ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2301
ตอบกลับ: 6
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

พระติ๋ว-พระเทียม พระคู่แฝด วัดโอกาสศรีบัวบาน จ.นครพนม

[คัดลอกลิงก์]

“พระติ๋ว-พระเทียม” พระคู่แฝดแห่งเมืองนครพนม


พระติ๋ว-พระเทียม
พระคู่บ้านคู่เมืองนครพนม พระประธานในวิหาร
วัดโอกาสศรีบัวบาน ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครพนม


“นครพนม” เมืองริมฝั่งแม่น้ำโขงที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน
เป็นที่ตั้งของอดีตอาณาจักรอันเคยรุ่งเรือง คือ อาณาจักรศรีโคตรบูร
มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญมากมายให้ศึกษา ที่คนทั่วไปรู้จักกันดี
ก็คือ “พระธาตุพนม” พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของชาวนครพนม

นอกจากนี้ยังมี “วัดโอกาสศรีบัวบาน” ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่คู่เมืองนครพนม
อันมีชื่อเดิมว่า วัดศรีบัวบาน หรือ วัดพระศรีบัวบานพระเจ้าติ้ว
ตั้งอยู่เลขที่ ๕๕๒ ถนนสุนทรวิจิตร ติดกับตลาดอินโดจีนริมฝั่งแม่น้ำโขง
ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย
ปัจจุบันวัดมีพื้นที่ทั้งหมดจำนวน ๓ ไร่ ๒ งาน ๒๘ ตารางวา  

สำหรับประวัติที่เล่าขานกันสืบมาถึงการสร้าง “วัดโอกาสศรีบัวบาน” นั้น  
สันนิษฐานกันว่าวัดได้สร้างขึ้นเมื่อจุลศักราชราชาได้ ๘๑๓ ตัวปี
ตรงกับปีพุทธศักราช ๑๙๙๔ ครั้งในสมัยอาณาจักรศรีโคตรบูรกำลังรุ่งเรือง
ในขณะนั้นมี พระเจ้าศรีโคตรบูรหลวง เป็นเจ้าผู้ครองนครศรีโคตรบูร
“จมื่นรักษาราษฎร์” ซึ่งเป็นแม่ทัพนายกองเมือง  
ผู้ปฏิบัติราชการทางพระเนตรพระกรรณแทนพระเจ้าศรีโคตรบูรหลวง
ได้นำกำลังทหารมาตั้งค่ายระวังข้าศึกที่บริเวณบ้านโพธิ์ค้ำ
แล้วมีศรัทธาร่วมกับชาวบ้านโพธิ์ค้ำช่วยกันสร้างวัดขึ้นเพื่อบำรุงขวัญทหาร
ที่ริมฝั่งแม่น้ำโขงในบริเวณบ้านโพธิ์ค้ำ แห่งนครศรีโคตรบูร  

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๐๘๑ ได้เปลี่ยนชื่อวัดมาเป็น “วัดโอกาสศรีบัวบาน”  
โดยได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปีพุทธศักราช ๒๒๘๑
ด้วยเนื้อที่เขตวิสุงคามสีมากว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๑๗ เมตร
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-3 12:23 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ปัจจุบันมี พระครูศรีปริยัติการ (อรุณ ฐิตเมโธ) เป็นเจ้าอาวาส
ภายในวัดมีปูชนียวัตถุและโบราณสถานที่สำคัญ
อันเป็นที่บูชาสักการะของชาวนครพนมมากมาย อาทิเช่น พระติ้ว พระเทียม
ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง พระเจ้าเสลา และภาพผนังปูนปั้นนูนต่ำสามก๊ก เป็นต้น            
      
