ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1936
ตอบกลับ: 1
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ทุกศาสนาสอนให้คนทำดี

[คัดลอกลิงก์]
            หัวใจพุทธศาสนาคืออะไร ว่ากันไปหลายอย่าง ถูกทั้งนั้น อันไหนก็ได้  



            
พระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักการที่เรียกกันว่า "หัวใจพระพุทธศาสนา" เป็นคำไทยที่เราพูดกันง่ายๆ ถ้าพูดเป็นภาษาบาลี

คือ "โอวาทปาฎิโมกข์" หลักที่ถือว่าเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา

คือคำไทยที่สรุปพุทธพจน์ง่ายๆ สั้นๆ ว่า

"เว้นชั่ว ทำดี ทำใจให้บริสุทธิ์"

ภาษาพระหรือภาษาบาลีว่า.....
            " สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธานสาสนํ "


แปลให้เต็มเลยว่า

"การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การทำความดีให้เพรียบพร้อม การชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใส
นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย"

คำลงท้ายว่า "นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย" ทำให้เราคิดว่านี่แหละเป็นคำสรุป แสดงว่าเนื้อแท้ของพระพุทธศาสนาอยู่ที่นี่


เราก็เลยเรียกว่า "หัวใจ" มาเป็นจุดเริ่มต้น แต่กระนั้นชาวพุทธผู้ได้ฟังพระสอนมามากๆ พระอาจารย์หรือพระเถระผู้ใหญ่บางท่านพูดถึงหลักการอื่นว่า อันโน้นสิ อันนี้สิ เป็นหัวใจพระพุทธศาสนา บางทีโยมก็ชักงง จึงขอยกเอาเรื่องนี้มาพูดว่าอะไรกันแน่ที่เรียกว่าเป็น หัวใจพระพุทธศาสนา

   บางท่านบอกว่า "อริยสัจสี่" เป็นหัวใจพระพุทธศาสนา เพราะว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมดรวมอยู่ในอริยสัจสี่
เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว เสด็จไปแสดงปฐมเทศนา พระธรรมจักกัปปวัตตนสูตร

….. พระองค์ตรัสพุทธพจน์ตอนหนึ่ง มีความว่า ตราบใดที่เรายังไม่

(จตูสุ อริยสจฺเจสุ ติปริวฎฺฎํ ทวาทสาการํ ยถาภูตํ ญาณทสฺสนํ) มีญาณทัศนะที่มีปริวัฎ ๓ มีอาการ ๑๒ ในอริยสัจสี่

เราก็ยังปฏิญาณไม่ได้ว่า ได้ตรัสรู้ ต่อเมื่อเรามีญาณทัศนะนั้น จึงปฏิญาณได้ว่า ตรัสรู้ หมายความว่า ตรัสรู้อริยสัจสี่ครบ ๓ ด้าน

คือรู้ว่าคืออะไร แล้วก็รู้ว่าหน้าที่ต่ออริยสัจสี่แต่ละอย่างนั้นคืออะไร และรู้ว่าได้ทำหน้าที่ต่ออริยสัจนั้นแล้ว เวียนไปทุกข้อเรียกว่า ๓ ปริวัฎ

อธิบายว่า..... รู้ในอริยสัจสี่แต่ละอย่างเริ่มตั้งแต่รู้ว่าทุกข์คืออะไร เราจะต้องทำอะไรต่อทุกข์ แล้วก็รู้ว่าหน้าที่ต่อทุกข์นั้นเราได้ทำแล้ว ถ้ายังไม่รู้อริยสัจด้วยญาณทัศนะครบทั้ง ๓ ในแต่ละอย่าง (รวมทั้งหมดเป็น ๑๒ เรียกว่ามีอาการ ๑๒)
ก็ยังไม่สามารถปฏิญาณว่าได้ตรัสรู้เป็นสัมมาสัมพุทธะ

ต่อเมื่อได้ตรัสรู้อริยสัจ โดยมีญาณในอริยสัจแต่ละข้อครบทั้ง ๓ รวมเป็น ๑๒ จึงปฏิญาณได้ว่าเป็นสัมมาสัมพุทธะ เป็นอันว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจสี่ และการตรัสรู้อริยสัจสี่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้า อริยสัจสี่จึงเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา

บางท่านไปจับเอาที่พระไตรปิฎกอีกตอนหนึ่ง ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสไว้กระทัดรัดมากว่า.....

