ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1580
ตอบกลับ: 2
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ทวนกระแสจิตมาสู่ดวงจิตผู้รู้ (หลวงปู่สิม พุทธาจาโร)

[คัดลอกลิงก์]
ทวนกระแสจิตมาสู่ดวงจิตผู้รู้
พระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่สิม พุทธาจาโร)
๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๑


            ณ บัดนี้ ได้เวลาฟังธรรม นั่งสมาธิภาวนา ให้พากันนั่งขัดสมาธิ เอาขาขวาทับขาซ้าย เอามือข้างขวาทับมือข้างซ้าย ตั้งกายให้เที่ยงตรง หลับตา นึกภาวนาพุทโธ เอาพุทธคุณ คุณพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์
            การนึกพุทโธ-นี้ ต้องการจิตใจสงบ ตั้งมั่นอยู่ในกาย ในจิตไม่ให้จิตคิดฟุ้งซ่านไปในที่ต่างๆ

            พุทโธ เป็นชื่อเป็นพระนามของพระพุทธเจ้า เมื่อเราระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้าอยู่ จิตใจของเราก็ย่อมเย็นสบาย
            หรือว่าการกำหนดพุทโธ นี้ พร้อมกับการกำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออกรวมจิตเข้ามาตั้งภายใน ให้ดวงจิตดวงใจผ่องใสสะอาด ตั้งมั่นเที่ยงตรงคงที่ อยู่ภายในจิตใจของตัวเอง

            สิ่งใดอันเป็นเรื่องราวภายนอก อดีตที่ล่วงมาแล้ว จะดีชั่วประการใด ก็ให้เป็นเรื่องของอดีตกาลไป
            จงตั้งจิตตั้งใจ รวมจิตใจของตนลงไปในปัจจุบัน ขณะนี้ เวลานี้
            ส่วนเรื่องราวอนาคตกาล ดีร้ายประการใด ก็ยกไว้เป็นเรื่องอนาคต กาลข้างหน้าโน้น เพราะสิ่งนั้นก็ยังไม่มาถึง ก็ไม่ควรไปคิดไปนึกเอามาเป็นอารมณ์

            จงตั้งสติการระลึกได้ขึ้นมาในใจของเราว่า เวลานี้เป็นเวลาปฏิบัติบูชา เป็นเวลาสงบกาย
            ร่างกายเราจะนั่งสมาธิภาวนาอยู่  ณ ที่นี้ ไม่ได้เดินไปที่ไหนเรียกว่า สงบกาย
            สงบวาจา ในขณะนี้เราก็ไม่ได้พูดจาปราศรัยอะไร เว้นเสียแต่เราฟังธรรม ได้ยินเสียงธรรมมะธัมโมอย่างเดียว เป็นอุบายเสริมสร้างจิตใจของเรา ให้มีความสงบระงับตั้งมั่นลงไปในดวงจิตดวงใจอันนี้
            เมื่อรวมกำลังตั้งเข้ามาภายใน กายก็อยู่ในท่าสงบ วาจาก็อยู่ในท่านิ่ง
            จิตนี้แหละสำคัญ กายจะสงบแล้วก็ตาม วาจาไม่พูดก็ตามความคิดในจิตนี้ จะต้องแบ่งแยกให้เป็นสองอาการ
            ดวงจิตดวงใจที่แท้จริงอันมีอยู่ในใจของเรานั้นได้แก่ ดวงจิตดวงที่รู้อยู่
            ดวงจิตดวงใจที่รู้อยู่นี้แหละ มีอยู่ภายในไม่ได้ไปที่ไหนนับตั้งแต่เรามาเกิดจนบัดนี้
            ดวงจิตดวงใจผู้รู้อันนี้ก็มีอยู่ภายใน แต่มีสังขารจิต คือจิตที่มันคิดอยู่ภายในนี้ แล้วมันก็แส่ส่ายออกไปภายนอก นั่นแหละคือ สังขารจิต

