ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 3702
ตอบกลับ: 10
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

เรื่องของบุญ-การกรวดน้ำ

[คัดลอกลิงก์]
ทำบุญด้วยเงินจำนวนมาก ได้บุญมาก จริงหรือ?

หลายคนในตอนนี้ยังเข้าใจกันผิด ๆ ว่าต้องทำบุญด้วยทรัพย์สินเงินทองเยอะ ๆ จึงจะได้บุญมากนั้น ซึ่งในเรื่องนี้นั้นไม่ตรงกับความจริงเลยแม้แต่น้อย ในการทำบุญด้วยทรัพย์สินเงินทองนั้น ไม่ใช่ประเด็นสำคัญว่าจะได้บุญมากตามค่าของเงิน

เพราะบางครั้งการทำบุญเป็นล้านบาทอาจจะได้บุญน้อยกว่าบาทเดียวเสียด้วยซ้ำ ดังนั้นในเรื่องของมูลค่าของทรัพย์ที่ทำบุญนั้น ในบางครั้งเราไม่สามารถจะวัดถึงผลของอานิสงส์บุญได้

การทำทานให้ได้บุญมากนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า มีองค์ประกอบ ๓ ประการ คือ

๑. วัตถุบริสุทธิ์ คือ สิ่งของที่ให้ทานนั้นได้มาด้วยความสุจริตถูกต้อง หามาจากแรงงานหยาดเหงื่อของตนมิได้ไปเบียดเบียนทุจริตมา

๒. เจตนาบริสุทธิ์ คือ มีจิตตั้งมั่นเลื่อมใสศรัทธา ที่จะทำอย่างแท้จริง ไม่ได้หวังผลตอบแทน หรือมีเจตนาหวังประโยชน์แอบแฝง และเมื่อให้แล้วก็ไม่นึกเสียดายภายหลัง

๓. บุคคลบริสุทธิ์ คือ ผู้รับเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ มีคุณธรรมสูง ยิ่งมีคุณธรรมสูงมากเท่าใด บุญก็ยิ่งมากไปตามส่วน เช่น ทำบุญกับคนไม่มีศีลย่อมได้บุญน้อยกว่าทำบุญกับคนที่มีศีล ๕ ที่เรียกกันว่า เนื้อนาบุญที่ดี อย่างเช่น ทำบุญกับพระสงฆ์ ที่ถือศีล ๒๒๗ ข้อ ซึ่งเป็นสมมติสงฆ์นั้นได้บุญไม่เท่ากับพระอริยสงฆ์แน่นอน มันเป็นระดับขึ้นอยู่กับผู้รับนั้นมีคุณธรรมสูงเท่าใด

ผู้ที่ให้ทานด้วยทรัพย์แม้เป็นจำนวนน้อย แต่มีความตั้งใจ มีความเลื่อมใสศรัทธาเต็มเปี่ยม และได้ให้ทานกับคนที่มีเนื้อนาบุญสูง ก็อาจได้บุญมากกว่าผู้ที่ทำด้วยทรัพย์มากแต่มีความเลื่อมใสศรัทธาน้อย และถ้าให้กับคนที่มีเนื้อนาบุญต่ำยิ่งน้อยกว่าเป็นร้อย ๆ เท่าได้

2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-20 13:36 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ดังตัวอย่าง เรื่องที่เล่ากันมานานแล้ว แต่อธิบายเรื่องของอานิสงฆ์ผลบุญได้ดีคือ ในสมัย ร.๕ มีผู้หญิงคนหนึ่งชื่อยายแฟง เป็นแม่เล้าเจ้าของซ่อง แกมีรายได้มาจากการขายตัวของหญิงงามในสังกัด ในแต่ละวันยายแฟงไม่ต้องทำมาหากินอย่างอื่นเลย เขาหากินบนความทุกข์ยากของคนอื่น อาชีพแม่เล้าทำให้แกร่ำรวย มีทรัพย์สินเงินทองมากขึ้นทุกวัน จนใคร ๆ ต่างก็นับถือแก พากันขอความช่วยเหลืออยู่บ่อย ๆ

เมื่ออายุแกมากขึ้นใกล้จะตายยายแฟงแกกลัวจะตกนรก เพราะทั้งชีวิตของแกได้สร้างแต่กรรมไม่ดีไปเบียดเบียนผู้อื่นและประกอบอาชีพที่เป็นบาป ยายแฟงจึงคิดอยากทำบุญใหญ่สักครั้งหนึ่ง เผื่อว่าบุญนี้จะช่วยลบล้างบาปกรรมที่สร้างไว้ลงได้บ้าง จึงได้บริจาคเงินจำนวนมากจนแทบหมดตัวและได้สร้างวัดชื่อ วัดใหม่ยายแฟง หรือวัดคณิกาผล ที่เรียกกันในเวลาต่อมา ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ

