บันทึกจากคำบอกเล่าของชาวบ้าน
ในหนังสือ “ประวัติวัดแค” ม.๑ ต.รั้วใหญ่ อ.เมืองฯ จ.สุพรรณบุรี พิมพ์ครั้งที่ ๕ เมื่อ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๒ เมื่อพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสต้น เมื่อรัตนโกสินทรศก ๑๒๓ (พ.ศ.๒๔๔๗) เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม จนกระทั่งถึงเมืองสุพรรณบุรี
วันที่ ๓ สิงหาคม เสด็จประพาสบ้านสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง
วันที่ ๔ สิงหาคม เวลาเช้า ออกเรือจากบางปลาม้า และเย็นวันนั้น "เสด็จไปประพาสเหนือน้ำประทับเสวยที่วัดแค" พระองค์ทรงพระราชปรารภว่า ...... เสด็จเมืองสุพรรณคราวนี้เป็นที่น่าเสียดายอยู่อย่างหนึ่งด้วยไม่ถูกฤดูเหมาะ ในเวลานี้น้ำในแม่น้ำยังน้อย จะเที่ยวทางเรือก็ขัดข้อง ส่วนทางบกฝนก็ตก พอแผ่นดินเป็นหล่มเป็นโคลน จะไปไหนก็ยาก เพราะฉะนั้นจึงเสด็จประพาสได้ที่ใกล้ๆ ในบริเวณเมืองวันที่ ๔ นั้น (๔ สิงหาคม ร.ศ.๑๒๓) เสด็จประพาสเหนือน้ำประทับเสวยที่ วัดแค วันที่ ๕ เสด็จทอดพระเนตรที่ว่าการเมือง วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หลักเมือง และวัดป่าเลไลยก์ เวลาบ่าย ออกกระบวนล่องลงมาประพาสข้างใต้ ประทับเสวยเย็นที่วัดบางยี่หน ขรัวตากัน ท่านมีตัวตนอยู่จริง เป็นเจ้าอาวาสวัดแคระหว่างปี พ.ศ.๒๔๓๙ – ๒๔๖๕ มรณภาพในร่มกาสาวพัตร ท่านมีชื่อว่า "กัน ทองมี" เป็นบุตรพ่อมีแม่ซับ เล่ากันว่าพ่อแม่อพยพมาจากกรุงเก่าอยุธยาของเรานี้เอง ซึ่งไม่ต่างกับชาวบ้านบริเวณนั้นนักที่ชักชวนกันมาจากที่เดียวกัน บ่าย ๔ โมงเย็นของวันที่ ๔ สิงหาคม ร.ศ.๑๒๓ (พ.ศ.๒๔๔๗) มีชายกลุ่มหนึ่งจำนวน ๓ คน พายเรือเล็กมาจอดที่ท่าวัดแค แล้วชายทั้งสามขึ้นจากเรือมาที่ลานวัด เห็นลูกศิษย์วัดวิ่งเล่นอยู่ที่ลานวัดก็ถามว่า หนู กุฏิเจ้าอาวาสอยู่ไหน ท่านอยู่หรือไม่ เด็กลูกศิษย์ชี้มือบอกไปว่า อยู่กุฏินั้น และอาจารย์ก็อยู่ที่นั่นด้วย แล้วก็เล่นสนุกกันตามประสาเด็กต่อไป ชายกลุ่มนั้นเดินขึ้นไปบนกุฏิ เห็นขรัวตากันกำลังนั่งพิงหมอนอิงอย่างเอกเขนกสบายอารมณ์ แล้วชายกลุ่มนั้นนั่งยองๆ ลง ยกมือไหว้ ขรัวตากันจึงถามว่า "เป็นใครกัน มาจากที่ไหน มีธุระอะไรหรือ"