            สังขารจิตนั้น มีสังขารมาร กิเลสมาร ปรุงแต่งเอาขันธ์เป็นเครื่องพาให้เป็นไป
            อันนี้ท่านว่า จิตสังขารนี้เป็นจิตภายนอก มันคิดดีคิดร้ายประการใดให้รู้เท่าทันไว้
            ถ้าคิดดี เราก็ทำภาวนาอยู่ ถ้าคิดไม่ดี ปรุงไม่ดี แต่งไม่ดีก็ให้ละเสีย อย่าได้ทำไปตาม พูดไปตาม ตามสังขารมารกิเลสนั้น เรียกว่า ละวาง ปล่อยวาง ออกไป
            เรื่องราวอดีต อนาคต ปล่อยวางออกไป เรื่องของคนอื่น ผู้อื่น เขาเกิด เขาแก่ เขาเจ็บ เขาไข้ เขาตายไปตามหน้าที่ของเขา

            จิตเราในเวลานี้ ไม่ให้หลงไปตามอาการภายนอกนั้น จงรวมจิตรวมใจเข้ามาภายใน ทวนกระแสจิตเข้ามาสู่ดวงจิตที่ท่านแสดงว่า รู้อยู่
            ดวงจิตผู้รู้ อยู่ที่ไหน เราจะต้องทบทวนเข้ามาว่า ตาเห็นรูปตาเป็นผู้เห็นหรือว่าจิตเป็นผู้เห็น ?
            ตาเป็นผู้รับเอารูปเข้ามาในแก้วตา จิตเป็นผู้รู้เห็น คือว่าจิตดวงรู้อยู่ภายใน เป็นผู้เห็นรูป
            เสียงก็เหมือนกัน จิตเป็นผู้ได้ยิน กลิ่นที่ผ่านจมูกเหม็นหอมจิตเป็นผู้รู้
            รสอาหารผ่านลิ้น ก็จิตนั้นแหละเป็นผู้รู้อยู่ภายใน เป็นผู้รับรู้
            ความคิดนึกปรุงแต่งอะไร ที่ผ่านตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็ไปรู้อยู่ในจิต เป็นอารมณ์ในจิตในใจอยู่ตลอดเวลา

            นี่เมื่อทบทวนเข้ามาแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า ดวงจิตผู้รู้อยู่นี่แหละ
            เราจะต้องรวมกำลังตั้งมั่นลงไปในจิตใจดวงนี้ ดวงที่อยู่ภายในไม่ได้ไปที่ไหน
            เราจะต้องสังเกตให้ดีว่า จิตเราคิดในเรื่องราวนั้นๆ ที่ว่าจิตคิดไป มันมีดวงจิตดวงหนึ่งที่รู้ว่าเราคิดไป นั่นแหละคือดวงจิตผู้รู้ ดวงดั้งเดิมมีอยู่ภายใน
            อย่าได้ไปตามจิตดวงภายนอกนั้น ให้รู้เท่าทันแล้วก็มาสงบอยู่ในดวงจิตดวงใจที่รู้อยู่
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-28 12:36 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พุทโธ คำว่า พุทโธ นี้ คือว่าต้องการจิตมาสงบระงับอยู่ในดวงจิตดวงใจของเราภายในนี้ ไม่ให้ออกเพ่นพ่านไปภายนอก
            เรียกว่า จิตสงบอยู่ ตั้งมั่นอยู่ เย็นใจอยู่ภายในนี้ ไม่ให้ไปคิดนึกเอาเรื่องร้อนอกร้อนใจภายนอก มาหมักหมมไว้ในดวงใจ ในใจอันนี้
            ถ้ามีอารมณ์อะไร ให้สละออกไป วางออกไป ละออกไป

            การเจริญภาวนาปฏิบัติบูชาในพุทธศาสนานี้ ความจริงคือว่าไม่ได้เอาอะไร เป็นผู้เสียสละละปล่อยออกไปให้หมดสิ้น จนไม่ให้จิตใจไปยึดเอา ถือเอา เรื่องราวอะไรเข้ามาภายในจิตใจนี้
            ดวงจิตดวงใจจึงจะผ่องใส สะอาด ปราศจากมลทินโทษ
            แต่ถ้าจิตใจอันนี้ ออกไปคิดนึกเอาอะไรต่อมิอะไรเข้ามายุ่งเหยิงอยู่ภายในจิตใจ ไม่เสียสละออกไป ความทุกข์ความเดือดร้อน ก็ย่อมบังเกิดมีขึ้นในจิตใจที่มีความยึดมั่นถือมั่นนั้น