ในวันฉลองวัดใหม่ยายแฟง ยายแฟงได้มีโอกาสสำคัญในชีวิตได้ไปนิมนต์พระมาแสดงธรรมเทศนา ซึ่งก็คือ ท่านสมเด็จพุฒาจารย์ฯ (โต) พรหมรังสี ท่านก็รับนิมนต์ไปเทศแสดงอานิสงส์ของการสร้างวัด บทธรรมเทศนาของสมเด็จฯ โต ตอนหนึ่งในวันนั้นมีว่า

"ยายแฟงสร้างวัดครั้งนี้ ได้ผลอานิสงส์บกพร่อง ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะเงินที่สร้างวัดเป็นเงินที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรงของคนอื่นที่ไม่ชอบด้วยธรรม ถ้าเปรียบอานิสงส์นี้ด้วยเงิน ๑ บาท ยายแฟงก็ได้ไม่เต็มบาทจะได้สักสลึงเฟื้องเท่านั้น นี่ว่าอย่างเกรงใจกันนะ"


...เสบียงทิพย์....                                       
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-20 13:38 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
หลังทำบุญแล้วต้องกรวดน้ำหรือไม่?

คำว่า "กรวดน้ำ" นี้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ให้คำจำกัดความไว้ว่า "แผ่ส่วนบุญด้วยวิธีหลั่งน้ำ" การกรวดน้ำแผ่ส่วนบุญนั้น สรุปแล้วมีอยู่ ๔ ประการคือ

๑. กรวดน้ำตัดขาดจากกัน
๒. กรวดน้ำยกกรรมสิทธิ์ให้
๓. กรวดน้ำตั้งความปรารถนา
๔. กรวดน้ำแผ่ส่วนกุศล

๑. การหลั่งน้ำเพื่อตัดขาดจากกัน เช่น สมเด็จพระนเรศวรมหาราช วีรกษัตริย์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ทรงตัดขาดไมตรีกับพม่า เพื่อประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง เมื่อ พ.ศ. ๒๑๒๗ โดยวิธีหลั่งน้ำลงเหนือแผ่นดิน

๒. การหลั่งน้ำยกกรรมสิทธิ์ให้ครอบครอง เช่น เมื่อคราวที่สมเด็จพระบรมศาสดา ได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ได้เสด็จไปสู่กรุงราชคฤห์ ทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพระเจ้าพิมพิสาร พร้อมด้วยข้าราชบริพารให้เลื่อมใส และได้ถวายวัดเวฬุวันเป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นที่ประทับของพระบรมศาสดา เพราะทรงเห็นว่า ป่าไม้ไผ่ที่เรียกว่า "พระราชอุทยานเวฬุวัน" เป็นที่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากชุมชนนัก สมควรเป็นที่อยู่ของสมณะได้

๓. การหลั่งน้ำตั้งความปรารถนา เพื่อให้สำเร็จผลที่ประสงค์พึงเห็นตัวอย่างในมหาเวสสันดรชาดก

๔. การหลั่งน้ำแผ่กุศล พึงเห็นอุทาหรณ์ เช่น พระเจ้าพิมพิสารทรงถวายแด่พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้บรรดาเปรต ซึ่งเป็นพระญาติในชาติก่อนปรากฎในมังคลัตถทีปนีคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาว่า

"เมื่อพระราชาทรงหลั่งน้ำทักษิโณทก ทรงอุทิศส่วนกุศลว่า อิทังเม ญาตินัง โหตุ ขอทานนี้ (บุญนี้) จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า" วิธีนี้เป็นการแผ่ส่วนกุศลให้แกญาติมิตรและสรรพสัตว์ ได้ชื่อว่าเป็นปัตติทานมัย บุญสำเร็จด้วยการแผ่ส่วนบุญ

และเมื่อครั้งที่พญามาร มาขัดขวางไม่ให้พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ พระพุทธองค์ทรงตรัสอ้างถึงพระแม่ธรณี ให้มาช่วยเป็นสักขีพยานในการสร้างบุุญบารมีของพระองค์ ที่บำเพ็ญมาหลายภพหลายชาติ และแม่ธรณีก็ปรากฎกายมาบีบน้ำออกจากมวยผม ขับไล่พญามารและบริวารออกไป ถือว่าเป็นการกรวดน้ำ

