ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

พระองค์ที่ ๑๑ : สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์

[คัดลอกลิงก์]
11#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-13 11:48 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ ๔๕ เล่มของมหามกุฏราชวิทยาลัย


สำเนาจากราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๔๔ ตอนที่ ๓ วันที่ ๑๗ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๗๐

ประกาศพระราชทานกรรมสิทธิหนังสือพระไตรปิฏก
ฉบับสยามรัฏฐแก่มหามกุฏราชวิทยาลัย
  *

มีพระบรมราชโองการ ในพระบาทสมเด็จพระปรมนทรมหาประชาธิปก
พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  ดำรัสเหนือเกล้าว่า  
พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ
ผู้จัดการพิมพ์พระไตรกิฎกฉบับพระสยามรัฎฐ
ได้ทำหนังสือขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้มหามกุฏราชวิทยาลัย  
มีกรรมสิทธิในหนังสือพระไตรปิฏกที่กล่าวนามมาแล้ว

ทรงพระราชดำริเห็นว่า มหามกุฏราชวิทยาลัย
เปนสำนักการแห่งการศึกษาพระปริยัติธรรม
และเปนผู้รักษาพระบาลีมิให้วิปัลลาศ

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต
ให้มหามกุฏราชวิทยาลัยมีกรรมสิทธิในหนังสือพระไตรปิฎกฉบับพระสยามรัฏฐ
และได้สิทธิต่างๆ ตามพระราชบัญญัติกรรมสิทธิหนังสือจงทุกประการ

ประกาศมา ณ วันที่ ๑๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๗๐ เปนปีที่ ๓ ในรัชกาลปัตยุบัน


* หมายเหตุ : อักขรวิธีตามต้นฉบับ


สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
(หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท สิริวฑฺฒโน)

12#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-13 11:51 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
(หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท สิริวฑฺฒโน)



มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
(Mahamakuta Rajavidyalaya Foundation
Under Royal Patronage)


มหามกุฏราชวิทยาลัย (Mahamakuta Rajavidyalaya)
ซึ่ง สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ทรงพระดำริจัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖
เพื่อเป็นสถานศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนานั้น
ได้ดำเนินการกิจการมาเป็นลำดับโดยต่อเนื่อง
โดยระยะแรก พระเถรานุเถระในคณะธรรมยุตผู้เป็นกรรมการ
ได้ผลัดเปลี่ยนกันเป็นนายกกรรมการระยะ ๑ ปี
การบริหารกิจการของมหามกุฏราชวิทยาลัยได้ดำเนินมาในลักษณะนี้
จนถึง พ.ศ. ๒๔๔๔ ได้มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของมหามกุฏฯ
การผลัดเปลี่ยนกันเป็นนายกกรรมการระหว่างการไม่เป็นการสะดวก
จึงตกเป็นหน้าที่ของเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต
ต้องได้รับภาระเป็นนายกกรรมการโดยตำแหน่ง
ซึ่งได้ถือเป็นประเพณีปฏิบัติสืบมาจนปัจจุบัน

และหลังจากที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สิ้นพระชนม์แล้ว
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ในฐานะเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต
ได้ทรงเป็นนายกกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัยสืบต่อมา
และได้ทรงดำริจัดตั้ง “มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์” ขึ้น
โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ นำดอกผลอัน เกิดจากทรัพย์สินของมหามกุฏฯ
มาช่วยอุดหนุนบำรุงการศึกษาพระปริยัติธรรมของพระภิกษุ สามเณร
และส่งเสริม การเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

โดยเริ่มต้นด้วยทุนของมหามกุฏราชวิทยาลัยจำนวน ๕๖๙,๖๘๙.๙๗ บาท
ได้รับการจดทะเบียนเมื่อวันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๖
โดยมี สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ทรงเป็นนายกกรรมการผู้จัดการ
เจ้าพระยาศรีพิพัฒนรัตนราชโกษาธิบดี (ม.ล.มูล ดารากร)
อธิบดีกรมพระคลังข้างที่ เป็นผู้จัดการฝ่ายคฤหัสถ์
ประกอบด้วยกรรมการฝ่ายบรรพชิต ชุดแรก ๑๓ ท่าน

