ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 6591
ตอบกลับ: 18
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ วัดธาตุมหาชัย ~

[คัดลอกลิงก์]


ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ


วัดธาตุมหาชัย
ต.มหาชัย อ.ปลาปาก จ.นครพนม



๏ อัตโนประวัติ

“พระเดชพระคุณพระสุนทรธรรมากร” หรือ “หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ” อดีตเจ้าอาวาสวัดธาตุมหาชัย บ้านมหาชัย ต.มหาชัย อ.ปลาปาก จ.นครพนม  ผู้เรืองธรรม มีปฐวีกสิณเป็นเอก เล่นแร่แปรธาตุจนดังสนั่น ชื่อเสียงเลื่องลือ ๒ คาบฝั่งโขง เป็นสมัญญานามที่ผู้คนต่างรู้จักดีถึงกับมีการขนานนามท่านว่า “เทพเจ้าลุ่มน้ำโขง”

หลวงปู่คำพันธ์ มีนามเดิมว่า คำพันธ์ ศรีสุวงค์ เกิดเมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๘ ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๒ ปีเถาะ ณ บ้านหมู่ที่ ๔  ต.นาแก อ.นาแก จ.นครพนม โยมบิดา-โยมมารดาชื่อ นายเคน และนางล้อม ศรีสุวงค์ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด  ๒ คน ท่านเป็นบุตรคนโต มีชื่อตามลำดับดังนี้

(๑) หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ (มรณภาพแล้ว)

(๒) นายพวง ศรีสุวงค์ (ถึงแก่กรรมแล้ว)

และมีน้องร่วมมารดา แต่ต่างบิดากันอีก ๔ คน ตามลำดับดังนี้

(๑) นางสด วงษ์ผาบุตร (ถึงแก่กรรมแล้ว เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๗)

(๒) ด.ช.บด แสนสุภา (ถึงแก่กรรมแล้ว)

(๓) ด.ญ.สวย แสนสุภา (ถึงแก่กรรมแล้ว)

(๔) นางกดชา เสนาช่วย (ถึงแก่กรรมแล้ว)

วัยเด็กเป็นคนขยันขันแข็ง ช่วยโยมบิดา-โยมมารดาทำนา อุปนิสัยเป็นคนเรียบง่าย เรียบร้อย พูดน้อย จบการศึกษาภาคบังคับ ป. ๔ จากโรงเรียนบ้านโพนคู่ ต.พุ่มแก อ.นาแก จ.นครพนม


พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล

ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-29 09:46 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ การบรรพชาและอุปสมบท

วันที่ ๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๕ (อายุ ๑๗ ปี) ได้เข้าพิธีบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดศรีบุญเรือง บ้านหนองหอย ต.นาแก อ.นาแก จ.นครพนม โดยมีพระอาจารย์เชื่อม เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากบรรพชาแล้ว ก็ได้ศึกษาอักษรธรรม และหนังสือสูตรคามแบบโบราณ ในขณะเดียวกันก็ได้ฝึกปฏิบัติกัมมัฎฐานควบคู่ไปด้วย

หลังจากบรรพชาเป็นสามเณรได้ ๓ พรรษา ก็ออกเดินธุดงค์ทรงกรดไปที่จังหวัดเลย พร้อมกับพระภิกษุ ๒ รูป คือ พระภิกษุบุญ และพระภิกษุวัน ก่อนหน้าที่จะได้ฝึกปฏิบัติกัมมัฏฐานนั้น เคยได้รับความรู้เรื่องกัมมัฏฐานมาจาก ท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ซึ่งท่านไปอบรมสั่งสอนประชาชนที่วัดโพนเมือง จ.อุบลราชธานี

ท่านพระอาจารย์เสาร์ ให้แนวทางในการปฏิบัติกรรมฐานไว้ว่า “ให้กำหนดลมหายใจเข้า-ออก”  และได้ให้ข้อคิดต่อไปอีกว่า “ร่างกายของคนเรานั้นเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง มันทำงานอยู่ตลอดเวลา ลมหายใจเข้า-ออกนั้น มีความสำคัญมาก ถ้าลมไม่ทำงานคนเราจะตายทันที ดังนั้นจึงจำเป็นต้องกำหนดลมหายใจ”