            เมื่อจิตใจดวงที่รู้อยู่ ไม่ออกไปรับเอาความยึดถือใดๆ ทั้งหมดเห็นว่าสิ่งใดมันเกิดขึ้นได้ สิ่งนั้นก็ย่อมดับไปได้
            สิ่งใดๆ ในโลกนี้ มีความไม่เที่ยงแท้แน่นอน รูป นาม ตัวตน สัตว์ บุคคล ที่เกิดมาในโลกแล้ว ตกอยู่ในความไม่เที่ยงแท้แน่นอน
            ตกอยู่ในกองทุกข์ เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วมันก็ต้องมีความทุกข์ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง
            เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว ไม่ใช่ตัวตนของเราทุกอย่าง เรามุ่งหมายให้รูปนาม กาย ใจ นี้ เป็นไปตามใจหวังทุกอย่างนั้น เป็นไปไม่ได้

            พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้แล้วว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกเรา ที่สมมุติให้เป็นของเรา เป็นตัวเรา เหล่านี้เป็นต้น ความจิรงไม่ได้เป็นตัวเราแค่สมมุติให้เป็น บัญญัติแต่งตั้งให้เป็นเท่านั้น
            ความจริง สิ่งทั้งหลายไม่ใช่ตัวตนของเรา กายของเราก็จริงแต่ว่าบอกไม่ได้ ว่าไม่ฟัง
            ใจของเราก็จริง แต่ว่าบอกไม่ได้เหมือนกัน เวลามันคิดร้ายคิดดีมันมี
            ถ้าเรารู้ไม่เท่าเอาไม่ทัน ดูเวลาที่มันโกรธให้คนให้สัตว์ให้สิ่งใดๆนั้น เมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้ว เราไม่รู้จักระงับ ไม่รู้จักภาวนาพุทโธในใจ ใจมันก็ออกไปยึดไปถือ เป็นไปต่างๆ นานา
            สังขารที่มันปรุงแต่งขึ้นมา มันก็ดุเดือดขึ้นมา เขาว่าให้เรา เขาดูถูกเราอย่างนั้นอย่างนี้ จิตใจมันก็ลุกเป็นฟืนเป็นไฟไหม้หัวใจของตัวเอง
            ด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงให้ภาวนาพุทโธ สงบจิตใจ รวมจิตใจเข้าไปเป็นดวงหนึ่งดวงเดียวให้ได้

            เมื่อจิตใจมาสงบระงับตั้งมั่นอยู่ในพุทโธ คุณพระคุณเจ้า รวมลงสู่ดวงจิตดวงใจที่รู้อยู่ในตัว ในใจของเรานี้ได้ ใจเราทุกๆ คนก็ย่อมเย็นสบาย ไม่มีเดือดเนื้อร้อนใจประการใด
            เพราะว่าจิตสงบ จิตตั้งมั่น จิตหยุด จิตอยู่ จิตมองเห็นทุกข์เห็นภัยในโลก ในวัฏสงสาร
            ในโลก ในวัฎสงสารนี้ ไม่มีสิ่งใดจะสิ้นสุดยุติลงไปได้ เกิดแก่ เจ็บ ตาย ตายแล้วคิดว่าจะจบไป มันก็จบแต่ในชาติหนึ่งๆ แต่ชาติต่อๆไป ภพต่อๆ ไป มันก็ต่อเนื่องไปอีก ถ้ากิเลสความโกรธยังมีอยู่ กิเลสความโลภยังมีอยู่ กิเลสความหลงยังมีอยู่ ในดวงจิตดวงใจนี้ ก็หมุนเวียนเปลี่ยนไปมาไม่มีที่สิ้นสุด