ต่อมาเมื่อจุลศักราชราชาได้ ๑,๑๐๐ ตัวปี ตรงกับปีพุทธศักราช ๒๒๘๑
ราชบุตรพรหมา (พรหมมาบุตรเจ้ากู่แก้ว) เป็นเจ้าผู้ครองนครศรีโคตรบูร
ปรากฏนามว่า พระบรมราชาพรหมา ได้มีศรัทธาบูรณปฏิสังขรณ์วัดศรีบัวบาน
โดยได้สร้างอุโบสถและสร้าง พระประธาน แล้วประดิษฐานไว้ในอุโบสถ
ซึ่งองค์พระมีขนาดหน้าตักกว้าง ๔๖ เซนติเมตร สูง ๒๒๐ เซนติเมตร
พุทธลักษณะปางมารวิชัย ลงรักปิดทองทั่วทั้งองค์ และได้ทำการฉลองสมโภช
พร้อมทั้งถวายสมัญญานามว่า “หลวงพ่อพระบรมราชาพรหมา”
นอกจากนี้ยังได้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ ณ วัดศรีบัวบาน และได้เปลี่ยนชื่อ
จาก “วัดศรีบัวบาน” เป็น “วัดโอกาส” แล้วมีสร้อยท้ายตามหลังว่า ศรีบัวบาน
      
นอกจากนี้ที่บริเวณกลางวัดโอกาสศรีบัวบาน จะมี หอพระในวิหาร
ประดิษฐาน “พระติ้ว พระเทียม” พระคู่แฝดแห่งเมืองนครพนม ประทับอยู่คู่กัน
โดยพระติ้วจะประทับอยู่ด้านขวาของพระเทียมซึ่งมีขนาดเท่ากัน
นับเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองนครพนมมาแต่โบราณกาล
      
สำหรับตำนานการสร้าง “พระติ้ว พระเทียม” พระคู่แฝดนั้น
ในตอนแรกจะมีเพียงองค์ “พระติ้ว” องค์เดียวเท่านั้น
เป็นพระพุทธรูปทำจากไม้ติ้วบุด้วยทองคำแกะสลัก ปางมารวิชัย
มีขนาดหน้าตักกว้าง ๓๙ เซนติเมตร สูง ๖๐ เซนติเมตร
ปัจจุบันมีอายุกว่า ๑,๒๒๗ ปี สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๑๓๒๘  
ในสมัยอาณาจักรศรีโคตรบูรกำลังรุ่งเรือง มีเจ้าผู้ครองนครพระนามว่า

“พระเจ้าศรีโคตรบูรหลวง” โดยมีราชธานีตั้งอยู่สองฝั่งแม่น้ำโขง
ระหว่างเทือกเขาหินปูน (ประเทศลาว) และเทือกเขาภูพาน


เนื่องจากว่าการเดินทางและการคมนาคมในสมัยนั้น
ทางบกใช้ช้าง ม้า ล้อ เกวียน เป็นยานพาหนะ ทางน้ำใช้แพ เรือ เป็นยานพาหนะ
พระเจ้าศรีโคตรบูรหลวง จึงได้รับสั่งให้นายช่างชาวบ้านกองลย (ประเทศลาว)
ไปดำเนินการ เมื่อนายช่างทำเรือจากบ้านกองลยได้ครับคำสั่งแล้ว
ก็ได้ข้ามแม่น้ำโขงมาทางตะวันตก เพื่อแสวงหาไม้มาทำเรือ
พบไม้แคน (ไม้ตะเคียน) ในดงเซกา (ปัจจุบันคือ บ้านนาคำกลาง ต.นาทราย)
จึงขุดเป็นรูปเรือกูน แล้วเตรียมชักลากเรือลงสู่ฝั่งแม่น้ำโขง
การชักลากในสมัยนั้นต้องใช้ไม้หมอนกลมตัดเป็นท่อนๆ เป็นลูกล้อหมุนท้องเรือ
นายช่างจึงให้พลกำลังไปหาไม้หมอนมาหนุนท้องเรือ
พบ ไม้ติ้ว ในดงติ้ว (ปัจจุบันคือ บ้านดงติ้ว ต.บ้านกลาง)
เมื่อได้มากพอสมควรแล้วจึงใช้ไม้หมอนนั้นหนุนห้องเรือชักลากลงสู่แม่น้ำโขง
ตรงท่าน้ำบ้านโพธิ์ (ปัจจุบันคือบริเวณหน้าวัดโอกาสศรีบัวบาน จ.นครพนม)
ขณะชักลากเรือนั้นมีไม้ท่อนหนึ่งกระเด็นออกมาข้างนอกไม่ยอมให้เรือทับ
เมื่อนำเอาไม้ท่อนนั้นมาใช้เป็นหมอนรองท้องเรืออีกและชักลากเรือครั้งใด
ไม้ท่อนนั้นก็กระเด็นออกมาถูกพวกลากเรือเจ็บไปตามๆ กัน
แม้จะพยายามเท่าไรก็ไม่สำเร็จ แต่ก็สามารถชักลากเรือลงแม่น้ำได้สำเร็จ

