ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

พระองค์ที่ ๙ : สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)

[คัดลอกลิงก์]
11#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-8 16:00 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พระคุณลักษณะพิเศษ

เล่ากันว่า เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงเป็นที่ทรงเคารพและสนิทคุ้นเคย
ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอันมาก
เป็นที่ทรงสนทนาปรึกษา ทั้งเรื่องที่เป็นกิจการบ้านเมือง
และเรื่องที่เป็นกิจการพระศาสนา และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงสนทนาปรึกษา
กับเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ณ ที่วัดราชประดิษฐ์ฯ
ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากพระบรมมหาราชวังเนืองๆ

คำเล่าอ้างดังนี้น่าจะสมจริง
เพราะสมกับที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ได้ตรัสเล่าไว้ในพระประวัติตรัสเล่าว่า

“เมื่อเรายังเยาว์ แต่จำความได้แล้ว ได้ตามเสด็จทูลกระหม่อม
(หมายถึง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ไปวัดราชประดิษฐ์ฯ เนืองๆ
คราวหนึ่งได้ยินตรัสถาม สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)
ครั้งนั้นยังเป็นพระสาสนโสภณว่า คนชื่อคนมีหรือไม่
สมเด็จพระสังฆราชนิ่งนึกอยู่ครู่หนึ่ง แล้วถวายพระพรทูลว่า ไม่มี
ทรงชี้เอาเราผู้นั่งอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ว่า นี่แหละคนชื่อคน
แต่นั้นเราสังเกตว่า ทรงพระสรวล และสมเด็จพระสังฆราชก็เหมือนกัน”


นอกจากนี้ ก็ยังกล่าวกันว่า เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (สา) นั้น
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดว่าเป็นผู้แต่งเทศน์ดี
แต่ครั้งยังเสด็จดำรงอยู่ในผนวช ภายหลังเมื่อได้เป็นที่พระสาสนโสภณแล้ว
ถ้าพระราชาคณะหรือพระเปรียญจะถวายเทศน์
ต้องมาให้เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ตรวจเสียก่อน
ถ้าใครไม่ชำนาญในการแต่งเทศน์ก็จะทรงแต่งให้

นับแต่ทรงสถาปนาวัดราชประดิษฐ์ฯ ขึ้นแล้ว
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ก็เสด็จพระราชดำเนินถวายพุ่มพรรษา (พุ่มเทียน)
แก่พระสงฆ์วัดราชประดิษฐ์ฯ ทั่วทั้งวัดเป็นประจำทุกปีจนสิ้นรัชกาล
โดยเสด็จพระราชดำเนินในวันแรม ๑ ค่ำอันเป็นวันที่พระสงฆ์เข้าพรรษา
ดูเป็นทำนองอย่างทรงเป็นเจ้าของวัด

12#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-8 16:00 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔


เหตุการณ์เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๔ สวรรคต

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้อยู่ครองวัดราชประดิษฐ์ฯ
สนองพระเดชพระคุณเฉลิมพระราชศรัทธา
ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ ๔ ปี ก็สิ้นรัชกาล

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
เสด็จสวรรคตเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๐๐
ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะโรง
อันเป็นวันมหาปวารณาออกพรรษาของพระสงฆ์

ครั้นเวลาเย็นวันมหาปวารณาที่เสด็จสวรรคตนั้น พระอาการทรุดหนักลง
พระองค์ทรงประกอบไปด้วยพระสติสัมปชัญญะ
ทรงกำหนดอวสานกาลแห่งพระชนมายุของพระองค์เป็นแน่แล้ว
จึงมีพระบรมราชโองการให้เจ้าพนักงานจัดเครื่องนมัสการพร้อมแล้ว
จึงมีพระราชโองการดำรัสให้ พระยาศรีสุนทรโวหาร (ฟัก)
เข้าไปในที่พระบรรทม มีพระราชดำรัสพระราชนิพนธ์โดยมคธภาษา
ให้พระยาศรีสุนทรโวหาร รับพระบรมราชโองการจดเป็นอักษร