            ในทางพุทธศาสนา ท่านจึงให้ทวนกระแสน้ำใจของตนเข้ามาสู่ดวงจิตดวงใจภายในนี้
            คำว่า ทวนกระแส ท่านเปรียบอุปมาเหมือนทวนกระแสของแม่น้ำทั้งหลายที่มีอยู่ในโลก ไม่ว่าสายใด น้ำทั้งหลายย่อมไหลมาจากที่สูงหรือว่าไหลมาจากยอดภูเขา ที่นั้นเป็นยอดของน้ำ เป็นต้นน้ำลำธาร
            คำว่า ทวนกระแส นั้น คือว่า ดูน้ำที่มันไหลลงไปที่ต่ำ ถ้าไหลลงไปที่ต่ำ รวมเป็นน้ำใหญ่เรื่อยไป จนถึงมหาสมุทร เป็นทะเล เรียกว่ากว้างใหญ่ไพศาล ไม่มีที่จบที่สิ้น
            ถ้าเราทวนกระแส นับตั้งแต่มหาสมุทรขึ้นมาถึงอ่าว อย่างประเทศไทยก็เรียกว่าอ่าวไทย
            ที่อ่าวไทยมีแม่น้ำอะไรไหลลงมา ก็มีแม่น้ำเจ้าพระยา
            ทวนจากแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นมา มาถึงนครสวรรค์ จะมี ปิง วัง ยม น่าน ไปรวมที่นั้น
            เหนือขึ้นมาก็เป็นแม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน
            ถ้าทวนกระแสแม่น้ำปิงขึ้นมา ก็จะมาถึงเขื่อนภูมิพล เลยนั้นมาก็มีทะเลสาบอยู่ ต่อมาก็ถึงจอมทอง ขึ้นมาเรื่อยจนถึงเชียงใหม่
            เลยเชียงใหม่ ก็มาถึงเชียงดาว ถึงถ้ำผาปล่อง
            เลยถ้ำผาปล่องขึ้นไปจนถึงรัฐฉาน เลยประเทศไทยไปอีก แล้วไปถึงภูเขาลูกใดลูกหนึ่ง ก็ไปสิ้นสุดอยู่แค่นั้น ไม่ไปไหน มันสุด สุดยอดน้ำ ต้นน้ำลำธาร

            อันกิเลสในใจของมนุษย์คนเราแต่ละบุคคลนี้ก็เหมือนกันถ้าหากว่าเราปล่อยให้ไหลไปตามอารมณ์ความชอบใจไม่ชอบใจ ได้ดีมีสุขสบายเรื่อยไป ไม่รู้จักทวนกระแสเข้ามาภายในจิตใจของตัวเอง ความได้ดีมีสุข ความสุขของโลกไม่มีที่สิ้นสุด
            ถ้ามาภาวนา ทวนกระแสเข้ามา มาถึงต้นตอของจิตใจ ได้แก่ดวงจิตผู้รู้อยู่ในตัวเรา ในร่างกายนี้แหละ มีดวงจิตดวงหนึ่งที่มีความรู้สึกอยู่ ไม่ว่าจะแตะต้องที่ไหนในตัวของเรานี้ จะมีความรู้สึกทั่วไปทั้งนั้น นั่นแหละทวนกระแสมาอยู่ที่นี้
            ถ้าออกจากที่นี้ไปแล้ว ไม่มีที่สิ้นสุด คิดไปข้างหน้า ข้างหลัง อดีต อนาคตความจริงมันก็วนๆ อยู่กับของเก่า
            เปรียบอุปมาเหมือนล้อรถที่เราท่านทั้งหลายขี่ไปมา ความจริงล้อรถนั้นไม่ใช่ว่าวิ่งไปใกล้ไปไกลที่ไหน มันหมุนรอบอยู่ในตัวของมันนั้นแหละ
            เมื่อหมุนรอบอยู่ในตัวของมันทั้งสี่ล้อ หกล้อ สิบล้อ ทีนี้เมื่อหมุนรอบตัวอยู่ทุกล้อ มันก็พาบุคคลเราผู้อาศัยอยู่ในรถนั้นวิ่งไป
            ความจริงตัวรถมันอยู่ที่เก่า แต่ว่าล้อต่างหากมันพาหมุนให้เลื่อนไป ไหลไป
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-28 12:37 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
สังขารทั้งหลายที่มันปรุงแต่ง คิดนึกอยู่ภายในจิตมนุษย์ปุถุชนคนเรานี้ก็เหมือนกัน มันพาให้ไหลให้เลื่อนไปตามความหลง ความไม่รู้อยู่ ความไม่สงบระงับอยู่ภายในดวงใจที่ภาวนาพุทโธอยู่นี้
            เมื่อไม่หยุด ไม่อยู่ ทีนี้ก็เลื่อนไปไหลไปไหลมา ไม่มีที่สิ้นสุด