ชายคนหนึ่งในกลุ่มนั้นดูจะอาวุโสกว่าเพื่อน ตอบว่า เราทั้งสามเป็นมหาดเล็กของพระพุทธเจ้าหลวง พระองค์กำหนดจะเสด็จมาประทับที่วัดแคเย็นวันนี้ ให้เขาทั้งสามมาบอกข่าวล่วงหน้า พอขรัวตากันได้ยินเช่นนั้นก็รู้สึกดีใจ และตื่นเต้นเป็นอันมาก ต้อนรับขับสู้มหาดเล็กทั้งสามอย่างกุลีกุจอ รีบชงน้ำร้อนน้ำชาให้ แล้วเอ่ยปากถามว่าพระพุทธเจ้าหลวงจะเสด็จตอนเย็นจริงๆ หรือ มหาดเล็กคนนั้นตอบว่า "เสด็จแน่ๆ" ขรัวตากันกระตือรือร้น ในคำตอบของมหาดเล็กยิ่งนัก รีบสั่งให้พระเณรที่วัดเตรียมตัวไว้ให้พร้อม เมื่อพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จมาจะได้สวดชะยันโต โดยไม่ให้เสียเวลา กำชับกำชาลูกศิษย์วัดไม่ให้เล่นเอะอะจุ้นจ้าน
ขรัวตากันเป็นพระที่ชอบคุย และคุยเก่งพอสมควร นั่งคุยอยู่กับมหาดเล็กกลุ่มนั้นอยู่เป็นนาน แต่ในใจห่วงกังวลว่า พระพุทธเจ้าหลวงจะเสด็จตอนไหนกันแน่ เพราะมหาดเล็กทั้งสามมาส่งข่าวให้ทราบแล้ว ชรอยมหาดเล็กผู้นั้นเห็นขรัวตากันชอบกินหมาก จึงหยิบหมากขึ้นมาคำหนึ่ง วางไว้ข้างๆ ขรัวตากัน โดยไม่ได้ถวาย แล้วทำทีเป็นเดินไปชมโน่นชมนี่บนกุฏิ แล้วเดินกลับมาที่ขรัวตากันนั่งอยู่ พร้อมกับเอ่ยปากพูดขึ้นว่า
"อ้าว! ท่านอาจารย์ หมากคำนั้นหายไปไหนเล่า ท่านฉันเสียแล้วใช่ไหม ผมไม่ได้ประเคนไม่เป็นอาบัติหรืออาจารย์"
"อ้อ! ไม่เป็นไร อยู่ในหัตถบาส (หมายถึง อยู่ใกล้หรืออยู่ในองค์ประเคน ใช้สำหรับพระสงฆ์) ฉันได้ ไม่เป็นไรหรอก"
แล้วขรัวตากันก็เคี้ยวหมากหยับๆ ต่อไป มหาดเล็กคนนั้นหัวเราะชอบใจ ที่ขรัวตากันมีปฏิภาณและไหวพริบดี ขณะที่นั่งคุยกันอยู่นั้น มหาดเล็กชี้มือไปยังที่ซึ่งหลวงตากัน จัดให้ในหลวงประทับว่า "นั่นที่อะไร ทำไว้สำหรับใครกัน ฉันขึ้นไปนั่งได้หรือไม่" ขรัวตากันรีบตอบสวนควันขึ้นมาทันทีว่า "อ๊ะ! อ๊ะ! ไม่ได้ ไม่ได้ นั่นจัดไว้สำหรับเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้าหลวง คุณเป็นมหาดเล็กธรรมดาธรรมดา ขืนขึ้นไปนั่งเป็นขี้กลากแน่ๆ" ขรัวตากันตอบชนิดหน้าเฉยตาเฉย มหาดเล็กผู้นั้นหัวเราะ และชักนึกสนุก เมื่อคุยกับหลวงตากัน จึงถามว่า "อาจารย์ รู้จักพระพุทธเจ้าหลวงไหม" ขรัวตากัน หัวเราะเอิ๊กลงลำคอ ตอบอย่างยิ้มย่องผ่องใสว่า "พุทโธ่ ทำไมจะไม่รู้จัก เคยเห็นรูปในหลวงมาแยะต่อแยะแล้ว อย่าว่าแต่ใกล้ๆ เลย แม้แต่ไกลๆ ก็จำไม่พลาด"
|