ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 10206
ตอบกลับ: 37
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

พระคาถาพาหุง

[คัดลอกลิงก์]
พระคาถาพาหุง




     
พระคาถาพาหุง

        
คำนำ
           ปัจจุบันมีเหตุการณ์ไม่สงบเกิดขึ้นในโลกทำให้ประชาชนต่างเกิดความวิตกกังวล  และกลัวภยันตรายจะมาถึงตัวเอง  ทำให้เสียขวัญและหมดกำลังใจในการดำเนินชีวิต

          การสวดมนต์  ถือเป็นทางออกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของไทย  และเป็นกิจวัตรประจำวันของชาวพุทธเพื่อระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย  และบำเพ็ญสมาธิไปพร้อมกัน ดังข้อความที่ปรากฏใน วิมุตตายนสูตร ว่า

           “บางคนหมั่นสวดมนต์หรือสาธยายข้อธรรมที่ได้เรียนมา  และขณะที่สวดมนต์ด้วยจิตเป็นสมาธินั้น  เขาน้อมข้อธรรมมาปฏิบัติจนบรรลุถึงความพ้นทุกข์ได้”
อง. ปญ์จก. ๒๒/๒๖/๒๒
ความนำ
          ในคราวประชุมอนุกรรมการในคณะกรรมการจัดงานเฉลิมฉลองพระชนมายุครบ  ๘๔ พรรษา ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งกำหนดใน  วันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ มีการเสนอให้สวดมนต์ถวายพระพร ทางฝ่ายสงฆ์กำหนดจะ  สวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร  ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติเมื่อมีงานทำบุญอายุของผู้ใหญ่ฝ่ายคฤหัสถ์จะระดม  (คำนี้น่าจะเหมาะกว่ารณรงค์) ให้มีการทำวัตรสวดมนต์  บทสวดบทหนึ่งที่คิดว่าควรสวดต่อท้ายทำวัตรเช้า – เย็น ก็คือ พาหุง ว่ากันอย่างนั้น  พาหุง คือ บทสวดว่าด้วยชัยชนะ ๘ ประการของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  พระองค์ทรงผจญกับผู้ที่ไม่ประสงค์ดี ทั้งมนุษย์และอมนุษย์ แต่พระองค์  ก็ทรงเอาชนะได้อย่างราบคาบ วิธีการชนะของพระพุทะองค์เป็นชัยชนะที่ถูกต้องชอบธรรม  ทรงใช้ ธรรมาวุธ มิใช่ศาสตราวุธ

          บางท่านปรารภว่า  บทสวดมนต์น่าจะสวดเป็นภาษาไทย จะได้ฟังรู้เรื่อง หลายท่านก็ว่า  สวดเป็นบาลีน่ะดีแล้วจะได้ “ขลัง” ถ้าอยากรู้ว่าที่สวดๆ นั้นหมายความอย่างไร  ก็ให้ไปหาอ่านเอาเอง จะดีกว่า

         ถามว่า “จะหาอ่านที่ไหนล่ะ”  นั่นสิครับ

         ความจริง มีหนังสือสวดมนต์แปลฉบับหลวงเล่มหนึ่ง  แต่ไม่ได้พิมพ์แพร่หลาย และ สำนวนแปลก็ต้อง “แปลไทยเป็นไทย” อีกที  จึงพออ่านรู้เรื่องสำหรับชาวบ้านทั่วไป

         เรื่องทำนองนี้  มิใช่เพิ่งจะมาคิดกันหลายต่อหลายท่านคิดกันมาแล้ว  ขณะที่พวกเรากำลังนั่งฟังพระเจริญพระพุทะมนต์อยู่นั้น คุณขรรค์ชัย บุนปาน  หันมากระซิบกับผมว่า “หลวงพี่น่าจะแปลบทสวดเหล่านี้ให้คนอ่านนะ  จะได้รู้ว่าพระท่านสวดว่าอย่างไรบ้าง เอาตั้งแต่เริ่มพิธีจนจบเลย”  ผมก็พยักหน้าตอบว่า “ก็ดีเหมือนกัน ว่างๆ จะขยับเสียที”

          จนป่านนี้  ผม ก็ ยังไม่มีโอกาสขยับ เมื่อยังไม่ถึงขั้นนั้น  วันนี้ขอแปลคาถาพาหุงและให้อรรถาธิบายประกอบมาลงให้อ่านไปพลางก่อน

           เรื่องคาถาพาหุงนี้ ผมเคยแปลรวมพิมพ์เป็นเล่มมาก่อนแล้ว  คราวนี้ขอแก้ไขดัดแปลงให้เป็นเรื่องเป็นราวกว่าเดิม เรียกว่าเป็น version  ใหม่ก็แล้วกัน

          คาถาพาหุง เรียกเป็นทางการว่า ชยมังคลอัฏฐกคาถา  อ่านว่า “ชะยะมังคะละอัตถะกะคาถา” แปลว่า “คาถาว่าด้วยชัยชนะ ๘ ประการ  อันเป็นมงคลของพระพุทะเจ้า” ที่เรียกกันติดปากว่า “คาถาพาหุง”  เพราะขึ้นต้นด้วยคำว่า “พาหุง”

           ความเป็นมาของคาถาพาหุงค่อนข้างสับสน บางท่านว่าน่าจะแต่งโดยนักปราชญ์ศรีลังกา  เพราะพระลังกาสวดกันได้ทุกรูป บทสวดมนต์บางบทที่สวดกันแพร่หลายในเมืองไทยเช่น  นโมการอัฏฐกคาถา หรือนโมแปดบท พระลังกาสวดไม่ได้ เพราะแต่งที่เมืองไทย  ใช้สวดเฉพาะพระไทย (ไม่สากล) เมื่อคาถาพาหุงค่อนข้างจะ “สากล”  จึงน่าจะแต่งโดยพระลังกา ว่ากันอย่างนั้น

          เหตุผลนี้ฟังดู “หลวม”  คือไม่จำเป็นต้องสรุปว่าแต่งที่ลังกาก็ได้  แต่งที่เมืองไทยนี่เองเมื่อแต่งดีและแต่งได้ไพเราะ  พระลังกามาคัดลอกไปสวดย่อมเป็นไปได้ ทีอะไรๆ ก็มักจะอ้างลังกา อ้างพม่า ก็  เพราะไม่เชื่อว่า ปราชญ์ไทยจะมีปัญญาแต่งฉันท์ที่ไพเราะอย่างน  ี้ด้วยเหตุนี้คัมภีร์ศาสนาหลายเล่มจึงมอบให้เป็นผลงานของพระลังกาและพระพม่าไป

           มังคลัตถทีปนี ที่ พระสิริมังคลาจารย์ชาวเชียงใหม่แต่ง ก็ยังว่า  เป็นฝีมือของพระพม่าเลยครับ คือกล่าวว่า พระสิริมังคลาจารย์  เป็นพระพม่ามาอยู่ที่ล้านนา อะไรทำนองนี้

          บางท่านบอกว่า คาถาพาหุง  แต่งที่เมืองไทย และแต่งมานานแล้วด้วย ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โน่นแน่ะ  ท่านผู้นั้นขยายความว่า เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงรบชนะพระมหาอุปราชา  แห่งพม่าแล้วพระนพรัตน์ วัดป่าแก้ว ได้ประพันธ์คาถาพาหุงนี้ถวายพระเกียรติ  ในชัยชนะอันยิ่งใหญ่คราวนั้นว่าอย่างนั้น

