ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 4060
ตอบกลับ: 12
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

••• ประวัติตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชไทย •••

[คัดลอกลิงก์]


ประวัติตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชไทย

“สังฆราช” แปลว่า ราชาของสงฆ์ ราชาของหมู่คณะ
หมายถึง พระมหาเถระผู้เป็นใหญ่สูงสุดในสังฆมณฑล
เรียกอย่างเต็มว่า “สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก”    

และเรียกอย่างย่อว่า    “สมเด็จพระสังฆราช”
นอกจากนี้ สังฆราช อีกความหมายหนึ่งยังเป็นชื่อเรียก
ตำแหน่งพระมหาเถระผู้ใหญ่สูงสุด เช่นนั้นโดยเรียกว่า
ตำแหน่งสังฆราช หรือตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช

สังฆราช ในสังฆมณฑลไทย
กฎหมายได้กำหนดให้มีพระองค์เดียวมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล
ทั้งนี้เพื่อป้องกันความแตกแยกสามัคคีที่จะเกิดขึ้นในหมู่สงฆ์
จึงเท่ากับตำแหน่งนี้ดำรงอยู่ในฐานะ “พระสังฆบิดร” ด้วย

สมเด็จพระสังฆราช หรือสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก
เป็นตำแหน่งอันทรงสมณศักดิ์สูงสุดฝ่ายพุทธจักรของคณะสงฆ์ไทย
ทรงเป็นประธานการปกครองคณะสงฆ์ และเป็นตำแหน่งที่มีมานานแล้ว
ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย (พ.ศ. ๑๘๐๐-๑๙๘๑)
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-29 07:31 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
สันนิษฐานว่าคณะสงฆ์ไทยได้นำแบบอย่างมาจากลัทธิลังกาวงศ์
ซึ่งพ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้ทรงอัญเชิญ
พระเถระผู้ใหญ่ของลังกาที่เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎก
เข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทในประเทศไทย
ดังมีจารึกปรากฏไว้ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ราว พ.ศ. ๑๘๓๕ ว่า

“พระนครสุโขทัย มีสังฆราช มีปู่ครู มีมหาเถร  มีเถร”

นอกจากนี้ใน “ตำนานคณะสงฆ์” ที่
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้  
ได้ทรงกล่าวถึงการปกครองของคณะสงฆ์ในสมัยกรุงศรีสุโขทัย” ว่า

“สมณศักดิ์ในสยามประเทศที่ได้พบหลักฐานเป็นเก่าก่อนที่สุด
มีในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง  ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ ๓
ในราชวงศ์พระร่วงครองกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี  
จารึกไว้เมื่อราว  พ.ศ.  ๑๘๓๕  

ว่าพระนครสุโขทัย  มีสังฆราช  มีปู่ครู  มีมหาเถระและมีเถระสังฆราช  
เห็นจะเป็นตำแหน่งสังฆนายกชั้นสูงสุด  
ตำแหน่งปู่ครูตรงกับที่เราเรียกว่าพระครูทุกวันนี้  
เป็นตำแหน่งสังฆนายกรองลงมาจากสังฆราช  

แต่มหาเถระที่กล่าวในศิลาจารึกนั้น  
เห็นจะเป็นแต่หมายความว่า  
พระภิกษุซึ่งมีพรรษาอายุและทรงคุณธรรม
ในทางพระศาสนาเป็นมหาเถระและเถระตามพระวินัยบัญญัติ  
มิใช่เป็นสมณศักดิ์ที่พระเจ้าแผ่นดินทรงตั้ง
เหตุใดจึงเรียกตำแหน่งสังฆนายกว่า  สังฆราชปู่ครู  

ข้อนี้มีเค้าที่จะพึงสันนิษฐานได้ด้วยยศพราหมณ์  
ซึ่งปรากฏมียศเป็นพระราชครูและพระครู  
(ในครั้งนั้นเห็นจะยังเรียกว่าปู่ครูอย่างศิลาจารึก)  

