ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 4471
ตอบกลับ: 15
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่บุญ ขนฺธโชติ วัดกลางบางแก้ว ~

[คัดลอกลิงก์]
ประวัติ พระพุทธวิถีนายก (หลวงปู่บุญ ขนฺธโชติ) วัดกลางบางแก้ว
เทพเจ้าแห่งลุ่มน้ำนครชัยศรี



หนึ่งในพระอริยสงฆ์แห่งลุ่มแม่น้ำนครชัยศรี คงไม่มีใครปฏิเสธนามอันเลื่องลือของท่าน พระพุทธวิถีนายก หรือ หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม เป็นแน่แท้ เพราะจริยวัตรอันงดงามสมเป็นพระสุปัติปันโนและทายาทแห่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สร้างสรรค์ผลงานพัฒนาศาสนาไว้มากมาย

            พระพุทธวิถีนายก (หลวงปู่บุญ ขนฺธโชติ) เกิดเมื่อวันจันทร์ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 8 ปีวอก จุลศักราชการ 1210 ย่ำรุ่งใกล้สว่างของวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2391 ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรี ณ บ้านใน ต.ท่าไม้ อ.กระทุ่มแบน  จ.สมุทรสาคร (สมัยนั้นคือ ต.บ้านนางสาว อ.ตลาดใหม่ เมืองนครชัยศรี มลฑลนครชัยศรี ภายหลังเปลี่ยนเป็นบ้านท่าไม้ อ.สามพราน จ.นครปฐม แต่ปัจจุบันโอนไปขึ้นกับ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร) โดยบิดาชื่อ เส็ง มารดาชื่อ ลิ้ม มีพี่น้องรวมอุทรชายหญิงรวม 6 คน ประกอบด้วย

1.     พระพุทธวิถีนายก (หลวงปู่บุญ ขนฺธโชติ)

2.     นางเอม

3.     นางบาง

4.     นางจัน

5.     นายปาน

6.      นายคง

ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-4-30 09:13 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เหตุแห่งมีนามว่า "บุญ"

เมื่อวัยทารก ท่านมีอาการป่วยหนักถึงแก่สลบไป และไม่หายใจในที่สุด บิดามารดาและญาติ เมื่อเห็นว่า ท่านตายเสียแล้วจึงจัดแจงจะเอาท่านไปฝัง แต่ปรากฏว่ายังไม่ทันที่จะได้ฝัง ท่านก็กลับฟื้นขึ้นมา บิดามารดา ได้ถือเอาเหตุนี้ตั้งชื่อให้แก่ท่านว่า "บุญ"

การศึกษาและบรรพชา

เมื่อครั้งที่หลวงปู่ยังอยู่ในวัยเยาว์นั้น โยมทั้งสองได้ย้ายภูมิลำเนามาทำนาที่ตำบลบางช้าง อ.สามพราน  เมื่อท่านอายุได้ ๑๓ ปี โยมบิดาได้ถึงแก่กรรม โยมป้าของท่านจึงนำไปฝากให้ศึกษาเล่าเรียนอยู่กับ พระปลัดทอง ณ วัดกลาง ซึ่งในสมัยนั้นมีชื่อว่า "วัดคงคาราม" ต.ปากน้ำ (ปากคลองบางแก้ว) อ.นครชัยศรี เมื่อท่าน อายุได้ ๑๕ ปีเต็มพระปลัดทองจึงทำการบรรพชาให้เป็นสามเณรและได้อบรมสั่งสอนวิชาความรู้ต่างๆ ให้  เมื่อครั้งนั้นท่านได้รับใช้อย่างใกล้ชิดจึงทำให้เป็นที่รักใคร่ของพระปลัดทอง แต่เมื่อมีอายุได้ใกล้อุปสมบท ท่านมีความจำเป็นต้องลาสิกขาเนื่องด้วยความป่วยไข้เบียดเบียน
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-4-30 09:13 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
อุปสมบท

