ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 15400
ตอบกลับ: 4
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

พระคันธารราฐ วัดหน้าพระเมรุราชิการาม จ.พระนครศรีอยุธยา

[คัดลอกลิงก์]


พระคันธารราฐ
พระประธานในพระวิหารสรรเพชญ์
[พระวิหารคันธารราฐ, พระวิหารเขียน, พระวิหารน้อย]
วัดหน้าพระเมรุราชิการาม หรือวัดหน้าพระเมรุ (พระอารามหลวง)
ต.ท่าวาสุกรี อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา


“พระคันธารราฐ” วัดหน้าพระเมรุราชิการาม หรือวัดหน้าพระเมรุ จ.พระนครศรีอยุธยา พุทธลักษณะ เป็นพระพุทธรูปศิลาขนาดใหญ่ประทับนั่งห้อยพระบาท ศิลปะแบบทวารวดี ปางประทานปฐมเทศนา มีขนาดหน้าตักกว้าง 1.70 เมตร สูง 5.20 เมตร สร้างขึ้นจากวัสดุหินปูนสีเขียวแก่หรือศิลาเขียว (Bluish Limestone) พระหัตถ์ทั้งสองข้างวางคว่ำอยู่บนพระชานุ (เข่า) เบื้องพระปฤษฎางค์ (เบื้องหลัง) มีพนัก และเหนือขึ้นไปหลังพระเศียรมีประภามณฑลหรือรัศมี สลักลายที่ขอบ ปัจจุบันประดิษฐานเป็นพระประธานอยู่ในพระวิหารสรรเพชญ์ หรือพระวิหารคันธารราฐ หรือพระวิหารเขียน หรือพระวิหารน้อย

พระวิหารสรรเพชญ์ ประชาชนเรียกชื่อว่า “พระวิหารคันธารราฐ” หรือเรียกชื่อว่า “พระวิหารเขียน” เนื่องจากมีลายเขียนภายในพระวิหาร หรือมีชื่อเรียกกันอีกว่า “พระวิหารน้อย” เนื่องจากเป็นพระวิหารขนาดเล็ก มีขนาดกว้างประมาณ 6 เมตร ยาวประมาณ 16 เมตรเท่านั้น ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระอุโบสถ ห่างจากพระอุโบสถประมาณ 2 เมตรเศษ หันหน้าออกไปทางทิศใต้หรือไปทางแม่น้ำลพบุรี พระยาไชยวิชิต (เผือก) ได้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2381 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระวิหารมีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง หลังคามุงกระเบื้องดินเผา ประดับช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ ปิดทองประดับกระจกเช่นเดียวกับพระอุโบสถ หน้าบันสลักลายดอกไม้และนก มีประตูเข้าสู่ภายในพระวิหารเฉพาะด้านหน้าประตูเดียว เป็นประตูไม้แกะสลักลายก้านขดเคล้าภาพเป็นภาพเทพนม ครุฑ นาค และนก ตอนล่างแกะลายฐานสิงห์ ตอนบนเป็นวิมานและลายเปลว (ฝีมือช่างสมัยอยุธยาตอนปลาย อาจเป็นสมัยพระเจ้าปราสาททอง) ซุ้มประตูเป็นลายปูนปั้นปิดทอง ตรงกลางทำเป็นรูปอาคารแบบยุโรป ล้อมด้วยลายดอกไม้มีลายเครือเถาอยู่ที่กรอบ เป็นลายแบบฝรั่งปนจีนฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 4 ผนังด้านข้างของพระวิหารมีหน้าต่างด้านละ 1 บาน ผนังด้านในมีจิตรกรรมฝาผนังเขียนภาพเล่าเรื่องชาดกโดยรอบ ปัจจุบันภาพเขียนจิตรกรรมยังคงอยู่แม้จะลบเลือนไปมากตามกาลเวลา

