ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

พระองค์ที่ ๗ : สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส

[คัดลอกลิงก์]
11#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-6 12:09 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระอุโบสถวัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ


นอกจาก สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส จะทรงเป็นที่เคารพนับถือของ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังมีเรื่องที่แสดงให้เห็นว่าทั้งสองพระองค์
ทรงเป็นที่สนิทสนมกันมากด้วย ดังที่เล่ากันมาว่า
ในปลายรัชกาลที่ ๓ ทั้งสองพระองค์ทรงมีพระดำริร่วมกันว่า
น่าจักได้สร้างวัดส่วนพระองค์ไว้นอกพระนคร
สำหรับเป็นที่เสด็จไปประทับในบางโอกาสหรือในคราวจำเป็นพระองค์ละวัด

สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส จึงได้ทรงสร้างวัดไว้ในคลองมอญวัดหนึ่ง
ซึ่งเรียกกันในครั้งนั้นว่า วัดใหม่วาสุกรี
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงสร้างวัดขึ้นวัดหนึ่ง
เรียกกันในขณะนั้นว่า วัดนอก
มาภายหลังจึงได้พระราชทานนามว่า วัดบรมนิวาส

ครั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เสด็จสวรรคต
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ ๔
สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส  จึงได้ถวายวัดใหม่วาสุกรี เป็นพระอารามหลวง  
และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
ได้พระราชทานนามใหม่ว่า วัดชิโนรสาราม

* หมายเหตุ  : อักขรวิธีตามต้นฉบับ
12#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-6 12:09 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


พระอัจฉริยภาพในทางพระศาสนาและวรรณกรรม

สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงมีพระอัจฉริยภาพในหลายด้าน
สาเหตุหนึ่งคงเนื่องมาจาก ทรงได้รับการศึกษาเล่าเรียนมาเป็นอย่างดี
จากพระอาจารย์ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นปราชญ์แห่งยุค ทั้งทางคดีโลกและคดีธรรม
คือ สมเด็จพระพนรัต วัดพระเชตุพน ประกอบกับพระปรีชาสามารถส่วนพระองค์
จึงทำให้พระองค์ทรงเป็นที่ปรากฏโดดเด่น ทั้งในด้านการพระศาสนา
และด้านวิทยาการของบ้านเมืองมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

กล่าวเฉพาะในด้านการพระศาสนา แม้ว่าในทางการปกครองจะไม่มีเหตุการณ์พิเศษ
ให้กล่าวขวัญถึงพระองค์มากนัก เพราะทรงรับภาระธุระทางการปกครอง
ว่ากล่าวเฉพาะวัดต่างๆ ในกรุงเทพฯ มาจนเกือบตลอดพระชนม์ชีพ
ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระมหาสังฆปริณายก ที่สมเด็จพระสังฆราช
อยู่เพียงปีเศษในช่วงสุดท้ายแห่งพระชนมายุเท่านั้น

แต่การที่ทรงมีพระภาระกิจทางการปกครองไม่มากนั้น กลับเป็นผลดียิ่งนัก
เพราะเป็นโอกาสให้พระองค์ได้ทรงศึกษาพิเคราะห์พระธรรมวินัย
และใช้พระปรีชาสามารถสร้างสรรค์ผลงานอันทรงคุณค่าแก่การพระศาสนา
และชาติบ้านเมืองเป็นจำนวนมาก กล่าวคือ ในทางพระสัทธรรม

ปรากฏว่าทรงพระปรีชาเชี่ยวชาญ ทรงเป็นที่ปรึกษา
และถวายวิสัชนาพระราชปุจฉาต่างๆ ในรัชกาลที่ ๓ มาโดยตลอด
ในทางรจนา นับว่าทรงพระปรีชาเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ
ได้ทรงพระนิพนธ์เรื่องพระปฐมสมโพธิกถา ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก
หรือร่ายยาวมหาชาติ เป็นต้น ที่ถือกันว่าเป็นวรรณกรรมชิ้นเอก
ทางพระพุทธศาสนา ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์

13#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-6 12:10 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้



ในทางพุทธศิลป์ ได้ทรงคิดแบบพระพุทธรูปปางต่างๆ
ถวายพระบาทสมเด็จนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระราชประสงค์จะทรงบำเพ็ญพระราชกุศล
ให้เหมือนอย่างโบราณกษัตริย์ครั้งกรุงศรีอยุธยาได้เคยทรงบำเพ็ญ
โดยทรงคิดเลือกพุทธอิริยาบถต่างๆ จากเรื่องพุทธประวัติ
เป็นจำนวน ๓๗ ปาง ได้เป็นต้นแบบพระปางสมัยรัตนโกสินทร์สืบมา ดังนี้

