ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

พระคาถาพาหุง

[คัดลอกลิงก์]
11#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-23 09:44 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


     
พระคาถาพาหุง

        
บทที่ ๕
กัตวานะ กัฎฐะมุทะรัง อิวะ  คัพภินียา
จิญจายะ ทุฏฐะวะจะนัง ชะนะกายะมัชเฌ
สันเตนะ โสมะวิธินา ชิตะวา  มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ


นางจิญจมาณวิกา  (สาวิกาพวกนิครนถ์)
เอาไม้กลมๆ มาผูกท้อง ทำอาการ
ประหนึ่งว่ามีครรภ์  ใส่ร้ายพระพุทะเจ้า
ท่ามกลางฝูงชน  พระจอมมุนีทรงเอาชนะได้
ด้วยวิธีสงบระงับพระหฤทัยอันงดงาม  ด้วย
เดชแห่งชัยชนะนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน
         การผจญภัยครั้งนี้ของพระพุทะองค์เป็นเรื่องใหญ่ยิ่ง  เพราะทรงผจญกับข้อกล่าวหาเรื่อง “มารหัวขน” เรื่องของเรื่องก็มีว่า  หลังจากพระพุทะองค์ทรงประกาศพระพุทธศาสนา  ไม่นานก็มีผู้เลื่อมใสออกบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนามากขึ้น พวกอัญเดียรถีย์  (นักบวชลัทธิอื่น) ต่างก็เดือดร้อน ไปตามๆกัน
         ว่ากันว่าศาสนาที่เป็นคู่แข่งกับพระพุทธศาสนาคือศาสนาเชน  หรือลัทธินุ่งลมห่มฟ้า (ต่อมามีพวกนุ่งขาวห่มข่าวด้วย) ศาสนาเชนมีศาสดานามว่า  มหาวีระ แต่คัมภีร์พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นเล็กน้อย มหาวีระ หรือนิครนถ์นาฏบุตร  เป็นขัตติยกุมารแห่งเมืองไพศาลีออกบวช (ตำราพุทธบอกว่าเป็นบุตรนักฟ้อน)  บำเพ็ญเพียรอย่างเข้มงวดจนได้ตรัสรู้ แล้วก็เผยแพร่ศาสนามาก่อน  พระพุทะเจ้าออกประกาศพระพุทธศาสนา
         ศาสนาเชนเน้น “อัตตกิลมถานุโยค”  (การทรมานตนอย่างเข้มงวด)  เชื่อกันว่าถ้าทรมานให้ร่างกายลำบากกิเลสก็จะเหือดแห้งไปชีวิตของพระเชน  จึงไม่มีวัตถุสิ่งของในครอบครองแม้กระทั่งผ้าผ่อน ก็ไม่ต้องมี  เพราะถือว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ยึดมั่นถือมั่น
         เวลาจะเดินไหนมาไหน ก็เอาไม้กวาดกวาดนำทางก่อน แล้วค่อยๆ  ย่องๆ ดุจนกกระยาง ด้วยเกรงว่าจะเผลอเหยียบสัตว์ตาย
         เอาผ้าขาวปิดปากปิดจมูก ไม่ใช่เพื่อป้องกันมลพิษ  อย่างตำรวจจราจรเมืองไทยหากแต่กลัวว่าเวลาหายใจอาจสูดเอา จุลินทรีย์  สัตว์เล็กสัตว์น้อยเข้าไปตาย จะเป็นบาปโดยไม่รู้ตัว
         เวลากินข้าว พระเชนจะหันหน้าเข้าข้างฝาไม่ให้ใครเห็น  ไม่เช่นนั้นจะ “เสียวัตร” คือทำให้ปฏิบัติมัวหมอง
         เวลาพระเชนไปไหนมาไหน จะเดินอย่างเดียว  ปฏิเสธพาหนะทุกชนิด ถือแส้กับพัดเท่านั้นโทงเทงๆ น่าตื่นตาตื่นใจของผู้พบเห็น  ไม่แพ้นายแบบนางแบบนู๊ดของ คุณนิวัติ กรองเพียร  แต่ปัจจุบันภาพอย่างนี้หาดูได้ยากแล้ว
         พวกอัญเดียรถีย์วางแผนดิสเครดิตพระพุทธเจ้าโดยให้สาวิกาสาวสวยชื่อจิญจา  หรือ จิญจมาณวิกาไปดำเนินการ นางใช้เวลาระยะหนึ่งเข้าเดินออกพระเชตะวันมหาวิหาร