พระคันธารราฐ สันนิษฐานว่าเคยประดิษฐานอยู่ ณ วัดมหาธาตุ ในเกาะเมือง ข้างวัดราชบูรณะ จ.พระนครศรีอยุธยา มาก่อน ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่มีมาก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา และเป็นวัดร้างในยุคนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ พระยาไชยวิชิต (เผือก) เป็นแม่กองบูรณปฏิสังขรณ์วัดมหาธาตุ จึงได้ขุดพบ “พระคันธารราฐ” พระพุทธรูปศิลาเขียวองค์นี้ แล้วได้มีการเคลื่อนย้ายอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในพระวิหารน้อย ที่พึ่งสร้างขึ้นใหม่นี้ ณ วัดหน้าพระเมรุราชิการาม จวบจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ พระยาไชยวิชิต (เผือก) ได้จารึกไว้ในศิลาติดตั้งไว้ที่ฝาผนังเมื่อปี พ.ศ. ที่สร้างว่า “พระคันธารราฐ” นี้ พระอุบาลีมหาเถระ ซึ่งจำพรรษาอยู่ที่วัดธรรมาราม จ.พระนครศรีอยุธยา นำมาจากประเทศลังกา ในคราวที่ท่านเป็นสมณฑูตพร้อมด้วยพระสงฆ์สยามวงศ์นำพระพุทธศาสนาไปประดิษฐานในประเทศลังกา

แต่ทว่านักโบราณคดีมีความเห็นว่า “พระคันธารราฐ” เป็นพระพุทธรูปสมัยทวารวดี สร้างขึ้นในระหว่างปี พ.ศ.1000-1200 และสันนิษฐานว่าก่อนที่จะนำมาประดิษฐานไว้ ณ วัดมหาธาตุ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่เดิมเคยประดิษฐานอยู่ ณ วัดทุ่งพระเมรุ หรือวัดพระเมรุ จ.นครปฐม เนื่องจากทางราชการขุดพบเรือนแก้วที่ชำรุด สันนิษฐานว่าเป็นเรือนแก้วของพระพุทธรูปองค์นี้ ดังนั้น ความเก่าแก่ของ “พระคันธารราฐ” จึงเก่าแก่กว่าในสมัยกรุงสุโขทัย ไล่เลี่ยกับยุคสมัยของบุโรพุทโธ (borobodur) บนเกาะชวาในประเทศอินโดนีเซีย

พระคันธารราฐ กล่าวกันว่าเดิมเป็นพระพุทธรูปศิลาเขียว แต่เนื่องจากผ่านกาลเวลามานานจึงทำให้กลายเป็นสีเข้มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งปัจจุบันดูคล้ายเป็นสีดำ แต่ถ้ามองดูในระยะใกล้ๆ แล้วจะเห็นเม็ดเล็กๆ สีเขียวเพราะทำจากหินทรายแกะสลัก เชื่อกันว่าหากบูชาสักการะแล้วจะอายุยืนมั่นคงดั่งศิลา
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-26 12:18 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พระพุทธรูปศิลาขนาดใหญ่ประทับนั่งห้อยพระบาท ศิลปะแบบทวารวดี ปางปฐมเทศนาเช่นนี้ ปรากฏในโลกเพียง 6 องค์เท่านั้น (ในประเทศไทยพบ 5 องค์) ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนน้อยอย่างยิ่ง ดังนี้

    วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จ.นครปฐม มี 2 องค์ คือ พระพุทธรูปศิลาขาว หรือ “หลวงพ่อประทานพร” พระประธานในพระอุโบสถ และพระพุทธนรเชษฐ์ เศวตอัศมมัยมุนี ศรีทวารวดีปูชนียบพิตร หรือ “หลวงพ่อขาว” ณ ลานชั้นลด (กะเปาะ) ด้านทิศใต้ขององค์พระปฐมเจดีย์

    พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร ณ อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ มี 1 องค์

    พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จ.พระนครศรีอยุธยา มี 1 องค์