"ปุพฺเพจาหํ ภิกฺขเว เอตรหิ จ ทุกขญฺเจว ปญฺญาเปมิ ทุกขสฺส จ นิโรธํ "

ภิกษุทั้งหลายทั้งในกาลก่อนแลบัดนี้ เราบัญญัติแต่ทุกข์และความดับทุกข์เท่านั้น ถ้าจับตรงนี้ก็แสดงว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนทั้งหมดนั้น
หลักการของพระพุทธศาสนาก็มีเท่านี้ คือ ทุกข์และความดับทุกข์

ท่านพุทธทาสกล่าวถึงหลักอีกข้อหนึ่งให้ถือว่าเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา คือ.....

"สพฺเพ ธฺมมา นาลํ อภินิเวสาย " แปลว่า "ธรรมทั้งปวง ไม่ควรยึดมั่น" .

.... คำว่า "นาลํ" แปลว่าไม่ควร หรือ ไม่อาจ ไม่สามารถ คำว่า "ไม่ควร " ในที่นี้หมายความว่า เราไม่อาจไปยึดมั่นมันได้

เพราะมันจะไม่เป็นไปตามใจเราแน่นอน เมื่อมันไม่อาจจะยึดมั่น เราก็ไม่ควรจะยึดมั่นมัน อันนี้ท่านถือว่าเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา

เมื่อได้พังอย่างนี้ ก็ทำให้เราสงสัยกันว่าจะเอาหลักอันไหนดีเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา ก็เลยขอให้ความเห็นว่าอันไหนก็ได้


.
หัวใจพระพุทธศาสนา
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)



2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-13 08:58 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

บุญลาภ ความสุขที่แท้จริง

บทนำ

ในการสัมมนาพระสังฆราชที่กรุงโรมครั้งหนึ่ง พระสังฆราชองค์หนึ่งจากลัตเวีย ประเทศเล็กๆ ในคาบสมุทรบอลติกทางตอนเหนือของทวีปยุโรปที่แยกตัวออกมาจากสหภาพโซเวียตในปี ค.ศ. 1991 (พ.ศ. 2534) ได้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพระศาสนจักรในลัตเวียขณะอยู่ภายใต้การปกครองของคอมมิวนิสต์ ซึ่งปฎิเสธศาสนา ห้ามปฏิบัติศาสนกิจ ห้ามทำมิสซา ห้ามภาวนา ห้ามมีพระคัมภีร์ วัดวาอารามถูกทำลายหรือถูกยึด พระคัมภีร์ถูกเผาทิ้ง

ดังนั้น คริสตชนในลัตเวียจึงแก้ปัญหาด้วยการท่องจำพระคัมภีร์ โดยนำบทสดุดีมาร้องเป็นทำนองทำให้จดจำได้ง่ายขึ้น พระศาสนจักรต้องหลบลงใต้ดิน อยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ พระคัมภีร์ถือเป็นสิ่งที่มีค่ายิ่งและเก็บรักษาไว้อย่างดี มิสซาต้องแอบทำตามบ้านและถือเป็นความลับสุดยอดเพื่อไม่ให้ตำรวจรู้  ต้องเปลี่ยนเวลาและสถานที่อยู่เสมอ สามี-ภรรยาต้องผลัดเปลี่ยนกันไปร่วมพิธีมิสซาคนละอาทิตย์ เพื่อว่าหากคนหนึ่งถูกจับจะได้มีคนดูแลลูก เพราะหากถูกจับได้จะถูกขังคุกทันทีหนึ่งสัปดาห์ ไม่มีการขึ้นศาลเพราะคำสั่งของตำรวจถือเป็นคำสั่งของศาลฎีกา
หากเป็นพระสงฆ์จะถูกคุมขังนานหลายปี วันหนึ่งคุณพ่อวิกเตอร์ถูกจับขณะถวายมิสซาและกำลังอ่านพระวรสาร ท่านถูกทำร้ายและส่งตัวไปยังค่ายกักกันที่ไซบีเรียเป็นเวลา 10 ปี ชีวิตในค่ายกักกันโหดร้ายทารุณมากอากาศหนาวจัดบางคนตายก่อนครบกำหนด ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในค่ายกักกันคุณพ่อได้เฝ้าภาวนาวอนขอพระเจ้าให้สามารถสู้ทนและกลับไปที่หมู่บ้านนั้นอีกครั้ง เพื่อถวายมิสซาและอ่านพระวรสารตอนเดิมที่ท่านยังอ่านไม่จบ



