ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2084
ตอบกลับ: 3
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ตำนานพระภูมิเจ้าที่ : วิถีชีวิตไทยในความเป็นพุทธ-พราหมณ์

[คัดลอกลิงก์]


ตำนานพระภูมิเจ้าที่ :
วิถีชีวิตไทยในความเป็นพุทธ-พราหมณ์

อาจารย์สุทธิลักษณ์ อำพันวงษ์


ตามตำนานเก่าเล่าต่อกันมาว่า   
ในอดีตกาลยังมีกษัตริย์มีนามว่า ท้าวทศราช
(บางฉบับว่าท้าวโสกราช หรือท้ายกายทัศน์)
มีมเหสีคือ พระนางสันทาทุกข์ (บางฉบับว่ามันทาทุกขธิบดี)
ครอบครองกรุงฉิมพลี มีโอรส ๙ องค์ ล้วนแต่ปรีชาสามารถทุกองค์
ท้าวทศราชจึงส่งโอรสไปรักษาถิ่นฐานต่างๆ ดังนี้

๑. พระชัยมงคล ไปรักษาเคหสถาน ร้านโรง หอค้าต่างๆ
๒. พระนครราช ไปรักษาทวารเมือง ป้อมค่าย และบันได
๓. พระเทเพน ไปรักษาคอกสัตว์ โรงงช้างม้า โค และกระบือ
๔. พระชัยศพณ์ (บางฉบับว่าพระชัยสพ) ไปรักษายุ้ง ฉางข้าง เสบียงคลังต่างๆ
๕. พระคนธรรพ์ ไปรักษาโรงพิธีอาวาห์ และวิวาห์ เรือนหอบ่าวสาว
๖. พระธรรมโหรา (บางฉบับว่าพระเยาวแผ้ว) ไปรักษาไร่ นา ทุ่งลาน และป่าเขา
๗. พระเทวเถร (บางฉบับว่าพระวัยทัต) ไปรักษาอาราม วิหาร ปูชนียวัตถุและสถานต่างๆ
๘. พระธรรมิกราช ไปรักษาอุทยาน สวนผลไม้ และพืชพันธุ์ต่างๆ
๙. พระทาษธารา ไปรักษาห้วงหนอง คลองคูบึง และแม่น้ำ

โอรสทั้ง ๙ นี้  เป็นพระภูมิเจ้าที่ทั้งนั้น ตามความเชื่อแต่โบราณ
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-20 07:15 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
แต่ในปัจจุบันมีพระภูมิเพียง องค์เท่านั้น
ที่มีศาลอยู่อย่างถาวรและได้รับการสักการบูชา

คือ พระชัยมงคล ซึ่งเป็นพระภูมิเจ้าที่ประจำบ้าน
กับ พระธรรมิกราช พระภูมิประจำสวนผลไม้และพืชพันธุ์ต่างๆ  

ส่วนพระชัยศพณ์ผู้รักษายุ้งฉางข้าวนั้น ได้มีพระแม่โพสพมาแทนที่  
พระภูมิองค์อื่นๆ คงเหลือแต่ชื่อในตำนานเท่านั้น   
ไม่มีผู้ใดได้เห็นศาลพระภูมิเหล่านั้นเลย

พระภูมิ ยังมีคนรับใช้ไว้ใช้สอยอีก คน คือ  
นายจันทิศ นายจันถี และจ่าสพพระเชิงเรือน คอยรับใช้อยู่หน้าศาล

ชาดกเรื่องหนึ่งในพุทธศาสนา   
ก็ได้กล่าวถึงพระพุทธเจ้ากับพระเจ้ากรุงพลี  ไว้ว่า
ในครั้งนั้นพระพุทธองค์ทรงเป็น พระโพธิสัตว์


ได้ทรงบำเพ็ญญาณอยู่ใต้ต้นไทรใหญ่ในเวลากลางคืน  
ก็ปรากฏว่าพระภูมิซึ่งมีนามว่า พระเจ้ากรุงพลี ไม่พอใจ  
ได้แสดงอภินิหารขับไล่ พระโพธิสัตว์
พระพุทธองค์ทรงทราบด้วยญาณถึงเรื่องในภายหน้า
จึงทรงขอพื้นที่ดินจากพระเจ้ากรุงพลีเพียง ๓ ก้าว เพื่อบำเพ็ญญาณต่อไป  

พระเจ้ากรุงพลีเห็นว่าเป็นที่ดินเล็กน้อยเท่านั้นจึงอนุญาต
แต่ พระโพธิสัตว์ ทรงมีบุญญาภินิหาร  
ดังนั้นเมื่อทรงย่างเพียง ๒ ก้าว ก็พ้นเขตพื้นแผ่นดินของพระเจ้ากรุงพลี  
พระเจ้ากรุงพลีจึงไม่มีผืนแผ่นดินอยู่ ต้องออกไปอยู่นอกฟ้าป่าหิมพานต์  
ไม่มีความสุขสบายเหมือนมีที่อยู่อาศัยของตนเอง
จึงให้คนใช้ ๓ คน คือ นายจันถี นายจันทิศ และจ่าสพพระเชิงเรือน
ไปทูลขอพื้นที่ดินจาก พระโพธิสัตว์
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-20 07:16 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