นอกจากนั้นท่านพระอาจารย์เสาร์ยังได้ย้ำอีกว่า “ให้คนเราตีกลองคือขันธ์ ๕ ให้แตก” ซึ่งก็หมายความว่า ท่านให้ทำความเข้าใจขันธ์ ๕ ให้จงดี ให้เข้าใจตามสภาพที่เป็นจริง

หลวงปู่ได้ศึกษาภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติกับท่านพระอาจารย์เสาร์ประมาณ ๑  ปี และได้ยึดแนวทางของท่านเป็นแนวทางในการปฏิบัติเรื่อยมา นับแต่นั้นต่อมาก็ได้ไปศึกษาและปฏิบัติธรรมร่วมกับ อาจารย์ครุฑ ซึ่งเป็นพระขาว (ปะขาว) และได้รับความรู้ในเรื่องการปฏิบัติธรรมจากท่านอาจารย์ครุฑนี้เพิ่มเติมเป็นจำนวนมาก หลังจากนั้นหลวงปู่คำพันธ์ก็ได้นำเอาแนวทางการปฏิบัติของอาจารย์ทั้ง ๒ มาเป็นแนวทางปฏิบัติกัมมัฎฐาน

หลวงปู่ได้จำพรรษาอยู่ที่จังหวัดเลย เป็นเวลา ๑ พรรษา หลังจากนั้นได้เดินธุดงค์ไปยังจังหวัดเชียงราย ประมาณ ๓-๔  เดือน ต่อมาได้รับข่าวโยมบิดาได้เสียชีวิตลง หลวงปู่จึงได้เดินทางกลับมาทำบุญงานศพบิดาและมาอยู่จำพรรษาที่บ้านเดิม คืออำเภอนาแก

พ.ศ. ๒๔๗๘ อายุ ๒๐ ปี ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ และเริ่มศึกษาพระปริยัติธรรม

พ.ศ. ๒๔๘๒ อายุ ๒๔ ปี มารดาก็ถึงแก่กรรม เวลานั้นเหลือน้องผู้หญิง ๒ คน ซึ่งยังเล็กมาก จึงได้ลาสิกขาบทออกไปเลี้ยงดูน้อง

วันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๘ อายุ ๓๐ ปี ได้กลับเข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุอีกครั้ง ณ พัทธสีมาวัดโพธิ์ชัย บ้านพุ่มแก ต.พุ่มแก อ.นาแก จ.นครพนม ได้รับนามฉายาว่า “โฆสปัญโญ” ซึ่งแปลว่า “ผู้มีปัญญาระบือไกล” และได้ออกไปจำพรรษาที่วัดป่าเป็นเวลา ๓ พรรษา

ต่อมาก็ได้ปฏิบัติกัมมัฏฐานพร้อมเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมด้วย ที่วัดพระพุทธบาทจอมทอง บ้านหนองหอยใหญ่ ต.นาแก อ.นาแก จ.นครพนม

หลังจากนั้นได้เดินธุดงค์ไปยังสถานที่ต่างๆ ในเขตจังหวัดนครพนม จังหวัดสกลนคร จังหวัดอุดรธานี จังหวัดหนองคาย และข้ามไปฝั่งลาวประมาณ ๓-๔ เดือน แต่ไม่ได้จำพรรษา แต่กลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าบ้านเดิม อยู่ประมาณ ๓ ปี และญาติโยมชาวบ้านก็นิมนต์ท่านให้เข้ามาอยู่จำพรรษาที่วัดบ้าน เพื่อโปรดญาติโยมชาวบ้านบ้าง หลังจากออกพรรษาแล้ว หลวงปู่ก็ออกเดินธุดงค์ต่อ จนอายุถึง ๔๐  ปี จึงหยุดเดินธุดงค์ แต่ก็พยายามศึกษาปฏิบัติธรรมกัมมัฎฐานมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน

พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้นำญาติโยมประมาณ ๕ ครอบครัว จากบ้านหนองหอยใหญ่ ต.นาแก อ.นาแก มาสร้างบ้านและวัดใหม่ที่โนนมหาชัย ให้ชื่อบ้านว่า “บ้านมหาชัย” ในปัจจุบันนี้ และได้สร้างวัดใหม่ คือ “วัดธาตุมหาชัย” (เดิมชื่อ วัดโฆษการาม) จนเจริญรุ่งเรืองตราบถึงปัจจุบัน

3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-29 09:46 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ การศึกษาเบื้องต้นและพระปริยัติธรรม