กล่าวได้ว่า มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ ได้รับการจัดตั้งขึ้น
หลังจากที่ได้จัดตั้ง มหามกุฏราชวิทยาลัย มาได้ ๔๐ ปี
นับเป็นพัฒนาการขั้นที่ ๒ ของ มหามกุฎราชวิทยาลัย
โดยมี สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
ทรงเป็นนายกกรรมการมูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัย
ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นพระองค์แรก


สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
(หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท สิริวฑฺฒโน)

13#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-13 11:52 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ ในปัจจุบัน

การจัดตั้ง มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ ขึ้นนั้น
นับว่าเป็นผลดีต่อการที่จะดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์ของ
มหามกุฏราชวิทยาลัย ที่ได้วางไว้แต่เริ่มก่อตั้งเป็นอย่างมาก

ปัจจุบัน มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ ได้บำเพ็ญประโยชน์
แก่พระพุทธศาสนาอย่างกว้างขวาง ซึ่งอาจกล่าวได้โดยสรุปดังต่อไปนี้

๑. นำผลประโยชน์ไปช่วยวัดต่างๆ อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
ทำให้วัดนั้นๆ มีทุนนอนที่มั่นคงและเกิดดอกผลที่แน่นอนตลอดไป

๒. ช่วยจัดหาตำราเรียนพระปริยัติธรรม ทั้งแผนกบาลีและแผนกนักธรรม
ให้แก่พระภิกษุสามเณรตามวัดต่างๆ ที่ขาดแคลน

๓. การผลิตตำราทางพระพุทธศาสนา
นับว่าเป็นงานหลักอย่างหนึ่งของมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ

มาจนกระทั่งบัดนี้ เมื่อตั้ง มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ แล้ว
ก็ได้จัดให้มีแผนกตำราเพื่อเรียบเรียงและชำระตำรับตำราต่างๆ
ซึ่ง กิจการแผนกนี้ นับเป็นการดำเนินรอยตามพระยุคลบาทแห่ง
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ผู้ทรงริเริ่มไว้เป็นปฐมด้วยการทรงรจนาตำราทางพระพุทธศาสนาไว้เป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ยังได้แปลเป็นภาษาต่างประเทศเพื่อใช้เป็นคู่มือศึกษา
พระพุทธศาสนาของชาวต่างประเทศอีกด้วย เป็นการเผยแพร่เกียรติคุณ
ของพระสงฆ์ไทย ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวต่างประเทศ

๔. จัดสรรทุนจำนวนหนึ่งสำหรับบำรุงการศึกษาของสำนักเรียนต่างๆ ในคณะธรรมยุต
พร้อมทั้งช่วยจัดส่งพระภิกษุจากส่วนกลาง ออกไปเป็นครูช่วยสอนนักธรรมและบาลี
ในวัดตามจังหวัดต่างๆ  ด้วยงบประมาณที่จัดสรรไว้สำหรับการนี้

๕. จัดสรรงบประมาณปีละเป็นจำนวนมากอุดหนุนสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย
อันเป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของคณะสงฆ์แห่งหนึ่ง
ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

จึงกล่าวได้ว่า มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ
ได้ช่วยส่งเสริมการศึกษาของคณะสงฆ์
มาโดยตลอดทั้งทางตรงคือ ด้วยทุนทรัพย์ และทางอ้อม
คือ ช่วยผลิตตำราออกเผยแพร่และจำหน่ายในราคาถูก