          ครั้นถามว่า  “มีหลักฐานอะไรไหม” ท่านบอกว่า  “เห็นในนิมิตตอนนั่งสมาธิ” เมื่อท่านว่าอย่างนี้ เราทำได้ก็แค่  “ฟัง” ไว้เท่านั้น จะเถียงว่าไม่จริง หรือรับว่าจริงก็คงไม่ได้  มีคำพูดฮิตอยู่ในปัจจุบันคือ “ไม่เชื่อ อย่าลบหลู่”  วางท่าทีอย่างนี้ น่าจะเหมาะกว่ากระมังครับ

           ท่านอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ เล่าให้ฟังว่า เมื่อครั้งสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า  รัชกาลที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงประกาศสงครามกับประเทศเยอรมนี ออสเตรีย  และฮังการี เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ โดยเข้าร่วมกับ ฝ่ายสัมพันธมิตร  เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ และทรงได้ส่งทหารไปสู่สงครามเมื่อวันที่ ๑๖  มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๑นั้นพระองค์ทรงนำกองทัพสวดคาถาพาหุง  พร้อมทั้งคำแปลที่ทรงพระราชนิพนธ์ เป็นวสันตดิลกเพื่อชัยชนะแห่งกองทัพไทย  และฝ่ายพันธมิตร

2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-23 09:37 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
         ท่านอาจารย์กล่าวต่อไปว่า  สถานที่ที่ทรงประกอบพระราชพิธีจะเป็นท้องสนามหลวง (ทุ่งพระเมรุ) หรือไม่ ไม่แน่ใจ  กำลังหาหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรอยู่ ท่านว่าอย่างนั้น

           ฉันท์พระราชนิพนธ์บทนี้ ทรงนำเอา “ชยมังคลอัฏฐกคาถา” บทแรก (คือบทพาหุง)  มาลงไว้ดัดแปลงตอนท้ายจากเดิม ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ เป็น ตันเตชะสา  ภะวะตุ เต ชะยะสิทธิ นิจจัง ข้อความมีดังนี้ครับ

พาหุง  สะหัสสะมะภินิมมิตะสาวุธันตัง
ครีเมขะลัง  อุทิตะโฆระสะเสนะมารัง
ทานาทิธัมมะวิธินาชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต  ชะยะสิทธิ นิจจัง  ปางเมื่อพระองค์ปะระมะพุท
ธะวิสุทธะศาสดา
ตรัสรู้อนุตตะระสะมา
ธิ ณ  โพธิบัลลังก์

ขุนมารสหัสสะพหุพา
หุวิชาวิชิตขลัง
ขี่คีริเมขละประทัง
คชะเหี้ยมกระเหิมหาญ

แสร้งเสกสราวุธะประดิษฐ์
กละคิดจะรอนราน
ขุนมารผจญพยุหะปาน
พระสมุททะนองมา

หวังเพื่อผจญวระมุนิน
ทะสุชิน(ะ)ราชา
พระปราบพหลพยุหะมา
ระเมลืองมลายสูญ

ด้วยเดชะองค์พระทศพล
สุวิมล(ะ)ไพบูลย์
ทานาทิธัมมะวิธิกูล
ชนะน้อมมโนตาม

ด้วยเดชะสัจจะวจนา
และนะมามิองค์สาม
ขอจงนิกรพละสยาม
ชยะสิทธิทุกวาร

ถึงแม้จะมีอริวิเศษ
พละเดช(ะ)เทียมมาร
ขอไทยผจญพิชิตผลาญ
อริแม้นมุนินทร.ฯ

คราวหน้าจะนำ  “คำแปลพาหุง” พร้อมอรรถาธิบายประกอบมาลงให้อ่านจนจบครับ

......
จากหนังสือ  คาถาพาหุง

คาถาแห่งชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธองค์
ศาสตราจารย์พิเศษเสฐียรพงษ์  วรรณปก ราชบัณฑิต

ที่มา http://www.dhammajak.net/chaiya/index.php



3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-23 09:38 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


     
พระคาถาพาหุง

        
บทที่ ๑
           ผมได้ยกคำบาลีพร้อมคำแปล มาลงให้อ่าน  เพื่อจะได้ทราบว่าบทสวดพาหุงนั้น มีความหมายอย่างไร คราวนี้มาเล่าเรื่องราวประกอบ  พร้อมข้อสังเกตเพิ่มเติมเท่าที่สติปัญญาอันน้อยของผมจะทำได้  ผิดถูกอย่างไรเราไม่ว่ากันอยู่แล้วมิใช่หรือ หรือ จะว่าก็ไม่เป็นไร
คาถาพาหุง บทที่ ๑ ความว่า

           พาหุง สะหัสสะมะภินิมมิตะสาวุธันตัง
            ครีเมขะลังอุทิตะโฆระสะเสนะมารัง
           ทานาทิธัมมาะวิธินา ชิตะวา  มุนินโท
           ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ


            พญามารเนรมิตแขนตั้งพัน ถืออาวุธ
           ครบมือ ขี่ช้าง ครีเมขละ  พร้อมด้วยเสนามาร
           โห่ร้องก้องกึก พระจอมมุนีทรงเอาชนะได้
            ด้วยธรรมวิธี มีทานบารมี เป็นต้น ด้วยเดช
           แห่งชัยชนะนั้น  ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน
           พากย์บาลีเฉพาะคำว่า ชะยะมังคะลานิ  ฝ่ายพระธรรมยุตเปลี่ยนเป็น ชะยะมังคะลัคคัง
ให้เหตุผลว่าเพื่อให้ถูกไวยากรณ์  ผมว่าไม่จำเป็นต้องเคร่งครัดขนาดนั้น ก็ได้ท่านผู้แต่งเองก็ใช่ว่าจะไม่รู้ไวยากรณ์  ท่านคงจงใจใช้อย่างนี้มากกว่า
           บางท่านก็สอนว่า ถ้าต้องการสวดให้ตัวเองให้เปลี่ยน  ภะวะตุ เต เป็น ภะวะตุ เม นี่ก็ไม่จำเป็นต้อง “เห็นแก่ตัว” ปาน นั้นก็ได้  สวดให้คนอื่นตัวเองก็ได้อยู่ดี

            เหตุการณ์แห่งชัยมงคลนี้เกิดขึ้นใต้ต้นโพธิ์ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา  พระบรมโพธิสัตว์ประทับขัดสมาธิ ผินพระพักตร์สู่ทิศตะวันออกตั้ง พระวรกายตรง  ดำรงพระสติมั่น เจริญอานาปานสติภาวนา (พจนานุกรม ให้เขียน อานาปาณสติ  แต่วงการพระท่านใช้ อานาปานสติมาตลอด) ตั้งพระปณิธานแน่วแน่  จะพยายามเพื่อบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณให้จงได้ แม้ว่า เลือดเนื้อและโลหิตจะเหือดแห้งไป  เหลือแต่หนังหุ้มกระดูกก็ตามที ก็จะไม่ยอมลุกขึ้นเป็นอันขาด
           เรียกว่าเอาชีวิตเข้าแลก ยอมตายใต้ต้นโพธิ์  ว่าอย่างนั้นเถอะ
           บัดดล พญามารนาม วสวัตตี ก็ปรากฏตัว ให้สังเกตชื่อ  “วสวัตตี” แปลว่า “ ผู้ยังบุคคลอื่นให้ตกอยู่ในอำนาจ ” แสดงว่ามารตัวนี้มิใช่กระจอก  เป็นเทพ (ผู้เกเร) ครองสวรรค์ชั้นสูงสุด สวรรค์ชั้นนี้นามว่า ปรนิมมิตวสวัตตี  แบ่งเป็นสองแดน แดนหนึ่งมีเทพนามวสวัตตีเทพครอง  อีกแดนหนึ่งเป็นแดนมารมีพญามารวสวัตตีตนนี้แหละเป็นผู้ครอง
           พญามารกลัวว่า พระโพธิสัตว์จะก้าวพ้นจากเงื้อมมือของตน  จึงยกพลพหลพลโยธามาผจญ  ตัวพญามารเองก็เนรมิตแขนพันแขนยังกะหนวดกุ้งถืออาวุธครบทุกมือ
           ขี่พญาช้าง นามครีเมขละ  นำลิ่วล้อหน้าตาน่าสะพรึงกลัวมาล้อมพระองค์  ออกปากขับไล่ให้พระโพธิสัตว์ลุกจากบัลลังก์ (ที่นั่ง) อ้างว่า  บัลลังก์นี้เป็นของมัน
           พระบรมโพธิสัตว์ตรัสว่า “ รัตนบัลลังก์ นี้เป็นของเรา  พราหมณ์นามโสตถิยะ ให้หญ้ากุศะเรามา ๘ กำ เราเอามาลาดเป็นอาสนะ”
           “บัลลังก์นี้เป็นของข้า” พญามารกล่าวเสียงดัง  แล้วหันไปขอเสียง สนับสนุนจากบริวารว่า “จริงไหมวะ”

