ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1803
ตอบกลับ: 3
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

“อานันทเศรษฐี” ผู้มีความตระหนี่ในการให้ทาน

[คัดลอกลิงก์]


การที่บุคคลจะได้สมบัติทุกภพทุกชาตินั้นเป็นเพราะเหตุว่า
เขาได้รักษาสมบัติเอาไว้ได้ ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน อาทิตตสูตร ว่า

“เมื่อเรือนถูกไฟไหม้ เจ้าของเรือนขนเอา
ภาชนะใดออกไปได้ ภาชนะนั้นย่อมเป็น
ประโยชน์แก่เขา ส่วนสิ่งของที่ขนออกไปไม่ได้
ย่อมถูกไฟไหม้ ฉันใด

โลก (คือหมู่สัตว์) อันชราและมรณะเผา
แล้วก็ฉันนั้น ควรนำออก (ซึ่งโภคทรัพย์สมบัติ)
ด้วยการให้ทาน เพราะทานวัตถุที่บุคคลให้แล้ว
ได้ชื่อว่านำออกดีแล้ว ทานวัตถุที่บุคคลให้แล้ว
นั้น ย่อมมีสุขเป็นผล ที่ยังมิได้ให้ย่อมไม่เป็น
เหมือนเช่นนั้น โจรยังปล้นได้ พระราชายังริบ
เอาไปได้ ไฟยังไหม้ได้ หรือสูญหายไปได้

อนึ่ง บุคคลจำต้องละร่างกายพร้อมด้วย
สิ่งเครื่องอาศัย ด้วยตายจากไป ผู้มีปัญญา
รู้ชัดดังนี้แล้ว ควรใช้สอยและให้ทาน เมื่อได้ให้
ทานและใช้สอยตามควรแล้ว จะไม่ถูกติฉิน
เข้าถึงสถานที่อันเป็นสวรรค์”

จากพุทธพจน์ที่กล่าวในเบื้องต้น ทำให้เห็นอานิสงส์ของการทำ และไม่ทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตร ทั้งกับตนเองและผู้อื่น ซึ่งพอจะขยายความตามพุทธพจน์ได้ว่า “บุคคลที่ทำบุญเอง แต่ไม่ได้บอกบุญผู้อื่น จะไปเกิดเป็นผู้ที่ร่ำรวยด้วยทรัพย์สมบัติ แต่ไม่มีพวกพ้องบริวาร”

เพราะว่า “เมื่อบุคคลทำบุญด้วยตนเอง” ชื่อว่าเขาได้รักษาทรัพย์สมบัติของตนไว้ แต่ “เขาไม่ได้บอกบุญผู้อื่น” ชื่อว่าเขาไม่ได้ติดตามรักษาทรัพย์สมบัติให้ผู้อื่น เสมือนปล่อยให้ทรัพย์นั้นถูกไฟไหม้จนหมดสิ้น ฉะนั้นเวลาไปเกิดในภพชาติใด จึงมีโภคทรัพย์สมบัติมากมาย แต่ไม่มีบริวาร เมื่อทำกิจการใดๆ ก็ต้องเหน็ดเหนื่อยยากลำบากมาก ไม่มีคนช่วยเหลือเพราะขาดพวกพ้อง

“บุคคลที่ไม่ได้ทำบุญเอง ได้แต่บอกบุญคนอื่น จะไปเกิดเป็นคนยากจน แต่มีพวกพ้องบริวาร”

เพราะว่าไม่รักษาทรัพย์สมบัติของตนเองไว้ ได้แต่ตามรักษาทรัพย์สมบัติให้คนอื่น ฉะนั้น ไปเกิดในภพชาติใด ตนจึงต้องลำบากและยากจนค่นแค้น แต่เวลาจะทำอะไรก็มีคนคอยช่วยเหลือสนับสนุนตลอดเวลา

“บุคคลที่ไม่ได้ทำบุญด้วยตนเอง และไม่บอกบุญ จะไปเกิดเป็นคนยากจน ทั้งไม่มีพวกพ้องบริวาร”

เพราะว่าไม่รักษาทั้งทรัพย์สมบัติของตนเอง และผู้อื่น บางทีถึงกับขัดขวางคนอื่นไม่ให้ทำอีก ฉะนั้น ไปเกิดในภพชาติใด ก็พบแต่ความลำบากยากจน ต่ำต้อย ไม่มีพวกพ้องเลย จะทำอะไรก็ลำบากมาก และไปเกิดกับกลุ่มชนที่มีความลำบากด้วยกัน มีแต่คนรังเกียจ เหมือนดังเรื่องต่อไปนี้

