|
ประวัติวัดม่อนพระยาแช่
วัดม่อนพระยาแช่ ตั้งอยู่บนภูเขาสูงชื่อม่อนไก่เขี่ยหรือดอยยัสสะกิตติ หรือเขลางค์บรรพต ตำบลพิชัย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง สร้างเมื่อ พ.ศ. 2353 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2501 สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 350 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง ซึ่งเป็นที่ตั้งของพระธาตุม่อนพระยาแช่ด้วย
วัดม่อนพระยาแช่ แต่เดิมไม่มีพระภิกษุสงฆ์จำพรรษาอยู่ประจำ วัดนี้อยู่ในความอุปถัมภ์ดูแลของท่านเจ้าคุณพระธรรมจินดานายก วัดป่าดัวะ จนถึงปีพุทธศักราช 2497 ท่านชราภาพไม่สะดวกในการเอาใจใส่ จึงมอบธุระให้ท่านเจ้าคุณพระอินทวิชยาจารย์ เจ้าคณะจังหวัดลำปาง วัดคะตึกเชียงมั่น เป็นองค์อุปถัมภ์ และเป็นประธานในการพัฒนาวัดต่อไป
พ.ศ. 2499-2502 พระครูศรีปริยัติกิติ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดม่อนพระยาแช่ ตราตั้งที่ 01/2499 ลงวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2499
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และพระเจ้าลูกเธอ ทั้งสองพระองค์ ได้เสด็จพระราชดำเนิน มานมัสการ พระธาตุม่อนพระยาแช่ เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2515 และได้เสด็จพระราชดำเนินไปยัง บ้านต้นต้อง ในวันเดียวกันด้วย
เนื่องจากท่านเจ้าคุณพระอินทวิชยาจารย์ เจ้าคณะจังหวัดลำปาง ภาระในหน้าที่ของท่านมีมาก ท่านจึงได้แต่งตั้งให้พระครูประโชติคณารักษ์ เป็นเจ้าอาวาส วัดม่อนพระยาแช่ แทนท่าน เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2522 ท่านพระครูประโชติคณารักษ์ ได้ทำการพัฒนาวัด ให้เจริญรุ่งเรืองมาโดยตลอด
ต่อมา สำนักงานชลประทาน (ลำปาง) ได้สร้างอ่างเก็บน้ำห้วยโจ้ ขึ้นที่ด้านหลัง วัดม่อนพระยาแช่ เพื่อกักเก็บน้ำใว้ใช้ในวัด และในปี พ.ศ. 2524 ดร.ชูวงค์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง และสมาชิกสภาจังหวัดลำปาง ได้จัดสรรเงินงบประมาณสร้างถนนลาดยางตลอดสาย จากถนนพหลโยธินจนเข้าถึงวัดม่อนพระยาแช่ รวมระยะทาง 5 กิโลเมตร
วัดม่อนพระยาแช่ เป็นสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา แห่งหนึ่งในจังหวัดลำปาง เป็นสถานที่เงียบสงบ ร่มรื่น จะมีสภาพบรรยากาศ ในแต่ละฤดูที่เปลี่ยนไป ไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนจะมีตะไคร่น้ำขึ้นอยู่ทั่วไป เหมาะจะเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ที่ไม่ไกลจากตัวเมืองลำปาง มากนัก
สถานที่ต่าง ๆ ในวัดม่อนพระยาแช่ มีดังนี้
1. พระธาตุม่อนพระยาแช่ และพระอุโบสถ ตั้งอยู่บนภูเขาสูง เดินขึ้นบันได 585 ขั้น รถยนต์ขึ้นไม่ได้
2. บ่อน้ำสองพี่น้อง มี 2 บ่อ ถือว่าเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ อยู่ชายเขา ด้านล่างพระธาตุ น้ำในบ่อจะไม่แห้งทั้งปี
3. บรรณศาลาสุพรหมฤาษี (พระฤาษีองค์ที่ 5 ที่ดูแลพระธาตุม่อนพระยาแช่)
4. พระสังกัจจายน์
5. ศาลาเกษม-โชติ เป็นที่ประดิษฐานรูปปั้นหลวงพ่อเกษม เขมโก และพระครูประโชติคณารักษ์
6. เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติรอบ ๆ วัด และในวนอุทยานม่อนพระยาแช่
7. จุดชมวิวทิวทัศน์เมืองลำปาง อยู่บนพระธาตุม่อนพระยาแช่ สามารถมองเห็นทิวทัศน์เมืองลำปางได้สวยงาม