ครั้นทรงพระบรมราชนิพนธ์เสร็จแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้
พระยาศรีสุนทรโวหารเชิญไปกับทั้งเครื่องนมัสการ
สู่พระวิหารหลวงวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม
พระสงฆ์มีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์เป็นประธาน
ประชุมพร้อมกันเพื่อจะทำสังฆปวารณา
พระยาศรีสุนทรโวหารจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการ แล้วกราบถวายบังคมมาตามทิศ
อ่านพระบรมราชนิพนธ์นั้น ณ ที่สังฆสันนิบาต
สงฆ์รับอัจจยเทศนาแล้วตั้งญัตติปวารณา แล้วปวารณาตามลำดับพรรษา

ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรัสสั่งพระยาศรีสุนทรโวหารเสร็จแล้ว
ก็ทรงนมัสการจิตตวิโสธโนบาย ภาวนามัยกุศลเครื่องชำระจิตให้บริสุทธิ์
พอสมัยยามกับบาทหนึ่ง เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งภานุมาศจำรูญฝ่ายอุดรทิศ
พร้อมด้วยอัศจรรย์ หมอกกลุ้มทั่วนครมณฑลโดยบุญญวันตวิสัย
เมื่อเสด็จสวรรคต พระชนมายุนับเรียงปีได้ ๖๕ พรรษา

นับอายุโหราโดยจันทรคติได้ ๖๕ ปีถ้วน
คิดเป็นวันได้ ๒๓,๓๕๘ วัน กับ ๑๖ ชั่วโมงครึ่ง
คิดตามสุริยคติกาลอย่างยุโรปได้ ๖๔ ปี หย่อน ๑๖ วันกับ ๒ ชั่วโมง
เสด็จอยู่ในราชสมบัตินับเรียงปีได้ ๑๘ ปี
นับอายุโหราตามจันทรคติได้ ๑๗ ปี ๕ เดือนถ้วน คิดเป็นวัน ๖,๓๔๘ วัน

13#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-8 16:01 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
การเลื่อนสมณศักดิ์

พ.ศ. ๒๔๑๕ ในรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็น
พระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองที่ พระธรรมวโรดม
แต์ให้คงใช้ราชทินนามเดิมว่า “พระสาสนโสภณ ที่ พระธรรมวโรดม”


นามจารึกในหิรัญบัตร

“พระธรรมวโรดม  บรมญาณอาลย์  สุนทรนายก  ตรีปิฎกคุณาลังการภูสิต
ทักษิณทิศคณฤศร บวรสีงฆารามคามวาสี
สถิตย์ณวัดราชประดิษฐ สถิตมหาสิมาราม พระอารามหลวง
จงเจริญทฤฆชนมายุ พรรณศุขพลปฏิภาณ ในพระพุทธสาสนาเทอญฯ”



พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ ๕
ครั้งทรงผนวชเป็นพระภิกษุ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๖

14#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-8 16:02 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวช

พ.ศ. ๒๔๑๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
เสด็จออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
แต่ครั้งยังทรงดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธ์ เป็นพระราชอุปัธยาจารย์
เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)
ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่พระสาสนโสภณ เป็นพระราชกรรมวาจาจารย์
มีคณปูรกะ (ภิกษุผู้เข้าร่วมทำสังฆกรรมที่ทำให้ครบคณะพอดี) ดังนี้คือ

๑. หม่อมเจ้าพระธรรมุณหิสธาดา วัดบวรนิเวศวิหาร
๒. พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร แต่ครั้งยังทรงเป็นหม่อมเจ้า วัดราชบพิธ
๓. สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ)  แต่ครั้งยังเป็นที่พระพิมลธรรม วัดโสมนัสวิหาร
๔. สมเด็จพระพุฒาจารย์ (ศรี อโนมสิริ) แต่ครั้งยังเป็นที่พระพรหมมุนี วัดปทุมคงคา
๕. พระพรหมเทพาจารย์ วัดเสนาสนาราม พระนครศรีอยุธยา
๖. พระจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จันทรังสี) วัดมกุฏกษัตริยาราม
๗. พระพรหมมุนี (เหมือน สุมิตฺโต) แต่ครั้งยังเป็นที่พระอริยมุนี วัดบรมนิวาส
๘. พระเทพกวี (นิ่ม สุจิณฺโณ) แต่ครั้งยังเป็นที่พระสุคุณคณาภรณ์ วัดเครือวัลย์


พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร วัดราชบพิธ  


สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) วัดโสมนัสวิหาร


เมื่อทรงผนวชแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เสด็จประทับ ณ พระพุทธรัตนสถานมนทิราราม ในพระบรมมหาราชวังชั้นใน
โดยได้เชิญเสด็จสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
พระราชอุปัธยาจารย์ และนิมนต์พระราชาคณะผู้ใหญ่ต่างวัด
เข้าไปอยู่ด้วยพอครบคณะสงฆ์
ทรงผนวชอยู่เป็นเวลา ๑๕ วัน ครั้นทรงลาผนวชแล้ว
ทรงรับพระบรมราชาภิเษกอีกครั้งหนึ่ง

พระเถระผู้ร่วมเป็นคณะสงฆ์ในการพระราชพิธีทรงผนวช
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งนั้น
ล้วนเป็นผู้ได้ทำทัฬหีกรรม (คืออุปสมบทซ้ำ) มาแล้วทั้งนั้น
ยังแต่ เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (สา) พระองค์เดียวเท่านั้น
ที่ขณะนั้นยังไม่ได้ทำทัฬหีกรรม ทั้งจะต้องทรงเป็นผู้ที่ทำหน้าที่สำคัญในการนี้
คือเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ด้วย
15#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-8 16:03 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระพรหมมุนี (เหมือน สุมิตฺโต) วัดบรมนิวาส  


ในครั้งนี้เองที่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ทรงทำทัฬหีกรรม
ซึ่งขณะนั้นทรงมีอายุพรรษา ๒๒ แล้ว (นับแต่ทรงอุปสมบทครั้งหลัง)

ในการทรงทำทัฬหีกรรมของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ นั้น
ไม่พบหลักฐานว่า ทำที่ไหน ใครเป็นพระอุปัชฌาย์
พบแต่เพียงว่า พระจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จันทรังสี) วัดมกุฏกษัตริยาราม
เป็นพระกรรมวาจาจารย์ (๒๖) แต่สันนิษฐานว่าคงจักได้ทำที่แพโบสถ์
ตรงฝั่งวัดราชาธิวาส และวิธีการต่างๆ นั้น ก็คงจะทำนองเดียวกันกับที่
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ตรัสเล่าไว้เมื่อครั้งพระองค์เองทรงทำทัฬหีกรรม (อุปสมบทซ้ำ) ดังนี้


สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส


“ตั้งแต่ครั้งทูลกระหม่อม (หมายถึง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)
ยังทรงผนวช พวกพระธรรมยุตนับถือสีมาน้ำว่าบริสุทธิ์เป็นที่สิ้นสงสัย
ไม่วางใจในวิสุงคามสีมาอันไม่ได้มาในบาลี เป็นแต่พระอรรถกถาจารย์แนะไว้
ในอรรถกถาอนุโลมตามสีมา ครั้งยังไม่มีวัดอยู่ตามลำพัง
จึงใช้สีมาน้ำเป็นที่อุปสมบท
ต่อมาพระรูปใดจะอยู่เป็นหลักฐานในพระศาสนา
พระผู้ใหญ่จึงพาพระรูปนั้นไปอุปสมบทซ้ำอีกในสีมาน้ำ เรียกว่า “ทำทัฬหีกรรม”

สำนักวัดบวรนิเวศวิหารหยุดมานาน พระเถระในสำนักนี้ ก็ได้ทำทัฬหีกรรมโดยมาก
สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) อุปสมบทครั้งหลังกว่า ๒๐ พรรษาแล้ว
จึงได้ทำทัฬหีกรรม ครั้งจะสวดกรรมวาจาอุปสมบทเมื่อล้นเกล้าฯ
(หมายถึง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงผนวช
พระเสด็จพระอุปัชฌายะ หมายถึง
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ตรัสเล่าว่า

พระเถระทั้งหลายผู้เข้าในการทรงผนวชล้วนเป็นผู้ได้ทำทัฬหีกรรมแล้ว
ยังแต่ท่าน หมายถึงเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (สา) องค์เดียว
ทั้งจักเป็นผู้สำคัญในการนั้น จึงต้องทำ...