นายช่างและพลกำลังชักลากเรือเห็นว่า ไม้ติ้วท่อนนั้นเป็นไม้อัศจรรย์
จึงได้กราบทูลเรื่องราวให้พระเจ้าศรีโคตรบูรหลวงทรงทราบ
เมื่อพระเจ้าศรีโคตรบูรหลวงทรงพิจารณาแล้ว ทรงเห็นว่า
ไม้ติ้วท่อนนี้เป็นพญาไม้ จึงไม่ยอมให้เรือทับ
พระองค์โปรดให้นายช่างนำไปแกะเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย
ขนาดหน้าตักกว้าง ๓๙ เซนติเมตร สูง ๖๐ เซนติเมตร แล้วลงรักปิดทอง
เมื่อจุลศักราชได้ ๑๔๗ ปีเป้า ตรงกับวันอังคาร เดือน ๗ แรม ๘ ค่ำ
ปีกุน ตรงกับปีพุทธศักราช ๑๓๒๘ โปรดให้มีพิธิพุทธภิเษกสมโภช
เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของนครศรีโคตรบูร

3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-3 12:24 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ต่อมาในสมัย พระเจ้าขัตติยะวงศาฯ ซึ่งมีพระนามเต็มว่า
พระเจ้าขัตติยะวงศาบุตรมหาฤาชัยไตรทศฤาเดชเชษฐบุรีศรีโคตรบูรหลวง
เจ้าผู้ครองนครศรีโคตรบูร ในขณะนั้น องค์พระติ้วได้ถูกอัญเชิญ
มาประดิษฐานอยู่ ณ วัดธาตุ บ้านสำราญ ซึ่งเป็นวัดหนึ่งที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง
   

ครั้งหนึ่งได้เกิดเพลิงไหม้หอพระและวิหาร วัดธาตุ บ้านสำราญ
ชาวบ้านไม่สามารถนำองค์พระติ้วออกมาได้
จึงพร้อมกันเข้ากราบทูลรายงานการเกิดเพลิงไหม้หอพระและวิหาร วัดธาตุ
ให้พระเจ้าขัตติยะวงศาฯ ทรงทราบ เมื่อทรงทราบดังนั้น
พระเจ้าขัตติยะวงศาฯ จึงมีรับสั่งให้ชาวบ้านหาไม้มาแกะสลักเป็นพระพุทธรูป
ให้เหมือนองค์พระติ้วทุกประการ ชาวบ้านจึงไปหาไม้ได้ที่ดอนหอเจ้าปู่ตา
ให้ช่างแกะสลักเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดเท่าองค์เดิม ลงรักปิดทอง
แล้วสมโภชเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองแทนองค์พระติ้ว ที่เข้าใจว่าถูกไฟไหม้ไปแล้ว

ครั้นอีก ๒-๓ ปีต่อมา ได้มีชาวบ้านสำราญจำนวนหนึ่ง
ไปทอดแหหาปลากลางแม่น้ำโขง บริเวณหัวดอนโดน
ในขณะนั้นเองได้เกิดลมบ้าหมู (ลมหมุน) ขึ้นกลางแม่น้ำโขง
จึงนำเรือไปหอบลมที่หัวดอนโดน พร้อมกับเฝ้าดูเหตุการณ์
และได้เห็นวัตถุหนึ่งลอยขึ้นหมุนวนในแม่น้ำโขงที่ถูกลมบ้าหมูพัด
เมื่อลมสงบลงจึงพากันออกเรือไปดู พบว่าวัตถุนั้นก็คือองค์ “พระติ้ว”
ที่เคยสำคัญว่าถูกเพลิงไหม้ไปแล้ว พวกชาวบ้านต่างมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง
จึงได้ร่วมกันอัญเชิญเข้าไปทูลเกล้าถวายคืนพระเจ้าขัตติยะวงศาฯ
พระองค์ทรงปิติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง จึงมีพระศรัทธาประทานทองคำหนัก ๓๐ บาท
ให้ช่างบุทองทั่วทั้งองค์พระ และจารึกตัวอักษรธรรมที่แท่นฐานลานเงิน
เพื่อบอกวัน-เดือน-ปี พร้อมทั้งนามผู้สร้างรอบเอวองค์พระพุทธรูป
พร้อมทั้งได้ถวายสมัญญานามพระพุทธรูปองค์เดิมว่า “พระติ้ว”
และพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นใหม่เพื่อใช้แทนพระติ้วนั้นว่า “พระเทียม”