หลวงปู่อุปสมบทเมื่ออายุได้ ๒๒ ปี ณ พัทธสีมา วัดกลางบางแก้ว เมื่อวันจันทร์เดือน ๘ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีมะเส็ง จุลศักราช ๑๒๓๑ เอกศก เพลาบ่าย ตรงกับวันที่ ๒๑ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๑๒ ในท่ามกลางที่ประชุมสงฆ์ ๓๐ รูป โดยมี พระปลัดปาน เจ้าอาวาสวัดพิไทยทาราม (วัดตุ๊กตา) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระปลัดทอง เจ้าอาวาสวัดกลางบางแก้ว พระอธิการทรัพย์ เจ้าอาวาสวัดงิ้วราย พระครูปริมานุรักษ์ วัดสุประดิษฐานราม และพระอธิการจับ เจ้าอาวาสวัดท่ามอญ ร่วมกันให้สรณาคมณ์กับศีล และสวดกรรมวาจา อนึ่ง การที่มีพระอาจารย์ร่วมพิธีถึง ๔ รูปเช่นนี้ ก็เพราะพระเถระเหล่านี้เป็นที่เคารพนับถือ ของผู้ใหญ่ที่เป็นเจ้าภาพอุปสมบท แล้วพระอุปัชฌาย์ขนานนามฉายาให้ว่า "ขนฺธโชติ" แล้วให้จำพรรษาอยู่กับพระปลัดทอง ที่วัดกลางบางแก้ว

การศึกษาทางปริยัติและปฏิบัติ

หลวงปู่บุญได้รับการวางพื้นฐานในทางธรรมมาอย่างดีแล้ว ตั้งแต่เป็นเด็กวัดและสามเณร ซึ่งช่วงระยะเวลาดังกล่าวประมาณ ๕-๖ ปี ที่ได้อยู่ปรนนิบัติรับใช้พระปลัดทอง จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า พื้นฐานในทางธรรมของท่านถูกถ่ายทอดมาโดยพระปลัดทองทั้งสิ้น อาจารย์อีกรูปหนึ่งของท่านก็คือ พระปลัดปาน เจ้าอาวาส วัดตุ๊กตา ซึ่งจากปากคำของพระครูธรรมวิจารณ์ (ชุ่ม) เจ้าอาวาสวัดศรีสุดาราม (วัดชีปะขาว) บางกอกน้อย  เคยกล่าวไว้ว่า หลวงปู่บุญได้เล่าเรียนกรรมฐานและอาคมกับท่านปลัดปาน อันที่จริงนั้นอาจารย์ที่ถ่ายทอดวิชาความรู้ทางธรรม ทั้งปริยัติและปฏิบัติตลอดจนพระเวท และพุทธาคมให้แก่ท่านยังมีอีกหลายรูป แต่จะกล่าวถึงในถัดไป
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-4-30 09:14 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
สมณศักดิ์และตำแหน่ง

ในปี พ.ศ. ๒๔๒๙ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอธิการปกครองวัดกลางบางแก้ว

ในปี พ.ศ.๒๔๓๑ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระกรรมวาจาจารย์

ในปี พ.ศ. ๒๔๓๓ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะหมวด

ในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ได้รับแต่งตั้งให้เป็น พระอุปัชฌาย์ ต่อมาอีก ๔ เดือน คือวันที่ ๓๐ ธันวาคม ศกเดียวกันก็ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูมีราชทินนามว่า "พระครูอุตรการบดี"  และยกให้เป็นเจ้าคณะแขวง

เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๖๒ ก็ได้รับพระกรุณาโปรดให้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ "พระครูพุทธวิถีนายก" และให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการคณะสงฆ์จังหวัดนครปฐม และ จังหวัดสุพรรณบุรี

ในปี พ.ศ. ๒๔๗๑ ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดให้เลื่อนขึ้นเป็นพระราชาคณะสามัญในราชทินนามที่  "พระพุทธวิถีนายก"

ประวัติชีวิตหลวงปู่บุญที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงส่วนย่อยในทั้งหมดของท่าน เพราะหากจะนำมาเขียนกันจริงๆ คงต้องยืดยาวมาก อีกทั้งได้มีนักเขียนหลายท่านพรรณนาไว้อย่างถูกต้องดีแล้วผู้เขียนจึงเว้นไว้เสีย ไม่นำมากล่าวถึงอีก
5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-4-30 09:14 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เมตตาธรรม