8. อ่างเก็บน้ำห้วยโจ้ อยู่ด้านหลังวัด มีทิวทัศน์ที่สวยงามอีกแห่งหนึ่ง
9. ลานกิจกรรมเอนกประสงค์ ด้านหน้าวัด เหมาะกับการจัดกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น ค่ายพักแรม
10. โครงการ "ลีลาวดีบาน นมัสการพระธาตุ" กำลังปลูกต้นลีลาวดี ให้ทั่วทั้งวัด เพื่อให้มีกลิ่นหอม ไปทั่วบริเวณวัด (อยู่ระหว่างดำเนินการ ไกล้เสร็จเรียบร้อยแล้ว)
11. โครงการ "เฮาฮักม่อนพระยาแช่" เป็นโครงการที่วัดม่อนพระยาแช่เข้าร่วมกับ We love The King we love Thailand นครลำปาง และเครือข่าย ในการทำกิจกรรมเพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นกิจกรรมต่อเนื่องทั้งปี โดยในแต่ละสัปดาห์จะมีกิจกรรมตามฤดูกาล เช่น ปลูกต้นไม้ ปลูกหญ้าแฝก สร้างฝาย ป้องกันและควบคุมไฟป่า เป็นต้น โดยพื้นที่ดำเนินโครงการเป็นพื้นที่ทั้งหมดของวัด และขยายออกไปยังพื้นที่ของวนอุทยานม่อนพระยาแช่ ขณะนี้เข้าสู่การดำเนินกิจกรรมในปีที่ 2 กิจกรรมในโครงการ "เฮาฮักม่อนพระยาแช่" มีดังนี้
11.1 การสร้างฝาย ชะลอน้ำ ด้วยหินและดิน กว้างตั้งแต่ 3-15 เมตร ในปี 2552 สร้างได้ 66 ฝาย ในปีที่ 2 (กำลังดำเนินการ) ได้ 120 ฝาย (20 สิงหาคม 2553)
11.2 การปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันดินพังทลายและรักษาหน้าดิน บริเวณ 2 ข้างของทางขึ้นพระธาตุ และรอบพระธาตุ ซึ่งเป็นดอยสูง ในปี 2552 ปลูกหญ้าแฝกไปแล้วกว่า 100,000 กล้า
11.3 การปลูกหญ้าแฝกบนสันฝาย เพื่อให้เพิ่มความแข็งแรงให้กับตัวฝาย ในบริเวณฝายที่เป็นดิน
11.4 การทดลองปลูกหญ้าแฝก เพื่อปรับปรุงสภาพดินเสีย (ภูเขาหิน) ให้สามารถใช้ปลูกพืชได้ บริเวณภูเขาด้านหน้าวัด ใช้กล้าหญ้าแฝก ประมาณ 30,000 กล้า
11.5 การปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันดินพังทลายและรักษาหน้าดิน พร้อมทั้งเป็นแปลงขยายพันธ์หญ้าแฝกไปด้วย บริเวณเหนืออ่างเก็บน้ำห้วยโจ้ ด้านหลังวัดม่อนพระยาแช่
11.6 การปลูกต้นไม้ทั้งไม้ยืนต้นและไม้กินได้ ในบริเวณพื้นที่ของวัด 350 ไร่ โดยในปี 2553 กำลังปลูกต้นมะค่าโมง และขะจาว (กล้าไม้สูงเกือบ 2 เมตร) กว่า 1,500 ต้น
11.7 การป้องกันไฟป่า ในพื้นที่วัดทั้งหมด และบางส่วนในวนอุทยานม่อนพระยาแช่ โดยดำเนินการทั้งการสร้างจิตสำนึก และการประชาสัมพันธ์ ทางสถานีวิทยุ การลงพื้นที่ การทำแนวกันไฟป่า และการจัดทีมอาสาสมัครออกดับไฟป่า ผลการดำเนินงานในปี 2552 ได้ผลดีมาก
11.8 การปฏิบัติธรรม วัดม่อนพระยาแช่ ร่วมกับโครงการ ปฏิธรรมของ We love The King we love Thailand นครลำปาง จัดปฏิบัติธรรม เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลฯ ทุกวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือน โดยเริ่มเวลา 18.00 น. ณ พระอุโบสถ บนพระธาตุม่อนพระยาแช่
11.9 โครงการ "ห้องสมุดประวัติศาสตร์ ม่อนพระยาแช่" โดยวัดม่อนพระยาแช่ ได้ให้ We love The King we love Thailand นครลำปาง ใช้สถานที่ศาลารัตนาคมจัดทำห้องสมุดเพื่อเก็บรวบรวมประวัดความเป็นมาของ "ม่อนพระยาแช่" ในอดีต เช่น การเสด็จพระราชดำเนิน ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2515 การต่อสู้ทางอากาศของเครื่องบินในช่วงสงครามโลก เหนือน่านฟ้าม่อนพระยาแช่ รวมถึงตำนานและหลักฐานเกี่ยวกับชื่อ "ม่อนพระยาแช่" โดยจะทำเป็นห้องสมุด Multimedia (ขณะนี้กำลังดำเนินการ)
|
|