           “แม่นแล้ว  เจ้านาย บัลลังก์นี้เป็นของเจ้านาย” เสียงลิ่วล้อตะโกนตอบ
           “เห็นไหมๆ ท่านลุกขึ้นเสียดีๆ ยกบัลลังก์ให้แก่ข้า  อย่าให้ใช้กำลัง” มันขู่
            เมื่อพระบรมพระโพธิสัตว์ยืนยันว่าบัลลังก์เป็นของพระองค์ มันจึงซักว่า  “ท่านมีพยานไหมล่ะ”
           พระองค์ทรงชี้ดรรชนีลงยังพื้นปฐพี ตรัสว่า  “ขอให้วสุนธราเป็นพยาน” ทันใดนั้น นางวสุนธรา หรือ  นางธรณีก็ปรากฏกายบีบมวยผมปล่อยกระแสธารไหลมาท่วมกองทัพพญามารจนพ่ายแพ้หนีไปในที่สุด

4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-23 09:39 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
           มีพระพุทธรูปปางหนึ่งสร้างเป็นอนุสรณ์เหตุการณ์  ครั้งนี้ เรียกว่า “ปางมารวิชัย”(อ่าน “มา-ระ-วิ-ไช”แปลว่า ชนะมาร ถ้าอ่าน  “มาน-วิ-ไช” แปลว่า มารชนะ) ชาวบ้านเรียกว่า “ปางสะดุ้งมาร”
           ที่มาของชื่อ “ปางสะดุ้งมาร” (ถ้าผมจำไม่ผิด)  คือครั้งหนึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ทอดพระเนตรเห็นพระพุทะรูปปางมารวิชัยองค์หนึ่ง พระพักตร์ไม่ค่อยสวย จึงรับสั่งว่า  “องค์นี้ท่าจะสะดุ้งมาร”
           หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์  จำเอาไปเขียนบรรยายพระพุทะรูปองค์นี้ตั้งไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ  ใครเข้าไปชมก็ได้เห็นและจดจำกันไปจนแพร่หลาย
           กว่าสมเด็จฯ จะทรงทราบภายหลังว่าที่พระองค์ตรัสเล่นๆ  กลับมีผู้ถือเป็นจริงเป็นจังก็สายเสียแล้ว คนจำได้ติดปากแล้ว จึงปล่อยเลยตามเลย
           กระทั่งผู้จัดทำพจนานุกรมไทย  ฉบับราชบัณฑิตยสถานยังบันทึกไว้เมื่อให้คำจำกัดความของคำมารวิชัยว่า  “ผู้มีชัยแก่มาร คือพระพุทธเจ้า เรียกพระพุทธรูปปางชนะมารว่า พระมารวิชัย คือ  พระนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ขวาพาดพระเพลา พระปางสะดุ้งมาร ก็เรียก”
           ท่านอาจารย์ “ประสก” แห่งสยามรัฐร้องว่า ไม่เรียก  ถ้าอยากเรียกให้เรียกว่า “ปางมารสะดุ้ง” อย่าเรียก “ปางสะดุ้งมาร”
           ดร.ไซเลอร์  ผู้สนใจคัมภีร์พระพุทะศาสนาคนหนึ่งถามผมว่าฉากพระพุทะเจ้าผจญมาร ทำไมมีงูมากมาย  จิตรกรรมฝาผนังหลายแห่งเขียนให้พญามารและเสนามารมีงูพันกายบ้าง เลื้อยออกจากปาก  ออกจากจมูกบ้าง จากรูหูทั้งสองบ้าง ดูจะเป็น “กองทัพงู” มากกว่ากองทัพมาร  ในคัมภีร์ศาสนามีพูดถึงงูบ้างไหม
           นึกไม่ออกครับ เห็นแต่ในคัมภีร์รุ่นหลัง เช่น  ปฐมสมโพธิสัมภารวิบาก และคัมภีร์ฝ่ายมหายาน คือ ลลิตวิสตระ (ลลิตพิสดาร)  มีพูดถึงงูบ้าง แต่ในคัมภีร์พระไตรปิฎกมิได้พูดถึงงูบ้าง  แต่ในคัมภีร์พระไตรปิฎกมิได้พูดไว้

           ศาสตราจารย์เสฐียร พันธรังษี  ราชบัณฑิต ผู้ล่วงลับ เคยบอกผมว่า งูเป็นสัญลักษณ์แทนกิเลส หรือความชั่วร้าย  นี้เป็นแนวคิดที่ “สากล” ดังในคัมภีร์ไบเบิล ของคริสต์ซาตานที่มาหลอก อาดัม กับ  อีฟใ ห้ละเมิดคำสั่งพระเจ้าก็มาในร่างงู งูกับมาร คือสิ่งเดียวกัน  ภาพจิตรกรรมจึงวาดทั้งมารทั้งงู ก็เป็นคำพูดที่น่ารับฟัง
           ถ้าดูบทสวดจริงๆ ก็น่าจะมี “งู”  อยู่ด้วยเพียงแต่เราไม่แปลว่างู เท่านั้นเอง  (ขอให้ผู้รู้บาลีช่วยกันดูตรงนี้หน่อยครับ)
           อุทิตะโฆระสะเสนะมารัง ที่แปลว่า  “พร้อมทั้งเสนามารโห่ร้องก้องกึก” นั่นน่ะ ลองแยกศัพท์ดู อุทิตะ (เกิดขึ้น,  โผล่ขึ้น),โฆระ (ย่อมาจาก โฆระวิสะ งูพิษร้าย), สะเสนะมารัง (พร้อมทั้งเสนามาร)  ถ้าแยกอย่างนี้ก็จะได้คำแปลว่า “พร้อมทั้งเสนามารมีงูออกมาจากร่างกาย”  แปลอย่างนี้ก็จะได้คำแปลว่า “พร้อมทั้งเสนามารมีงูออกมาจากร่างกาย”  แปลอย่างนี้จะไม่ให้กองทัพมารกลายเป็นกองทัพงูได้อย่างไร ใช่ไหมครับ
           มาร ในที่นี้ไม่จำเป็นจะต้องเป็นมารจริงๆ ก็ได้  หากเป็นสัญลักษณ์แทนกิเลส (โลภ โกรธ หลง) พระโพธิสัตว์ผจญมาร ก็ คือ  พระองค์ทรงพยายามเอาชนะกิเลสทั้งหลาย กว่าจะได้ชัยชนะก็เล่นเอาเหนื่อย  ไม่แพ้รบทัพจับศึก ครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต
           นางธรณี  เป็นสัญลักษณ์แทนบารมีที่ทรงบำเพ็ญมาแต่อดีตชาติ การอ้างนางธรณีเป็นพยานก็คือ  ทรงรำลึกถึงความดีงามที่เคยทำมามากมายนั้นเอง  เมื่อทำดีมามากปานฉะนี้แล้วจะยอมสยบแก่อำนาจฝ่ายต่ำ ก็ดุกระไรอยู่
           ทุกครั้งที่กราบไหว้พระปางมารวิชัย ให้รำลึกเสมอว่า  กิเลสอันร้ายกาจดุจพญามารและกองทัพอันมหึมา พระพุทธองค์ทรงเอาชนะได้เด็ดขาด  เราผู้เป็น “ลูกพระตถาคต” ควรดำเนินตามรอยยุคลบาทของพระองค์ คือ  พยายามต่อสู้กับอำนาจฝ่ายต่ำเต็มความสามารถแม้ชนะเป็นครั้งเป็นคราวก็ยังดี
           ดีกว่าเป็นทาสของมารตลอดกาล