    วัดหน้าพระเมรุราชิการาม จ.พระนครศรีอยุธยา มี 1 องค์ คือ พระคันธารราฐ

    ประเทศอินโดนีเซีย มี 1 องค์ คือ พระพุทธรูปศิลาขนาดใหญ่ประทับนั่งห้อยพระบาท วางฝ่าพระบาทบนดอกบัว ปางประทานปฐมเทศนา ภายในพระวิหารเมนดุต ณ จันทิเมนดุต (Candi Mendut) หรือวัดเมนดุต พุทธสถานขนาดเล็กที่เก่าแก่ที่สุดในเมืองยอกยาการ์ตา (Yogyakarta) ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นอาคารทรงปราสาทยอดสถูปที่สร้างครอบศาสนสถานเดิมที่ก่อด้วยอิฐ มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ทำจากหินภูเขาไฟเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 13 ตั้งอยู่ห่างจากบุโรพุทโธไปประมาณ 3 กิโลเมตร พระพุทธรูปศิลาในประเทศอินโดนีเซียองค์นี้ มีขนาดใหญ่กว่าตัวคนจริง คือ มีขนาดสูง 3 เมตร แกะสลักจากหินลาวาจากภูเขาไฟ อายุ 1,200 กว่าปี หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตก นับว่าแปลกกว่าพระพุทธรูปในจันทิ (วัด) อื่นๆ ที่ล้วนหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก และเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2503 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ ทรงทอดพระเนตรพระวิหารบุโรพุทโธ และพระวิหารเมนดุต โดยสมาคมพุทธศาสนาแห่งอินโดนีเซียได้น้อมเกล้าฯ ถวายพระพุทธรูปองค์หนึ่งพร้อมด้วยธงฉัพพรรณรังสี ซึ่งเป็นธงสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนา

ในจำนวนพระพุทธรูปศิลา 6 องค์นี้ มีเพียงองค์เดียวที่สร้างขึ้นจากศิลาเขียว อยู่ที่วัดหน้าพระเมรุราชิการาม ส่วนที่เหลือทั้งหมดสร้างขึ้นจากศิลาขาวทั้งสิ้น ถึงกระนั้นก็ยังก่อให้เกิดความสับสนกันอยู่เนืองๆ


วัดหน้าพระเมรุราชิการาม หรือที่ชาวบ้านมักเรียกกันว่า วัดหน้าพระเมรุ ตั้งอยู่ริมคลองสระบัวด้านทิศเหนือของคูเมือง (เดิมเป็นแม่น้ำลพบุรี) ตรงข้ามกับพระราชวังหลวง หมู่ที่ 5 ต.ท่าวาสุกรี อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เดิมชื่อว่า “วัดพระเมรุราชิการาม” เป็นเพียงวัดเดียวในกรุงศรีอยุธยา ที่รอดพ้นจากการถูกพม่าเผาทำลายในคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 อย่างไม่น่าเชื่อ สำหรับสาเหตุนั้นได้มีการบันทึกไว้ที่วัดหน้าพระเมรุราชิการามว่า เนื่องมาจากตั้งอยู่ใกล้พระราชวังหลวง และพม่ายังได้ใช้วัดแห่งนี้เป็นที่ตั้งกองทัพ-กองบัญชาการ ทำให้ยังคงสภาพดีไม่ถูกทำลายด้วยประการทั้งปวง ด้วยเหตุนี้จึงยังคงมีงานศิลปกรรมของสมัยอยุธยาแท้ๆ ตกทอดมาให้อนุชนคนรุ่นหลังได้ชมกันจนถึงปัจจุบัน

ตามประวัติกล่าวว่า “พระองค์อินทร์” ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 รัชกาลที่ 10 แห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงสร้างวัดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2046 (อยุธยาตอนต้น) ประทานนามว่า วัดพระเมรุราชิการาม วัดแห่งนี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์คือ “สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ” ได้ใช้เป็นสถานที่เจรจาสงบศึกกับ “พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง” เมื่อปี พ.ศ.2106 และในอีกตอนหนึ่งคือ เมื่อคราว “พระเจ้าอะลองพญา” มาตีกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ.2303 พม่าได้ยกเอาปืนใหญ่มาตั้งไว้ระหว่างวัดหน้าพระเมรุราชิการาม กับวัดหัสดาวาส (วัดช้าง) พระเจ้าอะลองพญาทรงบัญชาการและทรงจุดปืนใหญ่เอง แต่ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของ พระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ พระประธานในพระอุโบสถ เมื่อพระองค์จุดดินระเบิดเกิดระเบิดขึ้น จนทำให้ปากกระบอกปืนแตก สะเก็ดระเบิดลุกเป็นไฟ ต้องพระวรกายบาดเจ็บสาหัสประชวรหนักในวันนั้น พอรุ่งขึ้นพม่าเลิกทัพกลับไปทางเหนือ แต่ยังไม่ทันพ้นเมืองตาก พระเจ้าอะลองพญาก็สิ้นพระชนม์ระหว่างทาง