พระติ้ว พระเทียม จึงเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของนครศรีโคตรบูร
หากเกิดเหตุร้ายภัยร้าย ณ บ้านใดเมืองใด เมื่ออัญเชิญไปบ้านนั้นเมืองนั้น
เพื่อขอให้ช่วยขจัดปัดเป่าภัยร้ายทั้งหลายทั้งปวงให้ดับหายไป
ด้วยอำนาจบารมีความศักดิ์สิทธิ์ของพระติ้ว พระเทียม
ครั้นพอเหตุร้ายภัยร้ายระงับดับหายไปแล้ว
ชาวบ้านก็จะอัญเชิญองค์พระกลับไปประดิษฐานภายในเมืองเหมือนเดิม   
ดังนั้น พระติ้ว พระเทียมจึงเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนมาจนถึงบัดนี้
   
ในกาลต่อมา
ราชบุตรพรหมา (พรหมมาบุตรเจ้ากู่แก้ว)
เจ้าผู้ครองนครศรีโคตรบูร ในขณะนั้น ได้อัญเชิญ พระติ้ว พระเทียม
ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองแห่งนครศรีโคตรบูร
จากบ้านสำราญมาประดิษฐาน ณ วัดโอกาสศรีบัวบาน เมื่อปี พ.ศ.๒๒๘๑
และทรงรับสั่งให้ชาวบ้านสำราญ เป็น “ข้าโอกาส”
คอยปรนนิบัติรักษาพระติ้ว พระเทียม
พร้อมกับเปลี่ยนนามของวัดใหม่จาก “วัดศรีบัวบาน” เป็น “วัดโอกาส”
แล้วให้มีสร้อยท้ายตามหลังว่า ศรีบัวบาน ดังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน


สำหรับคำบูชา “พระติ้ว พระเทียม” มีดังนี้
ยะถาคะหิเตหิ สักกาเรหิ อิมัง พุทธปะฏิมัง
อะภิปูชะยามิ ยะถิจฉิตัง เม อะธิกัจฉะตุ สัพพะทา
หิตายะ เจวะ สุขาวะ สุขายะ นิพพานัสสะ สังวัตตะตุ ฯ

4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-3 12:26 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ปัจจุบัน “พระติ้ว พระเทียม” พระคู่แฝด ประดิษฐาน ณ วิหาร
วัดโอกาสศรีบัวบาน จังหวัดนครพนม มีอายุกว่า ๑,๒๒๗ ปี   
นับเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่โบราณคู่บ้านคู่เมืองนครพนม
โดยในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ หรือช่วงเทศกาลสงกรานต์ ของทุกๆ ปี
ชาวนครพนมจะมีงานบุญสำคัญ คือประเพณีสรงน้ำ “พระติ้ว พระเทียม”
ซึ่งเป็นประเพณีสืบทอดกันมาแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน

      
การสังเกตความแตกต่างระหว่าง “พระติ้ว” กับ “พระเทียม” นั้น
พระติ้วประดิษฐานอยู่ด้านขวาของพระเทียมซึ่งมีขนาดเท่ากัน
สามารถสังเกตได้จากองค์ “พระติ้ว” ทำด้วยไม้ติ้วบุทองคำ
ส่วนองค์ “พระเทียม” นั้นไม่ได้บุทองคำ แต่ลงรักปิดทองคำเปลวแทน


