พระครูวิริยะโสภิต (หลวงพ่อศรี วัดพระปรางค์) อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี หลวงพ่อศรี เป็นพระเถรจารย์ผู้แก่กล้าวิทยาคม มีตบะเดชะ วาจาศักดิ์สิทธิ์ สำเร็จจินดามณีมนต์ สามารถทำนายวันมรณภาพได้อย่างแม่นยำราวกับตาเห็น หลวงพ่อศรี ภูมิลำเนาอยู่ อ.แสวงหา จ.อ่างทอง เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2413 ชีวิตของท่านในวัยเยาว์ชอบศึกษาทางเวทมนต์คาถาและนิสัยนักเลง ไม่เคยยอมใครง่าย ๆ หลวงพ่อศรี อุปสมบทเมื่ออายุ 20 ปี ณ พัทธสีมาวัดโบสถ์ อ.วิเศษไชยชาญ จังหวัดอ่างทอง โดยมีพระอาจารย์มิน วัดโบสถ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ จากนั้นได้ศึกษาวิปัสสนากัมมัฏฐานจนเชี่ยวชาญ จึงมาจำพรรษาที่วัดพระปรางค์ อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี อุปนิสัยท่านเป็นพระที่สำรวม เคร่งครัดในพระธรรมวินัยยิ่งนัก มีวัตรปฏิบัติเป็นที่น่าศรัทธาเลื่อมใสศรัทธาของผู้คนทั่วไป และท่านชอบให้ความเมตตาความอุปการะแก่ผู้ยากไร้ทั่วไป เวลาว่างของท่านส่วนใหญ่หมดไปกับการจารบทสวดและคัมภีร์ต่าง ๆ ตลอดจนพระปาติโมกข์เป็นอักขระภาษาขอม ซึ่งท่านมีความชำนาญเป็นพิเศษ หลวงพ่อศรี ได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อไกร วัดใหญ่ท่าฉนวน อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท และได้รับการถ่ายทอดพุทธาคมและวิชาต่าง ๆ จากพระอาจารย์ไกรมาอย่างหมดไส้หมดพุง นอกจากนี้ท่านยังศึกษาวิปัสสนากัมมัฏฐานจนเชี่ยวชาญ หลวงพ่อศรี จัดว่าเป็นพระเถรจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบโดยแท้ มีเกจิหลายท่านไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์และมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของผู้คนมากมาย อาทิ หลวงพ่อหร่ำ วัดวังจิก จ.สุพรรณบุรี หลวงพ่อกวย วัดโฆษิตาราม จ.ชัยนาท หลวงพ่อทอง วัดพระปรางค์ จ.สิงห์บุรี หลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง จ.สิงห์บุรี เป็นต้น วัตถุมงคลของหลวงพ่อศรีที่โด่งดังมาก ๆ คือ เชือกคาดเอว ตะกรุดมหาอุด สีผึ้งมหาเสน่ห์น้ำมันมนต์ น้ำมนต์ แหวนและเหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก ที่สร้างขึ้นเพื่อแจกเป็นที่ระลึกแก่ผู้ที่มาร่วมทำบุญสร้างศาลาวัดพระปรางค์ โดยพิธีกรรมการสร้างเหรียญของหลวงพ่อมีความพิถีพิถันมาก ท่านนำทองแดงมาลงอักขระเลขยันต์ก่อน แล้วนั่งปลุกเสก เมื่อเสร็จแล้วจึงนำไปหล่อหลอมรวมกับทองแดงที่จะปั๊มเป็นเหรียญ เมื่อปั๊มเป็นเหรียญเสร็จแล้วท่านก็จะนำมาปลุกเสกแบบเดี่ยวอีกรอบ สรุปแล้ว วัตถุมงคลทุกชิ้นของท่านต้องดีทั้งนอกและใน หลวงพ่อศรี ท่านละสังขารเมื่อปีพุทธศักราช 2485 สิริอายุ 72 ปี 52 พรรษา โดยก่อนมรณภาพท่านเคยสั่งเสียลูกศิษย์ทุกคนเอาไว้ชัดเจน พร้อมระบุวันละสังขารได้อย่างถูกต้องแม่นยำอย่างน่าอัศจรรย์ แสดงให้เห็นถึงปาฏิหาริย์แห่ง "พระอภิญญา" โดยแท้.
ที่มา https://sites.google.com/site/pa ... hxng-keci-chux-dang
|