๑.        ปางพระบำเพ็ญทุกรกิริยา
๒.        ปางพระรับมธุปายาส
๓.        ปางพระลอยถาด
๔.        ปางพระรับกำหญ้าคา
๕.        ปางพระมารวิชัย
๖.        ปางพระสมาธิ
๗.        ปางพระถวายเนตร
๘.        ปางพระจงกรมแก้ว
๙.        ปางพระเจ้าประสานบาตร
๑๐.        ปางพระฉันสมอ
๑๑.        ปางพระลีลา
๑๒.        ปางพระเอหิภิกขุ
๑๓.        ปางพระปลงกรรมฐาน
๑๔.        ปางพระห้ามสมุทร
๑๕.        ปางพระอุ้มบาตร
๑๖.        ปางพระภัตตกิจ
๑๗.        ปางพระเกษธาตุ
๑๘.        ปางพระลงเรือขนาน
๑๙.        ปางพระห้ามญาติ
๒๐.        ปางพระป่าเลไลย
๒๑.        ปางพระห้ามพระแก่นจันทร์
๒๒.        ปางพระนาคาวโลกย์
๒๓.        ปางพระปลงพระชนมายุสังขาร
๒๔.        ปางพระรับอุทกัง
๒๕.        ปางพระสรงน้ำ
๒๖.        ปางพระยืน
๒๗.        ปางพระคัพธานุราช
๒๘.        ปางพระยืน
๒๙.        ปางพระสมาธิเพชร
๓๐.        ปางพระสำแดงชราธรรม์
๓๑.        ปางพระเหยียบรอยพระพุทธบาท
๓๒.        ปางพระสำแดงโอฬาริกนิมิต
๓๓.        ปางพระทรงรับผลมะม่วง
๓๔.        ปางพระขับพระวักกลิ
๓๕.        ปางพระไสยาสน์
๓๖.        ปางพระฉันมธุปายาส
๓๗.        ปางพระห้ามมาร

14#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-6 12:10 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
รัตนกวีศรีรัตนโกสินทร์

สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงศึกษาในสำนักสมเด็จพระพนรัตน วัดพระเชตุพน
ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางภาษาต่างๆ โดยเฉพาะภาษาบาลี และพระปริยัติธรรมอย่างยิ่ง
อีกทั้งตำราพิชัยสงครามและคัมภีร์ต่างๆ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา
ตกมาอยู่ที่วัดพระเชตุพนฯ พระองค์จึงทรงรอบรู้ทางด้านภาษาอย่างดีเยี่ยม
ทรงแตกฉานทั้งทางคดีโลกและคดีธรรม ดังปรากฏในงานพระนิพนธ์ของพระองค์
หลากรูปแบบและหลายรส ความที่ทรงรจนาอย่างแสดงถึงพระอัจฉริยภาพ
สมกับที่ทรงได้รับยกย่องเป็นรัตนกวีในสมัยรัตนโกสินทร์
งานพระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ สามารถจำแนกเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้

๑. งานพระนิพนธ์ร้อยกรอง

๑.๑ ประเภทโคลง มี ๕ เรื่อง
๑.๑.๒ โคลงกลบท
๑.๑.๒ โคลงจารึกศาลาราย และโคลงจารึกหน้าศาลาพระมหาเจดีย์
๑.๑.๓ โคลงภาพคนต่างภาษา
๑.๑.๔ โคลงภาพฤาษีดัดตน
๑.๑.๕ โคลงดั้นเรื่องปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน

๑.๒ ประเภทร่าย มี ๒ เรื่อง
๑.๒.๑ ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก
๑.๒.๒ ร่ายทำขวัญนาคหลวง

๑.๓ ประเภทลิลิต มี ๒ เรื่อง
๑.๓.๑ ลิลิตตะเลงพ่าย
๑.๓.๒ ลิลิตกระบวนแห่พระกฐินพยุหยาตราทางชลมารคและสถลมารค
      
๑.๔ ประเภทฉันท์ มี ๘ เรื่อง
      ๑.๔.๑ สรรพสิทธิ์คำฉันท์
       ๑.๔.๒ กฤษณาสอนน้องคำฉันท์
       ๑.๔.๓ ฉันท์กล่อมช้างพัง และกาพย์ขับไม้กล่อมช้างพัง
       ๑.๔.๔ ตำราฉันท์มาตราพฤติ
       ๑.๔.๕ ตำราฉันท์วรรณพฤติ
       ๑.๔.๖ สมุทรโฆษคำฉันท์ตอนปลาย
       ๑.๔.๗ จักรทีปนีตำราโหราศาสตร์
       ๑.๔.๘ ฉันท์สังเวยกลองวินิจฉัยเภรี