เราจะเห็นว่าความเชื่อเรื่องในการกรวดน้ำหลังทำบุญนั้นอยู่ในข้อที่ ๔ ตั้งแต่สมัยของพระพุทธกาล และจากครูบาอาจารย์หลายท่านได้กล่าวตรงกันว่า ในคนปกติทั่วไปที่จิตนั้นยังไม่ได้ฝึกฝนประพฤติปฏิบัติ จิตย่อมมีกำลังน้อยหรือขาดพลัง ซึ่งการกรวดน้ำจะช่วยให้บุญกุศลนั้น ไปถึงผู้ที่เราต้องการอุทิศบุญไปให้ได้ดีขึ้น แต่สำหรับผู้ที่มีญาณที่แกกล้า มีบุญบารมีสูง ท่านเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องกรวดน้ำ ท่านโมทนาอุทิศบุญไปถึงได้ทันที หรือที่เรียกกันว่า กรวดแห้ง

และในปัจจุบัน เรามักนิยมกรวดน้ำหลังจากทำบุญถวายทานเสร็จแล้ว เพื่อประสงค์จะทำเจตนาตนให้บริสุทธิ์ทั้ง ๓ กาล คือ
๑. ในกาลก่อนให้ เรียกว่า ปุพพเจตนา เจตนาก่อนให้
๒. ในกาลที่กำลังให้ เรียกว่า มุญจนเจตนา เจตนาขณะให้
๓. อปราปรเจตนา เจตนาต่อ ๆ ไปหลังจากให้ทานแล้ว

.....เสบียงทิพย์.....
                                       
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-20 13:39 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
อุทิศบุญให้คนอื่นแล้ว บุญของตัวเองจะหมด จริงหรือไม่?

มีหลายคนยังไม่เข้าใจเลยว่า ทำไมเราทำบุญกุศลทำทานอะไรก็ตาม ทำไมเราต้องอุทิศไปให้คนอื่น ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ญาติพี่น้อง ครูบาอาจารย์ที่เสียชีวิตไปแล้ว ฯลฯ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ดี เป็นเรื่องที่สมควรเป็นอย่างยิ่ง เป็นการตอบแทนพระคุณความดีของท่านเหล่านั้นและถือเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีที่คนดีพึงกระทำ ตลอดจนเป็นการอนุเคราะห์ สงเคราะห์ผู้อื่นให้ได้รับสุข

แต่หลายคนยังไม่เข้าใจถึงขั้นเข้าใจผิด กลัวว่าเมื่อเราอุทิศบุญไปแล้ว อานิสงส์ผลบุญที่เราได้สร้างได้ทำไปแล้วนั้น จะทำให้บุญหมดลงไปเมื่อเราอุทิศไปให้คนอื่น จริง ๆ แล้วมันไม่ใช่ มันคนละเรื่องกัน
และการทำบุญไปแล้วไม่ว่าจะนานสักกี่ปี บุญที่ทำไปนั้นก็ยังคงอยู่ เราก็ยังอุทิศส่วนกุศลได้ บุญที่เราทำไม่หายไปไหน ไม่ใช่เราทำบุญแล้วเดี๋ยวเดียวบุญหายไป ไม่ใช่อย่างนั้น

ถ้าทำบุญแล้วไม่อุทิศส่วนกุศล ผู้ทำก็จะเป็นผู้ที่ได้บุญเต็มที่สมบูรณ์แบบอยู่แล้วอยู่ที่ว่าเราจะอุทิศให้เขาไม่ ถ้าเราให้เขา บุญของเราก็ไม่หมด และที่สำคัญการอุทิศบุญไปให้ใครก็ตาม ตัวของเราจะต้องมีบุญก่อน จะมีบุญได้ก็ต้องทำบุญนั่นเอง เมื่อทำบุญแล้วจึงค่อยอุทิศไปให้คนอื่น

5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-20 13:39 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ดังตัวอย่างเรื่องของพระอนุรุทธะ ซึ่งเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าในสมัยพระพุทธกาล ในอดีตชาติท่านเคยเกิดเป็นคนเกี่ยวหญ้า เลี้ยงช้างของมหาเศรษฐีเมื่อเวลาที่ท่านทำบุญแล้ว เจ้านายมาขอแบ่งบุญ ท่านก็สงสัยว่าการแบ่งบุญจะแบ่งได้ไหม จึงไปถามพระปัจเจกพุทธเจ้าที่ท่านมารับบิณฑบาต ท่านก็เมตตาเปรียบเทียบให้ฟังว่า

