| | พระพุทธคุณ ๕๖ | คำแปลพระอิติปิโสรัตนมาลา | อุปเทศการใช้พระคาถาแต่ละบท * |
๑ | อิ. | อิฏโฐ สัพพัญญุตัญญานัง
อิจฉันโต อาสะวักขะยัง
อิฏฐัง ธัมมัง อะนุปปัตโต
อิทธิมันตัง นะมามิหัง | พระพุทธเจ้าพระองค์ใด ทรงปรารถนาพระสัพพัญญุตญาณ ทรงปรารถนาธรรมที่สิ้นอาสวะ ก็ได้ทรงบรรลุธรรมที่ทรงปรารถนาแล้ว ข้าฯขอนอบน้อมพระพุทธเจ้าผู้ทรงมีความสำเร็จพระองค์นั้น | จงหมั่นภาวนา ป้องกันศาสตรา ห่อนต้องอินทรีย์ ทั้งให้แคล้วคลาด นิราศไพรี ศิริย่อมมี แก่ผู้ภาวนา (ภาวนาป้องกันอาวุธเช่น หอก ดาบ เหลน หลาว) |
๒ | ติ. | ติณโณ โย วัฏฏะทุกขัมหา
ติณณัง โลกานะมุตตะโม
ติสโส ภูมี อะติกกันโต
ติณณะโอฆัง นะมามิหัง | พระพุทธเจ้าพระองค์ใด ทรงข้ามพ้นจากทุกข์ในวัฏฏะแล้ว เป็นผู้ทรงพระคุณสูงสุดในไตรโลก ข้าฯ ขอนอบน้อมพระพุทธเจ้าผู้ข้ามโอฆะแล้วพระองค์นั้น | ถึงบทนี้ไซร้ หมั่นภาวนาไว้ กันภัยนานา ภูตผีปีศาจ มิอาจเข้ามา ทั้งปอบทั้งห่า ไม่มาหลอกหลอน (ภาวนาป้องกันภูตผีปีศาจ) |
๓ | ปิ. | ปิโย เทวะมะนุสสานัง
ปิโยพรหมานะมุตตะโม
ปิโย นาคะสุปัณณานัง
ปิณินทริยัง นะมามิหัง | พระพุทธเจ้าพระองค์ใด เป็นที่รักของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นที่รักสูงสุดของพรหมทั้งหลาย ตลอดไปจนถึงดิรัจฉานมีนาคและครุฑเป็นอาทิ ข้าฯ ขอนอบน้อมพระพุทธเจ้าผู้มีอินทรีย์อิ่มพระองค์นั้น | ภาวนานึก สติตรองตรึก อย่าทำร้อนใจ สารพัดเมตตา อย่าได้อาวรณ์ ครูแต่เก่าก่อน เคยได้ใช้มา เสกหมากรับประทาน เป็นที่เสน่หา แก่ชนทั้งหลาย (ภาวนาเสกกระแจะ น้ำมันหอม หมากพลู สารพัดที่กินที่ใช้ เป็นเสน่ห์แก่คนทั้งปวง) |
๔ | โส. | โสกา วิรัตตะจิตโต โย
โสภะนาโม สะเทวะเก
โสกัปปัตเต ปะโมเทนโต
โสภะวัณณัง นะมามิหัง | พระพุทธเจ้าพระองค์ใด มีพระจิตคลายจากความโศกแล้ว เป็นผู้งดงามในโลกนี้กับทั้งเทวโลก ทรงยังสัตว์ทั้งหลายผู้เศร้าโศกให้หายโศก ข้าฯ ขอนอบน้อมพระพุทธเจ้าผู้มีพระฉวีวรรณงามพระองค์นั้น | ภาวนาทุกวัน ตามกำลังวัน ป้องกันอันตราย ทุกข์ภัยพิบัติ สารพัดเหล่าภัย ศัตรูทั้งหลาย แคล้วคลาดห่างไกล (ภาวนาเพื่อบรรเทาทุกข์โศกทั้งปวง) |
๕ | ภะ. | ภะชิตา เยนะ สัทธัมมา
ภัคคะปาเปนะ ตาทินา
ภะยะสัตเต ปะหาเสนโต
ภะยะสันตัง นะมามิหัง | พระสัทธรรมทั้งหลาย อันพระพุทธเจ้าพระองค์ใดผู้มีบาปอันหักทำลายแล้ว มีพระหฤทัยคงที่ ทรงแจกแล้ว พระพุทธเจ้าพระองค์ใดทรงยังสัตว์ผู้กลัวภัยให้หายกลัว ข้าฯ ขอนอบน้อมพระพุทธเจ้าผู้มีภัยอันระงับแล้วพระองค์นั้น | จงภาวนา กันโรคโรคา ไข้เจ็บทั้งหลาย ศัตรูมุ่งมาตร มิอาจทำได้ พินาศยับไป ด้วยพระคาถา (ภาวนาป้องกัน ศัตรูทำร้ายมิได้) |