๑.๕ ประเภทกลอน มี ๑ เรื่อง คือ กลอนเพลงยาวเจ้าพระ

15#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-6 12:10 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๒. งานพระนิพนธ์ร้อยแก้ว

๒.๑ ปฐมสมโพธิกถา ฉบับภาษาบาลี
มีต้นฉบับอยู่ในหอสมุดแห่งชาติ เป็นพระคัมภีร์ใบลานจำนวน ๓๐ ผูก
ผูกละประมาณ ๒๔ หน้า เมื่อปริวรรตเป็นอักษรไทยและแปลออกมาแล้ว
จะเป็นหนังสือหนาประมาณ ๒,๑๖๐ หน้า หรือประมาณ ๒๗๐ ยก
ซึ่งเป็นหนังสือพระพุทธประวัติฉบับที่มีขนาดหนาที่สุดในโลก
๒.๒ คำประกาศบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ ๔
๒.๓ พระราชพงศาวดารสังเขป และพระราชพงศาวดารย่อ
๒.๔ คำฤษฏี
๒.๕ พระธรรมเทศนาพระราชพงศาวดารสังเขป



พระโกศทรงฝรั่ง บรรจุพระอัฐิของสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส  
ประดิษฐาน ณ พระตำหนักวาสุกรี วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม


16#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-6 12:11 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พระอวสานกาล

เมื่อ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส  
ทรงได้รับมหาสมณุตมาภิเษกเป็นที่สมเด็จพระสังฆราชนั้น
ทรงมีพระชนมายุ ๖๑ พรรษา ทรงประชวรพระโรคชรา
พระสุขภาพจึงไม่สู้แข็งแรงนัก ทรงประชวรหนักคราวหนึ่ง

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ
ให้มีพิธีสเดาะพระเคราะห์ตามพิธีไสยศาสตร์ถวาย
ทรงเจริญพระชนมายุอยู่ในรัชกาลที่ ๔  เพียง ๒ ปี ก็สิ้นพระชนม์
เมื่อวันศุกร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๙ ค่ำ ปีฉลู เบญจศก จุลศักราช ๑๒๑๕
เวลาบ่าย ๓ โมง ตรงกับวันที่ ๙ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๓๙๖
สิริรวมพระชนมายุได้ ๖๓ พรรษา กับ ๔ วัน

ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช  เป็นเวลา ๑ ปี ๔ เดือน
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ ๔
พระราชทานพระโกศทองใหญ่ ทรงพระศพเป็นพระเกียรติยศยิ่ง

ครั้นปีขาลเบญจศก จุลศักราช ๑๒๑๖ (พุทธศักราช ๒๓๙๗)
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ
ให้ทำเมรุผ้าขาวที่ท้องสนามหลวง แล้วเชิญพระโกศพระศพ
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
ตั้งกระบวนแห่แต่วัดพระเชตุพนไปเข้าพระเมรุท้องสนามหลวง
มีการมหรสพ ๓ วัน ๓ คืน ครั้นเดือน ๕ ขึ้น ๑๑ ค่ำ
ตรงกับวันเสาร์ที่ ๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๓๙๗

ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เสด็จพระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุท้องสนามหลวงแล้ว
นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้มีตำแหน่งพระครูฐานานุกรม ประจำสำหรับรักษาพระอัฐิ

ถึงเวลาเข้าพรรษาก็เสด็จพระราชดำเนินไปถวายพุ่มบูชาพระอัฐิทุกปี
และถึงวันเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินวัดพระเชตุพน ก็โปรดเกล้าฯ
ให้อัญเชิญพระอัฐิไปประดิษฐานในพระอุโบสถ ทรงสักการบูชาแล้วทอดผ้าไตร
ให้พระฐานานุกรมสดับปกรณ์พระอัฐิเป็นประเพณีตลอดมา
ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ จนถึงรัชกาลปัจจุบัน

หลังจาก สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สิ้นพระชนม์แล้ว
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้โปรดสถาปนาพระเถระรูปใด
เป็นสมเด็จพระสังฆราชอีกจนตลอดรัชกาล
ในรัชกาลที่ ๔ จึงมีสมเด็จพระสังฆราชเพียงพระองค์เดียว