2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-7-25 08:43 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
อานันทเศรษฐี

ในสมัยพุทธกาล ที่เมืองสาวัตถี มีเศรษฐีคนหนึ่ง ชื่ออานันทะ มีสมบัติมากถึง ๘๐ โกฏิ แต่ว่าเป็นคนตระหนี่ไม่ทำบุญ ทั้งห้ามบุตรหลานทุกคนทำบุญ เขาสอนบุตรวันละ ๓ เวลาว่า

“อย่าคิดว่าทรัพย์ที่เรามีอยู่นี้มาก ควรทำทรัพย์ใหม่ให้เกิดขึ้นเป็นประจำทุกๆ วัน ไม่ควรให้ทานแก่ใครๆ เพราะทรัพย์ที่มีมากย่อมสิ้นไปทีละน้อย พึงดูอย่างยาหยอดตา เมื่อหยอดทีละหยดยังหมดได้ พึงดูอย่างการพอกพูนขึ้นของจอมปลวก ที่เพิ่มขึ้นทีละน้อย ยังเป็นจอมปลวกใหญ่ได้ คนครองเรือนก็ควรเป็นอย่างนี้”

เขาได้ฝังขุมทรัพย์ใหญ่ไว้ ๕ แห่ง แต่ด้วยความที่ตระหนี่มากจึงไม่ยอมบอกให้ใครทราบ แม้แต่บุตรของตนชื่อ มูลสิริ อานันทเศรษฐีมีชีวิตอยู่อย่างเศร้าหมองเพราะความตระหนี่ เมื่อเขาตาย มูลสิริได้ดำรงตำแหน่งเศรษฐีต่อมา อานันทเศรษฐีเมื่อเขาละโลกไปแล้ว ไปเกิดในครรภ์ของหญิงยากจนคนจัณฑาล หาเลี้ยงชีพด้วยการขอทาน ขณะที่อยู่ในครรภ์มารดา ไม่ว่าจะไปขอทานที่ไหนก็ตาม มารดาจะอดอยากยากจนไปด้วย ที่ว่าจนแล้วก็ยิ่งกลายเป็นคนจนในหมู่ยาจกทีเดียว รวมทั้งทำให้กลุ่มที่หญิงยากจนคนนี้ไปอาศัยอยู่พลอยยากลำบากไปด้วย ทำให้หมู่คณะสงสัยว่า ต้องมีคนกาลกิณีอยู่แน่นอน จึงได้แบ่งกลุ่มออกเป็น ๒ ฝ่าย และถ้าหญิงมีครรภ์ผู้นี้ไปอยู่ฝ่ายไหน ฝ่ายนั้นก็จะตกยากลำบาก ขอทานไม่ได้ทุกครั้ง จนเป็นที่รังเกียจของผู้อื่น จึงขับนางออกจากกลุ่ม

เมื่อนางคลอดบุตร ได้เห็นหน้าบุตรแล้วอยากจะร้องไห้สัก ๕๐ ปี เพราะบุตรของนางพิกลพิการสารพัดอย่าง มือ เท้า หู จมูก ปาก นัยน์ตา พิการไปหมด เหมือนปีศาจคลุกฝุ่น น่าเกลียดเหลือเกิน แต่นางก็ไม่ละทิ้งบุตร ทั้งนี้เพราะความมีเยื่อใย ความรักความผูกพันตามธรรมชาติของแม่ที่มีต่อลูกอย่างแรงกล้า นางเลี้ยงบุตรด้วยความฝืดเคือง วันใดที่พาบุตรไปขอทานด้วย วันนั้นจะไม่ได้อะไรเลย ส่วนวันใดทิ้งบุตรไว้ที่บ้าน วันนั้นจะได้อาหารพอเลี้ยงปากเลี้ยงท้องพอดำรงชีวิตอยู่ได้เท่านั้น

พ่อแม่จึงปรึกษากันว่า ตั้งแต่ลูกคนนี้เกิดมา ไม่ว่าจะไปที่ไหน ก็พบแต่ความอัตคัดขัดสนตลอดเวลา แม้กระนั้นก็ยังสู้ทนเลี้ยงดูลูกเรื่อยมา จนกระทั่งลูกสามารถดูแลตัวเองได้ จึงบอกกับลูกว่า “ลูกเอ๋ย เอากระเบื้องใบนี้ไป ต่างคนต่างไปเถอะ ถึงแม้ว่าพ่อกับแม่จะรักลูกแค่ไหน แต่ถ้าเอาลูกไปด้วยก็คงจะอดอยากมาก ดังนั้นลูกจงไปหาเลี้ยงชีพด้วยตนเองเถิด”