ครั้งเราบวช ความนับถือพระบวชในสีมาน้ำยังไม่วาย
เราเห็นว่าเราเป็นผู้จักยั่งยืนในพระศาสนาต่อไป...เราควรเป็นผู้เข้าได้ทุกฝ่าย
อันจะให้เข้าได้ ต้องไม่เป็นที่รังเกียจในการอุปสมบทเป็นมูล
ทั้งเราก็อุปสมบทเร็วไปกว่าปกติ เมื่อทำทัฬหีกรรมอุปสมบทซ้ำอีกในสีมาน้ำ
จักสามารถทำประโยชน์ให้สำเร็จได้ดี เราจึงเรียนความปรารภนี้แก่เจ้าคุณอาจารย์
(หมายถึง พระจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จันทรังสี) ขอท่านเป็นธุระจัดให้

จึงตกลงกันว่า เราจักถือเจ้าคุณอาจารย์เป็นอุปัชฌายะใหม่ ในเวลาทำทัฬหีกรรม
เจ้าคุณพรหมมุนีฟันหักสวดจะเป็นเหตุรังเกียจ เจ้าคุณอาจารย์ท่านเลือกเอา
เจ้าคุณพระธรรมไตรโลกาจารย์ (เดช ฐานจาโร) วัดเทพศิรินทราวาส
ครั้งยังเป็นบาเรียนอยู่วัดโสมนัสวิหารเป็นผู้สวดกรรมวาจา
ท่านรับจัดการให้เสร็จ พาตัวไปทำทัฬหีกรรมที่แพโบสถ์
อันจอดอยู่ที่แม่น้ำ ตรงฝั่งวัดราชาธิวาสออกไป...
แรกขอนิสสัยถืออุปัชฌายะใหม่ แล้วทำวิธีอุปสมบททุกประการ
สวดทั้งกรรมวาจามคธและกรรมวาจารามัญ”



พระจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จันทรังสี) วัดมกุฏกษัตริยาราม

16#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-8 16:04 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)


สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณรูปที่ ๒

พ.ศ. ๒๔๒๒ ในรัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
สถาปนาเจ้าพระคุณสมเด็จฯ เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่
“สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายเหนือ
ตำแหน่งที่ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ”

นับเป็นพระมหาเถระรูปที่ ๒ ที่ได้รับพระราชทานสถาปนา
ในราชทินนามที่ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
อันเป็นราชทินนามสำหรับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช
ตั้งแต่ขณะที่ยังไม่เป็นสมเด็จพระสังฆราช


การสังคายนาและพิมพ์พระไตรปิฎกในรัชกาลที่ ๕


พ.ศ. ๒๔๓๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
โปรดเกล้าฯ ให้ทำการสังคายนาพระไตรปิฎก โดยทรงมีพระราชดำริว่า

คัมภีร์พระไตรปิฎก ซึ่งแต่เดิมมาได้คัดลอกต่อๆ กันมา
ด้วยการจารลงในใบลานด้วยอักษรขอมนั้น กว่าจะได้แต่ละคัมภีร์ก็ช้านาน
เป็นเหตุให้คัมภีร์ของพระพุทธศาสนาไม่ค่อยแพร่หลาย
และไม่พอใช้ในการศึกษาเล่าเรียน ทั้งไม่สะดวกในการเก็บรักษาและใช้ดูให้อ่าน
อักษรขอมที่ใช้จารึกนั้นเล่าก็มีผู้อ่านกันได้น้อยลงทุกที

ฉะนั้น หากได้มีการตรวจชำระพระไตรปิฎกให้ครบถ้วนบริบูรณ์
แล้วพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มหนังสือด้วยอักษรไทย
ก็จะเป็นการทำให้พระคัมภีร์แพร่หลาย
และเป็นการสะดวกในการใช้ศึกษาเล่าเรียนมากยิ่งขึ้น

