ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 4768
ตอบกลับ: 12
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

หลวงปู่บุญหลาย อัคคจิตโต แห่งวัดโนนทรายทอง บ้านนาเยีย

[คัดลอกลิงก์]
หลวงปู่บุญหลาย อัคคจิตโต แห่งวัดโนนทรายทอง บ้านนาเยีย




2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-3 17:49 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ชีวิตเมื่อเยาว์วัย
หลวงปู่บุญหลาย หรือ เด็กชายบุญหลาย ไชยมาตย์ ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2483 ตรงกับวันอาทิตย์ขื้น 15 ค่ำ เดือน 12 ปีมะเส็ง คุณแม่เปี่ยง เคยเล่าให้ฟังว่า ก่อนที่จะตั้งท้องของทารกคนนี้ ได้ฝันว่ามีคนนำพระพุทธรูปมามอบให้ แม่เปี่ยงก็น้อมรับด้วยความดีใจ นั่นก็เป็นนิมิตรหมายที่ดีเป็นนิมิตรอย่างหนึ่ง เพื่อจะบอกให้รู้ว่าจะมีผู้มีวาสนาบารมีมาเกิดด้วยนับว่าเป็นบุญของโยมแม่ท่านอย่างมาก เมื่อตอนเป็นเด็กอายุประมาณ 2-4 ขวบ เป็นผู้มีร่างกายไม่สู้แข็งแรงนักเจ็บป่วยออดๆ แอดๆ เลี้ยงยาก สมัยก่อนเรียกกันว่า เป็น ซางพุงโร และเป็นฝีที่ก้น ใครพบเห็นก็อดสงสารไม่ได้ แต่เนื่องจากเป็นผู่ที่มีนิสัยดี ไม่ขี้อ้อน ไม่งอแงเหมือนเด็กทั่วๆไป จึงเป็นที่รักใคร่ และสงสารของบรรดาพ่อแม่ พี่น้อง
ชีวิตในวัยเรียน
เมื่อออกจากโรงเรียนก็ไม่ได้ศึกษาต่อ แต่เนื่องจากว่าท่านเป็นผู้มีลักษณะนิสัยเรียบร้อย อยู่อย่างเรียบง่าย ไม่โลดโผน ไม่ชอบการเที่ยวแตร่ ไม่ดื่ม ไม่ยุ่งเกี่ยวกับผู้หญิงและอบายมุขใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อออกจากโรงเรียนมา 2-3 ปี คิดอยากจะบวช จึงขออนุญาตพ่อแม่ ซึ่งท่านก็ยินดีให้บวชเณร ก็จำพรรษาที่วัดบ้านนาเยีย โดยมีอาจารย์ พรขันติโก เป็นเจ้าอาวาสและเป็นพระอาจารย์สอนธรรมะด้วย
การอุปสมบทเป็นพระครั้งแรก

เมื่อมีอายุครบพอจะบวชพระได้ คุณพ่อคุณแม่ รวมทั้งแม่เลี้ยงกุ่นและครอบครัว จึงจัดให้บวชตามประเพณี และอีกอย่างก็เป็นโอกาสที่จะได้อุทิศส่วนกุศล ทดแทนบุญคุณผู้อุปถัมภ์ คือพ่อเถี่ยน เชี้อขาว ผู้มีพระคุณอย่างล้นเหลืออีกด้วย อุปสมบท ณ วิสงคามสีมาวัดบ้านนาเยีย สังกัดหมานิกาย เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ 2505 โดยเจ้าอธิการอ่วม อัคควโร เป็นพระอุปัชณาย์ เจ้าอธิการคำ จันทโชโต วัดบูรพา บ้านนาหมอม้า เป็นกรรมวาจาจารย์ พระอธิการ เผือก โชติโก วัดศรีมงคลบ้านน้ำปลีก เป็นอนุสาวนาจารย์และหลวงปู่ดา เป็นเจ้าอาวาส

การอุปสมบทครั้งที่ 2

อุปสมบทเมื่อวันที่ 28 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ 2529 ณ วัดป่าอุดมสมพร ตำบลพรรณนา อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร สังกัดนิกายธรรมยุติ โดยมีพระอาจารย์ทองใส เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูอุดมธรรมสุนทร ( พระอาจารย์แปลง ) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ซึ่งขณะนั้นหลวงปู่มีอายุได้ 42 ปี
นิมิตเห็นหลวงปู่มั่น

หลังจากวันเข้าพรรษามาได้ 10 วัน หลวงก็ฝันเห็นหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระอาจารย์ใหญ่ ในฝันนั้นหลวงปู่มั่นยืนหันหลังให้ ห่างกันประมาณ 3 เมตร ก็จำได้ว่าเป็นหลวงปู่มั่น เพราะเคยเห็นในภาพมาแล้วหลายครั้ง ท่านออกเดินนำหน้า ก้าวเท้าค่อนข้างเร็ว เราก็รีบเดินตามทันที ด้วยหวังจะให้ท่านมองเห็นและทักทายบ้าง แต่หลวงปู่ท่านก็ไม่มองและไม่พูดว่ากระไร เดินตามหลังท่านไปหน่อยเดียวก็ไปเจอแม่น้ำขวางหน้าอยู่ความกว้างประมาณส่วนกว้างของแม่น้ำมูลหลวงปู่มั่นนั้นท่านไม่หยุด ท่านเดินลุยลงไปในน้ำ เราก็เดินตามไปถึงกลางแม่น้ำซึ่งลึกถึงหน้าอกนี่แหละ จากนั้นภาพของหลวงปู่มั่นก็หายวับไปเลย ขณะนั้นเราเกิดอาการงงอยู่พักหนึ่ง บรรยากาศก็มืดสลัว พอตั้งสติได้ก็แลซ้ายมองขวาครั้นมองเหลียวหลัง ก็พลันเหลือบไปเห็นงูตัวหนึ่ง ลำตัวขนาดเท่าแขนกำลังเลื้อยตามมาอย่างกระชันชิด นี่คงเป็นงูเห่าน้ำกระมัง คิดหาทางป้องกันมิให้เจ้างูเลื้อยเข้ามาถึงตัวได้ บังเอิญที่มือยังมีไฟฉายอยู่กระบอกหนึ่ง จึงกวัดแกว่งไปมาเป็นการขู่และปัดป้องเอาไว้ เรารีบขึ้นฝั่งโดยมิชักช้า พบไม้ขนาดเท่าด้ามพร้ายาวประมาณ จึงรีบคว้ามาได้หวังจะตีงูนั้นให้ตายคามือ ด้วยความตกใจทั้งกลัวงูจะฉก และคิดกลัวบาปกรรมที่จะต้องฆ่าสัตว์ พอเงื้อไม้ขึ้นสุดช่วงแขนปากก็ตะโกนร้องไล่ ก็พลันเกิดเสียงออกมาจริงๆ จนสะดุ้งตื่นขึ้นมา

เมื่อตื่นขึ้นมาและตั้งสติได้ นึกทบทวนภาพนิมิตที่พึ่งผ่านไปใหม่ๆ คงเป็นภาพทำนายบอกอนาคตให้เห็นว่า “ เราเดินตามหลังหลวงปู่มั่น ” คงจะเป็นเพราะแนวทางที่ปฏิบัติอยู่ เป็นไปตามแนวสายทางของท่าน พระอาจารย์ผันเป็นลูกศิษย์ปู่ฝั้น และหลวงปู่ฟั่นก็เป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่นตามลำดับก็เท่ากับว่าเราคือลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่นเหมือนกัน การที่หลวงปู่เดินนำหน้าในการข้ามแม่น้ำคงจะเป็นปริศนาธรรมให้รู้ว่า แม่น้ำ คือโอฆะสงสาร งูอสรพิษ ก็คือกิเลสตัณหาที่เป็นอุปสรรคขัดขวางต่างๆ ไม่ให้ข้ามพ้น ส่วนไฟฉายก็น่าจะเป็นปัญญาส่องสว่างหรือพระธรรม ที่นำพาไปสู่ทางแห่งความสำเร็จวิมุติ มรรค ผล และพระนิพพาน อันเป็นที่สุดแห่งวัฏฏะสงสารที่ได้หวังไว้ ตั้งแต่วันแรกที่ได้บวชเข้ามาการที่ได้ข้ามน้ำไปถึงฝั่งก็คงจะได้หลุดพ้นจากบ่วงมาร กิเลสตัณหาได้อย่างแน่นอน เมื่อได้รับการเอิบอิ่มจากภาพนิมิตดังกล่าว หลวงปู่ก็รีบเร่งภาวนาอย่างเอาเป็นเอาตายตลอดพรรษา เพื่อจะได้ถึงที่หมายอย่างรวดเร็ว

3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-3 17:49 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
นิมิตครั้งที่ 2

