขงไปยังแก่งหลี่ผี ซึ่งเป็นสถานที่ที่อยู่กลางแม่น้ำโขง มีลักษณะเหมือนภูเขาลูกหนึ่งขวางกั้นแม่น้ำโขง แม่น้ำทั้งสายไหลข้ามภูเขาไปด้านหลังตกลงเป็นน้ำตกขนาดความสูง 30 - 40 เมตร มีเกาะแก่งเป็นร้อย ๆ แห่ง ชาวบ้านเรียกว่าหลี่ผี ซึ่งแปลว่าที่ดักปลาของภูติผี บริเวณดังกล่าวเวลาพูดอะไรจะไม่ได้ยินเพราะเสียงน้ำตกดังมาก ถ้าหากจะพูดกันต้องพูดกันใกล้ๆจึงจะได้ยินสมัยที่ฝรั่งเศสปกครองนั้น ยังไม่มีถนนหนทางที่สะดวกและไม่สามารถเดินทางผ่านประเทศไทยได้ การคมนาคมติดต่อจะต้องขนของหรือสัมภาระโดยเรือใหญ่จากประเทศกัมพูชามาจอดที่ท่าเรือหลี่ผี แล้วจะต้องใช้รถไฟขนถ่ายสัมภาระต่อไปยังแขวงสุวรรณเขตหรือปากเซ มีรถไฟอยู่สองขบวนสำหรับส่งของ ส่วนรถยนต์ไม่ค่อยมี มีแต่สามล้อ สำหรับโดยสารขณะนั้นหลวงปู่เสาร์มีอายุได้ 82 ปี สุขภาพไม่แข็งแรงอยู่แล้ว เริ่มอาพาธมากขึ้น มีอาการเหนื่อย ฉันอาหารไม่ได้ คณะลูกศิษย์จึงได้พาท่านกลับมายังอำเภอท่าเปลือย ซึ่งมีแพทย์ไทยรวมทั้งอุปกรณ์การแพทย์ที่พร้อมกว่าเมื่อถึงอำเภอท่าเปลือย หลวงปู่เสาร์ก็ได้มอบหมายให้พระอาจารย์ดี ฉนโน เป็นผู้ไปจัดหาสถานที่ปักกลดบริเวณเชิงเขา เพื่อจะให้คณะได้อาศัย รุกขมูล บำเพ็ญเพียรภาวนาในบริเวณนี้ หลวงตาพวงเล่าให้ฟังว่า "ขณะนั้นฝนตกชุก ที่พักก็ใช้ใบไม้มามุงเป็นปะรำกั้นแดด แต่กั้นฝนไม่ได้ ไปอยู่สองสามวันแรกฝนตก นั่งทั้งคืนไม่ได้นอน แต่หลวงปู่เสาร์ก็พาพักอยู่เกือบหนึ่งเดือน"
5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 15:34 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
6. หลวงปู่เสาร์มรณภาพ ระหว่างที่หลวงปู่เสาร์และคณะสงฆ์ได้พักอยู่บริเวณรุกขมูลในอำเภอท่าเปลือยประมาณหนึ่งเดือนนั้น พอเริ่มเข้าช่วงเดือน 4-5 อากาศเริ่มเปลี่ยนแปลง ฝนตกมากขึ้น ทำให้อาการของหลวงปู่เสาร์กำเริบ มีอาการหอบเหนื่อยมากขึ้น ฉันอาหารไม่ได้ ทางแพทย์และทางคณะสงฆ์เห็นว่าหลวงปู่เสาร์มีอาการหนักมาก เห็นควรที่จะรักษาตัวในโรงพยาบาลที่มีอุปกรณ์และเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ ที่พร้อมกว่านี้ คณะสงฆ์จึงได้พา หลวงปู่เสาร์เดินทางกลับจังหวัดอุบลราชธานี โดยตั้งใจจะพาหลวงปู่เสาร์ลงเรือไฟจาก อ.ท่าเปลือย ไปนครจำปาศักดิ์ และนั่งรถโดยสารต่อไปยัง จ.อุบลราชธานี ระหว่างทางเมื่อล่องมาถึงเมืองป่าโมกข์ ประเทศลาว ก็ค่ำพอดี จึงได้แวะพักค้างคืน รุ่งขึ้นประมาณ 05.00 น. ก็ล่องเรือไฟต่อหลวงตาพวงเล่าให้ฟังว่า "วันนั้นรีบเดินทาง ข้าวปลาก็ไม่ได้เตรียม เพราะลูกศิษย์คิดว่า ระหว่างทางคงจะมีที่ขายอาหารแต่เรือไฟไม่ได้จอดพัก จึงมีแค่ข้าวเหนียวกับปลาแห้งถวายพระเณรองค์ละปั้น ใช้เวลาล่องเรือตลอดทั้งวัน จนกระทั่งประมาณ 5 โมงเย็นจึงได้เดินทางถึงนครจำปาศักดิ์""ถึงนครจำปาศักดิ์เป็นเวลาพลบค่ำพอดี