            เมื่อไม่มีที่สิ้นสุด จิตนั้นก็มายึดเอาว่าตัวเรา หน้าเรา ชื่อเสียงตัวเราของเรา อะไรๆ ก็ว่าของเรา
ของทั้งหลาย ถ้าเราถามว่านี้เป็นของใคร เขาจะไม่บอกว่าเป็นของใคร
            หรือ เงินทองวัตถุข้าวของของคนเรา ดูธนบัตรที่เราใช้กันจนขาดจนผุ จนเหี้ยนไปหมด ไม่รู้ว่าเป็นของใคร เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอย่างนั้นแหละ
            เมื่อมาถึงมือเรา ก็ว่าอันนี้เป็นของเรา จะยึดมั่นถือมั่นอยู่ได้นานเท่าไร เดี๋ยวก็ไปจ่ายตลาด เดี๋ยวก็เคลื่อนไปอยู่ที่มือบุคคลอื่น
            นี้แหละตัวของเราก็เหมือนกัน ของทั้งหลาย พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า ความจริงแล้ววัตถุข้าวของมนุษย์เรานี้ มันเป็นสมบัติของแผ่นดิน มันไปสู่แผ่นดิน จมลงไปในแผ่นดิน
            เราตายไปก็ตาม ยังไม่ตายก็ตาม สมบัติทั้งหลายมันลงไปสู่แผ่นดินอยู่เสมอ
            แล้วมิหนำซ้ำ ร่างกายของเรานี้แหละ ขาสอง แขนสอง ศีรษะ หนึ่ง หนังหุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบอันนี้ ก็จะถมแผ่นดินอันนี้เหมือนกัน
            ถ้าหมดลมหายใจเมื่อใด เวลาใด มนุษย์ที่ยังอยู่ในโลกเขาก็เอาไปเผาบ้าง ไปฝังบ้าง
            นี่แหละ ที่สิ้นสุดของชีวิตร่างกายของคนเรา

            แต่ละภพ แต่ละชาติ เมื่อเกิดมาแล้ว เมื่อยังอยู่ในโลก ก็ดิ้นรนวุ่นวายไปตามประสาของโลก
            เวลาสิ้นสุดลงไป พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ตัวเราก็เป็นสมบัติของแผ่นดิน วัตถุข้าวของ ทรัพย์สินเงินทองอันใดก็ตาม เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย อาหารการกิน ยาแก้โรคภัยไข้เจ็บ ผลที่สุดก็ลงทับถมแผ่นดิน
            ร่างกายของคนเราทั้งหมดก็ ปฐวี ธาตุดิน อาโป ธาตุน้ำ เตโข ธาตุไฟ วาโย ธาตุลม ประชุมกันเข้าเป็นตัวเป็นตน มีตาสอง หูสอง จมูกสอง ลิ้นหนึ่ง กายหนึ่ง มีดวงจิตดวงใจครองอยู่ภายใน