ต่อมาประมาณช่วงกลางพรรษา หลวงปู่เกิดนิมิต ฝันเห็นหลวงปู่มั่นอีกเป็นครั้งที่ 2 ในฝันนั้นเห็นหลวงปู่มั่นท่านกำลังทำพิธีปลุกเสก ทำน้ำพระพุทธมนต์อันศักดิ์สิทธิ์อยู่ เป็นอ่างกะละมังขนาดใหญ่ ภายในอ่างเป็นน้ำใสสะอาดแล้วท่านก็ช็มือกวักเอาน้ำมาชโลมลูบไล้ไปตามส่วนต่างๆทั่วร่างกายของท่านเองประหนึ่งว่าท่านกำลังออกสู่สงครามครั้งยิ่งใหญ่ เพราะมองออกไปข้างหน้าอันไกลโพ้น มีขบวนรถถังรถหุ้มเกราะ ปืนใหญ่ ทุกกระบอกเล็งมาที่ท่านจุดเดียว แล้วในบัดดลก็มีเสียงรัวระดม เสียงดังสนั่นหวั่นไหว ส่วนข้างบนก็เป็นปืนจากเครื่องบินรัวลงมาดังห่าฝน แต่ปรากฏว่าร่างของหลวงปู่มั่นยังคงแน่นิ่ง มั่งคง ไม่สะทกสะท้านหวั่นไหวใดๆเลย เมื่อเห็นดังนั้นในความรู้สึกของหลวงปู่เอง ก็เกิดความกล้าหาญ ชาญชัย มั่นใจในบารมีที่คิดว่าหลวงปู่คงจะปกป้องคุ้มครองได้ จึงเดินออกไปข้างหน้าพระอาจารย์ใหญ่ แล้วใชมือกวักเอาน้ำชโลมลูบตามเนื้อตัวเหมือนกับที่เห็นกับภาพตัวอย่างที่พระอาจารย์ใหญ่กระทำให้ดู สังเกตดูอากัปกิริยาของท่านพระอาจารย์ก็ไม่เห็นท่านว่ากระไร เพียงแต่มองดูแล้วยิ้มนิดๆ เท่านั้น แล้วหลังจากนั้นก็ตื่นจากความฝันนั้น มาคิดดูอีกครั้งก็คงยังเป็นปริศนาธรรม บอกให้รู้ว่า ต่อไปหลวงปู่จะได้ทำน้ำมนต์และมีความศักด์สิทธิ์เหมือนในฝัน ปัจจุบันจึงมีญาติโยม ลูกศิษย์ลูกหา มาขอให้หลวงปู่เสกเป่าพระพรมน้ำมนต์ให้ เพื่อขจัดปัดเป่า เสนียดจัญไร มิให้มารังควาญ และเพื่อให้เกิดเป็นสิริมงคลแก่ตัวและครอบครัวตลอดไป แต่ในความเป็นจริง ความตั้งใจของหลวงปู่แต่ตอนแรกๆนั้น หลวงปู่ไม่เคยแม้แต่จะคิด ว่าจะเป็นพระผู้ทำหน้าที่เสกเป่า ทำน้ำมนต์ให้แก่ใครเลย หากแต่ว่าญาติโยมมาขอความเมตตาให้ช่วยขจัดปัดเป่าหลวงปู่ก็ทำไปเพราะความเมตตาสงสารเท่านั้นเอง และก็ปรากฏว่าทุกคนที่ขอความช่วยเหลือ ก็มักจะพบกับสิ่งที่ดีๆ ในชีวิต รู้ได้จากการ บอกเล่าของบุคคลเหล่านั้น จึงต้องอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถปฏิเสธคำขอนั้นได้อีกอย่างก็เป็นการสงเคราะห์ช่วยเหลือแก่ญาติโยมที่เดือดร้อนไม่ว่าทางร่างกายหรือจิตใจ หากเขาเหล่านั้นมีความรู้สึกดี หรือมีอาการที่ดีขึ้น ก็เป็นการเสริมพลังศรัทธาปสาทะอีกทางหนึ่งเช่นกัน

เมื่อออกพรรษาใหม่ๆ จิตใจยังเกิดความมุ่งมั่นอยากทำความพากเพียรภาวนาให้เต็มที่ หวังให้เกิดพลังจิตสมาธิธรรมที่แก่กล้าและสูงยิ่งขึ้น แม้จะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า เจ็บปวดทรมานตามร่างกายก็ไม่ย่อท้อ อดนอน ผ่อนอาหาร ทรมานร่างกายเพื่อให้จิตสงบนิ่งเป็นสมาธิ ไม่หวั่นไหวตามอารมณ์ของกิเลสและนิวรณ์น้อยใหญ่บางครั้งเมื่อการภาวนาไม่ค่อยสู้ดี หลวงปู่ก็จะหาวิธีกำราบด้วยการ อดนอน ผ่อนอาหาร อันเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่พ่อแม่ครูอาจารย์ในอดีตเคยกระทำบำเพ็ญภาวนามามากต่อมาก เมื่อทำอยู่พักใหญ่ สังเกตได้ว่าร่างกายได้ผ่ายผอมลง แน่นอนทีเดียวเมื่อกำลังภายนอกอ่อนลงกิเลสภายในก็อ่อนลงเช่นกันทั้งนี้เพราะเกิดจากอุบายภาวนาในการอดนอน ผ่อนอาหาร ฉันน้อย นอนน้อย ภาวนาให้มากนั่นเอง เมื่อเร่งภาวนาจิตก็เกิดปิติสุข อิ่มเอิบใจมากเมื่อได้เจริญจิตภาวนามากขึ้น ยิ่งทำก็ยิ่งเกิดปิติมากขึ้นตามลำดับ เป็นปกติของผู้มีความเพียร อุปมาเหมือนคนทำงาน ยิ่งทำงานในสิ่งที่ตัวเองถนัดยิ่งทำมากขยันทำมากงาน ก็ย่อมเสร็จไปตามลำดับลำดามากมาย เช่นเดียวกันกับการภาวนายิ่งทำมาก ความเพียรมาก กิเลสน้อยใหญ่ก็ยิ่งถอยห่างออกไปเรื่อยๆ สืบเนื่องมาจากความเพียรนั่นเอง พระพุทธองศ์จึงได้ตรัสว่า ขันตี ปรมัง ตโป ตีติกขา ขันติคือความอดกลั้น ความพากเพียร เป็นเครื่องธรรมเป็นเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่งเมื่อเป็นเช่นนั้นหลวงปู่จึงใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับการทำสมาธิภาวนาทั้งกลางวันและกลางคืน ไม่ย่อมปล่อยเวลาให้เสียเปล่ายกเว้นเวลาทำภัตตะกิจ ทำวัตรสวดมนต์ และภารกิจห้องน้ำเท่านั้น
เกิดภาวะจิตปั่นป่วน

อาจจะเป็นเพราะความตั้งใจมุ่งมั่นพากเพียรภาวนาไม่ยอมหยุดลดละ อยากเร่งให้เห็นผลเร็วเกินไป จึงมิได้สนใจศึกษาขั้นตอนการปฏิบัติ และไม่ยอมปรึกษาใคร รับการทดสอบจากครูบาอาจารย์ ด้วยหวังจะให้บรรลุผลสำเร็จก่อนใครอื่น และเมื่อถึงขั้นนั้น มันไม่ง่ายอย่างที่คิด นี่คืออวิชชาที่กำลังบดบังห่อหุ้มจิตใจของหลวงปู่ในขณะนั้น

4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-3 17:50 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ด้วยเหตุนี้ เมื่อทุกอย่างมันไม่เกิดขึ้นได้ตามที่คาดหวัง จึงเกิดภาวะปั่นป่วนในจิตใจ มีความว้าวุ่นกระวนกระวายในจิต จิตที่เคยสงบเป็นสมาธิในการบำเพ็ญภาวนาก้ไม่มีสมาธิ เกิดอาการฟุ้งซ่าน เกิดท้อแท้ เบื่อหน่าย เมื่อหายใจเข้าลึกๆมีอาการสั่นไหว คล้ายสะอื้นภายใน จนบางครั้งถึงกับเอาน้ำเย็นมาลูบไล้ตามร่างกาย เพื่อให้เกิดความเย็นในร่างกาย ส่งผลให้จิตสงบมีสติสมาธิดีขึ้น แต่ก็ไม่เป็นผล จนเกิดคำถามขึ้นภายในจิต พิจารณาตัวเองในใจว่า นี่เราเป็นอะไรไปแล้วหรือ โรคจิต ? ประสาท ? หรือเป็นบ้า ? นี่หรือที่เขาเรียกกันว่า “ ธรรมแตก ” แล้วถ้าเป็นอย่างที่เขาว่านั้นจริง ชาวบ้านญาติโยมเขาคงจะเล่าลือไปในทางเสียหายต่างๆ นาๆ เป็นแน่ เราคงไม่กล้าบากหน้ากลับไปเยี่ยมบ้านได้อีก ต่อไปนี้เราจะจัดการกับตัวเองอย่างไร ? ตอนนั้นคิดได้อย่างเดียวคือ ไปเล่าอาการให้อาจารย์ฟังเพื่อจะมีช่องทางแก้ไขอารมณ์เหล่านี้ได้ ก่อนที่จะเตลิดเปิดเปิงไปจนควบคุมตัวเองไม่อยู่ อาจารย์ผันบอกว่าพรุ่งนี้จะพาไปกราบอุปัชฌาย์อาจารย์ ที่วัดป่าอุดมสมพร