ปกติหลวงปู่เป็นพระที่มีความเมตตากรุณาแก่บุคคลทั้งหลายเป็นอันมาก ได้อุปการะพระลูกวัดตลอดจน สานุศิษย์ และเกื้อกูลชาวบ้านอยู่เป็นนิจ ตลอดอายุขัยของท่าน ทั้งนี้เกิดจากเป็นนิสัยโดยกำเนิดของท่านที่  เป็นผู้มีใจเป็นบุญกุศลและปฏิเสธการกระทำอันเป็นบาปมาตั้งแต่เยาว์วัยแล้ว

ปล่อยปลาหมดข้อง

สมัยเมื่อหลวงปู่ยังเป็นเด็กเล็กๆ อยู่กับโยมทั้งสอง ก็มีลักษณะแปลกกว่าเด็กทั้งหลายคือ ไม่ยอมฆ่าสัตว์ตัดชีวิต และไม่ชอบการจับเอาสัตว์มาเล่น ทรมานเหมือนเด็กอื่นๆ โยมทั้งสองซึ่งมีอาชีพในการทำนานั้น  ขณะว่างจากงานก็จะเที่ยวหาปลาตามหนองน้ำต่างๆ เพื่อมาทำอาหารบริโภคเช่นเดียวกับชาวนาทั้งหลาย  และโยมทั้งสองก็มักจะเอาท่านไปด้วย เพราะท่านเป็นบุตรคนหัวปี โดยมอบหมายให้ท่านสะพายข้องใส่ปลาที่จับได้ ตอนแรกๆ ท่านไม่ยอมไปด้วย ก็ถูกโยมดุว่า ท่านจึงจนใจ ต้องสะพานย่ามติดตามโยมไปด้วย ในวันหนึ่งโยมจับปลาได้มาก ต่างก็พากันดีใจปลดปลาใส่ข้องได้หลายตัว ครั้นกลับมาถึงบ้านเตรียมนำเอาปลามาทำอาหาร  พอเปิดข้องออกดูปรากฏว่า ไม่มีปลาในข้องเลยแม้แต่ตัวเดียว

เมื่อโยมถาม ท่านก็บอกว่าเอาปลาปล่อยไปตามทางหมดแล้ว เป็นอันว่าในวันนั้น แทบจะไม่มีกับข้าวรับประทานกันทั้งบ้าน โยมโกรธท่านมากและไม่ลงโทษเฆี่ยนตีท่านอย่างรุนแรง หลังจากนั้นมา โยมก็มิได้เอาท่านไปหาปลาอีกเลย และท่านก็ได้กลายเป็นเด็กที่ซึมเซาเหงาหงอย เบื่อความมีชีวิตอย่างโลกๆ

หลวงปู่เคยเล่าให้ผู้ใกล้ชิดฟังว่า ท่านมีความรู้สึกมาตั้งแต่เล็กแต่น้อยแล้วว่า ชีวิตทางโลกเป็นหนทางที่มีแต่ความเบียดเบียน และมีความปรารถนาจะเข้าวัดบวชเรียนเสียเร็วๆ และก็ได้มีโอกาสบวชเป็นสามเณร เมื่ออายุได้  ๑๓ ปี และมีชีวิตในทางธรรมมาตลอด
6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-4-30 09:14 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
อำนาจ ตบะเดชะ

แม้ว่าหลวงปู่จะเป็นผู้เฒ่าที่ใจดี แต่ก็ไม่วายที่จะมีคนเกรงกลัวกันมาก กล่าวกันว่าท่านเป็นผู้ที่มีอำนาจในตัว กอปรด้วยท่านเป็นคนพูดน้อย มีแววตากล้าแข็ง จึงไม่ว่าใครๆ ต่างก็พากันเกรงขามท่านกันทั้งนั้น  ใครก็ตามที่มีธุระทุกข์ร้อนมาหาท่าน ท่านก็จะรับเป็นภาระช่วยบำบัดปัดเป่าทุกข์ภัยนั้น ให้ด้วยความเมตตากรุณาโดยทั่วหน้ากัน บางคนมาขอฤกษ์ หรือมาให้ท่านทำนายเกณฑ์ชะตาบอกข่าว ในคราวประสบเคราะห์กรรมต่างๆ บ้างก็ขอให้ท่านรดน้ำพุทธมนต์ หรือมิฉะนั้นก็มาขอยารักษาโรคจากท่าน ครั้นเมื่อท่านจัดการให้เรียบร้อยแล้ว ท่านก็จะนั่งนิ่งๆ ไม่พูดจาว่ากระไรอีก เมื่อคนที่มาหาท่านกราบลากลับไปท่านก็จะลงมือทำงานของท่านต่อไป  โดยปรกติแล้วในวันหนึ่งๆ หลวงปู่หาเวลาว่างจริงๆ ได้ยาก ท่านทำงานของท่านตลอดเวลา เว้นแต่เวลาฉัน  หรือเวลาจำวัดเท่านั้น