            ให้พากันตั้งอกตั้งใจ ยกจิตใจดวงนี้ให้สูงส่ง อย่าปล่อยให้ดวงจิตดวงใจดวงนี้หลงใหลไปตามรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อันมีอยู่เป็นธรรมดาของโลกนี้
            จงมีความสงบตั้งมั่นเย็นสบายอยู่ภายในดวงจิตดวงใจ อย่าได้แส่ส่ายลุ่มหลงไปในอารมณ์ใดๆ ทุกขณะ ทุกเวลา ทุกลมหายใจเข้าทุกลมหายใจออก
            จงเป็นผู้มีความเพียรสังวรระวังรักษาจิตใจของเราให้อยู่ในความสงบ
            เมื่อจิตใจนี้สงบตั้งมั่นแล้ว ดวงจิตดวงใจนี้ก็จะได้พินิจพิจารณาดูรูป นาม กาย ใจ ของเรา มันเที่ยงแท้แน่นอนหรือไม่
            เมื่อเกิดมาทีแรก หรือไปนอนอยู่ในครรภ์ของมารดา ตัวน้อยนิดเดียว อยู่ในครรภ์ของแม่ตั้ง ๙ เดือน ๑๐ เดือน จึงคลอดออกมา
            เมื่อคลอดออกมาแล้วก็ตัวน้อยนิดเดียว อาศัยมีพี่เลี้ยงนางนมบิดามารดา ช่วยดูแลให้ ชีวิตอันนี้ก็เป็นมาได้ เจริญขึ้นมาจนกระทั้งเป็นคนใหญ่

            เมื่อแก่ชราแล้ว สังขารเหล่านี้ก็ชำรุดทรุดโทรมไปโดยลำดับๆ เรียกว่าเรามีความแก่เป็นธรรมดา หนีให้พ้นความแก่ไปไม่ได้
            เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา หนีให้พ้นความเจ็บไข้ไม่ได้
            เรามีความตายเป็นธรรมดา หนีให้พ้นจากความตายไปไม่ได้
            รูปขันธ์เขาต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์หน้าที่ของเขาอย่างนี้

            จิตใจผู้ภาวนาอยู่ในดวงจิตดวงใจ จงเป็นผู้มีปัญญา มีวิชาความรู้เท่าทัน อย่าได้หลงใหลไปกับสิ่งทั้งหลาย จงรวมจิตใจดวงนี้ ให้มีความสงบตั้งมั่นอยู่ในพุทโธ
            พุทโธ พุทธะ ที่เป็นสมบัติบัญญัตินี้ เรียกว่าเป็นชื่อ เป็นพระนาม
            พุทโธ จริงๆ ก็ได้แก่ดวงจิตดวงใจ ดวงที่รู้อยู่
            เสียงกระทบหู ก็ได้ยินว่าเสียงกระทบมา ตาเห็นรูป ก็จิตดวงนี้แหละเป็นผู้เห็น เรียกว่า จิตดวงที่รู้อยู่ ตั้งมั่นอยู่ภายใน ตรงไหนก็รวมจิตใจเข้าไปภาวนาในตรงนั้น
            เมื่อปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง จิตใจดวงที่รู้อยู่ เขาจะมีความสงบระงับตั้งมั่น เย็นสบาย อยู่ในดวงจิตดวงใจ
            ใจมนุษย์คนเรานี้ แม้จะไม่มีรูปร่าง สี สัณฐาน เหมือนรูปร่างกายก็ตาม แต่ว่าใจนี้เมื่อไม่ภาวนา ใจมันจะร้อน ร้อนเป็นไฟ นั่งที่ไหนมันก็ร้อน นอนที่ไหนก็เป็นทุกข์ ยืนอยู่ที่ไหนก็เป็นทุกข์ เดินไปมาที่ไหนก็เป็นทุกข์
            เรียกว่าใจไม่สงบระงับ ใจไม่ภาวนา จิตไม่ละกิเลส มีแต่ความร้อน
            แต่ผู้ใดมาบำเพ็ญภาวนา บริกรรมภาวนา พิจารณากายคตาสติกรรมฐาน มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นต้น เห็นแจ้งตามความเป็นจริง ดวงจิตดวงใจนั้นจะมีความสงบระงับ เย็นสบาย ความที่หลงใหลเข้าใจว่าจะมีความสุขอยู่ที่โน้นที่นี้จะหายไป
            จะเห็นว่าในโลกนี้ทั้งหมด นอกจากจิตใจดวงที่รู้อยู่นี่แหละเป็นสุข ถ้านอกออกจากนี้ไป เต็มไปด้วยทุกข์ เพราะความยึดมั่นถือมั่นความไม่สงบระงับ ย่อมนำความทุกข์ในอกในใจ
            จิตใจของผู้ใด มีความสงบตั้งมั่น มีปัญญา มีญาณวิเศษละกิเลสในใจให้หมดไปสิ้นไป ที่นี้ก็เกิดความสงบระงับ เย็นสบาย
            ใจคนเรานั้น ถ้าใจเย็นสบาย นั่งก็สบาย นอนก็สบาย ยืนก็สบาย เดินไปมาที่ไหนก็สบายทั้งนั้น
            ทำกิจการงานใดๆ ก็คล่องแคล่วว่องไว เพราะจิตใจสบาย ถ้าจิตใจไม่สบาย อะไรก็อืดอาดไปหมด ขัดข้องไปทั้งนั้น