ที่สุด คุณพ่อวิกเตอร์ได้กลับไปที่หมู่บ้านนั้นอีกครั้ง สัตบุรุษเมื่อทราบข่าวได้มารวมตัวกัน ท่านได้ถวายมิสซาและอ่านพระวรสารตอนนั้นอีกครั้ง เป็นพระวรสารตามคำเล่าของนักบุญมัทธิวเรื่องบุญลาภที่เราได้ฟังในวันนี้ ท่านได้อ่านไปถึงตอนที่ว่า “ผู้สร้างสันติย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้ชื่อว่าเป็นบุตรพระเจ้า” ท่านหยุดและบอกกับทุกคนว่าครั้งที่แล้วพ่ออ่านถึงตรงนี้ จากนั้นได้อ่านตอนต่อไปที่ว่า “ผู้ถูกเบียดเบียนข่มเหงเพราะความชอบธรรม ย่อมเป็นสุข เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา” เมื่อท่านอ่านจบชูพระวรสารขึ้นและบอกว่า “นี่คือพระวาจาของพระเจ้า” ทุกคนที่มาร่วมมิสซาวันนั้นกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ เพราะสำนึกว่าเป็นพระวาจาของพระเจ้า ที่ช่วยพวกเขาให้สามารถสู้ทนกับการเบียดเบียนมาได้ตลอดเวลาหลายปี

1.         บุญลาภ ความสุขที่แท้จริง
ในพระวรสารวันนี้มัทธิวได้นำเสนอคำเทศนาบนภูเขา ซึ่งเป็นคำสอนด้านศีลธรรมแบบคริสตชนและถือเป็นหัวใจในการดำเนินชีวิตคริสตชน พระเยซูเจ้าได้มอบ “บุญลาภ” แก่เราบนภูเขา ซึ่งเป็นเครื่องหมายแห่งการประทับอยู่ของพระเจ้า สำหรับนักบุญเอากุสติน ภูเขายังหมายถึงบทบัญญัติที่ช่วยให้เราเป็นคนที่ครบครันที่สุด พระองค์ทรงเป็นโมเสสคนใหม่ที่มอบบทบัญญัติใหม่ สำหรับผู้ที่อยู่ในสถานการณ์แห่งความยากลำบาก ให้ได้รับความบรรเทาและความหวัง
พระเยซูได้ได้เสนอคุณค่าที่ตรงข้ามกับค่านิยมของโลก พระองค์ทรงสอนเราว่า เราสามารถสร้างความสุขและความหวัง แม้ในสถานการณ์แห่งความยากลำบาก “ผู้มีใจยากจน... ผู้เป็นทุกข์โศกเศร้า... ผู้มีใจอ่อนโยน... ผู้หิวกระหายความชอบธรรม... ผู้มีใจเมตตา... ผู้มีใจบริสุทธิ์... ผู้สร้างสันติ... ผู้ถูกเบียดเบียนข่มเหงเพราะความชอบธรรม ย่อมเป็นสุข เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา” พระเยซูเจ้าทรงบอกเราว่า ความสุขแท้ไม่ได้มาจากทรัพย์สินเงินทอง ความสำเร็จในทางธุรกิจ ความสุขสนุกสนาน แต่อยู่ที่ “ความรักของพระเจ้าและการอยู่กับพระองค์ในอาณาจักรสวรรค์” ที่ทำให้ทุกสถานการณ์ในชีวิตมีความหมาย
บุญลาภที่พระเยซูเจ้าพูดถึง เป็นการรวมสุภาษิตคำพังเพยที่พบในวรรณกรรมประเภทปรีชาญาณในพันธสัญญาเก่า ซึ่งพระเยซูเจ้าทรงนำมาสอนประชาชนอีกครั้ง เพื่อเพิ่มพูนความหวังให้กับพวกเขา บุญลาภจึงเป็นการเรียกให้มีความสัมพันธ์พิเศษกับพระเจ้าและกับเพื่อนพี่น้องที่อยู่รอบข้างเรา เป็นการเรียกให้มามีชีวิตที่ศักดิ์สิทธิ์ พระองค์ได้ให้หลักประกันสำหรับคนยากจน ผู้มีใจอ่อนโยน ใจบริสุทธิ์และถูกเบียดเบียน ว่าเขาจะพบความสุขที่แท้จริง นั่นคือ การอยู่กับพระเจ้า กลายเป็นทายาทแห่งอาณาจักรสวรรค์ นี่คือข่าวดีที่พระเยซูเจ้านำมาบอกกับประชาชน


