ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2504
ตอบกลับ: 5
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

บุญญาพาชีวิตรอด (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)

[คัดลอกลิงก์]


บุญญาพาชีวิตรอด
โดย
หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ


วัดอรัญญบรรพต
ต.บ้านหม้อ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย
เมื่อวันที่ ๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๗

ต่อนี้ไปพึงพากันตั้งใจ สำรวมจิตใจของตัวให้แน่วแน่อยู่ภายใน อย่าให้ใจมันคิดส่งออกไปข้างนอก เวลานี้เป็นเวลาที่เรามาชุมนุมกันเพื่ออบรมจิตใจโดยเฉพาะ เพราะจิตใจนี้เป็นเรื่องที่อบรมฝึกฝนได้ยาก แต่ก็ไม่เหลือวิสัยสำหรับผู้มีความหมั่นความขยัน มีความเพียร มันเป็นการยากสำหรับผู้ไม่ขยันหมั่นเพียร ไม่เอาใจใส่ต่อจิตใจของตัวเอง ไม่ว่างานสิ่งใดทั้งหมด ถ้าหากว่าเอาใจจดจ่อเข้าไปแล้วมันก็ดำเนินไปได้ จะให้ยากลำบากอย่างไร ก็ถ้าหากว่าอยู่ในวิสัยที่เราจะทำได้แล้ว เราเอาใจฝักใฝ่เข้าไป ใช้โยนิโสมนสิการพินิจพิจารณาหาทางแก้ไขอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นให้มันลุล่วงไป ถ้ามันไม่เหลือวิสัยจริงๆ มันก็เป็นไปได้ การที่คนเราจะฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ไปไม่ได้นั้น ก็เพราะมันขาดความเพียรความเอาใจใส่ อันนี้แหละสำคัญ ไม่ว่าการงานสิ่งใดถ้าหากว่าเราไม่เอาใจใส่แล้ว มันจะไม่สำเร็จผลเลย

ทีนี้งานเกี่ยวกับการฝึกฝนอบรมจิตใจนี้ มันก็ยิ่งต้องการความ เอาใจใส่เป็นพิเศษเลย หมายความว่า ตนเองพยายามดูตนเองให้มาก ที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพราะตามธรรมดาแล้ว บุคคลผู้ปล่อยให้ ความหลงครอบงำจิตใจแล้ว มันลืมตัวไม่รู้ว่าตัวเป็นอย่างไร ไม่รู้ว่าจิตใจของตนมันเป็นอย่างไร จิตใจของตนมันหลงไปอยู่ มันเห็นผิดเป็นชอบไปอยู่ ก็ไม่รู้ตัวเอง นี่แหละคนเราถ้าปล่อยให้ ความหลงครอบงำไปแล้ว เป็นอย่างนั้น ดังนั้น วิธีแก้มันก็อยู่ที่สติสัมปชัญญะ เราหมั่นระลึกเข้ามาหากายหาจิตนี่ มาควบคุมจิตนี้ให้ตั้งอยู่ภายใน ถ้าหากว่าควบคุมเฉยๆ มันหยุดมันนิ่งไม่ได้ ก็ต้องบริกรรม พุทโธ แทน จิตใจผูกพันอยู่กับพุทโธคุณอันประเสริฐนั้น ถ้าหากว่าทำได้อย่างนี้ ความหลงความเข้าใจผิดต่างๆ นานานั้นมันก็จะระงับไปโดยลำดับ เพราะมันมารู้ตัว รู้ตัวนี่หมายความว่า เรารู้ว่าอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในจิตนี้ ล้วนแต่เป็นของไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เราจะไปเอาจริงเอาจังกับความคิดความนึกต่างๆ เหล่านี้ ไม่ได้เลย เพราะมันไม่จีรังยั่งยืน มีแต่การทำใจสงบลงเป็นหนึ่งให้ได้ อันนี้แหละเป็นสิ่งที่อุ่นใจของเรา

เมื่อใครทำใจให้สงบลงไปได้แล้ว ผู้นั้นก็ได้รับความ อุ่นใจ ความสงบนี้หมายถึงความอิ่ม ใจมันอิ่มทุกสิ่งทุกอย่าง มันไม่อยากได้อะไรในขณะที่ใจสงบอยู่นั้น เพราะฉะนั้นเมื่อมันมีอิ่มได้ มันก็สบายไม่ใช่หรือ คิดดูให้ดี เหตุที่มันไม่สบายนั้น ก็เพราะมันหิว จิตนี่มันหิวอยู่เรื่อย มันหิวอารมณ์ มันหิวเรื่องดีเรื่องชั่วต่างๆ นานา ในโลก เหตุนั้นมันจึงหาความสุขสบายไม่ได้ ดังนั้นการที่เรามา พยายามทำใจให้สงบนี่ ก็เพื่อที่จะระงับความหิวของจิตใจนั้นเอง ให้มันค่อยสงบไปโดยลำดับ แล้วการที่เรามาใช้ปัญญาพิจารณา เหตุผลต่างๆ ที่จิตใจมันยึดมั่นถือมั่นอยู่นั้น อันนั้นมันเป็นวิธีการ ที่จะละอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นให้หมดไปสิ้นไป แต่ลำพังสมาธินั้น เพียงแต่ระงับความอยากความหิวไปได้ชั่วระยะหนึ่งเท่านั้นเอง ส่วนที่จะละความอยากความหิวให้มันขาดเด็ดออกไปจากจิตใจได้ ต้องอาศัยปัญญา
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-24 02:44 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ปัญญานั้นก็ต้องเกิดจากสมาธิ ไม่ใช่ว่าปัญญาที่เรา นึกเดาเอา นึกคาดคะเนไปตามอาการต่างๆ อย่างนั้นไม่ใช่ ปัญญา ในที่นี้หมายถึง ปัญญาเกิดจากใจที่สงบตั้งมั่นอยู่ภายใน เมื่อใจตั้งมั่น อยู่ภายในแล้ว มันก็ผ่องใส มันก็ไม่มัวหมอง เมื่อมันผ่องใสแล้ว เราจะคิดนึกถึงเรื่องอะไร มันก็เห็น มันก็รู้เรื่องนั้นโดยแจ่มแจ้งได้ เหมือนอย่างไฟฟ้าที่ไส้มันก็ยังดีอยู่ หัวเทียนก็ดี อย่างนี้แหละ ไม่เสียอะไร พอกดสวิตช์เท่านั้น มันก็สว่าง มองเห็นวัตถุสิ่งของ ต่างๆ อยู่ในรัศมีแห่งความสว่างนั้นได้โดยชัดเจน ข้อนี้ฉันใด ปัญญาก็เป็นเช่นนั้นแหละ เมื่อใจสงบผ่องแผ้วดีแล้ว เราพิจารณา เรื่องอะไรมันก็เห็นชัดไปในเรื่องนั้น เพราะว่ากระแสจิตมันใสสะอาด กระแสจิตมันสว่าง ดังนั้นมันจึงรู้ความจริงของเรื่องนั้นได้ตามความเป็นจริง