..................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/chaiya/2.html

5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-23 09:40 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


     
พระคาถาพาหุง

        
บทที่ ๒
มาราติเรกะมะภิยุชฌิตะสัพพะรัตติง
โฆรัมปะนาฬะวะกะมักขะมะถัทธะยักขัง
ขันตีสุทันตะวิธินา  ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต  ชะยะมังคะลานิ


อาฬวกยักษ์ผู้กระด้าง ปราศจาก
ความอดทน ดุร้าย  สู้รบกับพระพุทธเจ้าอย่าง
ทรหดยิ่งกว่ามารตลอดราตรี  พระจอมมุนีทรง
เอาชนะได้ด้วยขันติวิธีที่ทรงฝึกฝนมาดี ด้วย
เดชแห่งชัยชนะนั้น  ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน
          บทที่แล้วพระพุทธองค์ทรงสู้รบกับมาร  มาคราวนี้ทรงสู้รบกับยักษ์ มารอาจหมายถึงมารจริงๆ คือ เทพเกเรที่ชอบมารังแกคน หรือ  อาจหมายถึงกิเลสก็ได้ฉันใด ในที่นี้ ก็อาจหมายถึงยักษ์เขี้ยวโง้ง  หรือเป็นภาษาสัญลักษณ์หมายถึงคนดุร้ายเผ่าหนึ่ง ในสมัยพุทะกาลก็ย่อมได้
          ไม่เพียงแต่ ยักษ์และมาร นาคที่ปรากฏในคัมภีร์ศาสนา  ก็อาจเป็นภาษาสัญลักษณ์ เช่นกัน นาคปลอมมาบวช ตำราว่าเป็นพญานาคที่มีฤทธิ์  จำแลงกายเป็นคนได้ ตราบใดที่ยังมีสติอยู่ก็จะเป็นมนุษย์ แต่ถ้าเผลอสติ  หรือหลับเมื่อใด ร่างนาคหรืองูใหญ่ก็จะปรากฏทันที
          พระหนุ่มนาคจำแลง นอนหลับใหลในเวลากลางวันในห้อง  ร่างกลายเป็นงูใหญ่ขดอยู่เต็มห้อง  พระรูปหนึ่งเปิดประตูเข้าไปเห็นเข้าร้องเสียงหลงด้วยความตกใจ  พระนาคจำแลงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น จึงแปลงร่างเป็นพระหนุ่มตามเดิม  เรื่องรู้ถึงพระพุทะองค์ เธอเปิดเผยความจริงว่าเธอเป็นนาค (งูใหญ่)  ปลอมมาบวชเพราะความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา
           พระพุทธองค์ตรัสว่าเพศบรรพชิตไม่เหมาะสำหรับสัตว์เดรัจฉาน  จึงให้เธอลาสิกขากลับไปสู่นาคพิภพตามเดิม ตรงนี้ ตำราในเมืองไทยแต่งต่อว่า  นาคกราบทูลขอว่า “ไหนๆก็ไม่มีโอกาสบวชอยู่พระศาสนาต่อไปแล้ว ขอฝากชื่อไว้ด้วย  ต่อไปภายหน้า ใครจะบวชก็ขอให้เรียกคนนั้น “นาค” เถิด” ว่าอย่างนั้น  แต่ตำราเดิมไม่มีพูดไว้อย่างนี้