ด้วยพราหมณ์เป็นผู้สั่งสอนแบบแผนประเพณี  
ข้างฝ่ายพระราชอาณาจักร  
ตั้งแต่เมื่อครั้งขอมยังเป็นใหญ่ในประเทศนี้  
เมื่อไทยได้มาปกครองสยามประเทศ  
ลงมาตั้งราชธานีที่พระนครสุโขทัย  
เชื่อได้ว่าคติพราหมณ์มีมั่นคงในที่นั้นมาแต่ก่อนแล้ว  

เมื่อมามีพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนามากขึ้น  
พระเจ้าแผ่นดินทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา  
ทรงพระราชดำริเห็นสมควรจะต้องยกย่องให้สังฆราช  แลปู่ครูโดยอันดับกัน  
ตำแหน่งพระสังฆราชที่ไม่เรียกว่า  พระราชครู  
จะเป็นเพราะเหตุที่พระภิกษุสงฆ์เป็นผู้สอน

แต่ธรรมวินัยฝ่ายพระศาสนาไม่ได้เป็นข้าเฝ้าเข้ารับราชการเหมือนพราหมณ์  
สังฆนายกมีหน้าที่แต่งบังคับบัญชาว่ากล่าวพระภิกษุสงฆ์บริษัท  
จึงเรียกว่าสังฆราชา  
ทางที่จะเดามูลเหตุที่เรียกสังฆนายกว่า พระสังฆราชและปู่ครู  
ข้าพเจ้าคิดเห็นแต่ทางเดียวเท่านั้น”

3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-29 07:32 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
“ในประเทศสยาม  เมื่อพระนครสุโขทัยเป็นราชธานี  
เห็นจะมีพระสังฆราชกว่าองค์เดียว
ด้วยวิธีปกครองพระราชอาณาจักรในครั้งนั้น  
หัวเมืองใหญ่ที่ห่างไกลราชธานี  
เป็นเมืองประเทศราชโดยมากแม้เมืองที่อยู่ใกล้ราชธานี  
ที่เป็นเมืองใหญ่ก็ตั้งเจ้านายในราชวงศ์ออกไปครองอย่างทำนองเจ้าประเทศราช  
เมืองใหญ่เมือง  ๑  น่าจะมีพระสังฆราชองค์  ๑  เป็นสังฆปรินายก
ของสงฆ์บริษัทตลอดเขตเมืองนั้น  
ความที่กล่าวข้อนี้มีเค้าเงื่อนปรากฏในทำเนียบชั้นหลัง  
ยังเรียกเจ้าคณะเมืองว่า  พระสังฆราชาอยู่หลายเมือง  
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพึ่งทรงเปลี่ยนแปลงเป็นสังฆปาโมกข์  
เมื่อรัชกาลที่  ๔  กรุงรัตนโกสินทร์นี้  

แต่สำนวนตำแหน่งปู่ครูนั้นเปลี่ยนเรียกเป็นพระครูแต่ในครั้งสุโขทัย  
ดังจะปรากฏต่อไปข้างหน้า  
เชื่อได้แต่ว่า  ตำแหน่งพระครูเป็นตำแหน่งสังฆนายก  
รองแต่สังฆราชลงมาเมืองใหญ่มีเมืองละหลายๆ  องค์  
ถ้าเป็นเมืองน้อย สังฆปรินายกก็มีสมณศักดิ์เป็นแต่ปู่ครู”

“ฝ่ายคติข้างลังกาเขาก็มีสมณศักดิ์เป็น  ๒  ชั้น  
ชั้นสูง  “มหาสวามี” ชั้นรองลงมาเรียกว่า “สวามี”  
มิได้เรียกว่าสังฆราชและปู่ครูอย่างในประเทศสยาม  
ข้าพเจ้าเข้าใจว่าสมณศักดิ์อย่างลังกา
ก็ตรงกับในสยามประเทศในสมัยเดียวกันนั้น  
เพราะมีพยานปรากฏในศิลาจารึกของพระมหาธรรมราชา  (ลิไท)
ซึ่งเป็นพระราชนัดดาของพระเจ้ารามคำแหงได้เสวยราชย์  ณ  กรุงสุโขทัย
ภายหลังพระเจ้ารามคำแหงประมาณ  ๗๐  ปีเศษ  