แต่ว่าความรู้ในการเจริญวิปัสสนานี้ พระศาสดาก็ทรง สอนให้ ยกขันธ์ห้านี้แหละขึ้นมาพิจารณาก่อนสิ่งอื่นทั้งหมด ทั้งนี้ ก็เพราะว่า จิตใจมันยึดมั่นถือมั่นอยู่ในขันธ์ห้านี้ ว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นเขา มันจะหลงละเมอไปในเรื่องต่างๆ ภายนอกโน้น ก็เพราะมันหลงขันธ์ห้านี้ก่อน มันสำคัญผิดในขันธ์ห้านี้แล้ว มันจึง ได้หลงผิดไปในอารมณ์อื่นภายนอก เห็นอารมณ์ต่างๆ ภายนอก เป็นตัวเป็นตนไป เป็นดีเป็นชั่วไปหมดเลย ก็เพราะมันหลงขันธ์ห้า นี้แล ถ้ามันรู้แจ้งในขันธ์ห้านี้ตามเป็นจริง มันไม่สำคัญว่าเป็นตัว เป็นตนเป็นเราเป็นเขาแล้ว ปล่อยวางไว้ตามสภาพเหล่านี้แล้ว มัน จะไม่หลงผิดไปในเรื่องใดๆ ทั้งหมดเลย

เพราะว่าสิ่งต่างๆ ภายนอกโน้นมันก็อาศัยดวงจิตนี้ต่างหาก เป็นผู้ไปยึดไปถือไปสมมุติ มันขึ้นว่า อันนั้นดีอันนี้ชั่ว สิ่งนั้นน่ารักสิ่งนี้น่าชัง มันออกไปจาก ดวงจิตดวงนี้ ซึ่งมีขันธ์ห้านั้นแหละเป็นเครื่องส่องไป เป็นเครื่อง ดำเนินไปตามความนิยมสมมุติของโลก เช่นอย่างว่า สัญญาอย่างนี้ ก็ความจำหมายนี่ มันจำผิดไปด้วยอำนาจแห่งความรู้ผิด มันจำว่า สิ่งนี้ไม่สวย มันก็เห็นว่าสวยว่างามอย่างนี้แหละ สิ่งนี้ไม่สวยไม่งาม น่าเกลียดน่าชัง มันก็เห็นไปว่าน่าเกลียดน่าชัง เห็นไปตามสมมุติ นิยมของโลก เหตุนั้นมนุษย์เราถึงได้เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ประหัตประหารซึ่งกันและกัน ก็เพราะมันหลงสมมุตินี่เองแหละ

เมื่อมีผู้มาเจริญวิปัสสนาโดยลำดับไป มาแจกแจง ขันธ์ห้านี้ออก ให้มันเห็นเป็นของว่างของเปล่าจากสัตว์จากบุคคล เห็นว่าไม่มีสัตว์ไม่มีบุคคลอยู่ในขันธ์ห้านี้เลย เช่นนี้แล้วมันก็จะไม่หลง สมมุติเหล่านั้น มันก็จะมองเห็นแต่เพียงว่า เรื่องดีเรื่องชั่วต่างๆ นั้น มันก็มีการเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเท่านั้นเอง ไม่มีอะไรเป็นตัวเป็นตนเลย แต่ถ้าว่าไปตามสมมุติแล้ว มันก็มีดีมีชั่วอยู่นั้นแหละ แต่ถ้าเราจะ ไปยึดเอาแต่ดีแต่ชั่วไปตามสมมุติอยู่นั้น มันก็พ้นทุกข์ไม่ได้เลย จิตใจมันก็เอียงซ้ายเอียงขวาไปอยู่อย่างนั้น เดี๋ยวก็รัก เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็พยาบาทเบียดเบียนกันและกันนี่ เมื่อหากว่าไปยึดเอาสมมุตินั่น มาเป็นอารมณ์แล้ว มันก็จะไปอย่างนั้นแหละ