บุคลิกพิเศษของหลวงปู่อีกประการหนึ่งทำให้คนเกรงขามก็คือ แววนัยน์ตาอันแข็งกร้าวอย่างมีอำนาจของท่าน ทุกครั้งที่ท่านพูดกับใครนัยน์ตาคู่นี้จะจับต้องนัยน์ตาของผู้นั้นแน่นิ่งอยู่ตลอดเวลา นัยน์ตา ที่ทรง พลังอำนาจเช่นนี้อย่าว่าแต่คนธรรมดาเลย แม้ขุนโจรใจโหดก็จะไม่กล้าสู่นัยน์ตาท่านได้

ครั้งหนึ่งมีพระลูกวัด ๒-๓ องค์ แอบไถลมานั่งคุยกันเล่นอย่างสนุกสนานที่ท้ายน้ำหน้าวัด พร้อมกับร้องทักทายชาวบ้านที่พายเรือผ่านหน้าวัดไปมา โดยละเลยต่อการปฏิบัติศาสนากิจตามกำหนด หลวงปู่เดินมาเห็นเข้า พระเหล่านั้นต่างตัวสั่นงันงกด้วยความหวาดเกรงท่าน มีอยู่องค์หนึ่งที่ตกใจมากกว่าเพื่อนไม่รู้ว่า จะหลบหนีหลวงปู่ไปทางไหนดี เลยโดดหนีลงไปในแม่น้ำต่อหน้าต่อตาท่านทั้งๆ ที่ตอนนั้นเป็นฤดูหนาว และน้ำในแม่น้ำก็เย็นจัด หลวงปู่ได้ร้องบอกว่า

"ขึ้นมาเถอะคุณ เดี๋ยวจะเป็นตะคริวตายเสียเปล่าๆ"

แล้วท่านก็ลงมืออบรมสั่งสอนพระเหล่านั้นให้ประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้อง ทำให้พระทุกองค์พากันเข็ดขยาด ไปอีกนาน

อีกเรื่องหนึ่งที่หลวงพ่อไม่ชอบ ก็คือ ชาวบ้านที่ชอบนุ่งโสร่งเข้าวัด ท่านมักจะปรารภในเรื่องนี้ว่า

"การแต่งกายเป็นเครื่องสอนนิสัยใจคอคน การเข้าวัดเข้าวาไม่ควรนุ่งโสร่งลอยชาย มันไม่สุภาพ ควรนุ่งห่มให้เรียบร้อยสักหน่อยจะสมควร"

ข่าวอันนี้เมื่อล่วงรู้ไปถึงชาวบ้านละแวกนั้นเข้า ก็กลายเป็น ข้อปฏิบัติที่ว่าต่อไปเมื่อใครจะเข้าวัดจะต้องแต่งกายให้เรียบร้อย โดยจะต้องไม่นุ่งโสร่งเป็นอันขาด
7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-4-30 09:14 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
อาพาธและมรณภาพ

ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๑ เป็นต้นมา ซึ่งหลวงปู่ได้รับพระกรุณาโปรดให้เป็นพระราชาคณะที่ พระพุทธวิถีนายก นั้น ท่านมีอายุได้ ๘๑ ปีแล้ว งานบริหารกิจการสงฆ์จังหวัดนครปฐมและสุพรรณบุรีที่ผ่านมา ก็ได้ดำเนินมาด้วยความเรียบร้อย กิจการศาสนาในด้านต่างๆ โดยการนำของท่านก็ประสบแต่ความเจริญรุ่งเรือง ตลอดมาด้วยดี แต่ระยะหลังๆ นี้ หลวงปู่กำลังเข้าสู่วัยชราภาพมากแล้ว สังขารก็ทรุดโทรมร่วงโรยลงไปตามวันเวลา จะเดินทางไปไหนมาไหนแต่ละครั้งก็ไม่สะดวก