คณะสงฆ์จึงหามหลวงปู่เสาร์ขึ้นไปพักที่วัดศิริอำมาตย์ บนฝั่งริมแม่น้ำโขง เมื่อถึงศาลาวัด หลวงปู่เสาร์ท่านบอกให้นำท่านไปกราบพระประธาน คณะสงฆ์ที่เป็นลูกศิษย์ก็นำท่านไปกราบพระประธานที่อยู่บนศาลาแห่งนั้น ท่านลุกนั่งกราบพระประธานในท่าเบญจางคประดิษฐ์ ระหว่างที่ท่านกราบพระประธานเสร็จท่านลุกไม่ขึ้น ลูกศิษย์พยายามประคองขึ้นท่านก็หมดลม มรณภาพลงในอิริยาบถกราบพระประธานตอนนั้นพอดี" (ตรงกับวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2484) รวมสิริอายุได้ 82 ปี 3 เดือน 1 วันคณะสงฆ์ที่ติดตามไปด้วยต่างเศร้าโศกเสียใจ บางองค์ถึงกับร้องไห้ด้วยสูญเสียพระเถรานุเถระผู้ยิ่งใหญ่ อันเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรในสายวิปัสสนากรรมฐาน ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เป็นแบบอย่างให้พระสงฆ์ในรุ่นต่อ ๆ มา ได้ดำเนินรอยตามคณะสงฆ์ที่ติดตามหลวงปู่เสาร์ได้จัดการเก็บศพของท่านไว้ที่วัดวัดศิริอำมาตย์ นครจำปาศักดิ์ เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน ระหว่างนั้นก็ได้วิทยุแจ้งให้ทางหลวงปู่สิงห์ ขนตยาคโม และพระมหาปิ่น ปัญญาพโล ให้จัดรถไปรับศพของท่านกลับมาเพื่อบำเพ็ญกุศลที่วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.อุบลราชธานีคณะศิษย์ได้นำศพหลวงปู่เสาร์กลับประเทศไทยเพื่อบำเพ็ญกุศล และได้จัดงานพิธีพระราชทานเพลิงศพให้กับหลวงปู่เสาร์ในเดือนเมษายนถัดมา (พ. ศ. 2485) โดยมีศิษยานุศิษย์ทั้งพระวิปัสสนากรรมฐานสายหลวงปู่เสาร์และหลวงปู่มั่น ตลอดจนพุทธศาสนิกชนที่มีความเลื่อมใสศรัทธาเข้าร่วมพิธีจำนวนมาก การมรณภาพของหลวงปู่เสาร์ในครั้งนี้นับได้ว่าเป็นความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ ครั้งหนึ่งในพุทธศาสนิกชนชาวไทยระหว่างการนำศพหลวงปู่เสาร์กลับมายังวัดบูรพาราม จ.อุบลราชธานี นั้น พระอาจารย์สอ สุมังคโล และ ด.ช.พวง ลุล่วง ไม่ได้ติดตามคณะไปจนถึงตัวเมืองอุบลราชธานี แต่ได้แวะพำนักที่วัดภูเขาแก้ว อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี
6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 15:35 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
7. เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ด้วยวัยเพียง 14 ปีของ ด.ช.พวง ลุล่วง ที่กำลังเข้าสู่วัยรุ่น แต่ได้มีความแตกต่างจากเด็กชายวัยเดียวกัน มีความสนใจและศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างเต็มเปี่ยม อีกทั้งมีจิตใจที่เด็ดเดี่ยว ทรหด อดทน ซึ่งได้แสดงให้เห็นตั้งแต่การออกติดตามพระอาจารย์สอ และคณะของหลวงปู่เสาร์ไปนครจำปาศักดิ์ ซึ่งต้องเผชิญความยากลำบากและอันตรายนานัปการ ก็มิได้ย่อท้อแม้แต่น้อย ตลอดเวลาเกือบ 1 ปีที่ได้ติดตามพระอาจารย์สอ ด.ช.