พอตกกลางคืนก็นิมิตฝันอีก ไม่ทราบว่าจะเป็นเพราะสัญญาวิปลาสจิตวิปลาส หรือทิฐิวิปลาสที่สืบเนื่องมาจากตอนกลางวันหรือเปล่า หลวงปู่ฝันเห็นม้าสีขาว วิ่งมาบนผิวน้ำมองเห็นแต่ไกล พอวิ่งตรงเข้ามาใกล้ ก็ปรากฏว่าน้ำได้แหวกทางออกให้จนมองเห็นเป็นดินเป็นถนน แล้วก็มาหยุดยืนอยู่ตรงหน้าพอดีแปลกจริงม้านั้นมันพูดได้ ว่า “ ขึ้นเร็ว เดี๋ยวจะไปไม่ทันเขา ” เราไม่มีทางเลือกอื่นจึงรีบขึ้นขี่บนหลังม้า ม้านั้นก็เหาะทะยานขึ้นไปเบื้องบน สูงเท่าไรไม่อาจคาดคะเนได้ ไปพบศาลาหลังใหญ่ม้าก็หยุด พอม้าหยุดแล้วหลวงปู่ก็รีบลงไปเอาดอกไม้มาให้ม้านั้นกิน ด้วยความเมตตาเหมือนกับเรารู้มาก่อนแล้วว่า ม้ากินดอกไม้ได้หลังจากนั้นหลวงปู่ก็รีบเตรียม สบง จีวร สังฆาฏิ สะพายบาตรใส่บ่า แล้วขึ้นบนหลังม้าอีกทีหนึ่ง ม้าก็เหมือนรู้ใจ รีบทะยานขึ้นสูงอย่างรวดเร็วด้วยอารมณ์ความรีบร้อน ตื่นเต้น จึงทำให้ตกใจตื่นขึ้นมา พอรู้สึกตัวว่าฝัน ก็ยิ่งให้เกิดอาการวิตกจริตคิดไปต่างๆ นาๆ ว่าจิตของเรานี้ฟุ้งซานแน่นอนแล้ว จึงชวนพระที่เป็นน้องชายของอาจารย์ผันไปเป็นเพื่อนพาไปพบพระอุปัชฌาย์เพื่อแก้อารมณ์ให้ วันนั้นไปด้วยรถยนต์ ก่อนจะถึงรถเขาพาไปแวะบ้านนาผือก่อน เพราะที่นั่นมีวัดพระอาจารย์มั่นเคยมาอยู่ ไปแวะกราบอาจารย์เศียร เดินผ่านกุฏิหลังหนึ่งมีป้ายบอกว่า “ กุฏิหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ” ลักษณะเป็นเรือนไม้จึงเดินขึ้นไปแล้วก้มกราบ 3 ครั้ง อธิษฐานวิงวอนว่า “ หลวงปู่ขอรับ ขณะนี้ลูกหลานมีความตั้งใจจริงในการเข้ามาบวช หวังเจริญรอยตามหลวงปู่ เพื่อให้บรรลุธรรมขั้นสูง แต่ลูกหลานกับมีปัญหาอุปสรรคทางด้านจิตใจที่ไม่มีสมาธิ จิตใจปั่นป่วน ฟุ้งซ่าน หรือหากว่าบุญบารมีของลูกหลานจะไปไม่ถึง ที่มาวันนี้ลูกหลานมาขอพึ่งบุญบารมีของหลวงปุ่ สาธุ ขอได้โปรดดลบันดาลให้ลูกหลานได้หายจากอาการดังกล่าวนี้ด้วยเถิด และต่อจากนี้ไปขอให้ลูกหลานได้พบกับความสำเร็จในอริยธรรม บรรลุ มรรค ผล พระนิพพาน เห็นอรรถ เห็นธรรมตามที่พ่อแม่ครูอาจารย์เคยดำเนินพบเจอมาด้วยเทอญ สาธุ ! ว่าแล้วก็กราบอีก 3 ครั้ง จึงลงมาขึ้นรถ มุ่งหน้าไปสู่วัดป่าอุดมสมพร อำเภอพรรณนานิคม ระหว่างทางจิตใจก็ครุ่นคิดแต่เรื่องทางความวิปริตของอารมณ์พร้อมหาเหตุผลต่างๆ มาเป็นคำตอบให้กับตัวเองมาถึงกลางทางเกิดอาการวาบหวิว ใจสั่น ขนลุกขนพอง น้ำตาไหลพราก เมื่อสูดลมหายใจลึกๆ มีอาการสะอื้นคล้ายกับร้องไห้ เป็นอย่างนี้นานพอประมาณต่อมาไม่นานก็เกิดปิติซาบซ่าบไปทั่วสรรพางค์ ร่างกาย ในแว็บเดียวของความคิดขณะนั้น จิตก็เกิดความคิดได้คำตอบให้กับตัวเองว่า โอ ! ที่เราเป็นอย่างนี้ก็เพราะความทะเยอทะยานอย่างมาก เพราะความอยากมากตัวนี้แหละจึงทำให้เกิดอาการหวั่นไหวทางจิตเพราะเมื่อความอยากรู้อยากเห็นมากจิตก็มีความพากเพียรมาก เมื่อเร่งมากแต่กลับไม่พบกับสิ่งที่ต้องการ ทั้งๆ ที่การปฏิบัติก็ไม่เป็นไปตามลำดับขั้นตอนมาโดยตลอด ทั้งนี้คงจะเป็นเพราะภูมิจิตและสมาธิธรรมยังน้อย สติยังอ่อน ไม่มีกำลัง ความอยากมันมากเกินเหตุอันสมควรเจ้าความทะเยอทะยานอยากนี่เองคือตัวกิเลส แสดงว่าเรายังละไม่ได้ จึงเริ่มสำรวจหาความบกพร่องของตัวเองต่อไปอีก ยังพบว่าตัวเองยังมีเงินอยู่ 80 บาท เราต้องแก้ไขที่ตัวเราเองก่อน ก่อนที่จะไปให้คนอื่นแก้ไขให้ เริ่มต้นที่เงิน 80 บาท นี่แหละ พอไปถึงวัดป่าอุดมสมพร ซึ่งมีสระน้ำอยู่ในวัด จึงเอาเงินผูกติดก้อนหินแล้วกล่าวคำสัจจะวาจาว่า “ แต่นี้ต่อไป เราจะไม่ยึดถือครอบครอง ทรัพย์สิน เงินทอง แม้แต่บาทเดียวขึ้นไป ” ว่าแล้วก็โยนเงินที่ผูกติดกับก้อนหินนั้นลงในน้ำเป็นอันว่าได้แก้ปัญหาให้กับตัวเองแล้ว 1 เปราะ จากนั้นก็ขึ้นไปกราบอาจารย์เล่าความเป็นมาให้ทราบโดยละเอียด อาจารย์ก็แนะนำตามขั้นตอนต่างๆ ในการภาวนาและแก้ไขนิวรณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในขณะปฏิบัติสมาธิซึ่งเป็นปกติของผู้บำเพ็ญภาวนา เพื่อหาหนทางออกหนีจากความทุกข์ย่อมไม่เป็นที่พอใจของพญามาร มารย่อมรำควาญไม่ให้จิตสงบเป็นสมาธิได้ เหมือนครั้งหนึ่งที่พระพุทธองศ์กำลังจะเสด็จออกผนวชตอนใกล้รุ่ง พอถึงกำแพงเมืองที่เป็นประตูทางออกพญามารก็มาขวางทางเดิน แล้วกล่าวด้วยวาจาอันโกรธแค้นว่า “ ดูก่อนสิทธัตถะ ท่านกำลังจะทำอะไร ” ท่านเป็นบ้าไปแล้วหรือ การเสวยความสุข เสพสมการมณ์ต่างๆ ภายในพระราชวังเป็นสิ่งที่มนุษย์ทั้งหลายล้วนแล้วแต่ปรารถนาทั้งนั้น มีประโยชน์อะไรกับการที่จะออกบวช การบวชจะเกิดอะไรกับท่าน นับแต่นี้ไปอีก 7 วันข้างหน้า ท่านก็จะได้รับการสถาปนาเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ มีมหาสมุทรทั้งสี่เป็นแดน ท่านไม่ต้องการหรือ ? มารนั่นคือสิ่งที่กีดขวางความดีทั้งสี่จะกระทำทางด้านร่างกายและจิตใจสิ่งใดก็แล้วแต่ที่จะเป็นบุญ เป็นคุณความดี เราคิดว่าจะกระทำบำเพ็ญหากเราทำช้า มารก็จะเข้าแทรกแล้วกล่าวขึ้นมาในจิตในใจของเราว่า จะทำๆไม จะเกิดประโยชน์อะไรกับการกระทำนั้น ทำอย่างอื่นดีกว่า นี่แหละคือลักษณะของมาร หากบุคคลใดเป็นอย่างที่ว่า ก็ให้รีบหาทางแก้ไข จะกระทำสิ่งใดที่เป็นบุญเป็นกุศลก็ให้รีบทำ อย่างให้ช่องหรือโอกาสแก่มารเป็นอันขาด เมื่อได้รับการแก้ไขจากท่านอาจารย์แล้วท่านก็กล่าวต่ออีกว่า “ อันเงินทองนั้น เป็นของที่มีค่า ไม่น่าทิ้งลงน้ำเลย เพราะมันไม่ได้เกิดประโยชน์อันใด ถ้าไม่ยึดถือครอบครองก็น่าจะบริจาคเป็นทานสงเคราะห์คนยากจน หรือเอาไว้สร้างน้ำหรือทำบุญก็ยังดี ” เราก็รับฟังเอาไว้ ไม่กล้าโต้แย้งแต่ในใจยังไงก็ยังไม่คิดเปลี่ยนแปลงจากความตั้งใจเดิมเป็นแน่

5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-3 17:50 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
หลังจากนั้นมาอีก 3 วันสมเด็จพระนาง เจ้า พระบรมราชินี พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เสด็จมาบำเพ็ญพระราชกุศล ที่วัดป่าอุดมสมพรวัดของหลวงปู่ฝั้น ตามที่เคยปฏิบัติเหมือนเช่นทุกปีที่ผ่านมา จำได้ว่าตอนนั้นหลวงปู่ได้นั่งอยู่ท้ายสุด เพราะอาวุโสทางพรรษาน้อย วันนั้นได้รับปัจจัยทางการถวายจำนวน 5000 บาท ( เป็นใบปวารณา ส่วนเงินจริงฝากผ่านธนาคาร ) จึงเป็นปัญหาให้คิดหนักอีกว่า เราก็พึ่งตั้งสัจจาธิษฐานมาได้แค่ 3 วัน ว่าจะไม่รับเงินแต่คราวนี้ผู้ถวายคือ สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ แล้วเราจะทำอย่างไรกับเงินจำนวนนี้ซึ่งก็เป็นจำนวนไม่น้อยเลย