ท่านจึงกราบทูลขอลาออกจากคณะสงฆ์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ มีรับสั่งถามหลวงปู่ว่าเวลานี้อายุได้เท่าไร ท่านก็กราบทูลว่า ๘๑ ปีเศษ ทรงรับสั่งว่า

"จงอยู่ไปก่อนเถิด"

ท่านจึงต้องทนปฏิบัติงานต่อไปจนถึง พ.ศ. ๒๔๗๔ อายุ ๘๔ ปี ทางการคณะสงฆ์จึงเห็นเป็นการสมควรพักผ่อนเสียที โดยให้ท่านได้รับพระราชทานยศเป็นกิติมศักดิ์ จึงได้ติดต่อให้กระทรวงศึกษาธิการในสมัยนั้น  นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงโปรดพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ยกเป็นกิติมศักดิ์ หลวงปู่จึงได้พักผ่อนจากการบริหารคณะสงฆ์ คงปฏิบัติแต่กิจพระศาสนา ทำนุบำรุง พระอารามเป็นการภายในแต่นั้นเป็นต้นมา

มีหลักฐานบันทึกต่อไปถึงตอนมรณภาพของหลวงปู่ไว้ว่า

ท่านเจ้าคุณไม่เห็นแก่ความยากลำบาก มุ่งทำกิจที่เป็นสาธารณประโยชน์ทางศาสนา ด้วยความเคารพ อยู่ในธรรมเป็นประมาณ ควรกล่าวว่ามีจรรยา สมกับพุทธภาษิตที่ว่า "อโมฆ ตสฺส ชีวิตา" บุคคลผู้ประพฤติ ธรรมนั้นชีวิตไม่เป็นหมัน หรืออีกนัยหนึ่งซึ่งพ้องกับภาษิตว่า

ดูกรอานนท์ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาใดๆ ประพฤติธรรมสมควรธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง ปฏิบัติธรรมอยู่ ผู้นั้นเชื่อว่าเคารพนับถือบูชาแก่พระตถาคตเจ้า ด้วย การบูชาอันสูงสุดยิ่ง คือมีความเป็นอยู่ ยังหิตานุหิตประโยชน์ให้สำเร็จแก่ตนและหมู่ชนต่างๆ ชั้น ซึ่งเป็นตัวอย่างอันดี ที่ธีรชนผู้หวังคุณงามความดี น่าจะพึงดำเนินตามต่อไป

หากว่าเจ้าคุณท่านยังมีชีวิตอยู่ คงทำประโยชน์ซึ่งเป็นสาธารณะทางพระพุทธศาสนาอีกมาก แต่นี่ท่านมาถึงมรณภาพเสียเมื่อ วันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ ตรงกับวันจันทร์ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๕  ปีชวด เวลา ๑๐.๔๕ น. โดยโรคคาพาธ ณ กุฏิของท่าน สิริรวมอายุท่านโดยปีได้ ๘๙ พรรษา ๖๗

ทั้งนี้ ก็เพราะสังขารของท่านประกอบด้วยชราภาพ จึงได้แปรปรวนยักย้ายไปตามธรรมดา ถึงแม้ว่าท่าน มรณภาพไปแล้วก็ดี คุณงามความดีซึ่งกระทำไว้ ก็ปรากฏตลอดมาจนบัดนี้ และคงปรากฏต่อไปอีกชั่วกาลนาน
8#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-4-30 09:15 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
วัตถุมงคลและของขลัง