12#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-23 09:45 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
         ตอนเช้ามืดเวลาชาวเมืองเดินออกนอกเมืองทำธุรกิจการงาน  นางจิญจาก็จะเดินเข้าเมืองเมื่อเขาถามว่า “นางอยู่ที่ไหน” ก็ตอบว่า “เรื่องของข้า”  เวลาค่ำ เมื่อประชาชนต่างพากันกลับเข้าเมือง นางก็เดินออกนอกเมือง สวนทางกับพวกเขา  เมื่อพวกเขาถามว่า “นางจะไปไหน” ก็ตอบว่า “เรื่องของข้า
         ทำอย่างนี้สักระยะหนึ่ง เมื่อถูกถามบ่อย จึงตอบว่า  “ฉันอยู่วัดจ๊ะ”
         “อยู่วัด น่ะ อยู่ส่วนไหนของวัด”  ชาวบ้านซักเพราะรู้ว่าพระเชตะวันนั้นเป็นที่อยู่ของสงฆ์ล้วน
         “ก็พระพุทธเจ้าของพวกท่าน อยู่ที่ไหน ก็นั่นแหละจ๊ะ”  นางตอบยิ้มละไม
นางบอกว่า ข้านะหรือ ชื่อจิญจิ
สำนักนิ  เนานิเวศ  เขตสถาน
ร่วมกุฎิ์กับ  สัมพุทธ   วิสุทธิญาณ
โดยสถาน  ภริยา  ตถาคต
         คนเราลงหน้าด้านไม่กลัวบาปแล้ว ย่อมทำได้ทั้งนั้น  ดูนางจิญจานี้เป็นตัวอย่างแผนการของนางดำเนินไปเรื่อยๆ  เริ่มตั้งแต่สร้างความสงสัยให้เกิดขึ้นกับประชาชนทีละนิดๆ ค่อยแย้มออกมา  จนกระทั้งประกาศชัดเจนว่า ฉันนี่แหละคือคู่ชีวิตของศาสดาของพวกท่านล่ะ
         เพื่อให้สมเหตุสมผลยิ่งขึ้นเธอก็หาไม้กลมๆ  มาผูกท้องเอาผ้าพันใส่ชุดทรงกุมารให้คนรู้ว่ามีครรภ์  วันหนึ่งขณะพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมท่ามกลางประชาชนจำนวนมาก  นางจิญจามาณวิกาก็เดินอุ้ยอ้ายฝ่าฝูงชนเข้ามาทีเดียว
         “เสด็จพี่ ดีแต่เทศนาโปรดคนอื่น ทีภรรยาท้องแก่  จวนคลอดแล้วไม่เห็นไยดีเลย จะฝากท่านอนาถบิณฑิกะ หรือคุณแม้ถ้วน เอ๊ย  นางวิสาขาช่วยดูแล หรือจะทำอย่างไร ก็รีบๆ จัดการเสียเถิดค่ะ”
         เอาละซิครับ  พุทธบริษัทตกตะลึงจังงังดุจดังผีหลอกกลางวันแสกๆ พวกปุถุชนใจเบาชักไขว้เขวแล้วสิ  ส่วนพวกบัณฑิตใจหนักแน่นใคร่ครวญด้วยเหตุด้วยผลแล้วรู้ทันทีว่าเรื่องนี้น่าจะมีเลศนัยอะไรแฝงอยู่  จึงไม่ปลงใจเชื่อ
         พระพุทธองค์ประทับนั่งสงบ ตรัสเบาๆ “น้องหญิง  ที่เจ้าพูดนั้นจริงหรือเท็จ เราสองคนเท่านั้นที่รู้”
         “ใช่สิ ๆ เรื่องอย่างนี้จะให้ใครเขารู้ได้ยังไง”  นางเสริมทันที
         “แล้วเรื่องสถานที่คลอดจะว่ายังไง  จะให้ใครช่วยเป็นธุระจัดการให้เล่า เสด็จพี่” นางรบเร้า
         พระพุทะเจ้าทรงแสดงธรรมต่อ ดังหนึ่งไม่มีอะไรเกิดขึ้น  ทำให้ นางจิญจมาณวิกาโกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยง เต้นเร่าๆ อย่างลืมตัว  ว่ากันว่าขณะนั้นพระอินทร์จอมเทพ ทนดูพฤติกรรมต่ำช้าของนางไม่ได้  จึงบันดาลให้ท่อนไม้ที่ผูกท้องอยู่หลุดลงมา
         แผนการชั่วร้ายก็เลยแตก ถูกประชาชนไล่ออก จากพระเชตวัน  แผ่นดินก็ดูเหมือนจะทนไม่ได้เช่นกัน  จึงสูบร่างนางหายไปต่อหน้าต่อตาประชาชนจำนวนมาก
         ตรงนี้ถ้าแปลความธรรมดาๆ  ก็คือนางถูกประชาชนไล่กระทืบตายคาเท้านั่นเองมนุษย์อุบาทว์จัญไรอย่างนี้  เทวดาฟ้าดินไม่ยอมให้ตายดีดอกครับ
         หลังจากสาวิกาคนสวยตายไปแล้ว พวกอัญเดียรถีย์ก็ไม่เข็ด  วางแผนกำจัดพระพุทะองค์อีก โดยจ้างนักเลงฆ่าสาวิกาของพวกตนชื่อนางสุนทรี  แล้วเอาศพไปทิ้งไว้หน้าพระเชตวัน ทำนองให้เข้าใจว่าพระพุทธเจ้าและสาวกเป็นคนฆ่า
         ต่อมาพวกโจรที่ถูกจับได้ซัดไปยังผู้บงการผู้บงการ คือ  อัญเดียรถีย์ระดับนำ เลยต้องรับอาญาบ้านเมืองไปตามระเบียบ

ที่มา http://www.dhammajak.net/chaiya/7.html

13#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-23 09:46 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