ฉะนั้นจึงได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดการสังคายนาพระไตรปิฎกขึ้น
โดยโปรดให้อาราธนาพระเถรานุเถระ
ประชุมร่วมกันกับราชบัณฑิตทั้งหลายตรวจชำระพระไตรปิฎก
แล้วจัดพิมพ์เป็นเล่มหนังสือขึ้น
ให้สำเร็จเรียบร้อยทันกำหนดการบำเพ็ญพระราชกุศล
สมโภชสิริราชสมบัติในกาลเมื่อบรรจบครบ ๒๕ ปี

ครั้นวันที่ ๗ เดือน ๓ แรม ๑ ค่ำ ปีชวดสัมฤทธิศก (พ.ศ. ๒๔๓๑)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
จึงทรงเชิญเสด็จพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงผนวชได้ดำรงสมณศักดิ์
มี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
ขณะทรงดำรงพระยศกรมพระ เป็นประธาน

และทรงอาราธนาพระราชาคณะผู้ใหญ่
มี เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (สา)
ขณะทรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นประธาน
พร้อมทั้งพระสงฆ์เปรียญ ทั้งในกรุงและหัวเมือง
ประชุมพร้อมกันในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
แล้วเสด็จพระราชดำเนินประทับในพระอุโบสถ

พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ
อาลักษณ์อ่านประกาศพระบรมราชโองการ
อาราธนาพระสงฆ์ให้ตรวจชำระพระไตรปิฎก เป็นการเริ่มการทำสังคายนา
17#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-8 16:05 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

ในการทำสังคายนาครั้งนี้
พระเถรานุเถระได้แบ่งกันทำหน้าที่เป็นกองๆ ดังนี้


สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ขณะทรงดำรงพระยศ
กรมพระ ทรงเป็นอธิบดีในการตรวจแบบฉบับพระไตรปิฎก

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ขณะทรงดำรงพระยศ
กรมหมื่น และสมเด็จพระสังฆราช (สา) ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นรองอธิบดีจัดการทั้งปวง

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
เป็นแม่กองตรวจพระวินัยปิฎก

พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร วัดราชบพิธ
เป็นแม่กองตรวจพระสุตตันตปิฎก

พระพรหมมุนี (เหมือน) วัดบรมนิวาส,
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (แสง)
ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมไตรโลก วัดราชบุรณะ,  
พระธรรมราชานุวัตร (ต่าย) วัดเสนาสนาราม และ
สมเด็จพระวันรัต (ฑิต) ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่พระเทพโมลี วัดมหาธาตุ
เป็นแม่กองตรวจพระสุตตันตปิฎก

พระพิมลธรรม (อ้น) วัดพระเชตุพนฯ และ
สมเด็จพระวันรัต (แดง) ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมวโรดม วัดสุทัศน์
เป็นแม่กองตรวจพระอภิธรรมปิฎก




พระไตรปิฎกที่จัดพิมพ์ขึ้นครั้งนี้มีจำนวน ๑,๐๐๐ จบๆ ละ ๓๙ เล่ม
พระราชทานพระราชทรัพย์ในการจัดพิมพ์ประมาณ ๒,๐๐๐ ชั่ง (๒๗)
นับเป็นครั้งแรกที่ได้มีการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นเล่มหนังสือ
และเป็นครั้งแรกที่ได้มีการจดจารึกพระไตรปิฎกด้วยอักษรไทยด้วย
เพราะก่อนแต่นี้ขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นการจดจารึกพระธรรมเป็นภาษาบาลีหรือภาษาไทย
ล้วนนิยมจดจารึกด้วยอักษรขอมทั้งนั้น

การจัดพิมพ์เสร็จเรียบร้อยในปี พ.ศ. ๒๔๓๖ ได้ทันฉลองในการทรงบำเพ็ญ
พระราชกุศลสมโภชสิริราชสมบัติบรรจบครบ ๒๕ ปี ตามพระราชประสงค์