            ยามเมื่อ พระพุทธวิถีนายก (หลวงปู่บุญ ขนฺธโชติ) ว่างจากภารกิจของสงฆ์และการช่วยเหลือญาติโยม ผู้ศรัทธา ท่านมักจะใช้เวลาว่างในการสร้างวัตถุมงคลแจกญาติโยม พระเครื่องมีทั้งเนื้อโลหะ เนื้อผงพุทธคุณ เนื้อผงยาจินดามณี และเนื้อดิน มีด้วยกันมากมายหลายพิมพ์ เช่น พิมพ์สมเด็จ พิมพ์รัศมีสมาธิ พิมพ์เศียรโล้นสะดุ้งกลับ พิมพ์สมาธิซุ้มเว้า-ซุ้มแหลม พระสังกัจจายน์ (แบบบูชา-คล้องคอ) นางกวัก (แบบบูชา-คลองคอ) ขุนแผน พิมพ์ลีลาหนังตะลุง และพระพิมพ์แปลก ๆ อีกมากมายแล้วแต่ท่านจะคิดขึ้นมา โดยที่ได้รับความนิยมมาก ๆ คือ เบี้ยแก้ เหรียญเจ้าสัว พระพิมพ์เศียรโล้นสะดุ้งกลับเนื้อผงยาจินดามณี (มีทั้งจุ่มรัก-ไม่จุ่มรัก) พิมพ์ลีลาหนังตะลุงเนื้อผงยาจินดามณี (ชุบรัก-ไม่ชุบรัก) นางกวัก เป็นต้น

ใครคืออาจารย์ "เบี้ยแก้" ของหลวงปู่

การที่หยิบยกเอาความเข้าใจที่ไม่สอดคล้องกันเรื่องการเรียนเบี้ยแก้ของหลวงปู่บุญนั้น หาได้มีความ
ประสงค์จะเป็นผู้ตัดสิน หรือชี้ขาดว่าข้อมูลไหนถูกต้องและอันไหนผิดพลาด หากแต่ต้องการแสดงทัศนะ
ส่วนตัวเพื่อจะได้ร่วมกันคิดและวินิจฉัยว่า อันไหนจะใกล้เคียงความเป็นจริงกว่ากันบางท่านบอกว่าหลวงปู่
บุญเรียนวิชาทำเบี้ยแก้มาจากหลวงปู่รอด วัดโคนอน (ผู้เป็นอาจารย์ของพระภวนาโกศลเถระ (เอี่ยม) หรือ
เจ้าคุณเฒ่าวัดหนัง) บ้างก็ว่าเรียนมาจากอาจารย์ฆราวาสชาวมอญ ซึ่ง เร่ร่อนมาจอดเรือหน้าวัดหรือบางท่าน
บอกว่าเรียนมาจากหลวงปู่รอด วัดนายโรงหรือหลวงปู่แขกผู้เป็นชีปะขาว ก่อนที่ผู้เขียนจะแสดงทัศนะส่วนตัว
เรื่องวิชาเบี้ยแก้ของหลวงปู่บุญนั้นเราลองมาทำความรู้ จัดกับเบี้ยแก้ก่อน

เบี้ยแก้คืออะไร

เบี้ยแก้ คือ เครื่องรางชนิดหนึ่ง ซึ่งมีอุปเท่ห์การใช้มากมายหลายอย่าง ทั้งกันและแก้สิ่งชั่วร้ายเสนียด
จัญไร คุณไสย คุณคน คุณผี บาเบื่อ ยาเมา ทั้งหลาย คณาจารย์ยุคเก่าที่สร้างเครื่องรางประเภทเบี้ยแก้
เอาไว้มีด้วยกันหลายรูป แต่ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด เห็นจะมีอยู่เพียง ๒ รูปคือ หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว
และหลวงปู่รอด วัดนายโรง นอกนั้นก็มีชื่อเสียงอยู่เฉพาะพื้นที่ เช่น หลวงพ่อพักตร์ วัดโบสถ์ จ.อ่างทอง ,
หลวงพ่อม่วง, หลวงพ่อทัต, หลวงพ่อพลอย วัดคฤหบดี บางยี่ขัน, หลวงพ่อแขก วัดบางบำหรุ, หลวงพ่อคำ
วัดโพธิ์ปล้ำ, หลวงพ่อนุ่ม วัดนางใน จ.อ่างทอง และมีอาจารย์อื่นอีกที่สร้างได้แต่ไม่แพร่หลาย

9#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-4-30 09:15 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
วิธีการสร้างเบี้ยแก้