วิถีชีวิตของคนเรานี่ แต่ที่คนเราจะกลายเป็นคนเกเรเป็นคนชั่วกลายเป็นอันธพาล ชอบเบียดเบียนแต่บุคคลอื่นและสัตว์อื่นไปนั้น ก็เพราะเหตุที่มันหลงสมมุติบัญญัติอย่างว่านี้แหละ ไม่ได้เจริญปัญญาวิปัสสนา เห็นแจ้งในขันธ์ห้าตามเป็นจริง นี่ทำให้คนเสียคนไป ทำให้คนเรานั้นตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความอิจฉาพยาบาทเบียดเบียนซึ่งกันและกัน เมื่อนี่มันล้วนตั้งแต่ มันเห็นขันธ์ห้าเป็นตัวเป็นตนทั้งนั้นแหละ มันจึงได้สำคัญว่า ตนนั้นวิเศษกว่าคนอื่น ตนนั้นมีกำลังแข็งแรงกว่าคนอื่น เราไม่กลัวใคร จะชกจะต่อยจะตีจะอะไรก็เอาทั้งนั้น เมื่อมันโกรธจัดขึ้นมาแล้ว นี่แหละความถือว่ามีตัวมีตนมันมีผลร้ายอย่างนี้เองแหละ ให้พากันเข้าใจ

การที่เรามาเจริญภาวนาเพ่งพิจารณาให้เห็นขันธ์ห้า ลงไปว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ใช่ตัวตนเราเขาอย่างนี้แล้ว มันจะทำให้กิเลสเหล่านี้อ่อนลงไปเป็นลำดับ ใครด่าว่าติเตียน มันก็กำหนดรู้ทันว่า เขาไม่ได้ด่าเรา ไม่ได้ว่าเรา เขาด่ารูปนี้ต่างหาก รูปนี้ไม่ใช่ของเรา เมื่อรูปนี้ไม่ใช่ของเรา เราจะไปโกรธทำไมเล่า จะไปหวงมันไว้ทำไม หวงไว้ได้แล้วมันก็ไม่ยั่งยืนอะไร รูปนี้มันก็แปรปรวนไป ในที่สุดมันก็แตกดับลง การหวงไว้โดยไม่ชอบด้วยเหตุผลอย่างนั้น รังแต่จะเป็นเหตุให้สร้างบาปสร้างกรรมใส่ตัวเอง และบุคคลอื่น ก่อทุกข์ให้แก่กันและกันไม่มีที่สิ้นสุดลงได้ นี่โทษอย่างหยาบที่บุคคลถือมั่นว่าเป็นตัวเป็นตนเป็นเราเป็นเขา มันก็เป็นไปอย่างนี้แหละ

เพราะฉะนั้นเราเป็นนักภาวนานี่ ก็ต้องพิจารณาให้มันเห็นแจ้งลงไป เราจะไปนั่งอยู่เฉยๆ ทำไม นั่งภาวนาอยู่เฉยๆ ไม่คิดไม่พิจารณาไม่กำหนดรู้อะไร ความจริงของขันธ์ห้ามีอย่างไรก็ ไม่ดำริตริตรอง ให้เห็นแจ้งประจักษ์ด้วยใจของตนเอง เช่นนี้มันก็จะไปปลงไปวางขันธ์ห้าลงได้อย่างไร มันก็จะถือมั่นว่าเป็นของตัว อยู่นั่นแหละ หวงไม่ยอมให้ใครมาติมาว่านิดหนึ่งก็ไม่ได้ ใครมาว่า นิดหนึ่งก็เกิดโมโหโทโสขึ้นเลย ลืมความดีทุกสิ่งทุกอย่างไปเลย ถ้าหากว่าไม่มีผู้มากั้นกลางไว้ เดี๋ยวก็จะได้สังหารกันลงไป ย่อยยับ ลงไปด้วยกันทั้งสองฝ่าย ไม่มีใครดีกว่าใคร เหลวกันทั้งหมู่เลยทีเดียวละ ถ้าเป็นหมู่ก็ดี นี่แหละโทษที่ความหลงไหลยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ห้าว่าเป็นตัวเป็นตน พากันพิจารณาเอา

3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-24 02:45 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เหตุที่คนเราจะพ้นทุกข์ในสงสารไม่ได้นี่ ก็เพราะมันไม่ยอม ไม่ยอมพากเพียรพยายามปลงวางขันธ์ห้านี้ มีแต่ยึดแต่ถือ เอาไว้อยู่อย่างนั้น ถือไว้เท่าไรก็ยิ่งสะสมกิเลสให้หนาขึ้นเท่านั้น ก็ไม่สามารถที่จะทำความดีให้สูงขึ้นไปได้เลย เพราะว่ากิเลสเหล่านั้นมัน มาขัดขวางอยู่เรื่อยไป จะทำความดีคือว่าทำใจให้สงบระงับจากความโลภ ความโกรธ ความหลง เหล่านี้น่ะ มันทำไปไม่ได้ มันเป็นอย่างนั้น

ผู้ที่จะบรรเทากิเลสเหล่านี้ลงได้นั้น จะต้องมาปล่อยวางขันธ์ห้านี้ลงไปอย่าไปสำคัญว่าเป็นเราเป็นของของเรา นี่แหละมันถึงจะบรรเทากิเลสเหล่านั้นลงได้ ไม่เช่นนั้นแล้ว ใครจะทำความดีอย่างไร สักเท่าไรก็ ไม่มีทางที่จะบรรเทากิเลสให้เบาบางลงไปได้เลย ให้กันเข้าใจ เราจะหวงไว้ทำไม หวงขันธ์ห้านี้ หวงไว้ได้มันก็ไม่เป็นไปตามใจหวัง อยู่ไปคืนวันปีเดือนล่วงไปๆ มันก็ทรุดโทรมไปโดยลำดับ ในที่สุดมันก็แตกสลายออกไปจากกันไป ก็ดังที่เรารู้ๆ เห็นๆ กันอยู่ มันก็มีเท่านี้เอง ความเป็นไปแห่งชีวิตนี้ แล้วทำไมเราถึงจะมาหวงกันไว้อย่างนี้ ไม่สมควรเลย