2.         บทเรียนสำหรับเรา
เป้าหมายแห่งชีวิตของเราอยู่ที่ไหน อยู่ในโลกนี้และวัตถุภายนอก เช่น เงิน บ้าน รถยนต์ ยศ ตำแหน่งหรือเปล่า สิ่งของในโลกเหล่านี้ไม่อาจทำให้เราพบความสุขที่แท้จริงได้ นอกเสียจากเป้าหมายแห่งชีวิตของเราจะมุ่งไปที่โลกหน้า ด้วยการดำเนินชีวิตตามบุญลาภ 8 ประการที่พระเยซูเจ้าทรงท้าทาย
1)           ผู้มีใจยากจน ย่อมเป็นสุข พระเยซูเจ้าบอกเราว่า ความสุขอยู่ที่ความวางใจในพระเจ้า ไม่ใช่ทรัพย์สินเงินทองหรือข้าวของที่เรามี
2)           ผู้มีใจอ่อนโยน ย่อมเป็นสุข พระเยซูเจ้าบอกเราว่า ความสุขอยู่ที่การเป็นคนสุภาพถ่อมตนต่อผู้อื่น มิใช่ความหยิ่งทะนง ก้าวร้าว หรือความโหดร้ายรุนแรง
3)           ผู้เป็นทุกข์โศกเศร้า ย่อมเป็นสุข พระเยซูเจ้าบอกเราว่า ชีวิตของเรามีค่ามากที่สุดผ่านทางความยากลำบาก ที่ทำให้ชีวิตของเราเข้มแข็ง ตรงข้าม “ความสะดวกสบาย ทำลายพระศาสนจักร”
4)           ผู้ที่หิวกระหายความชอบธรรม ย่อมเป็นสุข พระเยซูเจ้าบอกเราว่า สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตคือความถูกต้องชอบธรรม มิใช่อำนาจ ตำแหน่ง หรือความมีชื่อเสียง
5)           ผู้มีใจเมตตา ย่อมเป็นสุข พระเยซูเจ้าบอกเราว่า ความเมตตากรุณาคือพื้นฐานของชีวิตคริสตชน ในการให้อภัยผู้ที่กระทำผิดต่อเราและไม่จดจำความผิด มิใช่การแก้แค้นหรือมุ่งเอาชนะ
6)           ผู้มีใจบริสุทธิ์ ย่อมเป็นสุข พระเยซูเจ้าบอกเราว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือความสะอาดภายใน มิใช่เสื้อผ้าอาภรณ์หรือความสะอาดภายนอก
7)           ผู้สร้างสันติ ย่อมเป็นสุข พระเยซูเจ้าบอกเราว่า ผู้ที่สร้างความเป็นหนึ่งเดียวและความเข้าใจระหว่างกัน ย่อมนำความสุขใจมาให้ยิ่งกว่าการสร้างความแตกแยก หรือกระจายข่าวไม่ดีต่างๆ
8)           ผู้ถูกเบียดเบียนข่มเหงเพราะความชอบธรรม ย่อมเป็นสุข พระเยซูเจ้าบอกเราว่า พระองค์จะอยู่กับคนที่ถูกเบียดเบียนและจะประทานรางวัลแก่เขา คืออาณาจักรสวรรค์


บทสรุป
พี่น้องที่รัก “บุญลาภ” เป็นคำสอนแรกใน “คำเทศนาบนภูเขา” ของพระเยซูเจ้าในพระวรสารของนักบุญมัทธิว พระเยซูเจ้าได้มอบกฎทองนี้เพื่อช่วยให้เราพบความสุขที่แท้จริงและความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งถือเป็นหัวใจของการดำเนินชีวิตคริสตชน ในอันที่จะช่วยเราให้กลับใจและมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพระเจ้าและเพื่อนพี่น้อง บุญลาภจึงเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตที่เป็นสากลและยั่งยืน ที่จะช่วยให้เราพบความสุขแท้ ในความรักของพระเจ้าและการอยู่กับพระองค์ในอาณาจักรสวรรค์
“บุญลาภ” ยังเป็นคุณค่าแห่งชีวิตคริสตชนที่พระเยซูเจ้าทรงสอนและเจริญชีวิต พระองค์ทรงต้องการให้ศิษย์ของพระองค์เดินในเส้นทางแห่งความต่ำต้อย ความเมตตากรุณา และการให้อภัย คำเทศนาบนภูเขาเรื่อง “บุญลาภ” จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายใหญ่หลวงและเป็นคำสัญญาที่จะประทานรางวัลยิ่งใหญ่ สำหรับผู้เจริญชีวิตตามคำสอนของพระองค์ “จงชื่นชมยินดีเถิด เพราะบำเหน็จรางวัลของท่านในสวรรค์นั้นยิ่งใหญ่นัก” (มธ 5:12)
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้