แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย AUD เมื่อ 2013-4-20 08:02
คำครูว่านยา : ชีวกโกมารภัจจ์
ข้าขอประนมหัตถ์ พระไตรรัตน์นาถา
ตรีโลกอมรา อภิวาทนากร
หนึ่งอัญชลี พระฤษีผู้ทรงญาณ
แปดองค์เธอมีญาณโดยรอบรู้ในโรคา
ไหว้คุณอิศวเรศ ทั้งพรหมเมศทั่วชั้นฟ้า
สาบสรรซึ่งว่านยา ประทานทั่วโลกธาตรี
ไหว้คุณกุมารภัจจ์ ผู้เจนจัดในคัมภีร์
เวชศาสตร์บรรดามี ให้ทานทั่วแก่นรชน
ไหว้ครูผู้สั่งสอน แต่ปางก่อนเจริญผล
ล่วงลุนิพานดล สำเร็จกิจประสิทธิพรฯ
ความหมายของคำว่า ชีวก
ชีวก ชื่อหมอใหญ่ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาและมีชื่อเสียงมากในครั้งพุทธกาล เป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระเจ้าพิมพิสาร และพระเจ้าพิมพิสารได้ถวายให้เป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้าด้วย, เรียกชื่อเต็มว่า ชีวกโกมารภัจจ์ หมอชีวกเกิดที่เมืองราชคฤห์แคว้นมคธ เป็นบุตรของนางคณิกา (หญิง งามเมือง) ชื่อว่าสาลวดี ซึ่งตำแหน่งนางนครโสเภณีสมัยนั้น เป็นตำแหน่งที่มีเกียรติเพราะพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ต่างจากสมัยนี้เพราะผู้ประกอบอาชีพนี้เป็นที่ดูหมิ่นเหยียดหยามของบุคคลทั่วไป นางสาลวดีตั้งครรภ์โดยบังเอิญ เมื่อคลอดบุตรชายออกมาจึงสั่งให้สาวใช้นำไปทิ้งที่กองขยะนอกเมือง เคราะห์ดีที่อภัยราชกุมาร พระราชโอรสของพระเจ้าพิมพิสารไปพบเข้าเสด็จออกไปนอกเมือง จึงทรงนำมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม ชื่อ "ชีวก" ตั้งขึ้นตามการกราบทูลตอบคำถามพระองค์ที่ตรัสถามว่า "เด็กยังมีชีวิตอยู่รึเปล่า" มหาดเล็กกราบทูลว่า "ยังมีชีวิตอยู่" (ชีวโก) ส่วนคำว่า "โกมารภัจจ์" แปลว่า "กุมารที่ได้รับการเลี้ยงดู" หรือ "กุมารในราชสำนัก" อันหมายถึง "บุตรบุญธรรม" นั้นเอง เมื่อชีวกโกมารภัจจ์โตขึ้นถูกพวกเด็กๆ ในวังล้อเลียนว่า "เจ้าลูกไม่ีมีพ่อ" ด้วยความมานะจึงหนีพระบิดาเลี้ยงไปเรียนศิลปวิทยาที่เมืองตักศิลา เพื่อเอาชนะคำดูหมิ่นของพวกเด็กในวังให้ได้ วิชาที่ชีวกเรียนคือวิชาแพทย์ เนื่องจากไม่มีค่าเล่าเรียนให้อาจารย์จึงอาสาอยู่รับใช้อาจารย์สารพัดแล้วแต่ท่านจะใช้ อาศัยเป็นเด็กอ่อนน้อมถ่อมตน มีความเคารพเชื่อฟังอาจารย์ จึงเป็นที่โปรดปรานของอาจารย์มาก มีศิลปวิทยาเท่าไร อาจารย์ก็ถ่ายทอดให้หมดโดยไม่ปิดบังอำพราง ชีวกเรียนวิชาแพทย์อยู่ ๗ ปี จึงไปกราบลาอาจารย์กลับบ้านอาจารย์ได้ทดสอบความรู้โดยให้เข้าป่าไปสำรวจดูว่าต้นไม้ว่าต้นไหนว่าทำยาไม่ได้ให้นำตัวอย่างกลับมาให้อาจารย์ดู ปรากฏว่าเขาเดินกลับมาตัวเปล่า เพราะต้นไม้ทุกต้นใช้ทำยาได้หมด อาจารย์บอกว่าเข้าได้เรียนจบแล้วจึงอนุญาตให้เขากลับ หลังจากกลับมายังเมืองราชคฤห์แล้ว ชีวกได้ถวายการรักษาพระอาการประชวรของพระเจ้าพิมพิสารหายขาดจาก "ภคันทลาพาธ" (โรคริดสีดวงทวาร) ได้รับแต่งตั้งให้เป็นหมอหลวงพร้อมทั้งได้รับพระราชทานสวนมะม่วงให้เป็นสมบัติอีกด้วย ต่อมาชีวกได้ถวายสวนมะม่วงแห่งนี้ให้เป็นวัดทีประทับของพระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลาย ได้ถวายการรักษาแด่พระบรมศาสดาเมื่อคราวพระองค์ทรงประชวร และถวายตัวเป็นแพทย์ประจำพระองค์อีกด้วย ครั้งหนึ่งเขาได้ถวายการรักษาพยาบาลพระเจ้าจัณฑปัชโชต แห่งกรุงอุชเชนี แคว้นอวันตี หายจากโรคร้าย ได้รับพระราชทานผ้าแพรเนื้อละเอียด (ผ้าสีเวยยกะ ผ้าทอที่แคว้นสีวี) มาผืนหนึ่ง
|