หากว่าเราเชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าจริงๆ มันก็ควรที่จะน้อมตัวลงสู่คำสอนของพระองค์ ละอัตตานุทิฏฐิลงไป ความเห็นว่ามีตัวตนมีเรามีเขานี่ ควรละจริงๆ เพียรละมันไปเรื่อยๆ ถ้าไม่ปล่อยวางความเห็นอย่างว่านี้แล้ว จิตสงบลงไม่ได้เลย จิตจะ สงบลงไปได้ก็เพราะเราวางคำว่าตัวตนเราเขาลงไป เมื่อวางลงได้ อย่างนี้ สุข มันก็ไม่ยินดีไปตามสุข ทุกข์เกิดขึ้น มันก็ไม่ยินร้ายไปตาม มีสติคุมจิตให้เป็นกลางอยู่อย่างนั้น นี่แหละจิตจะรวมลงไปได้ มันต้องปล่อยวางความสุข ความทุกข์ อันเกิดขึ้นในกายในจิตนี้ลงไป

การที่มันเกิดเวทนาขึ้นในใจนั้นแหละ คือลักษณะแห่งความทุกข์ มันเกิดความกระวนกระวายขึ้นในใจ มันก็มี บางทีก็เกิดจากอำนาจของกิเลส ไม่ใข่เกิดจากโรคภัยเบียดเบียนร่างกาย พอนั่งภาวนาลงไปอย่างนี้ หากว่ากิเลสมันยังหนาอยู่ มันก็จะแสดงอิทธิพลของมันออกมา ปั่นจิตให้หวั่นไหวกระทบกระทั่งกับร่างกาย กายก็รู้สึกว่าอึดอัด ขัดข้องไปต่างๆ นานา เจ็บโน้นปวดนี้ คันตรงนั้น อะไร มันก็มีอยู่นั่นแหละ นี่มันเป็นอยู่นั้นแหละ

ถ้าเราน้อมใจลงสู่ความสงบแล้ว กิเลสมันไม่ยอม มันไม่ยอมให้กดหัวมันลง มันก็ดิ้น ถ้าหากว่า ตนมีสติเข้มแข็งควบคุมจิตไว้ได้ ไม่หวั่นไหวไปตามอาการของกิเลส นั่น จิตมันก็สงบลงได้ เมื่อมันสงบลงได้แล้ว มันก็ละสุขละทุกข์ จิตที่สงบลงไปเป็นสัมมาสมาธินั่น มันย่อมไม่ยึดถือเอาความสุข ความทุกข์ มันมีสติกำหนดรู้ว่าจิตนี้เป็นกลางอยู่อย่างนั้น ไม่ยินดี ในความสุข ไม่ยินร้ายในความทุกข์ อย่างนี้จึงจะชื่อว่าสัมมาสมาธิ การตั้งจิตไว้ชอบ ให้เข้าใจกัน

ถ้ายังไปหวั่นไหวความสุข หรือความทุกข์ที่เกิดขึ้นใน ระหว่างภาวนาเพ่งพินิจอยู่นั้น เช่นนี้แล้ว ไม่มีทางจิตมันจะรวมลงได้ มีแต่มันจะกระเด็นออกไปข้างนอกโน้น ไหลไปตามอารมณ์ต่างๆ ในอดีตที่ล่วงแล้วมาบ้าง อนาคตบ้าง ไปเรื่อยเปื่อยไปแล้ว เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นผู้ภาวนาให้พึงเข้าใจ ไม่ใช่ว่า นั่งภาวนาลงไปแล้วอย่างนี้ มันจะสบายไปเลยไม่ต้องออกแรงอะไร จึงจะชื่อว่าตนภาวนาเป็น อย่าไปเข้าใจอย่างนั้น ก็เพราะว่ามันมีกิเลสเป็น มารอยู่ในหัวใจนี่แหละ พระพุทธเจ้าจึงสอนให้ภาวนา เมื่อมันมีกิเลส เป็นตัวมารอยู่ในใจแล้วอย่างนี้ เวลาเราภาวนากำหนดใจจะละมัน อย่างนี้ มันก็ต้องเล่นงานเราแน่นอนละ มันไม่อยากหนีจากเรา เป็นอย่างนั้น เราก็ต้องรู้ไว้

เมื่อเรารู้อย่างนี้แล้วเห็นว่า กิเลสมันแสดงปาฏิหาริย์อะไรออกมา มันก็ไม่หวั่นไหว เราพยายามตั้งสติ ประคองจิตให้แน่วแน่อยู่ ไม่ต้องเสียใจดีใจกับอารมณ์ต่างๆ เหล่านั้น มีแต่โน้มเข้าสู่ความสงบอย่างเดียว มีแต่น้อมจิตลงให้เป็นกลางลงไป มุ่งต่อความเป็นกลางนั้นเป็นที่ตั้งเลยทีเดียว สุขก็ไม่ยึดถือเอา ทุกข์ไม่ยึดถือเอา เพราะว่าสุขทุกข์มันเป็นสังขาร มันมีเกิด มันมีดับ อยู่นั้น ไม่แน่นอนเลย ลองสังเกตดูความสุขเมื่อมันเกิดขึ้นไปๆ มันก็ดับลงได้ เดี๋ยวก็ทุกข์เกิดขึ้นมาแทน แล้วทุกข์เกิดขึ้นมา ก็ไม่ใช่ว่ามันจะตั้งยั่งยืนอยู่ตลอดไป ประเดี๋ยวประด๋าวมันก็ดับไป แล้วก็สุขเกิดขึ้นมาแทน สลับกันไปอยู่อย่างนี้แหละ