พ.ศ. ๒๔๗๒ สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ที่โรงเรียนบ้านโพนดู่ บ้านโพนดู่ ต.พุ่มแก อ.นาแก จ.นครพนม

พ.ศ. ๒๔๗๙ อายุ ๒๒ ปี สอบไล่ได้นักธรรมชั้นตรี ณ สำนักเรียนคณะจังหวัดนครพนม วัดพระพุทธบาทจอมทอง บ้านหนองหอยใหญ่ ต.นาแก อ.นาแก จ.นครพนม

พ.ศ. ๒๔๘๘ อายุ ๓๐ ปี สอบไล่ได้นักธรรมชั้นโท ณ สำนักเรียนคณะจังหวัดนครพนม วัดพระพุทธบาทจอมทอง บ้านหนองหอยใหญ่ ต.นาแก  อ.นาแก จ.นครพนม

พ.ศ. ๒๔๘๙ อายุ ๓๑ ปี สอบไล่ได้นักธรรมชั้นเอก ณ สำนักเรียนคณะจังหวัดนครพนม วัดพระพุทธบาทจอมทอง บ้านหนองหอยใหญ่ ต.นาแก อ.นาแก จ.นครพนม
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-29 09:47 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ การศึกษาพิเศษ

- ได้ศึกษาอักษรธรรม อักษรขอม อักษรไทยน้อย อ่านเขียนได้คล่องแคล่ว และมีความชำนาญมาก

- ทรงจำพระปาฏิโมกข์ได้แม่นยำ เป็นพระผู้สวดพระปาฏิโมกข์ในวันทำสังฆกรรมอุโบสถ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๐ เรื่อยมา


พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต


พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-29 09:47 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ ความชำนาญการ

- มีความชำนาญการแสดงพระธรรมเทศนาโวหาร บรรยายธรรม เทศนาธรรม และเทศนาธรรมแบบปุจฉาวัสัชนา ๒ ธรรมาสน์ จนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วเขตอีสานเหนือ ยากที่จะหาพระธรรมกถึกรูปอื่นเสมอเหมือนในสมัยนั้น

- มีความชำนาญการเทศนาธรรม ทำนองแหล่ภาษาอีสาน มีความสามารถในการประพันธ์กลอนแหล่ทำนองอีสานได้ เช่น กลอนอัญเชิญพระเวสสันดรเข้าเมือง, พระเวสสันดรทรงพบพระประยูรญาติ, พระเวสสันดรลาป่า, นางมัทรีเดินป่า เป็นต้น

- เป็นพระวิปัสสนาจารย์ใหญ่สาย พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล, พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต และพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ให้การอบรมวิปัสสนากรรมฐานประจำที่วัดป่ามหาชัย วัดส้างพระอินทร์ และวัดภูพานด่านสาวคอย

- มีความชำนาญการด้านนวัตกรรม การออกแบบก่อสร้างเสนาสนะ ทั้งงานไม้ งานปูน โดยเป็นผู้นำในการก่อสร้างกุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ และพระธาตุมหาชัย (การก่อสร้างครั้งแรกๆ ท่านทำเองทั้งหมด เพราะสมัยนั้นไม่มีช่างผู้ชำนาญการ และเงินงบประมาณก็มีไม่เพียงพอ)


หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ  


6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-29 09:57 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ งานการศึกษาพระปริยัติธรรม

พ.ศ. ๒๕๓๒ หลวงปู่ได้ตั้งสำนักเรียนวัดธาตุมหาชัย ทั้งแผนกธรรม-บาลีขึ้นจนสามารถมีลูกศิษย์สอบนักธรรม ได้เป็นจำนวนมากเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี และมีลูกศิษย์สามารถสอบเปรียญธรรมได้ทุกปี ปีละหลายๆ รูป ทำให้การศึกษาแผนกธรรมบาลีอำเภอปลาปากดีขึ้นตามลำดับ

พ.ศ. ๒๕๓๔ หลวงปู่ได้จัดตั้งทุนมูลนิธิการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกธรรม-บาลี ขึ้นที่วัดธาตุมหาชัย เพื่อส่งเสริมและมอบทุนการศึกษาให้แก่พระภิกษุ สามเณร ที่มีความรู้ความสามารถสอบนักธรรมชั้นตรี-โท-เอก ได้ และสามารถสอบเปรียญธรรมได้  รวมทั้ง หลวงปู่ยังให้ทุนการศึกษาแก่ลูกศิษย์ที่ไปเรียนต่ออีกด้วย