ลูกจึงจำต้องจากไปเพื่อหาเลี้ยงชีพ แต่ไม่ว่าจะไปทางไหนก็หาทรัพย์ไม่ได้ เด็กน้อยตะเกียกตะกายขอทานช่วยเหลือตัวเองไปจนถึงบ้านของมูลสิริเศรษฐี ก็ระลึกชาติได้ว่า บ้านนี้เคยเป็นบ้านของตนมาก่อน และเศรษฐีนี้ คือ ลูกชายของตนเอง จึงเดินไปในบ้านนั้น ฝ่ายลูกของมูลสิริเศรษฐีเห็นเด็กขอทานที่หน้าตาน่าเกลียด น่ากลัวเข้าก็ตกใจ จึงให้คนใช้ขับไล่ออกไป

ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ (พระผู้ติดตาม) เสด็จผ่านไปถึงที่นั้น พระองค์ทรงชี้ให้ดูเด็กขอทานคนนั้น แล้วตรัสว่า “อานนท์ เด็กขอทานที่มีหน้าตาอัปลักษณ์น่าเกลียดนั้น คือ อานันทเศรษฐี”

ทั้งยังตรัสกับมูลสิริเศรษฐีให้ทราบอีกด้วยว่า นี่คือ อานันทเศรษฐี ซึ่งเป็นพ่อของเขาในอดีตชาติ

มูลสิริเศรษฐีจึงทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า เขาจะทราบได้อย่างไร พระองค์ตรัสตอบว่า เด็กคนนี้จำที่ฝังสมบัติได้ มูลสิริเศรษฐีจึงให้เด็กขอทานนั้นไปชี้ที่ฝังสมบัติ เมื่อให้คนขุดดู ก็พบว่ามีสมบัติจริงตามที่ชี้ จะเห็นได้ว่า การไม่รักษาสมบัติของตนและไม่ตามรักษาสมบัติของผู้อื่น จำทำให้เข้าถึงความวิบัติของรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ และคุณสมบัติต่างๆ ทำให้มีรูปร่างหน้าตาอัปลักษณ์ ยากจนค่นแค้นเป็นที่รังเกียจของคนทั่วไป

ส่วน “บุคคลที่ทำบุญเองและบอกบุญผู้อื่นด้วย ย่อมร่ำรวยด้วยโภคทรัพย์สมบัติ และบริวารสมบัติ”

เพราะว่านอกจากตนเองได้รักษาทรัพย์สมบัติของตนไว้ดีแล้ว ยังติดตามไปรักษาทรัพย์สมบัติให้ผู้อื่น ฉะนั้น ไปเกิดในภพชาติใด ก็จะมั่งคั่งร่ำรวยและมีพวกพ้องบริวารมาก จะทำสิ่งใดก็สำเร็จได้โดยง่าย

เพราะผู้ที่ได้รับการชักชวนทั้งหลาย ได้เสวยผลบุญเกิดมา มีความสุขความเจริญด้วยโภคทรัพย์สมบัติ เขาจะระลึกถึงบุคคลที่ตามไปรักษาทรัพย์ของเขาไว้ให้พ้นจากวิบัติ ฉะนั้น จะเกิดกระแสบุญชนิดหนึ่งแล่นมาถึงผู้ที่ตามไปรักษาทรัพย์สมบัตินั้นไว้ พร้อมทั้งส่งเสริมสนับสนุนให้รุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นไป จะมีแต่คนที่ซื่อสัตย์สุจริต บริสุทธิ์กาย วาจา ใจ มาเป็นบริวาร เป็นมิตรสหาย คนภัยคนพาลเข้าใกล้ไม่ได้ เพราะเดินสวนทางกัน รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ที่ไม่ดีจะไม่เกิดขึ้นเลย จะได้แต่สิ่งที่ดีๆ ทั้งโภคทรัพย์สมบัติ และบริวารสมบัติทุกอย่าง

..........................................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=43425

สาธุครับ
“เมื่อเรือนถูกไฟไหม้ เจ้าของเรือนขนเอา
ภาชนะใดออกไปได้ ภาชนะนั้นย่อมเป็น
ประโยชน์แก่เขา ส่วนสิ่งของที่ขนออกไปไม่ได้
ย่อมถูกไฟไหม้ ฉันใด


เข้าใจเลย..
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้