๖. ส่งเสริมการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ
คือได้มีส่วนอย่างสำคัญในการอุดหนุนช่วยเหลือกิจการพระธรรมทูตไปต่างประเทศ
เช่น ช่วยอุดหนุนการเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจในต่างประเทศของพระธรรมทูต
ช่วยจัดหาวัตถุอุปกรณ์ที่จำเป็นแก่การเผยแพร่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ
เช่น ตำราและบริขารบริวารต่างๆ เป็นต้น
ช่วยอุปการะพระภิกษุสามเณรจากต่างประเทศ
ที่เข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศไทย
จนจบการศึกษาแล้วกลับไปช่วยฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศของตน
ช่วยจัดสร้างวัดไทยขึ้นในต่างประเทศ
เพื่อเป็นศูนย์เผยแพร่พระพุทธศาสนาในประเทศนั้นๆ
พร้อมจัดส่งพระภิกษุออกไปอยู่ประจำเพื่อช่วยสั่งสอน
เช่น วัดพุทธรังษี นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย และวัดไทยในอินโดนีเซีย เป็นต้น

๗. ส่งเสริมการศึกษาวิชาการชั้นสูงของพระภิกษุในต่างประเทศ
โดยจัดทุนการศึกษาแก่พระภิกษุผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่ง
ที่ไปศึกษาต่อวิชาการชั้นสูงในสถาบันการศึกษาในต่างประเทศ
เพื่อจะได้กลับมาช่วยพัฒนาการศึกษาระดับสูงของคณะสงฆ์ไทย
ตลอดถึงทำประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองต่อไป

๘. ดำเนินการจัดแปลและจัดพิมพ์หนังสือที่จำเป็นแก่การศึกษา
พระพุทธศาสนาเป็นภาษาต่างประเทศ เพื่อเผยแพร่แก่ชาวต่างประเทศ
พร้อมทั้งได้จัดให้มีแผนกจำหน่ายหนังสือพระพุทธศาสนาภาษาต่างประเทศ
ขึ้นเป็นพิเศษอีกแผนกหนึ่ง

มีการจัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือพระพุทธศาสนาภาษาต่างประเทศ
แก่ประชาชนทั่วไปในราคาถูก ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะช่วยให้
พุทธศาสนิกชนหรือผู้สนใจในพระพุทธศาสนาทั่วไป
ได้มีโอกาสศึกษาและรู้ความเป็นไปของพระพุทธศาสนาได้กว้างขวางยิ่งขึ้น
14#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-13 11:53 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


งานนิพนธ์

สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ทรงมีพระปรีชาสามารถในทางรจนา นับได้ว่า
ทรงเป็นปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญพระองค์หนึ่งในยุคกรุงรัตนโกสินทร์
พระองค์ได้ทรงพระนิพนธ์ตำรับตำรา และหนังสือสำคัญทางพระพุทธศาสนาไว้มาก
อาทิเช่น พระคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา
หรือพจนานุกรมภาษาบาลีแปลเป็นไทย
มหานิบาตชาดก ต้นบัญญัติ สามเณรสิกขา
เป็นต้น

ซึ่งพระนิพนธ์เหล่านี้ยังได้ใช้เป็นคู่มือในการศึกษาภาษาบาลีและศึกษา
พระพุทธศาสนาของภิกษุสามเณรและบุคคลทั่วไปอย่างแพร่หลายอยู่จนบัดนี้


พระโกศพระศพสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
ประดิษฐาน ณ พระตำหนักอรุณ  วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม



พระอวสานกาล

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
ทรงประชวรด้วยพระโรคเส้นพระโลหิตในกระเพาะพระบังคลเบาพิการ
ทำให้พระบังคลเบาเป็นโลหิต สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๐
เวลา ๑๐.๐๕ นาฬิกา ในรัชกาลที่ ๘ สิริรวมพระชนมายุได้ ๗๘ พรรษา
โดยทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช เป็นเวลา ๑๖ ปี กับ ๕ วัน

.....................................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=20842
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้