พวง ลุล่วง ได้รับใช้ปรนนิบัติรับใช้ครูบาอาจารย์ ด้วยการล้างเท้า เช็ดบาตร กรองน้ำ ต้มน้ำ เย็บจีวร สังฆาฏิ ตลอดจนได้รับการอบรมข้อวัตรปฏิบัติต่าง ๆ และการฝึกวิปัสสนากรรมฐาน พระอาจารย์สอได้พิจารณาเห็นว่า ด.ช.พวง ลุล่วงเป็นผู้ที่มีจิตใจแน่วแน่มั่นคงในพระพุทธศาสนา ได้ผ่านการฝึกอบรมมาพอสมควรแล้ว จึงได้จัดการบรรพชาให้เป็นสามเณรที่วัดสระแก้ว อ.พิบูลมังสาหาร ซึ่งเป็นเพียงวัดเดียวบริเวณนั้นที่มีพระอุปัชฌาย์อยู่ ในเดือนมีนาคม 2484หลวงตาพวงเล่าให้ฟังว่า "ตอนที่จะบวชเป็นเณร ไม่ได้คิดอะไร แล้วแต่พระอาจารย์สอจะพิจารณา ท่านพาทำอะไรก็ทำ เพราะได้มอบกายถวายตัวเป็นลูกศิษย์แล้ว ให้บวชก็บวช พาไปที่ไหนก็ไป โยมบิดามารดาก็ได้อนุญาตให้แต่เบื้องแรกก่อนที่จะติดตามพระอาจารย์สออยู่แล้ว"หลังจากบรรพชาเป็นสามเณรแล้ว สามเณรพวง ลุล่วงได้จำวัดอยู่ที่วัดภูเขาแก้ว อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี เพื่อศึกษาข้อวัตรปฏิบัติต่าง ๆ และปรนนิบัติรับใช้พระอาจารย์สอ สุมังคโลเป็นเวลากว่า 2 เดือน หลังจากนั้นจึงเดินทางต่อไปยังวัดบูรพาราม อ.เมืองอุบลราชธานีเพื่อกราบคารวะศพหลวงปู่เสาร์นับได้ว่าเป็นบุญบารมีของสามเณรพวง ลุล่วงที่ได้สะสมมาแต่ชาติปางก่อน ที่ได้มีโอกาสใกล้ชิดพระพุทธศาสนาตั้งแต่เยาว์วัย ก่อนที่จะได้บวชเข้าสู่ร่วมพระกาสาว-พัสตร์ก็ได้มีโอกาสร่วมเดินทางไปกับคณะหลวงปู่เสาร์ในช่วงชีวิตสุดท้ายของท่าน ได้เรียนรู้ข้อวัตรปฏิบัติต่าง ๆ ของพ่อแม่ครูบาอาจารย์นับตั้งแต่นั้นมา

8. กลับบ้านเกิดครั้งแรกเมื่อสามเณรพวง พำนักอยู่ที่วัดภูเขาแก้ว อ. พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี กับพระอาจารย์สอเป็นเวลา 2 เดือนแล้ว หลังจากนั้นจึงเดินทางต่อไปยังวัดบูรพาราม อ.เมืองอุบลราชธานี เพื่อกราบคารวะศพหลวงปู่เสาร์ แล้วพระอาจารย์สอได้พาธุดงค์กลับวัดศรีฐานในเพื่อให้สามเณรพวงได้มีโอกาสได้ศึกษาพระปริยัติธรรมเมื่อกลับมาถึงวัดศรีฐานในซึ่งเป็นบ้านเกิดของสามเณรพวง โยมบิดา มารดา ได้เห็นลูกชายของตนได้บวชเป็นเณรก็อนุโมทนาและดีใจเป็นที่สุด ไปวัดทำบุญตักบาตรสามเณรพวงเป็นประจำทุกวันมิได้ขาดพระอาจารย์สอ สุมังคโล ได้สั่งสอนอบรมให้ท่องบทเรียนต่าง ๆ จนคล่องแคล่ว แล้วยังมีพระอาจารย์บุญช่วย ธัมวโร ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีฐานในให้การ อบรมสั่งสอนเพิ่มเติมอีกแรงหนึ่ง สามเณรพวงได้มีโอกาสศึกษาพระปริยัติธรรมจนสามารถสอบผ่านนักธรรมตรีและนักธรรมโทอย่างรวดเร็วในช่วงนี้เองสามเณรพวงยังมีสหายที่สำคัญอีกรูปคือ สามเณรบุญเพ็ง ซึ่งขณะนี้คือพระอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต เจ้าอาวาสวัดถ้ำกลองเพล จ.หนองบัวลำภู ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดศรีฐานในด้วยกัน หลวงตาพวงเล่าให้ฟังว่า "อาจารย์เพ็งท่องหนังสือดี มีความจำแม่น จำหลักธรรมต่าง ๆ ได้อย่างคล่องแคล่ว" นอกจากนั้นก็ยังมีพระอาจารย์สิงห์ทอง.