ว่าเมื่อ  พ.ศ.  ๑๙๐๔  ได้โปรดให้ราชบุรุษไปอาราธนา  
พระสวามีสังฆราชมาแต่ลังกาทวีป
การที่ใช้ศัพท์มหาสวามีกับสังฆราชควบกันเช่นนี้  
ทำให้เห็นได้ว่า  เทียบ  ๒  ตำแหน่งนั้น  
ตรงกับการปกครองคณะสงฆ์ครั้งพระนครสุโขทัยเป็นราชธานี  
ตามที่ปรกกฎในศิลาจารึกได้ความเพียงเท่านี้”

“แต่มีหนังสือพงศาวดารเหนืออีกแห่ง  ๑  ว่า  
ในครั้งพระนครสุโขทัยเป็นราชธานีนั้น  
จัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์เป็นฝ่ายขวาฝ่าย ๑ ฝ่ายซ้ายฝ่าย ๑
และมีราชทินนามสำหรับสังฆนายกดังนี้”

          “ฝ่ายขวา พระสังฆราช                อยู่วัดมหาธาตุ
                                  พระครูธรรมไตรโลก           อยู่วัดเขาอินทรแก้ว
                                  พระครูยาโชค                อยู่วัดอุทยานใหญ่
                                  พระครูธรรมเสนา               อยู่วัดไหนไม่ปรากฏ

       ฝ่ายซ้าย  พระครูธรรมราชา               อยู่วัดไตรภูมิป่าแก้ว
(ชื่อป่าแก้วเห็นจะเติมเข้าในครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี)

                                  พระครูญาณไตรโลก   อยู่วัดไหนไม่ปรากฏ
                                  พระครูญาณสิทธิ์               อยู่วัดไหนไม่ปรากฏ”

“ทำเนียบคณะสงฆ์ที่ปรากฏในหนังสือพงศาวดารเหนือดังนี้  
อาจจะเป็นการซึ่งจัดขึ้นในครั้งพระมหาธรรมราชา (ลิไท)
ถ้าจริงดังนั้น  เห็นได้ว่าในชั้นหลังลงมา  
วิธีปกครองคณะสงฆ์ครั้งสุโขทัยแปลกกว่าเดิม  ๒  อย่าง คือ  
แยกการปกครองออกเป็น  ๒  คณะ  อย่าง  ๑  
เกิดประเพณีมีราชทินนามที่พระเจ้าแผ่นดินทรงตั้งสังฆนายกขึ้นอีกอย่าง ๑  
ทั้ง  ๒  อย่างนี้เป็นต้นเค้าของลักษณะปกครองคณะสงฆ์  
ซึ่งมีสืบมาในสยามประเทศจนตราบเท่าทุกวันนี้”

4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-29 07:33 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชนั้นมีประจำสังฆมณฑลตลอดมา
จนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา และสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
แต่ไม่มีทำเนียบหรือการบันทึกพระประวัติไว้โดยละเอียด
เพิ่งจะมีทำเนียบเป็นหลักฐานในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง
นับแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๙ รัชกาลปัจจุบัน
โดยมีพระมหาเถระได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จสังฆราช ๑๙ องค์
รวมทั้งองค์ปัจจุบัน มีพระนามสองอย่าง
หากเป็นเจ้านายเชื้อพระวงศ์ จะมีคำนำหน้าพระนามว่า
“สมเด็จพระสังฆราชเจ้า” หรือ “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า”
หากเป็นสามัญชนมีคำนำหน้าว่า “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ”

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. ๑๙๘๑-๒๓๑๐)
ได้มีการเพิ่มตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชเป็น สกลมหาสังฆปรินายก
มีอำนาจว่ากล่าวออกไปถึงหัวเมือง
โดยมีพระสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายคามวาสี เป็นสังฆราชขวา
สมเด็จพระวันรัต เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายอรัญวาสี เป็นสังฆราชซ้าย
องค์ใดมีพรรษายุกาลมากกว่า ก็ได้เป็นพระสังฆราช

ในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา
พระอริยมุนี ได้ไปสืบอายุพระพุทธศาสนาที่ลังกาทวีป มีความชอบมาก
เมื่อกลับมาได้รับสมณศักดิ์สูงขึ้นตามลำดับจนเป็นสมเด็จพระสังฆราช
พระเจ้าเอกทัศน์มีพระราชดำริให้คงราชทินนามนี้ไว้
จึงทรงตั้งราชทินนามสมเด็จพระสังฆราชเป็น
“สมเด็จพระอริยวงศาสังฆราชาธิบดี”
และมาเป็น “สมเด็จพระอริยวงษญาณ” ในสมัยกรุงธนบุรี
และได้ใช้ต่อมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ ๔  
จึงได้ทรงแก้เป็น “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ”
ซึ่งได้ใช้พระนามนี้สืบมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

ตามทำเนียบสมณศักดิ์ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาซึ่งมีตำแหน่งสังฆปรินายก ๒ องค์
ที่เรียกว่า พระสังฆราชซ้าย-ขวา ดังกล่าวแล้วนั้น
ยังมีคำอธิบายอีกประการหนึ่งว่า
“สมเด็จพระอริยวงศ์” เป็นพระสังฆราชฝ่ายขวาว่า “คณะเหนือ”
“พระพนรัตน์” เป็นพระสังฆราชฝ่ายซ้ายว่า “คณะใต้”
มีสุพรรณบัฏจารึกพระนามเมื่อทรงตั้งทั้ง ๒ องค์
5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-29 07:35 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


การวางรูปแบบการปกครองคณะสงฆ์ของไทย  

แบบแผนการปกครองคณะสงฆ์ของไทย เริ่มจัดวางหลักตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย
มีการพัฒนาเพิ่มเติมใน สมัยกรุงศรีอยุธยาและต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ก็ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบ้างเล็กน้อยมาตามลำดับ
จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ ๗
การปกครองคณะสงฆ์ก็ยังจัดโดยมีตำแหน่งเปรียบเทียบดังนี้

สกลสังฆปรินายก        ได้แก่        สมเด็จพระสังฆราช
มหาสังฆนายก        ได้แก่      เจ้าคณะใหญ่
สังฆนายก                   ได้แก่        เจ้าคณะรอง
มหาสังฆปาโมกข์        ได้แก่        เจ้าคณะมณฑล  
สังฆปาโมกข์         ได้แก่      เจ้าคณะจังหวัดที่เป็นพระราชาคณะ
สังฆวาห        ได้แก่        เจ้าคณะจังหวัดที่เป็นพระครู

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ
ให้สถาปนาเปลี่ยนคำนำพระนามพระบรมราชวงค์ผู้ดำรงสมณศักดิ์
ในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชขึ้นใหม่ว่า “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า”
ทรงเศวตฉัตร ๕ ชั้น พระราชวงค์ชั้นรองลงมา

เท่าที่ปรากฏ มีชั้นหม่อมเจ้าผู้ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช
มีคำนำหน้า พระนามว่า สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงฉัตร ๕ ชั้น

ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๕๐๕
ได้บัญญัติถึงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชได้ว่า

ในกรณีตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง
ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการประกาศนาม
สมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสสูงสุดโดยพรรษา
เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช

จากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
นำพระนามสมเด็จพระราชาคณะ ๔ รูป
คือ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ สมเด็จพระวันรัต
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ และสมเด็จพระพุฒาจารย์

เสนอนายกรัฐมนตรี เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

แล้วนำกราบถวายบังคมทูล ให้พระมหากษัตริย์ทรงวินิจฉัย
และจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ
สถาปนาสมเด็จพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่ง
ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นสมเด็จพระสังฆราชต่อไป
6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-29 07:36 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
รายละเอียดเกี่ยวกับพระสังฆราช  ที่ระบุไว้เป็นมาตรา
ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕  มีดังนี้


         พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕
                       ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
       ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๕
                 เป็นปีที่ ๑๗ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้
โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาร้างรัฐธรรมนูญในฐานะรัฐสภา ดังต่อไปนี้

                                 หมวด ๑
                        สมเด็จพระสังฆราช


มาตรา ๗         พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช

มาตรา ๘         สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก
ทรงบัญชาการคณะสงฆ์ และทรงตราพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช
โดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายพระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม

มาตรา ๙         สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมหาเถรสมาคม

มาตรา ๑๐              ในเมื่อไม่มีสมเด็จพระสังฆราช
ให้สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยพรรษา
ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

ในเมื่อสมเด็จพระสังฆราชจะไม่ประทับอยู่ในอาณาจักร
หรือไม่อาจทรงปฏิบัติหน้าที่ได้ สมเด็จพระสังฆราชจะได้ทรงแต่งตั้ง
ให้สมเด็จพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่ง ปฏิบัติหน้าที่แทน
ถ้ามิได้ทรงแต่งตั้งไว้ ให้สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยพรรษา
ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

ในกรณีที่สมเด็จพระราชาคณะซึ่งได้รับแต่งตั้ง
ให้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช
ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชได้
ให้สมเด็จพระราชาคณะรูปอื่นผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยพรรษา
ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

ในกรณีที่สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยพรรษา
ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชได้
ให้สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสรองลงมาโดยพรรษาตามลำดับ
ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการประกาศนามสมเด็จพระราชาคณะ
ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชตามมาตรานี้ในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา ๑๑ สมเด็จพระสังฆราชพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

                   (๑) มรณภาพ
                   (๒) พ้นจากความเป็นพระภิกษุ
                   (๓) ลาออก
                   (๔) ทรงพระกรุณาโปรดให้ออก

7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-29 07:37 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
การสถาปนา  

        พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้สถาปนาสมเด็จพระสังฆราช
การสถาปนาฐานันดรศักดิ์ และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นั้น
เป็นพระอำนาจของพระมหากษัตริย์ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
เป็นการถวายพระราชอำนาจไว้ให้ทรงสถาปนาได้ตามพระราชอัธยาศัย
ตามที่ทรงพระราชดำริเห็นสมควร
ในการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช  มีข้อควรทราบอยู่ ๓ ประการ คือ

                ๑. คุณสมบัติของผู้ควรได้รับการสถาปนา
                ๒. พิธีการสถาปนา
                ๓. ความเห็นของมหาเถรสมาคม

คุณสมบัติของผู้ควรได้รับการสถาปนา   

๑. ต้องเป็นสมเด็จพระราชาคณะ
๒. มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ *
๓. มีศีลสมาจารวัตรเพียงพร้อม ไม่ด่างพร้อย
เป็นที่เคารพสักการะของคณะสงฆ์และประชาชน และ
๔. ได้บำเพ็ญศาสนกิจเป็นประโยชน์แก่พระศาสนาและ
ราชอาณาจักรเป็นอย่างมาก ทั้งยังสามารถปฏิบัติภารกิจต่อไปได้

(* มาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕
ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ บัญญัติให้

พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง

ในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง
ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม
เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์
ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช

ในกรณีที่สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้
ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม
เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่นผู้มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์รองลงมาตามลำดับ
และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช)

8#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-29 07:39 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พิธีการสถาปนา             
     
๑. การดำเนินการ
๒. การตั้งพระราชพิธีสถาปนา

การดำเนินการสถาปนา  
        
เมื่อตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง
กระทรวงศึกษาธิการโดยกรมการศาสนา
ซึ่งมีอธิบดีเป็นเลขาธิการมหาเถรสมาคม
จะรวบรวมพระประวัติและผลงานของสมเด็จพระราชาคณะทุกรูป
เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา
แล้วนายกรัฐมนตรีนำขึ้นกราบบังคมทูล
เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงพิจารณาวินิจฉัย
สถาปนารูปใดรูปหนึ่งขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชตามพระราชอัธยาศัย

แล้วจะมีพระบรมราชโองการประกาศสถาปนา
นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

การตั้งพระราชพิธีสถาปนา    
        
แต่เดิมไม่ได้กำหนดพิธีสถาปนาขึ้นเป็นพิเศษ
โดยให้ถือเอาวันเฉลิมพระชนมพรรษา
หรือวันฉัตรมลคลเป็นวันพิธีสถาปนา
ร่วมกับพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาหรือฉัตรมงคล
แล้วแต่เวลาสถาปนาจะอยู่ใกล้กับวันพระราชพิธีใด