     
พระคาถาพาหุง

        
บทที่ ๖
สัจจัง วิหายะ  มะติสัจจะกะวาทะเกตุง
วาทาภิโรปิตะมะนัง อะติอันธะภูตัง
ปัญญาปะทีปะชะลิโต  ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ
สัจจกนิครนถ์ผู้ถือตัวว่าฉลาด
เป็นนักโต้วาทะชั้นยอด  สละเสียซึ่งสัจจะ
ตั้งใจมาได้วาทะหักล้างพระพุทธองค์ เป็นคน
มืดบอดยิ่งนัก  พระจอมมุนีผู้สว่างจ้าด้วย
“แสงปัญญา” ทรงเอาชนะได้ ด้วยเดชแห่ง
ชัยชนะนั้น  ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน
          การชนะครั้งนี้เป็นการชนะด้วยวาทะเป็นเรื่องของการใช้ปัญญา  หักล้างกันด้วยเหตุด้วยผลแท้จริง ดังได้เคยกล่าวมาบ้างแล้วว่า
          ศาสนาที่เป็นคู่แข่งกับพระพุทธศาสนา  ที่คัมภีร์พระพุทธศาสนาบันทึกไว้คือศาสนาเชน ของมหาวีระ  สาวกระดับนำของศาสนานี้มักจะหาทางเอาชนะพระพุทธองค์ทุกคน ไม่ว่าสีหเสนาบดี  หรืออุบาลีคหบดีทำเอามหาวีระ (นิครนถ์นาฏบุตร) กระอักโลหิตมาแล้ว
          สัจจกะนิครนถ์คนนี้ก็เป็น “มือวางอันดับหนึ่ง”  ของลัทธิเชน เทียบกับสมัยนี้ก็คือนักวิชาการ “แสนรู้”  ที่คิดว่าตนรู้มากกว่าใครในหล้าคนอื่นโง่ไปหมด อะไรทำนองนั้นสัจจกะแกจบไตรเพท  จบปรัชญาชั้นสูง เป็นผู้ถึงสุดยอดแห่งวิชาการศาสนาของตนแล้ว  แกจึงภาคภูมิใจในความเป็นผู้รู้ของตน แกจะเอาเข็มขัดเหล็กมาคาดพุงไว้  ดังหนึ่งคนเป็นโรคปวดหลังเอาสเตย์ ( Stay ) รัดพุงยังไงยังงั้น  แกคงคิดว่าพุงเป็นที่เก็บสติปัญญาอันล้ำเลิศกระมัง  จึงรัดเข็มขัดเหล็กเส้นเบ้อเร่อไว้กันสติปัญญาหล่นหาย
          คิดเอาก็แล้วกัน คนที่คิดว่าสติปัญญาอยู่ที่พุง  จะเป็นคนฉลาดได้อย่างไร ที่แท้ก็คนโง่อวดฉลาดนั่นเอง  เพราะเหตุนี้แหละคาถาพาหุงจึงจึงบรรยายลักษณะ ของสัจจกะว่า อติอันธภูตัง  (คนมือบอดอย่างยิ่ง โง่งมงายอย่างยิ่ง)
          สัจจกะรู้ว่าพระพุทะเจ้ามีคนเคารพนับถือมาก  มีผู้เลื่อมใสศรัทธามาบวชเป็นสาวกจำนวนมาก รวมทั้งเพื่อนร่วมศาสนาของตนหลายคนด้วย  ก็ร้อนใจว่า ถ้าปล่อยให้สถานการณ์เป็นอยู่อย่างนี้ ไม่ช้าศาสนิกของศาสนาตนก็ร่อยหรอ  พระเชนทั้งหลายก็จะถูกดับรัศมี ดังหนึ่งหิ่งห้อยท่ามกลางแสงจันทร์ฉะนั้น  จึงอาสาไปโต้วาทะกับพระพุทะองค์ให้รู้ดำรู้แดงกันเสียที

14#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-23 09:46 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
          เข้าใจว่า การประกาศโต้วาทะกับพระพุทะเจ้าครั้งนี้  คงได้รับฉันทานุมัติจากมหาวีระ (นิครนถ์นาฎบุตร)  เป็นที่เรียบร้อยแล้วมีข้อสังเกตอย่างหนึ่งมหาวีระไม่เคยออกมาเผชิญหน้ากับพระพุทะองค์เลย  หลบเลี่ยงตลอดส่งแต่สาวกมือดีมาโต้ ที่เป็นเช่นนี้ สันนิษฐานได้ ๒ ประการคือ
          - มหาวีระอาจถือว่าตนเป็นศาสดา อาวุโสดีกว่า  เก่งกว่าพระพุทะเจ้าก็ได้ จึงไม่ยอม “ลดตัว” ลงมาหาพระพุทธเจ้า  (คนเรามีสิทธิ์คิดนะครับ มณฑก (คางคก) ยังทำ “เทียบท้าวราชสีห์” หรือหมูยัง  “เห็นสีหราชท้าชวนรบ” ได้นี่ครับ  แล้วทำไมศาสดามหาวีระจะไม่มีสิทธิ์คิดว่าตนเก่งกว่าพระพุทธเจ้าเล่า)