๖ | คะ. | คะมิโต เยนะ สัทธัมโม
คะมาปิโต สะเทวะกัง
คัจฉะมาโน สิวัง รัมมัง
คะตะธัมมัง นะมามิหัง | พระสัทธรรม อันพระพุทธเจ้าพระองค์ใดทรงบรรลุแล้ว ทรงยังมนุษย์กับทั้งเทวดาให้บรรลุด้วย ทรงบรรลุถึงพระนิพพานอันควรยินดี ข้าฯ ขอนอบน้อมพระพุทธเจ้าผู้มีธรรมอันบรรลุแล้วพระองค์นั้น | ถ้าหมั่นภาวนา โรคภัยโรคา ไม่มายายี จะค่อยบรรเทา หากโรคเก่ามี มิช้ากายี สิ้นทุกข์สุขา (ภาวนาบรรเทาโรคาพยาธิ) |
๗ | วา. | วานา นิกขะมิ โย ตัณหา
วาจัง ภาสะติ อุตตะมัง
วานะ นิพพาปะ นัตถายะ
วายะมันตัง นะมามิหัง | พระพุทธเจ้าพระองค์ใด ทรงออกจากวานะ (เครื่องร้อยรัด) คือตัณหาแล้ว ทรงกล่าวพระวาจาอันเลิศแล้ว เพื่อประโยชน์แก่การดับไฟคือวานะ ข้าฯ ขอนอบน้อมพระพุทธเจ้าผู้ทรงมีความเพียรพยายามพระองค์นั้น | บทนี้ดีล้ำ ภาวนาซ้ำซ้ำ ป้องกันศัตรู เหล่าโจรอาธรรม์ พากันหนียู้ ไม่คิดต่อสู้ ออกได้หายไป (ภาวนาป้องกันโจรผู้ร้าย) |
๘ | อะ. | อะนัสสา สะกะสัตตานัง
อัสสาสัง เทติ โย ชิโน
อะนันตะคุณะสัมปันโน
อันตะคามิง นะมามิหัง | พระพุทธเจ้าพระองค์ใด โปรดประทานความอุ่นใจแก่สัตว์ทั้งหลายผู้ไม่มีความอุ่นใจ พระองค์เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยพระคุณหาที่สุดมิได้ ข้าฯ ขอนอบน้อมพระชินเจ้าพระองค์นั้นผู้ทรงบรรลุถึงที่สุด (แห่งความทุกข์) | ให้ภาวนา กันเสือช้างม้า ทำร้ายรบกวน เป็นมหาจังงัง สิ้นทั้งขบวน จระเข้ประมวญ สัตว์ร้ายนานา (ภาวนาป้องกันเสือและจระเข้) |
๙ | ระ. | ระโต นิพพานะสัมปัตเต
ระโต โย สัตตะโมจะเน
รัมมาเปตีธะ สัตเต โย
ระณะจัตตัง นะมามิหัง | พระพุทธเจ้าพระองค์ใด ทรงยินดีแล้วในพระนิพพานสมบัติ พระองค์ใดทรงยินดีแล้วในอันปลดเปลื้องสัตว์ (จากทุกข์) พระองค์ใดทรงยังสัตว์ทั้งหลาย ในโลกนี้ให้ยินดี (ในการเปลื้องทุกข์นั้นด้วย) ข้าฯ ขอนอบน้อมพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นผู้สละข้าศึก (คือกิเลส) เสียได้ | ภาวนาไว้ คุณคนคุณไสย สารพัดพาลา ใช้ป้องกันได้ มิให้เข้ามา ถูกต้องกายา พินาศสูญไป (ป้องกันการกระทำคุณผีและคุณคนทั้งปวง) |
๑๐ | หัง. | หัญญะติ ปาปะเก ธัมเม
หังสาเปติ ปะรัง ชะนัง
หังสะมานัง มะหาวีรัง
หันตะปาปัง นะมามิหัง | พระพุทธเจ้าพระองค์ใด ทรงกำจัดธรรมทั้งหลายอันเป็นบาปเสียได้ ยังชนอื่นให้ร่าเริง (ในธรรมอันเป็นกุศล) ข่าฯขอนอบน้อมพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นผู้มีพระหฤทัยร่าเริงกล้าหาญยิ่งใหญ่กำจัดบาปได้ | ให้ภาวนา เมื่อเวลา เข้าสู่สงคราม ข้าศึกศัตรู ใจหู่ครั่นคร้าม ไม่คิดพยาบาท ทำร้ายเราแล (ภาวนาเพื่อเข้าสู่ณรงค์สงคราม) |