เมื่อผู้มีปัญญามาเจริญวิปัสสนา มาเห็นแจ้งว่า อารมณ์แห่งความสุขความทุกข์นี่ เป็นของไม่เที่ยงไม่ยั่งยืนอะไรเลย เกิดแล้วดับไปอยู่อย่างนั้น เมื่อเห็นแจ้งอย่างนี้แล้ว ก็ไม่ยินดียินร้าย ไปกับสุขกับทุกข์ ดังกล่าวมาแล้วนั้นแหละ เราฝึกจิตสอนจิตนี้ให้เป็น ให้รู้เท่าสุข รู้เท่าทุกข์อยู่อย่างนี้แหละ การภาวนาอย่าไปเข้าใจไปอย่างอื่น เมื่อจิตใจมันรู้เท่าอารมณ์ต่างๆ ดังกล่าวมานี้ได้แล้ว มันรวมเป็นหนึ่งลงไปได้แล้ว นั้นแหละมันถึงจะพบกับความสุขที่แท้จริง ถ้าหากว่ายังปล่อยวางอารมณ์ต่างๆ เหล่านั้นยังไม่ได้ มันก็ยังไม่ได้พบความสุขอันแน่นอน ขอให้เข้าใจอย่างนั้น
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-24 02:45 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เราอย่าไปมุ่ง อย่าไปมุ่งอยากให้มีความสุขอย่างโน้นอย่างนี้ การภาวนาอย่าไปมุ่งอย่างนั้น ให้มุ่งแต่ว่าเราจะกำหนดปล่อยกำหนด วางขันธ์ห้านี้ลงไป จะไม่ให้จิตนี้สำคัญว่า ขันธ์ห้านี้เป็นตัวเป็นตันเป็นเรา เป็นเขาอะไร นี่ใช้ปัญญาสอนจิตเข้าไป ถ้าเมื่อจิตตั้งมั่นลงไปได้แล้ว สุดแล้วแต่เราจะมีอุบายอย่างไรมาสอนจิตนี้ให้มันปลงมันวางขันธ์ห้า เราก็หาอุบายต่างๆ มาสอนจิตนี้เข้าไปเรื่อยๆ เป็นอย่างนั้น ใครคนอื่นนั้นจะสอนเราให้เราละกิเลสตัณหาไปได้โดยเราที่ไม่ต้องทำความเพียร เพ่งพินิจอะไรเลยอย่างนี้ เป็นไปไม่ได้ ถึงพระพุทธเจ้า พระองค์ก็ไม่สามารถที่จะไปสั่งสอนคนให้หลุดพ้นจากกิเลสโดยลำพังอานุภาพ แห่งคำสอนเท่านั้น ถ้าผู้นั้นไม่มีอุบายแยบคายในใจแล้ว ก็ไม่มีทางที่มันจะหลุดพ้นไปได้ ก็ให้เข้าใจกันอย่างนี้

เพราะฉะนั้นในขณะที่ฟังธรรมอยู่ เราก็มีอุบายแยบคาย อยู่ในใจสอนใจของตนไปในตัวให้ปลงให้วาง นี่มันต้องช่วยตัวเอง เข้าไปไม่ใช่ว่าจะไปฟังแต่เสียงที่ท่านพูดไปเท่านั้น แล้วไม่กระทำอุบายแยบคายในใจอย่างนี้ มันก็ไม่บรรลุผลตามเป้าหมาย มันสงบอยู่ได้ แต่เวลาที่ท่านอธิบายธรรมะให้ฟังเท่านั้น พอหยุดแสดงธรรมแล้วมันก็ พุ่งไปเหมือนเดิมอย่างนี้แหละ ตนผู้ที่ไม่มีอุบายแยบคายในใจ ไม่ฉลาดสำรวมจิต ไม่ฉลาดประคับประคองจิตของตนให้เป็นปกติอยู่ มันจะ ตั้งมั่นเสมอไปไม่ได้เลย ดังนั้นแหละให้พากันเข้าใจ เราต้องมีอุบาย แยบคายในใจ สอนใจของตนนี้ให้มันได้ ผู้อื่นสอนนั้นถ้าตนไม่สมัครใจ จะละจะถอนแล้ว มันก็ถอนไม่ได้หรอก ถ้าหากว่าตนเองสอนตนเอง เข้าไปแล้วอย่างนี้ มันมีทางที่จะละจะถอนได้ เป็นอย่างนั้น

เพราะฉะนั้นจึงว่าทุกคนขอให้มีอุบายสอนจิตใจของตนให้ได้ ถ้าใจของตนมันมากไปด้วยกิเลสชนิดไหน ก็พยายามสอนใจให้มัน เห็นโทษของกิเลสชนิดนั้นให้มากๆ จนมันเกิดนิพพิทาความเบื่อหน่าย ขึ้นมา เช่นอย่างผู้มากไปด้วยความรักอย่างนี้ ก็ต้องสอนใจของตน ให้เห็นโทษแห่งความรักว่า มันเป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ อย่างนั้น อย่างนั้น อย่างนั้น เราก็ต้องใช้ปัญญาสอนจิตให้มันรู้ฤทธิ์เดชแห่งความรักว่า มันเป็นทุกข์แก่บุคคลผู้ตกเป็นทาสแห่งความรักได้อย่างไรบ้าง

นี่ถ้าเราเพ่งพิจารณาไป ก็จะรู้จะเห็นได้แน่นอนเลย อย่างเช่นที่พระศาสดาทรงแสดงไว้ในธัมมจักรกัปปวัตนสูตร บุคคลผู้มัวเมาอยู่ในกามสุข สมบัติเหล่านั้นนั้น มันเป็นไปเพื่อให้ได้สร้างบ้านสร้างเรือนให้ได้ ขวนขวายในการงานต่างๆ หลายอย่างหลายประการ เพราะการสร้างบ้านสร้างเรือนมันเป็นกังวล มันไม่มีโอกาสที่จะได้หาทางพ้นจากทุกข์ได้ มีแต่มัวเมาอยู่ในกามคุณ อันเป็นของไม่เที่ยงแท้แน่นอนนั้นเสียเป็นส่วนมาก