พระไตรปิฎกที่จัดพิมพ์ขึ้นครั้งนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
พระราชทานไปไว้ตามพระอารามหลวงวัดละจบ
นอกนั้นก็พระราชทานแก่พระสงฆ์และคฤหัสถ์ที่มีหน้าที่ในการตรวจชำระและจัดพิมพ์
ส่วนที่เหลือก็พระราชทานพระบรมราชานุญาต
ให้จำหน่ายแก่ผู้ที่ประสงค์จะสร้างถวายวัด หรือสถานศึกษา ในราคาพอสมควร
ปรากฏว่าพระไตรปิฎกที่จัดพิมพ์ขึ้นครั้งนี้
หมดฉบับสำหรับจำหน่ายภายในเวลาเพียง ๒ ปี

เมื่อข่าวการพิมพ์พระไตรปิฎกครั้งนี้แพร่หลายไป
ปรากฏว่ารัฐบาลและสถานศึกษานานาประเทศ พากันตื่นเต้นสนใจ
และขอพระราชทานมาเป็นจำนวนมาก ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
พระราชทานให้ตามประสงค์ เป็นเหตุให้พระไตรปิฎกชุดนี้แพร่หลาย
เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกตลอดมาจนบัดนี้
18#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-8 16:05 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕


โปรดเกล้าฯ สถาปนาเพิ่มอิสริยยศ

ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๓๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาเพิ่มอิสริยยศเจ้าพระคุณสมเด็จฯ
ให้พิเศษกว่าสมเด็จพระราชาคณะแต่ก่อนๆ มา

คือทรงสถาปนาเลื่อนขึ้นเป็น สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
มีนิตยภัตรเดือนละ ๑๑ ตำลึง มีถานานุกรมได้ ๑๒ รูป
มากกว่าสมเด็จพระราชาคณะตำแหน่งอื่นๆ
(ซึ่งมีนิตยภัตร ๖ ตำลึงบ้าง ๗ ตำลึงบ้าง ๑๐ ตำลึงบ้าง
และมีถานานุกรมได้ ๘ รูปบ้าง ๑๐ รูปบ้าง)

เพื่อเป็นการเฉลิมพระราชศรัทธาปสาทะที่ได้ทรงมีในเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ
ที่ทรงยกย่องเป็น “อรรคมหาคารวสถาน”
โดยฐานที่ได้ทรงเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ในคราวทรงผนวช
และเรียบเรียงหนังสือธรรมวินัยให้ได้ทรงศึกษาเป็นอันมาก

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ นับเป็นพระมหาเถระรูปที่ ๒
ได้รับพระราชทานสถาปนาในราชทินนามที่ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
อันเป็นราชทินนามสำหรับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช
ตั้งแต่ขณะที่ยังไม่เป็นสมเด็จพระสังฆราช
นับได้ว่าเป็นการพระราชทานเกียรติยศอย่างสูงเป็นกรณีพิเศษ

ต่อมา พ.ศ. ๒๔๓๕ สมเด็จฯ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
องค์สกลมหาสังฆปริณายก สิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคชรา
พระชนมายุ ๘๓ พรรษา แต่เป็นคราวที่ไม่สะดวกในทางราชการ
พระศพสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ พระองค์นั้น
ต้องประดิษฐานไว้ ณ พระตำหนักเดิมอันเป็นที่ประทับนานถึง ๘ ปี กับ ๓ เดือน
จึงได้ถวายพระเพลิงพระศพ ณ พระเมรุท้องสนามหลวง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓
19#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-8 16:06 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระรูปหล่อสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)
ซึ่งหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ประดับด้วยกระเบื้องหินอ่อน ในท่านั่งแสดงพระธรรมเทศนา
ประดิษฐานด้านหน้าปาสาณเจดีย์ วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม



สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ครั้นเมื่อถึงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก ๑๑๒ (พุทธศักราช ๒๔๓๖) นี้
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ขึ้นเป็น
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก  
นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
อันเป็นปีที่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงมีพระชนมายุได้ ๘๐  พรรษาพอดี

การสถาปนาครั้งนี้เรียกว่า  “สถาปนาเพิ่มอิสริยยศ พระราชทานมุทธาภิเศก
เลื่อนตำแหน่งสมณถานันดรศักดิ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช
มีนามตามจารึกในสุพรรณบัตรตามเดิม”
คือ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ ฯลฯ มีสำเนาประกาศทรงสถาปนาดังนี้