ธัมมวโรที่ศึกษาและปฏิบัติธรรมในวัดเดียวกัน เห็นได้ว่าล้วนแล้วแต่เป็นพระเถรานุเถระที่มีวาสนา บารมีต่อกันมาในอดีตชาติจนกระทั่งมาถึงในชาติปัจจุบันพระอาจารย์สิงห์ทอง หลังจากที่อยู่จำพรรษาที่วัดศรีฐานใน สักพักก็ได้เดินทางไปศึกษาปฏิบัติธรรมร่วมกับหลวงปู่มั่น จนกระทั่งมรณภาพในช่วงเครื่องบินตกที่ดอนเมืองพร้อม ๆ กับครูบาอาจารย์อีกหลาย ๆ องค์ ได้แก่ พระอาจารย์จวน กุลเสฏโฐ พระอาจารย์วัน อุตตโม เป็นต้นพระอาจารย์สิงห์ทอง มีศิษย์ที่ท่านได้เคยสั่งสอนอบรม จนกระทั่งเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา และเป็นนักปฏิบัติที่ได้เผยแพร่พระพุทธศาสนาให้เป็นประโยชน์อย่างกว้างขวางในเวลานี้อีกคนหนึ่ง ก็คือ คุณหมอ อมรา มลิลาส่วนพระอาจารย์สอ สุมังคโล ได้พำนักที่วัดศรีฐานในอยู่อีกหนึ่งพรรษา จากนั้นจึงได้เดินทางร่วมกับสามเณรบุญเพ็ง ไปปฏิบัติธรรมร่วมกับหลวงปู่มั่น วัดป่าบ้านหนองผือ (ภูริทัตตาราม) บ้านหนองผือ จ.อุดรธานี พำนักอยู่กับหลวงปู่มั่นประมาณ 1 พรรษา และมรณภาพลงด้วยไข้ป่าที่วัดหลวงปู่มั่นนั่นเอง

7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 15:36 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
9.อยากสึก"เห็นเพื่อน ๆ เขาพากันสึกก็เลยอยากสึกมั่ง แต่พอไปกราบขอลาอาจารย์บุญช่วย ท่านไม่อนุญาต ท่านบอกจะสึกก็สึก แต่ขอให้สอบได้นักธรรมเอกเสียก่อนแล้วค่อยสึก"เป็นช่วงหนึ่งของชีวิตสามเณรพวง ลุล่วงที่บรรพชาได้พรรษาที่ 3 สามารถสอบนักธรรมโทผ่านแล้ว ได้เห็นเพื่อน ๆ หลายรูปที่สึกออกมาใช้ชีวิตอย่างสนุกสนาน ด้วยความเป็นวัยรุ่น สามเณรพวงจึงอยากสึกบ้าง จึงได้ไปกราบขอลาสิกขาบทจากอาจารย์บุญช่วย เจ้าอาวาส ท่านกลับไม่อนุญาต และขอให้สอบนักธรรมเอกให้ได้เสียก่อน สามเณรพวงจึงล้มเลิกความตั้งใจที่จะสึกไปในที่สุด คงเป็นเพราะบุญญาบารมีที่มีมาแต่ชาติปางก่อน แม้จะมีอุปสรรคครั้งนั้นแต่ก็สามารถผ่านไปได้ด้วยดีพระอาจารย์บุญช่วยได้ไปเสาะแสวงหาพระอาจารย์ที่มีความรู้แตกฉานด้านภาษาบาลี มาสั่งสอนอบรมพระเณรในวัดศรีฐานในให้มีความรู้มากขึ้น สามเณรพวงก็ได้มีโอกาสศึกษาภาษาบาลีจนสามารถแปลหนังสือธรรมบทซึ่งเป็นภาษาบาลีได้ถึง 2 เล่ม นอกจากนั้นสามเณรพวงก็ยังได้ใช้เวลาปฏิบัติธรรม ภาวนาไม่ได้ขาด จนทำให้มีความเจนจัดในข้อวัตรทั้งปริยัติและปฏิบัติอีกด้วย นับจากนั้นหลวงตาพวงก็ไม่ได้เกิดความรู้สึกอยากสึกอีกเลยจวบจนปัจจุบัน