          -  มหาวีระคงรู้ตัวว่าตนเองสู้พระพุทธเจ้าไม่ได้ ถ้าหากมาโต้วาทะกับพระพุทธเจ้าแล้วแพ้  ตนจะเอาหน้าไปไว้ไหน สาวกทั้งหลายอาจเลื่อมศรัทธาหมด ทางที่ดีก็เลี่ยงๆ  ไว้ก่อนเป็นดีที่สุด
          จะด้วยสาเหตุใดก็ตาม  เป็นอันว่าศาสดาของสองศาสนานี้ ไม่เคยเผชิญหน้ากันเลยมีแต่ สาวกมือดีอย่าง  สัจจกะนิครนถ์นี้แหละกำแหงมาตอแยพระพุทธเจ้า
          เข้าใจว่าเรื่อง  สัจจกะนิครนถ์ประกาศจะโต้วาทะหักล้างพระพุทะองค์คงเป็นข่าวใหญ่ ถ้าเป็นสมัยนี้ ก็  คงลงข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์ยักษ์แทบทุกฉบับ ทีวีแทบทุกช่อง วิทยุแทบทุกคลื่น  เสนอข่าวกันครึกโครมเป็นที่รับรู้กันทั่วไป ชาวชมพูทวีปสมัยโน้น  เป็นคนชอบแสวงหาสติปัญญาแสวงหาแนวทางดำเนินชีวิตที่ถูกต้องดีงามสำหรับตน  เรื่องประเทืองปัญญาอย่างนี้ คงไม่พลาดแน่ๆ
          วันแห่งการรอคอยก็มาถึง  ขณะนั้นพระพุทธเจ้าประทับอยู่ทีป่ามหาวัน นอกเมืองไพสาลี แห่งแคว้นวัชชี  พร้อมภิกษุสงฆ์จำนวนมาก ป่ามหาวันนี้เป็นที่สงบสงัด  พระพุทะองค์มักเสด็จมาประทับเสมอ พวกกษัตริย์ลิจฉวี  เมื่อทราบว่าพระพุทะองค์เสด็จมาประทับที่นี่ ก็มักจะพากันมาเฝ้าฟังธรรมมิได้ขาด
          มหาชนจำนวนมากได้ติดตามสัจจกะนิครนถ์ไปป่ามหาวัน  เพื่อฟังการโต้วาทะระหว่างพระพุทธเจ้ากับสัจจกะนิครนถ์  ป่ามหาวันอันกว้างใหญ่ไพศาลก็ถึงกับคับแคบลงมาถนัดตาเพราะเต็มไปด้วย “แขกมุง”  ผู้อยากรู้อยากเห็นทั้งหลาย
          เนื้อหาที่โต้กันนั้นมีบันทึกไว้ในจูฬสัจจกสูตร  และมหาสัจจกสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒เกี่ยวกับเรื่อง อัตตา (ตัวตน) และ อนัตตา  (มิใช่ตัวตน, ไม่มีตัวตน) และเรื่องเกี่ยวกับการฝึกฝนกายและจิต
          เฉพาะในเรื่องอัตตาและอนัตตานั้นสัจจกะนิครนถ์เชื่อมั่นว่า  มี “อัตตา” (ตัวตน) และอัตตาตัวนี้เป็นภาวะ “สัมบูรณ์” หรือ Absolute  ไม่เปลี่ยนแปลง ในขณะที่พระพุทะเจ้าตรัสอธิบายว่า ขันธ์ ๕ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร  วิญญาณ) เป็น “อนัตตา” (มิใช่ ตัวตนและไม่มีตัวตน)
          การอธิบายของพระพุทธองค์ทรงใช้วิธีถามให้สัจจกะตอบ  ค่อยตะล่อมเข้าหาจุด เช่นตรัสถามว่า  “กษัตริย์ย่อมมีอำนาจในการสั่งริบทรัพย์สั่งจองจำ สั่งฆ่าผู้ที่มีความผิดใช่หรือไม่  (ใช่) กษัตริย์ทีมีอำนาจเด็ดขาดเช่นนี้ จะสั่งให้รูป (หนึ่งในขันธ์ ๕) ว่า  จงเป็นอย่างนี้อย่าเป็นอย่างนั้นได้ไหม (ไม่ได้) สั่งให้เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ  จงเป็นอย่างนี้ อย่าเป็นอย่างนั้นได้ไหม (ไม่ได้)”
          ทรงถามไปทีละข้อๆ อย่างนี้ สัจจกะก็ยอมรับว่า  ไม่มีอำนาจให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้แล้วพระองค์ก็ตรัสสรุปว่า ที่ท่านว่าขันธ์ ๕  เป็น “ตัวตน” นั้นผิดแล้ว เพราะถ้ามันเป็นตัวตนของเราจริง เราก็น่าจะบังคับบัญชามัน  และสั่งให้มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ได้ ความจริงขันธ์ ๕ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร  วิญญาณ) ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน และไม่มีตัวตน
          สัจจกะจำนนด้วยเหตุผล ยอมรับว่าตนเข้าใจผิด  คัมภีร์บันทึกว่าสัจจกะนิครนถ์ ผู้ถือตนว่าฉลาด  ถูกพระพุทะเจ้าปราบสิ้นพยศนั่งจ๋องดุจปูถูกหัก “ก้าม” และ “กรรเชียง”  คลานกลับสู่สระน้ำไม่ได้ ฉันใดก็ฉันนั้น
          สัจจกะ นิมนต์พระพุทธเจ้าไปเสวยภัตตาหาร  ที่บ้านของตนและประกาศตนเป็นสาวกของพระพุทธองค์แต่ บัดนั้น

ที่มา
http://www.dhammajak.net/chaiya/8.html

15#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-23 09:47 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