ด้วยบุญญาธิการอันศักดิ์สิทธิ์แห่งพระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ จึงทำให้กรุงศรีอยุธยารอดพ้นจากข้าศึกมาตลอด วัดหน้าพระเมรุราชิการามจึงเป็นวัดเดียวในกรุงศรีอยุธยาที่ไม่ถูกพม่าทำลาย

อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา อดีตราชธานีเก่าแห่งสยามประเทศในยุคที่รุ่งโรจน์นั้น ล้วนเต็มไปด้วยวัดวาอาราม และปราสาทราชวังมากมาย แต่หลังจากที่กรุงศรีอยุธยาต้องมาแตกลงในการเสียกรุงฯ ครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ.2310 ก่อนที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จะทรงกอบกู้สยามประเทศได้ในปลายปีเดียวกัน การเสียกรุงฯ ครั้งที่ 2 ยังความสูญเสียแก่เมืองกรุงศรีอยุธยาอย่างใหญ่หลวงเพราะถูกพม่าเผาทำลายบ้านเรือน วัดวาอาราม และปราสาทราชวัง ฯลฯ จนย่อยยับ คงหลงเหลือไว้เพียงซากแห่งความรุ่งโรจน์ทิ้งไว้เป็นอุทาหรณ์แด่อนุชนรุ่นหลัง ซึ่งในปัจจุบันสามารถสัมผัสกับซากอดีตอันรุ่งโรจน์เหล่านั้นได้ในพื้นที่รอบเกาะเมืองของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

สถาปัตยกรรมภายในวัดอยู่ในสมัยอยุธยาตอนต้น คือ พระอุโบสถไม่มีหน้าต่าง แต่เจาะช่องไว้เป็นลูกกรง พระประธานเป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ทรงเครื่อง ปางมารวิชัย งดงามเป็นที่ยิ่ง หน้าบันไม้สักลงรักปิดทอง สลักรูปพระนารายณ์ทรงครุฑหยุดเศียรนาคหน้าราหู ล้อมรอบด้วยหมู่เทพนม (เทพชุมนุม) จำนวน 26 องค์ ตรงอาสนสงฆ์มีจารึกเป็นกาพย์ห่อโคลงและกาพย์ยานี ทั้งนี้ วัดหน้าพระเมรุราชิการามได้รับการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3

ปัจจุบัน วัดหน้าพระเมรุราชิการาม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย และมี “พระพิศาลวิหารกิจ (สมศักดิ์ ฉนฺทกโร)” ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-26 12:19 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้






พระคันธารราฐ พระประธานในพระวิหารสรรเพชญ์
หรือพระวิหารน้อย วัดหน้าพระเมรุราชิการาม

4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-26 12:21 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


พระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ
พระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่แบบมหาจักรพรรดิ ปางมารวิชัย
พระประธานในพระอุโบสถ วัดหน้าพระเมรุราชิการาม




พระอุโบสถ วัดหน้าพระเมรุราชิการาม

   ขอขอบพระคุณที่มาของข้อมูลและรูปภาพ
1. หนังสือพิมพ์ข่าวสดรายวัน ออนไลน์
คอลัมน์ เดินสายไหว้พระพุทธ โดย วิเชียร นรสิงห์
2. ASTVผู้จัดการออนไลน์        20 กุมภาพันธ์ 2549 17:55 น.
3. http://www.devboxs.com/data/indonesia-art/
4. เว็บไซต์น้ายักษ์ http://www.naryak.com/forum/


   พระพุทธรูปศิลาขาว วัดพระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=39910                                                                                       

.....................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=46471

ไปบ่อยครับวัดหน้าพระเมรุ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้