ในที่สุดก็ได้คำตอบ โดยเอาแนวความคิดของพระอาจารย์อุปัชฌาย์มาประกอบการตัดสินใจว่า เงินทองที่ได้รับจากการพระราชทานมา มีคุณค่ามากจงอย่ายึดมั่นว่าเป็นสมบัติของเรา แต่เงินยังเป็นสื่อกลางให้เราได้ “ สร้างน้ำทำบุญได้อยู่ เช่น การบริจาคให้เป็นทาน การจัดหาปัจจัย 4 เป็นต้น ไม่ควรจะโยนทิ้งลงน้ำอีกต่อไป
ความวุ่นวายจากทางบ้าน

กล่าวถึงทางบ้านนาเยีย ซึ่งเป็นภูมิลำเนาเดิมหลังจากบุญบั้งไฟอำนาจเจริญพ่อบุญหลายก็หายไปจากบ้านโดยไม่มีร่องรอย ไม่ทราบข่าวคราว ซึ่งสร้างความกังวลใจให้กับพี่น้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พี่สาวต่างบิดาทั้งสอง คือ แม่บุญมีและแม่จันทีเป็นอย่างมาก พยายามสืบถามหาก็ไม่ได้วี่แวว จึงตั้งข้อสันนิษฐานเอาว่า คงจะหนีไปบวช เพราะเท่าที่สังเกตอากัปกิริยาก่อนหน้านี้แล้ว พ่อบุญหลายมีทีท่าว่าจะออกบวช ห้วงเวลานั้นก็พอดีหน้านา ทุกคนมีภาระต้องเร่งปักดำ เพื่อให้เสร็จเร็วไว ตกลงกันว่า เมื่อเสร็จหน้านาออกพรรษาแล้วจึงจะไปตามหาน้องชายต่อไป

พอออกพรรษา ทั้ง 3 คนคือพ่อพวง ปางชาติ พี่เขย แม่บุญมีและแม่จันทีพี่สาว จึงเริ่มต้นตามสืบหาน้องชายอย่างจริงจัง เป้าหมายแรกที่คิดว่าน้องชายน่าจะไปอยู่ คือ ภูจ้อก้อซึ่งขณะนั้นหลวงปู่หล้าจำพรรษาอยู่ที่นั่น พอไปถึงก็กราบเรียนถามและเล่าถึงรูปพรรณสัณฐานให้ฟัง หลวงปู่ได้เรียกลูกวัดมาสอบถามแล้วท่านก็สรุปเป็นคำตอบเป็นนัยๆว่า “ ถ้าเป็นคนนี้โยมไม่ต้องห่วงไม่ต้องไปตามเขาไปสวรรค์นิพพานแล้ว ” ในความหมายของหลวงปู่ ท่านหมายถึงการไปดีไปทำความเพียร เพื่อหาหนทางสู่สวรรค์นิพพาน มิได้หมายถึงการตาย แต่พี่ทั้ง 3 เข้าใจว่า น้องชายได้ตายจากไปแล้ว เลยปล่อยโฮกันยกใหญ่ กว่าจะรู้ความหมายที่แท้จริงต้องสาธยายอีกนาน

ก่อนจากไป หลวงปู่หล้าก็ได้บอกเป็นนัยๆอีกว่า ถ้าจะตามหาต้องไปตามสายของหลวงปู่มั่น คือไปหาทางบ้านกุดไห บ้านกุดบาก ทางสกลนครนะโยมจากนั้นทั้ง 3 ก็กราบลาและมุ่งหน้าไปสกลนครโดยขึ้นรถโดยสารประจำทางแล้วก็เดินตามหาไปเส้นทางที่หลวงปู่หล้าบอก บ้านกุดไห บ้านกุดบาก แต่ก็ไร้วี่แวว จนกระทั่งถึงบ้านนาขาม พบพระอาจารย์ผัน จึงเข้าไปกราบและถามหาโดยบอกรูปพรรณสัณฐานและตำหนิ ท่านบอกว่า ถ้าชื่อบุญหลายโยมจะได้เห็นหน้ากันวันนี้แหละ จากนั้นท่านก็ให้พระตามมาพบ พอเจอหน้ากันเท่านั้นแหละโยมพี่ทั้ง 3 ก็ปล่อยโฮอีกยกใหญ่ เพราะเห็นรูปร่างแล้วจนจำเค้าเดิมแทบไม่ได้ เมื่อพูดจาถามข่าวคราวสารทุกข์สุกดิบกันเป็นที่เข้าใจเรียบร้อยแล้ว โยมพี่ทั้ง 3 จึงได้ขอนิมนต์ให้กลับไปอยู่ที่บ้าน ท่านก็รับปากแต่ต้องไปกราบลาครูบาอาจารย์ก่อน ขอให้โยมพี่กลับไปก่อนอาตมาจะกลับทีหลังในเวลาที่เหมาะสมควรต่อไป

6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-3 17:51 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
กลับคืนบ้านเกิด

หลังจากออกพรรษา ก็ไปกราบลาครูบาอาจารย์ขอกลับไปเยี่ยมญาติโยมที่บ้านนาเยีย ตามที่ได้รับปากไว้กับโยมพี่ จากนั้นก็เดินทางกลับโดยมีพระผู้เป็นน้องชายของอาจารย์ผัน คือพระผดุงกับโยมอีก 3 คน ติดตามมาส่ง ครั้งแรกเข้าพักที่ป่าช้าบ้านนาเยีย ( ปัจจุบันคือวัดป่าโพธิธรรม) โดยให้โยมทั้ง 3 คนเข้ามาแจ้งข่าวแก่ญาติโยมในบ้าน อยู่ที่นั่นไม่นานชาวบ้านก็ไปนิมนต์ให้มาพักวัดบ้านนาเยีย ซึ่งเป็นวัดฝ่ายมหานิกาย อยู่ที่วัดบ้านนาเยียได้ไม่นานเนื่องจากรู้สึกไม่สบายใจที่มาอยู่วัดบ้านที่เป็นฝ่ายมหานิกาย ตั้งใจว่าพรุ่งนี้จะอำลาญาติโยมไปอยู่ที่วัดภูจำปา ครั้นพอรุ่งเช้ายังไม่ได้ออกรับบิณฑบาต โยมวิเชียร วงศ์คำจันทร์ ซึ่งเป็นชาวบ้านนาเยีย แต่ไปมีครอบครัวที่บ้านร่องคำ มานิมนต์ให้ไปฉันเช้าและเพลที่บ้านร่องคำ ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ตั้งใหม่และยังไม่มีวัด พระที่วัดบ้านนาเยียทั้ง 5 รูป ก็ถูกนิมนต์ไปด้วยกัน พอฉันเพลเสร็จกำลังจะกลับวัดนาเยีย โยมวิเชียรและผู้ใหญ่ขน สมุทรเวช ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านร่องคำ ก็เข้ามานิมนต์ขอให้อยู่จำพรรษาเพื่อโปรดญาติโยมที่นั่นสัก 1 พรรษา ส่วนสถานที่และเสนาสนะชาวบ้านรับรองจะจัดหาให้ แต่ได้บอกบ่ายเบี่ยงแก่ญาติโยมไปว่า อาตมาเพิ่งบวชมาได้แค่พรรษาเดียว ยังไม่ชำนาญในกิจของสงฆ์และวัตรปฏิบัติ แต่ทางผู้ใหญ่บ้านก็คะยั้นคะยอว่า ยังไงก็ขอนิมนต์ให้อยู่เพื่อโปรดญาติโยม จึงจำต้องรับนิมนต์ ทางฝ่ายหลวงปู่บุญเถิง เมื่อทราบข่าวท่านก็เดินทางมาจำพรรษาอยู่ด้วย จนครบ 1 พรรษา อยู่ที่นั่นมีความสงบดี ชาวบ้านร่องคำ ถึงแม้จะเป็นชมชนขนาดเล็ก เป็นหมู่บ้านตั้งใหม่ แต่ชาวบ้านก็มีความสามัคคี มีศรัทธาพระต่อพุทธศาสนามาก ดังจะเห็นจากการร่วมกันสร้างวัดใหม่เป็นการชั่วคราวซึ่งได้ร่วมกันคนละไม้คนละมือ ไม่นานก็เสร็จทันก่อนเข้าพรรษา ตอนเช้ามาร่วมกันทำบุญตักบาตรแทบทุกครัวเรือน พอตกตอนเย็นเล่า ญาติโยมจะจุดไต้ ( ภาษาอีสานเรียกว่ากะบอง ) ใช้จุดให้แสงสว่างส่องนำทางเวลากลางคืน แทนแสงตะเกียงเดินตามกันมาเป็นสายยาวเหยียด เพื่อมาร่วมทำวัตรเย็นและฟังธรรม ทุกวันตลอดพรรษา เป็นอันว่าพรรษาที่ 2 พ.ศ 2528 ที่วัดบ้านร่องคำ
ขึ้นภูลังกา