คำประกาศ

“ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาล เป็นอดีตภาคล่วงแล้ว ๒๔๓๖ พรรษา
ปัตยุบันกาล จันทรคตินิยม อุรคสังวัจฉร กรรติกมาศ กาฬปักษ์ ฉัฏฐมีดิถี พุฒวาร
สุริยคติกาล รัตนโกสินทรศก ๑๑๒ พฤศจิกายนมาศ เอกุณติงสติม
มาสาหคุณประเภท ปริเฉทกาลกำหนด

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ ฯลฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระราชดำริห์ว่า พระสงฆ์ซึ่งดำรงสมณคุณ
สมควรจะเลื่อนอิศริยยศในสมณศักดิ์มีอยู่หลายองค์
กาลบัดนี้ก็เป็นเวลาใกล้การมหามงคลราชพิธีรัชฎาภิเศก
ควรจะสถาปนาอิศริยยศพระสงฆ์ที่ควรจะสถาปนาขึ้นไว้ให้บริบูรณ์ตามตำแหน่ง
เมื่อพระสงฆ์ซึ่งทรงสมณคุณได้รับอิศริยศักดิโดยสมควรแก่คุณานุรูปเช่นนั้นแล้ว
แลมาสู่สงฆสมาคม ณ พระราชพิธีสถาน ก็จะเป็นการมงคลอันอุดมยิ่ง
ทั้งจะเป็นการเพิ่มภูลพระเกียรติยศพระเกียรติคุณให้ไพโรจน์ชัชวาลย์ด้วย

จึงทรงพระราชดำริห์ว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายเหนือ
ประกอบด้วยคุณธรรมอนันตโกศล วิมลปฏิภาณ ญาณปรีชา
รอบรู้พระปริยัติธรรม เป็นเอกอรรคบุรุษ แลดำเนินในสัมมาปฏิบัติดำรงคุณธรรม
อันได้แจ้งอยู่ในประกาศเลื่อนตำแหน่งแต่ก่อนโดยพิศดาร
จึงได้ทรงสถาปนาให้มีอิศริยศักดิพิเศษยิ่งกว่าสมเด็จพระราชาคณะ
ซึ่งเป็นเจ้าคณะใหญ่โดยสามัญแล้ว

บัดนี้พระมหาเถระซึ่งมีคุณแลไวยแลอิศริยศักดิเปนชั้นเดียวกันก็ล่วงลับไปสิ้นแล้ว
ยังเหลืออยู่แต่พระองค์เดียวเป็นที่เจริญพระราชศรัทธา
แลเปนอรรคมหาคารวะสถานยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน
ทั้งเจริญด้วยชนมายุกาลรัตตัญญูภาวคุณเป็นพระมหาเถระในสงฆ์
สมควรที่จะดำรงสมณถานันดรศักดิ์ ที่สมเด็จพระสังฆราช
ให้ปรากฏเกียรติยศเกียรติคุณสืบไปสิ้นกาลนาน
แลจะได้เป็นที่สักการบูชาแห่งพุทธสาสนิกบริสัช
ทั้งคฤหัสถ์แลบรรพชิตทั้งปวงทั่วไป

20#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-8 16:07 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
จึงมีพระบรมราชโองการมาณพระบัณฑูรสุรสิงหนาท
ดำรัสสั่งให้สถาปนาเพิ่มอิสริยยศ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
พระราชทานมุทธาภิเศก เลื่อนตำแหน่งสมณถานันดรศักดิ์ขึ้นเปน
สมเด็จพระสังฆราช มีนามตามจารึกในสุพรรณบัตรตามเดิมว่า

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สุขุมธรรมวิธานธำรง มหาสังฆปรินายก
ตรีปิฎกกลากุสโลภาศ ปรมินทรมหาราชหิโตปสัมปทาจารย์
ปุสสเทวาภิธานสังฆวิสุต ปาวจนุตมสาสนโสภณ วิมลศีลสมาจารวัตร
พุทธสาสนบริสัชคารวะสถาน วิจิตรปฏิภาณพัฒนคุณ อดุลยคัมภีรญาณสุนทร
มหาอุดรคณิศร บวรสังฆาราม คามวาสีอรัญวาสี
สถิตย์ ณ วัดราชประดิษฐ์สถิตยมหาสีมารามวรวิหาร
พระอารามหลวง เป็นประธานในสมณะมณฑลทั่วพระราชอาณาเขตร
แลดำรงที่เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายเหนือด้วย