เมื่อหาตัวเบี้ยมาได้แล้ว (เบี้ยพวกนี้ไม่ค่อยพบในบ้านเรา สมัยก่อนต้องหาซื้อตามร้านเครื่องยาจีน
เข้าใจว่าเบี้ยที่นำมาใช้นี้จะถูกนำเข้ามาพร้อมกับสินค้าจากประเทศจีนในอดีต.....ผู้เขียน) คณาจารย์
ผู้สร้างก็บรรจุปรอทที่ปลุกเสกแล้วเข้าไปในตัวเบี้ย แล้วหาวิธีอุดมิให้ปรอทไหลออกมาได้ (ปรอทที่ใช้
นี้เป็นปรอท หรือปรอทดินโบราณมีวิธีการจับปรอทโดยนำไข่เน่าไปทิ้งไว้ในน้ำครำไม่ช้าปรอทจะกิน
ไข่เน่าจนเต็ม)

ปรอทมีคุณสมบัติเป็นของเหลวลื่นไหลการจะนำปรอทมาบรรจุเบี้ยแก้ คณาจารย์ผู้สร้างจำต้องมีพระเวท
เข้มขลัง เพราะต้องใช้พระเวทฆ่าปรอทหรือบังคับให้ปรอทรวมตัวกันอยู่ในเบี้ยบางราย ถึงกับบริกรรมพระเวท
เรียกปรอทเข้าในตัวเบี้ยได้เอง การปิดปากเบี้ยเพื่อกันไม่ให้ปรอทไหลออกมาได้นั้นนิยมเอาชันโรงใต้ดิน
ที่ปลุกเสกแล้วมาอุดใต้ท้องเบี้ยให้สนิทเรียบร้อย แล้วจึงหุ้มด้วยวัสดุอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ผ้าแดง แผ่นตะกั่ว
แผ่นทองแดง วัสดุที่ใช้หุ้มหรือปิดนี้ก็ต้องลงอักขระเลขยันต์และปลุกเสกกำกับด้วย เช่นเบี้ยแก้หลวงปู่บุญ
วัดกลางบางแก้วจะมีลวดทองแดงขดเป็นห่วง ๓ ห่วง เพื่อให้ใช้เชือกคล้องคาดเอว

เบี้ยแก้ที่ผ่านการบรรจุปรอทจนกระทั่งถักหุ้มเรียบร้อยแล้ว ก็ยังไม่ถือว่าเสร็จสิ้นขึ้นตอนกรรมวิธี
เพราะคณาจารย์เจ้าผู้สร้างท่านต้องปลุกเสกกำกับอีกจนมั่นใจว่าใช้ได้จริงๆ แล้วเล่ากันว่า คณาจารย์บางรูป
สามารถปลุกเสกเบี้ยแก้ จนกระทั่งตัวเบี้ยคลานได้ เรื่องนี้ไม่ใช่ผู้เขียนเขียนขึ้นมาเอง หากแต่ได้รับการบอก
เล่าจากหลวงพ่อพระครูรัตนโสภณ เจ้าอาวาสวัดบางบำหรุ ซึ่งท่านกรุณาเล่าว่า สมภารฉายอาจารย์ของท่าน
และเป็นเจ้าอาวาสวัดบางบำหรุก่อนท่านเคยสร้างเบี้ยแก้เอาไว้ และสามารถปลุกเสกเบี้ยแก้จนตัวเบี้ย
คลานได้เหมือนหอย เมื่อเขียนมาถึงตรงนี้ ก็จะเข้าประเด็นที่ ขึ้นต้นเอาไว้ว่า

หลวงปู่บุญท่านได้รับการถ่ายทอดวิชาเบี้ยแก้มาจากท่านใด
10#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-4-30 09:16 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ตามทัศนะของผู้เขียน ไม่เห็นด้วยกับข้อมูลที่บอกว่าหลวงปู่บุญ ท่านเรียนเบี้ยแก้มาจากหลวงปู่แขก
ซึ่งบางท่านบอกว่าเป็นชีปะขาวบางท่านบอกว่าเป็นสมภารวัดบางบำหรุ และยังระบุต่อไปอีกว่า หลวงปู่แขก
ที่กล่าวถึงนี้เป็นอาจารย์ของหลวงปู่รอด วัดนายโรง