เมื่อหลวงปู่ตัดสินใจจะย้ายที่อยู่ออกไปจากวัดบ้านนาเมืองแล้ว ความตั้งใจก็อยากจะไปตามนิมิตที่หลวงปู่มั่นท่านแนะนำ คือตามภูตามผา ได้ข่าวว่าหลวงปู่เสน เดชา ซึ่งแต่ก่อนท่านเป็นชาวบ้านนาเยียด้วยกัน ได้อพยพครอบครัวไปทำมาหากินที่บ้านใหม่ คือบ้านนาโด อำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม เมื่อลูกหลานมีครอบครัว และมีฐานะมั่นคงดีแล้ว ท่านก็ออกบวชอยู่วัดบ้านนาโดนั้นเอง จนกระทั่งท่านมรณภาพ และอีก 2 วัน ข้างหน้านี้จะมีพิธีฌาปนกิจศพ ซึ่งบรรดา-ลูกหลานทางบ้านนาเยียก็คงจะไปร่วมงานนี้ จึงเป็นโอกาสที่หลวงปู่จะขออาศัยไปด้วย โดยรถยนต์ของโยมเจียง ทาตาสุข เมื่อช่วยงานศพของหลวงปู่เสนเสร็จ ทุกขั้นตอนตามประเพณีแล้ว หลวงปู่หมูน ซึ่งพื้นเพเดิมท่านเป็นชาวบ้านโคกนาโก จังหวัดยโสธร ไปบวชอยู่อำเภอเซกา เป็นผู้นำทางขึ้นภูลังกา พอไปถึงก็หนีไม่พ้นงานก่อ-งานสร้างอีก นั่นก็คือ ทางวัดกำลังมีการก่อสร้างอัฐธาตุเพื่อบรรจุอัฐิของอาจารย์วัง ซึ่งมรณภาพไปก่อนหน้านี้ จึงได้ช่วยหลวงปู่ตอง ทำการก่อสร้างอัฐิธาตุ ใช้เวลาก่อ-สร้างอยู่ 42 วัน ก็เสร็จ แต่ยังไม่สมบูรณ์ เพราะยังไม่ได้ฉาบ การไปปฏิบัติธรรมอยู่ภูลังกานั้น กลางวันก็ทำงาน กลางคืนจึงมีเวลาทำสมาธิ บรรยากาศก็เงียบสงบดีอยู่ จึงมีความมุ่งมั่นในการนั่งสมาธิภาวนาอย่างเข้มข้น บางครั้งก็มีเสียงสัตว์รบกวนบ้าง แต่ก็ไม่ถือเป็นอุปสรรคไม่รู้สึกกลัว เพราะได้ศึกษาเรียนรู้จากหลวงปู่ตอง ผู้ซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์มาก่อนจะลำบากก็เรื่องน้ำอุปโภคบริโภค แต่ก็ยังดีที่มีแม่ชีอยู่ 2 คนที่ได้ทำหน้าที่ลงมาตักน้ำหาบขึ้นไปให้อาบวันละ 1 เที่ยว นับว่าการอยู่ที่นั่นค่อนข้างจะอัตคัดจึงคิดหาทางย้ายไปยังสถานที่ใหม่ บังเอิญในช่วงนั้นมีชาวบ้านขึ้นไปเที่ยวบนภูลังกา เขาเล่าให้ฟังว่ามีสถานที่แห่งหนึ่งเป็นสัปปายะ เหมาะสำหรับเป็นที่ทำเพียรภาวนาเพราะอยู่ห่างจากชุมชน 3 กิโลเมตร อยู่ริมฝั่งน้ำและเงียบสงบดี คือวัดร้างบ้านนาอ่าง ตำบลนาตาล อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร พอทราบข่าวก็รู้สึกสนใจอยากจะไปอยู่ มีพระบวชใหม่รูปหนึ่งเป็นชาวอำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่นขอติดตามไปด้วย จึงพากันออกเดินทางมาอำเภอเซกา-อากาศอำนวยผ่านวัดป่าสุนธาวาส ซึ่งเป็นวัดป่าที่หลวงปู่มั่นเคยจำพรรษาและท่านละสังขารที่นั่นพักอยู่ 2 คืน พอคืนที่ 2 ก็นิมิตเห็นหลวงปู่มั่น ท่านพาไปพักตามโคนต้นไม้ซึ่งก็เป็น 1 ใน 13 ของกิจธุดงควัตร คือ รุกขมูลิกังคะในนิมิตนั้นมีความรู้สึกภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสเดินตามหลวงปู่มั่นไปในที่ต่างๆซึ่งก็ถือว่าท่านเป็นพระอาจารย์ใหญ่สายวิปัสสนา แต่เป็นนิมิตเพียงแค่ระยะสั้นๆเท่านั้น ตอนเช้าก็ออกรับบิณฑบาตตามปกติปรากฏว่า มีญาติโยมออกมาทำบุญตักบาตรกันมากมาย ทราบว่าวันนั้นมีญาติโยมเดินทางมาจากกรุงเทพ เขาตั้งในมาทำบุญทักษิณานุปาทานถวายแด่หลวงปู่มั่นที่วัดป่าสุนธาวาสเป็นการเฉพาะ

7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-3 17:52 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ที่บ้านนาอ่าง

หลังจากเสร็จถัตตะกิจที่วัดป่าสุนธาวาส ก็ได้ออกเดินทางมุ่งหน้าสู่เป้าหมายคือ บ้านนาอ่าง เดินทางต่อกับพระภิกษุบวชใหม่ จนมาถึงสถานที่เป็นบ้านพักเก่าของเจ้าหน้าที่ชลประทานอ่างเก็บน้ำ ตั้งอยู่ริมฝั่งน้ำ ห่างจากชุมชนบ้านนาอ่างประมาณ 3 กิโล ตกลงใจใช้บ้านพักเป็นกุฏิชั่วคราว มีศาลาพักร้อนของเจ้าหน้าที่ชลประทานอีก 1 หลัง ใช้เป็นหอฉัน ห่างจากบ้านพักออกไปประมาณ 1 กิโลเมตร มีบ้านพัก ( เถียงนา ) ของโยมเกียม ภรรยาชื่อโยมจันทร์เป็นชาวบ้านและทำไร่ด้วย ซึ่งวันต่อๆมา ก็คือโยมอุปัฏฐากคนสำคัญครอบครัวหนึ่งระหว่างที่ออกรับบิณฑบาต 2 วันแรก ได้ข้าวมาเช้า ละ 3 ก้อน โดยไม่มีกับต้องฉันกับเกลือ วันที่ 2 พระหนุ่มที่เดินทางมาด้วยกัน ทนอยู่กับสภาพความแร้นแค้นอดอยากไม่ไหว จึงลาจากกลับไปอยู่อำเภอชุมแพบ้านเดิม จึงเป็นโอกาสเหมาะที่หลวงปู่จะตั้งใจปฏิบัติธรรม บำเพ็ญเพียรภาวนาอย่างเคร่งครัดโดยปราศจากความกังวลและความห่วงใยใดๆ หลังจากนั้นบรรดาญาติโยมชาวบ้านนาอ่างทราบข่าวเกี่ยวกับพระกัมฐานมาอยู่บ้านพักเจ้าหน้าที่ชลประทาน ก็มาทำบุญถวายอาหารเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ความเป็นอยู่ก็ดีขึ้นตามสถาพพระป่าจะลำบากบ้างก็มีฝนตก ต้องเดินลุยน้ำลึกประมาณครึ่งเมตรข้ามทุ่งนาไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน

คหปตานีผู้ใจใหญ่

มีแม่ชีคนหนึ่ง จำชื่อจริงไม่ได้ มีชื่อเล่นว่า ติ๋ม เป็นชาวกรุงเทพมหานครเป็นลูกสาวนายห้าง ขายสินค้าประเภทวัสดุก่อสร้าง หินอ่อน มีฐานะดีมาก เธอเป็นคนที่ชอบทำบุญทำทาน ชอบนั่งสมาธิภาวนา และที่สำคัญที่สุดคือเธอเป็นผู้ที่ระลึกชาติได้ เธอทราบว่าชาติก่อนเธอเป็นลูกสาวพระยานาคบ้านอยู่ใกล้พลาญหินบ้านนาอ่าง มีน้องสาว 1 คน พี่ชาย 3 คน ชาติก่อนได้สร้างโบสถ์เล็กๆ ไว้ที่วัดบ้านนาอ่าง 1 หลัง และเธอยังมีญาณหยั่งรู้ด้วยว่าในชาตินี้น้องสาวและพี่ชายมาเกิดใหม่ในนามแต่ละคนว่าอะไร เกิดที่ไหนเพื่อเป็นการพิสูจน์หาความจริงเธอจริงเริ่มออกหาบุคคลและสถานที่ แต่เพื่อความสะดวกและปลอดภัย เธอจึงมาในสภาพของนักบวช คือแม่ชีจนกระทั่งมาพบพี่ชายที่โคราช พบน้องสาวชื่อนางเคนที่บ้านนาอ่าง และพบโบสถ์ที่บ้านนาอ่างตามที่จำอดีตและระลึกชาติได้ทุกประการ เมื่อมาพบน้องสาวและเจออุโบสถ์ครั้งแรกถึงกับหลั่งน้ำตาด้วยความปิติตื้นตันใจ จึงได้ชักชวนน้องสาวและพี่ชายในอดีตมาสร้างอุโบสถหลังใหม่ ณ วัดบ้านนาอ่าง เป็นอุโบสถขนาดใหญ่ทรงจัตุรมุขในปัจจุบัน ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เธอเป็นคนจ่ายเอง