6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-23 09:40 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
          นาค ในที่นี้ คงมิใช่งูใหญ่อะไรดอก  คงหมายถึงมนุษย์ที่ยังด้อยพัฒนาเผ่าหนึ่งพระพุทะองค์จึงไม่ทรงอนุญาตให้บวช  ว่ากันอย่างนั้น
          อาฬวกยักษ์นี้ก็คงทำนองเดียวกัน  ลองอ่านประวัติความเป็นมาก่อนค่อยตั้งข้อสังเกตภายหลัง เรื่องมีดังนี้ครับ
          ในป่าลึกชายแดนเมืองอาฬวี มียักษ์อาศัยอยู่จำนวนมาก  วันหนึ่งเจ้าเมืองอาฬวี มียักษ์อาศัยอยู่จำนวนมาก  วันหนึ่งเจ้าเมืองอาฬวีไปล่าสัตว์พลัดหลงกับ ข้าราชบริพาน  เข้าไปยังป่าลึกถูกพวกยักษ์จับได้ตั้งใจจะเอามาทำ สเต็กกินให้อร่อย  เข้าเมืองกลัวตายจึงหาทางเอาตัวรอดโดยกล่าวว่า “ถ้าพวกยักษ์กินตนอิ่มเพียงมื้อเดียว  ถ้าปล่อยตนไป ตนจะไปหาคนมาส่งให้กินทุกวัน ขอให้ปล่อยตนไปเถอะ”
          “จะเชื่อได้อย่างไรว่าจะไม่เบี้ยว” ยักษ์ถาม
          “ไม่เบี้ยวแน่นอนท่าน เพราะข้ามิใช่นายกเมืองสารขัณฑ์  ที่รับปากใครไปเรื่อยกระทั่งกับพระกับเจ้า แล้วก็ลืม ข้าเป็นถึงเจ้าเมือง  อาฬวีย่อมรักษาสัจจะยิ่งชีวิต” เจ้าเมืองพูดขึงขัง
          โชคยังดี พวกยักษ์เชื่อ จึงปล่อยไป  ท้าวเธอก็ส่งนักโทษประหารมาให้กินวันละคน จนกระทั่งนักโทษหมดคุก  เมื่อหาใครไม่ได้ก็สั่งให้ดักจับเอาใครก็ได้ที่เดินอยู่คนเดียว  มีคดีคนหายอย่างลึกลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จน จส.๑๐๐ ของยักษ์ประกาศหาไม่หยุด  สร้างความหวาดวิตกแก่ประชาชนทั้งเมือง
          พระพุทธองค์ทรงทราบด้วยพระญาณด้วย พระมหากรุณาธิคุณ  อันยิ่งใหญ่ต่อชาวเมืองอาฬวี พระองค์จึงเสด็จไปหาอาฬวกยักษ์  หัวหน้าพวกยักษ์ในป่าอาฬวี บังเอิญอาฬวกยักษ์ไม่อยู่ พระองค์จึงเสด็จเข้าไปประทับ ณ  ที่นั่งประจำตำแหน่งของแก
          อาฬวกยักษ์กลับมา  พบพระพุทะองค์ประทับที่บัลลังก์ของตนก็โกรธเขี้ยวกระดิกทีเดียวตวาดด้วยเสียงดังฟังชัดว่า  “สมณะโล้นมานั่งที่นั่งข้าทำไม ลุกขึ้นเดี๊ยวนี้”
          พระพุทธองค์ทรงลุกขึ้นอย่างว่าง่าย
          ยักษ์แกได้ใจ จึงออกคำสั่งอีกว่า “นั่งลง” พระองค์  ก็นั่งลง
          “ลุกขึ้น” สั่งอีก พระองค์ก็เสด็จลุกขึ้น
          “นั่งลง” พระองค์นั่งลงตามคำสั่ง
          ยักษ์เขี้ยวโง้งได้ใจ หัวร่อ ฮ่าๆ  ที่เห็นพระพุทธเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ของชาวโลกทำตามคำสั่งแกอย่างว่าง่าย
          ถามว่า  “ทำไมพระพุทธองค์จึงทรงทำตามยักษ์อย่างว่าง่าย”
          ตอบว่า “เป็นเทคนิควิธีสอนของพระพุทธเจ้า”  พระองค์ทรงรู้อยู่แล้วว่า ยักษ์แกเป็นผู้ดุร้าย อารมณ์ร้อน ถ้าขัดใจแก  แกก็จะโมโหจนลืมตัว ไม่มีช่องที่จะสอบอะไรได้ ถึงกล่าวสอนตอนนั้นแกก็คงรับไม่ได้  พระองค์จึงทรงเอาชนะความแข็งด้วยความอ่อน ดังคำพังเพยจีน (หรือเปล่าไม่รู้)  “หยุ่นสยบแข็ง” หรือดังบทกวี (เก่า)บทหนึ่งว่า
          “ถึงคราวอ่อน อ่อนให้จริง ยิ่งเส้นไหม
           เพื่อจะได้ เอาไว้โยง เสือโคร่งเฆี่ยน
          ถึงคราวแข็ง ก็ให้แกร่ง  ดังวิเชียร
          เอาไว้เจียน ตัดกระจก เจียระไน”
          ยักษ์ถึงแกจะป่าเถื่อน ใช่ว่าแกจะไม่รู้ว่า  พระพุทธเจ้านั้น เป็นที่เคารพนับถือของคนเป็นจำนวนมาก  การที่แกสามารถสั่งให้คนยิ่งใหญ่ขนาดนั้นทำตามคำสั่งอย่างไม่ขัดขืน  จึงทำให้แกภาคภูมิใจที่ปราบพระศาสดาเอกในโลกได้จิตใจจึงผ่อนคลายความดุร้ายลง  สงบเยือกเย็นพอจะพูดกันด้วยเหตุผลรู้เรื่อง พระพุทธองค์จึงค่อยๆ  สอนให้แกรู้ผิดชอบชั่วดี ยักษ์แกก็เข้าใจและรับได้อย่างเต็มใจ  ในที่สุดก็รับเอาไตรสรณคมน์เป็นสรณะตลอดชีวิต
          พูดมาถึงตรงนี้ก็อยากฝากไปถึง ส.ส.ร.  หรือฝ่ายที่สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญทั้งหลายด้วย นักการเมืองทั้งหลายก็ไม่ต่างกับ  “อาฬวกยักษ์” ดอกครับ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้  ลิดรอนสิทธิและอำนาจนักการเมืองไม่น้อย  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตรวจสอบทรัพย์สินตั้งหลายครั้ง (“ยังกับเป็นนักโทษ”  นักการเมืองอาวุโสท่านหนึ่งคำราม) ไม่ว่าจะเป็นการห้าม ส.ส. เป็น รัฐมนตรี  หรือเรื่องคนแปดหมื่นคนไล่นักการเมืองได้ ล้วนแต่เป็นเรื่องใหญ่  สำหรับพวกอาฬวกยักษ์ทั้งนั้น ใจจริงแล้ว เขาไม่อยากรับดอก  (นอกเสียแต่บางพรรคหวังหาเสียงก็กัดฟันพูดว่า เรายินดีรับ)  ถ้าอยากจะให้พวกเขายอมรับอย่างเต็มใจ ก็ ควรใช้วิธีของพระพุทธเจ้า คือ พูดดีๆ  กับเขา อย่าได้พูด ในทำนองดูถูกว่าปัญญาอ่อน ไดโนเสาร์ พวกถ่วงความเจริญ ฯลฯ  หรือชี้นำว่าต้องรับร่างรัฐธรรมนูญร่างเสร็จแล้วก็หมดหน้าที่  เป็นเรื่องของสภาเขาจะเอาหรือไม่เอา เมื่อสภาไม่เอา ก็  ตกมาถึงประชาชนตัดสินอยู่มิใช่หรือทำไม จะต้องมาปลุกกระแสตอนนี้  แจกธงเขียวอะไรนั่นผมว่าเชยตายห่า  และถ้าพวกยักษ์เขาแจกธงแดงบ้างมิเป็นการประจันหน้ากันหรือครับ
          พวกยักษ์นั้น ต้องพูดดีๆ กับเขา แบบ  พระพุทธเจ้าตรัสกับอาฬวกยักษ์ ไม่ควรปลุกม็อบชนม็อบ เพราะถ้ายักษ์เขาโมโหแล้ว  เขาปลุกม็อบได้มากกว่าอีก บอกเขาไปด้วยความอ่อนน้อมสิครับ  ว่าขอให้ท่านพิจารณาเพื่อประโยชน์แก่บ้านเมือง ว่าร่างรัฐธรรมนูญ  ฉบับใหม่ดีกว่าฉบับเก่าไหม ถ้าดีกว่าก็โปรดรับเถิด  ข้อบกพร่องที่มีเอาไว้แก้ไขภายหลังได้แค่นี้แหละทุกอย่างก็ราบรื่น
          อาฬวกยักษ์ ในที่นี้น่าจะเป็นมนุษย์กินคนเผ่าหนึ่ง  ที่มีอยู่มากในชมพูทวีปสมัยโน้น เมื่อมนุษย์กินคนถือศีล ๕  สันติสุขมิได้เกิดแก่ชาวเมืองอาฬวีเท่านั้น หากรวมถึงเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกด้วย
          เพราะฉะนั้น  ชัยชนะของพระพุทะองค์ครั้งนี้จึงเป็นชัยชนะที่นำมาซึ่งสิริมงคลอย่างแท้จริง

ที่มา http://www.dhammajak.net/chaiya/3.html

7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-23 09:42 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


     
พระคาถาพาหุง

        
บทที่ ๓
นาฬาคิริง คะชะวะรัง  อะติมัตตะภูตัง
ทาวัคคิจักกะมะสะนีวะ สุทารุณันตัง
เมตตัมพุเสกะวิธินา ชิตะวา  มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุเต ชะยะมังคะลานิ
พญาช้างชื่อ นาฬาคิรี ตกมัน
ดุร้ายยิ่งนัก ประดุจไฟป่า จักราวุธ  และสายฟ้า
พระจอมมุนีทรงเอาชนะได้ด้วยวิธีรดด้วยน้ำ
คือเมตตา  ด้วยเดชแห่งชัยชนะนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน

         ต้นเหตุให้เกิดเรื่องนี้ก็คือ  พระเทวทัตอดีตเจ้าชายหนุ่มแห่งโกลิยวงศ์ ตำนานฝ่ายเถรวาทว่า  เป็นเชษฐาของพระนางยโสธราพิมพาแต่ฝ่ายมหายานว่าเป็นลูกพี่ลูกน้องกับพระนางยโสธราพิมพา  ซึ่งก็อาจเป็นไปได้ เพราะคัมภีร์ฝ่ายเถรวาทบางแห่งก็พูดในทำนองนั้น  ดังเช่นเมื่อพระเทวทัตยื่นข้อเสนอ ให้พระพุทธองค์มอบสงฆ์ให้ท่านปกครองอ้าวว่า  “บัดนี้ พระองค์ ทรงแก่เฒ่าแล้ว  ขอจงมอบภาระดูแลสงฆ์แก่ข้าพระองค์เถิด”