10.ไปพระธาตุพนมกับพระอาจารย์สิงห์ทองหลวงตาพวงเล่าว่า "ช่วงที่เป็นเณรพรรษาที่ 2 พำนักอยู่วัดศรีฐานในร่วมกับ พระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร ท่านได้พาธุดงค์ไปนมัสการพระธาตุพนม ที่ จ.นครพนม คณะเดินทางประกอบด้วย พระอาจารย์สิงห์ทอง พระเพ็ง(ปัจจุบันลาสิกขาบท ยังมีชีวิตอยู่) สามเณรพวง และสามเณรขุน คนบ้านบ่อชะเนง อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญการเดินทางต้องเดินด้วยเท้า ผ่านดงบังอี่ อำเภอคำชะอี ผ่านภูเขาลำเนาไพรเต็มไปด้วยภยันตรายจากสิงสาราสัตว์ต่างๆ รอนแรมไปถึง 6 คืนกว่าจะถึงพระธาตุพนม ระหว่างทางก็ต้องแวะพักค้างคืนตามสำนักสงฆ์หรือถ้ำในป่าเมื่อเดินทางไปถึงบ้านตากแดด อ.คำชะอี จ.อุบลราชธานี(ในขณะนั้น) เป็นเวลาค่ำพอดี จำเป็นต้องหาที่พักเพื่อค้างแรม พระอาจารย์สิงห์ทองและคณะได้สอบถามชาวบ้านว่ามีวัดอยู่บริเวณนี้หรือไม่ ชาวบ้านก็บอกว่ามีสำนักสงฆ์อยู่ในถ้ำบนภูทอก มีหลวงตาอยู่กับเณรเพียง 2 รูป พอจะไปพักอาศัยที่นั่นได้ พระอาจารย์สิงห์ทองจึงได้พาคณะไปขอพำนักที่สำนักสงฆ์บริเวณดังกล่าว หลวงตาเจ้าสำนักสงฆ์มิได้ขัดข้องประการใด จัดที่เสนาสนะให้คณะที่ร่วมเดินทางพักในถ้ำบนภูทอก ที่พักเป็นแคร่ไม้ไผ่ ห่างกันประมาณ 3-4 วา ตามจำนวนพระเณรหลังจากที่เดินทางกันมาด้วยความเหน็ดเหนื่อย ทำวัตรเย็นเสร็จแล้ว ก็เตรียมแยกย้ายกันจำวัดพักผ่อน เมื่อทุกรูปประจำเสนาสนะของตนเอง ก็ได้ยินเสียงงูใหญ่ คาดว่ายาวประมาณ 4-5 วา เสียงเหมือนเกร็ดงูสัมผัสกับไม้ดังเอี๊ยด เอี๊ยด ๆ มาตลอดทาง พระอาจารย์สิงห์ทองก็ตะโกนบอกว่า งู งู ให้เณรเร่งจุดคบไฟ เพราะสมัยก่อนไม่มีไฟฉาย เมื่อจุดคบไฟเสร็จกลับไม่พบอะไร จึงพากันแยกย้ายกันนอน สักพักก็ได้ยินเสียงเหมือนงูเลื้อยมาอีกเป็นครั้งที่ 2 ผ่านไปทางเดินจงกรม พระอาจารย์สิงห์ทองจึงตะโกนบอกให้จุดไฟอีกครั้ง เมื่อจุดเสร็จก็ไม่พบอะไรอีก อาจารย์สิงห์ทองได้พิจารณาดูแล้วจึงบอกว่า ไม่ใช่งูหรอก จริง ๆ แล้วเป็นพระภูมิเจ้าที่ ท่านมาถามข่าวถามคราว พวกเราที่เดินทางมาพักอยู่บริเวณนี้ พระอาจารย์สิงห์ทองจึงเตือนให้ทุกคนไหว้พระสวดมนต์ แผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศลให้ พักอยู่ที่นั้นสองคืน มิได้ยินเสียงเช่นนั้นอีกเลยจากนั้นเดินทางต่ออีกสองวัน แวะพักที่บ้านดงมอญ อ.มุกดาหารและบ้านต้นแหน อ.นาแก จ. นครพนม รุ่งขึ้นถึงพระธาตุพนม พำนักที่วัดเกาะแก้ว อ.พระธาตุพนม อยู่ที่นั่นประมาณหนึ่งสัปดาห์ จึงเดินทางกลับ เส้นทางที่ใช้ในการเดินทางกลับนั้นใช้เส้นทางเลียบตามฝั่งแม่น้ำโขง ค่ำที่ไหนก็นอนที่นั่นจนกระทั่งถึงอำเภอมุกดาหาร มีรถประจำทางจึงโดยสารรถประจำทางมาจนถึงวัดศรีฐานใน

8#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 15:37 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kit007 เมื่อ 2013-3-25 15:38