เมื่อแม่ชีติ๋ม มาบริจาคงานก่อสร้างอุโบสถวัดบ้านนาอ่างอยู่นั้น ก็ได้ทราบว่ามีพระธุดงค์มาปักกลดอยู่บ้านพักริมอ่าง ( คือหลวงปู่บุญหลาย ) จึงชักชวนชาวบ้าน 2-3 คน มากราบหลวงปู่ และนิมนต์ให้หลวงปู่แสดงธรรมให้ฟังโดยให้เน้นหนักในแนวทางปฏิบัติวิปัสสนา ขณะนั้นหลวงปู่ก็ได้ถือว่าท่านบวชไม่นาน การปฏิบัติและการเทศน์ก็ไม่เก่ง จึงแนะแนวทางการปฏิบัติเบื้องต้นเท่านั้น ใช้เวลาไม่นาน แต่ก็เป็นที่ประทับใจ ประกอบกับปฏิปทาของหลวงปู่เป็นที่เคารพศรัทธา แม่ชีติ๋มจึงได้ปวารณาไว้ว่า ตั้งแต่วันนี้ไปดิฉันจะมอบปัจจัยส่วนหนึ่งไว้กับโยมเกียมให้เป็นผู้ดูแลหาปัจจัยที่จำเป็นแก่สมณะ ไม่ว่าจะเป็นอาหารเครื่องใช้ที่จำเป็น จนกระทั่งหยูกยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหลวงปู่เกิดไม่สบายอาพาธ ให้โยมเกียม โยมจันทร์รีบแจ้งทันที จะจัดรถมาบริการให้ นี่คือน้ำใจจากผู้ใจบุญ แต่ช่วงระยะเวลาหลวงปู่อยู่ที่นั่นก็ไม่มีปัญหาเดือดร้อนอะไรที่ต้องรบกวนญาติโยม จนกระทั่งออกพรรษา ซึ่งเป็นพรรษาที่ 10 ในปี พ.ศ 2536

8#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-3 17:52 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


มีอยู่วันหนึ่ง หลังจากที่ฉันเช้าเสร็จ ขณะที่หลวงปู่กำลังนั่งสมาธิ มีเสียงดัง แก้ ! กั๊บแก้ ! อั๊บแอ้ ! อยู่บนขื่นกุฏิ จึงมองตามเสียงนั้นดู เห็นงูเขียวตัวหนึ่งกำลังจะคาบตุ๊กแก ( กั๊บแก้ ) ทางฝ่ายตุ๊กแกเองก็พยายามต่อสู้ด้วยการคำรามเสียงขู่ร้องกั๊บแก้ ! เอาไว้ก่อน เมื่องูเขียวไม่ฟังเสียง คือรุกจะคาบและกลืนกินท่าเดียวตุ๊กแกจึงต้องใช้แผน 2 คืออ้าปากคาบให้กว้างที่สุดเพื่อป้องกันมิให้งูนั้นคาบกลืนได้แต่แผนนี้ไม่สำเร็จ เจ้างูเขียวก็ใช้แผน 2 เช่นกัน คือปรับวิกฤตให้เป็นโอกาสเมื่องับไม่ได้ก็ใช้หัวมุดเข้าไปในปากตุ๊กแก เข้าไปถึงท้อง ระยะนี้นี่เองที่คนเราเห็นและพูดติดปากว่า “ งูเขียวกินตับตุ๊กแก ” ความจริงน่าจะเป็นว่า เขียวมุดหัวเข้าไปเพื่อจะไปทำลายท้องไส้ ตับไต ของตุ๊กแกให้ได้รับความเจ็บปวดและตายในที่สุด หลังจากนั้นก็ถอยออกมาและคาบกลืนกินตุ๊กแกผู้เคราะห์ร้ายต่อไปคิดดูแล้วเจ้าหัวงูนี้ก็อันตรายนะ หลวงปู่มองภาพนั้นด้วยความสงสารเจ้าตุ๊กแกผู้ถูกกระทำ ครั้นจะถือไม้ไล่ตีงูก็กลัวมันจะฉก หรือจะเป็นการขัดลาภปากของงูถ้าเจ้างูตายก็จะเป็นการฆ่าสัตว์ทั้ง 2 ชีวิต เป็นการทำบาปกรรมต่อไปแต่เหตุการณ์ครั้งนั้น หลวงปู่กลับพลิกผันเอาเรื่องวิกฤตเป็นโอกาส คือมองเห็นเป็นปริศนาธรรมว่า เออ ! ชีวิตของคนเราก็คงหนีไม่พ้นจากสิ่งเหล่านี้ อาการที่งูกลืนกินตุ๊กแกเข้าไปในท้องทีละนิดๆ จนในที่สุดก็กลืนได้หมดทั้งตัว เหมือนกับที่พระพุทธองศ์เคยตรัสไว้ว่า “ วัน เวลา ได้กลืนชีวิตของสรรพสัตว์ไปทีละนิด แล้วในที่สุดก็จบชีวิตลง ” ฉะนี้ อันตัวเราก็เหมือนกัน ตอนนี้ก็มีอายุมากขึ้น คงเหลือเวลาอีกไม่นาน จะมัวโอ้เอ้ปล่อยให้วัน เวลาให้สูญเปล่าโดยยังไม่มีอะไรก้าวหน้าเท่าที่ควรเลย สถานที่ที่เราอยู่ในขณะนี้ จะว่าเป็นสัปปายะเหมาะสมดีแล้ว ก็ยังไม่ใช่ เราน่าจะออกไปหาที่เหมาะสมกว่า แต่กลั้นกลับมองย้อนหลังไปทางบ้านเก่าก็คงไม่มีใครทราบข่าวคราวว่าเราเป็นอยู่อย่างไร ก่อนจะออกเดินทางต่อไปจึงได้เขียนจดหมาย แจ้งข่าวกลับมายังอาจารย์เชียงที่วัดบ้านนาเมืองว่า ขณะนี้อยู่ที่นาอ่าง มีชีวิตความเป็นอยู่ดีตามสภาพพระวัดป่า และกำลังจะออกเดินทางต่อไปยังที่ใหม่ แต่ยังบอกไม่ได้ว่าจะเป็นที่ใด ทางฝ่ายวัดบ้านนาเมืองที่อำนาจเจริญ พอทราบข่าวเกี่ยวกับหลวงปู่ สามเณรดำ ซึ่งเป็นชาวบ้านขวาว อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด แต่มาบรรพชาที่วัดบ้านนาเมือง พอทราบข่าวเกี่ยวกับหลวงปู่ หลังจากออกพรรษาแล้วก็ขึ้นไปตามหาหลวงปู่ที่แจ้งในจดหมายพอไปถึงบ้านนาอ่างก็เป็นเวลาที่หลวงปู่กำลังจะออกเดินทางพอดี ดังนั้นหลวงปู่จึงได้สามเณรดำเป็นเพื่อนเดินทาง และทำหน้าที่เป็นผู้อุปัฏฐากคอยให้ความช่วยเหลือดูแลต่อไป ได้เวลาก็ออกเดินทางโดยให้โยมเกียมไปส่งพร้อมกับหาบเสบียง คือข้าวสารอาหารแห้งไปด้วย เพราะโยมเกียมรู้ดีว่าที่นั่นห่างไกลบ้านคนไม่สามารถบิณฑบาตได้ ไปถึงที่ถ้ำแห่งหนึ่งภายในเทือกเขาภูพาน ห่างจากที่พักนาอ่างประมาณ 10 กิโลเมตร สภาพเป็นถ้ำน้ำลอดแต่ภายในมีโขดหินสามารถเข้าพักได้ จึงตัดสินใจจะพักและปฏิบัติกิจภาวนาทำเพียรที่นี่ เพราะเห็นว่าเป็นสัปปายะ มีความเหมาะสมหลายอย่าง ครั้นพอโยมเกียมหันหลังกลับโยมเกียมมองออกไปทางปากถ้ำ ปรากฏมีฝุ่นและดินคลุ้งเหมือนกับว่ามีสัตว์ใช้อุ้งเท้าที่มีเล็บตะกุยดินให้ลอยคลุ้งขึ้นบนอากาศ แต่กลับมองไม่เห็นตัวต้นเหตุที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์นั้น จึงกลับมาเล่าให้หลวงปู่ฟัง เป็นเชิงเตือนให้หลวงปู่คอยระวังไว้ด้วย เพราะไม่ทราบว่าจะเป็นลางดีหรือลางร้าย หลวงปู่เองก็ไม่ได้ว่าอะไรครั้นจะพูดออกความคิดเห็นไป เกรงว่าสามเณรดำ ซึ่งมาร่วมทางใหม่จะหวาดกลัวเกินไป พอตกกลางคืนก็แยกกันนอนกับสามเณรดำ ห่างกันพอประมาณหลังจากที่นั่งสมาธิภาวนา บริกรรมคำว่า พุทโท พุทโท ไปเรื่อยๆ เสร็จก็สวดมนต์แผ่เมตตา แล้วก็นอน จำได้ว่าการนอนในคืนนั้น ได้นอนตะแคงขวา หันหน้าออกไปทางปากถ้ำ ขณะที่กำลังจะเคลิ้มหลับก็ปรากฏว่ามีชายร่างใหญ่กำยำ ไม่สวมเสื้อ แบกไม้ขนาดเท่าต้นขา มายื่นจังก้าที่ปากถ้ำ ดูทีท่าคล้ายกับจะเอาเรื่องกับแขกผู้มาเยือนคนใหม่ แต่ยังมิได้พูดจาว่าอะไร บัดเดี๋ยวนี้ก็ปรากฏร่างของชายแก่ผมยาวสีขาวเดินมายืนขวางทางเข้าปากถ้ำเอาไว้ หันหน้าไปทางร่างชายกำยำคนนั้นพร้อมกับชี้หน้าแล้วกล่าวห้ามด้วยเสียงอันดังว่า “ หยุด ! อย่าทำอันตรายท่านนะท่านมาดี มาขอพักพิงเพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น ” จากนั้นชายคนนั้นก็เหวี่ยงค้อนทิ้งแล้วเดินหนีไป มาคิดดูอีกที ชายร่างใหญ่ที่แสดงตัวให้ปรากฏอาจจะเป็นเจ้าที่ที่อยู่ดูแลรักษาสถานที่แห่งนี้ เมื่อเห็นคนแปลกหน้าเข้ามา คงไม่ไว้วางใจจึงแสดงความไม่พอใจออกมาคล้ายจะขับไล่ ส่วนชายแก่ที่มาห้ามปรามและเป็นผู้ขับไล่นั้น คงจะเป็นเทพหรือพระภูมิเจ้าที่ ท่านคงมีญาณหยั่งรู้ว่าอาคันตุกะผู้มาใหม่ มีเจตนามาดี จึงได้ทำหน้าที่เป็นผู้ปกป้อง คุ้ม-ครองหลวงปู่และสามเณรดำเอาไว้ ไม่อย่างนั้น อาจได้รับอันตราย หรือเป็นไปในทางที่ไม่ดีก็ได้ชีวิตความเป็นอยู่ภายในถ้ำและนอกถ้ำขณะที่ปฏิบัติกิจวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้นนับว่ามีความก้าวหน้าดีมาก เพราะเงียบสงบปราศจากผู้คนรบกวน สัตว์ป่าก็มีบ้างแต่ไม่ถึงกับทำอันตราย หรือรบกวนสมาธิแต่อย่างใด บางวัน ในเวลากลางวันก็ออกจากถ้ำเดินสำรวจดูสภาพทั่งไป หาแหล่งน้ำอาบและน้ำดื่ม ส่วนสามเณรดำก็ออกหาเก็บผักหักฝืน หาผลไม้ป่ามาเป็นอาหารในเช้าวันรุ่งขึ้น ส่วนการหุ่งหาอาหารนั้นเนื่องจากไม่มีภาชนะใดๆ ติดตัวไป มีเพียงไม้ขีดไฟกับมีด 1 ด้าม เอาไว้ป้องกันตัวยามฉุกเฉิน สามเณรดำได้ใช้วิชาลูกเสือมาช่วย กล่าวคือ ใช้มีดตัดไม้ไผ่ป่ามาทำกระบอกตักน้ำ ตัดไม้ไผ่ป่าเป็นปล้องมาทำการ “ หลามข้าว ” แทนการนึ่งหรือหุง ก็นับว่าได้ช่วยประทั่งชีวิตได้ระยะหนึ่ง อยู่ไปจนข้าวสารหมด ก็ได้ข้อคิดว่า การที่จะปลีกตัวออกจากวิเวกในถิ่นธุระกันดาร ห่างไกลจากชุมชนญาติโยม ขาดแคลนผู้อุปถัมภ์ค้ำจุนนั้น ในแง่ของความสงบสงัดก็ดีอยู่ จิตใจก็เป็นสมาธิดี แต่ชีวิตของคนเรานั้น จะอยู่โดยขาดปัจจัย 4 ย่อมเป็นไปไม่ได้ ตราบใดที่ร่างกายยังคงต้องการสิ่งเหล่านี้เพื่อประทั่งชีวิตอยู่ดังนั้น จึงคิดหาทางจะไปหาที่อยู่ใหม่ที่ไม่กันดารจนสุดโต่งเกินไป คราวนี้ตั้งเป้าหมายไว้ที่สุดเขตแดนเหนือสุดของสยาม คือเชียงราย หวังจะเดินตามรอยของครูบาอาจารย์ดังๆ ผู้มีปฏิปทา มีศรีลาจารวัตรอันงดงามหลายๆท่านที่ได้ฝากรอยเท้าไว้ที่ตามถ้ำ ตามภูเขาต่างๆ ทางตอนเหนือสุดของประเทศไทย ตกลงกับสามเณรดำว่าจะเดินเท้าไปเรื่อยๆ ค่ำไหนนอนนั่นเหมือนนกขมิ้น แต่ถ้าพบสถานที่ที่เป็นสัปปายะ อาจจะอยู่หลายคืนตามแต่สภาวการณ์จะอำนวย ขณะนั้นสำรวจดูปัจจัยที่มี อยู่รวมทั้งของสามเณรดำด้วย รวมแล้วเป็นเงิน 800 บาท จึงเดินย้อนรอยกลับไปหาโยมเกียมที่บ้านนาอ่างอีกครั้งเพื่อมอบปัจจัยทั้งหมดที่มีอยู่ฝากให้โยมเกียมช่วยเอาไปทำบุญสร้างอุโบสถที่วัดบ้านนาอ่าง ไม่อยากจะให้สิ่งเหล่านี้เป็นกิเลสติดตัวไปให้เกิดความเป็นห่วงเป็นใยอีกต่อไป