พระพุทธองค์ทรงรู้แจ้งด้วยพระญาณว่า
พระเจ้ากรุงพลีจะทำหน้าที่เป็นพระภูมิเจ้าที่
คอยให้ความคุ้มครองแก่มนุษย์และสัตว์โลกโดยทั่วไปในภายหน้า
จึงทรงคืนที่ดินให้แก่พระเจ้ากรุงพลี
และทรงขอให้ตั้งมั่นอยู่ในความสุจริต ไม่เบียดเบียนผู้อื่นอีกต่อไป

ใน ลิลิตนารายณ์สิบปาง
พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
ในปางที่ ๕ ตอนวามนาวตาร ก็มีเนื้อความคล้ายคลึงกัน  

เรื่องราวมีอยู่ว่า พระเจ้ากรุงพลีเป็นกษัตริย์ที่ไม่ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม  
เที่ยวเบียดเบียนเทวดาให้เดือดร้อนไปทั่วทุกแห่งหน

พระนารายณ์เทพเจ้าจึงทรงถือกำเนิดเป็นพราหมณ์น้อย
ผู้มีความรู้สูงผู้มีนามว่า “วามน”
เข้าไปขอพื้นที่ดินเพียง ๓ ก้าว เพื่อบำเพ็ญพรต  

พระเจ้ากรุงพลีมิได้ตรึกตรองให้รอบคอบก็ได้อนุญาตทันที
แต่พระศุกร์ผู้เป็นอาจารย์ของพระเจ้ากรุงพลีนั้นตะหนักดีว่า  
พราหมณ์น้อย คือพระนารายณ์อวตารมาเพื่อปราบปราม  

ดังนั้น เมื่อพระเจ้ากรุงพลีหยิบพระเต้าน้ำ  
เพื่อจะหลั่งน้ำมอบกรรมสิทธิ์ที่ดินให้พราหมณ์  
พระศุกร์จึงจำแลงกายเพื่ออุดรูพระเต้า กันมิให้น้ำไหลลงสู่พื้นดิน

แต่พระนารายณ์ในร่างของพราหมณ์รู้ทันความคิดของพระศุกร์  
จึงเอาหญ้าคาแยงเจ้าไปในรู้พระเต้า ถูกตรงนัยน์ตาพระศุกร์พอดี  
พระศุกร์ได้รับความเจ็บปวดมาก จึงจำต้องออกมาจากพระเต้า
น้ำจึงหลังลงมาจากพื้นดิน เป็นการสำเร็จทาน

ในทันใดนั้นพราหมณ์น้อยก็แสดงอภินิหารเป็นนารายณ์ ๔ กร  
ย่างพระบาทเพียง ๒ ก้าวก้นขอบจักรวาล  

พระเจ้ากรุงพลีหมดปัญญาแก้ไข  ต้องลงไปอยู่ในบาดาล  

ต่อมาได้สำนึกผิด  พระนารายณ์จึงทรงคืนที่ดินให้  
โดยได้ขอให้พระเจ้ากรุงพลีครองตนอยู่ในศีลสัตย์  และประพฤติธรรม  


ดังนั้นถ้าผู้ใดจะทำพิธีมงคลใดใดก็ตาม  เช่นปลูกบ้านใหม่ งานแต่งงาน  
ต้องทำพิธีบูชาเจ้าของที่ พระเจ้ากรุงพลีจึงจะมีความสุข  

เรื่องราวของพระภูมินั้น ก็เป็นเพียงตำนานหรือนิทานเล่าสืบทอดกันมา
จึงอาจมีผู้สงสัยว่า พระภูมิมีจริงหรือไม่  
และสามารถคุ้มครองป้องกันภัยพิบัติ   
ช่วยบันดาลให้เกิดโชคลาภให้เกิดมากน้อยเพียงใด  

4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-20 07:18 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


คนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าพระภูมิมีจริง  
และพระภูมิคือวิญญาณของผู้ที่ตายแล้วมาสถิตอยู่ที่ศาล นับเป็นเทพผู้คุ้มครองรักษา

การจัดตั้งศาลพระภูมิจึงนับเป็นพิธีการของศาสนาพุทธและพราหมณ์ปะปนกัน
เพราะมีการบูชาสังเวยขอพร และขอให้บันดาลในอภินิหารในสิ่งที่มุ่งหวัง


แต่พระภูมิจะศักดิ์สิทธิ์สามารถดลบันดาลโชคลาภ  
และปกป้องคุ้มครองภัยหรือไม่นั้น
  

หากจะพิจารณาตามหลักพุทธศาสนา  
ก็ควรพิจารณาถึงกรรมคือการกระทำเป็นสำคัญ
คือ ประกอบด้วยถ้าทำดีย่อมได้รับผลดี  
แต่ถ้าเคยทำชั่วมามาก ก็ย่อมได้รับความทุกข์และไม่มีโชคลาภ
ถึงแม้จะมีการบูชาหรือสังเวยขอพร ก็มักจะไม่ใคร่เป็นผลสำเร็จ


    

(คัดลอกมาบางตอนมาจาก : พระภูมิเจ้าที่ : หนังสือชุดความรู้ไทย
ขององค์การค้าคุรุสภา ลำดับที่ ๒๐๐๓ โดย อาจารย์สุทธิลักษณ์ อำพันวงษ์)

นำมาจากบอร์ดเก่า โพสต์โดย คุณกุหลาบสีชา
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=13840



                                                                                       
.............................................................................

ที่มา
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=23&t=39901

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้