11.ไปอยู่กับหลวงปู่สิงห์และหลวงปู่ปิ่นในช่วงที่สามเณรพวงบวชเป็นพรรษาที่ 4 นั้น เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เว้นว่างจากการสอบนักธรรมต่าง ๆ บ้านเมืองอดอยาก แร้นแค้น ข้าวยากหมากแพง หลวงตาพวงท่านเล่าให้ฟังว่า "ช่วงนั้นชาวบ้านอดอยาก ไม้ขีดไฟกลักละ 10 บาท น้ำมันตะเกียงลิตรละหลายร้อยบาท"ระหว่างนั้นพระลีซึ่งพำนักอยู่ที่วัดศรีฐานในเช่นเดียวกัน (ปัจจุบันสึกออกมา ถึงแก่กรรม) ชวนออกธุดงค์ไปจังหวัดศรีสะเกษ จึงได้ขออนุญาตพระอาจารย์บุญช่วยออกธุดงค์ไปกับคณะโดยออกเดินทางด้วยเท้าไปจังหวัดศรีสะเกษ พำนักที่วัดป่าศรีสำราญ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ ประกอบกับเกิดโรคฝีดาษระบาดที่บ้านศรีฐาน ทางบ้านจึงบอกไม่ให้กลับ สามเณรพวงพำนักอยู่ที่นั่นเป็นเวลาหลายเดือน จนกระทั่งพระสัมฤทธิ์ซึ่งพำนักอยู่ที่วัดป่าศรีสำราญได้ชวนสามเณรพวงให้ไปศึกษาอบรมธรรมกับหลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม และพระมหาปิ่น ปัญญาพโล ซึ่งจำพรรษาร่วมกันที่วัดป่าแสนสำราญ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี สามเณรพวงเห็นว่าน่าจะเกิดประโยชน์ต่อการปฏิบัติเพราะหลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม และพระมหาปิ่น ปัญญาพโล เป็นครูบาอาจารย์ในสายกรรมฐานที่สำคัญ มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย จึงตัดสินใจเดินทางไปร่วมปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่สิงห์และพระมหาปิ่นหลวงตาพวงท่านเล่าให้ฟังว่า "ช่วงที่อยู่กับหลวงปู่สิงห์นั้นดีมาก หลักธรรมคำสั่งสอนที่ท่านได้รับล้วนแต่ดีมาก ท่านได้พาสวดมนต์นั่งสมาธิ ในวันพระท่านจะเทศน์อบรมตลอดคืน ไม่นอน ถ้าหากง่วงนอนหลวงปู่สิงห์ก็จะพาสวดสรภัญญะ พอให้หายง่วงก็จะพานั่งสมาธิต่อ เป็นเช่นนี้เป็นประจำตลอดพรรษา มีญาติโยมมารักษาศีล ฟังธรรมจากพระอาจารย์สิงห์เป็นจำนวนมาก" ส่วนพระมหาปิ่น ปัญญาพโล ช่วงนั้นอาพาธอยู่ไม่ได้ออกอบรมสั่งสอนญาติโยมเท่าใดนักสามเณรพวง ลุล่วง ได้ไปอยู่ปฏิบัติธรรม อุปัฏฐากครูบาอาจารย์หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโมและหลวงปู่มหาปิ่น ปัญญาพโล เป็นเวลา 1 พรรษา ตลอดระยะเวลาจำพรรษาได้ศึกษาอบรมเพิ่มเติมจากครูบาอาจารย์ทั้งสองจนมีความรู้แตกฉานในข้อวัตรปฏิบัติ และการปฏิบัติภาวนาหลังจากออกพรรษาเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่กองทัพญี่ปุ่นขอยอมแพ้ต่อฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 2 สามเณรพวง ลุล่วงได้กราบลาพระอาจารย์ทั้งสองกลับวัดศรีฐานใน อ.ป่าติ้ว เพื่อมาเล่าเรียนทางปริยัติต่อพระอาจารย์บุญช่วย ธัมมวโร ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีฐานใน ได้อบรมสั่งสอนข้อวัตรปฏิบัติต่าง ๆเพิ่มเติม อีกทั้งยังได้หาครูบาอาจารย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในภาษาบาลีมาสอนสามเณรพวงและเพื่อนๆ ให้มีความรู้แตกฉานจนสามารถสอบนักธรรมเอกได้ในปีนั้น