"สมมติว่าโยมมีคบไฟและก็มีไฟด้วย แต่คนอื่นเขามีแต่คบไม่มีไฟ ทุกคนต้องการแสงสว่างก็มาขอต่อไฟที่คบของโยม แล้วคบของทุกคนก็สว่างไปหมด อยากถามว่าไฟของโยมจะยุบไหม"

อดีตท่านพระอนุรุทธะ ก็ตอบว่า "ไม่ยุบ" แล้วปัจเจกพุทธเจ้า ท่านก็ตอบกลับไปอีกว่า "การอุทิศส่วนกุศลก็เหมือนกัน เราให้เขาเขาก็โมทนา แต่บุญของเราก็ยังอยู่เต็มร้อย ไม่ได้หายไปไหน"

หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ หรือ พระสุธรรมคณาจารย์ท่านเป็นพระสุปฏิปันโนอีกรูปหนึ่งที่เราควรเคารพกราบไหว้ ท่านเป็นศิษย์ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโตได้เมตตาเล่าไว้ในหนังสือ หลวงปู่เล่าเรื่องของเทวดา พญานาค พระธาตุ (จัดพิมพ์เป็นธรรมทานโดยชมรมกัลยาณธรรม) ยืนยันในเรื่องการอุทิศบุญไว้อีกว่า บุญกุศลที่เราอุทิศไปให้ ถึงเขาจะไม่ได้รับ ก็ไม่ได้สูญหายไปไหน บุญกุศลนี้ไม่มีการสูญสลายถ้าไม่มีการเสวยสุขจากผลบุญนั้น

กล่าวคือ เราสร้างบุญกุศลมากเท่าไหร่ หากเราอุทิศบุญไปก็ไม่ได้เป็นการแบ่งแยก หรือทำให้บุญกุศลที่เราสร้างนั้นถดถอยน้อยลงแต่ประการใด คงสะสมผลให้แก่เราเมื่อถึงกาลอันควร เมื่อส่งผลแล้วจึงเป็นการใช้ไปหมดไป ซึ่งบุญแต่ละส่วนแต่ละบุญมีผลอันยิ่ง สามารถส่งผลให้แก่ผู้สร้างได้นานข้ามภพข้ามชาติได้หลาย ๆ ชาติทีเดียว
ดังนั้นเราควรเข้าใจเสียใหม่ว่า การอุทิศบุญส่วนกุศลให้ผู้อื่นนั้นไม่ได้ทำให้บุญของเราหายไปแม้แต่นิดเดียว

ขอแนะนำว่า การอุทิศบุญ เราควรต้องเริ่มจากพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสังฆเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้่า พระอรหันต์สาวก พระอริยสงฆ์ทุกพระองค์ บิดามารดา ครูบาอาจารย์ เจ้ากรรมนายเวรและสรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงและในส่วนที่ต้องการเน้นเป็นรายบุคคลก็กล่าวไปตามใจปรารถนาได้เลย

....เสบียงทิพย์.....                                       

..........................................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=23&t=44759