     
พระคาถาพาหุง

        
บทที่ ๗
นันโทปะนันทะภุชะคัง วิพุธัง  มะหิทธิง
ปุตเตนะ เถระภุชะเคนะ ทะมาปะยันโต
อิทธูปะเทสะวิธินา ชิตะวา  มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ
พญานาค ชื่อนันโทปนันทะ ผู้มี
ความรู้ผิดมีฤทธิ์มาก พระจอมมุนี  ทรงมี
พุทธบัญชาให้พระโมคคัลลานะพุทธโอรส  ไป
ปราบด้วยวิธีแสดงฤทธิ์ที่เหนือกว่า ด้วยเดช
แห่งชัยชนะนั้น ขอชัยมงคล  จงมีแก่ท่าน
          คราวนี้ทรงเอาชนะพญานาคราช ซึ่งพอเอ่ยคำว่า  “นาค” ก็นึกไปถึงพญางูใหญ่ ที่มีพิษร้ายขึ้นมาทันที  งูใหญ่มันมาทำอะไรให้จึงต้องปราบ ก็เป็นปัญหาคาใจผู้ศึกษาพระพุทะศาสนาไม่น้อย ฤาว่า  “นาค” ในที่นี้มีนัยสำคัญอย่างยิ่ง มิได้แปลตามตัวอักษร เรื่องนี้ค่อยว่ากันตอนท้าย  ตอนนี้ขอเล่าประวัติความเป็นมาก่อนแล้วกัน
          ว่ากันว่า  สมัยหนึ่งพระพุทะเจ้าพร้อมภิกษุสงฆ์จำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นพระอรหันต์ทรงอภิญญาล้วน  เสด็จไปโดยนภากาศด้วยอำนาจอิทธิปาฏิหาริย์แห่งฌานสมาบัติ  จนลุถึงถิ่นที่อยู่แห่งพญานาคนามว่า นันโทปนันทะ
          นันโทปนันทะ  และบริวารกำลังพักผ่อนสำเริงสำราญอยู่ในสถานที่อยู่ของตน  เห็นพระพุทะองค์พร้อมภิกษุจำนวนมาก เหาะข้ามศรีษะ ของตนก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ
          “สมณะโล้นพวกนี้ถือดีว่ามีอิทธิฤทธิ์เหาะเหินเดินหาวได้  เหาะข้ามศรีษะเรา ปล่อยผงธุลีจากเท้าหล่นต้องศรีษะเรา เดี๋ยวจะเห็นดีกัน”
          ว่าแล้วแกก็ใช้อิทธิฤทธิ์บันดาลให้เกิดหมอกควันมืดฟ้ามัวดิน  ดุจดังกลุ่มหมอกควันพิษจากไฟป่าอินโดนีเซีย อะไรทำนองนั้นแหละครับ

16#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-23 09:48 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
          พระเถระนามว่า รัฐปาละ  พระอรหันต์ทรงอภิญญารูปหนึ่ง กราบทูลอาสาไปปราบพญานาคอันธพาลตัวนี้  พระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาต ตรัสว่า
          “หน้าที่นี้เป็นของโมคคัลลานะ  บุตรตถาคตอยู่แล้ว เธอจะรู้เองว่าควรทำอย่างไร”
          พระโมคคัลลานะ ทราบว่า  พระพุทธองค์มีพุทธประสงค์ให้ท่านไปปราบพญานาค จึงนิรมิตกายเป็นพญานาค เหมือนกัน  แต่รูปร่างใหญ่และยาวกว่านันโทปนันทะหนึ่งเท่า  รัดร่างนันโทปนันทะกับเขาพระสุเมรุ
          พญานาคจะดิ้นอย่างไร ก็ไม่หลุด  ยิ่งดิ้นยิ่งถูกรัดแน่นเข้าๆ จนในที่สุดต้องยอมแพ้แต่โดยดี  จำแลงกายเป็นมาณพน้อยรูปหล่อ (พ่อรวยหรือไม่ ไม่แจ้ง)  ยืนประคองอัญชลีนมัสการพระเถระเจ้า ขอถวายตนเป็นศิษย์
          พระเถระพามาณพน้อยไปเฝ้าพระพุทธเจ้า  พระองค์ทรงประทานพระโอวาท ให้นันโทปนันทะ เว้นขาดจากปาณาติบาต  ดำรงตนอยู่ในศีลอย่างเคร่งครัดแต่บัดนั้นมา
          การเอาชนะพญานาคราชผู้มีฤทธิ์ครั้งนี้  พระพุทธองค์มิได้ทรงแสดงฤทธิ์ปราบเอง  หากทรงมีพุทะบัญชาให้พระอัครสาวกเบื้องซ้ายคือพระโมคคัลลานะไปปราบแทน  ซึ่งก็มีหลายครั้ง เมื่อเกิดเหตุการณ์คล้ายกันนี้  ผู้ที่รับพุทธบัญชาไปดำเนินการปราบจนสำเร็จมักจะเป็นพระเถระรูปนี้  เนื่องจากท่านเป็นพระเถระที่ได้รับยกย่องว่าเป็นผู้มีฤทธิ์มาก
          คำว่า “ปราบ”  ในความหมายนี้มิได้หมายถึง การประหัตประหารให้ตกตายไปข้างหนึ่งตามความหมายทั่วไป  หมายถึงการ “ทรมาน” ให้สิ้นพยศ ก็อีกแหละ คำว่า “ทรมาน” ในที่นี้  หมายถึง “การข่ม การทำให้สิ้นพยศ หรือให้ละทิ้งความเห็นผิด หันมาเห็นถูกต้อง”
          ที่นี้มาถึงคำว่า “นาค” คืออะไร  ผมใคร่กราบเรียนท่านผู้อ่านดังนี้ครับ
          - ถ้าเราแปลตามตัวอักษร นาคก็คือนาค นาคก็คืองูใหญ่  นาคมีสองประเภทคือนาคที่มีฤทธิ์ กับนาคไม่มีฤทธิ์  ประเภทที่มีฤทธิ์นั้นสามารถแปลงเป็นคนได้  และร่างคนนั้นจะคงอยู่ได้ตราบเท่าที่แกยังมีสติควบคุมต่อเมื่อขาดสติควบคุม  เช่นเวลานอนหลับร่างจะกลับเป็นนาคเหมือนเดิมทันที  ดังกรณีนาคที่แปลงเป็นคนมาบวชในพระพุทธศาสนาที่เล่าไว้ในพระวินัยปิฎกนั้นแล
          ถ้าเชื่อว่าพระโมคคัลลานะไปปราบนาค  ก็คือไปปราบนาคประเภทมีฤทธิ์นี้ ก็มีสิทธิเชื่อได้ไม่เสียหายอะไร เพราะมีข้อมูล  หรือข้อเท็จจริงยืนยัน