         ถ้าพระพุทธองค์ทรงเป็นสหชาติกับพระนางยโสธราพิมพา  และถ้าพระเทวทัต เป็นเชษฐาของพระนางจริง พระเทวทัตก็ไม่น่าจะพูดว่า  “พระองค์ทรงแก่เฒ่าแล้ว” ใช่ไหมขอรับแต่ช่างเถอะ  อย่าปวดหัวกับประเด็นนี้เลยเชื่อตามมติฝ่ายเถรวาทไปก่อน  พระเทวทัตออกบวชพร้อมกับเจ้าชายศากยวงศ์ และนายภูษามาลาแห่งศากยวงศ์นามว่า อุบาลี  (เวอร์ซาเช่ แห่งเมืองกบิลพัสดุ์ว่าเข้านั่น) รวม ๗ท่านด้วยกัน  เพื่อนร่วมรุ่นที่ชื่อเสียงในเวลาต่อมานอกจากพระอุบาลี ก็มีพระอานนท์ พระอนุรุทธะ  พระเทวทัต แรกเริ่มเดิมทีก็ดังในทางดี  คือตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติจิตภาวนาจนกระทั่งได้ฌาน ได้ “โลกิยฤทธิ์”  (ฤทธิ์ระดับโลกิยะ) คือเหาะเหินเดินหาวได้ หายตัวได้อะไรทำนองนี้  ฤทธิ์อย่างนี้เสื่อมได้ถ้าไม่รู้จักประคับประคองในทางที่ถูกซึ่งก็เป็นดังนั้นจริงๆ

           ว่ากันว่าญาติโยมทั้งหลาย เวลาไปวัดก็จะนำสักการะไปถวายพระคุณเจ้าต่างๆ  ที่ตนเคารพเลื่อมใส บ้างก็ถามว่า “พระคุณเจ้าสารีบุตรอยู่ที่ไหน  พระคุณเจ้าโมคคัลลานะพระอานนท์ ฯลฯ อยู่ที่ไหน”  แล้วก็นำเอาลาภสักการะไปถวายท่านเหล่านั้น  น้อยรายจะถามถึงพระคุณเจ้าเทวทัตพระคุณเจ้านั่งนึกว่า ท่านเหล่านั้นหลายท่าน  เป็นขัตติยกุมารออกบวช ไม่เห็นมีอะไรด้อยไปกว่าท่านเหล่านั้นแต่ทำไม  ญาติโยมเวลานำอะไรมาวัด ไม่ถามถึงเราบ้าง มันน่าน้อยใจนัก  เราต้องหาทางแสวงลาภสักการะให้มากกว่าท่านเหล่านี้ให้จงได้
เรียก “ปาปิจฉา”  (ความปรารถนาลามก) ได้เกิดขึ้นในใจพระคุณเจ้าเทวทัตเสียแล้วละครับ เทวทัตคิดว่า  เจ้าชายอชาตศัตรูมกุฎราชกุมาร สติปัญญาไม่แหลมคมนัก สามารถ “ล้างสมอง” ได้ง่าย  ถ้าทำให้อชาตศัตรู เลื่อมใสได้  ก็จะเป็นทางมาแห่งลาภยศสรรเสริญแผนการอันเลวร้ายจึงเริ่มต้น

         วันหนึ่ง  ขณะเจ้าชายเสด็จประพาสสวนอุทยานแห่งหนึ่ง อยู่ๆ   พระเทวทัตก็ปรากฏตัวต่อหน้าพระพักตร์ ทำให้เจ้าชายตกใจและอัศจรรย์ใจไปพร้อมกัน  ตกใจที่เห็นพระคุณเจ้ามีอสรพิษร้ายพันกายหลายตัว ไม่เห็นมันทำร้ายพระคุณเจ้าเลย  และอัศจรรย์ใจที่พระคุณเจ้าอยู่ๆ ก็เหาะลงมาจากห้วง นภากาศ ทำได้อย่างไรมันน่า  “งืด” แท้ พระคุณเจ้าบอกว่าอย่าตกพระทัยบพิตรอาตมาคือเทวทัต  สาวกแห่งพระสัมมาสัมพุทะเจ้าว่าแล้วก็แสดงธรรมแด่เจ้าชายอชาตศัตรู  จนกระทั่งท้าวเธอมอบตนเป็นศิษย์ก้นกุฏิ ถวายความอุปถัมภ์ในเวลาต่อมา  ถึงตอนนี้พระคุณเจ้าเทวทัต  ก็ร่ำรวยลาภสักการะมากมายก่ายกองเพราะเป็นพระอาจารย์ของมกุฎราชกุมารแห่งมคธรัฐ
8#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-23 09:42 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
         ต่อมาพระเทวทัตก็ยุยง  ให้อชาตศัตรูกำจัดพระราชบิดาชิงราชบัลลังก์ ทั้งๆ  ที่ตนเองก็จะได้โดยชอบธรรมอยู่แล้ว  เจ้าชายจับพระราชบิดาขังคุกให้อดอาหารจนสิ้นพระชนม์  ตอนหลังพระเจ้าอชาตศัตรูรู้ว่าถูกเทวทัตหลอกจึงสั่งตัดความอุปถัมภ์ที่เคยให้แก่พระเทวทัต
ก่อนหน้านั้นเล็กน้อยพระเทวทัต  จ้างนายขมังธนูไปยิงพระพุทธเจ้า แต่แผนการล้มเหลว  จึงลงทุนปีนเขากลิ้งก้อนหินลงมาหมายทับ  พระพุทธองค์ขณะประทับนั่งเข้าฌานสมาบัติอยู่ที่ถ้ำมัททกุจฉิ  เชิงเขาคิชฌกูฏก้อนหินกลิ้งลงไปปะทะชะง่อนผา สะเก็ด  หินกระเด็นไปต้องพระบาทพระพุทธองค์จนพระโลหิตห้อ   พระสงฆ์สาวกพากันนำพระพุทธองค์ไปให้หมอชีวก ถวายการรักษาพยาบาล ณ  ชีวกัมพวัน
เหตุการณ์เหล่านี้ยังไม่ปรากฏต่อสาธารณะนัก  คนทั่วไปยังไม่รู้ว่าเป็นแผนการของพระเทวทัตคือต้นเหตุการณ์กระทำอันเลวร้ายนี้แน่นอน

           เช้าวันหนึ่ง ขณะพระพุทธองค์มีพระอานนท์โดยเสด็จ  เสด็จออกบิณฑบาตโปรดสัตว์ในเมืองราชคฤห์
พญาช้างตกมันถูกปล่อยจากโรงช้างวิ่งทะยานออกสู่ถนนใหญ่มุ่งหน้ามาทางพระพุทธองค์  และพระอานนท์ ร้องเสียงโกญจนาท (เขาว่า ร้องแปร๋นๆ  เสียงแหลมเล็กดุจเสียงนกกระเรียนการร้องของช้างจึงเรียกว่า “โกญจนาท”)  มหาชนชาวเมืองวิ่งหนีอลหม่าน