ต่อมาเมื่อครั้งทรงสถาปนา สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (จวน อุฎฐายี)
ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชในปีพุทธศักราช ๒๕๐๘

ทรงดำริว่า ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชสำคัญยิ่งในพระพุทธศาสนา
สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงสมณศักดิ์สูงสุด
เป็นสกลมหาสังฆปริณายก ประธานาธิบดีสงฆ์
ทรงเป็นที่เคารพสักการะและเป็นจุดรวมศรัทธาปสาทะของพุทธบริษัท
ทั้งในและนอกราชอาณาจักร
สมควรจัดพิธีสถาปนาขึ้นเป็นพิเศษต่างหาก     
ไม่ถือเอาวันเฉลิมพระชนมพรรษา
หรือวันฉัตรมงคลเป็นวันสถาปนา ตั้งแต่นั้นมา

ส่วนพิธีการ จะทรงมีพระกระแสรับสั่งให้สำนักพระราชวัง
จัดพิธีการกำหนดวัน เวลา และรายการตามพระราชประเพณีขึ้น
ท่ามกลางสังฆมณฑลอันประกอบด้วยกรรมการมหาเถรสมาคม
โดยสมณศักดิ์เจ้าคณะใหญ่ เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด พระบรมวงศานุวงศ์
องคมนตรี คณะรัฐมนตรี ประธานรัฐสภาฯ ประธานศาลฎีกา
ณ พระอุโบสถพระศรีรัตนศาสดาราม
มีการจารึกพระสุพรรณบัฏ

เมื่อได้เวลาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
จะเสด็จพระราชดำเนินมายังพระอุโบสถ
ทรงจุดธูปเทียนบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร     
แล้วทรงประเคนผ้าไตรแด่พระสงฆ์กรรมการมหาเถรสมาคม
เสด็จไปทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการพระรัตนตรัย ทรงศีล

สมเด็จพระราชาคณะทรงถวายศีลจบ
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พนักงานอาลักษณ์
อ่านประกาศกระแสพระบรมราชโองการ
การสถาปนา จบแล้วสมเด็จพระราชาคณะนำสวดสังฆานุโมทนา
เสด็จไปถวายน้ำมหาสังข์ทักษิณาวัฏ พระสุพรรณบัฏ
พระตราตำแหน่ง พัดยศ เครื่องสมณศักดิ์แด่สมเด็จพระสังฆราช
พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา

โหรลั่นฆ้องชัย พราหมณ์เป่าสังข์ ภูษามาลาแกว่ง บัณเฑาะว์
พนักงานประโคมสังข์ แตร ดุริยางค์
พระสงฆ์ตามอารามทั่วราชอาณาจักร เจริญชัยมงคลคาถาและย่ำระฆัง
แล้วในหลวงทรงถวายใบปวารณาแด่พระสงฆ์ในสังฆมณฑล
พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ทรงหลั่งน้ำทักษิโณทก

จบแล้วเสด็จพระสังฆราชขึ้นประทับอาสน์สงฆ์กลางพระอุโบสถ
พระเถรผู้ใหญ่ ผู้แทนพระบรมวงศานุวงศ์ หัวหน้าคณะรัฐบาล
ผู้แทนองคมนตรี ประธานสภา ประธานศาลฎีกา เข้าถวายเครื่องสักการะ
เสร็จแล้วสมเด็จพระสังฆราชทรงออกไปรับเครื่องสักการะ
ของบรรพชิตญวนและจีน แล้วเสด็จกลับ เป็นอันเสร็จพิธี
9#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-29 07:40 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


ความเห็นของมหาเถรสมาคม

แม้กฎหมายมิได้บัญญัติไว้ว่า การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช
จะต้องได้รับความเห็นชอบจากมหาเถรสมาคมก็ตาม

แต่รัฐบาลจะต้องสอบถามความเห็นของกรรมการมหาเถรสมาคม
นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพร้อมทั้งพระประวัติผลงานของสมเด็จพระราชาคณะ
เพื่อทราบความเห็นของฝ่ายสงฆ์ด้วย