๏ งานการศึกษาสงเคราะห์

พ.ศ. ๒๕๓๕ หลวงปู่ได้จัดตั้งกองทุนมูลนิธิการศึกษาให้แก่นักเรียนที่ยากจน ที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร ในเขตอำเภอปลาปาก และทุกอำเภอในเขตจังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ ๑๐  เดือนมกราคมของทุกๆ ปี หลวงปู่คำพันธ์จะมอบทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนทุกอำเภอๆ ละ ๙ ทุน และมอบทุนให้เป็นค่าอาหารกลางวันให้แก่โรงเรียนต่างๆ ด้วย

พ.ศ. ๒๕๓๕ หลวงปู่คำพันธ์ได้สร้างโรงเรียนมัธยมขึ้นที่บ้านนกเหาะ ต.โคกสูง อ.ปลาปาก  จ.นครพนม ตั้งชื่อโรงเรียนมัธยมแห่งนี้ว่า ธรรมโฆษิตวิทยา มีนักเรียนเพิ่มมากขึ้นทุกๆ ปี และหลวงปู่คำพันธ์ยังได้เป็นผู้อุปถัมภ์โรงเรียนแห่งนี้มาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน

พ.ศ. ๒๕๓๘ หลวงปู่คำพันธ์ได้ขออนุญาตสร้างโรงเรียนสุนทรธรรมากร และในปัจจุบันนี้ทางราชการได้เปลี่ยนใหม่ให้ชื่อว่า โรงเรียนมัธยมมหาชัยธรรมากร เพราะตั้งอยู่ที่บ้านโนนศรีชมภูทางแยกเข้ามาบ้านมหาชัย หลวงปู่ก็ให้การอุปถัมภ์ในทุกวันนี้และได้จัดบรรพชาสาเณรภาคฤดูร้อนเป็นประจำ
7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-29 09:58 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ งานการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

พ.ศ. ๒๕๓๒ หลวงปู่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าหน่วยพระธรรมฑูต ฝ่ายกำกับการพระธรรมฑูตอำเภอปลาปาก จ.นครพนม

พ.ศ. ๒๕๓๓ หลวงปู่ได้ร่วมมือกับคณะสงฆ์และทางราชการออกไปอบรมประชาชนตามหมู่บ้านต่างๆ ในเขตการปกครอง และร่วมกับหน่วยงานของราชการทุกหน่วยงานออกไปอบรมตามโครงการหมู่บ้านแผ่นดินธรรมแผ่นดินทองของอำเภอปลาปาก และยังได้ติดตามคณะพระธรรมฑูตจากส่วนกลางออกเยี่ยมเยียนประชาชนในเขตอำเภอปลาปาก โดยสม่ำเสมอมาตลอดทุกปี

ในฐานะพระนักเทศน์มักมีข้อธรรมกถาที่แยบยล  รวมทั้งคำสั่งสอนเข้าใจง่าย ทุกบท ทุกวลี  มีธรรมาภินิหาร ความหมายกินใจ ประจักษ์แจ้งแก่ผู้ฟังทั้งสิ้น


ป้ายชื่อตรงปากทางเข้าวัดธาตุมหาชัย จ.นครพนม
8#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-29 09:58 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ งานสาธารณูปการ

พ.ศ. ๒๔๙๒ เป็นประธานสร้างอุโบสถ วัดพระพุทธบาทจอมทอง

พ.ศ. ๒๔๙๔ เป็นประธานสร้างหอระฆัง วัดพระพุทธบาทจอมทอง

พ.ศ. ๒๔๙๕ เป็นประธานนำชาวบ้านญาติโยมประมาณ ๕ ครอบครัว จากบ้านหนองหอยใหญ่ อ.นาแก ที่พากันติดตามหลวงปู่มา สร้างวัดใหม่ที่โนนมหาชัย ใช้ชื่อวัดว่า วัดโฆษการาม (วัดธาตุมหาชัย ในปัจจุบัน) บ้านมหาชัย ต.มหาชัย อ.ปลาปาก จ.นครพนม

พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นประธานสร้างพระคู่บ้านมหาชัย “พระพุทธศักดิ์สิทธิ์”