9#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 15:38 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
12.พบหลวงปู่มั่นครั้งแรกพระอาจารย์บุญช่วยได้พิจารณาเห็นว่า สามเณรพวง ลุล่วง ได้ศึกษาความรู้ทางด้านปริยัติพอสมควรระดับหนึ่ง ต้องการให้มีความรู้ทางด้านปริยัติเพิ่มเติมให้มากขึ้นกว่านี้ จึงตั้งใจว่าจะส่งสามเณรพวง ไปศึกษาปริยัติธรรมให้แตกฉานยิ่งขึ้นที่วัดศรีเทพ จ.นครพนม ซึ่งมีพระเทพสิทธาจารย์ (จันทร์ เขมิโย) เจ้าอาวาสและเป็นเสาหลักในการเผยแผ่ความรู้ด้านปริยัติและการศึกษาธรรมบาลี ขณะนั้น โดยระหว่างทางก็จะแวะนมัสการพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโตที่สกลนครก่อนพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นพระสงฆ์ที่มีความสำคัญในสายปฏิบัติกรรมฐาน มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย เป็นที่เล่าขานว่าท่านเป็นผู้ที่มีจริยาวัตรงดงาม เคร่งครัดในพระธรรมวินัย ฉลาดรอบรู้ในการเทศน์ และสามารถรู้วาระจิตคนได้หมด ลูกศิษย์ลูกหาที่อยู่ปฏิบัติธรรมกับท่าน ล้วนกลัวท่านทุก ๆ คน เพราะคิดสิ่งใดไม่ดีท่านจะรู้หมด เป็นผลให้ลูกศิษย์ของท่านต้องสำรวมจิต ระมัดระวัง และตั้งใจในการปฏิบัติธรรมยิ่งนักครั้นเมื่อเดินทางถึงวัดป่าบ้านหนองผือ พระอาจารย์บุญช่วย ธัมวโร พร้อมทั้งสามเณรพวง ลุล่วงก็ตรงเข้าไปกราบหลวงปู่มั่นทันที หลวงตาพวงเล่าให้ฟังว่า เมื่อกราบท่านแล้วหลวงปู่มั่นท่านก็ถามขึ้นทันทีว่า "ตั้งใจจะปฏิบัติหรือตั้งใจเรียน ถ้าตั้งใจปฏิบัติก็ต้องปฏิบัติเอาจริงเอาจัง ถ้าจะเรียนก็ต้องไปเรียน ไปหาสำนักเรียน ทำเล่นไม่ได้นะ จะไปทางไหนก็ต้องตัดสินใจ"ผลที่สุดก็สามเณรพวง ลุล่วงตัดสินใจเลือกปฏิบัติกรรมฐาน....... "สาเหตุที่ตัดสินใจเลือกปฏิบัตินั้นเป็นเพราะในคำเทศน์ของหลวงปู่มั่น ท่านรู้วาระจิตของหลวงตาหมดทุกอย่าง ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เล่าให้ฟังเลย เพราะทีแรกพระอาจารย์บุญช่วยกำลังจะส่งไปเรียนปริยัติธรรมที่วัดศรีเทพ จ.นครพนม แต่แวะมากราบหลวงปู่มั่นเสียก่อน แล้วท่านก็เทศน์เรื่องปริยัติและเรื่องกรรมฐานต่าง ๆ จึงเกิดศรัทธาในคำสั่งสอนของท่านในที่สุดก็ตัดสินใจอยู่ศึกษาอบรมกับหลวงปู่มั่นต่อไป"นับเป็นบุญญาบารมีของสามเณรพวงที่ได้มีโอกาสมากราบหลวงปู่มั่นก่อนเดินทางไปเรียนทางด้านปริยัติ ได้ฟังธรรมเทศนาของท่านจนเกิดซาบซึ้งและมุ่งมั่นในการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานตามแนวทางคำสั่งสอนของหลวงปู่มั่น เลิกล้มความตั้งใจในการเรียนทางด้านปริยัติทันทีเพราะพิจารณาเห็นตามคำแนะนำของหลวงปู่มั่นในช่วงแรกสามเณรพวงต้องออกไปอยู่วัดป่าท่าสองคอน ซึ่งเป็นวัดสาขาอยู่ใกล้ๆกับวัดหลวงปู่มั่น และยังอยู่ห่างจากวัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนครเพียง 3 