ที่มา http://www.dhammajak.net/chaiya/9.html

17#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-23 09:48 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


   
พระคาถาพาหุง
        
บทที่ ๘,๙
ทุคคาหะทิฏฐิภุชะเคนะ  สุทัฏฐะหัตถัง
พรัหมัง วิสุทธิชุติมิทธิพะกาภิธานัง
ญาณาคะเทนะ วิธินา ชิตะวา  มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุเต ชะยะมังคะลานิ


พรหมชื่อพกะ  (ถือตัวว่า) มีความ
บริสุทธิ์ รุ่งเรืองและมีฤทธิ์  
ยึดมั่นในความเห็นผิด
ดุจมีมือถูกอสรพิษขบเอา

เอตาปิ พุทธะชะยะมังคะละอัฏฐะคาถา
โย วาจะโน ทินะทิเน สะระเต  มะตันที
หิตวานะเนกะวิวิธานิ จุปัททะวานิ
โมกขัง สุขัง อะธิคะเมยยะ นะโร  สะปัญโญ
คนมีปัญญาสวดพุทธชัยมงคล
คาถาทั้ง ๘ นี้เป็นประจำ  โดยไม่เกียจคร้าน
พึงขจัดอุปัทวันตรายทั้งหลายได้  บรรลุถึงซึ่ง
พระนิพพานอันเป็นสุข
          บทที่ ๘ นี้เป็นบทสุดท้ายของพระคาถาพาหุง  ส่วนบทที่๙ เป็นคำสรุปตบท้าย ความว่า

            คำแปลอาจฟังยากไปนิด ความหมายเป็นการเปรียบเทียบ คือ  เปรียบเทียบความเห็นผิดเหมือนอสรพิษร้าย พกะพรหมแกยึดมั่นในความเห็นผิด  เรียกว่าเป็นคนอยู่ในภาวะอันตราย ดุจจับงูพิษ  แล้วถูกมันขบเอาไม่ตายก็คางเหลืองอะไรทำนองนั้น
          พระพุทธองค์ทรงรักษาพิษงู (ความเห็นผิด) ด้วยใช้ยาวิเศษ  คือญาณ (ความหยั่งรู้ความจริง) แล้วในที่สุดพกะพรหม แกก็รอดตาย แปลให้ฟังง่ายๆ  ดังนี้ก็แล้วกัน ภาษาพระมันยากอย่างนี้แหละ ท่านสารวัตร  อีกอย่างหนึ่งท่านประพันธ์เป็นบทกวีด้วย ก็ต้องถอดความกันหลายชั้นหน่อย
          ดุจดังบทกวีว่า  “สามวันจากนารีเป็นอื่น” ไม่รู้ว่านารีเป็นอื่น หรือชายเป็นอื่น  เที่ยวโทษกันให้วุ่น
          เรื่องมีอยู่ว่า พรหมชื่อ พกะ อยู่ในพรหมโลกเป็นเวลานาน  นานเสียจนแกเกิดความเข้าใจผิดว่า สรรพสิ่งเที่ยงแท้ไม่แปรผัน  เป็นมาอย่างไรก็เป็นอยู่อย่างนั้นชั่วนิรันดรที่แกคิดเช่นนี้เพราะแกก็อยู่มานานมาก  ไม่เห็นเป็นอย่างอื่นเลย ความเข้าในผิดอย่างนี้เรียกว่า “สัสตทิฐิ”  (เห็นว่าสรรพสิ่งเป็นนิรันดร)
          ไม่ต้องอธิบายในเชิงปรัชญาให้เข้าใจยากเอาใกล้ๆ  ตัวเรานี่แหละ นักการเมืองที่อยู่ในตำแหน่งใหญ่โตมานานจนนึกว่า  ประเทศชาติเป็นของตนคนเดียว ไม่มีตนแล้ว ประเทศชาติคงอยู่ไม่ได้  จึงพยายามทุกวิถีทาง จะให้ตนอยู่ในตำแหน่งนั้นนานๆ เกาะเก้าอี้แน่นยิ่งกว่าตุ๊กแก  เพราะแกคิดว่า สิ้นแกแล้วประเทศจะสลาย หารู้ไม่ว่า  ยิ่งแกอยู่นานประเทศยิ่งล่มจมเร็วขึ้น
          คนที่คิดอย่างนี้  ย่อมยากจะเข้าใจหลักไตรลักษณ์ยากจะบรรลุสัจธรรม เพราะฉะนั้นพระคาถาจึงเปรียบเทียบ  พกะพรหมผู้มีมิจฉาทิฐิชนิดนี้  เหมือนคนถูกงูพิษกัดที่มือไม่รีบรักษาอาจถึงแก่ชีวิตทันที