พ.ศ. ๒๕๑๔ หลวงปู่ได้เป็นประธานนำคณะศรัทธาญาติโยมชาวบ้านมหาชัย สร้างธาตุเจดีย์ขึ้นภายในวัด ซึ่งมีลักษณะทรงแปดเหลี่ยมด้วยศิลาแลงเสริมคอนกรีต สูง ๑๕ เมตร ตั้งชื่อว่า “พระธาตุมหาชัย” เพื่อเป็นหลักบ้านให้แก่ชาวมหาชัย ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอรหันตธาตุ ๔ องค์ ได้แก่ พระอัญญาโกณฑัญญะ พระสารีบุตร พระอานนท์ และพระอนุรุทธะ

พ.ศ. ๒๕๑๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ที่ “พระธาตุมหาชัย” และทรงเวียนเทียน ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้

พ.ศ. ๒๕๒๐ เป็นประธานสร้างอุโบสถวัดธาตุมหาชัย

พ.ศ. ๒๕๒๔ เป็นประธานสร้างกำแพงล้อมรอบวัดธาตุมหาชัย

พ.ศ. ๒๕๒๗ เป็นประธานสร้างกุฏิสงฆ์

พ.ศ. ๒๕๒๗ เป็นประธานสร้างวัดป่ามหาชัย (อรัญญคาม) และในปีเดียวกันนั้นเองหลวงปู่ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำพระปรมาภิไธยย่อ (ภปร.) ประดิษฐานไว้ที่หน้าบันพระอุโบสถวัดโฆษการาม

วัดป่ามหาชัย (อรัญญคาม) สร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ฝึกปฏิบัติธรรม และเป็นศูนย์รวมการเผยแผ่พุทธธรรม โดยมีการอบรมปฏิบัติธรรมกรรมฐาน ทุกๆ ปี ระหว่างเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม  และเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน   ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาจะมีการฝึกปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานแก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมตลอดไตรมาส  

พ.ศ. ๒๕๒๘ เป็นประธานสร้างกุฏิสงฆ์หลังใหม่อีกหลังหนึ่ง และหลวงปู่ได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนชื่อจากเดิมคือ วัดโฆษการาม เป็น วัดธาตุมหาชัย จนกระทั่งถึงปัจจุบัน และในปีเดียวกันนั้นหลวงปู่ได้เป็นประธานสร้างศาลาการเปรียญ-หอสมุดภายในวัด

พ.ศ. ๒๕๒๙ หลวงปู่ได้สร้างหอพระไตรปิฎก หอระฆัง

พ.ศ. ๒๕๓๔ เป็นประธานสร้างโรงเรียนมัธยม “โรงเรียนธรรมโฆษิตวิทยา”

พ.ศ. ๒๕๓๖ เป็นประธานสร้างโรงเรียนมัธยม  “โรงเรียนธรรมากรวิทยา”

พ.ศ. ๒๕๓๖ เป็นประธานสร้างพระธาตุมหาชัยครอบองค์เดิม

พ.ศ. ๒๕๓๗ เป็นประธานสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ณ วัดส้างพระอินทร์  “พระพุทธการุณ”

พ.ศ. ๒๕๓๗ เป็นประธานสร้างโรงเรียนมัธยม “โรงเรียนมหาชัยวิทยาคม”

พ.ศ. ๒๕๔๕ เป็นประธานสร้างตึกผู้ป่วย โรงพยาบาลปลาปาก
9#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-29 09:59 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

วัดธาตุมหาชัย จ.นครพนม


๏ การสร้างวัตถุมงคล

นอกจากการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแล้ว ด้านวัตถุมงคลก็โด่งดังยิ่งนัก แต่เริ่มเดิมทีหลวงปู่คำพันธ์ หาได้สนใจจัดสร้างไม่ ท่านนั่งปลุกเสกสร้างวัตถุมงคลไปแล้วไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ รุ่น   เพื่อนำปัจจัยไปพัฒนากิจการด้านการศึกษา การศาสนา การสังคม และวัฒนธรรมพื้นถิ่น

วัตถุมงคลรุ่นแรกเป็นเหรียญรุ่นหยดน้ำ สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๖ ต่อมาในช่วงกลางเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๓๕ ทางวัดธาตุมหาชัยกำลังพัฒนา หลวงปู่คำพันธ์จึงได้สร้างอิทธิมงคลขึ้น ชื่อชุด  “มหาชัยมงคล” เป็นพระสมเด็จปรกโพธิ์หล่อ และล็อกเกตอุดผงตะกรุดทองคำ ซึ่งท่านได้ทำพิธีอธิษฐานจิตปลุกเสกมหามนตราศักดิ์สิทธิ์วัตถุมงคลนี้เป็นกรณีพิเศษ เพื่อนำปัจจัยมาสมทบทุนมูลนิธิสังฆศาสน์ และเป็นทุนพัฒนาวัดธาตุมหาชัย  