          พระอานนท์พุทธอนุชา  เกรงภัยจะมาถึงพระพุทะองค์ จึงรีบกลับออกไปหมายสกัดพญาช้างตกมันไว้  ไม่คำนึงถึงชีวิตของตนเองทั้งๆ ที่ยังเป็นเสขบุคคล (เป็นพระโสดาบัน)  ไม่ได้เป็นพระอรหันต์ทรงอภิญญา พอที่จะต่อสู้กับพญาช้างตกมันได้  พระพุทะองค์ตรัสเรียกพระอานนท์ให้ถอยกลับมา  พระองค์ทรงทำปาฏิหาริย์ให้พญาช้างวิ่งเลี่ยงไปอีกทางหนึ่ง

           ขณะนั้นเด็กน้อยคนหนึ่งถูกแม่ทิ้งไว้กลางถนน เพราะกลัวตายร้องไห้จ้าน่าเวทนายิ่ง  พญาช้างเปลี่ยนเข็มจากพระอานนท์หันมาหมายกระทืบเด็กน้อยตายคาตีน   พระพุทธองค์ทรงแผ่เมตตาภินิหาร ดังหนึ่งทรงหลั่งกระแสธารอันเย็นสนิท  ตกต้องจิตพญาช้างสาร  ความดุร้ายเมามันพลันหายไปสิ้น
มันเดินเซื่องซึมเข้ามาหมอบแทบยุคลบาทยกงวงจบบนกระพองถวายอภิวาท  พระศาสดาผู้ทรงยกพระหัตถ์ลูบกระพองมันเบาๆ  แล้วมันก็ลุกเดินเชื่องช้ากลับยังโรงช้างเป็นที่อัศจรรย์

           เสียงโจษจันกันไปทั่วว่า “นาคกับนาคชน กัน  นาคหนึ่งปราบอีกนาคหนึ่งหมดฤทธิ์เป็นที่น่าอัศจรรย์”
นาคแรก หมายถึง  “พระผู้ประเสริฐ”คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า อีกนาคหนึ่งคือ “พญาช้างสาร” ที่เมามัน  ชื่อนาฬาคิรี

          “อาวุธ” ที่พระพุทธองค์ทรงใช้สู้กับพญาช้างตกมัน  คือเมตตา ด้วยอานุภาพแห่งเมตตาจิตอันแรงกล้า ที่พระองค์ทรงแผ่ไปต้องจิต  พญาช้างทำให้มันคลายความดุร้ายลงฉับพลัน  และเลิกคิดที่จะทำร้ายพระองค์ในที่สุด

           แต่ผู้ที่ยังไม่เลิกคิดร้ายก็คือ พระคุณเจ้าเทวทัต  เมื่อแผนการล้มเหลวจึงเข้าไปยื่นข้อเสนอห้าข้อ เช่น  ให้พระอยู่โคนต้นไม้เป็นนิตย์ห้ามอยู่ในที่มุมที่บัง ห้ามฉันปลาและเนื้อตลอดชีวิต  เป็นต้น พระพุทะองค์ไม่ทรงอนุญาตเพราะเห็นว่าเป็นการเข้มงวดเกินไป  ขอให้เป็นความสมัครใจของบุคคลดีกว่า อีกอย่างชีวิตพระต้องอาศัยผู้อื่นเลี้ยงชีพ  การจะเจาะจงว่าต้องฉันสิ่งนั้น ฉันสิ่งนี้ จะกลายเป็นคน “เลี้ยงยาก”  ไป

          เทวทัตเธอก็ได้ทีขี่แพะไล่ทันที  กล่าวว่าตนเสนอข้อปฏิบัติให้พระเคร่งครัด พระพุทธองค์ผู้ตรัสสมอว่า  สอนข้อปฏิบัติขัดเกลากลับไม่เห็นด้วย จึงประกาศแยกตัวจากคณะสงฆ์ (เรียกว่าทำ  “สังฆเภท” ทำให้สงฆ์แตกกัน) มีพระบวชใหม่ไม่รู้ธรรมวินัยจำนวนหนึ่งตามไปอยู่ด้วย  แต่ไม่นาน พระสารีบุตรไป “กล่อม” กลับมาตามเดิม

          หลังจากนั้น  เทวทัตก็ป่วยหนัก สำนึกผิดให้ศิษย์หามไปจะกราบขอขมาพระพุทะองค์    ยังไม่ทันเข้าประตูพระเชตวัน  ก็ถูกแผ่นดินสูบดิ่งลงอเวจีเสียก่อน

           จบเรื่องราวอันน่าเศร้าของพระผู้ตั้งใจปฏิบัติดีในเบื้องแรก แต่มาเสียคน เอ๊ย  เสียพระในเวลาต่อมา เพราะลาภสักการะเป็นเหตุด้วยประการฉะนี้แล

ที่มา http://www.dhammajak.net/chaiya/4.html

9#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-23 09:43 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


     
พระคาถาพาหุง

        
บทที่ ๔
อุกขิตตะขัคคะมะติหัตถะสุทารุณันตัง
ธาวันติโยชะนะปะถังคุลิมาละวันตัง
อิทธีภิสังขะตะมะโน  ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุเต ชะยะมังคะลานิ