18#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-23 09:49 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
          พระพุทธเจ้า เสด็จไปเทศน์ โปรดพกะพรหม  ให้คลายความเห็นผิดนี้เสีย แต่กว่าจะเอาแกอยู่ก็ต้องออกกำลังพอสมควร  พกะพรหมท้าพระพุทธเจ้าแสดงฤทธิ์หายตัว พระพุทะองค์ทรงรับคำท้า  และแล้วการประลองฤทธิ์ก็เกิดขึ้น (แน่ะ พูดยังกับหนังกำลังภายใน)
          ไม่ว่า พกะพรหมจะหายไปซ่อนตัวอยู่ที่ไหน  พระพุทธองค์ทรงหายพระองค์บ้าง พกะพรหมก็หมดปัญญาค้นหา  ท้ายสุดเมื่อแกยอมแพ้พระพุทธองค์ก็เสด็จออกมาจากมวยผมแก
          เรื่องก็จบแค่นี้ แต่  ก็ยังไม่จบก็คือผู้อ่านอาจตีความตามตัวอักษรก็ได้ พรหมก็พรหมจริงๆ อยู่โน่น  บนพรหมโลกโน่น เชื่ออย่างนี้ไม่ผิดดอก เพราะมีหลักฐานยืนยันในพระคัมภีร์ว่า  พรหมมีจริง ใครไม่เชื่อ ก็ฟังเอาไว้อย่าลบหลู่ (วลีนี้กำลังฮิตในปัจจุบัน)
          แต่ถ้าจะตีความตามภาษาธรรมก็ได้  พกะพรหมเป็นสัญลักษณ์ของคนโง่ คนที่มีความเห็นผิดไม่เข้าใจหลักไตรลักษณ์  คนที่โง่แล้วยังหยิ่งน่าหยิกอีกต่างหาก คนประเภทนี้ยากจะสอนให้สละความเห็นผิดได้  แะลการสามารถสอนคนโง่แกมหยิ่งให้คลายความเห็นผิดนั้น มิใช่เรื่องง่าย  เป็นเรื่องใหญ่ พอๆ กับเอาชนะ “พรหม”  ซึ่งชาวโลกสมัยนั้นเชื่อกันว่าเป็นเทพผู้ยิ่งใหญ่
          การหายตัวแล้วยังหาพบอยู่ (แบบพกะพรหม) แสดงว่า  ตราบใดที่ยังละตัณหา มานะ ทิฐิ ไม่หมด ละได้บ้าง ไม่ได้บ้าง  ก็ยังไม่เข้าถึงที่สุดแห่งทุกข์ ส่วนการหายตัวแล้วหาอย่างไรก็ไม่พบ  (แบบพระพุทธเจ้า) นั่นแหละคือการถึงที่สุดแห่งทุกข์โดยสิ้นเชิง
          และการที่พระพุทธเจ้าเสด็จออกมาจากมวยผมพรหม  เท่ากับเป็นสัญลักษณ์ให้รู้ว่า  พระองค์ทรงเอาชนะได้ในทางปัญญาทรงสอนให้คนโง่แกมหยิ่งหัดใช้ “สมอง”  คิดให้เข้าใจธรรมดาของสังขารทั้งหลายเสียบ้างแล้วจะเข้าถึงสัจธรรมอันสูงสุด
          แล้วแต่ท่านจะตีความเอาเถอะครับอย่างไรก็ได้  ขอเพียงอย่าให้ขัดกับหลักการของพระพุทะศาสนาเป็นใช้ได้
          คาถาสรุปนั้นท่านย้ำว่าใครก็ตามที่สวดคาถาพาหุงเป็นประจำ  จะพ้นจากภยันตรายทั้งปวง และบรรลุพระนิพพานได้  (นี่ย่อมหมายถึงสวดแล้วดำเนินตามรอยยุคลบาทของพระศาสดา  ในเรื่องการเอาชนะความชั่วร้ายทั้งปวงด้วย)
          ท้ายนี้ขอเล่าเกร็ดเกี่ยวกับคาถาพาหุงสักเรื่อง  ท่านศาสตราจารย์เสฐียร พันธรังษี สมัยยังเป็นนักหนังสือพิมพ์ ท่านได้รับเชิญ  จากรัฐบาลนัสเซอร์ แห่งอียิปต์ ทำอย่างไรไม่ทราบท่านทำหนังสือเดินทางหาย  ท่านนั่งสวดคาถาพาหุงกลับมาไม่ทราบกี่เที่ยว  จนเครื่องบินลงสนามบินประเทศอียิปต์
          ท่านรอให้คนอื่นเดินออกไปก่อน ตนเองยืนอยู่ท้ายเขา  พลางสวดคาถาและภาวนาขอให้เข้าเมืองได้  เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองก็ประทับตราคนนั้นคนนี้จนเหนื่อย  พอมาถึงท่านท่านร้องดังๆ ว่า “ฉันเป็นแขกนัสเซอร์” เขาตอบว่า “แขกท่านนัสเซอร์เรอะ  เชิญเลย” ตกลงไม่ต้องดูพาสปอร์ตกันเลย ท่านว่านี้คือความมหัศจรรย์ของคาถาพาหุง  ความข้างต้นนี้ผมได้รับฟังมาจากท่านอาจารย์เสฐียรฯ โดยตรงเลยนำมาเล่าให้ฟัง  ไม่ใช่เพื่อเชื่อ แต่เพื่อฟังไว้เป็นข้อพิจารณา
          ไม่เชื่ออย่าลบหลู่  เขาเตือนกันอย่างนี้มิใช่หรือครับ

ที่มา http://www.dhammajak.net/chaiya/10.html

19#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-23 09:53 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
อานิสงส์ของการสวดพระชัยมงคลคาถา และพุทธคุณ                                                                       