รวมทั้ง  เหรียญรุ่นมหาปรารถนา สร้างเมื่อปี  พ.ศ. ๒๕๓๕ ที่ได้รับความนิยมสูงสุด และเป็นเหรียญรุ่นสุดท้าย ซึ่งกองทัพบกสร้างขึ้น และได้ขอบารมีให้ท่านปลุกเสก

ในจำนวนวัตถุมงคลที่สร้างและออกในนามหลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ วัดธาตุมหาชัย ทุกรุ่น จะพบว่า ยันต์ด้านหลังเหรียญที่พบมากที่สุด คือ “ยันต์สมปรารถนา” ซึ่งอาจจะเรียกว่าเป็นยันต์เฉพาะตัวของหลวงปู่คำพันธ์ก็ว่าได้

ส่วนที่มาของยันต์นั้น หลวงปู่คำพันธ์ได้มาจากจารึกบนแผ่นศิลา ใต้ฐานองค์พระธาตุพนม ซึ่งค้นพบหลังจากพระธาตุพนมล้มลง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘ โดยหลวงปู่คำพันธ์กล่าวไว้ว่า “ภาษาจารึกเป็นภาษาสวรรค์”  ทั้งนี้ หลวงปู่ได้นำมาปรับแต่ง และเขียนยันต์ขึ้นใหม่ เพราะท่านศึกษาอักษรธรรมอีสาน อักษรขอม อักษรไทยน้อย อ่านเขียนได้คล่องแคล่ว และมีความชำนาญมาก โดยใช้ชื่อว่า “ยันต์สมปรารถนา”

ส่วนพระคาถาที่หลวงปู่คำพันธ์ใช้ในพิธีอธิษฐานจิต ปลุกเสกมหามนตราศักดิ์สิทธิ์วัตถุมงคล คือ “คาถาพระพุทธเจ้า” โดยบริกรรมว่า “ทิตะ ศิรา ทันนันฑะ โลกะ ลิลากะ ละลาสติโป จะติโห คะหะตะเน”

“ยันต์สมปรารถนา” ของหลวงปู่คำพันธ์ มีความพิเศษกว่ายันต์ของพระเกจิอาจารย์รูปอื่นๆ คือ เขียนด้วยอักขระขอม และอักขระธรรมอีสาน ซึ่งปกติแล้วการเขียนยันต์ทั่วๆ ไปจะใช้อักขระเดียวเท่านั้น อักขระที่ใช้เขียนยันต์มี ๖ ภาษา ได้แก่  อักขระขอม อักระธรรมล้านนา อักขระธรรมอีสาน อักขระมอญ อักขระพม่า และอักขระสิงหล ซึ่งเมื่อเทียบเคียงแล้ว จะพบว่าอักขระทั้ง ๖ ภาษา (ถ้ารวมไทยด้วย ๗ ภาษา) บางตัวเขียนคล้ายกันมาก เช่น ก.ไก่ ย.ยักษ์ และ ว.แหวน เป็นต้น ที่เป็นเช่นนี้ เพราะการประดิษฐ์อักษรไทยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชในสมัยสุโขทัยนั้น ประยุกต์หรือปรับปรุงมาจากอักษรมอญ และขอม ซึ่งมีการใช้อักษรมาก่อน  
10#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-29 09:59 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์

พ.ศ. ๒๕๐๙ เป็นเจ้าอาวาสวัดโฆษการาม (วัดธาตุมหาชัย ในปัจจุบัน)

พ.ศ. ๒๕๐๙ เป็นเจ้าคณะตำบลมหาชัย

พ.ศ. ๒๕๑๘ เป็นรองเจ้าคณะอำเภอปลาปาก

พ.ศ. ๒๕๑๙ เป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ. ๒๕๑๙ เป็นเจ้าสำนักศาสนศึกษาธรรม-บาลี

พ.ศ. ๒๕๓๑ เป็นเจ้าคณะอำเภอปลาปาก

พ.ศ. ๒๕๔๒  เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอปลาปาก



ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้