9#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-3 17:54 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เดินเท้าขึ้นสู่ภาคเหนือ

การเตรียมตัวออกเดินทางกับสามเณรดำครั้งนี้ ไม่ได้พกพาสิ่งของอะไรไปมาก นอกจากบาตร จีวร สังฆาฏิ สบงอีก 1 ผืน เท่านั้น เริมออกเดินทางโดยมุ่งหน้าสู่เขตจังหวัดอุดรธานี หนองคาย ส่วนใหญ่จะพักค้างคืนตามป่า ป่าช้าใกล้ๆกับชุมชนหมู่บ้าน เพราะรุ่งขึ้นตอนเช้าต้องอาศัยการออกรับบิณฑบาต ระหว่างการเดินทางออกจากหมู่บ้านหนึ่งไปยังอีกหมู่บ้านหนึ่งใช้วิธีถามจากญาติโยมที่พบกันระหว่างทาง บางแห่งเมื่อทราบว่ามีวัดวาอารามหรือสถานที่สำคัญอันเกี่ยวกับเส้นทางหรือที่เคยอยู่ปฏิบัติธรรมของครูบาอาจารย์รุ่นก่อนๆ ก็จะแวะเข้าไปนมัสการ ทั้งสองเดินเท้าไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงฝั่งแม่น้ำโขงในเขตอำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย ต่อจากนั้นก็เดินเสียบริมฝั่งแม่น้ำโขงไป เพราะไม่มีความจำเป็นต้องถามเส้นทางจากชาวบ้านอีกต่อไป ที่ริมฝั่งโขงนั้นจะมีหมู่บ้าน ย่านชุมชนอาศัยอยู่เป็นระยะๆ และจะมีเรือกสวน ป่ากล้วยติดต่อกันไปตลอดเส้นทางดังนั้น เส้นทางในการเดินทางแต่ละวันจึงจะคล้ายๆกัน คือพอค่ำมืดจะหาที่เหมาะๆ ตามป่ากล้วยที่อยู่ห่างย่านชุมชนหน่อย เป็นที่หลับนอนและที่เจริญสมาธิภาวนา ตอนเช้าออกรับบิณฑบาต ฉันเช้าเสร็จออกเดินทาง นับได้ว่าเป็นการถือธุดงค์แบบรุกขมูลิกังคะ บางแห่งญาติโยมก็มาถวายอาหาร ขอศีลขอพรและขอรับการแสดงธรรมบ้าง เป็นอย่างนี้ไปตลอดเส้นทาง ส่วนข้อตกลงระหว่างหลวงปู่กับสามเณรดำนั้น คือระหว่างการเดินทางให้จัดระยะให้อยู่ห่างกันพอประมาณ หลวงพ่อเดินนำหน้าไปก่อน สามเณรเดินตามหลัง ทั้งนี้เป็นการหลีกเลี่ยงการพูดคุยกัน ยกเว้นกรณีที่จำเป็นจริงๆ หลวงพ่อจึงหยุดชะลอให้สามเณรดำตามทัน จากวันเป็นเดือน จาก 1 เดือน เป็น 5-6 เดือน ตั้งแต่ออกพรรษา จนกระทั่งถึงเทศกาลสงกรานต์ เรื่องวัน เดือน ปี ไม่ต้องพูดถึง ไม่กำหนดสังเกตบ้างก็แต่ข้างขึ้น ข้างแรม เพราะดูจากการเว้าแหว่งของดวงจันทร์เท่านั้นส่วนสถานที่แต่ละแห่งก็อ่านจากป้ายชื่อหมู่บ้านตำบล การเดินธุดงค์ใช้เวลานาน และไกลจนถึงพระธาตุดอยตุง ขึ้นไปนมัสการและพักค้างคืนที่นั่น 3 คืน จึงเดินทางกลับ ขาลงจากภูเขามีปัญหา เดินมาได้ระยะหนึ่งหลวงปู่เกิดอาการปวดน่องและตลอดทั้งสองข้าง เพราะเดินลงแต่ละก้าวต้องเอนตัวให้น้ำหนักมาอยู่ข้างหลัง เป็นการเบรกตัวทุกระยะ จึงเกิดอาการปวดและเกร็งกล้ามเนื้อขาแทบเดินต่อไปไม่ไหว ขณะนั้นก็บังเอิญมีรถตู้ซึ่งกลับจากท่องเที่ยวชมพระตำหนักดอยตุงราชนิเวศ มาจอดแล้วถามว่าหลวงพ่อจะไปไหน พร้อมกับนิมนต์ให้ขึ้นรถกลับลงมาด้วยกัน จนมาถึงอำเภอแม่แตง ตั้งใจว่าจะขึ้นเขาไปจำพรรษาอยู่กับชาวเขาเผ่าต่างๆ แต่มาได้ข้อมูลว่า ชาวเขาส่วนใหญ่เขาไม่นับถือศาสนาพุทธถ้าเสี่ยงขึ้นไปอาจไม่ได้รับความปลอดภัย จึงเปลี่ยนใจไม่ขออยู่กับชาวเขาแต่ก็ยังคิดไม่ออกว่าจะไปอยู่ที่ใด จึงตั้งจิตอธิษฐานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เจ้าที่เจ้าทางหรือเหล่าเทพ เทวดาทั้งหลายว่า สาธุ ขาแต่เหล่าเทพ-เทวา และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายความตั้งใจขอข้า ตั้งแต่เริ่มต้นก่อนออกบวชนั้น หวังจะหาครูบา-อาจารย์และสถานที่บำเพ็ญเพียรภาวนาให้บรรลุถึงซึ่งพระธรรมขั้นวิมุติ อันเป็นที่สิ้นสุดแห่งวัฏฏะแต่มาบัดนี้ ข้า เจอทางต้น สุดปัญญาไม่สามารถมองหาช่องทางที่จะไปถึงเป้าหมายดังกล่าวได้ หากว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่สิงสถิตย์อยู่ ณ ที่นี้มีจริงขอให้ดลบันดาลนำพาให้ข้าพเจ้าไปที่ใดก็ได้ที่จะช่วยในการปฏิบัติพัมนาจิตทำวิปัสสนากัมมัฏฐานให้บรรลุผลไปตามขั้นต่างๆ หรือหากว่าพรหมลิขิตจะกำหนดโชคชะตา นำพาชีวิตของข้าพเจ้า ให้เป็นอย่างไร ก็ขอได้โปรดดลบันดาลด้วยเถิดข้าพเจ้า พร้อมที่จะเผชิญกับวิถีชีวิตข้างหน้านั้นแล้ว