5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-24 02:46 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พระศาสดาก็ทรงชี้แจงแนะนำสั่งสอนให้ผู้ฟังทั้งหลายนั้น ได้คิดได้พิจารณาอย่างนี้แหละ แต่ถ้าผู้ใดฟังแล้วไม่เอาไปคิดไปพิจารณา ผู้นั้นก็จะไม่เห็นโทษแห่งกามคุณตามที่พระศาสดาทรง แสดงไว้ แม้บุคคลผู้ที่มากไปด้วยความโกรธก็เหมือนกันแหละ ถ้าหากว่าตนของตนเองไม่พิจารณาให้เห็นโทษแห่งความโกรธนั้น มันก็ละความโกรธไม่ได้ แม้ว่าท่านจะแนะนำสั่งสอนชี้โทษแห่งความโกรธให้ฟังสักเท่าใด เท่าใดก็ตาม แต่ถ้าตนเองไม่น้อมเข้าไปคิด ไปตรองพิจารณาดูว่าความโกรธมันให้โทษอย่างที่ท่านแสดงมานั้นหรือไม่

ถ้าตนไม่น้อมเข้าไปคิดไปตรองอีกทีหนึ่งนั้น มันก็จะไม่เห็นโทษแห่งความโกรธนั้นแหละ มันจะยึดจะถืออยู่อย่างนั้น อันต้นตอแห่งความโกรธที่แท้จริงก็อย่างที่ว่ามาแล้วนั่นแหละ คือ มันสำคัญว่าขันธ์ห้าเป็นตัวเป็นตนเป็นเราเป็นเขานี่ มันเลยเกิดหยิ่งขึ้นมาเลยว่า ไอ้เรามันก็คนหนึ่งแหละ ใครจะมาดูถูกดูหมิ่น ไม่ได้เลย นี่มันเกิดหยิ่งขึ้นมาอย่างนี้ในใจนะ มันยึดเอาอารมณ์อย่างนี้ไว้ในใจ พอว่ามีใครมาดูถูกดูหมิ่นด่าว่าติเตียนขึ้นมาอย่างใดอย่างหนึ่งนี่ แน่นอนละมันก็ลุกเป็นไฟขึ้นเลย ความโกรธนั้นมันก็ลุกขึ้นอย่างแรง เป็นอย่างนั้น

ดังนั้น ถ้าใครมาภาวนาพิจารณาให้เห็นขันธ์ห้านี่ ว่าไม่ใช่ตัวตนเราเขาตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนั้น มันต้องบรรเทาความโกรธได้แน่นอนทีเดียว ก็เพราะว่าเมื่อเรามองเห็นว่ารูปกาย อันนี้ไม่ใช่ของเราแล้วอย่างนี้ จะไปหวงมันไว้ทำไม หวงไว้มันก็ เป็นทุกข์เปล่าๆ นี่ หวงไว้แล้วมันก็ไม่ยั่งยืนตลอดไปนี่ แม้นามธรรม ความรู้สึกนึกคิดทางจิตใจ สัญญาอารมณ์ความจำความหมายเรื่องดีเรื่องชั่วต่างๆ หมู่นี้นะ สังขารความคิดความปรุงแต่งในใจหมู่นี้ ลองเพ่งดูซิว่ามันเป็นของเที่ยงไหม มันมีตัวมีตนไหม

อันเรื่องหมู่นี้น่ะ เมื่อเพ่งดูด้วยปัญญาแล้วต้องเห็นแจ่มแจ้งในใจว่า มันไม่มีตัวตนจริงจังอะไรเลย มันเกิดขึ้นแล้วมันก็ดับไปเท่านั้นเอง นามธรรมก็ดี ถ้าหากว่าผู้ภาวนาทั้งหลายมาเจริญปัญญาวิปัสสนาเสมอๆ ไป บำรุงความคิดความเห็นให้มันแจ่มแจ้งในเรื่องขันธ์ห้า ตามเป็นจริงอย่างว่านี้แล้ว แน่นอนล่ะ ต้องบรรเทาความโกรธลงได้เลย แล้วมานะทิฏฐิความถือตนต่างๆ ก็เบาลงไปตามกัน มานะ นี่แหละมันเป็นกิเลสที่ส่งเสริมให้ความโลภ ความโกรธมันเกิดขึ้น ถ้ากำหนดละมานะความเห็นว่ามีตัวมีตนลงได้เสีย ไอ้กิเลสเหล่านั้น มันก็เบาบางไปตามกัน เป็นอย่างนั้นให้เข้าใจ

เพราะฉะนั้นสิ่งต่างๆ ดังกล่าวมานี้น่ะ มันเป็นสิ่งไม่เหลือวิสัยเลย ซึ่งทุกคนถ้าหากว่า เพียรพยายามเพ่งพินิจเข้ามาภายในจิตใจ ทำใจให้สงบลงไปได้แล้ว เพ่งพิจารณาดูแล้วย่อมเห็นได้ แน่นอนเลยทีเดียว เห็นรูปเห็นนามนี่เองแหละ ไม่ใช่เห็นอย่างอื่น กิเลสทั้งหลายมันก็เกิดขึ้นจากจิตใจที่มาหลงรูปหลงนามดังกล่าวมานั้นเอง

เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ถ้าผู้ใดมารู้แจ้งในนามในรูปนี้แล้ว ปล่อยวางไว้ตามสภาพอย่างนี้แล้ว กิเลสเหล่านั้นมันจะไม่งอกงาม เจริญขึ้นในจิตใจได้เลย อย่างเช่นความรักอย่างนี้ ไม่ทราบว่าจะรัก ไปทำไม รูปนี้มันก็ไม่เที่ยง ทั้งไม่สะอาดด้วยอย่างนี้ ทั้งเป็นทุกข์ แปรปรวนไปอยู่อย่างนั้น ทั้งรูปนี้และรูปอื่น ไม่ทราบว่าจะรักมัน ไปทำไม เมื่อมันเห็นชัดลงไปอย่างนี้แล้ว มันก็บรรเทาความรักลงได้ แม้ความโลภก็เหมือนกันแหละ ไม่ทราบว่าจะไปแย่งชิงเอาสมบัติผู้อื่นมาเป็นของตนทำไม่ล่ะ

ในเมื่อร่างกายอันนี้ นามรูปนี้มันไม่ใช่ตัวตน แล้วมันไม่ยั่งยืนอะไรแล้ว จะไปแย่งชิงเอามาทำไม ให้เป็นกรรม เป็นเวรเป็นบาปเปล่าๆ มันรู้มันเห็นขึ้นมาอย่างนี้แล้ว ความโลภมันก็ เบาบางลงไป ความโกรธก็เหมือนกัน ขอให้พากันพิจารณาดูให้ดี ความหลงก็เหมือนกัน ความหลงก็หมายถึงความไม่รู้แจ้งในความดี ความชั่วนั้นเองแหละ เห็นดีเป็นชั่วไป เห็นชั่วเป็นดีไป เห็นสุข กลายเป็นทุกข์ไป เห็นทุกข์กลายเป็นสุขไปอย่างนี้นะ นี่แหละเรียกว่า หลง ไม่รู้จริงตามเป็นจริง เห็นของไม่เที่ยงว่าเป็นของเที่ยงไป

อย่างนี้ ถ้าหากว่า เจริญปัญญาวิปัสสนาให้เกิดขึ้นแล้ว อย่างนี้ มันจะเห็นแจ้งตามเป็นจริงเลย สิ่งใดไม่เที่ยง มันก็เห็นว่า ไม่เที่ยงตามเป็นจริง ไม่ได้เห็นว่ามันเที่ยงเลย สิ่งใดมันเป็นทุกข์ มันทนได้ยากลำบาก มันก็เห็นว่าเป็นทุกข์ทนได้ยากลำบากตาม สภาพความเป็นจริง สิ่งใดมันเป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวตนบังคับไม่ได้ ไม่เป็นไปตามใจหวัง มันก็เห็นชัดตามเป็นจริงอย่างนั้น เห็นชัดว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา

สิ่งเหล่านั้นย่อมไม่อยู่ ในอำนาจบังคับบัญชาของผู้ใด มันย่อมแปรปรวนได้ตามกาลเวลา ของมัน ถึงเวลามันแตกมันดับมันก็แตกดับไป ใครจะมีอำนาจ บาตรใหญ่สักเท่าใดมาต้านทานไม่ให้มันแตกมันดับไม่ได้เลย นี่เรียกว่า กฎอนัตตา มันมีประจำอยู่กับโลกสันนิวาสอันนี้แต่ไหนแต่ไรมา แต่บุคคลผู้หลงผู้เมาแล้ว มันหากไม่รู้แจ้งอย่างว่านี้ มันจึงได้ สำคัญว่าเป็นตัวเป็นตนเป็นเราเป็นเขาไป จึงได้สร้างกิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปด ให้บังเกิดขึ้นในจิตใจ จึงได้ประสบกับความทุกข์ เป็นผล วนเวียนไปในวัฏฏสงสารนี้ไม่มีที่สิ้นสุด

เพราะฉะนั้นทุกคนเมื่อทราบอย่างนี้แล้ว ก็ขอให้พากัน ตั้งสติสัมปชัญญะควบคุมจิตของตนไว้ให้ได้ เพียรเพ่งเข้ามาภายในนี่ อย่าส่งใจออกไปข้างนอก แม้ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูดจาทำการงานอะไรก็ตาม เราต้องพยายามน้อมสติเข้าเพ่งจิต ประคองจิตให้มันตั้งอยู่ภายใน อย่าให้มันดิ้นไปตามอารมณ์ภายนอก ใครพูดเรื่องอะไรดีชั่วอย่างไรๆ ก็ตาม อย่าให้ใจมันฟุ้งไปตามคำพูด หรืออารมณ์ที่เขาแสดงออกมานั้น ให้จิตของตนมันตั้งเป็นปกติ
6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-24 02:46 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
มองเห็นอารมณ์ต่างๆ เหล่านั้น เสียงต่างๆ เหล่านั้นเกิดขึ้น แล้วดับไปเท่านั้นแหละ ไม่มีดีมีชั่วอะไร ดีชั่วเป็นแต่เพียงแค่สมมุติ บัดนี้เรายกจิตให้เลยสมมุติไป ให้มันเป็น ปรมัตถธรรม ปรมัตถธรรมนี่ ไม่มีอะไรเป็นแก่นเป็นสาร เกิดขึ้นแล้วแปรปรวน แตกดับไป ว่างจากสัตว์จากบุคคล นี่ปรมัตถธรรม ธรรมอันยิ่ง เรายกจิตขึ้นสู่ปรมัตถธรรมอย่างนี้เรื่อยไป อย่าไปติดอยู่เพียงแค่สมมุติเท่านั้น