ในช่วงที่ ราชบุตรพรหมา (พรหมมาบุตรเจ้ากู่แก้ว) ได้มาบูรณะวัดศรีบัวบาน
ในครั้งนั้นมีเจ้าอาวาสปรากฏนามว่า “ญาถ่านหลักคำ”
หลังจากนั้นก็ไม่มีผู้ใดทราบนามและลำดับของเจ้าอาวาส
จนกระทั่งมาถึงสมัยก่อนที่ พระครูสุนทรกัลยาณพจน์ จะมาเป็นเจ้าอาวาส
จึงปรากฏนามเจ้าอาวาสตามลำดับดังนี้คือ หลวงพ่อโฮม กตปุญโญ,
พระมหาวิศิษฐ์, พระมหาประกิต และพระครูสุนทรกัลยาณพจน์ (พ.ศ.๒๔๙๙-๒๕๓๗)

ปี พ.ศ.๒๔๙๙ วัดโอกาสศรีบัวบาน โดย พระครูสุนทรกัลยาณพจน์
อดีตเจ้าอาวาสวัดรูปที่ ๘ ได้จัดสร้างเหรียญพระติ้ว พระเทียม รุ่น ๑ ขึ้นมา
เพื่อฉลองวิหารประดิษฐานพระติ้ว พระเทียม
เป็นเหรียญกลม ไม่มีหูห่วง เนื้อเมฆพัด (อ่านว่า เมก-คะ-พัด)
เป็นโลหะที่ได้จากการเล่นแร่แปรธาตุ เชื่อว่าเป็นธาตุกายสิทธิ์มีฤทธานุภาพ
ผสมระหว่างตะกั่วและทองแดง แต่ไม่ทราบจำนวนที่จัดสร้างขึ้นมาแน่ชัด

ด้านหน้าเหรียญ ซ้ายมือประดิษฐานพระติ้ว และขวามือประดิษฐานพระเทียม
พระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับแท่นบนฐานดอกบัว ใต้ฐานสลักตัวหนังสือนูน
ระบุคำว่า พระติ้ว พระเทียม ส่วนรอบวงรีขอบเหรียญเป็นยันต์อักขระ
สำหรับ ด้านหลังเหรียญ กลางเหรียญเป็นลายเส้นนูนภาพอุโบสถ
ใกล้กันเป็นวิหารหอคู่ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระติ้ว พระเทียม
ขอบเหรียญจากซ้ายไปขวา ระบุคำว่า “วิหารพระติ้วพระเทียม วัดโอกาส (ศรีบัวบาน)”
ด้านล่างของเหรียญสลักชื่อจังหวัด ระบุคำว่า “นครพนม”
เหรียญนี้มีพระพุทธคุณทางด้านแคล้วคลาด ทำมาค้าขายรุ่งเรือง
ไม่มีราคาเป็นที่ตั้ง อยู่ที่ความพอใจระหว่างผู้ครอบครองและผู้ขอเช่าบูชา
เหรียญพระติ้ว พระเทียม รุ่น ๑ นี้ ปัจจุบันมีเหลือเพียง ๒ เหรียญเท่านั้น
แต่ด้วยความเปราะบางแตกกะเทาะง่าย จึงต้องใส่กรอบไว้

เป็นที่น่าเสียดายยิ่ง เมื่อตอนเช้าของวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๓
ได้มีโจรลักขโมย “พระเทียม” ซึ่งตั้งประดิษฐานคู่กันกับ “พระติ้ว” พระคู่แฝด
หายไปจากวิหารภายในวัดโอกาสศรีบัวบาน จังหวัดนครพนม
เชื่อว่าน่าจะเป็นแก๊งคนร้ายปลอมตัวเป็นพระสงฆ์-แม่ชีลอบเข้ามาก่อเหตุ
ที่มักจะตระเวนลักขโมยพระพุทธรูปสำคัญตามวัดต่างๆ  
ปัจจุบันยังไม่สามารถติดตาม “พระเทียม” ที่หายไปกลับคืนมาได้แต่อย่างใด

5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-3 12:27 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

“พระติ้ว” ประดิษฐานอยู่ด้านขวาของ “พระเทียม” ซึ่งมีขนาดเท่ากัน


รวบรวมและเรียบเรียงมาจาก
http://www.manager.co.th/Travel/ViewNew ... 0000115502
http://gotweb.50megs.com/g5.htm

ขอขอบพระคุณที่มาของรูปภาพ
เว็บไซต์ http://www.koratphotoclub.net/                                                                                       

..............................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=41187

ขอบคุณครับ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้