ตามข้อมูลที่ผู้เขียนสืบค้นได้นั้น หลวงปู่รอดวัดนายโรง ท่านมีชีวิตอยู่ก่อนหน้าหลวงปู่แขกนานนัก
และหลวงปู่แขกที่ว่านี้ ก็มิได้เป็นชีปะขาว หากแต่เป็นสมภารวัดบางบำหรุต่อจากสมภารพรหมเจ้าอาวาส
วัดบางบำหรุรูปแรก เท่าที่มีประวัติคือ สมภารพรหมครองวัดบางบำหรุอยู่ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๕๖-๒๔๖๑
ถัดมาก็เป็นสมภารแขกซึ่งบอกไว้แต่เพียงว่าตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๖๑ ถัดจากสมภารแขกก็เป็นสมภารฉาย
ครองวัดอยู่จนถึง พ.ศ. ๒๔๘๐ หากจะคำนวณอายุดู หลวงปู่แขกไม่น่าจะมีอายุแก่กว่าหลวงปู่บุญ
อย่างมากก็คงจะรุ่นราวคราวเดียวกัน หรืออาจจะอ่อนกว่าเสียด้วยซ้ำเพราะหลวงพ่อรัตน์เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า
"เมื่อท่านยังเป็นเด็กวัดอยู่นั้น สมภารแขกมี ชื่อเสียงโด่งดังมาก อายุขณะนั้นประมาณ ๗๐-๘๐ ปี หากนับ
ถึงปัจจุบันก็คงจะรุ่นๆ เดียวกับหลวงปู่บุญ จึงเป็นไปไม่ได้ที่สมภารแขกจะเป็นอาจารย์ของหลวงปู่รอด
และหลวงปู่บุญ แต่อาจเป็นไปได้ว่า หลวงปู่รอดที่เป็นอาจารย์ถ่ายทอดวิชาเบี้ยแก้ให้กับหลวงปู่บุญ
และหลวงปู่แขก เพราะหลวงปู่รอดนั้นท่านมีอายุนั้นในรุ่นหลังของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ไม่มากนัก
(คงมีอายุห่างจากสมเด็จฯ ประมาณ ๓๐ ปี-ผู้เขียน)

ตามหลังสือประวัติวัดทั่วราชอาณาจักรซึ่งกรมาการศาสนาเป็นผู้จัดพิมพ์นั้น ระบุว่าหลวงปู่รอดเป็น
สมภารรูปแรกของวัดนายโรง เพราะฉะนั้นในกระบวนเบี้ยแก้ทั้งหมดเท่าที่พบเห็นกันอยู่ต้องถือว่า เบี้ยแก้
ของหลวงปู่รอดวัดนายโรงเก่าแก่ที่สุด ส่วนสาเหตุที่น่าเชื่อว่าหลวงปู่แขกกับหลวงปู่บุญ มีความสัมพันธ์
กันก็เพราะว่า พื้นเพเดิมของหลวงปู่แขกนั้น ท่านเป็นชาวนครชัยศรีเช่นเดียวกับหลวงปู่บุญจึงน่าจะเป็น
ไปได้ว่า หลวงปู่บุญท่านอาจจะไปมาหาสู่กับหลวงปู่แขก และได้มาทราบกิติศัพท์และเกียรติคุณของ
หลวงปู่รอด วัดนายโรง เมื่อคราวมาเยี่ยมหลวงปู่แขกที่วัดบางบำหรุ จึงได้ขอเรียนวิชาทำเบี้ยแก้กับ
หลวงปู่รอด

อนึ่งหลวงพ่อรัตน์วัดบางบำหรุเล่าว่า สมภารพรหม เจ้าอาวาสวัดบางบำหรุก่อนหลวงปู่แขกก็อยู่ใน
ฐานะศิษย์ของหลวงปู่รอด วัดนายโรง เอาละครับผู้เขียนขอเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างเบี้ยแก้
ของหลวงปู่บุญไว้เพียงเท่านี้ ผิดถูกเท็จจริงประการใดขอให้อยู่ในดุลยพินิจของท่านผู้รู้ทั้งหลายด้วย
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้