คือ สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สิ้นพระชนม์แล้ว
ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชก็ว่างอยู่ตลอดจนรัชกาลที่ ๔ เป็นเวลา ๑๕ ปี
เหตุที่ไม่ทรงสถาปนาพระเถระรูปใดในตำแหน่งที่สมเด็จพระสังฆราชนั้น
คงเป็นเพราะไม่มีพระเถระรูปใดอยู่ในฐานะที่จะทรงสถาปนา
ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น

17#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-6 12:11 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔


อาจมีผู้สงสัยว่า การที่ว่างสมเด็จพระสังฆราช
หรือไม่มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นเวลานานนั้น

การปกครองคณะสงฆ์จะดำเนินการกันอย่างไร
จึงขออธิบายไว้ตรงนี้สั้นๆ ว่า แต่ครั้งโบราณกาลมา  
องค์พระมหากษัตริย์ทรงถือเป็นพระราชภาระในการปกครองดูแลคณะสงฆ์
โดยทรงโปรดฯ ให้เจ้านายผู้ใหญ่หรือขุนนางผู้ใหญ่ในตำแหน่งเจ้ากรมสังฆการี
(บางยุคเรียกว่ากรมสังฆการีธรรมการ ซึ่งภายหลังเป็นกระทรวงธรรมการ)
เป็นผู้กำกับดูแลต่างพระเนตรพระกรรณ เมื่อมีกิจอันใดเกิดขึ้นในคณะสงฆ์

เจ้ากรมสังฆการีก็จะเป็นผู้รับสั่งการไปทางเจ้าคณะต่างๆ เพื่อดำเนินการต่อไป
สมเด็จพระสังฆราชมิได้ทรงบัญชาการคณะสงฆ์โดยตรง
ด้วยพระองค์เองทรงดำรงอยู่ในฐานะปูชนียบุคคลของปวงพุทธบริษัทเท่านั้น
การปกครองคณะสงฆ์ได้ดำเนินมาในลักษณะนี้
จนกระทั่งถึงรัชกาลที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้มีการเปลี่ยนแปลง

สำหรับคณะกลางซึ่งสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงเป็นเจ้าคณะอยู่เดิมนั้น
แม้ สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สิ้นพระชนม์แล้ว
ก็ยังโปรดเกล้าฯ ให้ขึ้นอยู่ใน พระอัฐิสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
มีถานานุกรมพระอัฐิบังคับบัญชาว่ากล่าวตลอดมาจนถึงรัชกาลที่ ๕

18#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-6 12:12 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
(พระองค์เจ้าวาสุกรี สุวณฺณรํสี)  



การสถาปนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า

ครั้นถึงรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า
ตำแหน่ง พระมหาสังฆปริณายก ประธานาธิบดีแห่ง สังฆมณฑล ซึ่งมีสมณศักดิ์ว่า
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณนั้นมีนามอย่างสังเขปว่า “สมเด็จพระสังฆราช”
เป็นประเพณีสืบมา ส่วนพระบรมราชวงศ์ผู้ได้รับมหาสมณุตมาภิเษก
ดำรงสมณศักดิ์ในตำแหน่งพระสังฆปริณายกหาได้เรียกว่า สมเด็จพระสังฆราชไม่
ย่อมเรียกพระนามไปตามพระอิสริยยศแห่งพระบรมราชวงศ์
ไม่ปรากฏพระเกียรติยศในทางสมณศักดิ์

จึงได้ทรงพระราชดำริพระนามสำหรับเรียกพระบรมราชวงศ์ผู้ดำรงสมณศักดิ์
ในตำแหน่ง สมเด็จพระสังฆราช ขึ้นใหม่ว่า
“สมเด็จพระมหาสมณเจ้า” และได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเปลี่ยน
คำนำพระนาม สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
สมเด็จพระมหาสมณะ ซึ่งทรงดำรงสมณศักดิ์ในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช
อยู่ในขณะนั้น เป็น “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส”
เป็นพระองค์แรก พระนามว่า “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า”

จึงได้เกิดมีขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยนี้
และพร้อมกันนี้ ก็ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเปลี่ยนคำนำพระนาม
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
ซึ่งทรงดำรงสมณศักดิ์ในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชในอดีต
เป็น “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า” เช่นเดียวกันด้วย จึงเรียกกันว่า
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส และ
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ สืบมาแต่บัดนั้น

19#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-6 12:13 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖


ประกาศสถาปนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า

มีพระบรมราชโองการ ในพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสิรินทร
มหาวชิราวุธพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ประกาศใทราบโดยทั่วกัน
ด้วยทรงพระราชดำริว่า พระมหาสังฆปรินายก
ปธานาธิบดีแห่งสงฆมณฑลทั่วราชอาณาจักร
ซึ่งมีสมณศักดิ์ว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณนั้น ได้มีนามอย่างสังเขปว่า
สมเด็จพระสังฆราชเป็นประเพณีสืบมา

แต่ส่วนพระบรมราชวงศ์ผู้ได้รับมหาสมณุตมาภิเษกดำรงตำแหน่งสมณศักดิ์เช่นนี้
หาได้เรียกว่า สมเด็จพระสังฆราชไม่
ย่อมเรียกพระนามไปตามพระอิสริยยศแห่งพระบรมราชวงศ์
ไม่ปรากฏพระเกียรติยศในส่วนทรงดำรงสมณศักดิ์นั้นเลย

จึงทรงพระราชดำริว่า สมด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
พระอุปัธยาจารย์ ได้ทรงรับพระมหาสมณุตาภิเษกเป็น
มหาสังฆปริยนายกปธานาธิบดีสงฆ์ มาจนกาลบัดนี้ถึง ๑๐ พรรษาล่วงแล้ว
ทรงมีคุณูปการในทางพระศาสนกิจยิ่งนัก
พระองค์มีพระชนมายุเจริญยิ่งล่วง ๖๐ พรรษา
ประจวบอภิลักขิตสมัยครบรอบวันประสูติ
ทรงบำเพ็ญพระกุศลเฉลิมพระชันษา

สมควรจะสถาปนาพระนามในส่วนสมณศักดิ์
ให้ปรากฏพระเกียรติยศยิ่งขึ้น จึงควรพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้สถาปนาเปลี่ยนคำนำพระนามเป็น
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
(มีสร้อยพระนามคงตามเดิม) เพื่อเฉลิมพระเกียรติยศสืบไปชั่วกาลนาน

อนึ่ง เมื่อได้ทรงสถาปนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์ปัจจุบันฉะนี้แล้ว
จึงทรงพระราชดำริถึง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
กับ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
ผู้ได้ทรงรับมหาสมณุตมาภิเษกเป็นมหาสังฆปริณายก
ประธานาธิบดีสงฆ์มาแต่อดีตกาล ก็มีคุณูปการในทางพุทธศาสนากิจสมัย
นั้นมาเป็นอย่างยิ่ง สมควรจะสถาปนาพระสมณศักดิ์ขึ้นไว้เช่นเดียวกัน

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเปลี่ยนคำนำพระนาม
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอทั้งสองพระองค์นั้นเป็น
“สมเด็จพระมหาสมณเจ้า” ตั้งแต่บัดนี้สืบไปด้วย
พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศไว้ ณ วันที่ ๑๒ เมษายน
พระพุทธศักราช ๒๔๖๔ เป็นปีที่ ๑๒ ในรัชกาลปัจจุบัน
(หมายเหตุ : รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖)
20#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-6 12:14 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระรูปหล่อของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
ประดิษฐาน ณ พระตำหนักวาสุกรี วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม



พระเกียรติคุณประกาศ

ในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ
(UNESCO) ได้มีมติรับข้อเสนอของคณะผู้แทนไทยในการประชุมสมัยสามัญ
ครั้งที่ ๒๕ ที่สำนักงานใหญ่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ประกาศยกย่อง
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมระดับโลก ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๓๓
นับเป็นพระสงฆ์รูปแรกที่ได้รับการถวายเกียรตินี้

องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO)
ได้ประกาศรายชื่อบุคคลสำคัญผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมระดับโลก
ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๓๓-๒๕๓๔ และถวายพระเกียรติคุณ
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ในฐานะปูชนียบุคคลสำคัญ
ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมระดับโลก ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๓๓

ตามมติที่ประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ ๒๕ ณ สำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโก
กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ ๑๗ ตุลาคม-๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๓๒
และชักชวนให้ประเทศสมาชิกร่วมจัดกิจกรรมฉลอง
เนื่องในวันคล้ายวันประสูติครบ ๒๐๐ ปี  เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๓

พระมหาสมณเจ้าฯ........................จอมกวี โลกเฮย
ยูเนสโกสดุดี.................................ปราชญ์เจ้า
ผู้นำศาสนจักรศรี...........................สังฆราช
พระอัจฉริยะประจักษ์กล้า................ประดุจแก้วมณี

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้