ในคำประกาศสถาปนา
จะปรากฏสังฆทรรศนะอันเป็นมติของมหาเถรสมาคมอยู่ด้วย
ตามทางปฏิบัติ กรรมการมหาเถรสมาคมจะถวายให้เป็นพระราชอำนาจ
ที่จะทรงดำริวินิจฉัยตามพระราชอัธยาศัย

(ขอให้สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้ามีพระมหากรุณา
ทรงพระราชดำริสถาปนาตามพระราชอัธยาศัย เป็นการเหมาะสมอย่างยิ่ง
กรรมการมหาเถรสมาคมทุกรูปเต็มใจที่จะสนองพระเดชพระคุณ)

เหตุผลก็เพราะว่า สมเด็จพระสังฆราชเป็นพระประมุข
เป็นสังฆบิดร ผู้ปกครองสังฆมณฑล
ควรเป็นที่ยอมรับเคารพสักการะของคณะสงฆ์มาก่อน
หากไม่ฟังเสียงอาจเกิดเสียหายทางการปกครอง และการพระศาสนาได้
10#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-29 07:41 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
อำนาจหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

เดิมเมื่อยังไม่มีกฎหมายคณะสงฆ์
สมเด็จพระสังฆราชมีอำนาจหน้าที่
ในการปกครองคณะสงฆ์ตามพระธรรมวินัย ระเบียบแบบแผน
ในฐานะเป็นพระมหาเถรผู้ใหญ่สุดของคณะสงฆ์เท่านั้น
อำนาจบัญชาการอันเป็นตัวบทกฎหมายยังอยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์
ผู้เป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก และอยู่ที่เสนาบดีกระทรวงธรรมการ
ผู้บริหารกิจการพระศาสนาต่างพระเนตรพระกรรณ
ซึ่งออกเป็นพระบรมราชโองการ
หรือประกาศให้คณะสงฆ์ถือปฏิบัติหรือวางระเบียบในการปกครอง

ต่อมาเมื่อประกาศใช้ พ.ร.บ. ลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑
กฎหมายได้กำหนดให้เจ้าคณะใหญ่และเจ้าคณะรอง
เป็นมหาเถรสมาคมเป็นที่ทรงปรึกษากิจการคณะสงฆ์และการพระศาสนา
ในขณะยังว่างสมเด็จพระสังฆราช

ต่อเมื่อได้ทรงสถาปนา สมเด็จพระสังฆราชอำนาจบัญชาการคณะสงฆ์ในสมัยนี้
ตกมาอยู่กับองค์สมเด็จพระสังฆราชมากขึ้น
สมเด็จพระสังฆราชมีอำนาจในการบัญชาการคณะสงฆ์
หรือมีพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชในกิจการคณะสงฆ์ได้
แต่อำนาจสูงสุดอยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์
ตามรูปแบบการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั่นเอง

ต่อมาเมื่อประกาศใช้ พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔
อำนาจหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชเจ้าเด่นชัดขึ้น เป็นอำนาจสูงสุดเด็ดขาด
ไม่ขึ้นกับองค์พระมหากษัตริย์ หรือฝ่ายบ้านเมืองอีก
พระองค์มีอำนาจในการบัญชาการคณะสงฆ์
ในฐานะดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก

แต่ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย
คือ ทรงออกสังฆาณัติโดยคำแนะนำของสังฆภา
ทรงบริหารการคณะสงฆ์ทางคณะสังฆมนตรี
และทรงวินิจฉัยอธิกรณ์ทางคณะวินัยธร
ผู้ปฏิบัติหน้าที่แต่ละฝ่ายรับผิดชอบโดยตรงอยู่แล้ว
กฎหมายให้พระองค์ใช้อำนาจนั้นในฐานะพระประมุขเท่านั้น

ส่วนอำนาจหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชในฐานะสกลมหาสังฆปริณายก
ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ บัญญัติไว้ในมาตรา ๘ ว่า

“สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก
ทรงบัญชาการคณะสงฆ์และทรงตราพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช
โดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย พระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม”


ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้