10#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-3 17:54 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
รุ่งเช้าที่อำเภอแม่แตง ขณะที่กำลังจะออกเดินทางมาเมืองเชียงใหม่ก็พอดีมานายแพทย์ใหญ่จากโรงพยาบาลเชียงใหม่จะไปทำบุญ ท่านเห็นหลวงปู่ก็ถามข่าวคราวว่ามาจากไหน จะไปที่ใด หลวงปู่บอกว่ามาจากวัดพระธาตุดอยตุงจะกลับบ้านที่อำนาจเจริญ นายแพทย์ถามว่าค่ารถโดยสารจากเชียงใหม่ไปอำนาจเจริญเท่าไร หลวงปู่บอกว่าไม่ทราบเพราะตั้งแต่เริ่มออกเดินทางมาไม่ได้ขี่รถนายแพทย์จึงถวายปัจจัยให้เป็นค่ารถ 4000 บาท

-ขึ้นรถยนต์จากอำเภอแม่แตง มาถึงสถานีช้างเผือก เจ้าของรถไม่เก็บค่าโดยสาร

-ขึ้นรถจากเชียงใหม่ มาถึงจังหวัดพิษณุโลก เจ้าของรถไม่เก็บค่าโดยสารแถมยังซื้อของถวายอีก จากพิษณุโลก ขึ้นรถสองแถวจะมาขอนแก่น ในรถมีพระมาด้วย 2 รูป มาถึงอำเภอชุมแพ เวลาประมาณ 3 ทุ่ม เจ้าของรถก็ไม่เก็บค่าโดยสารอีก

ถึงอำเภอชุมแพ พระ 2 รูป นั้นบอกว่าจะไปบ้านห้วยส้ม อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย จึงขอตามไปด้วย เพราะทราบว่าที่ภูกระดึง มีภูเขา มีถ้ำเยอะ โดยเหมารถไป 400 บาท คราวนี้ขอจ่ายจริงๆ เพราะตั้งแต่ออกเดินทางจากอำเภอแม่แตงมายังไม่ได้จ่ายค่ารถเลย ความตั้งใจก็ไม่อยากจะครอบครองเงินทองอยู่แล้วมาถึงบ้านห้วยส้ม เวลา 4 ทุ่ม จึงนอนค้างคืนที่บ้านห้วยส้ม 1 คืน รุ่งเช้าพอฉันเช้าเสร็จ พระทั้ง 2 รูป นั้นบอกว่าจะพาไปถ้ำสีทนในเขตภูกระดึง พอเดินทางมาได้สักครู่ก็มีรถ 2 แถว วิ่งมาจอดตรงหน้าแล้วถามว่าหลวงพ่อจะไปไหนหลวงพ่อตอบว่าจะไปหาวัดหรือที่พักสงฆ์ที่มีถ้ำ เพื่อจะอยู่จำพรรษา แต่ยังไม่รู้ว่าจะไปทางไหนดี เจ้าของรถบอกว่า ถ้าอย่างนั้นเหมาะเลย เพราะผมมีเพื่อนคนหนึ่งเขาเป็นครูมาจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เขามาทำไร่มะขามและสร้างวัดใหม่ไว้ที่นั่นซึ่งไม่ห่างจากบ้านห้วยส้มเท่าใดนัก ผมอาสาจะพาไปดู ถ้าไม่ชอบใจจะไปที่ถ้ำสีทนตามที่ตั้งใจไว้ก็ได้ พอไปถึงปรากฏว่าที่พักสงฆ์ที่ว่านี่มีพระสงฆ์อยู่ 1 รูป มีกุฏิ 1 หลัง เป็นที่สัปปายะ เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรภาวนาอย่างดี เมื่อพูดคุยกันทักทายกันได้ไม่นานก็มีเจ้าของสวนมะขามชื่อคุณวิธาน มากราบและถามไถ่ถึงการไปการมา ในที่สุดโยมวิธานก็นิมนต์จำพรรษาอยู่ที่นี่ เมื่อยังมองไม่เห็น และคิดไม่ออกว่าจะไปที่ไหนดี จึงตัดสินใจรับขันนิมนต์ รับปาบว่าจะอยู่ที่นั่น จากนั้นโยมวิธานก็ทำหน้าที่โยมอุปัฏฐากอย่างดี สร้างกุฏิชั่วคราวให้อีก 1 หลัง เป็นอันว่าพรรษาที่ 11 ในปี พ.ศ 2537 หลวงปู่ได้จำพรรษาที่สำนักสงฆ์ห้วยส้ม ตำบลห้วยส้ม อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย

เมื่อใกล้จะถึงวันออกพรรษา หลวงปู่ก็ฝันว่าได้สะพายบาตร แบกกลดเดินทางออกจากสำนักโดยเดินรอบภูเขาและไปเรื่อยๆ พอตื่นขึ้นมาก็คิดทบทวนความฝัน เอามาประกอบกับคำอธิษฐานเมื่อคราวอยู่อำเภอแม่แตงว่า ให้เทพหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์พาไป ดังนั้น เมื่อฝันว่าไดออกเดินทาง จึงได้ตัดสินใจไปตามความฝัน บอกลาโยมวิธานไปทางอำเภอภูหลวง เดินธุดงค์แบบรุกขมูลไปจนถึงเขตอำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู นึกขึ้นได้ว่าพี่เลี้ยงสมัยเป็นเด็กคือแม่อีด แม่นาง ซึ่งทราบว่าขณะนี้ได้อพยพมาอยู่ที่บ้านดงสวรรค์ จึงเดินทางไปเยี่ยม เพื่อหาโอกาสแสดงธรรมโปรด ( โผดผาย ) ทดแทนบุญคุณพี่เลี้ยง เมื่อสมัยยังเป็นเด็กต่อไป

เมื่อไปถึงบ้านดงสวรรค์ บรรดาพี่เลี้ยงและญาติโยมที่ทราบข่าว ต่างดีใจและมากราบไหว้ เพราะส่วนใหญ่ก็เป็นชาวบ้าบนาเยียที่เคยรู้จักกันมาก่อนเขานิมนต์ให้อยู่ที่วัดบ้านดงสวรรค์ แต่ต้องปฏิเสธโดยบอกเหตุผลว่าเป็นพระป่าเป็นอรัญญวาสี สายวิปัสสนากัมมัฏฐาน จึงขอไปอยู่ที่วัดภูซาง ซึ่งไม่ไกลจากบ้านดงสวรรค์นัก เพื่อเป็นการเอาใจให้อยู่ที่นั่น แม่นางถึงกับสละให้สามีออกบวชเป็นเพื่อนเพื่อให้อยู่จำพรรษาที่วัดภูซาง ตำบลดงสวรรค์ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู

พอออกพรรษา พระที่บวชเป็นเพื่อนได้ลาสิกขาบท ชาวบ้านได้ขึ้นไปนิมนต์หลวงปู่ลงมาอยู่ที่ป่าช้าบ้านดงสวรรค์ เพราะอยู่ใกล้บ้าน ที่ป่าช้าแห่งนี้มีพระธุดงค์เคยมาอยู่ก่อน แต่อยู่ได้ไม่นานก็หนีไปโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่ที่แปลกก็คือ ป่าช้าแห่งนี้ใช้สำหรับฝังศพของผีตายโหงเท่านั้น ส่วนชาวบ้านที่ตายเพราะสาเหตุการเจ็บป่วย หรือเหตุอื่นๆ จะไปเผาที่วัดบ้านและวัดทุ่งเท่านั้น

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้