คนส่วนมากนั้นไปติดอยู่แค่สมมุติเท่านั้นแหละ มันเลยสมมุติไม่ได้ ที่เป็นทั้งนี้ก็เพราะอะไรเล่า ก็เพราะขาดความเพียร ความพยายามทำสมาธิภาวนา ทำก็ทำพอแต่เพียงขอไปทีเท่านั้น ไม่เอาจริงเอาจัง ธรรมดาผู้ที่เอาจริงเอาจังนี่ เมื่อนั่งภาวนาลงไปอย่างนี้ จิตมันทำท่าว่าจะไม่สงบอย่างนี้ อธิษฐานใจลงไปเลย เอา ถ้าหากว่าทำจิตนี้ให้สงบลงไม่ได้ เราจะไม่ลุกจากที่นั่งนี่เลย ตายกับนี่แหละอย่างนี้ อธิษฐานใจมั่นลงไปอย่างนั้นแล้ว ก็ทำความเพียรเพ่งพินิจลงไปเลย เอามันจะไม่สงบก็ลองดูซิ เราจักไม่ลุกจากที่นั่งนี้เลย มันจะเจ็บจะปวดมันจะเป็นอย่างไร ก็ให้มันเป็นไป

ถ้ามันยังไม่เบื่อไม่หน่ายต่อความเที่ยงแท้แน่นอนของ สังขารร่างกายนี้แล้ว ก็ให้มันลองดูซิ นี่คนส่วนมากใจไม่ถึง กลัวตาย ถ้าอดกลั้นทนทานอย่างว่านี่กลัวมันจะตายนั่นแหละ กลัวแต่ตายอยู่ มันก็เลยไม่ จิตไม่มีอำนาจเหนือกิเลสได้เลย การที่จิตจะมีอำนาจเหนือกิเลสได้น่ะ มันต้องไม่กลัวตาย ต้อง เอาตายไว้เบื้องหลังเลย แต่ความจริงมันไม่ตายหรอก แต่ตนเอง ไปกลัวล่วงหน้าไว้เฉยๆ นี่ มันทุกขเวทนาเข้าไปจริงๆ มันกลัวตาย แล้วมันก็จิตรวมลงเท่านั้นเองแหละ จิตมันก็รวมลง เราถือ ความสัตย์มั่นไว้ในใจเลยอย่างนี้ เมื่อมันเห็นว่า ถ้าขืนไม่รวมลงนี่ มันจะตายจริงๆ อย่างนี้ มันก็รวมลงซิ นั่นแหละเราต้องเอาลง ไปมันถึงขั้นนั้น

การนั่งสมาธิภาวนานั่นน่ะ ดูฟังจากประวัติของพระพุทธเจ้าเป็นไงเล่า พระองค์ก็ทรงตั้งพระหฤทัยอธิษฐาน มหาปธานความเพียร ๔ อย่างนั่น ถ้าหากว่าไม่บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณนี้ตราบใดแล้ว เราจะไม่ลุกจากที่นั่งนี้เลย ต่อจากนั้นก็จึงได้ทำความเพียรเพ่งพินิจลงไป ในที่สุดพระองค์ก็ตรัสรู้ในญาณที่ ๑ ญาณที่ ๒ ญาณที่ ๓ เป็นญาณสุดท้าย เรียกว่า อาสวักขยญาณ ปรีชาหยั่งรู้ว่า อาสวะกิเลสน้อยใหญ่ทั้งหลายหมดสิ้นไปแล้ว เมื่อนั้นแหละพระองค์จึงได้คลายออกจากสมาธิ แต่พวกเราเหล่าพุทธบริษัทก็ไม่ถึงกับที่ว่า เราจะต้องอธิษฐานใจ ถ้าหากว่าละอาสวะกิเลสไม่หมดสิ้นจะไม่ลุกจากที่นั่งนี้เลย ก็ไม่ถึง ขนาดนั้นหรอก ความจริงน่ะ เราเอาเพียงแค่ว่า ให้ใจมันรวมลง เป็นหนึ่งเท่านั้นแหละ ให้มันละนิวรณ์ ๕ ลงไปให้ได้ นี่ก็ยังนับว่าดีอยู่แล้ว

นี่แหละที่เรียกว่า อุบายที่แนะนำพร่ำสอนนี่น่ะ ถ้าหากว่าใครเบื่อทุกข์ในวัฏฏสงสารจริงจังแล้วก็เอา ตั้งอกตั้งใจลง ทำความเพียรลงไปอย่าไปกลัวตาย ไม่ตายหรอก มีแต่มันจะจิตใจ หนักแน่นสงบเยือกเย็นต่อไป ใจตั้งมั่นหนักแน่นแล้ว มันก็ไม่หวั่นไหว ต่ออำนาจของความชั่วร้ายต่างๆ ที่มันกระทบกระทั่งมา จิตใจก็จะ มิได้หวั่นไหว ปัญญาก็จะเกิดขึ้นรู้เท่าทัน รู้เท่าทันสังขารทั้งภายนอก ทั้งภายในทั้งหยาบทั้งละเอียดตามความเป็นจริง เมื่อรู้เท่าแล้วก็ปล่อยวางเท่านั้นเองแหละ ไม่ใช่อย่างอื่น ที่ว่าไม่รู้เท่านั้นมันไม่ยอม ปล่อยวาง เป็นอย่างนั้น ถ้ารู้เท่าแล้วก็ต้องปล่อยวาง ถ้าปล่อยวางได้จริงจิตมันก็รวมลง

ก็ให้สังเกตเอาตรงนี้แหละการภาวนาน่ะ ถ้ามันจิตรวมลง ไม่ได้เลยอย่างนี้แสดงว่ามันปล่อยวางไม่ได้ เราก็ต้องเพียรพยายาม เพ่งพินิจไปจนให้เต็มความสามารถของตนของตน ดังแสดงมาสมควรแก่เวลาขอยุติลงเพียงเท่านี้


ที่มา : http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=8259

    ประวัติและปฏิปทาหลวงปู่เหรียญ วรลาโภ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=20708

    รวมคำสอน “หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ” วัดอรัญญบรรพต
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=43689

    ประมวลภาพ “หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ” วัดอรัญญบรรพต
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=20963                                                                                       

.....................................................

ที่มา
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=47576

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้