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ธี เมื่อ 2015-1-19 09:59

สาธุครับ ผู้ชราสอนผมว่า ตื่นเช้ามาล้างหน้าแปรงฟันเสร็จ ให้ตั้งนะโม 3 จบและกล่าวคำอนุโมธนาสาธุบุญที่บุคคลอื่นได้ทำดีเป็นกุศล (ให้ทำทั่วทั้ง 8 ทิศ) เราก็ได้บุญทุกเช้า เพราะผู้ที่ทำบุญแล้ว ไม่ว่าสร้างพระ สร้างวัด ทำทาน ช่วยเหลือผู้อื่น เมื่อเขาอุทิศก็จะมีการอุทิศให้ทุกคนทั้งเทวดาและมนุษย์ สัตว์ เปรต เมื่อเขาอุทิศแล้วเราไม่รับเราก็ไม่ได้บุญนั้นครับ....ผมอ่านข้างต้น เหมือนคบไฟที่เขาจุดไว้ และอนุญาตให้จุดต่อได้ ถ้าเราไม่จุดต่อคบไฟ เราก็ไม่ได้แสงสว่าง ทั้งๆที่มีคนจะให้แต่เราไม่รับ ก็ไม่ได้ ....ผู้ชราสอนผม ผมก็ทำทุกเช้า...หลังสวดมนต์และก็อุทิศบุญนี้ต่อให้เทวดาและญาติ เจ้ากรรมนายเวร ด้วย ....
ลป.ชื่นท่านก็สอน ตามที่อ.สราวุธบอก (อ่านพบครับ) ลป.ท่านให้อนุโมทนาบุญ แม้เราไม่ได้สร้างพระเอง เขาสร้างเสร็จแล้ว เราอนุโมทนาบุญก็ได้บุญเช่้นเดียวกัน ผมอ่านและนึกถึงคำสอนของผู้ชราได้ว่าเคยแนะนำผมให้อนุโมทนาบุญทุกเช้า ตั้งแต่ได้ฟังเรื่องเล่าของ ลป. ผมก็ได้ทำทุกวันเลยครับ เรียกว่าประยุกใช้... เพื่อบุญเราจะได้เต็มเร็ว มีบางคนว่าทำแบบนี้ได้แค่ 10% ผมก็บอกว่าดีกว่าไม่ได้ทำ...ปกติเราคนกรุงเทพ ตื่นเช้าก็ไปทำงาน เรื่องทำบุญตักบาตรมีน้อย อีกทั้งก็ไม่รู้ว่าทำบุญกับผู้มีศีลหรือเปล่า....จากตำนานเรื่องเปตาวัตถุ ถ้าทำบุญกับผู้ไม่มีศีล บุญน้อยแม่อุทิศให้เปรต เปรตก็รับไม่ได้ ถ้ามีคนที่ทำบุญกับพระอริยเจ้าบุญมากมายนัก...คิดดูดีๆ..ถ้าเราอนุโมทนาบุญทุกเช้า มีคนทำบุญกับพระอรหันต์ เราได้สาธุทุกเช้า เราก็ได้รับบุญนั้นด้วย......ไม่แตกต่างจากที่เราได้ทำกับพระอรหันต์ด้วยตนเอง ...เรื่องนี้ลป.ชื่น ท่านก็แนะนำไว้เพียงแต่เรานำคำแนะนำของ ลป.มาทำให้เกิดบุญแก่เราได้อย่างไร....

นะโม 3 จบ และกล่าวว่า "ข้าพเจ้าของอนุโมทนาสาธุ ในผลบุญที่มนุษย์ เทพเทวดา และผู้ที่ไม่ใช้มนุษย์และเทพเทวดา ได้กระทำการใดอันเป็นบุญเป็นกุศลแล้วเมื่อวานและวันนี้ ข้าพเจ้าขอสาธุในบุญนั้นด้วย สาธุ สาธุ สาธุ" เป็นความเชื่อครับ...พิจารณาด้วย
ขอบคุณครับ
สาธุครับ
ธี ตอบกลับเมื่อ 2015-1-19 09:43
สาธุครับ ผู้ชราสอนผมว่า ตื่นเช้ามาล้างหน้าแปรง ...

เก็บทุกรายละเอียด สุดยอดครับ

ครูบาอาจารย์ท่านเคยบอกกล่าวไว้ว่า

บุญเล็ก บุญน้อยก็อย่าได้ดูแคลน ครับ

ดั่งวลี มีสลึง พึ่งบรรจบให้ครบบาท

อานิสงส์ แปลว่า คุณเป็นเนื่องไหลไหลออกเนืองๆ แห่งผล คือ ให้ผลที่น่าชื่นใจโดยยิ่ง


อานิสงส์ หมายถึงผลแห่งกุศลกรรม, ผลบุญ, ประโยชน์ที่เกิดจากการทำบุญ ใช้ว่า ผลานิสงส์ หรือผลอานิสงส์ ก็มี


อานิสงส์ เป็นผลผลิตจากการประกอบความดีต่างๆ ตามคติที่ว่า ทำดีได้ดี หมายความว่าเมื่อทำความดี ความดีย่อมให้อานิสงส์เป็นคุณความดีก่อน ลำดับต่อมาคุณงามความดีนั้นจึงให้ผลที่น่าชื่นใจไหลออกมาสนองผู้ทำในรูปแบบต่างๆ ตามเหตุปัจจัยที่ทำ เปรียบเหมือนปลูกต้นมะม่วงย่อมจะได้ผลเป็นลูกมะม่วงก่อน ต่อมาลูกมะม่วงนั้นจึงให้ผลที่น่าชื่นใจต่อไปเมื่อนำไปเป็นอาหาร นำไปแลกเป็นของหรือนำไปขายเป็นเงิน
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้