พระราชทานนิตยภัตรเพิ่มขึ้นเปนราคาเดือนละ ๑๒ ตำลึง
มีอิศริยยศถานานุศักดิ์ ควรตั้งถานานุกรมได้ ๑๖ รูป คือ

พระครูปลัดสัมพิพัฒนศีลาจารย์ ญาณวิมล สกลคณิศร อุดรสังฆนายก ปิฎกธรรมรักขิต
สถิตย์ ณ วัดราชประดิษฐ์สถิตยมหาสีมารามวรวิหาร พระอารามหลวง

พระครูปลัดกลาง มีนิตยภัตรราคาเดือนละ ๓ ตำลึง ๑

พระครูปลัดอวาจีคณานุสิชฌน์ สังฆอิศริยาลังการ วิจารณกิจโกศล
วิมลสังฆนายก ปิฎกธรรมรักขิต สถิตย์ ณ วัดราชประดิษฐ์สถิตยมหาสีมารามวรวิหาร
พระอารามหลวง พระครูปลัดขวา มีนิตยภัตรราคาเดือนละ ๓ ตำลึง ๑

พระครูปลัดอุทิจยานุสาสน์ วิจารโณภาศภาคยคุณ สุนทรสังฆานุคุติ
วิสุทธิสังฆนายก ปิฎกธรรมรักขิต สถิตย์ ณ วัดราชประดิษฐ์สถิตยมหาสีมารามวรวิหาร
พระอารามหลวง

พระครูปลัดซ้าย มีนิตยภัตรราคาเดือนละ ๓ ตำลึง ๑
พระครูธรรมกถาสุนทร มีนิตยภัตรราคาเดือนละ ๒ ตำลึง ๑
พระครูวินัยกรณ์โสภณ มีนิตยภัตรราคาเดือนละ ๒ ตำลึง ๑
พระครูพรหมวิหาร มีนิตยภัตรราคาเดือนละ ๑ ตำลึง ๒ บาท ๑
พระครูญาณวิสุทธิ มีนิตยภัตรราคาเดือนละ ๑ ตำลึง ๒ บาท ๑
พระครูวินัยธร ๑
พระครูวินัยธรรม ๑
พระครูเมธังกร ๑
พระครูวรวงศา ๑
พระครูธรรมราต ๑
พระครูธรรมรูจี ๑
พระครูสังฆวิจารณ์ ๑
พระครูสมุห์ ๑
พระครูใบฎีกา ๑

รวม ๑๖ รูป เป็นที่เฉลิมพระราชศรัทธาภิยโยภาพปรากฏสิ้นกาลนาน
ขออาราธนาให้รับธุระพระพุทธสาสนา
เปนภาระสั่งสอนแลระงับอธิกรณ์พระสงฆ์สามเณรในคณะแลคณานุคณะ
ในสยามรัฏฐิกสงฆมณฑลทั่วไป ให้ทวียิ่งขึ้นตามสมควรแก่กำลังแลอิศริยยศ
ซึ่งพระราชทานนี้”
*

ในการทรงสถาปนาเจ้าพระคุณสมเด็จฯ เป็นสมเด็จพระสังฆราชครั้งนี้
ไม่ได้พระราชทานพระสุพรรณบัตรใหม่
เป็นแต่โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานเชิญพระสุพรรณบัตรครั้งเป็น
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
มาตั้งสมโภชที่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
พระราชทานแต่ใบกำกับพระสุพรรณบัตรใหม่เท่านั้น

ในคราวเดียวกันนี้ ได้พระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ขณะทรงดำรงพระยศกรมหมื่น เป็นเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต
และพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร
เป็นเจ้าคณะรองฝ่ายธรรมยุตติกนิกายด้วย
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้