ที่มาของบทสวดมนต์ชัยมงคลคาถา อาตมาได้ตำราเก่าแก่ครั้งกรุงศรีอยุธยา  เป็นใบลานทองคำจารึกของ "สมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว"  ปัจจุบันเรียกว่า วัดใหญ่ชัยมงคล อยุธยา  ได้รจนาถวายพระพรชัยมงคลคาถาแด่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช  สมเด็จพระพนรัตน์เป็นอาจารย์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
อานิสงส์ของบทสวดมนต์ชัยมงคลคาถา  หรือพาหุงมหากาฯ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชไม่เคยแพ้ทัพ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี  เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ไม่เคยแพ้ทัพ พระชัยหลังช้างของ ร.๑  นั้นมาจากบทพาหุงมหากาฯ
ผู้ใดสวดมนต์ชัยมงคลคาถา หรือพาหุงมหากาฯ  เป็นประจำทุก ๆ วันแล้ว มีแต่ชัยชนะทุกประการ เรียนหนังสือก็เกิดปัญญา  มีแต่ความเก่งกล้าสามารถ ผู้ใดสวดทุกเช้าค่ำ คิดสิ่งใดที่ดีเป็นมงคล  จะสมความปรารถนาทุกประการ
ปฐมเหตุ  ต้นพุทราในพระราชวังโบราณอยุธยา
ขอฝาก พ.อ.ทองคำ ศรีโยธิน  ไว้ด้วยว่าคัมภีร์ใบลานทองคำจารึกบทสวดมนต์ชัยมงคลคาถานั้น  อาตมาให้สัญญาสมเด็จพระพนรัตน์มาจะไม่ให้ใครดู ถ้าไปให้ใครดู อาตมาก็สิ้นชีวีแน่ ๆ  เหมือนอาจารย์ปถัมภ์ เรียนเมฆ  ที่ให้อาตมาเล่าเรื่องพระในป่าให้ฟัง
อาตมาบอกว่า ถ้าเล่าแล้วอาจารย์ต้องตายนะ  เขาบอกว่าตายให้ตาย เพราะพระในป่าบอกว่า ตายไปแล้ว ๓ เดือนจะฟื้น  และบอกว่าวันนี้จะมาสาวไส้หลวงพ่อวัดอัมพวันให้หมด
เลยบอกว่า เอ้าตกลง โยมต้องตายนะ  เลยเล่าเหตุการณ์ให้ฟังที่ร้านก๋วยเตี๋ยวปากบาง เขาอัดเทปไว้ ๕-๖ ม้วน ถ่ายรูปด้วย  ขณะเล่ามีงูใหญ่โผล่ขึ้นมา ไม่มีรู หลานเขยจะตี ก็ห้ามไว้  ก็นึกว่าอาจารย์ปถัมภ์ต้องตายแน่
พอเล่าเหตุการณ์เรียบร้อย  อาจารย์ปถัมภ์เอาพระเกศพระที่หล่อที่หอประชุมภาวนา-กรศรีทิพา  มาขอถ่ายกลับไปเทปก็ไม่ติด รูปก็ถ่ายไม่ติด อาจารย์ปถัมภ์ก็แน่นที่หัวใจ  รุ่งเช้าถึงแก่กรรม
ภรรยาอาจารย์ปถัมภ์ มาถามอาตมาว่า  อาจารย์ปถัมภ์ จะฟื้นหลัง ๓ เดือนแล้วจริงหรือไม่ อาตมาบอกว่าโยมไปดูเสียให้ดี  เลือดออกทาง หู ตา ปาก หรือเปล่า ถ้าออกแล้วไม่มีฟื้น ถ้าทวาร ๙  เปิดไม่มีฟื้นนะ
แต่คนที่ฟื้นแบบ พ.อ.เสนาะ ไม่ใช่ตายนะ  แค่สลบไป หัวใจยังเต้นทำงานอยู่ ฟื้นได้ ถ้าขาดใจตาย  ไม่มีลมวิญญาณออกไปแล้วไม่มีกลับมา เลยอาจารย์ปถัมภ์ถึงแก่ความตาย  ถ้าอาตมาไม่ได้รับสัญญามา จะให้คุณโยมทองคำดูให้ได้
อย่าลืมนะเขาขึ้นไปยอดเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคลกัน อาตมาโดดลงบ่อ  ถ้าขึ้นไม่ได้ก็ขอตายที่นี่ ที่สมเด็จพระพนรัตน์ท่านมาเข้าฝันบอก  และได้ตามนั้นด้วย
อาตมาถึงยืนยันว่า พระสงฆ์ไทยเรานี้  มีความรู้ในพระพุทธศาสนาลึกซึ้ง กรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี  พระอุบาลีที่ไปประกาศศาสนาที่ประเทศศรีลังกา ท่านแปลพระไตรปิฎกจบ สมเด็จพระพนรัตน์  วัดป่าแก้ว ท่านเป็นผู้รจนาฉันท์บาลีว่าด้วยชัยชนะของพระพุทธเจ้า ๘ บทที่เรียก  พาหุงมหากาฯ ขึ้นมา ถวายพระพรชัยมงคลแด่สมเด็จพระนเรศวร
อาตมาจึงให้เขาสวดมนต์บท “พาหุงมหากาฯ”  เป็นประจำ ถ้าเด็กมีศรัทธาสวด สอบได้ที่หนึ่งเลย ถ้าสวดไปซังกะตาย ไม่มีศรัทธาสวด  รับรองไม่ได้ผล
บท “พาหุงมหากาฯ”  เป็นจารึกของสมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว เอาประวัติที่พระพุทธเจ้าผจญมาร  มารจนาขึ้น แล้วท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ เอาไปเผยแผ่ที่ประเทศศรีลังกา  จนได้รับยกย่องมาจนทุกวันนี้



สาธุครับ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้