            ดวงจิตดวงใจจึงเป็นสิ่งสำคัญ ในตัวคนเรานี้ จิตใจดวงที่รู้อยู่นี้แหละเป็นใหญ่ เป็นประธาน สำเร็จแล้วด้วยดวงจิตดวงใจดวงนี้
            ถ้าจิตใจดวงนี้จะเอาอะไร จะทำอะไรแล้ว ในทางที่ชอบ ที่เหมาะที่สม ที่ควร ก็ย่อมเป็นไปตามอุปนิสัย วาสนาบารมีของตนๆ

            เหตุฉะนั้น ให้พากันตั้งอกตั้งใจปฏิบัติภาวนา อย่าได้มีความท้อถอย
            แม้ตัวเราจะอยู่เพศใด วัยใด ไม่เลือกว่าเพศคฤหัสถ์ และเพศนักบวช ไม่เลือกว่าหญิง ชาย เด็ก หนุ่ม แก่ ผู้ใด มาตั้งความเพียรลงไป รวมจิตใจของตนลงไป ให้ใจมีความสงบตั้งมั่นอยู่ในดวงใจ
            อยู่ที่ไหน อยู่ในดวงใจ ไปที่ไหน ไปด้วยกำลังใจสงบภาวนาย่อมเป็นไปเพื่อความสุข เป็นไปเพื่อความเจริญ มีมงคลไปอยู่ในจิตใจ
            เรียกว่าจิตใจไม่ฟุ้งซ่าน จิตใจมั่นคงในคุณพระพุทธเจ้า จิตใจมั่นคงในคุณพระธรรม จิตใจมั่นคงในคุณพระอริยสงฆ์

            เมื่อจิตใจมีความหนักแน่นมั่นคงอยู่ในพระศรีรัตนตรัยภายในจิตใจแล้ว ท่านว่ามีความสงบสุขเยือกเย็น ตั้งมั่นเย็นสบายใจ
            ใจที่มีความสงบตั้งมั่นอยู่ภายในนี้แหละ เรียกว่าเป็นจิตใจเย็น จิตใจสบาย จิตใจเฉลียวฉลาด จิตใจสามารถอาจหาญ
            สามารถละความโกรธ ความโลภ ความหลง อวิชชา ตัณหา ตั้งมั่นเที่ยงตรงคงที่ได้

            นี่แหละให้รวมกำลังเข้ามาภายใน อยู่ไหนก็ให้ถือว่าเป็นที่ภาวนาในที่นั้น
            เราอยู่ที่บ้านเรือนของเราก็ตาม ก่อนที่เราจะนอนทุกๆ คืน ก็กราบพระไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิภาวนา บริกรรมทำใจให้สงบระงับเย็นสบายเสียก่อน จึงค่อยนอนทุกๆ คืน
            อันนี้เป็นข้อวัตรปฏิบัติอันสำคัญยิ่ง ของพุทธบริษัททั้งหลาย
            จงพากันตั้งอกตั้งใจปฏิบัติภาวนา อย่าได้มีความท้อถอยประการใด

            ดังได้แสดงมาก็สมควรด้วยกาลเวลา
           
เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้

................................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=45517

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้