โจรองคุลิมาล  (โจรฆ่าคนเอานิ้ว
ทำพวงมาลัยแสนดุร้าย)  ถือดาบเงื้อง่าวิ่งไล่ฆ่า
พระพุทธองค์สิ้นระยะทาง ๓ โยชน์  พระจอมมุณี
ทรงบันดาลอิทธิฤทธิ์ทางใจเอาชนะได้ราบคาบ
ด้วยเดชแห่งชัยชนะนั้น  ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน
        องคุลิมาล เดิมชื่อ  อหิงสกะ มีประวัติความเป็นมาค่อนข้างพิลึกพิลั่น  เป็นพระสาวกรูปหนึ่งที่ได้รับยกย่องในฐานะที่เป็น “ผู้ต้นคดปลายตรง” คือ  เบื้องต้นประพฤติผิดพลาดจนกลายเป็นโจร ต่อมาในช่วงท้ายแห่งชีวิตกลับเนื้อกลับตัว  บวชเป็นสาวกพระพุทะเจ้าสำเร็จพระอรหัตตผล เป็น พระอรหันตขีณาสพ  (หมดกิเลสทั้งปวง)
        ขณะที่บิดาของท่าน  ซึ่งเป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศลอยู่ในพระราชสำนักได้ เกิดเหตุประหลาด คือ  อาวุธในพระคลังแสงเกิดโชตนาการสว่างไสวไปทั่ว  ท่านปุโรหิตแหงนดูท้องฟ้าเห็นดาวโจรลอยเด่นอยู่บนนภากาศ จึงกราบทูลว่า  เด็กที่เกิดในเวลานี้จะเป็นมหาโจรลือชื่อ เมื่อกลับถึงบ้าน  จึงรู้ว่าบุตรชายของตนเกิดในเวลาดังกล่าวพอดี
        ท่านปุโรหิตจึงกลับไปกราบทูลในหลวงให้ทรงทราบ และ  ขอพระบรมราชานุญาต ให้กำจัดเด็กนั้นเสีย เมื่อพระราชาตรัสถามว่า  “เป็นโจรราชสมบัติหรือโจรธรรมดา” ท่านปุโรหิตกราบทูลว่า “เป็นโจรธรรมดา”  พระเจ้าปเสนทิโกศล ตรัสว่า “ถ้าเช่นนั้นก็ไม่ต้องทำอะไร ท่านปุโรหิต  จงเลี้ยงลูกของท่านให้ดีก็แล้วกัน”
        ปุโรหิตผู้เป็นพ่อจึงตั้งชื่อเพื่อ “แก้เคล็ด” ว่า  อหิงสกะ แปลว่า ผู้ไม่เบียดเบียนใคร ตอนเด็กๆ ก็เป็นผู้ไม่เบียดเบียนใครจริงๆ  เป็นเด็กว่านอนสอนง่าย เรียนเก่ง  บิดาจึงส่งไปศึกษาศิลปะวิทยาที่สำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ เมืองตักสิลา  เด็กหนุ่มอหิงสกะ ขยันศึกษาเล่าเรียนเชื่อฟังคำสั่งสอนของอาจารย์  เป็นที่รักของอาจารย์มาก จนกระทั่งบรรดาศิษย์ร่วมสำนักอิจฉา
        พวกเขาจึงหาทางกำจัดอหิงสกะ โดยแบ่งเป็นพวกๆ  ทยอยกันเข้าไปฟ้องอาจารย์ว่า “อหิงสกะไม่ได้ความอย่างนั้นอย่างนี้”  ถูกอาจารย์ตะเพิดออกมาเป็นแถว  แต่เมื่อพวกเธอพยายามใส่ไคล้อหิงสกะบ่อยเข้าอาจารย์ก็ชักจะเอนเอียงไปทีละเล็กละน้อย  “ถ้าหากไม่มีมูล ทำไมศิษย์ทุกคนจึงพูดตรงกัน”  อาจารย์นั่งคิดอยู่คนเดียวอย่างว่านั่นแหละครับ “น้ำหยดลงหินทุกวันหินมันยังกร่อน”  สำมหาอะไรกับจิตใจอ่อนๆของปุถุชน เช่นศาสตราจารย์ (ผู้ไม่ปรากฏชื่อ)  แห่งตักสิลาคนนี้เล่า ในที่สุดท่านก็เชื่อสนิทว่า อหิงสกะคิดประทุษร้ายตน  ตามคำยุแยงตะแคงรั่วของบรรดาศิษย์ขี้อิจฉาตาร้อนทั้งหลาย
        อาจารย์จึงวางแผนกำจัดศิษย์  โดยออกอุบายให้ไปฆ่าคนเอานิ้วมือมาให้ครบหนึ่งพันอ้างว่า  เพื่อประกอบพิธีประสิทธิ์ประสาทเคล็ดลับวิชาที่ไม่เคยถ่ายทอดให้ศิษย์คนใดเลยเมื่ออยากได้วิชา  ศิษย์ผู้น่าสงสารก็จำต้องทำใหม่ๆ ก็คงลำบากใจมากที่ต้องฆ่าคน  แต่พอฆ่าได้สองคนสามคนเข้า ก็ชินไปเอง ชั่วระยะเวลาไม่นาน  เสียงลือเสียงเล่าอ้างก็กระฉ่อนไปทั่วว่า มีโจรเหี้ยมคนหนึ่งนามว่า “องคุลิมาล”  ดักฆ่าคนที่ดงดิบแห่งหนึ่ง ฆ่าแล้วก็ตัดเอานิ้วมาทำพวงมาลัย  เป็นทีหวาดกลัวของประชาชนมากจนไม่มีใครเดินผ่าน

10#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-23 09:44 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
        พระเจ้าปเสนทิโกศล ต้องตัดสินพระทัย ยกกองทัพย่อยๆ  ไปปราบเพื่อสร้างขวัญกำลังใจแก่ประชาชน มารดาของอหิงสกะ  ทราบข่าวกลัวว่าบุตรชายของตนจะเป็นอันตราย จึงแอบหนีออกนอกเมือง  มุ่งหน้าไปยังดงดิบที่ขุนโจรอาศัยอยู่เพื่อแจ้งข่าวให้ลูกทราบ  พระพุทธเจ้าทรงทราบด้วยญาณ เกรงว่าองคุลิมาลจะทำมาตุฆาต (ฆ่ามารดา)  เพราะมหาโจรมีจิตฟั่นเฟือนจำใครไม่ได้แล้ว พบใครก็จะฆ่าหมดจึงเสด็จไปดักหน้า
        องคุลิมาลเห็นพระห่มผ้าเหลือง  ก็ดีใจที่ได้พบเหยื่อเป็นสมณะหรือไม่ ไม่สนใจ ขอแต่ให้ได้นิ้วครบพันก็แล้วกัน  จึงถือมีดโกนอาบน้ำผึ้ง เอ๊ย  ถือดาบวิ่งไล่พระพุทะองค์ทรงบันดาลฤทธิ์ให้มหาโจรวิ่งไม่ทัน ทั้งๆ  ที่เสด็จดำเนินไปตามปกติ มหาโจรร้องว่า “หยุด สมณะ หยุด”
        “เราหยุดแล้ว แต่เธอยังไม่หยุด เราหยุดทำบาป  แต่เธอยังทำบาปอยู่” พระสุรเสียง กังวานแว่วสัมผัสโสตประสาทจอมโจร
        เขาสะดุดกึก รู้สำนึกในความผิดของตนเอง  จึงวางดาบเข้าไปถวายบังคมแทบพระยุคลบาท พระองค์ทรงแสดงธรรมให้ฟัง  จบพระธรรมเทศนาเขาได้กราบทูลขอบวชเป็นสาวกของพระพุทธองค์
        พระพุทะองค์ทรงนำองคุลิมาลกลับไปยังพระเชตวัน  พอดีเวลานั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลยกกองทัพย่อยๆ ผ่านมาทางนั้น จะไปปราบโจร  พระองค์เสด็จเข้าไปถวายบังคมพระพุทธเจ้าทำนองจะขอพรชัย  ให้ได้ชัยชนะในการไปปราบมหาโจรครั้งนี้
        พระพุทะเจ้าตรัสถามว่า  “ถ้ามหาโจรนั้นกลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดีมาบวชเป็นพระในพระธรรมวินัย
แล้ว  พระองค์จะทรงเอาผิดเธอไหม” พระราชากราบทูลว่า “ถ้าเช่นนั้น  เขาก็พ้นอาญาของแผ่นดิน”
        พระพุทะเจ้าทรงชี้พระดรรชนีไปยังพระหนุ่มผู้นั่งสงบอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ว่า  “นี้คือองคุลิมาล” พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงตกพระทัย พระพุทธองค์ตรัสว่า  “มหาบพิตรไม่ต้องกลัวบัดนี้องคุลิมาล เธอ “มีมือวางศาสตราแล้ว” (หมายความว่า  เลิกทำร้ายหรือเบียดเบียนแล้ว)”
        บวชใหม่ๆ ท่าน องคุลิมาลบิณฑบาตแทนที่จะได้ข้าว  กลับได้เลือดกลับวัดแทบทุกวันเพราะชาวบ้านจำได้พากันเอาก้อนอิฐก้อนหินขว้างจนท่าน  ศรีษะแตกเลือดไหล แต่ก็จำต้องทนตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จนกระทั่งวันหนึ่ง  ท่านพบสตรีมีครรภ์แก่  ท่านตั้งสัตยาธิษฐานทำให้สตรีนางนั้นคลอดบุตรอย่างง่ายดายและปลอดภัย  คนทั้งหลายจึงหายหวาดกลัวท่าน เชื่อว่าท่านสามารถทำให้สตรีคลอดบุตรได้ง่ายกลายเป็น  “เกจิอาจารย์ดัง” ไปโดยไม่ได้ตั้งใจ ว่าอย่างนั้นเถอะ
        คำอธิษฐานของท่านมีบันทึกไว้ในหนังสือสวดมนต์เจ็ดตำนาน  และสวดมนต์สิบสองตำนาน เรียกว่า “อังคุลิมาลปริตร” เชื่อกันว่าเป็น  บทสวดมนต์ทำให้คลอดลูกง่าย
        พระสงฆ์นิยมนำมาสวดในงานทำบุญของชาวพุทะมาจนปัจจุบันนี้

ที่มา http://www.dhammajak.net/chaiya/5.html

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้