กม. เวลาลงปาติโมกข์บรรดาพระเณรจะมารวมกันที่วัดป่าอุดมสมพรซึ่งขณะนั้นเป็นสำนักสงฆ์ หลวงปู่ฝั้นยังไม่ได้ไปอยู่ถึงแม้ว่าวัดป่าท่าสองคอน จะอยู่บริเวณใกล้เคียงกับวัดป่าบ้านหนองผือซึ่งเป็นที่พักของหลวงปู่มั่น แต่ก็ต้องใช้ระยะเวลาเดินทางด้วยเท้าข้ามภูเขาตลอดทั้งวันกว่าจะถึงวัด ซึ่งต้องใช้ความวิริยะอุตสาหะในการเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างวัดท่าสองคอน กับวัดป่าบ้านหนองผือ สามเณรพวงมิได้ย่อท้อ หมั่นเพียรเดินทางไปฟังธรรมจากหลวงปู่มั่นเป็นประจำ ที่วัดป่าท่าสองคอนแห่งนี้ พระอาจารย์บุญช่วย ธัมวโร ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีฐานใน ก็ได้มาพำนักเพื่อศึกษาและปฏิบัติธรรมกับสามเณรพวงด้วย
10#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 15:39 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
13.เป็น "สุขินทริโยภิกขุ"ช่วงที่พำนักอยู่ที่วัดป่าบ้านท่าสองคอน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ในปีที่ 2 สามเณรพวง ลุล่วง มีอายุครบ 20 ปีพอดี ได้เวลาที่จะบวชเป็นภิกษุ ประกอบกับมีสามเณรที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกันอีก 3 รูป ก็จะเข้าอุปสมบทด้วย แต่สำนักสงฆ์ที่พำนัก และบริเวณใกล้เคียงไม่มีพระอุโบสถ อันเป็นสถานที่ประกอบพิธีในการอุปสมบท เพราะสำนักปฏิบัติธรรมของสายพระอาจารย์มั่นไม่เน้นที่จะสร้างถาวรวัตถุ หากแต่เน้นการปฏิบัติจริงในการเข้าถึงธรรม ซึ่งเป็นแก่นที่สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา คณะสงฆ์ศิษย์ของหลวงปู่มั่นจึงได้จัดหาสถานที่สำหรับอุปสมบท โดยเลือกที่สำนักสงฆ์บ้านหนองโดก ตอนหลังได้ยกฐานะเป็นวัดป่าหนองโดก อยู่ในตำบลช้างมิ่ง อ.พรรณานิคม จ.สกลนครเป็นสถานที่สำหรับอุปสมบทการจัดเตรียมการอุปสมบทในครั้งนั้นได้จัดบนพระอุโบสถกลางลำน้ำ โดยนำเรือพายที่อยู่บริเวณนั้นมาจอดเรียงรายชิดติดกันหลาย ๆ ลำ แล้วได้นำแผ่นกระดานไม้มาปูเรียงบนลำเรือติดกันจนเป็นแพขนาดใหญ่ที่พอจะประกอบพิธีกรรมในการอุปสมบทได้การอุปสมบทของสามเณรพวงครั้งนี้ มีพระเดชพระคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริเป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เป็นพระอนุสาวนาจารย์พระภิกษุสงฆ์ที่เข้าร่วมพิธีในการอุปสมบทในครั้งนี้ นับว่าเป็นพระอริยสงฆ์ที่ทรงภูมิปัญญาทางธรรมเป็นอย่างยิ่ง ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มีศีลธรรมจริยาวัตรที่งดงาม และเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระศาสนาในด้านวิปัสสนากรรมฐานของสายหลวงปู่มั่น ในเวลาต่อมาสามเณรพวง ลุล่วง ได้รับฉายาในทางพระพุทธศาสนาว่า "สุขินทริโย" ซึ่งแปลว่า"ผู้มีความสุขเป็นใหญ่"
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้