|
พระคันธารราฐ
พระประธานในพระวิหารสรรเพชญ์
[พระวิหารคันธารราฐ, พระวิหารเขียน, พระวิหารน้อย]
วัดหน้าพระเมรุราชิการาม หรือวัดหน้าพระเมรุ (พระอารามหลวง)
ต.ท่าวาสุกรี อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา
“พระคันธารราฐ” วัดหน้าพระเมรุราชิการาม หรือวัดหน้าพระเมรุ จ.พระนครศรีอยุธยา พุทธลักษณะ เป็นพระพุทธรูปศิลาขนาดใหญ่ประทับนั่งห้อยพระบาท ศิลปะแบบทวารวดี ปางประทานปฐมเทศนา มีขนาดหน้าตักกว้าง 1.70 เมตร สูง 5.20 เมตร สร้างขึ้นจากวัสดุหินปูนสีเขียวแก่หรือศิลาเขียว (Bluish Limestone) พระหัตถ์ทั้งสองข้างวางคว่ำอยู่บนพระชานุ (เข่า) เบื้องพระปฤษฎางค์ (เบื้องหลัง) มีพนัก และเหนือขึ้นไปหลังพระเศียรมีประภามณฑลหรือรัศมี สลักลายที่ขอบ ปัจจุบันประดิษฐานเป็นพระประธานอยู่ในพระวิหารสรรเพชญ์ หรือพระวิหารคันธารราฐ หรือพระวิหารเขียน หรือพระวิหารน้อย
พระวิหารสรรเพชญ์ ประชาชนเรียกชื่อว่า “พระวิหารคันธารราฐ” หรือเรียกชื่อว่า “พระวิหารเขียน” เนื่องจากมีลายเขียนภายในพระวิหาร หรือมีชื่อเรียกกันอีกว่า “พระวิหารน้อย” เนื่องจากเป็นพระวิหารขนาดเล็ก มีขนาดกว้างประมาณ 6 เมตร ยาวประมาณ 16 เมตรเท่านั้น ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระอุโบสถ ห่างจากพระอุโบสถประมาณ 2 เมตรเศษ หันหน้าออกไปทางทิศใต้หรือไปทางแม่น้ำลพบุรี พระยาไชยวิชิต (เผือก) ได้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2381 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระวิหารมีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง หลังคามุงกระเบื้องดินเผา ประดับช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ ปิดทองประดับกระจกเช่นเดียวกับพระอุโบสถ หน้าบันสลักลายดอกไม้และนก มีประตูเข้าสู่ภายในพระวิหารเฉพาะด้านหน้าประตูเดียว เป็นประตูไม้แกะสลักลายก้านขดเคล้าภาพเป็นภาพเทพนม ครุฑ นาค และนก ตอนล่างแกะลายฐานสิงห์ ตอนบนเป็นวิมานและลายเปลว (ฝีมือช่างสมัยอยุธยาตอนปลาย อาจเป็นสมัยพระเจ้าปราสาททอง) ซุ้มประตูเป็นลายปูนปั้นปิดทอง ตรงกลางทำเป็นรูปอาคารแบบยุโรป ล้อมด้วยลายดอกไม้มีลายเครือเถาอยู่ที่กรอบ เป็นลายแบบฝรั่งปนจีนฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 4 ผนังด้านข้างของพระวิหารมีหน้าต่างด้านละ 1 บาน ผนังด้านในมีจิตรกรรมฝาผนังเขียนภาพเล่าเรื่องชาดกโดยรอบ ปัจจุบันภาพเขียนจิตรกรรมยังคงอยู่แม้จะลบเลือนไปมากตามกาลเวลา
พระคันธารราฐ สันนิษฐานว่าเคยประดิษฐานอยู่ ณ วัดมหาธาตุ ในเกาะเมือง ข้างวัดราชบูรณะ จ.พระนครศรีอยุธยา มาก่อน ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่มีมาก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา และเป็นวัดร้างในยุคนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ พระยาไชยวิชิต (เผือก) เป็นแม่กองบูรณปฏิสังขรณ์วัดมหาธาตุ จึงได้ขุดพบ “พระคันธารราฐ” พระพุทธรูปศิลาเขียวองค์นี้ แล้วได้มีการเคลื่อนย้ายอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในพระวิหารน้อย ที่พึ่งสร้างขึ้นใหม่นี้ ณ วัดหน้าพระเมรุราชิการาม จวบจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ พระยาไชยวิชิต (เผือก) ได้จารึกไว้ในศิลาติดตั้งไว้ที่ฝาผนังเมื่อปี พ.ศ. ที่สร้างว่า “พระคันธารราฐ” นี้ พระอุบาลีมหาเถระ ซึ่งจำพรรษาอยู่ที่วัดธรรมาราม จ.พระนครศรีอยุธยา นำมาจากประเทศลังกา ในคราวที่ท่านเป็นสมณฑูตพร้อมด้วยพระสงฆ์สยามวงศ์นำพระพุทธศาสนาไปประดิษฐานในประเทศลังกา
แต่ทว่านักโบราณคดีมีความเห็นว่า “พระคันธารราฐ” เป็นพระพุทธรูปสมัยทวารวดี สร้างขึ้นในระหว่างปี พ.ศ.1000-1200 และสันนิษฐานว่าก่อนที่จะนำมาประดิษฐานไว้ ณ วัดมหาธาตุ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่เดิมเคยประดิษฐานอยู่ ณ วัดทุ่งพระเมรุ หรือวัดพระเมรุ จ.นครปฐม เนื่องจากทางราชการขุดพบเรือนแก้วที่ชำรุด สันนิษฐานว่าเป็นเรือนแก้วของพระพุทธรูปองค์นี้ ดังนั้น ความเก่าแก่ของ “พระคันธารราฐ” จึงเก่าแก่กว่าในสมัยกรุงสุโขทัย ไล่เลี่ยกับยุคสมัยของบุโรพุทโธ (borobodur) บนเกาะชวาในประเทศอินโดนีเซีย
พระคันธารราฐ กล่าวกันว่าเดิมเป็นพระพุทธรูปศิลาเขียว แต่เนื่องจากผ่านกาลเวลามานานจึงทำให้กลายเป็นสีเข้มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งปัจจุบันดูคล้ายเป็นสีดำ แต่ถ้ามองดูในระยะใกล้ๆ แล้วจะเห็นเม็ดเล็กๆ สีเขียวเพราะทำจากหินทรายแกะสลัก เชื่อกันว่าหากบูชาสักการะแล้วจะอายุยืนมั่นคงดั่งศิลา
|
|